ย้อนไปเมื่อ 73 ปีที่แล้ว อาณาจักรเซ็นทรัลที่ยิ่งใหญ่เริ่มต้นจากร้านชำของครอบครัวสกุลเจ็งที่อพยพมาจากมณฑลไหหลำ ประเทศจีน
ณ ร้านชำร้านเล็กๆ ที่ขายของเบ็ดเตล็ดและสรรพสินค้าอุปโภคบริโภคครบครัน ทั้งหนังสือ ของใช้ เสื้อผ้า กาแฟ อาหาร
ในวันนั้น ใครจะรู้ว่าที่นี่จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของห้างสรรพสินค้าชั้นนำของไทยโดยตระกูลจิราธิวัฒน์ที่ทุกคนรู้จักในเวลาต่อมา
แม้จะเป็น Central of Community สาขาขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจอันคึกคักหลายย่านอย่างสีลม ชิดลม ราชประสงค์ ฯลฯ แต่ ณ วันนี้ทายาทรุ่นสี่ของจิราธิวัฒน์ เต้-บรม พิจารณ์จิตร ผู้มีผลงานปั้น Central Embassy และเป็นเจ้าของ SIWILAI มัลติสโตร์สัญชาติไทย เลือกที่จะใช้เวลา 3 ปีรีโนเวตอาคารเก่า 5 ชั้น ปั้นเป็นสาขาใหม่ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ ในพื้นที่ Shop House เดิมของตระกูลจิราธิวัฒน์กลางย่านเจริญกรุง
ด้วยพื้นที่ขนาดเล็กแตกต่างจากเซ็นทรัลสาขาอื่น และคอนเซปต์ที่ไม่เหมือนห้างสรรพสินค้าแห่งไหน ทำให้ The Cloud อยากชวนทุกคนมาฟังเรื่องราวการสืบทอดธุรกิจของทายาทรุ่นสี่ที่ต้องเล่าย้อนไปถึงวันวานในย่านเจริญกรุงไปด้วยกัน
ธุรกิจ : ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล
ประเภทธุรกิจ : ค้าปลีก
อายุ : 73 ปี
ผู้ก่อตั้ง : เตียง จิราธิวัฒน์, สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ และ วันชัย จิราธิวัฒน์
ทายาทรุ่นสอง : ครอบครัวจิราธิวัฒน์
ทายาทรุ่นสาม : ครอบครัวจิราธิวัฒน์
ทายาทรุ่นสี่ : ครอบครัวจิราธิวัฒน์
Goods Old Day
เจริญกรุงเป็นย่านเก่าแก่ที่มีถนนสายแรกของไทย ขึ้นชื่อว่าเป็น New Road อันเป็นจุดเริ่มต้นสู่ความเจริญอย่างโมเดิร์นแบบโลกตะวันตก ทั้งการเริ่มใช้ไฟฟ้า บาร์แจ๊สแห่งแรก ร้านอาหารญี่ปุ่นร้านแรก
รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นกิจการแรกของเซ็นทรัลด้วย
ก่อนหน้านี้ คุณเตียง และ สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ เปิดร้านชำชื่อ ‘เข่งเซ้งหลี’ ในตึกแถวทรงสามเหลี่ยม ที่อำเภอบางขุนเทียน เขตธนบุรี ก่อนจะจดทะเบียนเป็น ‘เซ็นทรัล เทรดดิ้ง’ และย้ายมาทำกิจการที่ถนนเลขที่ 1266 เจริญกรุง ใน พ.ศ. 2493
ทั้งสองคนมองว่าไม่ได้อยากเป็นพ่อค้าอย่างเดียว แต่อยากขายสรรพสินค้าที่ทำให้เมืองไทยโมเดิร์นขึ้น จึงเริ่มจากการขายหนังสือและนิตยสารจากต่างประเทศ จากนั้นก็นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศอื่นๆ มาจำหน่าย ทั้งสินค้าแฟชั่นและเครื่องสำอางจากฝรั่งเศส สเวตเตอร์ขนสัตว์ เสื้อสปอร์ต ถุงเท้า เปตติโคท เนกไท โบว์ไท บัตร ส.ค.ส. ของอเมริกัน เครื่องเล่นจากอังกฤษ ของชำ และข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนอื่นๆ ในยุคนั้น
ทั้งชาวกรุงเทพฯ และชาวต่างชาติมักจะมาที่นี่เพื่อซื้อสินค้านำเข้าหรือมองหาไอเดียและแรงบันดาลใหม่ๆ จากต่างประเทศ มากกว่าเพื่อการจับจ่ายใช้สอย เซ็นทรัล เทรดดิ้ง จึงเปรียบเป็นประตูสู่โลกกว้างและแหล่งวัฒนธรรมนานาชาติสำหรับชาวไทย
