“อยู่ที่ว่าเราเอาอะไรให้เขากิน ถ้าเอาของดีให้เขากิน เขาก็กิน” คือแนวคิดในการปลูกฝังเด็กๆ ของ พระราชสิทธาจารย์ วิ. (หลวงปู่ทองใบ ปภัสสโร) ประธานสงฆ์วัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม) จังหวัดอุดรธานี ผู้ริเริ่มโครงการหนังสือนิทานชาดก ‘บารมีดีที่ตน’

อันที่จริง ขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องราวพุทธศาสนา เด็กสมัยนี้ก็ไม่มีใครคิดจะเหลียวแลแล้ว

แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลับมีคนกลุ่มหนึ่งที่ตระหนักถึงประโยชน์ที่เยาวชนจะได้รับจากตัวอย่างดีๆ ในพุทธศาสนา พวกเขาจึงตัดสินใจร่วมมือกันแปลงโฉมชาดกเล่มหนาสู่รูปแบบที่เข้าใจง่าย มาพร้อมกับภาพประกอบสีสันสดใสถูกใจทั้งเด็กเล็กเด็กโต โดยไม่หวังค่าตอบแทนเป็นเม็ดเงิน แต่หวังเพียงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้เล่าในทุกมิติ เพื่อเชื่อมโยงบ้าน วัด กับโรงเรียน เข้าด้วยกัน

บารมีดีที่ตน โปรเจกต์รื้อชาดกUntoldมาแปลงโฉมเป็นนิทานชุดสนุกที่ใช้ได้จริงกับหลักสูตรใน รร.
บารมีดีที่ตน โปรเจกต์รื้อชาดกUntoldมาแปลงโฉมเป็นนิทานชุดสนุกที่ใช้ได้จริงกับหลักสูตรใน รร.

เมื่อเราตามรอยไปถึงเบื้องหลังโปรเจกต์นี้จึงได้รู้ว่า นี่คือการรวมตัวของคนทำงานมืออาชีพในหลากหลายวงการ ทั้งนักเขียน นักวาดภาพประกอบ ผู้กำกับดนตรี ผู้กำกับภาพแอนิเมชัน ตลอดจนเหล่านักแสดงชื่อดังที่มาร่วมกันลงเสียงเล่านิทาน ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังคิดทำการใหญ่โดยออกแบบให้หนังสือชุดนี้เป็นมากกว่าแค่นิทานชาดก เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างแท้จริงในฐานะสื่อการเรียนการสอนที่จะส่งไปให้เด็กๆ ได้หยิบอ่านกันถึงในห้องเรียน เพราะพวกเขาคิดมาแล้วว่านิทานชาดกชุดนี้จะประยุกต์ใช้ได้กับทุกกลุ่มสาระวิชา 

ชาดกในเวอร์ชันนี้จึงเปรียบเสมือนอาหารย่อยง่ายที่คงสารอาหารดีๆ ไว้ครบถ้วน

01

นิทานที่ดี จะเป็นตัวอย่างให้เด็กๆ

“เราก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เราให้เขาดูนั้นมีส่วนมากในการหล่อหลอมเด็กๆ รุ่นใหม่” บิ๊ก-ปณิธาน ทองสถิตย์ เจ้าของร้านดอกไม้ ‘เรือนบุษบา’ และหนึ่งในลูกศิษย์ของหลวงปู่ทองใบผู้เป็นหัวเรือหลักของโครงการ เล่าถึงความตั้งใจแรกที่ต้องการจะผลิตสื่อกลางที่ดีและมีคุณภาพ เพื่อสื่อสารและหล่อหลอมเด็กรุ่นใหม่ให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็ง เข้าใจทุกข์ และมีภูมิคุ้มกันความคิดและจิตใจที่ดี

บิ๊ก-ปณิธาน ทองสถิตย์

“พอเด็กเติบโตขึ้นมา เวลาเขาทำพฤติกรรมที่ผิดศีลธรรมในความรู้สึกผู้ใหญ่ พออยู่ๆ เราไปบอกว่าไม่ดี ทั้งที่เขาเห็นมาแต่เด็กว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้ใหญ่ก็ทำกัน เขาไม่เข้าใจหรอก” บิ๊กอธิบายถึงสาเหตุที่เราควรมีหนังสือนิทานสักชุดที่จะเป็นตัวอย่างแนวความคิดที่ดีให้แก่เด็กๆ 

