“ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ เพียงเรามองลึกเข้าไปในความสามารถของตนเองว่า จะดึงเอาทักษะเหล่านั้นมาใช้ได้มากน้อยแค่ไหน” ต่าย-ภัทรา คุณวัฒน์ เอ่ยขึ้น 

ต่าย-ภัทรา คุณวัฒน์ นักออกแบบอุตสาหกรรมชาวไทย

เธอคือนักออกแบบอุตสาหกรรมชาวไทยผู้อยู่เบื้องหลังภารกิจออกแบบ Face Shield ประสิทธิภาพสูง ร่วมกับวิศวกรกระดาษอีก 2 สัญชาติคือสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เพื่อเป็นเกราะให้เหล่านักรบเสื้อกาวน์ แนวหน้าในการต่อกรกับ การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษอย่าง COVID-19

Face Shield หรือหน้ากากปกป้องละลองฝอย คือหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยปกป้องใบหน้าของผู้สวมใส่จากสารคัดหลั่ง ซึ่งการสัมผัสสารคัดหลั่งนี่เองคือสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อ COVID-19 มันจึงเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญ สำหรับทีมแพทย์ที่ต้องอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ

ต่าย-ภัทรา คุณวัฒน์ นักออกแบบอุตสาหกรรมชาวไทย

ต่ายทำงานออกแบบบรรจุภัณฑ์และสร้างสรรค์กระดาษมากว่าสิบปี ทำให้ในวันนี้ ความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบ การพับ ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ และทักษะสร้างความเข้าใจผู้ใช้งานที่เธอสั่งสม นำมาพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยปกป้องทีมแพทย์ได้ เธอบอกว่าหน้าที่ของบรรจุภัณฑ์คือการปกป้อง และนั่นคือวัสดุประสงค์เดียวกับ Face Shield

และนี่คือ ‘เราจะชนะ!’ โปรเจกต์สร้างนวัตกรรม Face Shield ของวิศกรกระดาษจาก 3 มุมโลก ด้วยการออกแบบอย่างถูกหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) ทำให้รับกับสรีระของคนแต่ละชาติพันธุ์ นอกจากนี้ยังผลิตขึ้นจากวัสดุที่ผ่านการทดสอบแล้วว่าลดอาการบาดเจ็บได้เมื่อต้องใส่เป็นเวลานาน เพื่อเสริมประสิทธิภาพขณะปฏิบัติงานของทีมแพทย์ 

โดยตอนนี้ Face Shield ผลิตและแจกจ่ายไปตามโรงพยาบาลทั่วกรุงเทพฯ นครนิวยอร์ก เกาะคิวชู และกำลังขยายการจัดส่งไปทั่วประเทศ เพื่อขยายประสิทธิภาพการปกป้องออกไปให้กว้างไกลที่สุด

ภารกิจข้ามทวีป 

ต่ายเริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ว่า เธอได้พบกับ เชลบี อาร์โนลด์ (Shelby Arnold) อดีตวิศวกรกระดาษของ Robert Sabuda สตูดิโอออกแบบหนังสือ Pop-up กระดาษชื่อดังแห่งนครนิวยอร์ก ในเพจ Paper Engineers Unite! ที่ทั้งคู่เป็นสมาชิกอยู่ เชลบีเป็นหนึ่งในทีมวิจัย Face Shield ของ Columbia Technology Ventures มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่กำลังเร่งออกแบบและผลิต Face Shield เพื่อแจกจ่ายให้ทีมแพทย์ในสหรัฐอเมริกา

เราจะชนะ! ความร่วมมือของวิศวกรกระดาษจาก 3 มุมโลกเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้ Face Shiled

“การทำงานของวิศกรกระดาษ เมื่อออกแบบเสร็จ จะต้องทำโมเดลต้นแบบขึ้นมาเพื่อทดสอบประสิทธิภาพ เชลบีที่ตอนนั้นออกแบบ Face Shield ชุดแรกเสร็จจำนวนแปดชิ้น ก็ต้องทำโมเดลต้นแบบขึ้นมาเช่นกัน แต่เนื่องจากไม่มีเครื่องตัดที่มีประสิทธิภาพพอ เธอจึงโพส SOS ขอความช่วยเหลือไว้ในเพจ ให้ใครก็ได้ที่มีเครื่องตัดพร้อม จะตัดด้วยมือหรือเครื่องจักรชนิดไหนก็ได้ ช่วยนำไฟล์ผลงานการออกแบบ Face Shield ของเธอไปทดลองตัดและประกอบให้ที”

