01

ไม่มีกินจะจินตนาการได้อย่างไร

เมื่อคุณถือวุฒิครูโรงเรียนทางเลือกที่ดีที่สุดโรงเรียนหนึ่งจากสหรัฐอเมริกา สิ่งที่คุณน่าจะทำคืออะไร

สมัครงานในโรงเรียนทางเลือกที่ดีที่สุดในโลก หรือกลับเมืองไทย

บางคนเลือกอย่างหลัง

การกลับบ้านที่เมืองไทยครั้งนั้น ไม่ได้ตรงกลับบ้านที่โตมา แต่มุ่งหน้าไปหมู่บ้านชายแดนประเทศไทย เพื่อหาที่ดินทำโครงการบ้านเมล็ดดาวกล่อมฝัน : บ้านเด็กกำพร้า และโรงเรียนห้วยหิ่งห้อย กับเด็กที่เราเรียกกันว่า “เขาอยู่ชายขอบ”

เราใช้เวลา 7 ปี ทำโครงการนั้นร่วมกับนักการศึกษาทางเลือกจากอเมริกา ก่อนจะจบโครงการด้วยคำถามจากเด็กนักเรียนคนหนึ่งในวิชา ‘จินตนาการ’

“ไม่มีกินจะจินตนาการได้อย่างไร” ครูเคยกลัวความรู้สึกหิวบ้างหรือเปล่า ครูเคยต้องไปโรงเรียนโดยที่รู้ว่าวันนี้กลับไปที่บ้านไม่มีข้าวสารจะกรอกหม้อแล้วไหม

ครูช่างจินตนาการและมีดีกรีจากอเมริกามาคนนี้ สรรหาคำตอบใดๆ มากอดและปลอบโยนความจริงในชีวิตเด็กนักเรียนของเธอไม่ได้

ครูคนนั้นได้แต่บอกว่าตัวเองว่า ถึงเวลา ‘บินสิ!’

เมื่อหมดคำตอบ ก็ต้องออกเดินทางอีกครั้ง

02

การเดินทางไปวิทยาลัยเท้าเปล่าด้วยกระดาษเปล่า

เราเคยได้ยินชื่อ ‘วิทยาลัยเท้าเปล่า’ (Barefoot College) ที่รัฐราชสถาน (Rajasthan) อินเดีย ตั้งแต่อยู่อเมริกา จากครูที่ปรึกษาซึ่งเดินทางกลับมาจากอินเดีย พร้อมของฝากเป็นของเล่นที่วิทยาลัยเท้าเปล่าขายเพื่อหารายได้เข้าโรงเรียน

วิทยาลัยเท้าเปล่า รร. สอนคนจัณฑาลรุ่นย่ายายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นวิศวกร, Barefoot College Rajasthan, โรงเรียนทางเลือก อินเดีย

ของเล่นเหล่านี้ไม่ใช่แค่ของเล่นๆ แต่เป็นพาหนะที่ทำให้เด็กๆ ในชนบทอันห่างไกล ไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา และไม่มีโอกาสเรียนในโรงเรียนทั่วไป ใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนในโรงเรียนกลางคืนของหมู่บ้านอย่างสนุกสนาน เพราะตอนกลางวันเขาต้องช่วยครอบครัวทำงานในไร่นาสวน

เราเดินทางไปอินเดียด้วยตั๋วเครื่องบินที่มีแต่ขาไป และกล้องสำหรับถ่ายสารคดีการศึกษาทางเลือกในอินเดีย เป็นทริปบินเดี่ยวที่เราขอพักจากการทำโรงเรียนที่เป็นความเชื่อ และความสัมพันธ์แบบคู่รักซึ่งหน่วงไปสำหรับชีวิต เป็นการลาพักจากความพังทั้งความรักและความฝัน

เราลงเครื่องที่เดลีตอนค่ำ ต่อรถไฟข้ามคืนไปโผล่ที่รัฐราชสถานตอนเช้า นั่งรถบัสต่อไปยังเมืองที่จะมีรถจี๊ปมารับเราเข้าไปที่วิทยาลัยเท้าเปล่า

วิทยาลัยเท้าเปล่า รร. สอนคนจัณฑาลรุ่นย่ายายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นวิศวกร, Barefoot College Rajasthan, โรงเรียนทางเลือก อินเดีย

