ลองจินตนาการดูไหมว่า หากในเมืองมีพื้นที่ให้คนทุกช่วงวัย เข้าไป ‘ใช้งาน’ ได้อย่าง ‘เท่าเทียม’ รองรับความต้องการที่หลากหลาย ทั้งพักผ่อนหย่อนใจ หาความรู้ พบปะ เป็นพื้นที่บริการทุกอย่างของเมือง ตลอดจนอาคารราชการ หน้าตาควรจะเป็นแบบไหน แล้วเราจะเรียกพื้นที่นั้นว่าอะไร

พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ทางวัฒนธรรม และพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ของพลเมือง หรือ Civic Center ตามที่หลายประเทศให้คำนิยาม เป็นรูปแบบพื้นที่สาธารณะสำหรับคนทุกกลุ่ม ทุกวัย ซึ่งไม่ต้องแปลกใจไปว่าคำไม่คุ้นหูนี้ ทำไมนึกเท่าไหร่ ก็นึกไม่ออกว่าเคยมีอยู่บ้างไหม แต่ถ้าให้ยกตัวอย่างเร็ว ๆ เพื่อเห็นภาพ ต้องย้อนไปหลายสิบปีที่เราอาจเรียก ‘สนามหลวง’ ก่อนถูกล้อมรั้วว่าเป็น Civic Center จากการเปิดให้ ‘ทุกคน’ เข้าไปใช้งานพื้นที่ได้อย่างอิสระ

จากที่ว่ามา อธิบายอย่างวิชาการอีกนิดว่า เครือข่ายพื้นที่หรืออาคาร Civic Center เป็นพื้นที่สาธารณะที่แสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของเมืองเพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของเมือง เช่น งานแสดงสินค้า การชุมนุม เทศกาล ตลาด และขบวนพาเหรด สำหรับพลเมืองไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่อาศัย คนงาน นักท่องเที่ยว ผู้เยี่ยมเยือน ผู้เกษียณอายุ ผู้ว่างงาน และคนเร่ร่อน (San Francisco Planning Department, n.d.)

อีกนัยหนึ่ง Civic Center ก็ควรมีการออกแบบหรือปรับปรุงเพื่อรองรับความต้องการเฉพาะของชุมชนหรือพื้นที่ ดังนั้น การวางผังและออกแบบสถาปัตยกรรมจึงขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และลักษณะโดยรวมของพื้นที่นั้น ๆ (HMC Architects,n.d.)

มาวันนี้ ภาพที่ไม่ชัดในจินตนาการกำลังจะมีตัวอย่างให้เห็น เพราะเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ร่วมกับสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) ส่งเสริมสถาปนิกและนักออกแบบรุ่นใหม่ จัดโครงการประกวด ‘Uniquely Thai’ เพื่อเฟ้นหาสุดยอดไอเดียการออกแบบ Civic Center พื้นที่สาธารณะแห่งการมีส่วนร่วมในศตวรรษที่ 21 ของกรุงเทพมหานครขึ้น โดยเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ส่งผลงาน Civic Center ที่พวกเขาเชื่อและตั้งใจอยากเห็นมันเกิดขึ้นจริงเข้ามา ภายใต้โจทย์ว่าเป็นพื้นที่ที่สะท้อนเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจในการเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ของไทย เป็นพื้นที่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชากรเมือง โดยคำนึงถึงแนวคิดความยืดหยุ่น (Resilient Concept) ให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ที่สำคัญ ต้องเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมให้เกิดความใส่ใจกับศิลปะแห่งการใช้ชีวิตของประชากรเมือง โดยไม่ลืมสะท้อนความเป็นไทย ผ่านแนวคิดหรือสถาปัตยกรรมจากการตีความคำว่าเอกลักษณ์ไทย (Thai Iconic)

หลังฝ่าฟันสมรภูมิความคิดสร้างสรรค์จากผู้เข้าประกวดเกือบ 500 ทีม และตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ได้นำความรู้จาก Lecture Series ไปต่อยอดอย่างเข้มข้น เราก็ได้เห็น 2 Civic Center คอนเซ็ปต์สุดเจ๋งจากผู้ชนะ ที่คณะกรรมการลงคะแนนเป็นเสียงเดียวกันว่าเหนือความคาดหมาย

ทีมหนึ่งชูแนวคิดหลักเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ และอีกทีมนำ ‘Metaverse’ เข้ามาผสานกับพื้นที่สาธารณะแห่งอนาคต ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนบนความยั่งยืน