ต่ายอธิบายว่าที่เชลบีตัดโมเดลต้นแบบเองไม่ได้ เพราะเมื่อ 2 ปีก่อน เธอติดเชื้อไวรัสในเส้นประสาทจนต้องรับการผ่าตัดและสูญเสียความสามารถในการใช้แขน ทุกวันนี้เธอทำได้เพียงเขียนแบบในคอมพิวเตอร์เท่านั้น

เราจะชนะ! ความร่วมมือของวิศวกรกระดาษจาก 3 มุมโลกเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้ Face Shiled

“เราทำงานด้านนี้ มีโรงงานออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์อย่าง Bangkok Pack อยู่แล้ว จึงมีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม เมื่อเห็นข้อความ SOS ของเชลบี เราจึงนำไฟล์เข้าเครื่องตัดและประกอบเป็นโมเดลต้นแบบขึ้นมา และส่งข้อความกลับไปหาเชลบี เธอประหลาดใจมากที่ได้รับความช่วยเหลือจากคนอีกซีกโลก อย่างไรก็ตามเมื่อตัดและประกอบเสร็จ Face Shield แปดชิ้นแรกของเชลบี ไม่มีชิ้นไหนใช้งานได้จริง เราจึงตกลงที่จะช่วยกันพัฒนาแบบ Face Shield ต่อ”

ต่ายเล่าต่อว่า จริงๆ แล้วช่วงนั้น เธอและทีมนักออกแบบของ Bangkok Pack ก็กำลังหาข้อมูลและขึ้นโมเดลต้นแบบของ Face Shield กันอยู่เช่นกัน เพราะได้ไปเห็นวิดีโอที่การทำ Face Shield แบบ DIY ของพยาบาล โดยใช้ฟองน้ำและแผ่นใสที่หาได้ทั่วไปในท้องตลาด ใช้เทปสองหน้าติดฟองน้ำไว้ที่บริเวณหน้าผาก และนำชิ้นส่วนต่างๆ มายึดติดกันด้วยตัวเย็บ

เราจะชนะ! ความร่วมมือของวิศวกรกระดาษจาก 3 มุมโลกเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้ Face Shiled

“พอเห็นขั้นตอนในวิดีโอ ก็เกิดคำถามขึ้นในใจมากมาย ขั้นตอนต่างๆ ดูซับซ้อนยุ่งยาก ทำให้คุณพยาบาลต้องมาเสียเวลามากพอควรในการทำ Face Shield สักชิ้น มันน่าจะมีวิธีที่ง่ายกว่านี้ ใช้เวลาน้อยกว่านี้ในการประกอบ ผลิตในระบบอุตสาหกรรมที่ไม่สร้างขยะส่วนเกิน และใช้วัสดุอะไรบางอย่างแทนฟองน้ำ ที่รู้กันอยู่ว่าเป็นอมเชื้อโรค ทำความสะอาดไม่ได้

ต่าย-ภัทรา คุณวัฒน์ นักออกแบบอุตสาหกรรมชาวไทย

“เราเป็นนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ มีความเชี่ยวชาญเรื่องวัสดุและการออกแบบ เราน่าจะช่วยอะไรทีมแพทย์ได้บ้างจากความสามารถของเรา ตอนนั้นจึงระดมทีมกันทำรีเสิร์ช และก็ได้พบกับเชลบีพอดี จึงกลายเป็นโปรเจกต์พัฒนาแบบ Face Shield ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือปกป้องทีมแพทย์ระหว่างปฏิบัติงานให้ได้มากที่สุด”

การปกป้องที่สมบูรณ์แบบ

ต่ายเกิดในครอบครัวหมอชนบท คุณพ่อเป็นแพทย์ คุณแม่เป็นพยาบาล ทำให้ในวัยเด็กเธอใช้ชีวิตคลุกคลีในโรงพยาบาล 

“เพราะอาศัยในบ้านพักโรงพยาบาล ทำให้เราวิ่งเล่นในโรงพยาบาลตั้งแต่เล็กๆ คุณพ่อจึงปลูกฝังวิธีป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคอยู่เสมอ โดยเฉพาะวิธีล้างมือที่เน้นย้ำเป็นพิเศษจนจำขึ้นใจ” 

