ชีวิตของ บรรยง พงษ์พานิช โคตรมัน

ใครได้รู้จักตัวตนของชายวัย 65 ปี คนนี้ คงคิดไม่ต่างจากผม

เขามีวิธีคิดที่แหกและบ้า ดูเผินๆ เหมือนจะไร้กระบวนท่า แต่เขาตั้งใจวางกลยุทธ์มาแบบหวังผล ซึ่งส่วนใหญ่เขาจะทำสำเร็จ

เขาหัดวางกลยุทธ์ตั้งแต่เรียนมัธยม เขาเปลี่ยนตัวเองจากเด็กที่ไม่มีเพื่อนคบให้กลายเป็นคนดังของโรงเรียนในเวลาเพียง 2 ปี และใช้เวลาเท่ากันหัดเล่นรักบี้จนติดทีมชาติตอนอายุ 17 ปี

เขาเคยเกือบเป็นนักกีฬาที่ติดทีมชาติ 4 ประเภทกีฬาพร้อมกัน

เขาเรียนจบปริญญาตรีจากเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยเกรด 2.00 เข้าเรียนปริญญาโทที่ศศินทร์แบบที่กรรมการไทยไม่รับ แต่กรรมการฝรั่งบอกว่า ยังไงก็ต้องรับ เขาเรียนจบ 24 วิชา ด้วยการท็อป 14 วิชา

บริษัทหลักทรัพย์ภัทรรับเขาเข้าทำงานตำแหน่งเสมียนเคาะกระดานหุ้น เพราะตัวใหญ่ เบียดสู้คนได้ (ตลาดหลักทรัพย์ยุคเก่าใช้ระบบซื้อขายแบบเคาะกระดาน)

พ.ศ. 2520 เขาเริ่มต้นทำงานด้วยเงินเดือนไม่กี่พันบาท ปีต่อมาเขากู้เงินมาเล่นหุ้นจนมีเงิน 2 ล้านบาท ปีต่อมาตลาดหุ้นพัง เขาในวัย 24 ปี มีหนี้ติดตัว 1.4 ล้านบาท นั่นคือครั้งสุดท้ายในชีวิตที่เขาเป็นหนี้

ตำแหน่งปัจจุบันของเขาคือ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

เขาเอาเงินฝรั่งเข้าประเทศผ่านตลาดทุนมาแล้ว 2 ล้านล้านบาท ทำดีลทางธุรกิจขนาดยักษ์ในประเทศนี้มากมาย

เขาเป็นนักหาโอกาส เขาเปลี่ยนวิกฤตหลายต่อหลายครั้งให้กลายเป็นโอกาสทองของชีวิต

ผมใช้เวลา 5 ชั่วโมงกว่าคุยกับเขาเรื่อง ครอบครัว ชีวิตนักเรียนประจำ กีฬา หนังสือ การเรียน การเงิน การบริหาร งานปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การเมือง งานต่อต้านคอร์รัปชัน การศึกษา สุขภาพ ธรรมะ และอีกมากมาย

หลายเรื่องเขาเล่าให้ฟังโดยวงเล็บว่า อย่าเอาไปเขียน เพราะพาดพิงถึงบุคคลที่สาม หลายเรื่องผมจำใจตัดออก เพราะกลัวบทสัมภาษณ์จะยืดยาวเกินไป

บทสนทนาที่เรียบเรียงมาให้อ่านกันเป็นเรื่องของ ‘วิธีคิด’ ที่น่าสนใจของชายคนนี้

เผื่อเราจะได้มองหาโอกาสจากสถานการณ์ต่างๆ แบบเขาบ้าง

บรรยง พงษ์พานิช นักคิดนอกกรอบ จากเสมียนเคาะกระดานหุ้นสู่ประธานบริษัทการเงิน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

คุณเคยคิดจะเกษียณตั้งแต่อายุ 40 

มันเป็นเรื่องของจังหวะ ผมสร้างเนื้อสร้างตัวแล้วตั้งเกณฑ์ว่าอยากมีเงินเท่านี้ พออายุสี่สิบ ผมมีเงินสองเท่าของที่ตั้งเป้าไว้ เพราะเป็นจังหวะบูมของตลาดหุ้น ช่วงปี 1993 – 1994 มันโตแบบไร้เหตุผลมาก ถ้าไม่ตลาดหุ้นผิดก็อาจารย์ผมผิด ผมบอกเมียว่าเลิกเถอะ ไม่เอาแล้วอาชีพนี้ ขี้เกียจไปโน้มน้าวใจคนในขณะที่เขาคิดว่าตลาดเป็นอีกอย่าง เหนื่อยที่ต้องไปแข่งกับคู่แข่งที่ Bullshit ทำอะไรก็ได้ ขณะที่ผมต้องยึดกับฐานอันชอบธรรม ผมเลยลาออก ขอเกษียณ ไปสอนหนังสือที่คณะบัญชี จุฬาฯ ผมอยากเป็นครูมาตั้งแต่ยังเด็กแล้ว เพราะรู้สึกว่าครูผมสอนห่วย เราน่าจะทำได้ดีกว่า

แล้วทำได้ดีอย่างที่คิดไหม

ไม่ดี ยอมรับเลย การสอนเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน ผมทำได้ไม่ดี ไม่สนุก รู้สึกผิดหวัง สอนได้สองปีเลยขอพอ ผมสอนปี 1994 – 1995 เรารู้ว่าจะเกิดต้มยำกุ้งในปี 1997 ช่วงปี 1996 ผมก็กลับไปทำที่ภัทร เพราะตอนที่ลาออกไปสอนหนังสือ นายไม่ให้ออก ให้ตำแหน่งที่ปรึกษาแล้วให้เงินเดือนครึ่งหนึ่ง ผมถือคติทำงานคุ้มค่าเงินตลอดทั้งชีวิต ผมวัดของผมเอง ยังไงคนจ้างผมก็คุ้ม

ตอนที่วิกฤตจะมาผมเห็นอยู่สองเรื่อง หนึ่ง ภัทรต้องการเรา และอยากให้เราช่วย สอง การไปสอนหนังสือมันช่วยให้ผมอ่านหนังสือเยอะขึ้น กลับสู่ทฤษฎี ได้ทบทวนวิชา แล้วก็พบว่า อาจารย์เราถูก เพราะสุดท้ายความไร้เหตุผลของตลาดมันอยู่ได้ไม่นาน ฟองสบู่ก็แตก

คุณช่วยภัทรให้พ้นจากวิกฤตต้มยำกุ้งได้ไหม

ไม่ได้ ผมผิดอยู่สองเรื่อง หนึ่ง ผมประเมินความเสียหายต่ำกว่าจริง ไม่รู้ว่ามันจะหายนะขนาดนี้ สอง ผมโน้มน้าวคนอื่นไม่ได้ วิธีรอดคือต้องลดขนาดตัวเอง แต่ในยามฟองสบู่ไม่มีใครกล้าทำ เพราะมันเสียโอกาส ทุกคนก็ยังแย่งกันขยายตัวตามฟองสบู่

แต่คุณก็สร้างชื่อจากวิกฤตต้มยำกุ้งได้

ผมจะเล่าวิธีใช้โอกาสของผมให้ฟัง เวลานักวิชาการจะตัดสินใจอะไรเขาต้องมีข้อสรุปจากการวิจัย แค่เข้าใจ ตกผลึก เขาจะไม่กล้าสรุป ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ของผม เรียบเรียงข้อมูลเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมาเป็นเปเปอร์ แต่หลักฐานยังไม่ชัดพอ สำหรับผมแค่นี้พอแล้ว ผมมั่นใจว่ามันจะเกิด คุณไม่กล้าใช้ เอามา ผมใช้เอง ผมก็เอาเปเปอร์นั้นไปตระเวนเล่าให้คนฟัง