“แล้วทำไมเราจึงอยากสื่อสารกับเด็กด้วยนิทาน” เราถาม

“ก่อนจะทำเราคุยกันว่า จะสื่อสารเรื่องออกไปให้ถึงเด็กปัจจุบันนี้ได้ยังไง ซึ่งการเล่านิทานก็คือเบสิกเลย เพราะการฟังจะทำให้เกิดปัญญา เป็นพื้นฐานในการรับความรู้ แต่ปัจจุบันเรากลับไม่มีเวลาที่จะไปเล่าอะไรดีๆ ให้เด็กฟังเท่าไหร่” บิ๊กเอ่ยถึงประเด็นที่เขารู้สึกเป็นห่วง

บิ๊ก-ปณิธาน ทองสถิตย์

การจะทำให้หนังสือนิทานชุดนี้กลายเป็นอาหารที่ดีอย่างที่หลวงปู่ตั้งใจ แค่หนังสืออย่างเดียวคงไม่พอ บิ๊กจึงวางแผนต่อยอดจากหนังสือนิทานไปสู่การลงเสียงเล่ารวมถึงนิทานเคลื่อนไหวบนยูทูบ เพื่อให้เกิดมิติของการสื่อสาร และให้เนื้อเรื่องในนิทานได้กระโดดออกมาจากหนังสือ ซึ่งได้เหล่าคนดังถึง 10 ชีวิต อาสามาลงเสียงให้

นี่จึงเป็นอาหารที่ทั้งดีและอร่อย แถมจัดเต็มแบบฟูลคอร์สสำหรับเด็กรุ่นใหม่ทุกคน

02

The Untold ชาดก 

และวัตถุดิบหลักของอาหารจานนี้ได้แก่ ‘ชาดก’

ชาดกที่บรรจุเรื่องราวกว่า 500 ชาติ ของพระพุทธเจ้าอาจไม่หวือหวานัก จึงเป็นโจทย์สุดหินของเหล่าเชฟที่จะต้องแปรรูปอาหารจานนี้

“แต่ทำไมชาดกสิบเล่มนี้จึงไม่เหมือนทศชาติชาดกที่เราเคยรู้จัก” เราสงสัย

เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว 

คือชื่อย่อของทศชาติชาดกที่สำคัญในพุทธประวัติ สะท้อนถึงทศบารมีหรือความดี 10 ประการ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งนักเรียนไทยส่วนมากต่างก็มีประสบการณ์ในการท่องจำ หรืออาจเคยอ่านพระชาติที่เป็นที่รู้จักอย่าง พระมหาชนก (วิริยบารมี) และพระเวสสันดร (ทานบารมี)

บารมีดีที่ตน โปรเจกต์รื้อชาดกUntoldมาแปลงโฉมเป็นนิทานชุดสนุกที่ใช้ได้จริงกับหลักสูตรใน รร.

เมื่อเด็กส่วนมากรู้จักทศชาติชาดกเหล่านี้อยู่แล้ว อีกทั้งตัวทีมผู้เขียนนำโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เองก็คุ้นเคยกับทศชาติชาดกมาก่อนแล้ว กับพระมหาเปรียญธรรม 9 ประโยค อีก 2 รูป ในทีมที่คอยช่วยดูแลความถูกต้อง บิ๊กจึงตัดสินใจนำเรื่องนี้ไปเรียนปรึกษากับหลวงปู่ทองใบเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับนิทานชาดกชุดนี้

“ความจริงแล้วชาดกยังอีกมีหลายเรื่องนะ ลองถามสิว่าอาจารย์ธงทองจะสะดวกทำเรื่องใหม่หรือเรื่องเก่า” คำแนะนำของหลวงปู่ทองใบชี้ให้บิ๊กและทีมงานเห็นว่า นอกจากทศชาติชาดกที่เราคุ้นเคยกันแล้ว ยังมีพระชาติอื่นๆ อีกหลายพระชาติที่สะท้อนถึงบารมีทั้งสิบได้เช่นกัน

