13 พฤศจิกายน 2021
2 K

‘เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง

เดือนอ้าย เดือนยี่ น้ำก็รี่ไหลลง’

ได้ยินเพลงเรือท่อนนี้ทีไรก็ปรามตัวเองไม่ให้ยิ้มกระมิดกระเมี้ยนอยู่คนเดียวไม่ได้ เพราะชวนให้คิดถึงอีกหลากหลายวรรคทองที่จำได้ขึ้นใจแต่ไม่กล้าแชร์ให้ใครทราบ เนื่องจากแฝงความสัปดี้สัปดน ระคนความชาญฉลาดของพ่อเพลงแม่เพลงยุคก่อน ทั้งเชิงการละเล่นทางภาษา และการรู้หยิบเอาภูมิประเทศที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงของภาคกลาง มาเปรียบเปรยสองแง่สองง่าม เรียกความสนุกสนานให้งานเทศกาลงานกฐินช่วงปลายฝนได้อย่างฉมัง

เพลงเรือท่อนข้างต้นยังช่วยเตือนสติให้เราฉุกคิดได้ว่า คนไทยนี่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับน้ำโดยแท้

ฝ่ายหลวงมีทั้งพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญรับหน้านา พิธีสรงน้ำพระมูรธาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จนถึงพระราชพิธีโบราณชื่อแปลกหู อย่าง ‘พิธีไล่เรือ’ ‘พิธีฟันน้ำ’ จนถึง ‘พิธีพระพิรุณศาสตร์’ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับฝนฟ้านาน้ำทั้งสิ้น แม้พระแก้วมรกตก็ยังต้องเปลี่ยนเครื่องทรงรับฤดูฝน

ฝ่ายราษฎร์ก็มีประเพณีเกี่ยวกับน้ำอยู่ทุกช่วงตลอดปี รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่รับปีใหม่สากล สรงน้ำพระ สาดน้ำสงกรานต์ยามปีใหม่ไทย ออกพรรษาก็แจวเรือแห่กฐินกันคึกคัก ขับเพลงเรือดังอึกทึกทั่วคุ้งน้ำ ครั้นขึ้น 11 ค่ำ เดือน 12 ก็จุดพลุตะไลไฟพะเนียง ลอยประทีปกระทงขอขมาพระแม่คงคาปิดท้ายเดือนสุดท้ายของปีตามปฏิทินจันทรคติ

เอนก นาวิกมูล เล่าสัมพันธ์คนไทย-สายน้ำ ผ่านท่าพายเรือ ศาลา ตลาดน้ำ และการเที่ยวทุ่ง

ในวาระที่ประเพณีคู่สายน้ำอย่างลอยกระทงจะเวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่ง Bangkok River Festival 2021 และ The Cloud จึงชวน อาจารย์เอนก นาวิกมูล นักประวัติศาสตร์และนักสะสมของโบราณ เจ้าของ ‘บ้านพิพิธภัณฑ์’ มานั่งลงสนทนาเรื่องความสัมพันธ์คนไทยกับสายน้ำ ที่ ‘บ้านอากงอาม่า’ คาเฟ่เรือนไม้โบราณบรรยากาศคลาสสิกริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมี เอญ่า-ศุภากร กรณิศาภูกิจ มัคคุเทศก์ฝึกหัดในโครงการ ‘เยาวชนเจ้าบ้าน สืบสานวัฒนธรรม’ ที่คลุกคลีกับชุมชนริมน้ำกุฎีจีนมายาวนาน จนตกหลุมรักเข้าอย่างจัง นั่งตาแป๋วตั้งใจฟังอยู่ห่างๆ

ขอชวนเข้าห้องเรียนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับสายน้ำ ที่อาจารย์เอนกจะค่อยๆ ชี้ให้เห็นผ่านท่าพายเรือ ศาลาริมน้ำ ตลาดน้ำ เรือนแพ และการเที่ยวทุ่ง

เอนก นาวิกมูล เล่าสัมพันธ์คนไทย-สายน้ำ ผ่านท่าพายเรือ ศาลา ตลาดน้ำ และการเที่ยวทุ่ง
01

