เราเยือนโคราชบ้านเอ๋งด้วยบรรยากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน ลูกหลานย่าโมบอกว่าบ้านของพวกเขากำลังเข้าสู่พายุฤดูร้อน เม็ดฝนมาเคาะหลังคาบ้านบ่อยช่วงเดือนเมษายน, จุดหมายของเราอยู่อำเภอปักธงชัย รถสีเงินแล่นทะลุซอกซอย จนถึง ‘บ้านแห่งไหม’ บ้านหลังน้อยต้อนรับเราด้วยกลิ่นดิน กลิ่นฝน และเสียงเจื้อยแจ้วของเด็กหญิงวัยกำลังซน

พื้นที่ตรงหน้าดูคล้ายจะเป็นบ้านอยู่อาศัย หากหมุนปุ่มย้อนอดีต กลับเป็นโรงงานทอผ้าไหมปักธงชัยรุ่นเก๋าของนครราชสีมา ก่อนรุ่นคุณย่าจะวางมือและส่งไม้ต่อให้ลูกชาย ปัจจุบันอยู่ในมือทายาทรุ่นสามของครอบครัว

จากโรงทอไหมคุณย่าสู่ 'บ้านแห่งไหม' พื้นที่ที่สอนวิชาชีวิตให้เด็กๆ โคราชด้วยกี่ทอผ้า

ไหม-ปวีณกันต์ กวีกิจรัตนากร เธอคือหลานสาวและลูกสาวที่เปลี่ยนโรงทอไหมของวันวานเป็น ‘บ้านแห่งไหม’ บ้านหลังอบอุ่นที่มีรากเหง้าภูมิปัญญาของบรรพบุรุษคอยหล่อเลี้ยง จนออกดอกออกผลเป็นสถานที่ ‘ให้’ ความรู้ และ ‘สอน’ วิชาชีวิตด้วย ‘เส้นไหมและกี่ทอผ้า’ เพื่อให้เด็กเล็ก-เด็กโต แห่งเมืองย่าโมมีพื้นที่ผ่อนคลายและได้เป็นตัวของตัวเอง 

แถมยังสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตฉบับพื้นฐานก่อนเผชิญสังคมและโลกแห่งความเป็นจริง

ไม่พูดพร่ำทำเพลง เลือกสีไหมกันไหม จะได้ทอผ้าผืนใหม่พร้อมกับเรื่องราวของบ้านแห่งไหม

ไหมจะมีบ้านแห่งไหม

“เรื่องราวมันเกิดจากเราเป็นครูมาก่อน” เจ้าบ้านเกริ่น

เด็กหญิงไหมมีโรงทอผ้าเป็นสนามเด็กเล่น เธอจำความได้ว่าเป็นเด็กช่างซัก-ช่างถาม ถูกสอนให้จับกี่แต่เล็กและ ด้วยความเป็นพี่สาวคนโต จึงมีหน้าที่ปันความรู้ให้น้อง ไหมสอนคนนู้นที คนนั้นที จนสนุกและติดใจกับการเป็น ‘ผู้ให้’ ความรู้ คุณครู-จึงเป็นความฝันลึกสุดที่เธอใฝ่ กระทั่งเติบใหญ่ ครอบครัวสร้างเส้นทางให้เธอเดิน หวังสืบทอด

ไหมวัยหัวเลี้ยวหัวต่อตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัยสาขาแฟชั่นดีไซเนอร์และการจัดการ เพื่อกลับมาสานต่อโรงทอผ้า พัฒนาสินค้าและเปิดหน้าร้าน ทว่าเป็นเพียงความคิดที่วาดบนอากาศ ความเป็นจริงต่างจากนั้นมากโข

จากโรงทอไหมคุณย่าสู่ 'บ้านแห่งไหม' พื้นที่ที่สอนวิชาชีวิตให้เด็กๆ โคราชด้วยกี่ทอผ้า

“มันขัดกันหมด” นั่นไม่ใช่เส้นทางที่เธอต้องการ “ตอนทำทีสิส เราท้อใจหลายรอบมาก มันไม่ใช่ เราคิดว่ามันคงไม่ใช่สิ่งที่เราจะเดินหน้าต่อไป เลยมีโอกาสทำงานหลายอย่างมาก รีเซปชัน จัดเลี้ยง จนได้โอกาสมาเป็นครู