“พอไปถามปุ๊บ อาจารย์ก็อยากทำงานที่ท้าทาย อยากทำเรื่องใหม่ เพราะนอกจากสิบชาติที่เคยเล่าแล้วเล่าอีก ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่เด็กน่าจะสนใจมากกว่า เราก็เลยทำการบ้านใหม่ ต้องเข้าไปรื้อค้นใหม่” บิ๊กเล่าถึงด่านแรกที่พวกเขาต้องเผชิญ หลังตัดสินใจจะเล่าเรื่องชาดกที่คนทั่วไปไม่ค่อยได้อ่าน

บารมีดีที่ตน โปรเจกต์รื้อชาดกUntoldมาแปลงโฉมเป็นนิทานชุดสนุกที่ใช้ได้จริงกับหลักสูตรใน รร.

เริ่มจากวันที่บิ๊กตัดสินใจเดินเข้าร้านหนังสือเพื่อหาหนังสือรวมชาดกเล่มโตมานั่งอ่านทีละชาติ

ซึ่งก็ใช้เวลาเป็นชาติจริงๆ

“แล้วเลือกจากอะไร ทำไมถึงกลายมาเป็นสิบชาตินี้” เราถาม

“เราคิดว่าเด็กๆ น่าจะสนใจเรื่องสัตว์ เพราะจะได้ใช้จินตนาการ เลยไปดูว่าพระพุทธเจ้าเคยเกิดเป็นสัตว์กี่ชาติ” จากไอเดียนี้ เมื่อนำไปจับคู่กับบารมี 10 ประการ และคัดสรรจากพระคาถาบารมี 30 ทัศ จึงได้ผู้เข้ารอบสุดท้ายเป็นชาดกเรื่องสัตว์ 6 เรื่อง มนุษย์ 4 เรื่องอย่างที่เราเห็น 

03

เรื่องนี้สอนคนเขียนให้รู้ว่า

“ชาดกแต่ละเรื่องนี่บางเรื่องก็ยาวมาก เราก็ต้องเลือกแล้วเอามาจับใจความและย่อความ” 

แม้ว่าอาจารย์ธงทองและทีมผู้เขียนอีก 3 ท่าน จะเรียบเรียงจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ด้วยโจทย์ที่ต้องการจะนำนิทาน 10 เรื่องนี้ไปลงเสียงเล่าต่อ จึงต้องปรับเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมแก่การเล่า ซึ่งในขั้นตอนนี้บิ๊กก็ได้ ดร.สาวิตา ดิถียนต์ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักเขียนบทละครรุ่นใหม่ เป็นผู้ทำหน้าที่ปรับแก้อีกทอดหนึ่ง

“อย่างตอนต้นเรื่อง ชาดกมักจะเริ่มต้นขึ้นที่สมัยพุทธกาล ด้วยการบอกว่า ‘แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า…’ ซึ่งตอนแรกผู้เขียนเขาเขียนมาไม่เหมือนกันเลยในแต่ละเล่ม บางทีเรียกพระพุทธเจ้าหรือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง ก็จะมีคำเบสิกนี้ที่รู้สึกว่าต้องปรับให้เหมือนกัน 

“แต่ด้วยความที่ชาดกมีความสลับซับซ้อน ดังนั้น ตอนที่เราอ่านจริงๆ ไม่ใช่แค่อ่านและแก้ภาษา บางทีเราต้องกลับไปค้นใหม่ว่าชาดกเรื่องนี้มีที่มาที่ไปหรือเขาจะสอนอะไร” ดร.สาวิตา เล่าถึงการมีส่วนร่วมของตัวเอง

บารมีดีที่ตน โปรเจกต์รื้อชาดกUntoldมาแปลงโฉมเป็นนิทานชุดสนุกที่ใช้ได้จริงกับหลักสูตรใน รร.