อาคารดั้งเดิมมีลักษณะเป็น Shop House ชั้นบนเป็นที่นอน ชั้นล่างเป็นร้านค้า นอกจากขายของเบ็ดเตล็ดแล้วยังขายกาแฟและอาหารตามสั่ง ทำให้ห้างเซ็นทรัลสาขาแรกนี้จึงกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญในยุคแรกที่ความทันสมัยย่างกรายเข้ามา
ตั้งชื่อภาษาจีนว่า ตงหยาง (中 央) ที่แปลว่า ศูนย์กลาง
ภาษาอังกฤษคือ เซ็นทรัล (Central)
Central of Neighborhood
หากสังเกตจะเห็นว่า ทุกสาขาของเซ็นทรัลมักต่อด้วยชื่อย่านเสมอ เซ็นทรัล ลาดพร้าว เซ็นทรัล บางนา เซ็นทรัล สีลม เพราะการพัฒนาชีวิตผู้คนในแต่ละย่านเป็นหัวใจของเซ็นทรัล
แม้ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ จะมีลุคแตกต่างจากเซ็นทรัลสาขาอื่น แต่เต้บอกว่า “สำหรับผม โครงการนี้ไม่ได้ต่างจากที่เคยทำมาในอดีตเลย เรายังคงทำสิ่งเดิม แก่นเดิมคือ เริ่มจากการตั้งคำถามว่าเราจะพัฒนาชีวิตผู้คนและย่านนี้ได้อย่างไร”
ดังนั้น สาขาที่รีโนเวตจากอาคารเก่าในพื้นที่ 1,200 ตารางเมตรนี้ จึงไม่ต่างจากสาขาที่เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ สิ่งที่แตกต่างออกไป คือการตีโจทย์ให้เหมาะสมกับพื้นที่และคนในเจริญกรุง เพื่อสร้างคุณค่าใหม่สำหรับดึงผู้คนและนักลงทุนเข้ามาในย่านนี้เพิ่มขึ้น
การคิดคอนเซปต์จึงเริ่มต้นจากย่าน ซึ่งเต้เล็งเห็นความพิเศษของพื้นที่บริเวณนี้
“ย่านนี้คือ Creative District ดังนั้น Let’s do something creative.”
Modern Context in Old Space
การจำลองให้เหมือนสาขาแรกเป๊ะไม่ใช่ตัวเลือกของเต้ สำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ เขาเชื่อว่าเราไม่สามารถลอกเลียนแบบสิ่งที่มีคุณค่าในอดีตให้ออกมาเหมือนเดิมทุกประการอยู่แล้ว
“สิ่งที่เราทำ คือ Build Something from the past in the context of the modern day. เราอยากคงสปิริตของอดีตไว้ มีกลิ่นอายของวันเก่า แต่ไม่ลอกเลียนแบบมาทั้งหมด ไม่อยากทำสิ่งที่เห็นกันบ่อยแล้วจากยุคนั้น อะไรที่สวยงามในอดีตก็เก็บไว้ในอดีต อยากปรับให้เข้ากับบริบทความเป็นโมเดิร์นในวันข้างหน้ามากกว่า”
The Original Store จึงเป็นการผสมผสานโลกใบเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน สร้างสิ่งใหม่ในพื้นที่เก่า คงโครงสร้างพื้นฐานของตึกเก่าไว้ กิมมิกเล็กจิ๋วที่ไม่เกินจะสังเกตเห็นก็เช่นอิฐ Terracotta ที่ถอดแบบจากเซ็นทรัล ชิดลม ซึ่งเป็นสาขาเก่าแก่ เพื่อเล่าเรื่องการเติบโตของเซ็นทรัลในยุคก่อตั้งที่ผ่านมา พร้อมกับสร้างประสบการณ์และคุณค่าใหม่ให้เหมาะกับเจริญกรุงที่กำลังเติบโตเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative District) ซึ่งเต็มไปด้วยร้านอาหาร คาเฟ่ แกลเลอรี่ และโรงแรมบูติกเปิดใหม่
เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ ถือเป็นการนำตำนานแห่งเซ็นทรัลจากยุค 1950 กลับมาในรูปแบบทันสมัย เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมแห่งใหม่ที่นำเสนอนิตยสารและหนังสือในบริบทของยุค สินค้าที่ระลึก นิทรรศการ ห้องสมุดและศูนย์บริการค้นคว้าข้อมูล พื้นที่จัดกิจกรรม ร้านอาหาร คาเฟ่ และบาร์ดนตรี เป็นสถานที่แฮงเอาต์ เพื่อจุดประกายไอเดียและแรงบันดาลใจให้ชาวกรุงเทพฯ ยุคใหม่
Collective Experience that Goes Beyond Shopping
จากจุดเริ่มต้นที่เป็น Bookstore ขายหนังสือนำเข้าจากต่างประเทศ ก่อนจะขยับขยายจำหน่ายสินค้าหลากหลาย ในวันนี้ชั้นล่างสุดของ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ จึงถูกตั้งใจทำให้เป็นร้านค้าจำหน่ายนิตยสารวินเทจ หนังสือไลฟ์สไตล์เกี่ยวกับยุค 1950 – 1970 ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก คาเฟ่ และบาร์แจ๊ส เพื่อถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของร้านค้าแห่งนี้เมื่อหลายสิบปีก่อน
เมื่อเดินขึ้นบันไดไปชั้น 2 จะพบเดอะ โคโลฟอน รีเทล ไลบรารี่ (The Kolophon Retail Library) ที่นอกจากมีหนังสือนับพันเล่มยังเป็นฐานข้อมูลดิจิทัลของแวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้งอาหาร การออกแบบ ศิลปะ แฟชั่น ธุรกิจ ฯลฯ แล้ว เป็นห้องสมุดแห่งแรกในกรุงเทพฯ ที่เป็นคลังข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะ ทั้งยังมีบริการค้นคว้าข้อมูลเชิงลึก เป็นศูนย์กลางความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ธุรกิจและงานออกแบบตกแต่งร้านค้าอีกด้วย
หากอยากซึมซับเรื่องราวในเจริญกรุงเพิ่มเติม ชั้น 3 และชั้น 4 คือพื้นที่จัดนิทรรศการและกิจกรรม Central Space ชั้น 3 เป็นทั้งพื้นที่จัดนิทรรศการหมุนเวียนเรื่องราวประวัติเซ็นทรัล และเป็นที่จัดนิทรรศการชั่วคราวอื่นๆ นิทรรศการปัจจุบันใน Central Space คือ ‘The Origins of Central Since 1950’ บอกเล่าประวัติศาสตร์ของกลุ่มเซ็นทรัลตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท เซ็นทรัล เทรดดิ้ง จำกัด จนกระทั่งขยายกิจการสู่ต่างประเทศ ส่วนชั้น 4 จะเป็นพื้นที่เปิดกว้างในการจัดแสดงนิทรรศการและอีเวนต์หมุนเวียน สำหรับใครก็ตามที่อยากจะริเริ่มสร้างสรรค์
เมื่อเต็มอิ่มกับเนื้อหาแล้ว ที่ชั้น 5 ยังสามารถแวะชิมเมนูอาหารไทยจากสูตรอาหารในหนังสือเก่านับพันเล่มซึ่งสะสมโดย เดวิด ทอมป์สัน (David Thompson) เชฟชาวออสเตรเลียแห่งร้านอาหาร Aksorn ผู้จะนำเสนออาหารไทยสูตรดั้งเดิมจากศตวรรษที่ 20 ตอนกลางให้คนใน พ.ศ. นี้ได้สัมผัสรสชาติอย่างเก่าก่อน
และยังมี SIWILAI Café ที่คอร์ตยาร์ดชั้นล่างสุด ซึ่งให้ความรู้สึกแตกต่างเมื่อมาคนละเวลากัน
กลางวันเป็นคาเฟ่ขายกาแฟในรูปแบบที่โมเดิร์นกว่าร้านกาแฟดั้งเดิมในร้านชำ
กลางคืนจะสลัดคราบร้านกาแฟเป็น SIWILAI SOUND CLUB เปิดแผ่นเสียงเก่าที่สะสมเอาไว้ เหมาะสำหรับดื่มด่ำค่ำคืนในบรรยากาศ Midnight at Charoenkrung ไม่ต่างจากคืนวันเก่าๆ ในยุค 90 ที่เซ็นทรัล สีลมคอมเพล็กซ์ เปิด Music Room ครั้งแรก
เหมือนได้ย้อนเวลากลับไปในอดีตโดยยังอยู่กับปัจจุบัน
Souvenir of Life