แจวมาแจวจ้ำจึก น้ำนิ่งไหลลึกนึกถึงคนแจว

คนไทยเริ่มหันหน้าบ้านเข้าถนน หันหลังให้คูคลอง และเลิกใช้เป็นเส้นทางสัญจรหลักในยุคการพัฒนาประเทศภายใต้เงาปีกอินทรีย์ ผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 

“เดิมแม่น้ำลำคลองคือแหล่งกำเนิดชุมชน ทั้งเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง จะเห็นว่าคนไทยต้องใช้น้ำ ผูกพันกับน้ำแน่นอน แง่มุมหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือเรือ ซึ่งมีหลากหลายแบบเพื่อกิจการต่างๆ ตั้งแต่เรือชาวบ้าน เอาต้นตาลมาทำเรืออีโปง เอาไม้มาต่อกันทำเป็นเรือมาด เรือป๊าบ เรือสำปั้น เรือต่อ เรือพายม้า เรือหมู เยอะแยะไปหมด

เอนก นาวิกมูล เล่าสัมพันธ์คนไทย-สายน้ำ ผ่านท่าพายเรือ ศาลา ตลาดน้ำ และการเที่ยวทุ่ง

“แต่สำคัญไม่แพ้เรือก็คือท่าพายเรือ คนยุคหลังมาไม่รู้จักการจับพายเสียแล้ว คนสมัยก่อนพายคว่ำมือกันทั้งนั้น ผมมาสนใจเรื่องนี้เพราะว่า วันหนึ่งอยู่บ้านริมคลองแถวบางด้วน บางแวก เห็นชาวสวนจับพายคว่ำทั้งสองมือก็นึกแปลกใจว่า จริงๆ แล้วต้องจับพายอย่างไรให้ถูกต้องสวยงาม ทีนี้ต้องเช็กกันใหญ่เลย หนึ่ง ดูจากจิตรกรรม สอง ดูจากวิถีชีวิตคนริมคลอง ตลาดน้ำ ทุกอย่างเข้าทฤษฎีเราหมดว่าต้องคว่ำมือทั้งสองข้าง” 

เราขมวดหัวคิ้วชิดกัน แสดงความสงสัยอย่างโจ่งแจ้งแก่คู่สนทนา ว่าท่าพายเรือจะสำคัญอย่างไร เพราะไม่ว่าจะจับพายแบบไหน ถ้าเรือไปหน้าถอยหลังได้ตามใจสั่ง ก็เป็นอันใช้ได้นี่นา

เอนก นาวิกมูล เล่าสัมพันธ์คนไทย-สายน้ำ ผ่านท่าพายเรือ ศาลา ตลาดน้ำ และการเที่ยวทุ่ง
เอนก นาวิกมูล เล่าสัมพันธ์คนไทย-สายน้ำ ผ่านท่าพายเรือ ศาลา ตลาดน้ำ และการเที่ยวทุ่ง
ภาพพระนเรศวรตามจีนจันตุ ที่ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระนเรศวรมหาราช บริเวณทุ่งภูเขาทอง

“ไอ้แค่จับพายเนี่ยนะ” เขาทวนคำถามพร้อมทิ้งจังหวะชวนคิด

“เวลาช่างเขียนยุคใหม่ไปซ่อมจิตรกรรมฝาผนัง ปรากฏว่านอกจากไม่สวยแล้วยังซ่อมผิดหมดเลยด้วย อย่างที่หอประชุมกองทัพเรือ แกะสลักรูปคนพายเรือทั้งชาวบ้าน ทั้งพระ ไม้พายดุ้นสั้นนิดเดียว จับคว่ำมือหงายมือเลอะเทอะไปหมด หรือภาพพระนเรศวรไล่ตามจีนจันตุ ประติมากรปั้นคว่ำมือหงายมือแบบนั้น พายไปไม่ได้หรอก”