ระหว่างทางเราสัมผัสและรับรู้ถึงความรู้สึกของชนบทในอินเดีย ด้วยกลิ่นที่มากับสายลม ด้วยแววตา สีหน้า รอยยิ้ม หรือรอยหยักบนใบหน้าของคนสองข้างทางไปวิทยาลัยเท้าเปล่า เราค่อนข้างมั่นใจว่าจะได้คำตอบที่เราตามหาที่นี่ ความเจ้าทุกข์ที่แบกมาด้วยค่อยๆ ลอยและละลายไปกับสายลมโดยที่เราไม่รู้ตัว

เพียงไม่กี่ก้าวของการเดินทางมาอินเดีย ทำให้ตัวตนเราเล็กลงอย่างไม่น่าเชื่อ

ถ้า ‘การศึกษา’ เป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลง ‘ฐานะ’ และ ‘วรรณะ’ ได้อย่างที่เขาร่ำลือกันว่าที่นี่เชื่อและทำกับคุณย่าคุณยาย ผู้หญิงดาลิท (วรรณะจัณฑาล) ที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นคนกลับไปเปลี่ยนแปลงหมู่บ้านและชีวิตของพวกเขา เราก็อยากจะเรียกว่า วิทยาลัยเท้าเปล่านี้พานักศึกษาของเขาก้ามข้ามคำว่า ชะตากรรมที่ถูกลิขิตมาตั้งแต่กำเนิด

03

คนธรรมดาที่มาเป็นตัวละคร

ตัวละครตัวแรกที่ออกมาต้อนรับเราไม่ใช่คนธรรมดาเดินดิน แต่เป็นโจกิมจาจ้า หุ่นกระบอกที่เดินทางไปตามหมู่บ้านทั่วอินเดียมาแล้ว เขามีอายุสามร้อยกว่าปี มีคอที่ยืดยาวได้ถึงเพดาน มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักของชาวบ้านมากกว่า บังเกอร์ รอย (Bunker Roy) ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยเท้าเปล่านี้เสียอีก

วิทยาลัยเท้าเปล่า รร. สอนคนจัณฑาลรุ่นย่ายายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นวิศวกร, Barefoot College Rajasthan, โรงเรียนทางเลือก อินเดีย
วิทยาลัยเท้าเปล่า รร. สอนคนจัณฑาลรุ่นย่ายายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นวิศวกร, Barefoot College Rajasthan, โรงเรียนทางเลือก อินเดีย

นับว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เดินทางมาแสนไกล แล้วได้พบกับท่านทวดโจกิมจาจ้าออกมาต้อนรับขนาดนี้

โจกิมจาจ้าจะเดินทางไปสืบค้นปัญหาของแต่ละหมู่บ้านว่าคืออะไร และใครในหมู่บ้านนั้นเหมาะมาเป็นนักศึกษาของที่นี่ เพื่อกลับไปแก้ปัญหาในหมู่บ้านของเขาเอง

มัฟเฟต เป็นหุ่นกระบอกอีกตัวที่มาทักทายด้วยท่าทางวางก้ามหน่อยๆ

เขาเข้ามาถามว่า เราเป็นใคร มาจากไหน มีพาสปอร์ตมาหรือเปล่า เข้ามาถ่ายภาพที่วิทยาลัยเท้าเปล่าไปทำอะไรที่ไหน และอย่างไร

เขาเป็นตัวละครที่แสดงให้ชาวบ้านกล้าทวงถามสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่พวกเขาพึงมี

วิทยาลัยเท้าเปล่า รร. สอนคนจัณฑาลรุ่นย่ายายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นวิศวกร, Barefoot College Rajasthan, โรงเรียนทางเลือก อินเดีย

เราเดินดูหุ่นกระบอกของคณะสื่อสาร ผู้เป็นเหมือนทัพหน้าของวิทยาลัย ลงไปในพื้นที่ชนบทห่างไกลเพื่อค้นหาปัญหาของหมู่บ้านด้วยการเข้าไปแสดงละครเร่ ใช้ซอฟต์พาวเวอร์ พลังของการสื่อสารผ่านตัวหุ่น ให้เข้าถึงหัวจิตหัวใจของคนก่อน แล้วจึงสร้างความสัมพันธ์เพื่อจะเข้าใจปัญหาที่แท้จริง และค้นเจอผู้คนที่จะมีใจเดินทางมาเป็นนักศึกษา แล้วกลับไปสร้างการเปลี่ยนแปลง

ลุงรามนิวาส หัวหน้าคณะสื่อสาร บอกว่า หน้าตาแสนธรรมดาของหุ่นแต่ละตัวนั้นต้องส่งแรงบันดาลใจออกไป และส่งกลับมาให้คนเชิดหุ่นด้วย