“เราเป็นครูโรงเรียนทางเลือกในโคราชแปดปี เป็นครูประจำชั้นจนเลื่อนเป็นหัวหน้าระดับ เน้นสอนเรื่องการบูรณาการเป็นหลัก ซึ่งโชคดีที่โรงเรียนให้เราออกแบบการเรียนการสอนเองและได้สอนเด็กหลายๆ รูปแบบ เลยได้ประสบการณ์และวิธีการแก้ปัญหาหลายๆ วิธี จนรู้สึกว่าเราไม่ได้สอนเขาแค่วิชาเรียน แต่เราสอนวิชาชีวิตให้เขาด้วย” 

วิชาบูรณาการฉบับคุณครูไหมคือประสบการณ์ชีวิต เอาประสบการณ์มาจับกับวิชาการ

“สมมติเราเรียนเรื่องน้ำ เช่น ปริมาตรวัด ก็เป็นวิชาคณิตศาสตร์ น้ำ สะกดยังไง ก็เป็นวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ มันยังต่อยอดได้อีก เทศกาลเกี่ยวกับน้ำมีอะไรบ้าง เป็นวิชาสังคมและวัฒนธรรม” คุณครูยกตัวอย่าง

“การสอนของเราไม่มีการบ้าน แต่จะให้ทบทวนเป็น Mind Mapping ข้อดีของแผนผังความคิดคือมันช่วยเขาสรุปยอด ไม่ต้องอ่านหนังสือเยอะ ส่วนตอนสอบ เราก็สอบเป็นเกม โดยการเรียนแบบบูรณาการดีตรงที่เขาจะเติบโตด้วยกระบวนการคิด การต่อยอด การวิเคราะห์ คำตอบของคำถามเลยไม่ได้มีแค่ใช่กับไม่ใช่ และคำถามของเราจะต่อท้ายด้วยคำว่า อย่างไร เสมอ พอเขาเจอปัญหาจริงๆ เขาจะมองมันได้หลายรูปแบบ สิ่งนี้เขาจะเอาไปใช้ต่อได้ในอนาคต

“เสน่ห์ของการเป็นครูคือคุณต้องตอบโจทย์เด็กก่อน ต้องให้ความรู้สึกกับเขาก่อน เหมือนรักให้รัก”

ไหมแววตาเป็นประกายแทบทุกประโยคที่เธอเอื้อนเอ่ยเกี่ยวกับสิ่งที่เธอ ‘เป็น’ 

จากโรงทอไหมคุณย่าสู่ 'บ้านแห่งไหม' พื้นที่ที่สอนวิชาชีวิตให้เด็กๆ โคราชด้วยกี่ทอผ้า

หลังความอิ่มตัวมาเยือนอาชีพแม่พิมพ์ เธอวางแผนขยับขยายตัวเองโดยการออกมาแบ่งปันความรู้นอกรั้วโรงเรียน มี เก่ง-กานต์ กวีกิจรัตนากร สามีผู้เป็นแรงใจช่วยผลักดันและทอความฝันของเธอให้เป็นจริงอีกครั้ง

“เราอยากสอนทอผ้า” หญิงสาวตรงหน้าพูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

“ทุกอย่างมันจัดสรรมาแล้ว เราเกิดมาในธุรกิจผ้าทอตั้งแต่รุ่นคุณย่า เราอยากให้ความรู้ในสิ่งที่เรามี เรามีองค์ความรู้และประสบการณ์การสอน มีทุนเป็นเครื่องไม้เครื่องมือและทุนความรู้ที่เราเห็นมาตั้งแต่เกิด เราเอาความรู้ทุกอย่างมาบูรณาการกันได้ พอสามีเห็นว่าเรามีฝัน เขาก็อยากสนับสนุน ถ้าจะมีเขาอีกสักคนมาเป็นหนึ่งพลังที่กันช่วยกัน