อาจารย์เอนกเฉลยด้วยผลกระทบชั้นละเมียดที่สุดเมื่อคนไทยหันหลังหาคลอง

02

อาบน้ำท่าไหน อาบน้ำท่าวัด

หากอธิบายความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างคนไทยกับสายน้ำแล้วไม่หยิบยกประเพณีลอยกระทง พระเอกประจำเทศกาลคู่เทศกาลสงกรานต์มาเล่า ก็คงจะไม่ใช่คำอธิบายที่สมบูรณ์เท่าไหร่นัก

ลอยกระทงคือประเพณีการขอขมาพระแม่คงคา ที่ได้ตักตวงประโยชน์และให้โทษแก่แหล่งน้ำมาตลอดทั้งปี ทางพุทธอธิบายว่าเป็นการบูชาพระเจดีย์จุฬามณีบรรจุพระจุฬา พระเมาฬี และพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้า ซึ่งประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ มิพักต้องพิจารณาหลักฐานทั้งทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีให้ถี่ถ้วนตามข้อเสนอของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ว่าประเพณีขึ้นชื่อนี้อาจไม่ได้เก่าแก่ถึงสมัยสุโขทัย

เอนก นาวิกมูล เล่าสัมพันธ์คนไทย-สายน้ำ ผ่านท่าพายเรือ ศาลา ตลาดน้ำ และการเที่ยวทุ่ง

“แต่ตอนหลังประเพณีนี้ก็ย่อหย่อนลงไปมาก เพราะคนไทยสำนึกไม่มากพอ มีแต่ไหว้เป็นอามิสบูชาอย่างเดียว ไม่ได้ปฏิบัติบูชา ไม่รักษาแม่น้ำลำคลอง ยังโยนขยะลงน้ำ ขี้ลงน้ำ อย่างไอ้ไข้อหิวาตกโรคที่ระบาดจนมีคำขวัญ ‘อหิวาต์กำเริบ ล้างมือก่อนเปิบ ด้วยน้ำประปา… ’ ที่ครูเหลี่ยม (ครูเหลี่ยม วินทุพราหมณกุล หรือ หลวงวิลาศปริวัตร-ผู้เขียน) แต่งขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ก็มากับน้ำทั้งนั้น”

ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่ชัดแจ้งไม่แพ้ประเพณีลอยกระทง คือการสูญหายของศาลาริมน้ำ สถาปัตยกรรมในวัดที่เคยถูกใช้เป็นทางเข้าหลักสู่วัดวาอาราม ตามเส้นทางการสัญจรทางน้ำของคนในอดีต

เอนก นาวิกมูล เล่าสัมพันธ์คนไทย-สายน้ำ ผ่านท่าพายเรือ ศาลา ตลาดน้ำ และการเที่ยวทุ่ง

“อย่างศาลาริมน้ำวัดอินทาราม วัดพระเจ้าตากนั่นแหละ เขาสร้างแทนของเดิมไว้หรืออย่างไรไม่รู้ แต่ชาวบ้านไปยึดเป็นที่อยู่อาศัยหมดแล้ว บางวัด เช่น วัดนางนอง เหลือเพียงแต่รูปถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 หรือ วัดบางกระดี่ซึ่งเป็นวัดมอญ เคยมีศาลาท่าน้ำสวยๆ หลังคาคลุมยาวเชื่อมกับทางเดินไปจนถึงโบสถ์ แต่ก็รื้อทิ้งกันไปหมด อย่างวัดบางปลาที่สมุทรสาคร เขาก็รักษาไว้ได้ดี”

ส่วนที่มีเหลืออยู่น้อยนิดก็ถูกใช้งานด้วยหน้าที่แตกต่างไปจากของเดิม บ้างใช้เป็นศาลาให้อาหารปลา บ้างกลายเป็นตลาดขนาดย่อมของชาวหาบเร่แผงลอย บ้างใช้เป็นที่เก็บของชั่วคราว บ้างกลายเป็นนิวาสสถานของคนจรไร้บ้าน ภาพการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ตอกย้ำความเลือนรางและบิดเพี้ยนของประเพณีดั้งเดิมที่เคยมีมาอย่างเห็นได้ชัด