“การย้อนไปอ่านต้นฉบับช่วยในการทำงานส่วนนี้ได้ยังไง” เราถาม เมื่อพอจะจินตนาการได้รางๆ ว่าการย้อนไปอ่านพุทธประวัติเล่มโตนั้นเป็นงานที่หนักหนาเอาการ

“บางทีเราอ่านไปก็รู้สึกว่าตัดฉากนี้ทิ้งได้ไหม ถ้าเป็นละครตะวันตกเราคงตัดทิ้งไปแล้ว ทำไมมีหลายเส้นเรื่อง เราไม่เข้าใจ จนสุดท้ายเราก็จึงกลับไปอ่านจนเข้าใจว่าทำไมจึงตัดไม่ได้ 

“ตรงนั้นแหละคือจุดที่เราได้รู้ว่าชาดกคือการเปิดให้เราคิด สิ่งที่เราต้องทำคือหาวิธีทำยังไงให้คนอ่านเข้าใจเหตุการณ์ว่าหมายถึงอะไร มากกว่าจะไปหาคำตอบหรือไปบอกว่าทั้งเรื่องนี้มีต้น กลาง จบ อย่างไร เพื่อบอกเมสเสจเพียงอย่างเดียวชัดๆ เพราะความจริงอาจจะมีหลายอย่างในแต่ละห้วงก็ได้

“ซึ่งเราก็ต้องหาวิธีปรับ หาแอ็กชันที่เด่นขึ้นมา แล้วไปลดทอนตรงอื่นลงหน่อย ให้เป็นแค่การบรรยายภาพเฉยๆ” ดร.สาวิตา เล่าถึงวิธีการปรับเนื้อหาชาดกโดยที่ยังคงประเด็นสำคัญอย่างครบถ้วน และอ่านได้อย่างเพลิดเพลิน ซึ่งตัวเธอเองก็ได้เรียนรู้จากการทำงานในส่วนนี้ไม่น้อยไปกว่าเด็กๆ ที่จะได้อ่านนิทานเลยทีเดียว

ขึ้นชื่อว่าชาดก อาจจะไม่ง่ายสำหรับเด็ก เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ดร.สาวิตา ทำอย่างไรเพื่อให้เด็กๆ เข้าใจสิ่งนี้

บิ๊ก-ปณิธาน ทองสถิตย์

“การตีความชาดกไม่ได้มีคำตอบตายตัวเปิดให้คิดได้หลายแบบ แต่ละคนอาจจะได้อะไรจากจุดไหนก็ได้ ดังนั้น เวลาเราปรับเราจึงไม่ได้ปรับเพื่อบอกชัดในเมสเสจที่เราคิดคนเดียว แต่อย่างน้อยเราต้องมีพื้นฐานตั้งต้นว่า เขาน่าจะบอกเรื่องนี้ การเขียนก็จะไม่ได้บอกตรงๆ” ดร.สาวิตา เล่าถึงขั้นตอนการสกัดแก่นสารของเรื่องราว ซึ่งแม้แต่ผู้เรียบเรียงอย่างเธอเองก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยในการทำความเข้าใจธรรมชาติของชาดก ซึ่งพลิกแพลงได้หลายมุมมอง

“การปรับแก้นิทานชาดกครั้งนี้เหมือนหรือต่างกับการเขียนบทละครอย่างไร” เราถาม

“ที่เหมือนกันคือการวางโครงกับการกำหนดเมสเสจ เพราะเราต้องวางโครงเพื่อช่วยให้เมสเสจสื่อสารออกมาให้ได้ แต่ก็มีส่วนที่ต่างกันคือเรื่องภาษา เพราะภาษาในนี้ต้องอยู่ตรงกลางระหว่างการอ่านออกเสียงก็ได้ หรือจะอ่านในเล่มก็ได้” ด้วยประสบการณ์เขียนบทละครโทรทัศน์หลายเรื่อง การปรับต้นฉบับหนังสือนิทานจึงเป็นทั้งการต่อยอดองค์ความรู้เดิม และความท้าทายครั้งใหม่ของ ดร.สาวิตา ไปพร้อมกัน