ต่าย-ภัทรา คุณวัฒน์ นักออกแบบอุตสาหกรรมชาวไทย

“เราเห็นภาพทีมแพทย์ของเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ใส่หน้ากากอนามัยและ Face Shield จนเป็นแผลเต็มหน้า จึงไปสอบถามคุณหมอว่าจำเป็นต้องใส่หน้ากากนานขนาดนั้นเลยหรอ คุณหมอบอกว่าการผ่าตัดไม่ใช่แค่ยี่สิบถึงสามสิบนาที บางทีเป็นชั่วโมงๆ แถมถ้าขนาดไม่พอดี ป้องกันไม่ดี ต้องเอาเทปปิดแผลมาปิด เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองได้รับเชื้อ ทำให้เกิดการเสียดสีและกดทับผิวหนังกลายเป็นแผล โดยเฉพาะเนื้อเยื่อใต้ดวงตา

“ข้อมูลจากผู้ใช้งานจริงในทีนี้คือคุณหมอบอกเราว่า Face Shield ทุกแบบที่หาได้ จะป้องกันเฉพาะด้านหน้า เปิดช่องว่างบริเวณใบหูไว้ การป้องกันอย่างสมบูรณ์ควรจะปกปิดจากหูข้างหนึ่งไปถึงหูอีกข้าง 

“เราเลยไปหาข้อมูลเพิ่มด้านการยศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่ว่าด้วยวัดสัดส่วนของคนทั่วโลก ว่าคนที่ตัวเล็กที่สุดกับตัวใหญ่ที่สุด ระยะเส้นรอบศีรษะ ระยะจากหน้าผากถึงคาง ระยะจากใบหูถึงใบหู มีขนาดเท่าไหร่ เราต้องรู้สัดส่วนที่แตกต่างกันของคนตะวันออกและตะวันตก เพื่อออกแบบ Face Shield ที่ฟิตกับใบหน้าของทุกคนได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย”

เราจะชนะ! ความร่วมมือของวิศวกรกระดาษจาก 3 มุมโลกเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้ Face Shiled
เราจะชนะ! ความร่วมมือของวิศวกรกระดาษจาก 3 มุมโลกเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้ Face Shiled

ต่ายอธิบายต่อว่า อีกปัญหาใหญ่ที่คุณหมอทุกคนเจอ คือ Face Shield เป็นฝ้า ลองนึกถึงความทรงจำวัยเด็ก เมื่อเราเอาจมูกไปแตะกระจกในวันฝนตกแล้วหายใจ กระจกจะกลายเป็นฝ้า เช่นเดียวกับ Face Shield ที่เมื่อกลายเป็นฝ้า มันบดบังทัศนวิสัย แถมยังกำจัดออกไม่ได้ง่ายๆ นี่จึงเป็นปัญหาที่เหมือนก้อนกรวดในรองเท้า วิธีแก้อยู่ที่การคำนวณระยะห่างระหว่างพลาสติกกับจมูกผู้สวมใส่ให้เหมาะสม ไม่ชิดหรือห่างเกินไป ซึ่งต้องมีการทดสอบอยู่หลายต่อหลายรอบจึงจะได้ระยะที่ดีที่สุด

วัสดุที่ใช้ก็สำคัญไม่แพ้กัน ต่ายเชี่ยวชาญเรื่องวัสดุ เพราะอยู่ในแวดวงออกแบบบรรจุภัณฑ์มานาน “Face Shield แบบ DIY มักใช้อะซิเตท (Acetate) ซึ่งเป็นแผ่นพลาสติกใสที่มีปัญหาใหญ่คือมันไม่ใสจริง เพราะมีความเป็นคลื่นอยู่ในเนื้อวัสดุ ทำให้ทัศนวิสัยที่เกิดขึ้นกับผู้สวมใส่เหมือนการสวมแว่นเลนส์ไม่ดี เป็นอีกสาเหตุว่าทำไมเมื่อใส่ไปนานๆ คุณหมอถึงมีอาการเวียนหัว เพราะภาพที่เห็นมันบิดเบี้ยวนั่นเอง ดังนั้นการต้องเพ่งมองผ่านวัสดุใส โดยเฉพาะระหว่างปฏิบัติการการแพทย์ วัสดุต้องใสจริงและไม่ทำให้ภาพผิดเพี้ยน”

ทีมแพทย์ที่สาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน โรงพยาบาลศิริราช ที่ดูแลผู้ติดเชื้อ COVID-19

หลังจากพัฒนาแบบข้ามไทม์โซนกันมาพักใหญ่ ในที่สุดต่ายและเชลบีก็สร้างโมเดลต้นแบบ Face Shield ที่แก้โจทย์ปัญหาเรื่องการใช้งานทั้งหมดสำเร็จ ต่ายจึงส่งตัวอย่าง Face Shield จำนวนหนึ่งไปให้ทีมแพทย์ที่สาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน โรงพยาบาลศิริราช ที่ดูแลผู้ติดเชื้อ COVID-19 โดยตรง และศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

“คุณหมอบอกว่าปกป้องดีจัง ออกแบบมาดีมาก สวมใส่สบายมากเลย” ต่ายเล่าพร้อมรอยยิ้ม

เราจะชนะ!

