6 พฤศจิกายน 2020
5 K

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (31 ตุลาคม 2563) ใครแวะมาลอยกระทงที่ล้ง 1919 คงจะได้ดื่มด่ำไปกับเรื่องราวของสายน้ำแห่งวัฒนธรรมผ่านภาพถ่ายฟิล์มกระจก ในงาน River Talk “เสวนาสายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย” ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้งาน Bangkok River Festival 2020 ครั้งที่ 6 ร่วมเสวนาโดย ท่านผู้หญิง สิริกิติยา เจนเซน นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร พร้อมด้วย ดิษพงศ์ เนตรล้อมวงศ์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และ นิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

‘แม่น้ำเจ้าพระยา’ โลเคชันยอดฮิตในการถ่ายรูปของคนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน, River Talk เสวนาสายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย, Bangkok River Festival 2020 ครั้งที่ 6
‘แม่น้ำเจ้าพระยา’ โลเคชันยอดฮิตในการถ่ายรูปของคนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน, River Talk เสวนาสายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย, Bangkok River Festival 2020 ครั้งที่ 6
แม่น้ำเจ้าพระยา
แม่น้ำเจ้าพระยา

ไม่ง่ายเลยกว่าที่เรื่องราวของแม่น้ำในอดีตจะมาปรากฏเป็นภาพให้คนรุ่นเราได้ชม เมื่อแรกเริ่มที่มีการถ่ายภาพ วัสดุที่ใช้บันทึกภาพเป็นแผ่นเงินฉาบสารไวแสงที่มีวิธีการใช้ที่ค่อนข้างยากลำบาก ต่อมาจึงพัฒนาเป็นกระจกฉาบสารไวแสง ซึ่งยุคแรกๆ เป็นกระจกเปียกที่ต้องขนอุปกรณ์กันมาเป็นคันรถ เพื่อนำกระจกมาอาบน้ำยาและกดชัตเตอร์ถ่ายกันเดี๋ยวนั้นเลย วิธีการนี้ต้องใช้เวลาเปิดหน้ากล้องค่อนข้างนาน และยังมีขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยากอยู่ดี

ต่อมาจึงมีการพัฒนาเป็นกระจกแบบแห้งบรรจุในกล่องที่นำมาใส่กล้องถ่ายภาพได้เลย ความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นทำให้เริ่มมีปรากฏในรูปถ่ายเก่าว่าเจ้านายหลายพระองค์ก็จะนิยมการถ่ายภาพ และสะพายกล้องฟิล์มกระจกแบบต่างๆ อยู่เสมอ

หอจดหมายเหตุแห่งชาติมีภาพถ่ายฟิล์มกระจกในสมัยรัชกาลที่ 5 6 และ 7 รวมประมาณ 40,000 ภาพ แม้ปัจจุบันจะอยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ แต่ก็มีฟิล์มกระจกอยู่จำนวนไม่น้อยที่เสื่อมสภาพไปก่อนหน้านี้จากสภาพอากาศร้อนชื้นของประเทศไทย เนื่องจากตัวกระจกเป็นวัสดุแข็ง แต่สารเคลือบนั้นเคยเป็นสารละลายมาก่อน เมื่อฟิล์มกระจกโดนอุณหภูมิหรือความชื้น อาจทำให้สารเคลือบยืดหรือหดตัวจนเกิดเป็นรอยแตกลาน

ในสมัยก่อน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอัดภาพเหล่านี้ไว้บนกระดาษเช่นกัน แต่สารไวแสงที่เคลือบบนกระดาษมีการเสื่อมสภาพได้ จนอาจมีลักษณะเหลือง ซีด หรือมัวขึ้นจนมองไม่เห็นรายละเอียดในภาพ ปัจจุบันหอจดหมายเหตุแห่งชาติจึงนำฟิล์มกระจกเหล่านี้ไปสแกน เพื่อเก็บภาพไว้ในฐานข้อมูลดิจิทัลที่บุคคลทั่วไปสืบค้นได้ง่าย วิธีการนี้ช่วยยืดอายุฟิล์มกระจกได้ดีกว่า เพราะนำไปเก็บในห้องที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้เลย ไม่ต้องเสี่ยงว่าจะเกิดความเสียหายจากการนำฟิล์มเหล่านี้ออกมาอัดซ้ำ

สำหรับคนยุคดิจิทัลที่กดชัตเตอร์กล้องมือถือกันรัวๆ แบบไม่ต้องกลัวเปลืองเมมโมรี่ หากต้องย้อนเทคโนโลยีการถ่ายภาพกลับไปแบบสมัยก่อนก็คงจะคิดมากอยู่ไม่น้อย น่าสนใจว่าด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่แสนจะเปราะบางและกระบวนการถ่ายภาพที่ออกจะยุ่งยากซับซ้อนขนาดนี้ หากช่างภาพในสมัยนั้นตัดสินใจถ่ายภาพสักภาพหนึ่ง พวกเขาจะนิยมถ่ายภาพอะไร

หนึ่งในโลเคชันยอดฮิตของภาพถ่ายฟิล์มกระจกนั่นก็คือ แม่น้ำเจ้าพระยา ประตูสู่กรุงสยาม

วัดอรุณราชวราราม
East Asiatic ปัจจุบันคือเอเชียทีค
East Asiatic Office (ปัจจุบันอาคารยังอยู่) ตรงข้ามคือโรงแรมเพนนินซูล่า
ภาพบ้านเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยา
โบสถ์ซางตาครู้ส
ท่าเรือข้ามฟาก

แม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นศูนย์กลางการค้า การคมนาคม และความหลากหลายของผู้คนทุกชนชั้นจากหลากหลายวัฒนธรรม ในภาพฟิล์มกระจกเราจึงพบเห็นได้ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ประทับเรือเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน ชาวบ้านพายเรือหาปลา ชาวจีนเข้ามาค้าขาย หรือแม้กระทั่งฝรั่งต่างชาติที่เข้ามารุกรานสยามในยุคนั้น

จึงอาจกล่าวได้ว่า แม่น้ำเจ้าพระยาคือภูมิทัศน์วัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่สิบปี แม่น้ำที่ไหลตรงกลางก็จะยังคงเป็นแม่น้ำเส้นเดิม มีแต่เพียงเรื่องราวสองฝั่งแม่น้ำเท่านั้นที่ผันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา การศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมบนสองฝั่งแม่น้ำผ่านการเปรียบเทียบภาพเก่ากับภาพปัจจุบัน จึงเป็นเสน่ห์ที่อาจทำให้ใครหลายๆ คนตกหลุมรัก ราวกับได้ย้อนเวลากลับไปในอดีตอีกครั้ง

ภาพ : หนังสือ เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก และ ฟิล์มกระจก : เรื่องราวแห่งกาลเวลา

Writer

Avatar

แก้วขวัญ เรืองเดชา

โปรดิวเซอร์สารคดีโทรทัศน์ นักเขียน และนักออกแบบนิทรรศการ