04

ปลุกชาดกให้มีชีวิต

นอกจากภารกิจที่เล่าด้านบน ขนมหวานจานนี้ยังต้องมีหน้าตาสวยงามอีกด้วย 

เมื่อต้องตามหาศิลปินมารับผิดชอบภาพประกอบในหนังสือนิทานชาดก บิ๊กก็นึกถึงลายเส้นไทยๆ แบบที่คนส่วนมากน่าจะคุ้นเคย แต่ด้วยความที่อยู่นอกวงการนักวาด บิ๊กจึงตัดสินใจนำเรื่องนี้ไปปรึกษา ครูปาน-สมนึก คลังนอก นักวาดภาพประกอบแนวหน้าของประเทศไทย เจ้าของลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์

“พอไปบอกครูปานว่าจะทำหนังสือนิทานชาดกให้เด็ก ครูบอกว่า พี่บิ๊ก ผมอยากทำ แต่ภาพครูปานก็จะเป็นตุ๊กตาตาโตที่ดูไม่ไทย” บิ๊กเล่าถึงความกังวลใจในตอนแรกด้วยน้ำเสียงเจือหัวเราะ แต่โชคดีที่หลวงปู่ทองใบอนุมัติทันทีที่ได้เห็นลายเส้นของครูปาน จนบิ๊กเองยังตกใจว่าเหตุใดพระผู้ใหญ่วัย 80 อย่างหลวงปู่จึงเข้าใจลายเส้นการ์ตูนได้อย่างง่ายดาย

“มารู้ตอนหลังว่าในสมัยที่ทีวียังไม่แพร่หลาย ท่านเคยทำงานเผยแผ่ศาสนามาก่อน เป็นการเผยแผ่ตามงานฉายหนังกลางแปลง ซึ่งก็ต้องนำพวกภาพตัวการ์ตูนไปใช้เล่าธรรมะ ทำให้หลวงปู่เข้าใจลักษณะภาพการ์ตูนเด็ก เพราะท่านเคยทำงานกับเด็ก แล้วก็เคยทำงานสื่อมาก่อน”

บารมีดีที่ตน โปรเจกต์รื้อชาดกUntoldมาแปลงโฉมเป็นนิทานชุดสนุกที่ใช้ได้จริงกับหลักสูตรใน รร.
บารมีดีที่ตน โปรเจกต์รื้อชาดกUntoldมาแปลงโฉมเป็นนิทานชุดสนุกที่ใช้ได้จริงกับหลักสูตรใน รร.

อีกทั้งครูปานเองก็คุ้นเคยกับพุทธศาสนาอยู่พอสมควร ในฐานะที่เคยบวชเรียนจนได้เปรียญ 4 ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารอย่างที่คาด ครูปานจึงนำเรื่องโครงการนี้ไปปรึกษา ครูโต-ม.ล.จิราธร จิรประวัติ เมื่อครูโตเห็นดีเห็นงามและตกลงร่วมลงแรง จึงชวนลูกศิษย์ อีก 3 คน มาร่วมวาดด้วยกัน ได้แก่ ภัทรีดา ประสานทอง, นวลตอง ประสานทอง และ เพียว โลกุตรา ซึ่งทุกคนก็ล้วนแล้วแต่เป็นนักวาดภาพประกอบมากประสบการณ์ ที่มีลายเส้นที่โดดเด่นในสไตล์ของตนเอง

ติดแค่อย่างเดียวคือ ไม่มีใครเคยวาดนิทานเรื่องยาวมาก่อน เพราะภาพประกอบหนังสือนิทานชาดกที่จะทำนั้นต้องการภาพจำนวน 20 – 30 ภาพ ร้อยเรียงกันเพื่อเสริมเนื้อเรื่อง ด้วยเหตุนี้เอง ศิลปินทุกคนจึงต้องมาเรียนรู้และลองผิดลองถูกไปพร้อมกัน จนท้ายที่สุดก็สำเร็จมาเป็นนิทานที่มีภาพประกอบสีสันสดใส ลายเส้นหลากหลาย เหมาะกับชาดกแต่ละเรื่องที่ศิลปินแต่ละท่านรับผิดชอบ 

บารมีดีที่ตน โปรเจกต์รื้อชาดกUntoldมาแปลงโฉมเป็นนิทานชุดสนุกที่ใช้ได้จริงกับหลักสูตรใน รร.