ผมให้เพื่อนที่เป็นลูกเขยคุณอานันท์ ปันยารชุน ช่วยนัดพ่อตาเขาให้หน่อย ผมมั่นใจว่ามุมนี้แกไม่เคยได้ยินแน่ๆ นัดไปครึ่งชั่วโมงได้คุยสองชั่วโมง ห้องทำงานแกติดกับห้อง ดร.อำนวย วีรวรรณ แกเดินไปเคาะห้อง “อำนวยๆ บรรยงมีข้อมูล คุณต้องสนใจ” ผมได้อีกสองชั่วโมงจาก ดร.อำนวย แล้วก็ซี้กันมาจนถึงวันนี้ ถ้าผมมี Substance ก็ต้องเสนอสิ จะรอให้คนเขาได้ยินกิตติศัพท์ว่าบรรยงเก่งแล้วมาขอคุยเหรอ บ้า เราต้องเสือกเข้าไป

ผมเอาเปเปอร์นั้นไปพรีเซนต์ทั่วกรุงเทพฯ มีคนเชื่อน้อยมาก ประชาชาชาติเอาเปเปอร์นั้นไปจัดสัมมนาประจำปี ให้ผมพรีเซนต์ คนวิจารณ์เปเปอร์คือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับ โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ คนฟังพันห้าร้อยคน เมื่อก่อนผมเป็นแค่นักการเงินที่มีชื่อเสียงแค่ในแวดวง จนเกิดเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง เปเปอร์นั้นทำให้ผมมีตัวตนขึ้นมา ผู้ใหญ่ในสังคมเยอะแยะรู้จักผม

ถ้าต้มยำกุ้งไม่เกิด คุณจะเสียอะไรบ้าง

มานึกย้อนดูผมก็กล้าเหมือนกันนะ แต่ผมมั่นใจว่ามันใช่ เราพยายามคาดการณ์อนาคตตลอดเวลา ประเด็นคือคุณจะจัดการสิ่งที่คุณคาดการณ์อย่างไร เอาไปสร้างโอกาสอย่างไร ถ้าคาดผิดคุณจะมีความเสี่ยงขนาดไหน ผมนี่ผิดประจำ แต่ผมถือคติว่า เมื่อไหร่ที่กูผิดกูถลอก แต่ถ้ากูถูกกูแจ็กพ็อต

คุณชอบความเสี่ยงไหม

ผมเป็นคนขี้กลัว เลยพยายามเข้าใจความเสี่ยง ประเมิน ถ้าได้เปรียบกูใส่ ถ้ายังไม่ได้เปรียบกูรอ แล้วหาโอกาสใหม่ ถ้าคุณไม่อยากเสี่ยงแบบซี้ซั้ว วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ หาทางเลือกให้มากที่สุด ถ้าคุณมีทางเลือกเดียว ต้องคิดว่าจะเอาหรือไม่เอา ถ้าหามาเรียงกันสักสิบอัน คุณก็เปรียบเทียบได้ มีโอกาสจะเจอความเสี่ยงที่ต่ำและผลตอบแทนที่สูง

โอกาสไม่ใช่โชค อย่ารอ คุณต้องสร้างมันขึ้นมา คุณมองเห็นมันหรือเปล่า ประกอบมันขึ้นมาได้หรือเปล่า ถ้าคุณนั่งไตร่ตรองกับตัวเองแบบแฟร์ๆ จะพบว่า ในชีวิตที่ผ่านมามีโอกาสที่คุณพลาดไปเยอะ บางอันคุณเทค บางอันคุณทิ้ง บางอันเทคแล้วดี บางอันทิ้งแล้วเสียดาย แต่โอกาสที่คุณเทคและทิ้งรวมกัน ยังไม่ถึงหนึ่งในร้อยของโอกาสที่คุณไม่เห็น ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามันผ่านไปแล้วโดยที่คุณไม่ได้สำเหนียก

ตอนอายุสามสิบผมทำดีลเป๊ปซี่ให้บริษัทเสริมสุข โรเจอร์ เอนริโก แชร์แมนของเป๊ปซี่ซึ่งดังมากในตอนนั้นบินมาปิดดีลเลยได้กินข้าวกัน ผมไม่เคยลืมคำพูดของเขาเลย เขาบอกผมว่า “คนหนุ่มเชื่อผม คุณต้องเสี่ยง ไม่เสี่ยงก็ไม่มีอนาคต ไม่มีชัยชนะ แต่เมื่อคุณเสี่ยง ต้องประเมินความเสี่ยง คุณต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ความเสี่ยงคืออะไร และถ้าคุณพลาด คุณต้องไม่หมดตัว” พูดแบบชาวบ้านก็คือ อย่าแทงหมดหน้าตัก ถ้าล้มก็ยังมีฟูกรอง

บรรยง พงษ์พานิช นักคิดนอกกรอบ จากเสมียนเคาะกระดานหุ้นสู่ประธานบริษัทการเงิน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

บางคนมองว่า นักการเงินเล่นเกมบนตัวเลขที่เกิดประโยชน์กับตัวเองมากกว่าสังคม คุณคิดว่ายังไง

ผมพบคำตอบนี้ตอนเรียนปริญญาโท คุณเคยได้ยินคำว่า เราต้องแยกประโยชน์ส่วนรวมออกจากประโยชน์ส่วนตัว แล้วเอาประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนส่วนตัวไหม ฟังดูดีชิบหาย ใครก็พูด แต่ทำจริงได้ไหม สำหรับผม ทำไม่ได้เลย พอไปเรียนปรัชญาทุนนิยม ก็คิดว่าทำไมเราไม่หลอมรวมประโยชน์ส่วนรวมกับส่วนตัวเข้าด้วยกัน ไม่ต้องเอาอะไรก่อน เพราะมันอันเดียวกัน

หน้าที่หนึ่งของตลาดเงินคือ การรวบรวมทรัพยากรแล้วจัดสรรไปให้คนที่ควรได้ ผมพบว่า ทำไมเราไม่ทำงานหาเงินในขณะที่สร้างประโยชน์ไปด้วย คนจะด่าว่าเราเข้าข้างตัวเอง นั่นไม่สำคัญ ผมตอบตัวเองได้ว่ากำลังทำอะไร

ผมอยู่กับตลาดหุ้นมาสี่สิบปี ผมอันเดอร์ไรต์หุ้นทั้งหมดล้านล้านกว่าบาท เอาเงินจากนักลงทุนไปให้บริษัท แปลว่าผมช่วยจัดสรรทรัพยากรนะ ผมภูมิใจที่ทำให้เกิดการลงทุน ทำให้คนไทยระดมเงินได้ สร้างกิจการขึ้นมา ภัทรเอาลูกค้าฝรั่งเข้าประเทศไทยมากที่สุด เราได้คอมมิชชันจม ส่วนแบ่งทางการตลาดเราเป็นอันดับหนึ่ง แต่มองบางมุม มึงนี่เองที่เอาฝรั่งมายึดประเทศ เพราะหุ้นไทยอยู่ในมือฝรั่งสี่ล้านล้านบาท

