บ่าย 3 วันเสาร์ เป็นครั้งแรกที่เราได้พูดคุยกับ นอท-สัณหณัฐ ทิราชีพ เจ้าของเพจ ‘บ้านกูเอง’ ที่มีคนติดตามหลักล้าน
หลายคนมีวิธีการสานสัมพันธ์ทำความรู้จักกับคนแปลกหน้ายังไงไม่รู้ ส่วนตัวเราใช้เยลลี่แฮมเบอร์เกอร์และเยลลี่รูปรถ ติดไม้ติดมือไปเผื่อนอท
ไม่แน่ใจว่านอทชอบไหม แต่เยลลี่หมดลงภายในไม่กี่นาที อร่อยพอที่จะทำให้นอทพูดคุยกับเราได้อย่างเปิดอก แบบที่สื่ออื่นไม่เคยทราบ และคุณไม่เคยได้ยินจากที่ไหนมาก่อน
‘บ้านกูเอง‘ เป็นเพจขายตลกแต่ดันจริงจัง เพราะภายในเพจไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ของความตลกขบขัน แต่ยังขบคิดเรื่องสังคม เพศ ศิลปะ และการศึกษาออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ ในสไตล์บ้านกูเอง คือเพื่อนพูดกับเพื่อน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แฝงไปด้วยความรู้ที่มากกว่าในห้องเรียน
วันนี้ เราสนใจอยากทำความรู้จักและพูดคุยกับนอท บุคคลธรรมดาผู้สร้างเพจบ้านกูเอง แม้เขาจะบอกว่าเริ่มจากการทำเพื่อตัวเอง แต่กลับส่งประโยชน์วงกว้างต่อในสังคมอย่างไม่รู้ตัว


เอาเยลลี่ไม่ใส่น้ำตาล
“ทุกอย่างคือทำเพื่อตัวเองหมด แต่อยู่ที่ว่าคนเราจะตีความหมายของการทำเพื่อตัวเองว่าแบบไหน”
หนึ่งในความลับของบทสนทนาที่พูดออกมาด้วยอิทธิพลของการกินเยลลี่
ทุกวันนี้ทุกคนเสพคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียได้ ขึ้นอยู่กับว่าต้องการจะค้นหาหรือดูอะไร และเราก็เห็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์แทบทุกหนแห่งบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ
หรือนั่นเป็นเพราะคอนเทนต์ครีเอเตอร์คือสิ่งที่ใครก็เป็นได้ แต่ต้องทำอย่างไรให้มีผู้ติดตามถึงหลักล้านคน
ตลอดการสนทนา นอทบอกความลับกับเรามาหลายอย่าง จนทำให้เราเซอร์ไพรส์เป็นช่วง ๆ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการทำเพจ ซึ่งเป็นสิ่งที่นอทไม่ได้คาดหวังหรือตั้งใจเอาไว้เลย ทุกอย่างเกิดจากความ ‘บังเอิญ’ เพียงเท่านั้น
เขาเรียนจบจากคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ จึงคุ้นชินและมีโอกาสได้คลุกคลีกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสื่อมาไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ การสร้างสตอรี่ การจัดฉาก หรือเทคนิคต่าง ๆ ทั้งภาพ แสง สี เสียง บวกกับความชอบส่วนตัว ทำให้เขาเห็นแววว่า การเดินทางสายคอนเทนต์ครีเอเตอร์อาจเข้ากับตัวเอง
“เราแค่โพสต์รูปลงไปด้วยองค์ประกอบศิลป์ที่เรียนมาสนุก ๆ แต่มันดันไปสื่อสารและตอบโจทย์กับคนดู จึงกลายเป็นไวรัล
“ที่จริงวงการดีไซน์กับวงการคอนเทนต์ครีเอเตอร์มีความใกล้เคียงกันมาก เพราะคอนเทนต์ครีเอเตอร์คือการดีไซน์เป็นภาพเพื่อนำไปเสนอคนดู สิ่งที่เราเรียนมาจากคณะ ก็เป็นการดีไซน์ที่ทำเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องและสอดรับกับสังคมด้วยศิลปะ เพราะฉะนั้นมันแทบไม่ต่างกันเลย”


เปิดหนังสือแต่ไม่อ่าน
เมื่อความสนุกและความชอบกลายเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ จากการลงรูปโดยไม่ได้คิดอะไร กลับกลายเป็นต้องลงรูปและคลิปติดต่อกันมาเป็นเวลา 4 ปี
เราจึงถามหาที่มา แรงบันดาลใจ และการหันมาทำคอนเทนต์อย่างจริงจังกับเขา
ใครจะรู้ว่าเด็กเมื่อวานซืนที่ไม่อ่านหนังสืออะไรเลยนอกจากการ์ตูน จะนำความชอบในวัยเยาว์มาประกอบอาชีพ
“ทุกแรงบันดาลใจของเราไม่เคยเกิดขึ้นจากการออกไปตามล่าหรือออกไปตามหา แต่เกิดจากสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาหาตัวเราเองมากกว่า เราคิดว่าผลพวงของโฟโต้อัลบั้มในเพจ มาจากเราชอบอ่านการ์ตูน เราได้มุมภาพแบบการ์ตูนมา ก็เลยเล่าเรื่องแบบนั้นได้
“หรือเรื่องสังคม เพศ ศิลปะ ก็คือสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา โดยที่อาจจะไม่ได้เรียกว่าแรงบันดาลใจ แต่เรียกว่าการเลือกใช้อุปกรณ์ เลือกใช้อาวุธที่เรามี และทุกคนก็มีตรงนี้เหมือนกัน เพราะทุกคนมีอะไรที่แตกต่างจากคนอื่นจนเราเป็นตัวจริงด้านนั้น ไม่ว่าจะแมส จะอินดี้ หรือจะอะไร มันมีสิ่งให้เอาไปใช้ได้ทุกคน
“และที่สำคัญ เราหันมาทำคอนเทนต์อย่างจริงจัง เพราะรายได้มันดี! (หัวเราะ)”
แปลว่าที่ผ่านมา การนำสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวมาทำเป็นคอนเทนต์นั้นไม่ยาก – เราถาม
“เราคงพูดเหมือนมันเป็นเรื่องง่ายเนาะ” เขาหัวเราะ

“ถ้าถามว่ายากไหม มันยากมาก อะไรที่เราคิดว่าดีชัวร์ ๆ กลายเป็นว่าเละเลย หรือบางอย่างเราทำเล่น ๆ ลงรูปเล่น ๆ ไม่รู้จะเอาอะไรลงดี งั้นกูทำอันนี้แล้วกัน ดันเวิร์กเฉย แล้วต่อให้จะรีเสิร์ชให้ตายยังไงมันก็ไม่ใช่ 1 + 1 = 2 มันไม่ใช่คณิตศาสตร์
“การที่เรามีไอเดียที่ดีหรือไม่ดี มันไม่ได้เกี่ยวกับการที่จะมีคนดูหรือไม่ดูนะ อันนั้นเป็นอีกเรื่องที่ต่อให้เราดีก็ไม่ได้แปลว่าจะมีคนดู หรือต่อให้เราห่วยก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีคนดู มันต้องพึ่งดวงเหมือนกัน บางคนทำสิ่งเดิมตลอดไปคนก็ยังชอบ บางคนทำสิ่งเดิมแต่คนกลับลืม”
ทำภาพนิ่งได้วิดีโอ
เมื่อเข้าสู่สนามจริง มีคอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นทุกวัน การได้รับตำแหน่งดาวรุ่งหรือดาวร่วงก็ยิ่งคับขันมากขึ้นทุกที
ฉะนั้น จะทำคอนเทนต์ลงในแพลตฟอร์มเดียวคงไม่เพียงพอในสนามแข่งนี้ จึงทำให้คนทำเพจใส่รูปนิ่งปกติ ก้าวเข้าสู่การทำวิดีโอภาพเคลื่อนไหวบนโลกยูทูบ
“ก็ดิ้นไปตามยุคสมัยนั่นแหละ ใครที่หยุดก็คือคนที่ตาย เราเรียกว่าเป็นต่อยอดมากกว่า
“พอเป็นยูทูบ มันกลายเป็นอีกวงการหนึ่งที่เราต้องเริ่มเข้าใจผู้ใช้งานว่า คนทั่วไปตอนนี้เขากำลังอินกับอะไร และอะไรคืออินไซต์ที่ทุกคนมีเหมือนกัน เราก็เลยเปลี่ยนวิธีการทำงาน ตั้งจุดหมายใหม่ว่าทำอย่างไรให้คนอยากดู กลายเป็นคอนเทนต์ที่สอดรับสังคมมากขึ้น อาจจะเป็นพูดถึงเรื่องการศึกษา เพศ สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ อุปนิสัยคน ที่เรามีมุมมองต่อมันแล้วหาจุดเชื่อมของผู้คนให้ได้”