จากความร่วมมือ 2 ประเทศ เพิ่มมาเป็น 3 เมื่อต่ายชักชวนเพื่อนชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักออกแบบมีดตัดสำหรับงานบรรจุภัณฑ์มาร่วมทีมด้วย 

“มองย้อนกลับไปยังโจทย์ตั้งต้น นอกจากประสิทธิภาพแล้ว เราอยากแก้ปัญหาเรื่องความซับซ้อนยุ่งยากในการประกอบ Face Shield เพราะไม่อยากให้ทีมแพทย์ต้องเสียเวลามาก ตัวเกี่ยวหรือตะขอที่ยึด Face Shield ไว้ด้วยกันคือกุญแจสำคัญ เพื่อนชาวญี่ปุ่นคนนี้จึงมาช่วยเคลียร์ในจุดนี้ ให้ทางเราเองก็ผลิตได้ง่ายขึ้น และทางทีมแพทย์ที่ได้รับ Face Shield ไปก็ประกอบได้ง่ายขึ้นเช่นกัน” จึงกลายเป็นการทำงานร่วมกัน 3 ประเทศ

ทีมแพทย์ที่สาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน โรงพยาบาลศิริราช ที่ดูแลผู้ติดเชื้อ COVID-19
ทีมแพทย์ที่สาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน โรงพยาบาลศิริราช ที่ดูแลผู้ติดเชื้อ COVID-19

ต่ายเล่าว่าเนื่องจากทีมวิจัย Face Shield ของ Columbia Technology Ventures รับทุนจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เมื่อการออกแบบใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ทางมหาวิทยาลัยจึงแจ้งว่า ต้องการจดสิทธิบัตร Face Shield ที่ออกแบบร่วมกันในโปรเจกต์นี้ แต่ทั้งต่ายและเชลบีไม่เห็นด้วยนัก 

“เราอยากส่งแบบไปให้คนในหลายๆ ประเทศ หลายๆ พื้นที่ผลิตและใช้กันได้ทั่วไป การจดสิทธิบัตรเท่ากับเราจะส่งแบบไปให้ที่อื่นไม่ได้”

ดังนั้น นักออกแบบทั้ง 3 ประเทศจึงตัดสินใจแยกย้ายกันไปปิดแบบ Face Shield ของตัวเอง ต่างคนต่างมีลิขสิทธิ์งานออกแบบเป็นของตัวเอง ไม่ผูกขาดกับทางมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย โดยมีหลักการปกป้องจรดหน้าผากและหูเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดการออกแบบนั้นแตกต่างกัน

เราจะชนะ! ความร่วมมือของวิศวกรกระดาษจาก 3 มุมโลกเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้ Face Shiled

Face Shield เราจะชนะ! ประกอบไปด้วยชิ้นส่วน 3 ชิ้น ชิ้นแรกคือส่วนใสด้านหน้า ทำจากวัสดุ PET ที่ความหนามากกว่าอะซิเตทมากกว่า 2 เท่า ไม่เกิดรอยยับขณะใช้งาน และมีคุณสมบัติโปร่งใสมาก จนคุณหมอนำไปใช้อัลตราซาวด์หรือผ่าตัดส่องกล้องขนาดเล็กได้

ชิ้นต่อมาแผ่นปะหน้าบริเวณหน้าผาก ทำจากพลาสติกอ่อนสีขาวด้าน ที่เลือกใช้วัสดุชนิดนี้เพราะคุณหมอหลายคนบอกต่ายว่า ถ้าคาดพลาสติกเนื้อใสนานๆ จะทำให้เจ็บและปวดศีรษะ เธอจึงเปลี่ยนมาใช้วัสดุเนื้อด้านที่นิ่มและมีความยืดหยุ่น

และชิ้นสุดท้ายคือยางยืดขนาดใหญ่คล้องด้านหลังศีรษะ ลักษณะคล้ายยางคาดของหน้ากาก N95 แต่กว้างและหนากว่าเพื่อลดอาการบาดเจ็บเมื่อต้องคาดเป็นเวลานาน เมื่อใช้เสร็จ ทั้ง 3 ชิ้นส่วนถอดล้างทำความสะอาดได้ด้วยสบู่และแอลกอฮอล์ ตากให้แห้งได้ทุกชิ้นส่วน ช่วยลดปริมาณขยะติดเชื้อที่จะเกิดขึ้นได้

เราจะชนะ! ความร่วมมือของวิศวกรกระดาษจาก 3 มุมโลกเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้ Face Shiled
เราจะชนะ! ความร่วมมือของวิศวกรกระดาษจาก 3 มุมโลกเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้ Face Shiled

ต่ายเล่าอย่างภาคภูมิใจต่อว่า ตัวอักษร ‘เราจะชนะ!’ ที่พิมพ์อยู่บน Face Shield ออกแบบโดย อาจารย์ไพโรจน์ ธีระประภา นักออกแบบตัวอักษรผู้คร่ำหวอดในวงการกราฟิกไทยและออกแบบฟอนต์ไทยมาแล้วมากมาย อาจารย์ไพโรจน์คือปรมาจารย์ศิลปินผู้ต้องการให้ศิลปะแบบไทยๆ จับต้องและเข้าถึงได้ง่าย

จากตัวเองสู่สังคม

ตอนนี้หน้ากาก Face Shield เราจะชนะ! ผลิตและแจกจ่ายไปยังทีมแพทย์ทั่วประเทศแล้วนับหมื่นชิ้น จากวันแรกๆ เขาใช้งบประมาณส่วนตัวอย่างเดียว ทุกวันนี้มีเพื่อนๆ พี่น้อง และอีกหลายคนมาช่วยบริจาคเงินสมทบทุนผลิต เพื่อส่ง Face Shield ไปให้ทีมแพทย์ตามพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะโรงพยาบาลแถวตะเข็บชายแดน เพราะนอกจากแพทย์ด่านหน้าที่ต้องรับมือกับโรค COVID-19 แล้ว บุคลากรการแพทย์ในแขนงอื่นๆ อย่างทันตแพทย์ที่ต้องรับน้ำลายและเลือดของคนไข้ตลอดเวลาก็ล้วนมีความเสี่ยงเช่นกัน

“เราทำงานให้สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ทำให้รู้จักหน่วยงามสมาคมบรรจุภัณฑ์ประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชียหลายประเทศ เราก็ส่งข้อความไปหาว่าต้องการผลิต Face Shield เรายินดีส่งมอบแบบที่พัฒนาแล้วไปให้ เพื่อเขาจะได้นำไปผลิตในประเทศได้ ในสถานการณ์แบบนี้แค่หาวัสดุให้พอหรือทำการผลิตให้ราบรื่น ก็ยากกว่าสถานการณ์ปกติแล้ว”

ข่าวคราวล่าสุดจากเชลบีและเพื่อนชาวญี่ปุ่น ตอนนี้ที่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นก็กำลังเร่งผลิต Face Shield เพื่อจัดส่งให้ทีมแพทย์กันอย่างขะมักเขม้น อาจมีความยุ่งยากกว่าที่เมืองไทยนิดหน่อย เพราะต้องหาวัสดุและผู้ผลิตมารับหน้าที่เดียวกับ Bangkok Pack แต่ทุกอย่างก็กำลังดำเนินไปได้อย่างดี เช่นเดียวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่กำลังดีขึ้นทุกขณะ

ต่ายกล่าวทิ้งท้ายว่า “ในสถานการณ์แบบนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่หน้าที่ของแพทย์หรือของใคร แต่มันเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะใช้ศักยภาพของตัวเองนี่แหละ ดูว่าเราทำอะไรได้ คนทำอาหารได้ก็ทำอาหารไปแจกคนด้อยโอกาส ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เอาทักษะความสามารถมาช่วยเหลือกัน เพื่อให้ทุกส่วนที่มีปัญหารอดพ้นวิกฤตกันไปได้”

เราจะชนะ! ความร่วมมือของวิศวกรกระดาษจาก 3 มุมโลกเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้ Face Shiled

ผู้สนใจสั่งซื้อหรือต้องการบริจาคเงินสมทบทุน เพื่อผลิต Face Shield เราจะชนะ! แจกจ่ายทีมแพทย์ทั่วประเทศ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bangkokpack.com

Facebook : Patra Khunawat
Facebook : Bangkokpack

Line ID : momomamy
Tel: 08 1403 6156

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล