อันนยองฮาเซโย!

ถ้าจะให้เล่าตามความจริง นี่คือคำทักทายครั้งที่ 10 ที่เราซ้อมมาในใจตลอดช่วงบ่าย เมื่อรู้ว่าวันนี้ต้องไปพูดคุยกับศิลปินชาวเกาหลีท่านหนึ่งในกรุงเทพฯ นึกมาระหว่างทางอย่างกล้า ๆ กลัว ๆ ว่าวันนี้เราจะคุยกันรู้เรื่องไหม รู้ตัวอีกทีก็มายืนเก้ ๆ กัง ๆ อยู่หน้าสถานที่นัดหมายเรียบร้อยแล้ว

วันนี้เราตั้งใจเดินทางมาพบกับ อี จูยอง (Lee Ju-young) คนเกาหลีขนานแท้ผู้หลงใหลในงานศิลปะ ‘ภาพเขียนมินฮวา’ ด้วยใจจริง จนมาเปิดเวิร์กช็อปสอนวาดภาพในชื่อ ‘Bangkok Minhwa’ 

Bangkok Minhwa เวิร์กช็อปวาดภาพพื้นบ้านเกาหลียุคโชซอน สอนโดยคนเกาหลีแท้ ๆ

ก่อนเข้าสู่เนื้อหา ขอชวนทำความรู้จักอาจารย์จูยองสักนิด เพราะประวัติการทำงานของเธอน่าสนใจมาก หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย เธอทำงานเป็นแอร์โฮสเตสของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เพราะอยากมีชีวิตอิสระในต่างแดน จน 2 ปีให้หลัง ความเบื่อหน่ายในการทำงานทำให้เธอกลับบ้านเกิด ได้งานเป็นเลขานุการในธนาคารแห่งหนึ่ง จากนั้นก็ย้ายไปทำงานเป็นผู้จัดการโรงแรม และเธอเริ่มสนใจด้านการจัดการและเศรษฐศาสตร์ จนลงเรียน MBA Business School ระหว่างทำงานไปด้วย 

เป็นเวลา 5 ปีในสายโรงแรม จุดเปลี่ยนคือสามี สามีเธอย้ายไปทำงานที่ประเทศสเปน เธอเลยเดินทางไปด้วย และตอนนี้สามีเธอย้ายมาทำงานที่ประเทศไทย เธอและลูก ๆ ก็เลยเดินทางมาด้วย นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ทำให้จูยองเปิดเวิร์กช็อปศิลปะที่มีมาตั้งแต่ปลายราชวงศ์โชซอน ในกรุงเทพฯ

เราอาสาเป็นนักเรียน ไปเข้าใจที่มา ความหมาย และความสำคัญของมินฮวา รวมถึงความตั้งใจ ความพิเศษ และวิธีการวาดโดยสังเขปจากจูยอง จับจองที่นั่ง แล้วจรดปลายพู่กันกันเลย

Bangkok Minhwa เวิร์กช็อปวาดภาพพื้นบ้านเกาหลียุคโชซอน สอนโดยคนเกาหลีแท้ ๆ
Bangkok Minhwa เวิร์กช็อปวาดภาพพื้นบ้านเกาหลียุคโชซอน สอนโดยคนเกาหลีแท้ ๆ

Creator

ย้อนกลับไปในปลายสมัยโชซอน

“สามัญชนทั่วไปยังไม่รู้จักกับภาษาเกาหลี จึงเริ่มเขียนภาพมินฮวาขึ้นค่ะ”

จูยองให้คำตอบหลังจากที่เราเอ่ยถามถึงความหมายและประวัติศาสตร์ของภาพเขียนมินฮวา เธอยังเล่าอีกว่า ความหมายตามตัวอักษรนั้น มินฮวาหมายถึงภาพเขียนสำหรับทุกคน แม้ในอดีตถูกแบ่งออกเป็นภาพวาดโดยราชวงศ์หรือภาพวาดโดยชนชั้นสูงก็ตาม แต่จูยองก็ยังยืนยันคำเดิมว่า มินฮวาเป็นของทุกคนจริง ๆ อันเนื่องมาจากผู้คนมักมอบสิ่งนี้ให้กันเพื่อเป็นของขวัญสำหรับการอวยพร 