 และนี่คงเป็นเมืองในมือคนรุ่นใหม่ที่น่าสนับสนุน

ตีโจทย์หลายมิติ

จุดเริ่มต้นของโครงการประกวด ‘Uniquely Thai’ Envisioning the 21st Century Bangkok’s Civic Center Architectural Design Competition 2021 มาจากหัวใจหลักในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ MQDC ผู้มุ่งมั่นสร้างความสุขอย่างยั่งยืนให้กับทุกสิ่งบนโลก ตามแนวคิด ‘For All Well-Being’

“เราพัฒนาโครงการที่เน้นคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ที่อาศัยในโครงการเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเพื่อนบ้าน ชุมชนโดยรอบ และทุกคนในสังคมอีกด้วย”

นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวถึงที่มาที่ไป ก่อนอธิบายต่อว่า MQDC ยังสนับสนุนงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยจัดตั้งศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยแห่งแรกของภูมิภาคเอเชีย มุ่งเน้นด้านการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของสรรพสิ่งบนโลก รวมถึงจัดตั้งศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ทำการศึกษา วิเคราะห์ และรวบรวมข้อมูลที่สำคัญต่ออนาคต สำหรับสร้างอนาคตที่ดีให้กับมนุษยชาติ โดยองค์ความรู้จากงานวิจัยของทั้งสองหน่วยงาน นอกจากนำมาพัฒนาโครงการของ MQDC แล้ว ยังเผยแพร่ให้กับทุกคน ทุกองค์กรที่สนใจด้านความยั่งยืน เพื่อนำไปพัฒนาและออกแบบโครงการที่อยู่อาศัย สถาปัตยกรรม เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีในอนาคต

“สำหรับการจัดประกวดแบบในครั้งนี้ ก็เป็นอีกโครงการที่ MQDC สนับสนุน เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้นำเสนอมุมมองและไอเดียการดีไซน์พื้นที่สาธารณะ เพื่อประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย และยังได้ร่วมฟังบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ทั้งชาวไทยและต่างชาติเพื่อจุดประกายไอเดีย รวมถึงวางรากฐานให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้นำไปต่อยอดพัฒนาแนวคิดในการออกแบบให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในสังคมที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ และต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตลอดจนสิ่งมีชีวิตโดยรอบ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพื่อให้การออกแบบเกิดประโยชน์สูงสุด และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในสัมคมอย่างยั่งยืน”

ด้วยเหตุผลนี้ ในการออกแบบ ทุกทีมจึงต้องเก็บข้อกำหนดด้านพื้นที่ (Site Conditions) เช่น อยู่ใจกลางเมืองติดกับย่านธุรกิจ ชุมชน พื้นที่สาธารณะ ติดถนน ในพื้นที่ขนาด 150 x 150 เมตร และกำหนดให้มี 1 อาคารเท่านั้น รวมถึงต้องครอบคลุมความต้องการด้านการใช้งานพื้นที่ทั้ง 5 รูปแบบ ซึ่งเพิ่มลดได้ตามความเหมาะสม ไปเป็นโจทย์หลักในการออกแบบ อาทิ

01 พื้นที่วัฒนธรรมและของพลเมือง (Cultural & People Space) เช่น พิพิธภัณฑ์แกลเลอรี่พื้นที่จัดแสดง (Performance Space) พื้นที่นันทนาการ ห้องสมุดสาธารณะ พื้นที่กิจกรรมสำหรับเยาวชน เป็นต้น

02 พื้นที่สาธารณะ (Public Space) ทั้งในอาคารและกลางแจ้ง

03 พื้นที่เชิงพาณิชย์ (Commercial) เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ศูนย์จัดแสดงนิทรรศการ

04 พื้นที่ให้บริการของราชการ (Government Services)

05 พื้นที่บริการ (Service) เช่น ที่จอดรถ

ไทยแบบรูปธรรมและนามธรรม

สำหรับผลงานของ ไนซ์-มนัสนันท์ เดชะสุวรรณ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ชนะเลิศในประเภทนิสิตนักศึกษา เธอหยิบความเหลื่อมล้ำจากบริบทรอบ ๆ พื้นที่มาเป็นคอนเซ็ปต์หลัก

เบื้องหลังการประกวดแบบ Civic Center พื้นที่สาธารณะที่ประเทศยังไม่เคยมีมาก่อน

“การแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างตรงจุดที่สุดก็คือการพัฒนาคน มันเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่าการพัฒนาแค่ตัวสถาปัตยกรรมอย่างเดียว