ช่วงต้มยำกุ้ง หลายคนเรียกสิ่งนี้ว่า ขายชาติ

ผมคิดคนละอย่างนะ ก็คนไทยไม่มีเงินไง ภัทรเอาเงินเข้าประเทศมาแล้วสองล้านล้านบาท เงินฝรั่งเป็นเงินที่มีคุณภาพ เพราะมันมีความรู้พอที่จะไม่ให้เงินกับตัวปลอม ไม่โปร่งใสกูไม่ให้ อันนี้มีตลาดแข่งกับเขาได้ สร้างผลผลิตได้จริง สู้ได้จริง เอาเงินกูไป เพราะมันก็ได้ผลตอบแทน ถ้าธุรกิจไทยอยากได้เงินต้องปรับเรื่องความโปร่งใส ซี้ซั้วฉ้อโกงผู้ถือหุ้นไม่มีทางได้เงิน ถ้าบริษัทคุณไม่ผ่านมาตรฐาน ทุนต่างประเทศเขาไม่เอานะ เป็นกลไกกำกับให้ลงทุนอย่างมีคุณภาพ ถ้าไม่มีคุณภาพกูขายทิ้ง เป็นการควบคุมคุณภาพโดยตลาด ไม่ใช่โดยกฎหมาย ตลาดมีประสิทธิภาพขึ้นจมเลย ถ้าคุณอยากใช้บริการเรา ทางเดียวคือคุณต้องผ่านมาตรฐานของตลาด ซึ่งเป็นตลาดคุณภาพ

แล้วการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ถ้าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นการขายชาติจริง ผมขายมาแล้วหกครั้ง แต่โทษทีครับ ผมภูมิใจมากที่ได้ทำ ผมมีข้อพิสูจน์ยืนยันเยอะว่า ถ้า ปตท. ไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ จะไม่มีทางเป็นองค์กรที่ดีขนาดตอนนี้ และอีกหลายๆ องค์กร ถ้าไม่เข้าตลาดจะแย่กว่านี้อีกเยอะ

ผมทำงานมาสี่สิบสองปี เคยผิดพลาดแน่นอน ทุกวันด้วยซ้ำ แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ พอเราเห็นประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนตัวไปด้วยกัน เราทำงานแบบโคตรมีความสุขเลย ได้ทั้งความภูมิใจ ได้เงิน ผมรวยโดยไม่เคยละอายใจ เล่าได้หมดว่าเงินทุกบาทมาจากไหน เพราะเงินเราไม่เคยมาโดยมิชอบ

ในการทำงานที่ผ่านมา คุณใช้เวลาไปกับอะไรมากที่สุด

คุยกับคน

คุณเป็นนักการเงินที่คุยกับคนมากกว่าดูตัวเลขหรือ

มันต้องโน้มน้าวคน ตัวเลขก็ดู ทฤษฎีไฟแนนซ์ผมแน่นมาก แต่สุดท้ายก็รู้ว่าไม่จำเป็นเท่าไหร่ เด็กมันแน่นกว่า ผมเป็นคนช่วยประยุกต์ ผมไม่คิดว่าตัวเองบริหารงานได้สุดยอด ยังมีเรื่องที่ต้องพัฒนา เรื่องงานผมเป็นคนที่ไม่มีพอ เช่น เด็กรายงานว่าปีนี้ภัทรได้รับรางวัลงานวิจัยสี่รางวัลจากทั้งหมดหกรางวัล ผมจะถามว่า ทำไมสองรางวัลนั้นไม่ได้ แล้วเมื่อไหร่มันจะได้

ถ้าเขากวาดมาครบทั้ง 6 รางวัล

มาตรฐานแม่งใช้ไม่ได้ (หัวเราะ) พวกภัทรรู้ การทำ Deal ในชีวิตผมไม่มี Perfect Deal อะไรก็ปรับปรุงได้ พัฒนาได้ทั้งนั้น

ต้องทำยังไงถึงจะได้รับคำชมจากคุณ

ผมไม่ได้โหดขนาดนั้น คำพูดของผมมีเซนส์ของการชมเสมอ คุณสมบัติหนึ่งที่ผมอ่านพบแล้วใช้มานานมากคือคำว่า Always respect others. ถ้าคุณรู้จักมอง ทุกคนจะเก่งกว่าที่คุณคิด ฉลาดกว่าที่คุณคิด ลึกซึ้งกว่าที่คุณคิด มนุษย์ทุกคนมีสิ่งที่เรา Respect ได้ หาตรงนั้นดีกว่า ผมเป็นคนที่ Respect คนอื่น ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ความเข้าใจคนอื่น

ผมไม่เคยเรียกเขาว่า ลูกน้อง เวลามีคนบอกว่า ลูกน้องพี่ ผมบอก ไม่ใช่ครับ ผมมองว่าเป็นเพื่อนร่วมงาน แล้วผมก็ปฏิบัติกับเขาแบบนั้น รู้สึกแบบนั้น

บรรยง พงษ์พานิช นักคิดนอกกรอบ จากเสมียนเคาะกระดานหุ้นสู่ประธานบริษัทการเงิน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

คุณวางตัวกับลูกน้องยังไง

ผมบริหารงานแบบพีระมิดหัวกลับ องค์กรปกติจะให้คนข้างบนคิดแล้วส่ง ถ้าเป็นแบบนั้นองค์กรจะไปได้แค่ความสามารถของคุณ องค์กรต้องไปได้ตามความสามารถรวม สมมติองค์กรเรามีสี่ร้อยคน ต่อให้คุณเป็นอัจฉริยะก็ไม่มีทางเก่งได้ครึ่งหนึ่งของความสามารถรวม

ถ้าเขาคิดว่าเป็นลูกน้อง เขาจะรอคุณคิดรอคุณสั่ง แต่พอเป็นเพื่อนร่วมงาน ทุกคนมีหน้าที่ พอร่วมมือกันเราจะได้งานที่ใหญ่กว่าความสามารถของคุณ วิธีของผมคือสนับสนุนให้เขาทำ แล้วเราคอยเสริม ถ้าเป็นเรื่องงานคุณจะอยู่ตำแหน่งไหนก็ใช้ทรัพยากรของบริษัทได้ตั้งแต่ยอดถึงฐานพีระมิด วันๆ จะมีคนมาบอกผมว่า พี่ช่วยทำนี่หน่อย ไปหาคนนี้ให้หน่อย ผมก็รับคำสั่ง แต่ก็มีสิทธิ์โต้แย้งว่า กูไม่ทำ ด่ากลับด้วยนะ ถ้ามันไม่สำคัญจริงๆ ผมจะทำแค่สิ่งที่ไม่มีใครสักคนทำได้ ผมเป็นคนที่ขี้เกียจที่สุดของบริษัทที่ทุกคนยกให้ ทำตัวแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร

คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของผู้นำคือ

ผมชอบหลักของ แจ๊ก เวลช์ (Jack Welch) ผู้นำที่ดีต้องมี 1P 4E

1P คือมี Passion ในองค์กร ในสิ่งที่องค์กรทำ 4E คือ Energy คนเก่งจำนวนมากไม่มี Energy แต่ E ที่สองสำคัญกว่า Energize People บางคนอยากทำอะไรแล้วจะมีวิธีที่ทำให้คนอื่นอยากทำกับมัน ผมมีคุณสมบัติประเภทนั้น E ที่สามคือ Edge ต้องมีความคม กล้าตัดสินใจ ตัดสินใจถูกต้อง ถูกเวลา มาจากกึ๋น ประสบการณ์ E สุดท้าย Execute สำคัญมาก ไม่ใช่หลักการดี แต่ไม่เกิด ต้องทำทุกวิถีทางให้เกิด