“เป้าหมายแรกของเราคือการปล่อยของทั้งหมดที่มี ส่วนเป้าหมายที่สอง เราอยากพัฒนาทักษะและกระบวนการคิดให้เด็ก อยากให้เขาละจากหน้าจอแล้วใช้เวลากับอะไรก็ได้ที่เขาสามารถพัฒนาได้ด้วยตัวเอง เราเป็นแค่โค้ชชิ่ง คอยเชียร์อัพ เจ๋งนะ ลองทำดูสิ ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้จะเรียกสิ่งที่กำลังทำว่าอะไรดี บ้าน แหล่งเรียนรู้หรือศูนย์”

เธอตัดสินใจให้บ้านหลังนี้เป็นเสมือนบ้านเพื่อน ที่มีชื่อเสียงเรียงนามว่า ‘บ้านแห่งไหม’

จากโรงทอไหมคุณย่าสู่ 'บ้านแห่งไหม' พื้นที่ที่สอนวิชาชีวิตให้เด็กๆ โคราชด้วยกี่ทอผ้า

ตลอดระยะเกือบ 4 ปี ของการถักทอผืนความรู้ ค่อยๆ ดำเนินอย่างเนิบช้าตามที่เธอหมายมั่น มีเด็กจิ๋วตบเท้ามาเป็นนักทอรุ่นต่อรุ่น บางคนทอมาแล้วเท่าจำนวนปีของบ้านก็ยังมั่นทออยู่เสมอ เจ้าบ้านกระซิบว่า เด็กหญิงที่เด็กที่สุดที่เข้าคลาสทอผ้า ตอนนี้กำลังเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 2 ความน่าเอ็นดูคือ ยามเข้าประจำกี่ขาของเธอยังไม่แตะพื้นด้วยซ้ำ

เด็กๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ไหมว่าเป็นกิจกรรมกุ๊งกิ๊งตามประสาผู้หญิงชอบประดิดประดอย

กพอ. – การงานพื้นฐานอาชีพ

จากโรงทอไหมคุณย่าสู่ 'บ้านแห่งไหม' พื้นที่ที่สอนวิชาชีวิตให้เด็กๆ โคราชด้วยกี่ทอผ้า

การลงเรียนวิชาทอผ้ากับบ้านแห่งไหม คุณครูไหมต้องคุยกับผู้ปกครองเพื่อสอบถามความสมัครใจของผู้เรียน เพราะการบังคับจะทำให้เด็กส่ายหน้าและหน่ายกับการเรียนตั้งแต่ต้น หลังจากความอยากทะลุปรอทก็เดินตัวเปล่าเข้ามาเลย บ้านหลังนี้เปิดประตูรอต้อนรับอยู่แล้ว ซึ่งการเรียนหนึ่งคอร์สเท่ากับ 5 ครั้ง แบ่งเป็นคาบเช้าและคาบบ่าย

บรรยากาศการเรียนก็น่าอิจฉาที่สุด อากาศโคราชเย็นฉ่ำจากสายฝน มีต้นตะลิงปลิง เสาวรส หม่อน ฯลฯ เป็นกิจกรรมสนุกที่เธอและเก่งชวนเด็กปีนต้นไม้เก็บผลผลิตมากวนแยม หรือบางทีก็แข่งกินตะลิงปลิงรสจี๊ดจ๊าด ไหมว่าที่นี่เด็กๆ จะเป็นอิสระ อยากทำอะไรทำ ถ้าไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำ เป็นเช่นนั้นจริง เด็กจิ๋วบางคนขอนอนงีบก่อนก็มี

ที่บ้านแห่งไหม ไหมรับบทเป็นหัวหน้าแก๊ง เธอถูกให้ความไว้ใจจากเด็กๆ เป็นเบอร์หนึ่ง สังเกตจากความสนิทสนมของเธอกับเด็กสาวต่างวัย ราวกับหญิงสาวตรงหน้าที่สนทนากับเรากลับไปเป็นเด็กหญิงไหมอีกครั้งหนึ่ง

จากโรงทอไหมคุณย่าสู่ 'บ้านแห่งไหม' พื้นที่ที่สอนวิชาชีวิตให้เด็กๆ โคราชด้วยกี่ทอผ้า

