The Cloud x การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
Ban’s Diving เป็นรีสอร์ตบนเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ดำเนินธุรกิจเข้าสู่ปีที่ 30 ด้วยการบริหารของ รำลึก อัศวชิน สาวแกร่งแห่งแบนส์ ซึ่งก่อตั้งร่วมกันกับ นิรัตน์ อัศวชิน เมื่อ พ.ศ. 2536

ก่อนหน้านั้น นิรัตน์ทำกิจการดำน้ำบนเกาะพะงัน ก่อนพบรักกับรำลึก และย้ายมาสร้างครอบครัวและกิจการดำน้ำด้วยกันบนเกาะเต่า ซึ่งเป็นร้านดำน้ำแห่งที่ 2 ของเกาะ แต่เป็นร้านดำน้ำเจ้าแรกบนเกาะที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ ซึ่งปัจจุบัน ‘Ban’s Diving’ เป็นโรงเรียนสอนดำน้ำที่ผลิตนักดำน้ำฝีมือดีมากมาย ทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งสถาบันแห่งนี้มีชื่อเสียงเลื่องลือจนเป็นที่รู้จักระดับโลก มีให้เลือกเรียนหลายหลักสูตร มีครูสอนดำน้ำรองรับหลายภาษา เช่น เกาหลี สวีเดน ญี่ปุ่น จีน เยอรมัน ฝรั่งเศส ฯลฯ

จากร้านดำน้ำเล็ก ๆ มีอุปกรณ์ราว 10 ชุดบริเวณท่าเรือเกาะเต่า แถมด้วยบริการขายตั๋วเครื่องบิน และบริการโทรศัพท์ ค่อย ๆ ขยับขยายสู่ร้านอาหารหลังคามุงจาก (บริเวณหาดทรายรี) และบังกะโล จำนวน 10 หลัง โดยได้รับการสนับสนุนที่ดินจำนวน 2 ไร่ จาก คุณบุญธรรม ไกรวัฒนพงศ์
“นั่นคือโอกาสของเราจริง ๆ ถ้าไม่มีคุณบุญธรรม ชีวิตและครอบครัวเราคงไม่มีวันนี้ เราคุยกับสามีว่าถ้าวันไหนเราพร้อม เราจะช่วยเหลือชุมชนแห่งนี้ เพราะที่เรามีกินมีใช้ ก็เพราะทรัพยากรธรรมชาติของที่นี่ เราตั้งใจไว้ว่าจะช่วยพัฒนาเกาะเต่าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นค่ะ”


เมื่อ พ.ศ. 2544 นิรัตน์เริ่มวางมือจากโรงแรม และเริ่มต้นทำงานช่วยเหลือสังคม ตลอดจนลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ทำให้รำลึกและน้องสาวต้องบริหารอย่างจริงจัง
และนิรัตน์ยังเป็นผู้ก่อตั้งชมรมรักษ์เกาะเต่า ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล พร้อมทั้งให้ข้อมูลความรู้เรื่องการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง ตั้งแต่ทะเลยันภูเขา
“สามีของเรามีแนวคิดเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ 20 กว่าปีที่แล้ว เพราะชาวเกาะเต่าคิดว่าต้นทุนของเราคือธรรมชาติ สิ่งที่เราควรทำและทำได้ นั่นคือการอนุรักษ์ และก่อนสามีเสีย เขามีความฝันว่าอยากเห็นเกาะเต่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่จวบจนชั่วลูกชั่วหลาน สิ่งนั้นจุดประกายให้เราอยากทำการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึงแบ่งปันกลับคืนสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมในวันที่เราพร้อม
“ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความศรัทธาที่เรามีต่อเขา และความรักที่เรามีต่อเกาะเต่า เราและชาวแบนส์จึงตั้งใจสานฝันของเขา สิ่งไหนที่เขาอยากทำ เราก็จะทำให้ครบ” รำลึกเล่าถึงสิ่งที่ชาวแบนส์ยึดถือ
ภายหลัง Ban’s Diving Resort เริ่มครบครันมากขึ้น ทั้งบริการอินเทอร์เน็ต รูปแบบและจำนวนห้องพัก มินิมาร์ต คาเฟ่ ยันร้านเสริมสวย รำลึกนิยามสิ่งนี้ว่า ‘มีทุกอย่างครบ จบที่แบนส์!’

