ก่อนที่วลี “สาวบางโพนั้นโก้จริง ๆ” จะระบือลือเลื่องตามความนิยมของเพลงดังวัยดึก บางโพมีชื่อเสียงในฐานะย่านการค้าไม้ขนาดใหญ่และครบวงจรที่สุดในกรุงเทพมหานคร
โรงไม้และร้านผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้นับ 100 รายเรียงกันบนระยะทางเพียง 1 กิโลเมตรของซอยประชานฤมิตรที่เชื่อมต่อระหว่างถนนประชาราษฎร์สาย 1 กับถนนกรุงเทพ-นนทบุรี สิ่งที่จะได้พบจากที่นี่ตั้งแต่ปากซอยยันท้ายซอย คือผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูปที่ทอดยาวสุดลูกหูลูกตา รถกระบะวิ่งรอกขนส่งสินค้าประเภทโต๊ะ เก้าอี้ บานประตู วงกบ หรือคิ้วบัวไม่ขาดสาย ระคนด้วยเสียงตัดและตอกไม้ที่ดังดุจบทเพลงประจำซอย เป็นเหตุให้ซอยประชานฤมิตรได้รับสมัญญาว่า ‘ถนนสายไม้’

เมื่อครั้งยังเฟื่องฟู ซอยนี้เคยมีกิจการร้านค้ามากกว่า 200 เจ้า ทว่ากาลเวลาที่ล่วงผ่านได้หอบนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ย่านนี้ช้า ๆ ด้วยรสนิยมการใช้เฟอร์นิเจอร์ที่เปลี่ยนไป คนรุ่นเก่าพากันล้มหายตายจาก ซ้ำด้วยพิษเศรษฐกิจในยุคโควิด-19 ซอยประชานฤมิตรวันนี้ตกอยู่ในสภาวะซบเซา
เพื่อสืบสานจิตวิญญาณของถนนสายไม้ กลุ่มผู้ค้าไม้และนักขับเคลื่อนเมืองรุ่นใหม่จึงมารวมตัวกันในนาม ‘Bangpho Wood Street’ สร้างอัตลักษณ์ใหม่ ๆ ให้กับซอยประชานฤมิตร พัฒนาย่านการค้าแบบดั้งเดิมที่ใกล้สูญพันธุ์ไปสู่แหล่งการเรียนรู้ชุมชนที่เปิดตัวสู่โลกภายนอกมากขึ้น

และในโอกาสที่งาน Bangkok Design Week 2023 เทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ กลับมาจัดขึ้นอีกครั้งในระหว่างวันที่ 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 ภายใต้ธีม ‘เมือง-มิตร-ดี’ กลุ่ม Bangpho Wood Street ร่วมด้วยกลุ่มภาคีเครือข่าย ได้รับเลือกเป็นพื้นที่จัดแสดงหลัก พร้อมชูแนวคิด ‘ถนนสายไม้ ตำนานที่มีชีวิตที่บางโพ’
ทั้งหมดนี้คือไฮไลต์ในงานบางส่วนที่กลุ่ม Bangpho Wood Street อยากชวนคุณมาลองสัมผัส เชิญไปทัศนาจรกันที่ถนนสายไม้ แล้วจะรู้ว่าที่นี่ไม่ได้มีดีแค่สาวโก้ แต่ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และสินค้าที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นของชาวบางโพก็โก้ไม่แพ้กัน!
#01
The Gate of Bangpho
ซุ้มประตูไม้ทรงโคโลเนียลอันงดงามที่ปากซอยประชานฤมิตร

ซอยประชานฤมิตรอยู่ที่ไหนหาได้ไม่ยาก มองจากถนนใหญ่ทั้ง 2 ฟาก ถ้าได้เห็นซุ้มประตูใหญ่ตามรูปนี้ ก็แปลว่าคุณมาถูกที่แล้ว
นี่คือซุ้มประตูทางเข้าซอยที่งดงาม เปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สุดในเขตบางซื่อก็ว่าได้ ซุ้มนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ด้วยทุนจากผู้ประกอบการร้านค้าซอยประชานฤมิตรที่ต้องการสร้างจุดเด่นให้กับชุมชนการค้าของตนเอง รูปลักษณ์ของประตูออกแบบโดย อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ศิลปินผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิตรกรรม ประติมากรรมไทย โดยได้รับแรงบันดาลใจจากซุ้มประตูทางเข้าเวิ้งนาครเขษม เขตสัมพันธวงศ์ ของเก่า
บนซุ้มตกแต่งด้วยลายไม้ฉลุที่มีความโค้งงอ แลดูพลิ้วไหว เต็มไปด้วยกลิ่นอายของศิลปะโคโลเนียลที่นิยมมากในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เหนือชื่อ ‘ประชานฤมิตร’ ยังมีตราสัญลักษณ์รูปช้างสีทองบนกรอบวงกลมพื้นหลังแดงที่ออกแบบจากตราประทับอำเภอบางซื่อในสมัยนั้นด้วย
เริ่มปักหมุดกันที่ซุ้มประตูนี้ แล้วไปตะลอนในถนนสายไม้กันเถอะ
The Gate of Bangpho
#02
WOOD STREET PAVILION
ศิลปะจัดวางที่ผสมผสานภูมิปัญญาไทยเดิมกับความเป็นสมัยใหม่

มาต่อกันที่ศูนย์กลางงานนี้ที่จัดขึ้นในศาลเจ้าแม่ทับทิม ซอยประชานฤมิตร
ตั้งแต่วันที่ 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 ใครก็ตามที่ก้าวย่างเข้ามาในบริเวณศาลเจ้าแห่งนี้ คงต้องตกตะลึงกับสถาปัตยกรรมไม้หลังใหญ่ ดูละม้ายกำแพงผสมขั้นบันไดสูง แผ่อาณาเขตอยู่ที่มุมหนึ่งของศาลเจ้า

ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า ‘WOOD STREET PAVILION’ ออกแบบโดยทีมงาน Plan Associates Co.,Ltd. ภายใต้คอนเซปต์ ‘FILL THE GAP – เติมเต็ม ต่อยอดยุคสมัย ต่อยอดอาชีพ’ เป็นงานศิลปะสมัยใหม่ที่ผสานกับภูมิปัญญาของช่างไม้ไทยที่มีกรรมวิธีเข้าเดือยแบบโบราณ ไม่อาศัยตะปูในการตอกหรือยึดโครงไม้แต่ละส่วนเข้าด้วยกันเลยแม้แต่จุดเดียว
ภายในศิลปะจัดวางชิ้นนี้มีอะไรซ่อนอยู่ ร่วมสืบหาความลับและแกะเกาความงามที่เกิดจากงานไม้ล้วน ๆ ของ WOOD STREET PAVILION ได้แล้วในวันนี้จนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์
WOOD STREET PAVILION
#03
TO RETURN PEOPLE, THE REBORN HEAVEN
แสงสีแสดงความศรัทธาต่อองค์เจ้าแม่ทับทิม

‘เจ้าแม่ทับทิม’ หรือที่ชาวจีนไหหลำออกพระนามว่า ตุ้ยบ่วยเต็งเหนี่ยง (水尾圣娘) คือเทพีแห่งน้ำที่ชาวไหหลำเคารพศรัทธา ที่ใดมีศาลเจ้าแม่องค์นี้ พึงรู้ไว้ว่าที่นั่นคือศาลเจ้าของชาวไหหลำ รวมทั้งศาลเจ้าแม่ทับทิมกลางซอยประชานฤมิตร ศูนย์รวมจิตรวมใจของผู้ค้าไม้ในย่านนี้ด้วย
Lighting Artist มือทอง แพรว-ฉันทิศา เตตานนทร์สกุล หรือ ASITNAHC ผู้เคยฝากผลงานไว้ในงาน Unfolding Bangkok : Hidden Temples ณ วัดภุมรินทร์ราชปักษี เมื่อปลายปีก่อน อาสามาร่วมสร้างผลงานชิ้นใหม่ให้กับชาวบางโพ เกิดเป็นผลงานศิลปะแสงชื่อว่า ‘TO RETURN PEOPLE, THE REBORN HEAVEN’


มากกว่าสีสันอันสวยงามที่ส่องสว่างบนอาคารศาลเจ้า งานศิลปะแสงสีชิ้นนี้ยังต้องการส่งต่อเรื่องราวความเชื่อมต่อระหว่างวัฒนธรรมไทย-จีน วิถีชีวิตของคนบางโพ ตลอดจนความศรัทธาล้นเหลือที่ผู้คนบนถนนสายไม้มีต่อศาลเจ้าแม่ผู้ศักดิ์สิทธิ์ เปรียบเสมือนสวรรค์ในย่านบางโพที่พวกเขาภาคภูมิใจ
หลังกราบไหว้ขอพรเจ้าแม่ทับทิมเสร็จในตอนกลางวันแล้ว ตอนกลางคืนก็อย่าลืมแวะมาดูไฟสวย ๆ ต่อนะ
TO RETURN PEOPLE, THE REBORN HEAVEN
#04
Balance in Space
พื้นที่สาธารณะขนาดเล็กที่ทดลองทำในซอยการค้าอันพลุกพล่าน

“พื้นที่ค้าขายทั้งเส้นทางของกรุงเทพมหานครเราไม่มีต้นไม้ให้เห็นเท่าไหร่เลยนะครับ พื้นที่สาธารณะก็ไม่ค่อยมี เราก็เลยมองหาทางออกว่า พื้นที่ค้าขายกับพื้นที่สาธารณะอยู่ร่วมกันได้หรือเปล่า จะมีองค์ประกอบอะไรที่นำมันมาอยู่ร่วมกันได้ สร้างเมืองที่ดีไปพร้อมกับการค้าขายที่อยู่ต่อได้” อาจารย์โจ้-เจนณรงค์ ทาคูมิ ซาก้า ผู้จัดการโครงการ ‘ถนนสายไม้บางโพ ตำนานที่มีชีวิต’ กล่าวถึงแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังไฮไลต์ของงานชิ้นนี้

โจทย์ดังกล่าวทำให้ we!park และ Shma ออกแบบพื้นที่สวนสาธารณะขนาดเล็ก (Pocket Park) จากพื้นที่จอดรถ โดยนำวัสดุเหลือใช้ภายในย่านมาใช้งาน พร้อมกันนั้นยังสนับสนุนฝีมือของช่างไม้ในย่านไปด้วย
Pocket Park ในถนนสายไม้เป็นแบบไหน มีแนวคิดและวิธีการสร้างสรรค์อย่างไร สิ่งนี้ตอบโจทย์พื้นที่คับแคบที่นำมาต่อยอดพัฒนาได้น้อยอย่างซอยประชานฤมิตรได้อย่างไร เชิญมาร่วมหาคำตอบกัน
Balance in Space
#05
Pieces of a Living
นิทรรศการรวมผลงานจากไม้ที่บ่งบอกว่าไม้อยู่ในทุกส่วนของชีวิต

หน้าต่าง ประตู โต๊ะ ตู้ ตั่ง เตียง เขียง เก้าอี้
คือตัวอย่างของงานไม้ที่ได้รับการผลิตและวางจำหน่ายบนถนนสายไม้แห่งนี้ นับได้ว่าคนเราใช้ไม้ในทุกอิริยาบถของชีวิต และสินค้าไม้จำนวนมากก็มีแหล่งกำเนิดอยู่บนถนนสายนี้เอง


‘Pieces of a Living สิ่งละอันพันละน้อยสร้างชีวิต’ คือพื้นที่จัดแสดงชิ้นส่วนจากงานไม้ในบางโพที่ชักชวนคนมาเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ในรูปแบบของศาลาจัดแสดงนิทรรศการเพื่อเล่าเรื่องราววิถีชีวิต ผู้คน กิจกรรม ภายในพื้นที่จัดแสดงแยกย่อยเป็นนิทรรศการหลายส่วน อาทิ นิทรรศการภาพสีน้ำสร้างสรรค์ นำเสนอสีสันตำนานที่ยังมีชีวิต นิทรรศการแสดงผลงานการออกแบบเฟอร์นิเจอร์นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ นิทรรศการศิลปะจัดวางเล่าเรื่องผ่านองค์ประกอบ Elements และชิ้นส่วนและเศษวัสดุจากงานไม้ของร้านค้าในพื้นที่ เป็นต้น