ไม่ว่าตัวละครจะสื่อสารอะไรออกไป คนเชิดหุ่นต้องเชื่อและเป็นเช่นนั้นด้วย

ถ้าหุ่นพูดเรื่องราวการต่อต้านคอร์รัปชัน การไม่เสพเหล้าสุรา ยาเสพติด คนเชิดหุ่นต้องซื่อสัตย์และปฏิบัติตัวเช่นนั้น เป็นตัวอย่างให้ได้ด้วย สารที่ส่งผ่านหุ่นจึงจะมีพลัง ส่งต่อแรงบันดาลใจและการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ

ลุงรามนิวาสเล่าเรื่องราวความเป็นมาของที่นี่ได้อย่างคล่องปาก ราวกับเล่ามาหลายร้อยรอบ เรื่องพวกนั้นเราอ่านผ่านทางเว็บไซต์ของวิทยาลัยมาหมดแล้ว

วิทยาลัยเท้าเปล่า รร. สอนคนจัณฑาลรุ่นย่ายายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นวิศวกร, Barefoot College Rajasthan, โรงเรียนทางเลือก อินเดีย

เรายื่นมือเข้าไปแตะเข่าของลุงรามนิวาสเบาๆ แล้วบอกว่า อยากได้ยินเรื่องราวของลุงรามนิวาสว่าเขาเดินทางมาเป็นคณะสื่อสารที่วิทยาลัยเท้าเปล่านี้ได้อย่างไร และอะไรที่ทำให้เขายังหัวใจฟูเมื่ออยู่ที่นี่มานานขนาดนี้

ลุงรามนิวาสหยุดเล่า หันมามองตาเราแล้วบอกว่า ไม่เคยมีใครถามคำถามนี้กับเขา ทำไมเราถึงถามคำถามนี้

เราบอกลุงว่า ในแววตาของลุงมีคำถามบางอย่างที่เหมือนได้รับคำตอบแล้วชั่วนิรันดร์ เหมือนคนที่สิ้นสงสัยในเรื่องใดๆ

ไม่เหมือนกับเราที่เดินทางมาด้วยสายตาและหัวใจที่มีแต่คำถามมากมาย

เราอาจจะมาที่นี่เพื่อมาขอ ‘ปัญญา’ มากกว่า ‘ความรู้’

เหมือนลุงรามนิวาสถอดหัวโขนออก นั่งท่าทางผ่อนคลาย มองมาที่เราและเริ่มบทสนทนาที่แท้จริง

นานมาแล้ว เขาเคยเป็นจัณฑาลอยู่ในหมู่บ้านตามชะตากรรมลิขิต แล้ววันหนึ่งก็มีนักสื่อสารเท้าเปล่าเข้าไปในหมู่บ้าน เพื่อแสดงละครเร่ครั้งแรก แล้วก็มีวิศวกรเท้าเปล่าเข้าไปสร้างปั๊มน้ำด้วยมือในหมู่บ้านให้พวกเขา การก่อสร้างปั๊มน้ำไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากทางวิศวกรรม

แต่เพราะเรื่องของอำนาจและมายาคติ คนชนชั้นสูงในหมู่บ้านจึงไม่ยอมให้คนจัณฑาลใช้ปั๊มน้ำจากแหล่งน้ำเดียวกับพวกเขา คนจัณฑาลต้องเดินเท้าไปแบกน้ำไกลหลายร้อยเมตรมาใช้ เป็นอย่างนี้มาหลายชั่วอายุคน

วิศวกรเท้าเปล่าจากวิทยาลัยเท้าเปล่าต่อรองและสร้างปั๊มน้ำมือสำหรับคนจัณฑาลขึ้นมาได้ โดยมีข้อแม้ว่า คนจัณฑาลต้องรวบรวมเงินมาเป็นค่าอุปกรณ์และค่าติดตั้งมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ในที่สุดชาวจัณฑาลในหมู่บ้านของลุงรามนิวาสก็มีปั๊มน้ำมือใช้เองเป็นครั้งแรก

เช้าวันรุ่งขึ้น ลุงรามนิวาสตัดสินใจขี่จักรยานออกเดินทางมาที่วิทยาลัยเท้าเปล่าเพื่อดูว่าคนพวกนี้เป็นใคร ทำไมถึงมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้หมู่บ้านเขาได้

เขาพบว่าคนที่อยู่ในวิทยาลัยเท้าเปล่าเป็นคนวรรณะเดียวกับเขาแทบทั้งนั้น เป็นคนที่เคยอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ไม่มีปากส่งเสียงอะไรให้ตัวเอง ลุงรามนิวาสเลยตัดสินใจเดินไปบอกบังเกอร์ รอย ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยเท้าเปล่าว่า จะให้เขาทำงานปัดกวาดเช็ดถูอะไรก็ได้ แต่ขอให้เขาได้อยู่ที่นี่

บังเกอร์บอกว่า ถ้าทำได้แค่ปัดกวาดเช็ดถู ก็กลับไปทำที่หมู่บ้านของเขาเถอะ ถ้าจะมาอยู่ที่นี่ต้องทำบัญชีให้ได้ภายใน 3 เดือน

ตอนนั้นลุงรามนิวาสคิดว่าบังเกอร์ รอย น่ากลัวมาก ปฏิเสธตรงๆ ก็ได้ แต่กลับท้าทายให้เขาทำในสิ่งที่ยากขนาดนี้

3 เดือนผ่านไป ลุงรามนิวาสทำบัญชีในวิทยาลัยได้ และอ่านออกเขียนได้จริงๆ

จากนั้นลุงรามนิวาสขอทำงานในคณะสื่อสาร ทำเรื่องละครหุ่นออกเดินทาง เขาอยากเป็นคนเชิดหุ่น ส่งต่อแรงบันดาลใจแบบที่เขาได้รับ

ฟังเรื่องราวของลุงรามนิวาสจบ หัวใจเรารู้สึกอบอุ่น และหายเหนื่อยจากการเดินทางข้ามฟ้าข้ามทะเลทรายมาถึงที่นี่เพื่อตามหาอะไรบางอย่าง

จบการสัมภาษณ์ ลุงรามนิวาสชวนเราไปกินข้าวที่บ้าน อยากให้ไปรู้จักลูกเมียของเขาเป็นการขอบคุณ ‘การฟัง’ เรื่องราวของเขาอย่างจริงใจ ซึ่งเขาสัมผัสได้จริงๆ

เรามาถึงวิทยาลัยเท้าเปล่ายังไม่ถึง 24 ชั่วโมง ยังไม่รู้เลยว่าคืนนี้จะนอนที่ไหน แต่รู้สึกว่าเรามาถูกที่แล้ว

หลายคนพูดถึงพลังของเรื่องเล่า แต่เราคิดว่าพลังของการได้เล่า โดยที่มีคนรับฟังอย่างแท้จริง ก็สำคัญไม่แพ้กัน

04

คุณย่าคุณยายโซลาร์เซลล์

เรารอคอยที่จะได้พบแผนกคุณย่าคุณยายโซลาร์เซลล์

การปรากฏกายของคุณย่าคุณยายแต่ละคนที่เดินเข้ามาให้ห้องเรียนโซลาร์เซลล์ไม่ธรรมดาเลย นอกจากคุณย่าคุณยายชาวอินเดีย ยังมีชาวแอฟริกา อเมริกาใต้ และอีกหลายเชื้อชาติ

เรารับรู้ได้ถึงพลังงานของผู้สูงวัยเหล่านี้ พวกเขาเข้ามาพร้อมพลังเต็มเปี่ยม และประสบการณ์ชีวิตติดตัวรวมกันหลายพันปี

ทำไมถึงไม่เลือกคนหนุ่มสาวมาเป็นนักศึกษา คือคำถามแรกๆ ที่เราสงสัย

คำตอบคือ หนุ่มสาวมักทิ้งหมู่บ้านไปทำงานในเมือง คนที่อยู่พยุงและโอบหมู่บ้านในชนบทไว้คือคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งมีศักยภาพมากมายมหาศาล แต่กลับถูกทิ้งให้เฝ้าบ้านเพราะคำว่า ‘สูงวัย’

วิทยาลัยเท้าเปล่า รร. สอนคนจัณฑาลรุ่นย่ายายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นวิศวกร, Barefoot College Rajasthan, โรงเรียนทางเลือก อินเดีย

การชวนคุณย่าคุณยายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ บางคนไม่เคยออกจากหมู่บ้านตัวเองเลยสักครั้ง มาเป็นนักศึกษาวิทยาลัยแห่งนี้ 6 เดือน เพื่อให้เขากลับไปเป็นวิศวกรติดตั้งและซ่อมแซมแผงโซลาร์เซลล์ในหมู่บ้าน เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย และท้าทายไม่น้อย

วิทยาลัยเท้าเปล่า รร. สอนคนจัณฑาลรุ่นย่ายายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นวิศวกร, Barefoot College Rajasthan, โรงเรียนทางเลือก อินเดีย

ปัจจัยที่ทำให้สำเร็จเกิดจากการใช้สื่อการเรียนที่เป็นรูปภาพ สัญลักษณ์ ดูง่าย เข้าใจได้ทันที การสอนอย่างใกล้ชิด ได้ลงมือทำจริงๆ ทำแล้วทำอีก ผิดพลาดก็แก้ไข ทำกันตรงนั้นให้เป็นให้ได้

วิทยาลัยเท้าเปล่า รร. สอนคนจัณฑาลรุ่นย่ายายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นวิศวกร, Barefoot College Rajasthan, โรงเรียนทางเลือก อินเดีย

คุณยายบางคนเกาหัวแล้วเกาหัวอีก เขกหัวตัวเองหลายทีก็มีให้เห็นตลอด แต่ทุกคนก็ขำกับอาการนั้นของตัวเองและเพื่อนร่วมชั้น

การกลับมาเป็นนักเรียนใหม่ของคนวัยนี้ไม่ง่ายเลย แต่ประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสมก็ช่วยให้พวกเขาก้าวข้ามมันไปได้

ช่วงที่เราไป คุณย่าคุณยายรุ่นนี้เกือบจบการศึกษาแล้ว เราเลยไม่ได้เห็นอาการง้องแง้งงอแง แต่ได้ยินว่าช่วงแรกๆ นักเรียนอาวุโสมีปัญหากับปรับตัวหลายเรื่อง ทั้งการอยู่ร่วมกับเพื่อนต่างหมู่บ้าน ต่างประเทศ ต่างภาษา การสื่อสารในชีวิตประจำวัน อาหาร คิดถึงลูกหลาน คิดถึงบ้าน

วิทยาลัยเท้าเปล่าจัดคอร์สอบรมแบบนี้ปีละ 2 ครั้ง รุ่นละ 6 เดือน แต่ละปีไม่มีช่วงพัก จึงรับมือและรับรู้เข้าใจปัญหาเหล่านี้ของคุณย่าคุณยายได้เป็นอย่างดี

วิทยาลัยเท้าเปล่า รร. สอนคนจัณฑาลรุ่นย่ายายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นวิศวกร, Barefoot College Rajasthan, โรงเรียนทางเลือก อินเดีย
วิทยาลัยเท้าเปล่า รร. สอนคนจัณฑาลรุ่นย่ายายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นวิศวกร, Barefoot College Rajasthan, โรงเรียนทางเลือก อินเดีย

สิ่งหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหา ‘ง้องแง้ง’ ได้ก็คือ การทำให้แต่ละคนได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมาให้เพื่อนร่วมรุ่นยอมรับ ซึ่งแต่ละคนมีทักษะและประสบการณ์ชีวิตมากมาย อย่างเช่น คุณย่าคุณยายจากเคนย่าสอนเพื่อนๆ ทำชอล์กและเทียนแบบแอฟริกา

โปรแกรมคุณย่าคุณยายโซลาร์เซลล์เป็นที่ยอมรับของรัฐบาลอินเดีย จนออกทุนให้คุณย่าคุณยายจากทั่วโลกมาเรียนที่นี่

เวลาน้ำชาอินเดียตอนบ่ายๆ เป็นขนบประเพณีประจำวันที่เรารักมาก

ทุกคนจะออกมาจากแผนกของตัวเอง อยู่ตามระเบียง ใต้ต้นไม้ พร้อมด้วยกาชารสหวานจัดจ้าน แต่ถูกตัดให้เข้มขมนิดๆ ด้วยขิงแก่ กลิ่นของใบชาอินเดียมีเสน่ห์และชาร์จพลังให้เราในช่วงบ่ายที่กำลังหมดเรี่ยวแรง

ช่วงบ่ายนี้ได้นั่งเล่น ดื่มชา จับไม้จับมือคุณย่าคุณยายที่มาจากเคนย่า อยากลูบคลำผิวของคนแอฟริกันแท้ๆ มานานแล้ว พูดอะไรกันไม่รู้เรื่องหรอกนะ แต่เราก็ได้ที่อยู่ของคุณย่าคุณยายเหล่านั้นมาจนได้ วันหนึ่งเราอยากจะไปดูเขาติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ที่บ้านของเขาเอง

05

คุณหมอเท้าเปล่า

วันหนึ่งลุงรามนิวาสพาเราไปในห้องที่มีเตียงโต๊ะเหมือนคลินิกหมอฟันทั่วไป เพื่อพบกับคุณยายหมอฟันและให้เรานอนให้คุณยายตรวจฟัน เราไม่แน่ใจว่าคุณยายจะเป็นหมอฟันได้จริงๆ เหรอ

คุณยายคงเห็นสีหน้าสงสัยของเรา จึงหยิบเครื่องมือเครื่องไม้ออกมา ตรวจฟันให้เราครบทุกซี่ และบอกว่ามีซี่ที่อาจจะต้องเอกซเรย์ เพราะต้องกลับไปรักษารากฟันในเมือง สรุปว่าคุณยายที่นี่ร่ำเรียนเป็นหมอฟันได้จริงๆ มีการอบรมคุณยายหมอฟันเท้าเปล่า และสร้างคลินิกรักษาฟันแบบนี้ในหมู่บ้านห่างไกลนับร้อยในอินเดีย

นอกจากหมอฟันแล้ว ยังมีหมอรักษาโรคทั่วไป ทำคลอด และโดยเฉพาะโรคมาลาเรีย ซึ่งระบาดหนักทุกปี ที่นี่มีแล็บที่ตรวจหาเชื้อมาลาเรียได้ หมอที่นี่เรียกตัวเองว่า ‘หมอเท้าเปล่า’ ไม่มีประกาศนียบัตร แต่มีผู้คนมากมายในหมู่บ้านอันห่างไกลรอคอยพวกเขาอยู่

วิทยาลัยเท้าเปล่า รร. สอนคนจัณฑาลรุ่นย่ายายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นวิศวกร, Barefoot College Rajasthan, โรงเรียนทางเลือก อินเดีย

06

โรงเรียนกลางคืน

ครั้งแรกที่เราไปวิทยาลัยเท้าเปล่า เราไม่ได้ไปที่โรงเรียนกลางคืน เพราะช่วงนั้นเป็นหน้ามรสุม การเดินทางไปในหมู่บ้านที่ทำโรงเรียนกลางคืนอันตราย มักมีอุบัติเหตุถนนลื่น หินลื่นไหลมาขวางทาง

เรากลับไปที่วิทยาลัยเท้าเปล่าอีกครั้งในปีถัดไป และไปในหน้าหนาว

เช้าวันนั้นเราออกเดินทางไปกับทีมหมอเท้าเปล่า ที่ไปตรวจเชื้อมาลาเรียในหมู่บ้านซึ่งมีโรงเรียนกลางคืนพอดี

วิทยาลัยเท้าเปล่า รร. สอนคนจัณฑาลรุ่นย่ายายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นวิศวกร, Barefoot College Rajasthan, โรงเรียนทางเลือก อินเดีย

เราเลยมีเวลาได้เดินเล่นในหมู่บ้านเพื่อดูวิถีชีวิตของเขา เห็นเด็กๆ ทำงานอยู่ในไร่นากับพ่อแม่ เลี้ยงวัว ขุดหัวมัน เก็บฟืน ตักน้ำรดแปลงผักได้ทั่วไป

แต่ทันทีที่พลบค่ำ ณ ลานกลางหมู่บ้าน เด็กๆ ที่เราเห็นในไร่นา อาบน้ำแต่งองค์ทรงเครื่องออกมาเป็นนักเรียนในภาคกลางคืน เราเห็นเด็กๆ ถือโคมไฟโซลาร์เซลล์ที่ทำโดยคุณยายโซล่าเซลล์ประจำหมู่บ้านเดินมาจากรอบทิศ

คุณครูวัยสาวเป็นคนในหมู่บ้านที่ได้รับเลือกและผ่านการอบรมครูที่วิทยาลัยเท้าเปล่ามาแล้ว การเรียนเริ่มต้นด้วยเพลง ร้อง เล่น เต้น และ ขีดๆ เขียนๆ วินาทีที่ว้าวที่สุดสำหรับเรา คือตอนที่เด็กและครูงัดของเล่นซึ่งเหมือนกับที่เราได้รับจากครูที่ปรึกษามาเป็นอุปกรณ์การเรียนการสอน

วิทยาลัยเท้าเปล่า รร. สอนคนจัณฑาลรุ่นย่ายายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นวิศวกร, Barefoot College Rajasthan, โรงเรียนทางเลือก อินเดีย
วิทยาลัยเท้าเปล่า รร. สอนคนจัณฑาลรุ่นย่ายายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นวิศวกร, Barefoot College Rajasthan, โรงเรียนทางเลือก อินเดีย

บางสิ่งที่ไม่อาจเห็นด้วยตา แต่เชื่อกันด้วยใจ

แต่การเดินทางมาถึงที่นี่ คืนนี้ ทำให้พบว่าต้องตอบคำถามว่า “ไม่มีกินจะจินตนาการได้อย่างไร” ยังไงให้โอบกอดเด็กๆ เหล่านั้นเอาไว้ได้

คำตอบอยู่ตรงหน้า ณ วินาทีนี้

เราเอาเด็กออกจากวิถีชีวิตไปยัดใส่กล่องสี่เหลี่ยมที่เรียกว่าห้องเรียน ให้เขาท่องจำสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เขามี สิ่งที่เขาเป็น นั่นคือสิ่งที่ฆ่าตัดตอนความฝันและจินตนาการของเด็ก จนเด็กไม่สามารถเชื่อในจินตนาการของพวกเขาอีกต่อไป ไม่สามารถจินตนาการโลกที่ใหญ่กว่าห้องเรียนนั้น ว่าเขาต้องกางปีกที่ถูกพับไว้อย่างไรดี ไม่รู้ว่าขอบฟ้าที่เราเห็นเป็นเส้นตรงแต่โลกไม่ได้แบน และค่ำคืนที่แสนมืดมิดยังมีแสงหิ่งห้อยนำทาง

จินตนาการเหมือนเชื้อไฟที่จะจุดให้มนุษย์บินไปถึงดวงจันทร์ได้ เรื่องไม่มีกินนี่จิ๊บจ๊อยมาก

07

ประสบการณ์สำคัญกว่าความรู้

บังเกอร์ รอย ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยเท้าเปล่า ได้รับยกย่องจากนิตยสาร TIME ว่าเป็น 1 ใน 100 ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลก เขาเป็นคนที่ได้ดีกรีจากอเมริกา แต่เมื่อกลับมาอินเดียแล้วเขาพบว่า ความรู้และดีกรีที่เขามีแก้ปัญหาในหมู่บ้านชนบทของอินเดียไม่ได้เลย

ชาวบ้านอยู่ได้ด้วยเงินวันละไม่กี่รูปีหรือไม่มีเลย แต่มนุษย์มีปริญญาอย่างพวกเขาต้องทำงานเพื่อหาเงินกินอยู่อย่างบ้าคลั่ง และอยู่ไม่รอดด้วยหากไม่มีเงินซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สมมติขึ้นมา

รากของวรรณะยังฝังรากลึกอยู่ในอินเดียทุกหนทุกแห่ง ที่นี่จึงให้ค่ากับคนและงานทุกงานเท่ากัน

วิทยาลัยเท้าเปล่า รร. สอนคนจัณฑาลรุ่นย่ายายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นวิศวกร, Barefoot College Rajasthan, โรงเรียนทางเลือก อินเดีย

ทุกคนที่นี่ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อตั้ง คนทำงานในแผนกต่างๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็นวิศวกร สถาปนิก หมอ ที่มีนามสกุลเท้าเปล่า หรือแม้แต่แม่ครัว คนดูแลสวน จะได้เงินเดือนเท่ากัน เขาเชื่อว่าคุณค่าของงานทุกงานเท่ากัน เพราะคุณค่าของคนที่ทำก็เท่าเทียมกัน

ที่วิทยาลัยเท้าเปล่า ทำและเป็นในสิ่งที่เชื่อ

อาคารทุกหลังออกแบบให้ใช้พลังงานอย่างยั่งยืน

ทุกอาคารใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซล์และมีระบบเก็บน้ำฝนไว้ใต้อาคาร เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำฝนไปอย่างเปล่าประโยชน์ ในพื้นที่ใกล้ทะเลทรายเช่นนี้

วิทยาลัยเท้าเปล่า รร. สอนคนจัณฑาลรุ่นย่ายายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นวิศวกร, Barefoot College Rajasthan, โรงเรียนทางเลือก อินเดีย

08

ก่อนเดินไปข้างหน้าให้เหลียวมองดูข้างหลังว่ามีใครรอให้เราจูงมือไปด้วยกันหรือเปล่า

เย็นที่ได้ไปกินข้าวที่บ้านลุงรามนิวาส ที่อยู่ในเขตวิทยาลัยเท้าเปล่า เราได้พบลูกเมียของลุง