เธอยังจัดตั้งศูนย์เรียนรู้รักษ์แบนเกาะเต่า (องค์กรสาธารณประโยชน์) เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชน และเป็นอนุสรณ์ให้กับ แบน-นิรัตน์ อัศวชิน ชายผู้เป็นที่รักและผู้ก่อตั้งรีสอร์ตแห่งนี้ โดยศูนย์เรียนรู้รักษ์แบนเกาะเต่าเปิดอบรมและให้ความรู้กับนักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการบนเกาะ เป็นการแบ่งปันความรู้ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ Ban’s Diving Resort ทำมาโดยตลอด
แล้ว Ban’s Diving Resort ทำอะไรบ้างเรื่องสิ่งแวดล้อม – คงเป็นคำถามที่คุณและเราสงสัย
‘ใช้พลังงานหมุนเวียน สร้างเชื้อเพลิงชีวภาพ ใช้น้ำยาทำความสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในห้องพักทุกห้อง รีไซเคิลขยะ ทำสวนปลอดสารเคมี เสิร์ฟผลไม้และผักจากสวนในร้านอาหารของเรา’ – นี่คือคำตอบหมวดการอนุรักษ์ที่เราอ่านเจอในเว็บไซต์ของ Ban’s Diving Resort
เรามีโอกาสนั่งรถกอล์ฟทัวร์พื้นที่ของรีสอร์ตตั้งแต่เลียบหาดทรายจนถึงพื้นที่บนไหล่เขา แทบทุกอณูล้วนมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในหลากหลายมิติอย่างที่บนเว็บไซต์ว่าไว้
เริ่มตั้งแต่ร้านอาหาร มีการคัดแยกขยะเศษอาหาร (Food Waste) เป็นประจำทุกวัน โดยขยะเศษอาหารจะถูกนำไปทำเป็นแก๊สชีวภาพ เศษผักและผลไม้นำไปทำเป็นอีเอ็มบำบัดน้ำเสีย เปลือกไข่นำไปทำปุ๋ยและผงไข่ไล่มด
ส่วนคาเฟ่ ถ้ามีกากกาแฟเหลือในปริมาณมากก็รวบรวมไว้สำหรับทำปุ๋ย บ้างแปลงร่างกลายเป็นสครับกาแฟ-สบู่ หรือไม่ก็นำไปดับกลิ่นอับในห้องพัก รำลึกเปรยกับเราว่า อะไรก็ตามที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม รีสอร์ตแห่งนี้ก็พยายามอย่างยิ่งที่จะจัดการให้ได้ทั้งหมด

ภายในพื้นที่ของรีสอร์ตมีโรงแยกขยะของตัวเองด้วย อย่างขยะพลาสติกจะถูกนำไปขาย สร้างรายได้เล็ก ๆ ให้พนักงาน ขยะบางส่วนนำไปรีไซเคิล ขยะพวกแก้วถูกนำไปบดเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในงานก่อสร้างและซ่อมบำรุง ขยะอันตรายถูกรวบรวมปีละครั้งเพื่อส่งให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดนำไปกำจัดต่อไป
และที่นี่ก็ผลิตน้ำยาทำความสะอาดจากวัตถุดิบธรรมชาติใช้เอง รับรองว่าเป็นมิตรกับผู้ใช้งานแน่นอน แถมยังแบ่งปันให้กับชุมชนและจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการในราคาย่อมเยามาก
“น้ำจืดเป็นสิ่งที่สำคัญมากบนเกาะ ที่รีสอร์ตของเราไม่เคยขาดน้ำค่ะ” เธอยิ้มน้อย ๆ
“เพราะเรามีระบบการจัดการน้ำ มีอ่างเก็บน้ำเป็นของตัวเอง มีบ่อซับน้ำ ฤดูฝนก็รองน้ำฝนเก็บไว้ใช้ ส่วนน้ำเสียก็บำบัดเพื่อใช้รดน้ำในสวนหย่อมและไม้ยืนต้น และบนเกาะเต่าไม่มีรถดูดสิ่งปฏิกูล รีสอร์ตเรารับดูดมา 20 กว่าปีแล้วค่ะ แล้วนำมาจัดการด้วยการหมักเป็นแก๊สเพื่อใช้ในรีสอร์ต”