ซีเรียสให้ตลก
เราพบว่า บ้านกูเอง เป็นเพจตลกแต่ดันจริงจัง ไม่ต่างจากเจ้าของที่เป็นคนจริงจังแต่ดันทำตัวให้ตลก
นอท คือเด็กหนุ่มที่อาศัยอยู่ในทาวน์เฮาส์หลังย่อม พื้นฐานเดิมเป็นคนจริงจัง แต่มักถูกมองว่าเป็นคนตลกอยู่ตลอด เพราะชอบปรับตัวตามกลุ่มผู้คนที่อยู่ด้วย เช่นเดียวกับเรื่องราวที่เขานำเสนอตลอดเวลาการทำเพจมา 4 ปี ก็มีการเปลี่ยนผัน แปรเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามบริบทของสังคม แบ่งออกเป็น 4 ยุค ดังนี้
หนึ่ง
“แรก ๆ ทำรายการประมาณว่า ผู้หญิงชอบผู้ชายแต่งตัวแบบไหน แต่ความบ้าคือขนเสื้อผ้าออกไปข้างนอก แล้วก็ถอดเสื้อเปลี่ยนตามที่คนอื่นเลือกให้ตรงนั้นเลย เหมือนพยายามจะคราฟต์ให้มันบ้า ให้มันสนุก เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คนดู แต่ความจริงคือไม่ใช่ คนดูเราเพราะอยากรู้ว่าผู้หญิงชอบผู้ชายแต่งตัวแบบไหน ไม่ใช่มาดูเราที่บ้ากล้าเดินออกไปข้างนอก”
สอง
“ยุคต่อมาเริ่มกลายมาดูที่ไอเดีย เราไม่จำเป็นต้องคราฟต์ให้มันยาก แต่ทำให้เก็ตดีกว่า เช่น แค่ขึงผ้าธรรมดา มีเสื้อ และยืนเฉย ๆ ให้ผู้หญิงมาเลือกชุดให้ มันก็แค่นั้นเอง จะทำให้ยากด้วยการออกไปข้างนอกทำไม แล้วเมื่อไหร่คนจะได้รู้ว่าผู้หญิงชอบผู้ชายแต่งตัวแบบไหน เพราะความจริงเขาอยากรู้แค่นั้น
สาม
“เริ่มเป็นเรื่องบริบทสังคมมากขึ้น เลยคิดว่าปกติคนเราทำอะไรกัน ก็เนี่ย กิน ขี้ ปี้ นอน
“เมื่อ 2 – 3 ปีก่อน ยังไม่ค่อยมีคนทำรายการเกี่ยวกับเพศ ส่วนใหญ่จะเป็นแนว Sexual Harassment มากกว่า แต่เราไม่โอเคที่จะทำอะไรแบบนั้น ก็เลยทำเป็นแนวการศึกษา กลายเป็นรายการ เรื่องบนเตียง(ระเบียงก็นับ) เอาแขกรับเชิญมาพูดเรื่องเซ็กส์แนวให้ความรู้
“แล้วก็เริ่มแยกรายการออกไปเรื่อย ๆ เช่น รายการ นั่งเล่า พูดเกี่ยวกับการศึกษา การโซตัส การโนบรา แล้วแต่ที่บริบทสังคมเขาคุยกันอยู่ก็เอามาพูดในรายการนี้ได้ หรือ รายการ โรงเรียนไทย VS โรงเรียนนอก คือเอาเด็กที่เรียนโรงเรียนนอกมานั่งพูดคุยกับเด็กโรงเรียนไทยถึงความแตกต่างที่ได้เจอ เป็นวาไรตี้ที่ยังพอสอดแทรกสาระเข้าไปได้ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราอยากสอนสังคม เราก็แค่มนุษย์คนหนึ่ง
“แล้วทำไมต้องทำเรื่องพวกนี้” เราถามก่อนจะเข้าสู่ยุคที่สี่
“เพราะมันเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนต้องเจอ เราคลุกคลีอยู่ทุกวัน และเก็ตว่ามันคืออะไร แต่ถ้าเราเอาความชอบ จะเอาเรื่องการ์ตูนมาก็ได้ แต่ว่ากลุ่มมันก็จะเล็กกว่า หรือว่าเราเนิร์ดขนาดรู้ลึกรู้จริงไหม ก็ไม่ได้ขนาดนั้น
“พอมันเป็นเรื่องสังคม มันอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ Fact สุดโต่ง แต่อาจจะใช้ความรู้สึก ค่านิยม หรือทัศนคติที่ไม่บิดเบี้ยวก็พอแล้ว”


ในปัจจุบันยังคงมีกลุ่มคนที่ไม่ชอบ ไม่เปิดรับ และปิดกั้น ไม่อยากให้มีรายการเรื่องเพศออกมา อดสงสัยไม่ได้ว่านอทมีความคิดเห็นยังไง และเขากลัวดราม่าบ้างไหม