03

เรือนแพ สุขจริง อิงกระแสธารา

คนส่วนใหญ่มักรู้กันแค่ว่า แม่น้ำนั้นมีความสำคัญในฐานะเส้นทางสัญจรของคนโบราณ น้อยคนนักที่จะมองทะลุแจ้งแทงปล้องจนเห็นประโยชน์ของคูคลองมิติอื่นๆ ที่ซับซ้อนขึ้น เช่น คลองชื่อดังอย่าง ‘แสนแสบ’  ซึ่งรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ขุดยาวไปจนถึงแม่น้ำบางปะกง นั้นใช้สำหรับเป็นเส้นทางเดินทัพไปกัมพูชา หรือคลองรังสิตที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับทำนา

สิ่งที่น่าสนใจคือ บริเวณสามแยก สี่แยก ที่คูคลองตัดผ่านกันนั้น มักมีตลาดน้ำเกิดขึ้น คล้ายกับตลาดนัดเปิดท้ายรายสัปดาห์ที่พ่อค้าแม่ขายมักมารวมตัวกันตามที่โล่งกว้างใกล้แยกไฟแดง

ชวนย้อนรอยความสัมพันธ์คนไทยกับสายน้ำผ่านท่าพายเรือ ศาลาริมน้ำ ตลาดน้ำ ยันกิจกรรมเที่ยวทุ่งของ ร.5 และ แม่พลอย

ตลาดน้ำอยู่กับคนไทยมาตั้งแต่ยุคอยุธยา คนมาลอยลำขายของแลกเปลี่ยนกัน ยิ่งยุคการท่องเที่ยวตั้งแต่ อสท. เกิดขึ้นมา ไกด์ก็มักพานักท่องเที่ยวฝรั่งไป โดยเฉพาะที่วัดไทร ที่ซอยพาณิชย์ธน ดาวคะนอง บางแคก็มีตลาดน้ำ ในตัวพระนครที่สี่แยกมหานาค คลองผดุงกรุงเกษม แต่ก่อนก็มีตลาดน้ำใหญ่ อยู่ในฉากหนังเรื่อง Ugly American ที่ อาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ร่วมแสดง

อีกสิ่งหนึ่งที่มักอยู่คู่กับตลาดน้ำคือเรือนแพ เรือนค้าขายริมน้ำ รูปแบบสถาปัตยกรรมประเภทที่อยู่อาศัยของทั้งเจ้านาย ขุนนาง จนถึงพ่อค้าแม่ค้า

ชวนย้อนรอยความสัมพันธ์คนไทยกับสายน้ำผ่านท่าพายเรือ ศาลาริมน้ำ ตลาดน้ำ ยันกิจกรรมเที่ยวทุ่งของ ร.5 และ แม่พลอย

“ตลาดท่าเตียน ตลาดปากคลอง แต่ก่อนก็มีเรือนแพทั้งนั้น อยุธยาที่หน้าวังจันทรเกษมก็เคยมี ขึ้นไปภาคกลางตอนเหนือนครสวรรค์ อุทัยธานี ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ แต่จำกัดไม่ให้เพิ่ม พิษณุโลก หน้าวัดพระศรีมหาธาตุก็เคยมี 

“แต่ที่ผมสนใจคือการเลื่อนเรือนแพว่าเขาเลื่อนกันอย่างไร วันหนึ่งอ่านหนังสือเจอว่า เขาจะเลือกเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง น้ำไหลไปทางไหนก็ปล่อยแพไหลไปทางนั้น ไม่ต้องลากจูง ส่วนเรือนแพที่น่าประทับใจคือสตูดิโอถ่ายภาพของนายจิตร หรือ ขุนสุนทรสาทิศลักษณ์ ที่อยู่ตรงหน้าวัดซางตาครู้ส ชุมชนกุฎีจีน แต่ไม่มีภาพถ่ายเลยไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ประหลาดดีที่อยู่ในเรือนแพ เป็นสตูดิโอลอยน้ำ”