“ในส่วนของการลงเสียง คนสำคัญคือผู้กำกับการเล่านิทาน ครูหนิง-ผศ.พันพัสสา ธูปเทียน เป็นคนกำกับศิลปินแต่ละคนให้เล่านิทานออกมาในสไตล์ของตนเอง และเป็นผู้แนะนำ วิน-ระพีเดช กุลบุศย์ ผู้กำกับดนตรีซึ่งทำงานกับ ทฤษฎี ณ พัทลุง มาทำดนตรีประกอบให้ ถึงเราจะไม่อยู่ในวงการนี้แต่ก็พอได้ยินมาว่าเขาเป็นผู้กำกับดนตรีและนักประพันธ์เพลงรุ่นใหม่ ทีมเดียวกับที่ทำเพลงประกอบละคร เลือดข้นคนจาง เราก็รู้สึกว่าเป็นทีมที่เริ่มจริงจังแล้ว ไม่ใช่มือสมัครเล่นแล้ว” บิ๊กเล่าถึงตอนที่เขาเริ่มตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของโปรเจกต์นี้ ซึ่งได้รวมเอาคนทำงานมืออาชีพในแต่ละวงการให้ได้มีโอกาสมาร่วมงานกันอย่างพร้อมหน้า

เมื่อเสียงเล่านิทานและดนตรีเสร็จสมบูรณ์ ขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กันคือการต่อยอดโดยนำภาพและเสียงมารวมกันเพื่อเพิ่มช่องทางเผยแผ่

“ตอนแรกเราคิดว่าในคลิปก็คงจะเป็นภาพเฉยๆ ไม่ได้ขยับ แต่บังเอิญได้คุยกับ พี่ดล ผดุงวิเชียร ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอและโฆษณา แนะนำว่าถ้ารูปขยับได้สักหน่อยจะทำให้เรื่องน่าสนใจมากขึ้นไหม ซึ่งพี่ดลเขาก็ไปคุยกับทีมงาน” บิ๊กเล่าถึงขั้นตอนสุดท้ายที่เพิ่งเริ่มต้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องยอมรับว่าเสียงดนตรีประกอบที่เร้าอารมณ์นั้น มีส่วนอย่างมากในการออกแบบแอนิเมชัน 

“พอดนตรีส่งมาขนาดนี้แล้ว จากทีแรกที่เราคิดว่าจะทำแอนิเมชันแค่นิดเดียว แต่เสียงเขามีอารมณ์ มีซาวนด์ตู้มต้าม คนทำแอนิเมชันเขาก็จินตนาการได้มากขึ้น ก็เลยขยับมากกว่าที่เราคิดเอาไว้” 

05

ชาดกที่เป็นเพื่อนครู

บิ๊กรู้ตั้งแต่วันแรกที่คิดจะปรุงอาหารจานนี้แล้วว่าลูกค้าสำคัญของเขาคือใคร

“ถึงเราจะสื่อสารกับเด็ก แต่ก็ต้องมีผู้ใหญ่เป็นตัวกลาง คือครอบครัวหรือโรงเรียน พ่อแม่แต่ละคนอาจมีเวลาไม่เท่ากัน ในขณะที่คุณครูเรายังขอความร่วมมือได้ แล้วคุณครูในโรงเรียนก็ดูแลเด็กได้มากกว่าครอบครัว นิทานชาดกชุดนี้จึงถูกคิดมาเพื่อตอบโจทย์ครูผู้สอนและเด็กผู้เรียน” บิ๊กเล่าถึงการตัดสินใจปักหมุดให้ทาร์เก็ตกรุ๊ปของโปรเจกต์นี้ 

เพื่อตอบโจทย์การใช้งานสำหรับคุณครู ดร.รุ่งทิวา จันทน์วัฒนวงษ์ จากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี คือผู้มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มเติมข้อมูลส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากนิทานชาดกอย่างเล่า อ่าน ฟัง อย่างไรให้สนุก สรุปเรื่อง ข้อคิดจากนิทาน และกิจกรรมต่อเนื่องจากนิทาน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างหนังสือนิทานที่สมบูรณ์และตอบโจทย์ของผู้ใช้งานมากที่สุด