ผมประทับใจงานวิจัยของฮาวาร์ดเรื่องผู้นำแบบไหนที่ผู้ตามที่เก่งชอบ เขาไปรีเสิร์ชจากผู้ตามที่ประสบความสำเร็จแล้วเท่านั้น ถามว่าตอนยังเป็นผู้ตามอยู่ชอบผู้นำแบบไหน คำตอบที่ได้คือ ผู้นำที่เปิดเผยจุดอ่อนของตัวเอง ผู้นำที่คนเก่งเกลียดที่สุดคือ คนที่ทำตัวเป็น Perfectionist เพราะเขาไม่ต้องการคนเก่งอีกเลย ต้องการแค่แขนขา ซึ่งคนเก่งไม่ชอบเพราะตัวเขาจะไม่มีความหมาย

จุดอ่อนที่คุณเปิดเผยให้ลูกน้องเห็นคือ

เยอะแยะ ความไม่สม่ำเสมอในบางกรณี ผมขี้เกียจตัวเป็นขนเลย อันนี้ก็ไม่ทำ อันนั้นก็ไม่ทำ ผมปฏิเสธลูกค้าบางประเภท มึงไม่ต้องมาตามกู ไม่ทำแน่ๆ

ผมพร้อมจะโง่ให้ลูกน้องเห็น พร้อมจะขอโทษว่าผมเข้าใจผิดหรือคิดผิด สังคมไทยเนี่ยอันตราย คนชอบแสดงแต่ความดี ไม่เคยพูดข้อผิดพลาดของตัวเอง ภาษาอังกฤษมีคำว่า Unsuccessful, Failure, Fault, Mistake, Wrong เยอะมาก แต่ละคำก็คนละความหมาย แต่ของไทยคือผิดพลาด ผิดนี่ใช้ตั้งแต่จอดรถข้างถนนไปจนถึงฆ่าคนตาย คนไทยเลยยอมรับว่ากูผิดไม่ได้

ในที่ประชุมใหญ่ๆ ถ้าคุณมีเรื่องที่ไม่เห็นด้วย ยังไงคุณก็ต้องยกมือพูด ทำไมถึงปล่อยผ่านไม่ได้

ผมเป็นคนงี่เง่าในเรื่องบางเรื่อง ผมต้องมีส่วนรับผิดชอบกับมติที่ประชุม เวลามีข้อสรุปที่ไม่ถูกต้อง จะมีคนอยู่สามประเภท หนึ่ง เงียบ สอง ครับๆ สาม หันหน้ามามองผมโดยพร้อมเพรียงกัน ผมก็ต้องยกมือ ท่านครับ มันไม่ใช่แบบนี้นะครับ มันต้องแบบนี้

บรรยง พงษ์พานิช นักคิดนอกกรอบ จากเสมียนเคาะกระดานหุ้นสู่ประธานบริษัทการเงิน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

การกล้าแย้งเรื่องสำคัญในที่ประชุม พูดยังไงให้คนยังรักเรา

ยังรักหรือเปล่าไม่รู้นะ แต่ผมไม่พยายามหักหน้าใคร เราโตขนาดนี้แล้ว ศาสตร์ของการทำงานมีสามทักษะ หนึ่ง Technical Skills ความรู้เชิงวิชาการ สอง Conceptual skills ทักษะการมองภาพใหญ่ ยึดภาพใหญ่กับหลักการไม่ให้เป๋ไปเป๋มา สาม People skills ซึ่งยากมาก สำหรับผมรักไม่รักไม่ใช่ประเด็น People skills คือ ทักษะที่ทำให้คนอื่นทำและคิดอย่างที่เราต้องการ ผมเอา ‘ทำ’ ขึ้นก่อน ‘คิด’ นะ เพราะทำสำคัญกว่า ถ้าได้สองอย่างก็ดี ผมเป็นพวกเน้นประสิทธิผล ถ้าชอบด้วยก็ดี เกลียดก็ได้ แต่ต้องทำนะ ผมแทคติกเยอะ ผมเจ้าเล่ห์นะ แต่จริงใจ ถ้าเราตรงไปตรงมาแข็งทื่อบื้อมันก็ไม่เกิด

แทคติกที่ทำให้คนยอมทำตามเราคืออะไร

ต้องเข้าใจเขาก่อน ถ้าจะให้ได้ผลในระยะยาว ต้องเป็นประโยชน์กับเขาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง น้องชายผม บัญชา พงษ์พานิช เป็นคนทำงานด้านสังคม ตอนเกิดสึนามิเขาก็ลงไป จะตั้งองค์กรร่วมกับเอ็นจีโออีกห้าหกคน อยากให้ผมช่วยวางระบบ ผมก็ลงไป อย่างแรกผมอ่านเปเปอร์ของยูเอ็นเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งเรียบเรียงไว้ดีมาก มีวิธีการแบ่งคน ขั้นตอนการช่วยเหลือ ใช้งานได้เลย ผมก็เอามาทำแผน

อีกชิ้นเป็นของ Stanford School of Social Innovation โรงเรียนเอ็นจีโอที่ดีที่สุดในโลก อยู่ใน Business School เปเปอร์ชื่อ What Business Execs Don’t Know-but Should-About Nonprofits อธิบายว่า ทำไมคนธุรกิจที่ข้ามฟากไปทำงาน Non-profit ถึงอึดอัด อ่านแล้วผมรู้เลยว่าจะคุยกับพวกเขายังไง เราแก้ปัญหาทุกอย่างพร้อมกันไม่ได้ ไม่ใช่เกิดสึนามิ แต่จะถือโอกาสเอาบาร์เบียร์ออก ทำลายเรืออวนลากอวนรุน จะเปลี่ยนโลกทั้งใบ เราต้องจัดลำดับความสำคัญ จัดทรัพยากร

ผมต้องทำให้เอ็นจีโอเชื่อใจเรา แล้วก็ต้องทำให้คนอยากบริจาคเงินให้เราทำงาน ทุกอย่างนี้อยู่บนเปเปอร์ที่ชัดเจน ระบบที่โปร่งใส ผมโทรหาประธานของ Ernst & Young ซึ่งรู้จักกันตอนทำธุรกิจ ขอความช่วยเหลือให้เขาส่งทีมไปช่วยวางระบบการเงิน ระบบบัญชี ระบบสั่งการ พอถึงขั้นสอบบัญชีผมก็เอา KPMG คนละบริษัท แสดงมาตรฐานระดับโลกเลย ผมใช้โอกาสเป็น ช่วงนั้นใครๆ ก็อยากเป็นอาสาสมัครแต่ไม่รู้จะทำตรงไหน ผมได้มืออาชีพมา หาเงินได้สองร้อยแปดสิบล้านเพื่อใช้ทำงาน มีรีพอร์ตให้หมด

หลังจากนั้นไปเจอ PWC เขายังบอกว่า วันหลังมีเรื่องแบบนี้ตามผมบางสิ งานที่ผมทำเป็นที่รู้กันในวงการนะ ตอนนี้ผมจะทำอะไร หาคนมาร่วมทำง่าย เพราะเขารู้ว่าเราทำเป็นเรื่องเป็นราว ทำจริง ไม่เอาหน้า ยกหน้าให้มึงหมด

คุณไม่ต้องการชื่อเสียง แล้วต้องการอะไร

ผมตั้งเป้าหมายชีวิตตามมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) ขั้นแรก Basic Needs ผมนิยามว่า เงิน ซึ่งบรรลุแล้วตั้งแต่อายุสี่สิบ ขั้นต่อไป Security Needs ผมคิดเรื่องความมั่นคงต่างจากคนทั่วไป ตอนอายุน้อยๆ ผมคิดว่า Present Value จากความสามารถในการทำงานวันนั้นของผมน่าจะมีมูลค่าห้าสิบล้าน