“ความเหลื่อมล้ำมันมีทั้งด้านของคน ด้านการศึกษา เงิน อาชีพ คนทุกคนไม่เท่ากันอยู่แล้ว และเกิดมาในสังคมที่เราเลือกไม่ได้ หลาย ๆ อย่างก็ไม่ได้สนับสนุนเราเท่าไหร่ ปัญหาเรื่องของผังเมือง พื้นที่สาธารณะ ฟุตปาธ อะไรต่าง ๆ มันเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ถ้าเรายังจัดผังเมืองไม่เป็นระบบ ทุกอย่างมันก็ไปต่อได้ไม่ดี เราสร้างถนนเสียเยอะ เพื่อรองรับรถจำนวนมาก แต่เราไม่ได้สร้างทางเดินให้กับคนเพื่อที่กระจายหรือหมุนเวียนไปยังชุมชนอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในวงกว้าง ซึ่งเราก็เห็นประเด็นปัญหาพวกนี้แล้วมาตีความดูว่า จะพัฒนาเข้ามาในงานได้อย่างไร

“เราต้องการพัฒนาคนใน 5 ด้าน ด้านสังคมและวัฒนธรรม ด้านความคิดและความรู้ ด้านสุขภาวะ ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ และด้านปฏิสัมพันธ์ เลยลองเอาเข้ามาเป็นเส้นทางการเดินทางเรียนรู้ภายในอาคาร แล้วก็แปลงออกมาเป็นพื้นที่รอบ ๆ”

พื้นที่ที่ว่าแปรออกมาเป็น Cultural Loop เส้นทางพัฒนาต่อยอดและสืบสานวัฒนธรรมไทย ปรับเปลี่ยนรองรับกับกิจกรรมใหม่ ๆ ในอนาคตได้ Commercial Loop เส้นทางพัฒนาทางด้านอาชีพ สร้างเสริมธุรกิจ Art and Craft สำหรับคนในชุมชนเพื่อต่อยอดสร้างเสริมอาชีพพัฒนาระบบเศรษฐกิจ Education Loop เส้นทางการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนเพื่อสร้างโอกาสทางด้านความคิดและความรู้ที่ทันยุคสมัย Recreation Loop เส้นทางการพักผ่อนของคนเมือง เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดี

ในด้านรูปลักษณ์ อาคารสีขาว 3 ชั้น โดดเด่นด้วยเส้นสายความโค้งปลายสะบัด ดึงความเป็นไทยจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและจังหวะของแสงที่ปรากฏ ซึ่งเธอนำเรื่องของรูปธรรมที่คนเห็นแล้วรู้เลยว่าไทยและเรื่องของนามธรรมหรือสิ่งที่แฝงอยู่ มาเล่าในตัวอาอาคารอย่างกลมกลืน

เบื้องหลังการประกวดแบบ Civic Center พื้นที่สาธารณะที่ประเทศยังไม่เคยมีมาก่อน

“ในแง่ของความเป็นไทยที่ใส่เข้าไป ปรับมาจากตัว Sequence of Lighting ในสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น อย่างแสงธรรมชาติแล้วเอามาปรับ เช่น เข้าไปในตัวอาคารจะเป็นแสงนุ่ม มีระดับความสว่าง ใช้ขอบของอาคาร ความโค้งของตัวผนัง แสงของร่องของไม้จากพื้นใต้ถุน สร้างเอฟเฟกต์ของแสง” เจ้าของรางวัลอธิบาย ก่อนเล่าเพิ่มว่าความเป็นไทยนี่แหละ คือสิ่งที่ยากที่สุดในโปรเจกต์นี้

“เราพยายามลองหาความหมายอะไรบางอย่าง ลองตีความ ลองไม่สื่อสารในรูปแบบเดิม แล้วดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง เราจะแปลงยังไงจากไลฟ์สไตล์หรือคาแรกเตอร์ของคนไทย ซึ่งมีความละเมียดละไม ความอ่อนช้อย เรามองว่าพื้นที่สาธารณะควรเป็นพื้นที่ที่ทุกคนเข้าไปใช้งานแบบไม่เคอะเขิน คุ้นชินกับมัน เลยพยายามดึงความเป็นไทยที่ไม่ใช่ในแง่รูปลักษณ์อย่างเดียว ใส่ความเป็น Sense of Place เข้าไป ให้เหมือนเป็นบ้านพื้นถิ่น ชาน พื้นที่ก่อนเข้าตัวอาคาร พื้นที่ในอาคารให้เหมาะกับกิจกรรม”

เบื้องหลังการประกวดแบบ Civic Center พื้นที่สาธารณะที่ประเทศยังไม่เคยมีมาก่อน
เบื้องหลังการประกวดแบบ Civic Center พื้นที่สาธารณะที่ประเทศยังไม่เคยมีมาก่อน

ไทยในอดีตและอนาคต

ผลงานของทีม Cosmic I Civic Center โดย ฑิม-ฑิมพิกา เวชปัญญา และ ขิง-สิปปวิชญ์ รู้อยู่ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทบุคคลทั่วไป พาเราย้อนสู่ความเป็นไทยผ่านการตีความอย่างมีชั้นเชิง

‘Public Space ในสมัยก่อนคือ วัด’

‘เขามอ เป็นสวนแบบไทย ๆ’

‘นำแนวคิดแบบภูมิจักรวาลสมัยก่อนมาผนวกกับ Metaverse ในปัจจุบัน’

และ ‘จากภูมิจักรวาล Cosmic Center สู่คำว่า Civic Center จากสุขาวดี สู่พื้นที่สามัญชน’

จากคอนเซ็ปต์ไอเดียความเป็นไทย 4 บรรทัดด้านบน คุณเดาได้ไม่ยากว่าจะเห็นหรือเกิดความสนุกอะไรในงานของพวกเขา แต่กว่าจะขมวดออกมาเป็นความคิดที่กลมกล่อม ทั้งคู่เริ่มจาก Vision ที่อยากพัฒนากรุงเทพฯ ในวันนี้ให้มีผลไปยังอนาคตข้างหน้า คิดเผื่อสิ่งที่คนต้องการเพื่อพัฒนาคนก่อน นำไปสู่การพัฒนาเมืองโดยมี 4 มิติเป็นแกนหลัก ครอบคลุมถึงวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี

เมื่อกะเทาะ Vision ได้แล้ว กระบวนการถัดไปคือวางคอนเซ็ปต์ให้เข้ากัน

“เรามองว่าพื้นที่สาธารณะจากเมื่อก่อนคือวัด และมองเข้าไปอีกว่า องค์ประกอบของวัดมีอะไร แล้วก็ไปเจอเขามอ แลนด์สเคปแบบไทย ๆ จากนั้นก็ดูเขามอให้ลึกขึ้นว่ามาจากแนวคิดภูมิจักรวาล ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับการสร้างเมือง พระนารายณ์อวตารลงมา ก็เลยจับเทคโนโลยี Metaverse มาใส่ อย่างในพงศาวดาร พระนารายณ์ลงมาปกครองมนุษย์ พอตายก็กลับขึ้นไป เรามองว่าไม่ใช่แค่เทพลงมาปกครองมนุษย์ แต่มนุษย์อวตารไปอยู่ในสรวงสรรค์หรือว่าภูมิจักรวาลนี้ได้เหมือนกัน”

ฑิมเริ่มต้นเล่าถึงการตกตะกอนที่ใช้เวลานานกว่าจะทำให้ Metaverse สัมพันธ์กับภูมิจักรวาลได้ โดยมีอีกหนึ่งสิ่งที่ทั้งสองเห็นตรงกันคือ จินตนาการของมนุษย์ที่จะขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้า

เบื้องหลังการประกวดแบบ Civic Center พื้นที่สาธารณะที่ประเทศยังไม่เคยมีมาก่อน

“ตอนแรกเราคิดมาจากอีก Vision หลักของเรา คือ Limitless คือการเติบโตไปไม่มีขีดจำกัด เรื่องสุดท้าย เรามองว่ามันจะต้องเติบโตอย่างมั่นคง มีรากฐานยั่งยืน จึงมองไปเรื่องของสิ่งแวดล้อม การจัดการกับน้ำ เลยให้ตรงนี้เป็นพื้นที่รับน้ำของเมืองเพื่อลดผลกระทบจาก Climate Change เวลาน้ำท่วมถนนก็จะลงมาที่เราได้ เป็นที่หน่วงน้ำแล้วค่อยปล่อยออกไปสู่ พื้นที่สีเขียวข้าง ๆ บนตัวอาคารมีเสากักเก็บน้ำไว้ใช้รดน้ำต้นไม้ในพื้นที่ เราคิดว่าวิธีการนี้ช่วยชะลอน้ำ สิ่งที่ทุกคนเรียกว่าปัญหาจะทำให้อาคารนี้มีประสิทธิภาพต่อการใช้งานของเมืองมากขึ้น”

เบื้องหลังการประกวดแบบ Civic Center พื้นที่สาธารณะที่ประเทศยังไม่เคยมีมาก่อน

นอกจากคอนเซ็ปต์การจัดการน้ำที่ออกแบบภูมิทัศน์โดยรอบอย่างยอมให้น้ำท่วมได้ และปรับเรือนเสาสูงที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยอยู่ร่วมกับน้ำตั้งแต่อดีต หนึ่งในกิมมิกการถอดความเป็นไทยสู่ตัวอาคาร เช่นเดียวกับการยกสูงทำให้เกิดการใช้พื้นที่ใต้อาคาร ซึ่งมีอีกหนึ่งข้อดีคือได้เรื่องการไหลเวียนอากาศแล้ว ขิงอธิบายต่อถึงมุมมองเรื่องเทคโนโลยีในโลกใหม่

“เราพยายามทำให้ภาพรวมอาคารตอบกับวิสัยทัศน์ที่เราสร้างขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีผลักดันตัวอาคารให้พาคนไทยไปข้างหน้า ส่วนด้านวัฒนธรรม ทุกคนไม่ใช่แค่คนไทยเข้ามาใช้งานก็แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันได้ เพราะเราสื่อสารว่ามันไร้พรมแดน รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจ เรามองว่าอยากประเทศเติบโตไปพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้มีแค่คนบางกลุ่มที่สนใจ Metaverse แต่ถ้าเราทำให้ทุกคน พ่อค้าแม่ขายใช้งานมันได้ ไม่ต้องถึงขนาดไปเทรดหุ้นหรือใด ๆ แต่ถ้าแค่เข้าถึงพื้นที่มาเรียนรู้ ก็จะพาเขาเติบโตพร้อมไปกับฐานของประเทศได้

“แน่นอนว่าเรื่องเทคโนโลยี Metaverse ไม่ใช่จุดสุดท้ายของโลกใบนี้ มันคือจุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง เรามองว่ามันเป็นการก้าวกระโดดที่น่าสนใจมาก ๆ ที่จะทำให้คนหันมาสนใจเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น”

เบื้องหลังการประกวดแบบ Civic Center พื้นที่สาธารณะที่ประเทศยังไม่เคยมีมาก่อน

นอกจากนี้ ตัวอาคารขนาด 6 ชั้น ยังตีความมาจากดินแดนบนสรวงสวรรค์ พวกเขานำกิมมิกเหล่านั้นมาสอดแทรกไว้ ตั้งแต่ชั้น Ground ที่เป็นป่าหิมพานต์ ต่อด้วยเส้นทางสู่สวรรค์ เป็นพื้นที่ใช้งานต่าง ๆ เช่น Co-working Space พื้นที่จัดนิทรรศการ มีหอประชุม และ Metaverse Service ซึ่งจะเปิดตลอด 24 ชั่วโมง

“เราอยากให้พื้นที่เปิดโอกาสให้คนได้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ให้เห็นโอกาสจากคนรอบ ๆ ที่เขาได้เข้าไปเจอ ไปสัมผัส มันไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเดิม” ทั้งคู่ย้ำ

เบื้องหลังการประกวดแบบ Civic Center พื้นที่สาธารณะที่ประเทศยังไม่เคยมีมาก่อน
กะเทาะเบื้องหลัง ‘Uniquely Thai’ การประกวดแบบ Civic Center ที่ทำให้เห็นว่าคนเมืองรุ่นใหม่ต้องการพื้นที่สาธารณะแบบไหน

ไทยในมือคนรุ่นใหม่

หลังได้ฟังทั้งสองทีมเล่าเบื้องหลังและแนวคิดที่มีต่อ Civic Center และการพัฒนาเมืองที่พวกเขาอยากเห็นในอนาคตแล้วก็ใจชื้น และอยากให้มีพื้นที่คอยสนับสนุนความตั้งใจนี้ให้มากขึ้น เช่นเดียวกับเหล่ากรรมการที่ให้ความเห็นตรงกันว่า ผลงานผู้ชนะเหนือความคาดหมายไปไกล 

“เป้าหมายของสถานที่มีความเป็นสากลมาก แต่เรื่องหยิบมาจากความดั้งเดิมที่เรามี”

ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี ประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) กล่าวถึงความโดดเด่นของทั้งสองทีม ก่อนอธิบายต่อว่าคนในเจเนอเรชันนี้มีมุมมองและตีความความเป็นไทยจากบริบท

กะเทาะเบื้องหลัง ‘Uniquely Thai’ การประกวดแบบ Civic Center ที่ทำให้เห็นว่าคนเมืองรุ่นใหม่ต้องการพื้นที่สาธารณะแบบไหน

“เขามองว่าเราจะอยู่กับน้ำได้อย่างไร นี่คือบริบทที่เขามองว่าไทย ส่วนตัวตึกก็ Programming ที่ร่วมสมัย ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องดิจิทัล แต่ดึงความเป็นไทยจากรากเดิมมาต่อยอดในอนาคตได้อีก

“สิ่งที่ต่างไปเลยคือ เราเคยมองว่าเขาโตมากับดิจิทัล สงสัยจะได้เห็นอาคารทันสมัยล้ำ ๆ แล้วก็ยุคของกลุ่มที่สนใจในตัวเอง คงสนใจแต่เรื่องของตัวเองว่าจะมาทำอะไร ทั้งสองอย่างแค่นี้ก็กลับกันหมดแล้ว คือ หนึ่ง พื้นที่ที่เขาทำเกือบทุกโครงการมีแลนด์สเคป มี Outdoor Space มีการใช้อากาศจากธรรมชาติ แสงธรรมชาติ มีพื้นที่สีเขียว อีกเรื่อง เขาพูดถึงความเหลื่อมล้ำของคนอื่น ไม่ใช่คนกลุ่มเขา พูดเรื่องสิ่งแวดล้อม การจัดการน้ำในเมือง การประหยัดพลังงาน การรีไซเคิล เพราะฉะนั้น มันทำให้งานประกวดครั้งนี้สะท้อนอนาคตว่า เรามีความหวังกับเยาวชนเสมอ เขาสามารถสร้างเมืองที่ดีได้ ขอแค่เขามีโอกาสและคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจเอาอันนี้ไปทบทวนในการพัฒนาเมือง”

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ในฐานะคณะกรรมการตัดสินการประกวด ผู้มองว่าถ้าจะทำ Civic Center ที่ดีและนำเสนอความเป็นไทยได้ ต้องคำถึงคีย์หลักคือ ต้องเป็นพื้นที่สำหรับทุกเพศ ทุกวัย สำหรับทุกคนในสังคม เป็นบริการให้กับเมือง ที่สำคัญ ถ้ามา Civic Center ของเมืองไหนก็ตาม ต้องเข้าใจถึงแก่นและวิถีชีวิตของเมืองนั้น ซึ่งเมื่อมีทีมที่เสนอคอนเซ็ปต์ Metaverse เข้ามา ทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่มองอนาคตของตัวเองอีกรูปแบบหนึ่ง

กะเทาะเบื้องหลัง ‘Uniquely Thai’ การประกวดแบบ Civic Center ที่ทำให้เห็นว่าคนเมืองรุ่นใหม่ต้องการพื้นที่สาธารณะแบบไหน

“นี่แหละคือตัวแทนของเจนฯ​ ใหม่ น่าสนใจมาก ทำให้กรรมการทุกคนหันไปมองว่า เฮ้ย ตกลง Civic Center มันไม่ใช่เฉพาะโลกจริงแล้วเหรอ และเขาก็มองว่านี่เป็นที่รองรับเมืองในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นระเบิด น้ำท่วม พอนึกถึงว่าถ้าจะให้ปลอดภัยต้องมาที่ Civic Center ซึ่งผมคิดว่าอันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่ามันมีบทบาทของมัน ส่วนที่สังเกตได้อย่างชัดเจนที่สุดคือแบบ Civic Center ของทุกคน ไม่มีรั้วเลย ฉะนั้น Civic Center ของพวกเขาคือ พื้นที่เปิดสำหรับสาธารณะสำหรับทุกคนจริง ๆ

“ผมคิดว่าการประกวดนี้เปิดหลายประเด็นให้ตั้งคำถามใหม่ ๆ แน่นอนที่สุดนะ คือตั้งคำถามให้กับกรรมการ แล้วก็ตั้งคำถามสำหรับตัวเขาเอง”