“เด็กเป็นวัยที่สนุกและเป็นอิสระที่สุดแล้ว เราจะคิด จินตนาการอะไรก็ได้ จะให้ตุ๊กตามีชีวิตก็ยังได้ เพื่อนอินอะไร เขาฮิตอะไรกัน ก็จะเอามาอวด ซึ่งเรายึดติดกับความเป็นเด็กค่อนข้างมาก เป็นความสุขที่เรายังอยากมีอยู่”

เราแอบถามเธอว่าช่วงนี้เด็กอินอะไรกัน, ดาบพิฆาตอสูร คือคำตอบ

อินถึงขนาดว่า จินจิน หนึ่งในนักเรียนทอผ้าก็สวมเครื่องแบบตัวละคร โคโจ ชินาบุ เต็มยศพร้อมดาบ ส่วนเด็กหญิงคนอื่นก็วิ่งจับกันไปจับมาส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าว บ้างก็หันหน้าเข้ากี่บรรจงเหยียบและกระทบอย่างชำนาญ

จากโรงทอไหมคุณย่าสู่ 'บ้านแห่งไหม' พื้นที่ที่สอนวิชาชีวิตให้เด็กๆ โคราชด้วยกี่ทอผ้า
จากโรงทอไหมคุณย่าสู่ 'บ้านแห่งไหม' พื้นที่ที่สอนวิชาชีวิตให้เด็กๆ โคราชด้วยกี่ทอผ้า

ซึ่งการเรียนการสอนของบ้านแห่งไหมจะเริ่มตั้งแต่พื้นฐาน หนึ่ง ทำความรู้จักอุปกรณ์และส่วนประกอบของกี่ เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการทำงาน เผื่อยามเกิดปัญหาจะแก้ไขได้ด้วยตนเอง สอง เลือกสีไหมตามชอบใจ ไหมพยายามหาเฉดสีให้มากที่สุด และเพิ่มความหลากหลายของผิวสัมผัสด้วย ซึ่งสีและผิวสัมผัสก็สร้างเสริมพัฒนาการเด็กได้

สาม ทอเปิด เพราะหลังเสร็จสิ้นชิ้นงานหากอย่างทำเป็นสินค้า หากต้องเย็บ ส่วนทอเปิดจะช่วยให้การเย็บไม่กินลายชิ้นงานเข้าไปด้วย เธอว่าทุกกระบวนการส่งผลและมีเหตุมีผลซึ่งกัน สี่ เริ่มทอ ความสนุกและงงงวยอยู่ตรงนี้

จากโรงทอไหมคุณย่าสู่ 'บ้านแห่งไหม' พื้นที่ที่สอนวิชาชีวิตให้เด็กๆ โคราชด้วยกี่ทอผ้า
จากโรงทอไหมคุณย่าสู่ 'บ้านแห่งไหม' พื้นที่ที่สอนวิชาชีวิตให้เด็กๆ โคราชด้วยกี่ทอผ้า

“เราให้สูตรเขาว่า สอด เหยียบ สลับ กระทบ สอด เหยียบ กระทบ” เธอท่องเป็นจังหวะ ฟังแล้วเพลินดีเหมือนกัน

“เขาจะเริ่มงง สลับขาแบบไหน ลงน้ำหนักขายังไง เราจะไม่บอกว่าไปซ้ายหรือขวา เราให้เขาลองดูก่อน ถ้าเหยียบข้างนี้แล้วมันสอดได้มั้ย สอดแล้วมันหลุดมั้ย ถ้าเราบอกมันจะง่ายไป แบบนี้ท้าทายดี มันเป็นเหมือนการทดลอง ทดลองเขา ทดลองเรา เขาก็ได้เรียนรู้ เราเองก็ได้เรียนรู้ว่าเขาจะเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาไหน ซึ่งขั้นตอนนี้ก็ช่วยบริหารกล้ามเนื้อ มือประสานตา การประคองน้ำหนัก บางคนเขียนหนังสือกดมาก พอฝึกทอผ้าก็ช่วยเขาคุมน้ำหนักมือตัวเองได้” เธออธิบาย

จากโรงทอไหมคุณย่าสู่ 'บ้านแห่งไหม' พื้นที่ที่สอนวิชาชีวิตให้เด็กๆ โคราชด้วยกี่ทอผ้า

หลังทอเสร็จเป็นผืนเป็นอันบรรลุจุดประสงค์ของคุณครูไหม คือเด็กควบคุมตัวเองให้โฟกัสกับงานได้

เป้าหมายที่สอง ทอเสร็จแล้วทำอะไรต่อ เป็นการสอนให้เด็กวางแผนและคิดต่อยอด แถมได้เรียนรู้กระบวนการคิดอย่างเป็นขั้นตอน หนึ่ง สอง สาม สี่ เอ้า! เหยาะความคิดสร้างสรรค์ลงไปหน่อย เพิ่มจินตนาการเข้าไปนิด ตู้ม! 