ถ้าแม่น้ำลำคลองเป็นดั่งถนนซูเปอร์ไฮเวย์ที่พาความเจริญออกไปจากกลางเมือง ดังเห็นได้จากสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ขุดคลองผดุงกรุงเกษมอีกรอบหนึ่ง พาให้ชุมชนขยับขยายออกไป ถึงขนาดรัชกาลที่ 5 ไปสร้างพระราชวังสวนดุสิตถึงนอกเกาะรัตนโกสินทร์ ตลาดน้ำก็เป็นเหมือนจุดพักรถบนทางมอเตอร์เวย์ หรือหัวเมืองต่างจังหวัดที่ถนนสายหลักตัดผ่าน ซึ่งก้าวหน้าทันสมัยกว่าละแวกใกล้เคียงเป็นพิเศษ

04

เที่ยวทุ่งเมื่อหน้าน้ำ

“อีกประสบการณ์เกี่ยวกับน้ำที่ผมประทับใจตั้งแต่เด็กคือการเที่ยวทุ่ง” เจ้าตัวใช้น้ำเสียงสนุกทันที ราวกับทวนเข็มนาฬิกาย้อนสู่วัยเยาว์อีกหน

แต่วัยรุ่นใกล้เบญจเพสอย่างเรารู้เพียงว่าเป็นกิจกรรมที่แม่พลอย ตัวละครหลักในวรรณกรรมเรื่อง สี่แผ่นดิน เคยออกไปเที่ยวกับเขาเหมือนกัน ตามเทรนด์ชาวพระนครสมัยนั้น แต่ไม่มีภาพจินตนาการปรากฏในความรับรู้

“สมัยก่อนพอถึงหน้าน้ำหลาก ชาวเมืองชาววังก็คดข้าว ห่อข้าวกันไปกินบนเรือ คล้ายๆ ปิกนิกกลางทุ่งนา เป็นกิจกรรมที่รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 ก็เคยเสด็จฯ ไป” ชายตรงข้ามคลายความข้องใจ

ชวนย้อนรอยความสัมพันธ์คนไทยกับสายน้ำผ่านท่าพายเรือ ศาลาริมน้ำ ตลาดน้ำ ยันกิจกรรมเที่ยวทุ่งของ ร.5 และ แม่พลอย
ชวนย้อนรอยความสัมพันธ์คนไทยกับสายน้ำผ่านท่าพายเรือ ศาลาริมน้ำ ตลาดน้ำ ยันกิจกรรมเที่ยวทุ่งของ ร.5 และ แม่พลอย

“ตัวผมเกิดที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ราบลุ่มปลูกข้าวเช่นเดียวกับภาคกลาง พอเดือนตุลาคม พฤศจิกายน น้ำก็ท่วมทุ่ง เราก็พายเรือออกไปเที่ยวดู น้ำสมัยก่อนมันใสแจ๋วจนเห็นพื้นนา สบายอกสบายใจมาก เอามือราน้ำเล่น พายเรือ ตอนบ่ายๆ นี่แสงสวยมาก

“โตมาแล้วผมถึงชอบดูน้ำท่วม แต่แหม คนอื่นเขาว่าลำบากนะน้ำท่วมเนี่ย (หัวเราะ) ชอบไปทางเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา ต่อแดนกับเจ้าเสด็จ กับตำบลรางจระเข้ ไปผักไห่ หน้าน้ำมันสวย เราชอบไปดูไม้น้ำ พอโตขึ้นมาเมื่อรู้จักพ่อเพลงแม่เพลง ผมก็ไปเที่ยวทุ่งกับแม่บุญมา (แม่บุญมา สุดสุวรรณ-ผู้เขียน) ที่อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เราก็ถามชื่อไปเรื่อยว่าต้นอะไร ชื่ออะไร จดมาเขียนในหนังสือ เที่ยวทุ่งเมื่อหน้าน้ำ