เต้ให้คำนิยามว่า ที่นี่ไม่ได้เป็น Shopping Destination แต่ขาย Souvenir มากกว่าของที่ระลึกจากทั้งเรื่องราวของเซ็นทรัลและคนในย่าน
การคิดคอนเซปต์ให้ Beyond Shopping ได้นั้นมาจากการเรียนรู้หลายศาสตร์ ต้องเรียนรู้ Beyond Classroom และ Beyond Interest
“ผมพยายามเก็บอาวุธให้ได้เยอะที่สุด ทั้งด้านการเงิน เศรษฐศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์ บางวิชาเราไม่ได้ชอบเรียนมาก แต่เรียนเพราะรู้ว่าต้องใช้ ไม่ใช่แค่เสพทุกอย่างที่เราชอบ ชอบไม่ชอบก็เสพหมด ประสบการณ์นอกห้องเรียนอย่างการเที่ยวช่วยให้เราซึมซับวงการดีไซน์และรีเทล ได้สัมผัสวัฒนธรรมของที่อื่น แล้วเอามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของเราได้”
เมื่อเก็บชั่วโมงบินสะสมความรู้หลายปี จึงรอบรู้จนคุยกับทุกวงการได้ ทั้งดีไซน์ ดนตรี ศิลปะ สำหรับเต้ หากอยากทำธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องเลือกจบตรงสายธุรกิจอย่างเดียว เพราะมีศาสตร์อีกหลายอย่างที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจ
แต่เมื่อรู้กว้างแล้วยังไม่พอ เขาว่าต้องคิดไกลด้วย
“เราคิดว่าทำยังไงให้ลูกค้ามาหาเราได้หลายครั้ง หลายเหตุผล ไม่ใช่แค่อาทิตย์หนึ่งมาได้ครั้งเดียว เลยมีกิจกรรมหลายอย่างเพื่อตอบโจทย์ กลางวันมาคาเฟ่ มาช้อปปิ้งได้ กลางคืนมาดินเนอร์หรือดื่มกับเพื่อนได้”
กิจกรรมและสินค้าที่นี่ยังสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ทั้งของที่ระลึก หนังสือ นิตยสาร วงดนตรี เมนูใหม่
การ Collaborate กับเชฟรับเชิญพิเศษ กิจกรรม Book Signing นิทรรศการและอีเวนต์ สร้างสรรค์ที่ไม่หยุดนิ่งเหมือนย่านในเมืองที่ไม่เคยหยุดโต
Switch On-Off Family Mode
สำหรับการจัดการกับความท้าทายการรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวนั้น เต้ให้ความเห็นว่าสิ่งสำคัญคือ การแยกแยะความสัมพันธ์ส่วนตัวของครอบครัวกับเรื่องการทำงานออกจากกันให้ได้ การเป็นครอบครัวทำให้มีความใกล้ชิด แต่เมื่อถึงเวลางานคืองานต้องมีวินัยทางอารมณ์ (Emotional Discipline) ไม่เอามาปะปนกัน
“เราสามารถเถียงกันในห้องประชุมแล้วไปกินข้าวด้วยกันต่อ ต้องเข้าใจว่าอะไรคืออะไร”
เหนือสิ่งอื่นใด การสร้างวินัยเหมือนการฝึกกล้ามเนื้อที่ควรออกกำลังกายให้แข็งแรงเป็นประจำ จึงจะพร้อมในวันที่ลงสนามจริง เต้เล่าความหลังให้ฟังว่า “ถ้าคนเราขี้เกียจมาตลอด พอจะเริ่มมีวินัยตอนสามสิบ มันยาก ตอนเด็กๆ ผมทำงานตลอด ช่วงปิดเทอมก็มาทำงานที่ห้าง เสิร์ฟน้ำ ขายของ เปลี่ยนร้านไปเรื่อยๆ มานั่งรอแม่ตอนห้างปิด ซึมซับสายเลือดพ่อค้าแม่ค้า”
การเติบโตกับเซ็นทรัลมาตลอดช่วยให้เต้เห็นภาพวัฒนธรรมองค์กรและพร้อมเมื่อต้องมาทำงานจริง
นอกจากนี้ ยังต้องรู้จัก เปิด-ปิดสวิตช์ความเครียดในงานด้วย สำหรับเต้ เขาบอกว่า
“เมื่อประชุมเสร็จ ผมทิ้งเรื่องกังวลทั้งหมดไว้ข้างหลัง หมดวันก็จบ ถ้าคนไม่มีวินัยด้านความเครียด จะกังวลเรื่องงานมากเกินไปจนเป็นไมเกรนบ้าง ป่วยบ้าง”
การทำงานจึงควรมีวินัยหลายมิติ ทั้งวินัยด้านอารมณ์ วินัยด้านการเงิน วินัยการทำงาน ต้องรู้ว่าจะสวมบทบาทใดตอนไหน… นักธุรกิจของบริษัท หรือลูกหลานของครอบครัว
No End to This Long Road
“ไม่รู้ทำไมคนถึงกลัวความเหนื่อย ความยากในการทำงาน เพราะสำหรับผมค่อนข้างรู้สึกสนุกกับงาน” เต้เล่าว่าเขาสนุกกับเส้นทางระหว่างเดินทางไปถึงจุดหมาย ไม่มีถนนสายใดที่ตัน ทุกอย่างต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ
“อายุยี่สิบ สามสิบ เลือกทำอะไรก็ได้ เรียนรู้ทุกอย่าง ลองผิดลองถูก
“สามสิบ สี่สิบ ต้องรู้ว่าเราอยากไปไหน แล้วลงลึกในสิ่งนั้น
“สี่สิบ ห้าสิบ เริ่มมั่นคง พัฒนาและต่อยอด
“ระยะเวลาเจ็ดสิบกว่าปีของเซ็นทรัลนั้น เราต้องคิดค้นสิ่งใหม่อยู่เสมอ ซึ่งการจะคิดสิ่งใหม่ได้ ต้องทำงานหนัก Stay Hungry, Stay Foolish ไม่ใช่แค่ทำเพื่อทำ วัฒนธรรมการทำงานของเซ็นทรัล คือทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย มีแรงผลักดันจากตัวเอง ในการทำงานหนักเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ผสานอยู่ทั้งในวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมครอบครัว เป็นดั่งคติประจำใจในการทำงานของบริษัทมาตั้งแต่สมัยคุณเตียง ผู้ก่อตั้งที่ทุ่มเททำงานหนักกว่าคนอื่นจนประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่างให้เห็นเรื่อยมา”
สำหรับเต้ เขาบอกว่า งานคือไลฟ์สไตล์
“การทำงานมีทั้งวันที่สนุก วันที่ซีเรียส แต่ก็เป็นการเดินทางแสนยอดเยี่ยมที่เราตั้งใจแล้วว่าจะเดินทางไป ทุกคนต้องหาสมดุลของตัวเอง”
Keep Vision Alives
เซ็นทรัลเป็นเครือบริษัทที่ใหญ่และมีพนักงานเยอะมาก ในฐานะคนหนึ่งที่เป็นทายาท เต้บอกว่า “เราต้องรู้ว่าตัวเราสร้างคุณค่าอะไรที่แตกต่างให้กับเซ็นทรัลได้ โดยยังคงสืบทอดวิสัยทัศน์เดิม คือการผลักดันเมืองไทยให้มีความโมเดิร์นขึ้นและยังคงเอกลักษณ์ของย่านไว้ได้ ไม่ได้คิดเรื่องกำไรเท่านั้น แต่คำนึงถึงสังคมไปด้วย”
สมัยก่อน คุณเตียงเป็นคนทำงานหนัก ยามค่ำคืนที่ทุกคนนอนหมดแล้ว มักนั่งทำงานโดยจุดตะเกียงที่มีแสงส่องนวลตอนกลางคืนเอาไว้ ที่ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ จึงออกแบบไฟที่ตู้หนังสือให้มีแสงนวลเหมือนตะเกียงที่
คุณเตียงชอบใช้ทำงานยามค่ำคืน
หากการทำธุรกิจเปรียบเป็นการเดินทางบนถนนเส้นหนึ่ง การเดินทางไกลจะราบรื่นได้ ต้องมีแสงนำทางอยู่ตลอดเส้นทาง
สิ่งที่ธุรกิจเชื่อมั่น สิ่งที่เป็นหัวใจของธุรกิจ ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี แสงนั้นก็ไม่เคยหรี่หายไปไหน
จากถนนสายแรกที่เริ่มกิจการแรกในวันนั้น ในวันนี้เซ็นทรัลยังคง Keep vision alives สร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เต้ใช้คำว่า “Making my own mark in my own way.”
หากไปเยี่ยมเจริญกรุง เรายังคงเห็นแสงไฟดวงเดิมจากที่เดิม ส่องแสงนวลกลางย่านสร้างสรรค์อันเก่าแก่ ที่แม้เวลาเปลี่ยน พื้นที่เปลี่ยน แต่แก่นของสถานที่แห่งนั้นไม่เปลี่ยนไปเลย