เกิดเป็นชิ้นงานสารพัดประโยชน์ เริ่มจากผ้าพันคอ ที่รองจาน กระเป๋าใส่เศษสตางค์ ที่แขวนผนัง

“เด็กบางคนมีออเดอร์จากบรรดาแม่ พี่ ป้า น้า อา เพียบ จะมีเด็กคนหนึ่งเขาทอกระเป๋าใบแรกของตัวเอง ชอบมาก ใช้ตลอดทุกงาน จนมีคนถามว่าซื้อที่ไหน เขาก็บอกว่าทอเอง” กลายเป็นสร้างความภูมิใจให้เด็กหญิงตัวเล็กๆ “นั่นเป็นประเด็นที่เราต้องการ เด็กบางคนไม่มั่นใจในตัวเอง ทำอะไรก็โดนดุ รู้สึกไม่กล้าที่จะทำ แต่พอเขาทำอันนี้แล้วมีคนชม มีคนมองเห็น เขาก็รู้สึก ‘ฉันก็ทำได้’ บางทีโคราชจะมีตลาดคราฟต์ เราก็จะพาเด็กๆ เอาสินค้าไปขาย 

“เขาได้พรีเซนต์ด้วยตัวเอง แล้วของของเขามีคนซื้อนะ เขาได้เรียนรู้การทอนเงิน การพูดกับลูกค้า เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่โรงเรียนไม่มีสอน เราว่ามันน่าจะช่วยพัฒนาเขาได้ โดยเราเอาการทอผ้าเป็นตัวนำ เอาทฤษฎีไว้ข้างหลัง เอาความสนุกไว้ข้างหน้า อะไรที่มันสนุกเราก็อยากเล่น เราก็อยากทำ เด็กก็คงรู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน”

จากโรงทอไหมคุณย่าสู่ 'บ้านแห่งไหม' พื้นที่ที่สอนวิชาชีวิตให้เด็กๆ โคราชด้วยกี่ทอผ้า

เบื้องหลังเธอต้องการพัฒนาเด็กและสร้างภูมิคุ้มกันก่อนออกเดินทางไปเจอโลก ขณะเดียวไหมก็ไม่ลืมรากที่หล่อเลี้ยงให้เป็น ‘บ้านแห่งไหม’ เธอเปิดทัวร์ขนาดย่อม เดินชม สุมลไหมไทย เล่าเรื่องราวโรงทอผ้าไหมปักธงชัยสามรุ่น

ความน่ารักคือ คุณพ่อสมรรถ คุ้มสุวรรณ คุณพ่อของไหมเคยร่วมมือกับมูลนิธิเด็ก ผลิตนิทานเด็ก เจ้าแสดแปดขา แต่งโดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ภาพประกอบโดยคุณพ่อ ผู้ออกแบบภาพด้วยการทอผ้าแต้มลายมัดหมี่เป็นรูปแมงมุม บ้าน ฯลฯ ซึ่งไหมก็ใช้นิทานเล่มนี้สอนเด็กเรื่องภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมบ้านเกิดด้วย

จากโรงทอไหมคุณย่าสู่ 'บ้านแห่งไหม' พื้นที่ที่สอนวิชาชีวิตให้เด็กๆ โคราชด้วยกี่ทอผ้า

สปช. – สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต

จากเป้าหมายแรกที่เป็นเด็กสารพัดวัย ไหมอยากขยับขยายเข้าสู่หนุ่มสาวสูงวัยที่ว่ากันว่ายิ่งอายุมาก ยิ่งเหมือนกลับมาเป็นเด็กอีกครั้ง เด็กกับเด็กเจอกันน่าจะจูนกันติดได้ไม่ยาก แท้จริงเธออยากให้สองวัยแลกเปลี่ยนกัน