เล่ามาถึงจุดนี้ หลายคนคงสงสัยกันว่าแค่ภาพวาดจะอวยพรได้อย่างไร ก็คงเหมือนกับหลักการวาดภาพชาวจีนที่บอกว่า หมูแทนความอุดมสมบูรณ์ ม้าแทนความก้าวหน้า แม้แต่ปลาก็แทนความมั่งคั่ง มินฮวาก็เช่นกัน ภาพส่วนใหญ่มักประกอบด้วยสัตว์หรือดอกไม้ อาทิ ดอกบัวแทนการมีชีวิตยืนยาวและสุขภาพเป็นเลิศ เสือแทนความโชคดี หรือนกกำลังเกี้ยวพาราสีแทนความรักและการแต่งงาน ฯลฯ

ไม่แปลกใจเลยที่ศิลปะแขนงนี้น่าสนใจ เพราะมันคือภาษาที่ไร้ตัวอักษรนี่เอง

Bangkok Minhwa เวิร์กช็อปวาดภาพพื้นบ้านเกาหลียุคโชซอน สอนโดยคนเกาหลีแท้ ๆ
Bangkok Minhwa เวิร์กช็อปวาดภาพพื้นบ้านเกาหลียุคโชซอน สอนโดยคนเกาหลีแท้ ๆ

Art Circles

ในยุคสมัยที่มนุษย์มีศิลปะเป็นเครื่องเยียวยาจิตใจ ภาพเขียนมินฮวาก็กลับมามีชีวิตอีกครั้งในประเทศเกาหลี

ในเกาหลี เราพบเห็นภาพเขียนมินฮวาได้จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกาหลี (The National Museum of Korea) และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งชาติเกาหลี (The National Folk Museum of Korea) อยู่แล้ว แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาพเขียนมินฮวาไปปรากฏอยู่ตามหอศิลป์อีกหลายแห่ง อาทิ Amorepacific Museum of Art, Leeum Samsung Museum of Art และ Horim Museum Sinsa Branch

จูยองบอกว่าภาพมินฮวานี้โด่งดังไปถึงต่างประเทศด้วยซ้ำ อย่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศฝรั่งเศสก็ล้วนคุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่ในช่วง 5 – 7 ปีให้หลังนี้ กลับได้รับความนิยมมากขึ้นในเกาหลี โดยส่วนตัว จูยองที่สนใจการวาดภาพ แถมเธอยังลงเรียนปั้นเซรามิก ระบายสีน้ำ จึงไม่แปลกที่จะมาตกหลุมรักภาพเขียนมินฮวา แม้ตอนแรกตั้งใจฝึกฝนไว้เป็นแค่งานอดิเรก แต่สุดท้ายเธอกลับศึกษาเพิ่มเติม จนเลยเถิดถึงขั้นเปิดเวิร์กช็อปแรกใน BanJoo Korean BBQ ร้านปิ้งย่างบาร์บีคิวที่กรุงเทพฯ เพราะเจ้าของร้านเองก็ชอบมินฮวาสุด ๆ เหมือนกัน 

Bangkok Minhwa เวิร์กช็อปวาดภาพพื้นบ้านเกาหลียุคโชซอน สอนโดยคนเกาหลีแท้ ๆ
Bangkok Minhwa เวิร์กช็อปวาดภาพพื้นบ้านเกาหลียุคโชซอน สอนโดยคนเกาหลีแท้ ๆ

ดังนั้น ห้องวีไอพีของร้านเลยกลายเป็นคลาสศิลปะ – ใช่ค่ะ วาดกันหน้าเตาไปเลย และปัจจุบันจูยองก็เปิดเวิร์กช็อปกลุ่มเล็ก ๆ ภายในห้องประชุมของคอนโดมิเนียมที่เธอพักอาศัยเพิ่มด้วย

“ตอนเริ่มต้น ฉันเรียนการวาดมินฮวาจากอาจารย์ Lee Ji-hyeon ที่มหาวิทยาลัยฮงอิกในเกาหลี และตอนนี้ฉันกำลังเรียนออนไลน์ที่โรงเรียนเกาหลีมินฮวาด้วยค่ะ สำหรับฉัน มินฮวาน่าสนใจตรงที่ แม้เป็นภาพเดียวกัน แต่วาดออกมาแล้วไม่เหมือนกัน เพราะขึ้นอยู่กับผู้วาดค่ะ อย่างภาพที่ฉันชอบมาก ๆ คือ ภาพวาดของ Chaekgado (Chaekgeori) และ Chochungdo อยู่ที่ Shin Saimdang ค่ะ 

“ตอนนี้ฉันเรียนรู้ถึงความงามของการวาดภาพและสนุกไปกับการวาดภาพสิ่งของต่าง ๆ” 

Bangkok Minhwa เวิร์กช็อปวาดภาพพื้นบ้านเกาหลียุคโชซอน สอนโดยคนเกาหลีแท้ ๆ
Bangkok Minhwa เวิร์กช็อปวาดภาพพื้นบ้านเกาหลียุคโชซอน สอนโดยคนเกาหลีแท้ ๆ

จูยองยังตั้งใจถ่ายทอดวัฒนธรรมผ่านภาพเขียน หลังจากมาอยู่ประเทศไทย เธอรู้ว่าคนไทยนั้นคุ้นชินกับอาหาร เพลง และละครของเกาหลีอยู่แล้ว เธอจึงอยากเผยแพร่อีกหนึ่งสิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยยังไม่รู้จัก และเราคิดว่าจูยองก็ทำสำเร็จไปอีกขั้นแล้ว เพราะนักเรียนที่สมัครเวิร์กช็อปมีมากมายหลายชาติ ทั้งอาร์เจนตินา เวเนซุเอลา หรือแม้แต่คนเกาหลีก็สนใจเข้าคลาสศิลปะนี้

ไม่ใช่แค่ผู้เข้าร่วมที่ได้เรียนรู้ระหว่างการเวิร์กช็อป จูยองก็ได้รับบางอย่างมาเช่นกัน เธอค้นพบว่าวิธีการวาดภาพระบายสีของคนเกาหลีและคนไทยแตกต่างกัน โดยคนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ในเชิงศิลปะที่เป็นตัวของตัวเองมากกว่า เธอเล่าพร้อมกับเปิดรูปภาพประกอบ ต้องขอบอกเลยว่าโทรศัพท์เธอมีรูปภาพมินฮวาเยอะมาก สมกับการเป็นแฟนตัวยงภาพเขียนชนิดนี้เลยก็ว่าได้

เข้าเวิร์กช็อป Minhwa ศิลปะพื้นบ้านเกาหลีที่เปรียบเสมือนของขวัญและคำอวยพร สอนโดยคนเกาหลีแท้ สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโชซอน

Masterpiece

หลังจากพูดคุยกันมาสักพัก จูยองเฉลยว่าอุปกรณ์วาดภาพที่นำมาเปิดสอนส่งตรงมาจากแดนโสมขาว ประกอบด้วยกระดาษดั้งเดิมของเกาหลีหรือว่า ‘ฮันจิ’ (Hanji) ผลิตขึ้นจากต้นหม่อน มีน้ำมันที่ใช้เคลือบกระดาษโดยเฉพาะ ทำจากกระดูกหรือหนังสัตว์ (Agyo) มีผงขาวที่ใช้ผสมสี (Hoban) แท่งสีและสีฝุ่น รวมไปถึงพู่กันเล็กและใหญ่ เหตุที่ต้องนำเข้าอุปกรณ์พวกนี้ก็เพราะว่ายังไม่มีจำหน่ายในไทย

เข้าเวิร์กช็อป Minhwa ศิลปะพื้นบ้านเกาหลีที่เปรียบเสมือนของขวัญและคำอวยพร สอนโดยคนเกาหลีแท้ สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโชซอน
เข้าเวิร์กช็อป Minhwa ศิลปะพื้นบ้านเกาหลีที่เปรียบเสมือนของขวัญและคำอวยพร สอนโดยคนเกาหลีแท้ สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโชซอน

ไม่รอช้า จูยองอธิบายถึงการสอน ซึ่งเธอเชื่อมั่นว่าใคร ๆ ก็ทำได้ ง่ายนิดเดียว โดยเริ่มจากการร่างโครงภาพบนกระดาษจากรูปที่เธอมีอยู่ หรือที่เราคุ้นชินกับคำว่า ‘ลอกลาย’ นั่นแหละ ต่อมาก็นำน้ำมันกระดูกสัตว์ที่หน้าตาคล้ายเจลาตินมาทาทับ เพื่อป้องกันสีฟุ้งและไหลไร้ทิศทาง แถมยังทำให้ภาพเก็บไว้ได้นานด้วย หลังจากนั้นจึงเริ่มการผสมสี สีที่จูยองมีคือสีแบบแท่ง (Bongchae) และสีฝุ่น (Bunchae) หลังจากทำการผสม ก็ได้เวลาละเลงฝีมือลงบนผลงาน โดยเทคนิคพิเศษที่จูยองกระซิบบอก คือการไล่สีหรือภาษาเกาหลีเรียกว่า ‘Barim’ ซึ่งเทคนิคนี้จะทำให้ภาพมินฮวาดูสมจริงมากยิ่งขึ้น

เข้าเวิร์กช็อป Minhwa ศิลปะพื้นบ้านเกาหลีที่เปรียบเสมือนของขวัญและคำอวยพร สอนโดยคนเกาหลีแท้ สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโชซอน
เข้าเวิร์กช็อป Minhwa ศิลปะพื้นบ้านเกาหลีที่เปรียบเสมือนของขวัญและคำอวยพร สอนโดยคนเกาหลีแท้ สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโชซอน

“ฉันเชื่อว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณวาดภาพมินฮวา คุณจะหลงรักมันและไม่อาจหยุดวาดได้ มีแต่อยากวาดต่อไปเรื่อย ๆ ค่ะ (ยิ้ม) ขณะวาดมินฮวา ฉันต้องโฟกัสที่ภาพ นั่นทำให้ฉันได้ขจัดความคิดที่ไม่จำเป็นออกไป เหมือนกับการทำสมาธิ (Meditation) เพราะแต่ละขั้นตอนดำเนินไปอย่างช้า ๆ 

“ทุกวันนี้ หากคุณมีชีวิตที่เร่งรีบ มินฮวาจะทำให้คุณหลีกหนีจากความวุ่นวายเหล่านั้นได้ และฉันหวังว่าการมาเรียนวาดภาพมินฮวา จะทำให้คุณรู้สึกสบายใจและมีช่วงเวลาดี ๆ ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงสาวชาวเกาหลี เขาบอกฉันว่าเขารู้สึกได้รับการปลอบโยนจากการวาดมินฮวา ความเหงาในต่างแดนก็ลดลงด้วยค่ะ และหวังว่าคนไทยจะรู้จักวัฒนธรรมเกาหลีมากขึ้นผ่านมินฮวานะคะ”

ก่อนบอกลาและพบกันใหม่ จูยองในวัย 50 บอกเป้าหมายที่เธอตั้งใจจะไปให้ถึง คือการจัดนิทรรศการภาพเขียนมินฮวาในกรุงเทพฯ เราหวังและเฝ้ารอ ขอให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับบุคคลที่เห็นคุณค่าในศิลปวัฒนธรรมเช่นเธอ 

เข้าเวิร์กช็อป Minhwa ศิลปะพื้นบ้านเกาหลีที่เปรียบเสมือนของขวัญและคำอวยพร สอนโดยคนเกาหลีแท้ สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโชซอน
เข้าเวิร์กช็อป Minhwa ศิลปะพื้นบ้านเกาหลีที่เปรียบเสมือนของขวัญและคำอวยพร สอนโดยคนเกาหลีแท้ สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโชซอน

สนใจเวิร์กช็อปมินฮวากับจูยอง ติดต่อ Instagram : bangkokminhwa

Writer

มานิตา สุนทรพจน์

มานิตา สุนทรพจน์

เด็กสาวชาวอุทัย ผู้นมัสการให้แด่สายผลิตงานสร้างสรรค์ และผู้ฝากความสุขอนันต์ไว้บนพุงแมวและชาเขียว

Photographer

Avatar

วรุตม์ ไฉไลพันธุ์

เมื่อก่อนเป็นช่างภาพหนังสือเดินทาง ปัจจุบันเป็นช่างภาพกักตัวครับ