ชวนย้อนรอยความสัมพันธ์คนไทยกับสายน้ำผ่านท่าพายเรือ ศาลาริมน้ำ ตลาดน้ำ ยันกิจกรรมเที่ยวทุ่งของ ร.5 และ แม่พลอย
ชวนย้อนรอยความสัมพันธ์คนไทยกับสายน้ำผ่านท่าพายเรือ ศาลาริมน้ำ ตลาดน้ำ ยันกิจกรรมเที่ยวทุ่งของ ร.5 และ แม่พลอย

คู่สนทนาเล่าอดีตอันหอมหวานอย่างออกรสไม่ทิ้งจังหวะ เสริมเรื่องต่อทันทีว่า 

“ต้องพูดไปอีกว่าหน้าน้ำสมัยก่อน เราไปทอดกฐินทอดผ้าป่ากัน ก็มีการเล่นเพลงเรือ เช่นหน้าวัดประตูสาร ที่สุพรรณบุรี หรือทางอำเภอบางปะหัน อำเภออุทัย เขาก็มีพ่อเพลงแม่เพลงของเขา คนพายเรือไปวัดสี่ร้อยที่วิเศษไชยชาญ อ่างทอง ก็เป็นประเพณีเกี่ยวกับสายน้ำในระดับชาวบ้าน

“ถ้าระดับหลวงก็มีลอยกระทง มีภาพวาดอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์ฯ เป็นภาพกระทงใหญ่อยู่บนแพ ซึ่งพงศาวดารเขียนว่า มีเครื่องจักรกลไกช่วย แต่ก็ไม่รู้ว่ามันเคลื่อนไหวอย่างไรเพราะไม่มีรายละเอียด ทั้งยังมีพระราชพิธีลงสรง คือสอนให้เจ้านายรู้จักว่ายน้ำ ครั้งใหญ่สุดคือของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร จัดใหญ่โตที่ท่าราชวรดิษฐ์

“ส่วนผมชอบมาลอยกระทงที่วัดสระเกศ ภูเขาทอง เพราะเป็นงานวัดที่จัดใหญ่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ยุค 2430 ทำมาเป็นร้อยปี มีการออกร้าน เล่นกันสนุกสนาน ตรงสามแยกคลองมหานาคที่รัชกาลที่ 1 โปรดฯ ให้ขุดพร้อมคลองรอบกรุงนั้น คือบริเวณท่าผ่านฟ้าที่รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งใจให้เป็นที่สโมสรตอนหน้าน้ำของชาวเมือง ใช้เล่นเพลงดอกสร้อยสักวากัน”

ชวนย้อนรอยความสัมพันธ์คนไทยกับสายน้ำผ่านท่าพายเรือ ศาลาริมน้ำ ตลาดน้ำ ยันกิจกรรมเที่ยวทุ่งของ ร.5 และ แม่พลอย

อาจารย์เอนกเล่าเรื่องวันวานอันน่าตื่นเต้น แต่ละตัวอย่างที่ยกมานั้นแตกต่างหลากหลาย ทว่าเชื่อมสัมพันธ์คนไทยกับสายน้ำได้อย่างแยบคาย ตั้งแต่ระดับเจ้านายถึงชาวเมือง

05

เวนิสกรุงเทพ

“คนกรุงเทพฯ น่าจะมีแหล่งน้ำที่ใช้เป็นที่พักหูพักตาบ้าง ผมคิดว่าสวนสาธารณะอยากให้ทำเป็นทุ่งนาแล้วขุดคลองหรือคูน้ำเล็กๆ ให้คนมาพายเรือเล่นได้สบาย ได้รักษาต้นไม้น้ำไว้ด้วย อย่างสวนหนองแขมก็สวย น่าชื่นชม อันนี้คิดแบบเพ้อฝันนะ ถ้าทำสวนเหมือนอย่างที่ผมพูดให้เห็นสักที่หนึ่ง เขาจะได้เห็นว่าชีวิตกับน้ำมันก็สวยได้ ไม่ใช่ไปนิวซีแลนด์ ไปเวนิส แล้วมาโม้กัน ทำไมไม่ทำเวนิสที่กรุงเทพฯ กับธนบุรีให้มันดูดีบ้าง”

ชายเจ้าของประสบการณ์แสนสนุกให้ความเห็นเชิงอนุรักษ์ก่อนตั้งคำถามน่าคิด 

“เราเห็นปัญหากันมาเยอะแล้วนะ อย่างคลองโอ่งอ่าง คลองลาดพร้าว หรือ คลองช่องนนทรี ก็เริ่มดีขึ้น แต่อย่างไรก็ต้องอาศัยความร่วมมือสองส่วน รัฐก็ต้องคิดแก้ปัญหา ประชาชนแทบไม่ต้องลงทุนเลยแค่ขอให้ทิ้งลงถัง อย่าโยนลงคลอง ทำได้ไหม”

คนรุ่นใหม่อย่างน้องเอญ่าที่นั่งเงี่ยหูฟังเรื่องวันวานจากคนต่างวัยมาตลอดตอบรับทันควัน ออกตัวขันอาสาดูแลแหล่งน้ำในชุมชน

“โครงการเยาวชนเจ้าบ้าน สืบสานวัฒนธรรม ทำให้หนูรู้ว่าชุมชนบริเวณนี้ผูกพันกับแม่น้ำมาก หนูพร้อมช่วยสานต่อและรักษาวัฒนธรรมที่เคยมีมา ใช้เทคโนโลยีช่วยดูแลแหล่งน้ำ โปรโมตชุมชนริมน้ำให้คนทั่วโลกได้รู้จัก”

แม้เราไม่ได้เติบโตริมแม่น้ำจนได้ประจักษ์แก่ตาว่าสายน้ำนั้นสัมพันธ์กับคนไทยมากแค่ไหน แต่เรือ ศาลาริมน้ำ ตลาดน้ำ และกิจกรรมเที่ยวทุ่ง ที่อาจารย์เอนกยกมาใช้อธิบายความสำคัญของแหล่งน้ำที่มีต่อคนไทยนั้น ชวนเชื่อจนสนิทใจว่า ‘น้ำคือชีวิต’ ยิ่งพอได้รู้ว่าคนไทยรุ่นหลังนั้นพร้อมรับช่วงต่อภารกิจดูแลน้ำนี้ไว้กับตัว เราก็สบายใจไปเปลาะใหญ่

“ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอาชีพอะไร ทุกคนก็ต้องช่วยกันอนุรักษ์สายน้ำนี้ไว้” เอญ่าทิ้งท้ายก่อนเปลี่ยนสถานะจากคู่สนทนาต่างวัยเป็นไกด์จิ๋ว นำทัวร์ลัดเลาะเที่ยวชุมชนกุฎีจีนอย่างชำนิ

ชวนย้อนรอยความสัมพันธ์คนไทยกับสายน้ำผ่านท่าพายเรือ ศาลาริมน้ำ ตลาดน้ำ ยันกิจกรรมเที่ยวทุ่งของ ร.5 และ แม่พลอย

ขอบคุณภาพประกอบบทความจาก เอนก นาวิกมูล

เทศกาลสายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย (Bangkok River Festival 2021) ครั้งที่ 7 ‘วันเพ็ญเย็นใจ’ จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 – 19 พฤศจิกายน 2564 มีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งแบบออนกราวนด์ อย่างกิจกรรมมงคลดีงาม และช้อปเพลินร้านค้าชุมชน ณ วัดสำคัญริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วัดโพธิ์ วัดอรุณฯ วัดกัลยาฯ วัดระฆังฯ จนถึงวัดประยูรฯ และเสวนาออนไลน์ ‘River Talk’ หลากหลายหัวข้อน่าสนุก โดยมี ThaiBev และ ททท. เป็นผู้ใหญ่ใจดีร่วมบอกเล่าวัฒนธรรมอันดีงามนี้อย่างต่อเนื่อง ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก River Festival Thailand

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey

Photographer

Avatar

วรุตม์ ไฉไลพันธุ์

เมื่อก่อนเป็นช่างภาพหนังสือเดินทาง ปัจจุบันเป็นช่างภาพกักตัวครับ