พอมีเงินล้านแรกคนส่วนใหญ่จะเอาไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัย แต่ผมคิดว่ามันคือล้านที่ห้าสิบเอ็ด เลยเอาไปไว้ในที่เสี่ยงเพื่อสร้าง S Curve ให้มันโตขึ้นไปอีก ผมเอาไปลง Venture เลยทำให้ผมมีเงินเพิ่มขึ้นเยอะมาก ตอนนี้ Present Value ของผมเกือบศูนย์แล้ว ผมก็จะ Secure อีกแบบ เรื่องสุขภาพ เรื่องความสัมพันธ์ก็หาทาง Secure

ขั้นต่อไปก็คือ Social Needs การได้รับการยอมรับจากสังคม ผมชอบมาก บางคนตั้งเป้าว่าต้องได้เครื่องราชฯ หรือให้สื่อสดุดี แต่ผมขอนิยามของผมเอง บนโลกนี้มีเจ็ดพันล้านคน เราได้เจอคนแค่พันสองพันคน ทำยังไงจะให้คนที่เจอเรารู้สึกดี แล้วเราก็รู้สึกแบบนั้นด้วย นี่เป็นคติที่ผมใช้มาตลอดสามสิบปี ผมทำตลอดเวลา

คุณทำให้คนประทับใจด้วยวิธีการไหน

ผมแคร์ความสัมพันธ์กับคนที่ได้เจอผม ทำยังไงเขาถึงจะรู้สึกดี เพราะมันเป็นประโยชน์ อะไรก็แล้วแต่ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเงินทอง เปิดโลกทัศน์ก็ได้ แล้วผมก็เป็นคนอีโก้จัด ใครเจอผมครั้งเดียวต้องจำผมได้ ผมพยายามสร้างความประทับใจแรกด้วยความแหก เวลาที่คุณทำแบบนั้นมันคือการเดิมพัน บางครั้งคุณอาจจะได้ บางครั้งอาจจะเสีย ผมจะเล่าเรื่องที่ผมวืดให้ฟัง เป็นลูกค้าสำคัญซึ่งไม่ชอบหน้าผมเลย

บริษัทของเขามีผลประโยชน์ทับซ้อนปนเปกันไปหมด นักลงทุนต่างชาติไม่เอาเลย ผมเอาข้อมูลไปให้แกดู แนะนำว่าต้องรื้อโครงสร้างทั้งหมด เห็นอาการเลยว่าเขาไม่ชอบ ผมหาจังหวะไม่ดีด้วย เพราะลูกน้องแกนั่งอยู่ด้วยหลายคน คุณเดิมพันพลาดไม่เป็นไร แต่ต้องประเมินสถานการณ์ให้ถูก ความอันตรายคือมนุษย์มักจะประเมินความสัมพันธ์เข้าข้างตัวเองเกินจริงเสมอว่า เขาชอบนะ แต่ผมจะตรงข้าม ผมจะคิดก่อนว่าแกไม่ชอบ ถ้าหลงตัวเองคุณจะไปยาวเลย แต่พอรู้ผมก็แก้ด้วยการให้คนอื่นไปแทน มึงไปแทนกู มึงรู้แล้ว ได้เปรียบกูแล้วว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ สุดท้ายเขาก็ใช้ภัทรเยอะมาก ลืมไปแล้วมั้งว่าเคยเกลียดหน้าผม เจอกันก็ทักทายกัน

เห็นว่าคุณสนใจธรรมะด้วย สนใจในมุมไหน

มุมใช้มากกว่ามุมหลุดพ้น ผมไม่นิพพานอยู่แล้ว ผมไม่ค่อยทุกข์เพราะเวลาเจอปัญหาอะไรผมจะคิดจบ ถ้าผมเจอภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ก็อมไว้ ได้จังหวะดีก็กระเดือกเข้าไป ได้จังหวะดีก็ถุยทิ้ง มีปัญหาที่แก้ไม่ได้ก็ทิ้งไว้ก่อน วันไหนมีข้อมูลใหม่หรือสถานการณ์เปลี่ยนค่อยมาคิดต่อ

เวลาเจอปัญหามีทางแก้สามทาง แก้ ทน หนี คนที่แย่ที่สุดคือ ทนลูกเดียว ไม่มีศักยภาพอะไรเลย แย่รองลงมาคือ หนีลูกเดียว แย่อันดับสามคือ แก้ลูกเดียว ดันทุรังอยู่อย่างนั้น คนที่ดีที่สุดคือ ใช้ทั้งสามอย่าง เริ่มต้องแก้ ระหว่างแก้ต้องทน เพราะถ้าดีดนิ้วแล้วจบไม่เรียกปัญหา แล้วขีดเส้นไว้ ไม่ไหวกูเผ่น

บรรยง พงษ์พานิช นักคิดนอกกรอบ จากเสมียนเคาะกระดานหุ้นสู่ประธานบริษัทการเงิน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ในชีวิตนี้เคยปฏิเสธตำแหน่งรัฐมนตรีมาแล้วกี่ครั้ง

ไม่บอก มีการทาบทามมาเรื่อยๆ ผมก็บอกว่าไม่เอา

ทำไม

ผมอยากทำงานปฏิรูป ไม่ได้อยากทำงานบริหาร สำหรับผมตำแหน่งรัฐมนตรีไม่มีความหมายนะ มันเป็นแค่ความฝันตอนเด็กๆ อ่านนิยายแล้วท่านรัฐมนตรีเท่ชิบหาย (หัวเราะ) ผมไม่เหมาะจะทำงานการเมือง ความฝันของผมตอนนี้คือเป็น สำราญชน ตามนิยามของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ แกเขียนบทความว่าได้ไปเยือนเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยที่มีคนได้รางวัลโนเบลมากที่สุดในโลก แกสังเกตว่าพวกปัญญาชนในเคมบริดจ์มีสิ่งที่เหมือนกันคือ หนึ่ง เงินเดือนดี สอง งานน้อย สาม ท่องเที่ยวพูดคุยเป็นหลัก แล้วมีเวลาคิดงานดีๆ แกเรียกพวกนี้ว่า ‘สำราญชน’ นี่คืออุดมการณ์ของผมตอนนี้ เป็นการสังเกตการณ์สังคม วิพากษ์วิจารณ์ ผมไม่ชอบทำอะไรเลย นอกจากเขียนเฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ

ผมชอบตั้งโจทย์ ชี้ประเด็น แล้วก็แก่เกินจะขับเคลื่อนแล้ว ผมพิสูจน์แล้วว่าวิธีที่ผมขับเคลื่อนในสังคมปัจจุบันไม่เวิร์ก ผมป่วยจะลาออกจาก TDRI สมเกียรติ (สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์) บอกพี่ไม่ต้อง พี่ตั้งโจทย์ปีละสามเรื่อง ให้เขาเอาไปศึกษาต่อ ก็โคตรคุ้มแล้ว

คุณโตมากับบรรยากาศในครอบครัวแบบไหน

พ่อผมชอบอ่านหนังสือ เป็นคนนครศรีธรรมราช น่าจะเป็นคนต่างจังหวัดไม่กี่คนที่รับนิตยสาร TIME และ LIFE มี Encyclopedia Britannica เขาตอบทุกคำถามของผม คุณนึกออกไหมบางทีคำถามเด็กมันงี่เง่า น่ารำคาญ แต่พ่อผมไม่เคยไม่ตอบ เขาจะไปเปิด บริแทนนิกา มาตอบคำถามลูกๆ ผมชอบเล่าเรื่องนี้ให้พ่อๆ ทั้งหลายฟัง ถ้าลูกถามอะไรมึงต้องตอบนะ อย่าโบ้ยไปพ้นๆ มันจะทำลายความอยากรู้ของเด็ก การตอบของมึงจะสอนให้เด็กเป็นคนที่แสวงหาความรู้ ผมเลยถูกจุดประกายการหาความรู้ ตั้งคำถาม หาคำตอบ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาการของมนุษย์เลย

มีพี่น้องกี่คน

ผู้ชายห้า ผู้หญิงคนสุดท้อง ผมนี่ Wednesday’s Child ของจริง มีผลเรื่องพ่อแม่ไม่รัก เวลานั่งรถพ่อผมจะให้แข่งกันเอาเลขสามตัวแรกของทะเบียนรถคันหน้า มาบวกลบคูณหารยกกำลังให้ได้เท่ากับเลขตัวที่สี่ ผมนี่ชนะหมด ผมเป็นเด็กที่ถูกฝึกให้รักการแข่งขัน ซึ่งอาจจะไม่ค่อยดีนะ ยิ่งผมชนะ พ่อก็ยิ่งดูแลคนอื่นมากขึ้น

ไอ้นิสัยแบบนี้พอเข้าโรงเรียนประจำที่พ่อแม่ไม่อยู่ดูแลก็เกิดปัญหาเลย ผมสื่อสารกับเพื่อนไม่ได้ พ่อผมมีตู้หนังสือสองตู้ มีตั้งแต่หนังสือความรู้ ประวัติศาสตร์ ไปจนถึง ราชาธิราช สามก๊ก ตอนปอสี่ผมก็อ่านหมดตู้แล้ว ผมเข้าวชิราวุธตอนปอห้า เรารู้สึกว่าเพื่อนโง่ชิบหาย ไม่อยากคุยกับมัน ก็เริ่มแยกตัว แล้วผมดันอ่านหนังสือพวกนี้เยอะ ครูเขียนในสมุดพกตั้งแต่เด็กๆ เลยว่า หัวรุนแรงและรักความยุติธรรม ผมเห็นเพื่อนโดนรังแกไม่ได้ ผมตัวใหญ่ เรียนมวยมา ก็พยายามช่วยเพื่อนที่อ่อนแอ ผมเป็นเด็กที่แทบไม่มีใครคบ

เหตุการณ์ที่เพื่อนเกลียดผมมากที่สุดคือ ตอนเรียนหนังสือครูเขาหันหลังแล้วนั่งยองๆ เขียนกระดาษ เพื่อนแม่งวิ่งจากข้างล่างเอาปากกาหมึกซึมไปสลัดหมึกเต็มหลังครูเลย เราเรียกว่าเกมสลัดหมึก พ่อแม่เกลียดมากเพราะเสื้อมันพัง หมึกพวกนี้มันซักไม่ออก คนที่สลัดเป็นกากบาทกลางหลังครูนี่กลับมาเป็นฮีโร่ เลิกเรียนผมเห็นครูใส่เสื้อกล้ามแล้วถอดเสื้อมาดู เห็นครูน้ำตาซึม ครูจนนะ ผมเดินไปบอกเลยว่าใครทำ กลายเป็นเรื่องใหญ่ เพื่อนแอนตี้ทั้งห้อง ผมไม่แคร์เลย นี่คือสันดาน

คุณเรียนมวยจากไหน

ตอนผมมาเรียนวชิราวุธ ผมก็เรียนรู้ที่จะเอาตัวรอด ก็ไปสมัครเป็นลูกศิษย์ครูมวยซึ่งเป็นรุ่นพี่ชื่อโกวิท วงศ์สุรวัฒน์ แกคล้ายๆ ผม เพื่อนไม่ค่อยเอา ไม่ป๊อปปูลาร์ ไม่เล่นกีฬาอื่น แกตั้งค่ายมวยในโรงเรียน ไม่มีใครกล้ายุ่งกับแกเพราะต่อยเก่งจริง แล้วก็สู้คน เป็นกึ่งๆ เมนเทอร์ของผมด้วย

คุณเชื่อไหมว่า เด็กชกกันใช้กำลังอย่างเดียว ชกห้านาทีก็คลานแล้ว ผมเรียนรู้ทริคว่า จะยืนระยะได้ยังไง ผมแรงดี ออมแรงเป็น ชกกันไปเหอะ ป้องกันไม่ให้แตกอย่างเดียว ยังไงก็ชนะแน่นอน เรื่องหมดแรงไม่มีทาง ผมวิ่งวันละสิบกิโล

บรรยง พงษ์พานิช นักคิดนอกกรอบ จากเสมียนเคาะกระดานหุ้นสู่ประธานบริษัทการเงิน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
บรรยง พงษ์พานิช นักคิดนอกกรอบ จากเสมียนเคาะกระดานหุ้นสู่ประธานบริษัทการเงิน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ถ้าไม่คบเพื่อน แล้วเวลาว่างทำอะไร

ผมไม่ยุ่งกับใคร มึงเล่นกีฬา กูเข้าห้องสมุด หนังสือในห้องสมุดวชิราวุธนี่ผมว่าผมอ่านหมดแล้ว นิยงนิยายก็อ่านหมด ผมเป็นเด็กที่แปลกแยกมากจนกระทั่งมาอ่านหนังสือเล่มหนึ่งเปลี่ยนชีวิตผมเลย ชื่อ วิธีชนะใจมิตรและจูงใจคน ของเดล คาร์เนกี เดี๋ยวนี้ยังพิมพ์อยู่เลย อ่านแล้วก็พบว่า เข้าสังคมก็ไม่ยากนี่หว่า ก็เปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง จากเด็กที่ไม่มีใครคบกลายเป็นเด็กป๊อปปูลาร์ภายในสองปี

ทำยังไง

เอาใจใส่คนอื่น เดิมเราไม่เคยมีนะ ไม่เข้าใจด้วย เด็กมันมีสัญชาติญาณเอาตัวรอดแบบสัตว์ ผมเริ่มสังเกตคนอื่น ค่อยๆ สร้างเพื่อน เวลาจะเอาชนะใจใครก็ตั้งเป้าแล้วศึกษาเขาก่อน ไม่ได้ยากเลย คือเอาเขาไม่ใช่เอาเรา คำว่า Empathy (เอาใจใส่) เป็นคำที่สำคัญ เดี๋ยวนี้ผมก็ยังป๊อปปูลาร์ในหมู่เพื่อนฝูงนะ ทั้งที่เวลาผมด่าผมก็ด่าแรง แล้วก็เปลี่ยนบุคลิก เปลี่ยนพฤติกรรม วชิราวุธยกย่องนักกีฬา ผมก็ต้องเล่นกีฬา

คุณเลยเริ่มเล่นรักบี้

วชิราวุธเขาเล่นรักบี้กัน แต่ผมเล่นแบดฯ ก็ขวางโลกไง แบดฯ เป็นกีฬาที่แข่งประเภทแรก เล่นสองเดือน ผมแข่งแบดฯ ได้แชมป์ พอหมดซีซั่นแบดฯ เหลืออีกปีละเก้าเดือนผมก็เข้าห้องสมุดอย่างเดียว จนผ่านไปสักสองสามปีก็ลุกขึ้นมาเล่นรักบี้ เพราะวชิราวุธให้เกียรติแต่นักรักบี้ ผมก็ใส่เกินร้อย ตื่นตีห้า วิ่งวันละสิบกิโลทุกวัน เล่นได้สองปีก็ติดทีมชาติตั้งแต่อายุสิบเจ็ด

ก็เห่อเหิมใหญ่ หลงทาง นึกว่ากูสำเร็จแล้วไง โคตรเท่เลย ได้เกียรติทุกอย่าง เป็นหัวหน้าใหญ่ เป็นหัวหน้าวงดนตรี วันเฉลิมฯ ผมเป็นหนึ่งในหกคนที่ได้เข้าเฝ้าหน้าลิฟต์

พอเข้าเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ มาแล้วยังป๊อปปูลาร์อยู่ไหม

เรื่องกีฬานี่ไม่ต้องพูดเลย ผมดังมาก เพราะผมเล่นกีฬาทีมมหาวิทยาลัยสี่อย่าง รักบี้ทีมชาติได้เหรียญทองซีเกมส์ บาสฯ ก็ได้ไปคัดทีมชาตินะ วอลเลย์บอลก็เล่นระดับมหา’ลัย เล่นให้กีฬาเขตในกีฬาแห่งชาติ แล้วก็ทศกรีฑา ผมเหรียญทองกรีฑานักเรียนประเทศไทยนะ วิ่งพันห้าร้อยเมตร สี่นาทีสามสิบวินาที ตอนแข่งกีฬาน้องใหม่นี่ผมได้สี่เหรียญทอง สองเหรียญเงิน จากหกประเภทที่ลง

ไม่อยากเป็นนักกีฬาอาชีพหรือ

อยากสิครับ อยากติดทีมชาติสี่อย่าง ให้แม่งลือลั่น แต่อยู่ปีสองขาหัก เล่นรักบี้กีฬาภายในเจอคณะวิทยาศาสตร์รวมกับแพทย์ เจอคนเล่นไม่เป็น เขาก็เบ๊อะบ๊ะมาแทคเคิลตอนที่เราไม่มีลูก ทำผมขาหัก หลังจากนั้นหลายสิบปีผมไปหาหมอที่โรงพยาบาล มีหมอคนหนึ่งเดินเข้ามาถามว่า คุณบรรยงคงจำผมไม่ได้ ผมต้องขอโทษจริงๆ ที่ทำคุณขาหัก ไม่งั้นคุณคงติดทีมชาติสี่อย่าง ผมบอกหมอว่า ขอบคุณมากครับ ถ้าคุณหมอไม่แทคผมขาหัก วันนี้ผมเป็นโค้ชกีฬาแน่นอน ไม่มีทางเป็นอย่างอื่นได้เลย วันๆ ไม่เรียนอยู่แต่สนามกีฬา ซ้อมกีฬาสี่อย่างวันละห้าชั่วโมง

พอขาหายกลับมาก็เล่นได้แค่รักบี้กับบาสฯ รักบี้ก็ยังติดทีมชาติอยุู่ เรียนจบมาก็ยังทีมชาติ จนขาหักครั้งที่สาม หมอบอกเลิกเถอะ

ได้อะไรจากการเล่นกีฬาบ้าง

ควรจะได้สุขภาพ แต่ดันป่วยหนัก (หัวเราะ) ผมได้ทักษะการเป็นผู้นำ ผมเป็นนักกลยุทธ์เพราะการเล่นกีฬา ผมเป็นนักกีฬาที่มีแผนเยอะมาก ทำให้ผมรู้จักคิด เพราะใช้ในสนามกีฬาแล้วมันเห็นผลเร็ว ปกติโค้ชจะสังเกตจากนอกสนาม แต่ผมเป็นผู้เล่นด้วย เลยต้องสังเกตจากในสนามซึ่งมันยากกว่า

ปัญหาสุขภาพที่ผ่านมาบอกอะไรคุณบ้าง

ผมดีใจที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์มาตลอด ไม่ต้องรอตาย ไม่ต้องรอคนมาเขียนหนังสืองานศพ การป่วยทำให้ได้เห็น ผมดีใจนะ พยาบาลบอกว่ามีคนมาเยี่ยมสองร้อยกว่าคน ทั้งที่เมียผมพยายามออกข่าวว่าอย่ามาเยี่ยม ผมก็แก้ว่ามาเถอะกูเบื่อ (หัวเราะ)

คุณทำงานหนักไหม

ไม่หนักเลย

คนรอบข้างคุณเล่าว่า คุณทำงานหนักจนไม่มีลูก

ไม่มีลูกเพราะไม่มีตังค์ ตอนแรกเงินเดือนผมห้าพัน เมียแปดพัน ช่วงที่ทำงานปีแรกประมาณ พ.ศ. 2520 ตลาดหุ้นบูมสุดขีด ผมก็เล่นหุ้น กู้เงินบริษัทมาเล่น ตอนอายุยี่สิบสองมีเงินสองล้าน ซื้อรถสปอร์ตคันหนึ่ง ซูบารุสองแสนกว่าบาท เที่ยวใช้จ่ายฟุ่มเฟือย จู่ๆ ตลาดหุ้นพัง จากมีเงินสองล้านเป็นติดลบล้านสี่ บริษัทตัดเงินเดือนเราสี่สิบเปอร์เซ็นต์ไปเรื่อยๆ โชคดีไม่ตัดโบนัส เลยมีเงินไว้ฟุ่มเฟือยปีละครั้ง นอกนั้นกินเงินเดือนหกสิบเปอร์เซ็นต์ก็อยู่ได้ แล้วผมก็ไม่เป็นหนี้อีกเลย เพราะรู้แล้วว่ามันทรมาน

ก็สู้กับมันไป วิธีของผมคือ สมัยนั้นถ้าคุณได้รับการประเมินผลยอดเยี่ยมจะได้ขึ้นเงินเดือนปีละสิบห้าเปอร์เซ็นต์ ผมไม่เคยได้ต่ำกว่าสิบห้าเปอร์เซ็นต์ เวลาโปรโมตก็ได้ขึ้นมากกว่านั้น พอทำผลงานดีๆ มีคนมาซื้อตัวก็ได้ขึ้นอีก แต่ผมไม่เคยไปไหนนะ แล้วผมก็สอบชิงทุนของภัทรได้ที่หนึ่ง เงื่อนไขบอกว่าต้องไปเรียนมหาวิทยาลัย Top 20 ไม่ต้องสมัครเลย ไม่มีใครรับผมหรอก จบเกรดสองจุดศูนย์ GMAT TOEFL ก็ไม่ได้ดี เจอเงื่อนไขแบบนี้ผมก็บอกตัวเองว่า ไม่เห็นต้องเรียนเลย ไม่เห็นคนจบปริญญาโทจะเก่งกว่ากูเลย มันอาจจะเป็นข้ออ้างให้ตัวเองก็ได้

บรรยง พงษ์พานิช นักคิดนอกกรอบ จากเสมียนเคาะกระดานหุ้นสู่ประธานบริษัทการเงิน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

แล้วคุณเข้าศศินทร์ได้ยังไง

นั่นเป็นเรื่องสนุกที่เป็นตำนานของศศินทร์เลย ผมตัดสินใจไม่เรียนแล้ว พอดีศศินทร์เปิด เจ้านายบอกให้ผมไปเรียนเพราะเป็นหลักสูตรที่ร่วมมือกับ Kellogg มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่ง กับ Wharton อันดับสี่ ก็ถือว่าได้ ผมก็ไปสมัคร ไม่ได้อยากเรียนเท่าไหร่ ตอนสัมภาษณ์มีกรรมการสี่คน เป็นคนไทยสามคน แล้วก็ Admission Dean ของ Kellogg ชื่อวิลสัน ตอนนี้เขาอายุจะเก้าสิบแล้วเขายังพูดถึงผมอยู่เลย ภาษาอังกฤษผมก็ห่วย คนไทยสามคนลงมติว่าผมไม่ผ่าน แต่ฝรั่งยืนยันว่าต้องรับ

เขาชอบอะไรในตัวคุณ

เขาให้เล่าประสบการณ์การทำงานที่ภูมิใจที่สุดสองเรื่อง เรื่องแรกผมเอา CPM (Critical Path Method) ซึ่งเป็นระบบการทำงานที่ตอนนั้นดังมาก มาใช้กับภารกิจงานจริง เรื่องที่สอง ผมสร้างโปรดักต์เพื่อหนีภาษีจนกรมสรรพากรต้องแก้กฎหมายเพื่อสิ่งนี้ ฝรั่งบอกว่า สองเรื่องนี้ยังไงก็ต้องรับ Kellogg ยังรับเลย ผมก็เลยได้เข้าศศินทร์

เรียนดีกว่าตอนปริญญาตรีไหม

เมเจอร์ไฟแนนซ์รุ่นแรกมีสามสิบสองคน เรียนสองปี ยี่สิบสี่วิชา ผมท็อปสิบสี่วิชา ผมไปแลกเปลี่ยนที่ Kellogg เรียนกับฝรั่งสองร้อยคน เรียนสองวิชาก็ท็อป บัญชีได้ร้อยเต็ม วิชาแมคโคร (Macroeconomic-เศรษฐศาสตร์มหภาค) ก็เอบวก

การเรียนปริญญาโทเปลี่ยนความคิดอะไรคุณบ้าง

ผมบอกให้คนอื่นเรียนปริญญาโทเลย มีรุ่นน้องคนหนึ่งตอนนี้เขาเป็นผู้บริหารระดับสูงไปแล้ว ผมบอกเขาว่า เชื่อพี่ แม่งวิเศษ อะไรที่มึงเคยสงสัย มันจะกระจ่าง ไปเรียนรู้จากสิ่งที่พิสูจน์และรวบรวมมาแล้ว ดีกว่าเรียนเองเยอะ ไอ้เรียนเองก็เรียนไป เขาบอกไม่เรียนหรอก ผมก็ซื้อใบสมัครไปให้เลย บอกมึงลองอ่านดู ต้นทุนค่าใบสมัครสามร้อยบาท แต่เขาไม่เคยลืมเรื่องนี้ตลอดชีวิต ถึงตอนหลังจะเป็นศัตรูกันก็ไม่ลืมเรื่องนี้

พอจบเรียนจบจากศศินทร์ การทำงานที่ภัทรของคุณเปลี่ยนไปไหม

ตอนแรกคิดว่าที่เรียนมาโลกจริงไม่รองรับหรอก ประเทศไทยสมัยนั้นมันเชื่อมโยงกับโลกน้อยมาก โชคดีพอผมเรียนจบมันเกิดกระแส Internationalization ตอนนั้นยังไม่มีคำว่า Globalization นะ เกิดการแพร่กระจายของเงินทุน ทุนมาเทคโนโลยีก็มา วิชาบริหารก็มา ผมเลยได้เป็นหัวหอกพัฒนาภัทร การที่เราเคยเป็นนักกีฬาทำให้มีความเป็นผู้นำ แล้วผมเป็นคนชอบเสือก ชอบทำเกินหน้าที่ เลยฉายแววเร็ว ความเป็นผู้นำก็ทำให้มีแก๊ง เวลาที่เราทำประโยชน์เพื่อเขามันง่ายกว่าทำประโยชน์เพื่อเรา ผมก็ค่อยๆ ปฏิวัติภัทร สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ขึ้นมา จากบริษัทที่มีแต่เด็กจบมหาวิทยาลัยกลางๆ กลายเป็นเกียรตินิยมเต็มบริษัทเลย

คุณทำให้ภัทรเป็นบริษัทแบบไหน

ผมไม่ได้สร้างคนเดียวนะ แต่ทำให้ทุกคนช่วยกันสร้าง ผมตกผลึกว่า ในการทำงานเราต้องการห้าอย่าง หนึ่ง ได้เรียน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ต้องเป็นที่ทำงานที่เขาได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด ได้เพิ่มศักยภาพของเขาไปเรื่อยๆ

สอง ได้ทำ มีโอกาสได้เอาไอเดียของเขาไปทำจริง ได้สร้างผลผลิต ผมเชื่อเรื่องนี้มาก ถ้าองค์กรสร้างผลผลิตได้มาก ก็จะได้กำไรอย่างยั่งยืน ถ้าทีมคุณสร้างได้มาก องค์กรก็จะได้ทั้งเงินและสิ่งต่างๆ ตามมา

สาม ได้ตังค์ ตรงไปตรงมา ผมสร้างองค์กรที่จ่าย Top Scale ตลอดมา แต่ผลผลิตก็ต้องท็อปนะ ทีมงานของภัทรมี Productivity per Head ห้าเท่าของบริษัทที่เป็นที่สองนะครับ แล้วเงินเดือนเฉลี่ยของภัทรก็สูงกว่าที่สอง สองเท่าครึ่ง ขนาดนี้ผมยังรู้สึกว่าเอาเปรียบพนักงานเลย

สี่ ได้มัน อยู่ในบรรยากาศที่สนุก เป็นมิตร ไม่เป็นพิษ ไม่แทงข้างหลังกันตลอดเวลา

ห้า ได้ภูมิใจ ไม่ใช่ภูมิใจแบบไร้สาระนะ ผมพูดเสมอว่าภัทรเอาเงินเข้าประเทศมาแล้วสองล้านล้านบาท เราอันเดอร์ไรต์หุ้นมาแล้วล้านล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงาน เศรษฐกิจขยายตัว ทำให้ทำธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลที่มีมาตรฐาน

คนที่อยากทำงานน้อยๆ แต่ได้ผลมากๆ แบบคุณต้องเริ่มยังไง

มนุษย์มีอยู่สี่พวก หนึ่ง พวกทำมากได้มาก สอง พวกทำมากได้น้อย สาม พวกทำน้อยได้น้อย สี่ พวกทำน้อยได้มาก ถามตัวเองว่าเป็นพวกไหน มนุษย์ส่วนใหญ่จะคิดว่าตัวเองเป็นพวกทำมากได้น้อย ถ้าอยากเป็นพวกทำน้อยได้มาก ก็จงสำนึกไว้เสมอว่าเราเป็นคนทำน้อยได้มากแล้วคุณจะได้อย่างนั้น

ผมคิดว่าตัวเองทำน้อย ดังนั้น ผมจะพยายามทำมากขึ้นเพื่อให้แฟร์ ไม่งั้นก็จะทำน้อยลง แล้วก็เรียกร้องอยู่นั่นแหละ คิดแบบนี้คุณจะทำงานมากขึ้น เรียกร้องน้อยลง คุณจะมีความสุขเอง แต่ถ้าคิดว่าตัวเองทำตั้งเยอะ ทำไมได้น้อย คุณมีกรรมแล้ว

ความทุกข์มาจากความคาดหวังเสมอ อยากลดทุกข์ก็ไม่คาดหวัง ลดความทะเยอทะยานลง แต่ถ้าลดจนหมด ก็จะเป็นคนที่ Very Low Productivity ฉะนั้น ต้องบาลานซ์ให้ดี ลดความคาดหวัง แต่อย่าลดความพยายาม

บรรยง พงษ์พานิช นักคิดนอกกรอบ จากเสมียนเคาะกระดานหุ้นสู่ประธานบริษัทการเงิน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