บนไหล่เขามีฟาร์มเล็ก ๆ เลี้ยงไก่และเป็ดเพื่อนำไข่มาประกอบอาหารให้แขก ในสวนก็มีผึ้งโพรงไทยคอยผสมเกสรและดอมดมน้ำหวานรสอร่อยจากดอกไม้สวย ๆ ระหว่างทางที่รถกอล์ฟแล่นไปเรื่อย ๆ เรามองเห็นผลไม้เต็มสวน โดยเฉพาะแก้วมังกร รำลึกว่าออกดอกผลดีมาก อร่อยจนต้องบอกต่อ
“อย่างผลไม้เราจะทดลองปลูกดูก่อน โดยเป็นผลไม้ท้องถิ่นที่เข้ากับพื้นที่ได้ เช่น มะม่วง กระท้อน แก้วมังกร ลูกหม่อน ฯลฯ เพราะเราชอบทานผลไม้อยู่แล้ว และอยากให้ลูกค้าได้ทานผลไม้ที่ปลอดภัย ไร้สารพิษ เลยตั้งใจปลูกไว้ในรีสอร์ต บางส่วนก็ขายในมินิมาร์ต บางส่วนก็แบ่งปันให้กับชุมชน
“เราชอบทำสวนอยู่แล้ว เลยทำปันรักษ์ฟาร์มขึ้นมา เพื่อเป็นต้นแบบในการทำฟาร์มและให้คนอื่น ๆ มาศึกษาเรียนรู้ อย่างการเปิดพื้นที่ให้เด็ก ๆ มาทำกิจกรรมนอกห้องเรียนที่ศาลาปันรักษ์ เช่น เรียนรู้เรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะการปลูกฝังเรื่องการอนุรักษ์ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เป็นสิ่งที่ดีนะคะ”

ในฐานะที่รีสอร์ตแห่งนี้เป็นโรงเรียนสอนดำน้ำระดับโลก จึงเห็นว่าการอนุรักษ์ทางทะเลเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากมีโครงการพัฒนาแนวปะการังเทียม การปลูกถ่ายเศษปะการัง การดำน้ำเพื่อกำจัดเศษขยะใต้ท้องทะเล ยังมีหลักสูตรดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ให้เลือกถึง 5 หลักสูตร ซึ่งเราค่อนข้างชอบที่ที่นี่ทำให้นักท่องเที่ยวเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลจริง ๆ เพื่อให้เขาตระหนักและช่วยกันแก้ไข


นอกจากการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภายในรีสอร์ตแล้ว รำลึกยังจัดงาน Spotlight Koh Tao 2023 เพื่อให้ชุมชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว มีส่วนร่วมกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทะเลและสิ่งแวดล้อมบนเกาะเต่า มีกิจกรรมให้ทำมากมาย อาทิ ปลูกฟื้นฟูปะการังเทียม ซ่อมทุ่นจอดเรือ สร้างบ้านปลากับชาวประมง ฯลฯ พ่วงด้วยตลาดกรีนเกาะเต่า
“ในงานมีเมนูอาหาร Zero Food Waste ด้วยนะคะ ทำจากวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในครัว เน้นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด หรือกิจกรรมผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติจากกาบมะพร้าวเราก็มี”
เราคุยกับ สุดใจ สุขใจ ผู้สอนเวิร์กช็อป CoCo Tie Dye Koh Tao ถึงการเป็นส่วนหนึ่งของงาน Spotlight Koh Tao 2023 เธอเล่าว่าบนเกาะเต่ามีมะพร้าวเยอะ ทั้งต้นมะพร้าวและลูกมะพร้าวที่เหลือจากการใช้งาน (ร้านคั้นกะทิหรือร้านน้ำผลไม้) เธอนำกาบมะพร้าวมาใช้ประโยชน์ด้วยการนำมาทำสีย้อมธรรมชาติ แถมกาบมะพร้าวที่เหลือจากกระบวนการเวิร์กช็อปก็ถูกนำไปทำปุ๋ย ไม่เหลือแม้แต่ Waste
“กิจกรรมของเราเป็น 1 ใน 12 กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์บนบก เราเลือกกาบมะพร้าวที่เป็นขยะบนเกาะ มาสร้างประโยชน์และทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นของฝากจากเกาะเต่า ซึ่งงาน Spotlight Koh Tao 2023 จะทำให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ และตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม”
นอกจากเป็นนักจัดเวิร์กช็อปมัดย้อมสุดสนุก เธอยังเป็นผู้ประกอบการเอเจนซี่ทัวร์บนเกาะเต่า และเป็นคนเกาะเต่าแท้ ๆ ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์มาตั้งแต่ชมรมอนุรักษ์เกาะเต่าถูกก่อตั้งขึ้นมา
“เรามองว่าการอนุรักษ์สำคัญมาก ในมุมของผู้ประกอบการก็มีการประชุมหารือกันว่าจะทำยังไงให้เกาะเต่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีทรัพยากรใต้ทะเลที่สมบูรณ์และยั่งยืน โดยเกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างเพิ่มด้วย ซึ่งการช่วยกันรับผิดชอบมันน่ารักมาก
“ในฐานะคนเกาะเต่า สิ่งที่อยากเห็น คือเราอยากเห็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นกับเกาะเต่า อยากเห็นชุมชนและนักท่องเที่ยวตื่นตัวกับการอนุรักษ์ ทำกิจกรรมเชิงอนุรักษ์มากขึ้น แต่ส่งผลกระทบน้อยที่สุดกับธรรมชาติ ซึ่งมันจะสำเร็จได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทั้งผู้ประกอบการ ชุมชนบนเกาะเต่า และนักท่องเที่ยวด้วย”

ทำไมถึงต้องลุกขึ้นมาทำเพื่อการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมขนาดนี้ – เราถามผู้บริหารหญิง
“เพราะเรามองว่าต้นทุนของเราคือธรรมชาติ หน้าที่ของเราคือการอนุรักษ์และสร้างเพิ่ม เราเชื่อว่าการท่องเที่ยวจะยั่งยืนได้ มันต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ และต้องดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้าหวังแต่จะได้อย่างเดียวโดยไม่คิดจะรักษา ความยั่งยืนก็ไม่เกิด
“ทั้งหมดที่แบนส์ทำก็เพื่ออย่างน้อยจะเป็นต้นแบบให้ชุมชนมาศึกษาเรียนรู้และเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากร และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน-แบ่งปันความรู้ให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวด้วยกัน เพราะภาพสุดท้ายที่เราอยากเห็น คือเราอยากเห็นเกาะเต่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และอยู่อย่างยั่งยืนตราบจนชั่วลูกชั่วหลาน” เธอตอบสิ่งที่ตั้งใจ

แววตาของรำลึกบ่งบอกความรักที่เธอมีต่อเกาะเต่า เกาะเล็ก ๆ ที่เป็นทั้งชีวิตของเธอ
“เกาะเต่าเป็นจุดเริ่มชีวิตของเรา ที่นี่ทำให้ครอบครัวของเราลืมตาอ้าปาก จากพื้นที่ 2 ไร่ กับโอกาสในวันนั้น ชีวิตนี้เราคงตอบแทนพระคุณนั้นไม่ไหว มันทำให้เราคิดเสมอว่าอะไรก็ตามที่เราทำให้พื้นที่แห่งนี้ได้ เราจะทำ เรามีความสุขทุกครั้งที่ทำเพื่อสังคม และสิ่งหนึ่งที่เราอยากบอกกับพี่แบน คือ
“ตอนนี้เราชาว Ban’s Diving ได้สานฝันให้พี่แบนเกือบครบถ้วนแล้ว ร้านดำน้ำของเราติดอันดับโลกตามที่พี่แบนอยากให้เป็น ส่วนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เราอาจจะทำยังไม่สำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้เรากำลังรวบรวมพลังกัน ระหว่าง Ban’s Diving กับชุมชน และเราเชื่อว่า ถ้ามีใจจะทำ ก็สำเร็จไปกว่าครึ่งแล้ว ที่สำคัญต้องมีศรัทธา… เพราะศรัทธาจะทำให้เรามีพลังในการสู้ต่อกับทุก ๆ เรื่อง”
การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงคนคนเดียว แต่ต้องอาศัยความรับผิดชอบและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เราเชื่อว่าในการบริหารของรำลึกจะทำให้ Ban’s Diving Resort เข้มแข็ง, เข้มแข็งจนเป็นแบบอย่างให้กับเพื่อนพี่น้องผู้ประกอบการ ชุมชนบนเกาะเต่า ตลอดจนนักท่องเที่ยว ได้ตระหนักและเข้าใจถึงปัญหา จนร่วมแรงกาย-ใจ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
เพราะสิ่งเดียวที่ทุกคนปรารถนา คือการเห็นเกาะเต่าอยู่อย่างยั่งยืนตราบชั่วลูกชั่วหลาน
3 Things
you should do
at Ban’s Diving Resort

01
ลงเรียนหลักสูตรดำน้ำ สัมผัสความมหัศจรรย์ท่ามกลางมหาสมุทร มีให้เลือกเรียนตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ระดับสูง ฟรีไดฟ์ หลักสูตรสำหรับเด็ก และหลักสูตรเพื่อการอนุรักษ์

02
นั่งโยคะ นอนอ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ที่ศาลาปันรักษ์ ศาลาไม้ไผ่ภายในรีสอร์ตที่มองเห็นวิวสวนและธรรมชาติแสนสบายตา

03
เวิร์กช็อปทำผ้ามัดย้อมจากกาบมะพร้าว หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจากธรรมชาติ ที่ศูนย์เรียนรู้รักษ์แบน มีพี่ ๆ ใจดีคอยสอนอย่างเป็นกันเอง สนุก ได้ความรู้ และต่อยอดได้