รศ.ดร.พีรดร แก้วลาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองและนักวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมและการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสริมถึงเรื่องความเป็นไทยของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ใช่เรื่องของรูปแบบ หน้าตา แต่เป็นเรื่องของประสบการณ์และการตั้งคำถาม ตลอดจนมองเห็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการพัฒนาเมืองในมือคนรุ่นใหม่ว่า

“เราจะได้เห็นการออกแบบพื้นที่ไทยแบบใหม่ ๆ จากคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ใช่การถ่ายทอดแบบตรงไปตรงมา แต่เกิดจาการรับรู้ความเป็นไทยของคนรุ่นใหม่ ซึ่งผมคิดว่ามันไปเป็นมิติที่ลึกกว่า

“อีกอย่างมันทำให้เราเห็นว่า โลกที่เขาอยากอยู่หน้าตาเป็นอย่างไร ทำให้เราตั้งคำถามกับเจเนอเรชันตัวเองหรือก่อนหน้าว่า สมัยก่อนเราอยากอยู่ในพื้นที่แบบไหน แล้วพอเรากลับมามองสิ่งรอบตัวหรือว่าสิ่งที่เราทำอยู่ มันอาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป คนรุ่นนี้เขาเข้าใจว่าอะไรคือพื้นที่สำหรับเขาในอนาคต อันนี้เป็นคำตอบที่ผมคิดว่าค่อนข้างสำคัญ มองอีกมุมการประกวดครั้งนี้เป็นการส่งข้อความจากคนกลุ่มใหญ่พอสมควร จำนวนคนหลายร้อยคนว่า เขาต้องการจะอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ แล้วบอกด้วยว่าถ้าเขามีโอกาสออกแบบพื้นที่จะเป็นแบบไหน ซึ่งเราอยากได้ยินบ่อยขึ้น”

กะเทาะเบื้องหลัง ‘Uniquely Thai’ การประกวดแบบ Civic Center ที่ทำให้เห็นว่าคนเมืองรุ่นใหม่ต้องการพื้นที่สาธารณะแบบไหน

อนาคตของการพัฒนาเมือง

การได้เห็นแบบที่ส่งเข้ามาอย่างล้นหลามทั้งจากระดับนิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไป ทำให้เหล่าคณะกรรมการเห็นมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อรูปแบบพื้นที่ที่พวกเขาต้องการ และท้ายที่สุด การมี Civic Center นั้นจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคนและพัฒนาขับเคลื่อนเมืองในหลายมิติ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากคนหลาย ๆ ภาคส่วนทั้งรัฐบาล เอกชน และเราทุกคนในฐานะพลเมือง

ภารุต เพ็ญพายัพ ผู้เชี่ยวชาญด้านสร้างสรรค์โครงการอาวุโส Creative Lab อธิบายเสริมว่า ในการประกวดครั้งนี้ทำให้เห็นทิศทางรูปแบบในการออกแบบ Civic Center มันจะไม่ตายตัว ปรับตัวตามบริบทของพื้นที่นั้น และมาตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คน

กะเทาะเบื้องหลัง ‘Uniquely Thai’ การประกวดแบบ Civic Center ที่ทำให้เห็นว่าคนเมืองรุ่นใหม่ต้องการพื้นที่สาธารณะแบบไหน

“ผมคิดว่าการออกแบบ Civic Center ที่ดีของอนาคต ควรแก้ปัญหาของคนยุคใหม่ หาวิธีให้กับการใช้ชีวิตด้านเศรษฐกิจของคนยุคใหม่ให้ได้ เพราะการพัฒนาเมืองที่จะประสบความสำเร็จหรือยั่งยืนจริง ๆ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนในเมืองนั้นด้วยเหมือนกัน ค่อย ๆ ตีโจทย์ มองหาโซลูชันสำหรับการพัฒนาเมืองยุคใหม่”

การที่เมืองมีพื้นที่สำหรับทุกคน เป็นการสนับสนุนว่าเมืองเริ่มเห็นแล้วว่าคนสำคัญที่สุด รศ.ดร.พีรดร แก้วลาย ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า เมืองที่ดีต้องเป็นเมืองที่เก็บคนไว้ได้ ถ้าเมืองที่มีแต่คนย้ายออก สุดท้ายเมืองนั้นก็จะเป็นเมืองที่ไม่ประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง ดังนั้น โจทย์ของทุกเมือง ต้องทำพื้นที่ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามีพื้นที่ของเขา และดีจนทำให้เขาอยากอยู่ ซึ่ง Civic Center จะให้คำตอบเรื่องนี้ได้

“วัตถุประสงค์ของเมืองคือเป็นที่ที่คนมาอยู่ร่วมกัน มีการพบปะ แลกเปลี่ยน ทำมาหากิน เศรษฐกิจจึงจะดี เวลาที่เศรษฐกิจดี แสดงว่ามีคนเก่ง ๆ อยู่เยอะ มีคนทำมาหากิน เมืองได้รายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมคือภาษี ถ้าคิดจะออกแบบ ผมคิดว่ามันคงไม่ใช่แค่เปิดพื้นที่เฉย ๆ หรือทำลานโล่ง ๆ ปัจจุบันการออกแบบพื้นที่สาธารณะหรือกึ่งสาธารณะ จำเป็นต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย กระบวนการที่เรียกว่า Co-creation ทำให้คนทุกกลุ่มมีโอกาสแสดงความคิดเห็นว่าเขาต้องการทำกิจกรรมอะไรบ้าง ทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ เมื่อพัฒนาพื้นที่เมืองขึ้นมาแล้วจะได้มีคนมาใช้จริง ๆ

“ผมคิดว่าน่าตื่นเต้นนะ ที่ให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสในการทำงาน ผมคิดว่าด้วยความเข้าใจของเขา ด้วยความรู้ที่เขามี แล้วภาพที่เขาเห็นในอนาคตน่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้เรามีพื้นที่ที่ปรับเปลี่ยนและอยู่กับอนาคตได้”

ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี ย้ำถึงเรื่องความสำคัญของ Civic Center ที่เป็นของทุกคนว่า พื้นที่เหล่านี้สะท้อนระดับความเป็นประชาธิปไตยของแต่ละประเทศ

“เมื่อก่อนนี้พื้นที่ส่วนใหญ่จะออกแบบมาเพื่อคนมีอำนาจ ช่วงที่ประชาธิปไตยเริ่มเติบโต พื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะต้องเพื่อประชาชน กิจกรรมในเมืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การพบปะ การใช้ชีวิตประจำวัน ทุกประเทศเลยให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะ ทำให้เราเป็นสากลจากการมีพื้นที่แบบนี้ ซึ่งคำว่าสากลของโลกทุกวันนี้คือ ‘ประชาชนมาก่อน’ การให้ความสำคัญกับประชาชน คือการที่เมืองให้ความสำคัญกับการเปิดพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มเข้ามาใช้ได้เท่าเทียมกัน ไม่ใช่เฉพาะบางกลุ่ม มันคือตัวชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย ถ้าเราอยากเป็นสากล การลงทุนกับพื้นที่จะช่วยให้เราไปสู่ตรงนั้นได้ ก็หวังว่าคนที่มันมีอำนาจรัฐจะให้ความสำคัญ”

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) เองก็เชื่อว่าผลงานการออกแบบพื้นที่สาธารณะ หรือ Civic Center จะช่วยเสริมสร้างวิถีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมต่าง ๆ ส่งผลดีให้อนาคตของการพัฒนาเมือง มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่มุมการใช้ชีวิต การอยู่อาศัย การใช้เทคโนโลยี การเดินทาง และการดูแลสุขภาพ ตลอดจนแนวโน้มของนโยบายภาพใหญ่ของภาครัฐบาล

“เราต้องเตรียมความพร้อมรับมืออย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพในหลากหลายมิติ เพื่อใช้ชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างยั่งยืน เมื่อผู้เข้าแข่งขันในโครงการฯ ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องของเทรนด์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและนำไปประยุกต์ใช้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่นักออกแบบรุ่นใหม่ควรคำนึงถึง ไม่ว่าจะออกแบบที่อยู่อาศัย คอมมูนิตี้มอลล์ หรือแม้แต่พื้นที่สาธารณะ หากผสาน 2 ศาสตร์ คือ Design Thinking เอาคนเป็นศูนย์กลาง มีความเข้าอกเข้าใจ และ Future Thinking ที่ไม่ได้มองแค่ความต้องการของคนปัจจุบัน แต่มองความต้องการของคนในอนาคตเข้าด้วยกัน จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การพัฒนาโครงการนั้น ๆ เกิดประโยชน์ที่ยั่งยืน รวมถึงช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้พื้นที่ได้อย่างแท้จริง”

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

Avatar

ฐนกฤต ทิพย์เวียง

ช่างภาพสายเหนือ พร้อมที่จะลุยทุกสถานการณ์ ยกเว้นตอนท้องเสีย