“ก่อนจะทำอะไรลงไปสู่โรงเรียน เราต้องฟังครูให้มาก เช่น หนังสือที่จะออกไปควรมีองค์ประกอบอะไร เพราะเมื่อก่อนกระทรวงศึกษาอยากมีหนังสืออะไรก็ทำมา แต่ครูก็ไม่รู้ว่าหนังสือเล่มนี้มีเพื่ออะไร 

บารมีดีที่ตน โปรเจกต์รื้อชาดกUntoldมาแปลงโฉมเป็นนิทานชุดสนุกที่ใช้ได้จริงกับหลักสูตรใน รร.
บารมีดีที่ตน โปรเจกต์รื้อชาดกUntoldมาแปลงโฉมเป็นนิทานชุดสนุกที่ใช้ได้จริงกับหลักสูตรใน รร.

“ตอนทำหนังสือชุดนี้คือเราเอาครูมานั่งถามเลยว่า ถ้าเราจะส่งหนังสือไปให้โรงเรียนสักเล่ม คุณครูอยากให้หนังสือมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ซึ่งครูก็บอกว่า เราควรบอกนะว่าจะเล่านิทานยังไง เราควรเสนอแนะกิจกรรม ควรมีอภิธานศัพท์นะ คือเราต้องไปฟังผู้ใช้ เพราะเราอยากได้หนังสือที่เป็นเพื่อนครูจริงๆ” ดร.รุ่งทิวา เล่าถึงความตั้งใจที่จะพาหนังสือนิทานชุดนี้ไปให้ไกลกว่าหนังสือนิทานทั่วไป นอกจากเนื้อหาที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้รู้จักพุทธชาดกในมุมมองที่แปลกใหม่แล้ว ยังต้องการให้ผู้ใหญ่นำหนังสือนิทานไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด

กิจกรรมต่อเนื่องจากนิทาน คือส่วนที่เราสะดุดตาตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้จับหนังสือนิทานชุดนี้ เพราะข้อมูลในตารางขนาด 1 หน้าคู่นั้นเป็นการบูรณาการ และต่อยอดจากเนื้อเรื่องของนิทาน ไปสู่กิจกรรมมากมายในห้องเรียน ที่สำคัญคือ มีครบถ้วนในทุกกลุ่มสาระวิชา สอดคล้องไปกับหลักสูตรมาตรฐาน

“ทำไมเราถึงต้องบูรณาการไปสู่ทุกกลุ่มสาระวิชา” เราสงสัย

“บางครั้งคุณครูจะมองว่าการสอนคุณธรรมจริยธรรมคือหน้าที่ของครูสังคม ครูศาสนา แต่ความจริงแล้วครูทุกคนคือตัวอย่างในเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม เพราะซึมซับและอบรมสั่งสอนกันได้ทุกขณะ ฉะนั้น เราจึงมองว่ากิจกรรมควรจะสอดแทรกไปให้ครูทุกกลุ่มสาระมารับผิดชอบ เพื่อช่วยกันขัดเกลาคุณธรรมจริยธรรม ผ่านนิทานและกิจกรรมในวิชาเรียนของคุณนั่นแหละ เพราะเราอยากให้ครูทุกคนรู้สึกว่า ใครๆ ก็อบรมบ่มเพาะเรื่องคุณธรรมจริยธรรมได้ ไม่ใช่แค่ในวิชาศาสนาอย่างเดียว”


ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : บารมีดีที่ตน

ดูและฟังนิทานชาดกทั้งสิบเรื่องได้ที่ บารมีดีที่ตน

สนับสนุนโครงการLINE OA : @baramidee

Writer

Avatar

สาริศา เลิศวัฒนากิจกุล

เด็กนิเทศ เอกวารสารฯ กำลังอยู่ในช่วงหัดเขียนอย่างจริงจัง แต่บางครั้งก็ชอบหนีไปวาดรูปเล่น มีไอศครีมเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในยามอ่อนล้า

Photographer

Avatar

กรริน วิจิตรประไพ

อดีตนักเรียนออกแบบที่สนใจการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย ปัจจุบันเป็นช่างภาพอิสระ ศึกษาปริญญาโทด้านการถ่ายภาพที่มิลาน