“ถ้าแค่ตัวเราไม่อยากพูดก็ไม่เป็นไร แต่อย่ามาห้ามไม่ให้คนอื่นพูด” นอทตอบชัดเจน “ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่ทุกเรื่องที่มันกำลังเบียดเบียนหรือบังคับกดขี่ผู้อื่นอยู่ด้วย
“เราว่าทุกคนกลัวดราม่านะ ทุกคนไม่อยากโดนแขวน ถามว่ากลัวไหม ก็กลัว แต่อันที่เราเลือกทำก็คิดว่ามันไม่เป็นอะไร อันที่เรากลัวก็คืออันที่เราไม่ได้ทำ ซึ่งก็มีอีกเยอะ (หัวเราะ)
สี่
“และก็ปัจจุบัน พยายามจะแตะอะไรที่เฉพาะกลุ่มแต่เราพอรู้ ไม่ใช่แค่ทำอะไรตามความชอบตัวเอง เลยเป็นยุคที่เอาศิลปะที่เรารู้ เข้ามาสอดแทรกเป็นรายการวาดนู้ด ซึ่งเรามองว่ามันเป็นเรื่องปกติในวงการศิลปะ อยู่ที่ว่าจะสื่อสารอย่างไรไม่ให้คนดูมา Sexual Harassment แขกรับเชิญ ไม่มาพูดทะลึ่งตึงตังกับคนในคลิป
“เราก็เริ่มจากตัวเองก่อน สื่อสารให้มันดูจริงจัง ให้คนดูรู้ว่าวันนี้เรามาวาดรูปนะ ไม่ได้มาตลกโปกฮากับเรือนร่าง แล้วก็ทำมาเรื่อย ๆ จนเริ่มแตกออกมาเป็นรายการวาดรูปอันล่าสุด คือรายการวาดดูไม่รู้หน้า
“แต่พอมันเป็นงานศิลปะที่ใช้เวลาสั้น ๆ ในการคราฟต์ออกมา ผลงานมันก็จะไม่ได้ดีมาก แค่ให้พอออกเป็นคลิปได้ ก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราทำไปสักพักหนึ่งเราจะกลายเป็นตัวไม่จริง
“เพราะยิ่งอยู่ในจุดที่สูงขึ้นในแวดวงนั้น ๆ มันจะยิ่งโดนครหา ถ้าอีกสักพักหนึ่งเราเริ่มดังในแง่การวาดรูป เรากลัวว่ามันจะกลายเป็นคอนเทนต์ที่คนทั่วไปดูแล้วเจ๋งดี แต่คนที่ทำศิลปะจริง ๆ มาดูแล้วอาจจะอะไรของมึง (หัวเราะ) เลยคิดว่าอาจจะไม่ได้ทำเยอะมาก แต่จะทำให้มีคุณภาพมากขึ้น”
งานกลุ่มทำคนเดียว
“แล้วผลตอบรับดีไหม” เราโยนคำถาม
“ดีเป็นช่วง ๆ อย่างที่บอก ยุคหนึ่งอะเละเลย กว่าจะขึ้นมาได้ก็เป็นปีอยู่” นอทว่างั้น
“แต่เพจเนี่ยเราลงไปไม่กี่รูปก็ไวรัล ทำไปไม่กี่เดือนลูกค้าเจ้าแรกมาแล้ว ส่วนคลิปวิดีโอ ถ้าไม่นับว่ามันเป็นงานที่ได้มาจากเพจ ก็โห กว่าจะมีงานของตัวเองจริง ๆ มันนานมาก และกว่าจะมีคนดูใช้เวลาเป็นปีเหมือนกัน จำได้ว่าทำเป็นปีคนยังตามแค่หลักหมื่นเองมั้ง”
ถึงแม้ว่าผลตอบรับของยอดคนดูจะดีเป็นช่วง ๆ มีทั้งช่วงพีกสุด ต่ำสุด แต่นอทก็ยังคงทำคอนเทนต์เชื่อมโยงกับสังคม สอดรับกับผู้คนแบบนี้ต่อไป อาจเป็นในแง่ของความรู้หรือความบันเทิง ต้องรอติดตาม
ต่อให้จะถามเขาเป็นคำถามสุดท้ายว่า อยากให้อะไรกับดู แล้วนอทยังย้ำเจตนาเดิมว่า “ไม่มี” ก็ตาม
“เราอยากให้ตัวเองไม่ว่าเราจะทำอะไรทั้งนั้น เราอยากได้เงิน อยากได้คำชื่นชม ถ้าสังคมจะดีขึ้นได้จากการดูคลิปเราก็เป็นเรื่องดี เพราะเราอยากได้สังคมที่ดีขึ้นก็เพื่อให้ชีวิตเรามันดีกว่านี้”
ช่วยไม่ได้ เพจนี้ขึ้นอยู่กับอารมณ์เจ้าของเพจเป็นหลัก เขาจะทำอะไรก็ได้ เพราะที่นี่คือ ‘บ้านกูเอง’

บ้านกูเอง
Facebook : https://www.facebook.com/profile.php?id=100044524865743
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCQzQKfKPww0YvzfvzB3tMrQ/videos