Pieces of a Living
#06
Bangpho Feel Food
รถเข็นขายอาหารทำจากไม้ที่สร้างมาเพื่องานนี้

มาเที่ยวถนนสายไม้ที่ 2 ข้างทางมีแต่ร้านผลิตภัณฑ์ไม้ เกิดหิวขึ้นมาจะทำอย่างไร
เรื่องนั้นหายห่วงได้ เพราะในสัปดาห์ Bangkok Design Week 2023 ร้านอร่อยในย่านบางโพได้มารวมตัวกันออกร้านขายของให้คุณได้เลือกชิมกันอย่างจุใจ ในรูปแบบของ ‘Food Kiosk’ หรือรถเข็นขายอาหารที่ออกแบบมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ
Bangpho Feel Food
#07
Bangpho Living Museum
พิพิธภัณฑ์จัดแสดงวิถีถนนสายไม้โดยอนาคตของชาติ

การค้าไม้ ภูมิปัญญาช่าง ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีน หากไม่อนุรักษ์ไว้ วันหนึ่งข้างหน้าสิ่งที่เป็นเสน่ห์ของซอยประชานฤมิตรที่บางโพคงเหลือแต่อดีตที่ไม่มีวันหวนคืน
เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และสร้างความตระหนักแก่คนรุ่นใหม่ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงจับมือกันเปิดนิทรรศการ ‘Bangpho Living Museum’ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เรื่องราวของซอยประชานฤมิตรให้กับทุกคน เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญางานช่างไทยเชื้อสายจีน และต่อยอดพัฒนาศักยภาพช่างฝีมือไทยเพื่อผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ในนิทรรศการยังอุทิศพื้นที่บางส่วนไว้สำหรับจัดแสดงผลงานของน้อง ๆ นิสิตนักศึกษาด้วย จะมีอะไรบ้างนั้น ไปชมกันได้ที่ Bangpho Living Museum
Bangpho Living Museum
#08
A Story of Wood
ทัวร์และเวิร์กช็อปที่จะพาไปรู้จักความเป็นมาของไม้ตั้งแต่ซุงจนถึงเฟอร์นิเจอร์

หากดูด้วยตาแล้วยังไม่เข้าใจ ชมนิทรรศการแล้วก็ยังเข้าไม่ถึงจิตวิญญาณของถนนสายไม้ เราขอแนะนำให้คุณเข้าร่วมกิจกรรม ‘A Story of Wood’ กิจกรรมเดินเที่ยวพร้อมเวิร์กช็อปที่จะช่วยให้คุณได้เข้าถึงการค้าไม้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ!

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ชุมชนประชานฤมิตรพร้อมใจกันเปิดโอกาส โอบรับบุคคลภายนอกให้เข้ามาเรียนรู้การทำงานของเขาถึงถิ่น ในรูปแบบของ Walking Tour ที่แบ่งออกเป็น 4 สถานีย่อย เริ่มจาก ‘From Woodland to Urban จากป่าสู่เมือง’ ชมสาธิตวิธีการเลื่อยซุงไม้สักที่โรงเลื่อยจักร์ไท้เชียง ของ หลงจู๊อ่าง-ชาญสิทธิ์ มีอุดมศักดิ์ ที่รับหน้าที่นี้มานานกว่า 50 ปี ต่อด้วยขั้นตอนการแกะสลักไม้ของช่าง ตบท้ายด้วยเวิร์กช็อปทำกรอบรูปไม้ที่ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำวัสดุไม้มาประกอบเป็นชิ้นงาน
กิจกรรมจัดทั้งหมด 4 รอบ ในวันที่ 4, 5, 11 และ 12 กุมภาพันธ์ ตั้งแต่เวลา 15.00 – 17.00 น. รับจำนวนจำกัดที่ 30 คนต่อรอบ สมัครเข้าร่วมได้ที่นี่