ลุงรามนิวาสเล่าให้เราฟังว่า เมื่อเขาทำงานเป็นนักสื่อสารคณะหุ่นได้ไม่กี่ปี เขาก็เดินทางกลับไปที่หมู่บ้านของเขาเพื่อแสดงละครหุ่นในเวทีลานของหมู่บ้าน ขณะที่เขากำลังขึ้นไปเล่นนั้น คนวรรณะสูงกว่าก็โห่ไล่และปาก้อนหิน ไล่ให้เขาลงจากเวทีของหมู่บ้านที่ไม่อนุญาตให้คนจัณฑาลแตะต้อง

ลุงรามบอกว่า ตอนนั้นไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงยอมเดินลงมาจากเวที และเก็บเรื่องนี้ไว้ในใจตลอดหลายปี จนกระทั่งเมื่อถึงเวลาหนึ่ง เขาได้กลับไปที่หมู่บ้านของเขาอีกครั้ง และขึ้นไปแสดงละครหุ่นบนเวที ครั้งนี้เขาไม่ถูกโห่ไล่แล้ว

เมื่อการแสดงจบ เขาพูดบนเวทีอย่างภาคภูมิใจว่า เขาได้กลับมาเป็นกระบอกเสียงให้คนวรรณะเดียวกับพวกเขา และเมื่อเขาพูดอย่างนั้น กลุ่มผู้หญิงที่เป็นน้องเป็นแม่ เป็นพี่น้องของพวกเขาบอกเขาว่า ยังไม่ใช่ เขายังพูดไม่ได้เต็มปากว่าเขาเป็นกระบอกเสียงให้กับคนวรรณะเดียวกับเขาได้ทั้งหมด

วิทยาลัยเท้าเปล่า รร. สอนคนจัณฑาลรุ่นย่ายายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นวิศวกร, Barefoot College Rajasthan, โรงเรียนทางเลือก อินเดีย

เพราะเขายังเป็นผู้ชาย ยังมี ‘วรรณะผู้หญิง’ ที่ไม่ได้เคยถูกขานนามในสังคมอินเดีย ยังได้รับการเคารพสิทธิและเห็นคุณค่าน้อยกว่าผู้ชายในวรรณะไหนๆ และที่ไหนๆ

ผู้หญิงเหล่านั้นบอกลุงรามนิวาสอีกว่า “ก่อนเดินไปข้างหน้า ให้เหลียวมองมาข้างหลังว่ามีใครรอให้เราจูงมือไปด้วยกันรึเปล่า”

วันสุดท้ายที่เราอยู่ที่วิทยาลัยเท้าเปล่าในทริปนั้น มีสารส่งมาว่า จะมีทีมงานไปตลาดและเราติดรถออกไปสถานีรถไฟได้

มีคนถามว่า มีใครอยากได้อะไรจากตลาดไหม แผนกคุณย่ายายโซลาร์เซลล์มีเสียงฮือเป็นผึ้งแตกรัง

มีคนหยิบหนังสือพิมพ์ออกมาพร้อมสีเมจิกและกรรไกร เอาเท้ามาวางบนกระดาษ ใช้ปากกาวาดรูปเท้า และเขียนชื่อแต่ละคนบนรูปเท้านั้น แล้วเอากรรไกรตัดขนาดเท้าของตัวเอง เพื่อฝากซื้อรองเท้าแตะ

ใช่ว่าชื่อวิทยาลัยเท้าเปล่า แปลว่าคนที่ไปเป็นนักศึกษาจะไม่ใส่รองเท้าเดินกันหรอกนะ

วิทยาลัยเท้าเปล่า รร. สอนคนจัณฑาลรุ่นย่ายายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นวิศวกร, Barefoot College Rajasthan, โรงเรียนทางเลือก อินเดีย

ติดตามเพิ่มเติมเรื่องราวของการศึกษาทางเลือกรอบโลก ในรายการ บินสิ! ได้ทางทางสถานีไทยพีบีเอส กลางเดือนกรกฎาคมนี้

Writer & Photographer

Avatar

เสาวนีย์ สังขาระ

Film Maker, Farmer, Facilitator ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีอิสระ บินสิ! โปรดักส์ชั่นเฮาส์ และรายการบินสิ! ผู้ก่อตั้งและอำนวยการเรียนการสอน ที่สวนศิลป์บินสิ Films Farm School