“ถ้าเราได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่หรือคนที่เขารู้สึกว่ากำลังจะหมดคุณค่า เขาได้มาทำกิจกรรมหรือสร้างผลงานด้วยตนเอง เขาคงรู้สึกเหมือนได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เขาจะรู้สึกว่าเขามีค่า เขามีตัวตน อีกนัยก็เป็นการสานสัมพันธ์เด็กๆ กับคุณปู่ คุณย่าด้วย มันเป็นสิ่งที่เราอยากขยายต่อ” บ้านแห่งไหมเปิดประตูต้อนรับทุกวัย,ขอเพียงเคาะ ก๊อก ก๊อก

จากโรงทอไหมคุณย่าสู่ 'บ้านแห่งไหม' พื้นที่ที่สอนวิชาชีวิตให้เด็กๆ โคราชด้วยกี่ทอผ้า

‘การเล่นคือการเรียนรู้’ -วลีนี้คงนิยามบ้านแห่งไหมได้ดีที่สุด #เพราะที่นี่คือบ้านแห่งไหม

“เราอยากให้เด็กได้รับความสนุกและความผ่อนคลาย เราคิดว่าเขาก็มีความเครียดของเขาเอง แต่เขาไม่รู้ว่าจะจัดการความเครียดและปัญหายังไง ดูเหมือนเขาจะไม่ได้คิดอะไร แต่ลึกๆ เขาค่อนข้างจะเก็บ เก็บทุกอย่าง เขาต้องมีเวลา และมีพื้นที่ของตัวเองที่สามารถผ่อนคลาย คิดทบทวนแก้ปัญหา พอเขานิ่งได้แล้ว ทุกอย่างจะค่อยๆ คลายออก 

“เด็กสมัยนี้เขารับมาเยอะ แม่ให้เรียนแบบนั้น ต้องดูน้องแบบนี้ เหมือนความคาดหวังของทุกคนมาอยู่ที่เขา แล้วเขาจะทำยังไงดี มันน่าจะมีพื้นที่ที่เขาสามารถเป็นตัวเขาเองได้ ซึ่งพื้นที่ของเราน่าจะตอบโจทย์ให้กับเด็กๆ เราอยากให้ผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้เด็ก รับฟังเขา เขาเป็นเด็ก เขาไม่รู้หรอกว่าจะต้องหากิจกรรมอะไรให้กับตัวเอง บางคนมีไอแพด ก็เปิดการ์ตูนให้ดู แต่นั่นเป็นทางที่เขาเลือก มันก็ไม่ผิด แต่เราว่ามันน่าจะมีวิธีอื่นที่ให้เขาพัฒนาตัวเองในหลายๆ รูปแบบ 

“เราสามารถช่วยเหลือกันเพื่อพัฒนาอนาคตของเรา ด้วยการส่งต่อประสบการณ์ที่ดีให้เขา ตอนนี้มันขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่แล้วว่าจะสร้างอนาคตแบบไหนให้เด็กๆ เรามองสังคมในอนาคตยังไง นั่นคือสิ่งที่เราจะบ่มเพาะเขาได้”

การเกิดขึ้นของบ้านแห่งไหม พื้นที่ปลอดภัยที่เป็นเสมือนบ้านเพื่อน คอยโอบอุ้มความคาดหวังและแบ่งเบาความรู้สึกของเด็กตัวจ้อยที่ต้องเผชิญกับปัญหา เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แต่นั่นคือชีวิต ชีวิตที่เขากำลังจะทอมันขึ้นมาเอง

จากโรงทอไหมคุณย่าสู่ 'บ้านแห่งไหม' พื้นที่ที่สอนวิชาชีวิตให้เด็กๆ โคราชด้วยกี่ทอผ้า

บ้านแห่งไหม

ที่ตั้ง : 429 หมู่ 5 ซอยพบสุข 4 ถนนราชสีมา-ปักธงชัย ตำบลปรุใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา (แผนที่)

เปิดวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 09.30 – 11.30 น. และ 13.30 – 15.30 น.

โทรศัพท์ : 09 4297 8228 และ 08 5199 5647

Writer

Avatar

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน