The Cloud x น้ำดื่มคริสตัล

ห้วงยามที่โลกไม่ปกติ ปัญหาต่างๆ ที่ประเดประดังเข้ามาแบบไม่ยอมนัด พร้อมกับวาระที่ประเทศไทยได้รับการเยี่ยมเยือนจากไวรัสโคโรน่าไม่ต่างจากประเทศอื่นทั่วมุมโลก พอดิบพอดีกับการเวียนมาอีกครั้งของ ‘เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ’ Bangkok Art Biennale 2020 (BAB 2020) ซึ่งน้ำดื่มคริสตัลร่วมสนับสนุนตามแคมเปญ Art for Life แม้งานอาร์ตใหญ่ระดับโลกที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 นี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะไม่ปกติอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ผู้จัดและทางคริสตัลเชื่อว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่งานศิลปะอาจยื่นมือเข้ามาประโลมใจ ให้เราใส่ใจดูแลกันอย่างมีคุณภาพ และช่วยให้เราผ่านพ้นปีอันเหน็ดเหนื่อยนี้ไปได้ไม่มากก็น้อย

Escape Route หรือ ‘ศิลป์สร้าง ทางสุข’ คือแนวคิดหลักของการจัดงานครั้งนี้ ที่พาศิลปินชื่อดัง 82 คนจาก 35 ชาติ ทั้งในและต่างประเทศ ร่วมกันพาเราหาทางออกจากสถานการณ์ไม่ปกติไปด้วยกัน ผ่านผลงานกว่า 200 ชิ้น พร้อมเปิดประสบการณ์การเสพงานอาร์ตแนวใหม่ แบบ New Normal ในสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร ทั้งใจกลางเมืองและตลอดริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ถึง 31 มกราคม 2564

Take Me Out ครั้งนี้ ถือโอกาสหยิบ 12 ผลงาน มานำเสนอพอเรียกน้ำย่อย หวังใจว่าจะกระตุ้นต่อมรับรสงานศิลปะหลังจากอ่านบทความนี้จบ แล้วไปตามเก็บงานที่จัดแสดงอยู่ให้ครบจนอิ่มหนำ ถ้าพร้อมแล้ว อย่าลืมปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน COVID-19 อย่างเคร่งครัด แล้วไปเดินชมงานศิลปะหลายแขนง จากศิลปินหลากสาขา ที่ดั้นด้นและพยายามสร้างสรรค์ผลงานออกมาจัดแสดงในปีนี้ 

01

Push/Pull

Anish Kapoor

ก้อนแว๊กซ์สีแดงกลางศาลาของวัดโพธิ์ ท่าเตียน

Bangkok Art Biennale 2020, Anish Kapoor
Bangkok Art Biennale 2020, Anish Kapoor

ทันทีที่เราเดินเข้าไปในศาลาการเปรียญวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ ก้อนแว๊กซ์สีแดงชาดขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านชวนเราเงยหน้ามองอยู่กลางโถง งานสุดอลังการนี้เป็นของ อนิช คาพัวร์ (Anish Kapoor) ประติมากรชาวอินเดีย-อังกฤษ ผู้ชอบดีไซน์ก้อนแว๊กซ์สีเดียวกันอันเป็นเอกลักษณ์นี้ออกมาในรูปแบบต่างๆ 

ผลงานนี้ของคาพัวร์เปิดพื้นที่ให้กับผู้ชมได้ขบคิดและตีความเรื่องเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงและแรงตึง เสมือนการทำวิปัสสนาที่ควบคุมการเข้าออกของลมหายใจ เชื้อเชิญให้เราเดินดูได้รอบด้านเสมือนการเดินจงกรมทำสมาธิอย่างมีสติ แผ่นเหล็กที่แทรกตัวอยู่ด้านหนึ่งของก้อนแว๊กซ์นี้ ทำหน้าที่เป็นสิ่งดึงรั้งก้อนเลือดเนื้อที่เหมือนกำลังเคลื่อนไหว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ส่วนตัวและมุมมองของผู้ชมที่สุดแล้วแต่จะตีความ

ไม่บ่อยครั้งนักที่ผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซของศิลปินระดับโลกอย่างอนิช คาพัวร์ จะได้มาจัดแสดงที่บ้านเรา ดังนั้นไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

ที่ตั้ง : ศาลาการเปรียญ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

2 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

วันที่จัดแสดง : 29 ตุลาคม 2563 – 31 มกราคม 2564

เวลาทำการ : เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 17.30 น.

02

Sky Mirror

Anish Kapoor 

ความว่างที่เปลี่ยนไปตามใจเมฆและท้องฟ้า

Bangkok Art Biennale 2020, Anish Kapoor
Bangkok Art Biennale 2020, Anish Kapoor

ข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ยังมีผลงานของ อนิช คาพัวร์ อีกชิ้นหนึ่ง 

แผ่นสเตนเลสรูปวงกลมเลนส์เว้า ตั้งอยู่บนสนามหญ้าข้างๆ แลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ อย่างพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ถึงแม้ขนาดไม่ใหญ่เท่ากับงานในชื่อเดียวกันของคาพัวร์ ที่จัดแสดงอยู่หลากสถานที่ทั้งในยุโรปและอเมริกา แต่ยังคงแนวคิดที่นำเสนอการเปลี่ยนของสรรพสิ่ง และสร้างความเชื่อมโยงของสิ่งตรงข้ามกันอย่างท้องฟ้ากับผืนดินได้อย่างน่าสนใจ อันเป็นอีกอัตลักษณ์หนึ่งในงานของศิลปินชื่อก้องคนนี้ ภาพการไหลเรื่อยของเมฆบนท้องฟ้าต่างสี ในแต่ละช่วงเวลาที่สะท้อนลงมาบนแผ่นกลมที่สื่อถึงความว่างเปล่าที่เปลี่ยนรูปร่างไปเรื่อยๆ 

Sky Mirror เป็นผลงานที่น่าจะเปิดประสบการณ์ไม่ซ้ำกับงานอื่นในเทศกาลนี้ และแน่นอนว่าไม่ซ้ำในแต่ละวัน ทั้งวันที่ฟ้าสดใส วันที่ฟ้าสีทองผ่องอำไพ หรือวันที่ท้องฟ้าเจือสีชมพูเป็น Vanilla Sky ซึ่งรอให้ไปทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป 

สำหรับคนที่หลงเสน่ห์ผลงานของอนิช คาพัวร์ BAB 2020 นี้ ยังมีผลงานของเขาอีกชิ้นหนึ่งจัดแสดงที่ The PARQ ไปตามเก็บให้ครบทั้ง 3 ชิ้นกันได้

ที่ตั้ง : สนามหญ้า วัดอรุณราชวราราม

158 ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600

วันที่จัดแสดง : 29 ตุลาคม 2563 – 31 มกราคม 2564

เวลาทำการ : เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 17.30 น

03

Post Apis (Honey Vault)

Ana Prvački

งานศิลปะที่ฝากน้ำผึ้งในโหลไว้กับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

Bangkok Art Biennale 2020, Ana Prvački
Bangkok Art Biennale 2020, Ana Prvački

ตู้เซฟเก็บน้ำผึ้งที่ซ่อนตัวอยู่มุมเล็กๆ ในวิหารวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นผลงานของ แอนา ปรวาชกิ (Ana Prvački) ศิลปินชาวโรมาเนียผู้มักผสานหลากหลายศาสตร์ของศิลปะเข้าด้วยกัน งานของเธอเป็นสื่อผสมที่สัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งใน BAB 2020 ครั้งนี้ เธอนำเสนอปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมผ่านน้ำผึ้งออร์แกนิกซึ่งเก็บไว้ในโหลอย่างมิดชิด

งานชิ้นนี้สะท้อนภาพความเปราะบางของระบบนิเวศผ่านน้ำผึ้งในโหลที่มีคุณประโยชน์ทางยามากมาย แต่ขณะเดียวกันในศตวรรษที่ 21 นี้ ผึ้งกลับเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูญพันธุ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบให้มนุษย์สูญเสียพืชที่ใช้ผึ้งผสมเกสร และจะทำให้ไม่มีน้ำผึ้งไว้ใช้บริโภคอีกต่อไป ชวนให้เราตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมโลกในปัจจุบัน และผลกระทบที่จะมีต่อมนุษย์ในอนาคต

ที่ตั้ง: วิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

24 ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยา เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600

วันที่จัดแสดง : 29 ตุลาคม 2563 – 31 มกราคม 2564

เวลาทำการ : เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 17.30 น

04

Dear Family

Bussaraporn Thongchai

คำบอกเล่าประสบการณ์ทำงานของหญิงบริการกับคนในครอบครัว

Bangkok Art Biennale 2020, Bussaraporn Thongchai
Bangkok Art Biennale 2020, Bussaraporn Thongchai

เสียงพูดคุยของผู้หญิงหลายคนผ่านลำโพงหลายตัวที่อื้ออึงไปทั่วศาลาการเปรียญ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร นี่คือผลงานศิลปะผ่านเสียงโดย บุศราพร ทองชัย ศิลปินสาวที่มีความสามารถหลายแขนง เธอเลือกนำเสนอประสบการณ์ผ่านเสียงของบทสนทนา โดยมี ‘ความเงียบ’ ระหว่างคนในครอบครัวเป็นโจทย์ตั้งต้น 

ขณะทำงานเป็นล่ามและผู้ให้คำปรึกษาแรงงานอยู่ที่เบอร์ลิน เธอพบว่าปัญหาของกลุ่ม Sex Worker คือการปกปิดอาชีพกับคนใกล้ชิดในครอบครัวและสังคม ทำให้งานครั้งนี้เกิดจากการเลือกจับคู่ผู้ให้บริการทางเพศให้มานั่งพูดคุยบอกเล่าประสบการณ์กับคนในครอบครัวตัวเอง รวมถึงเธอและพี่สาว ก่อนที่เธอจะรวบรวมข้อมูลที่ได้ทำเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็ก เพื่อส่งต่อประวัติศาสตร์ให้กับหลานสาวของเธอต่อไป

ถ้าตั้งใจฟังดีๆ เนื้อหาของบทสนทนาอาจทำให้เราเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติที่มีต่อการขายบริการไปจากเดิม

ที่ตั้ง : ศาลาการเปรียญ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

24 ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยา เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600

วันที่จัดแสดง : 29 ตุลาคม 2563 – 31 มกราคม 2564

เวลาทำการ : เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 17.30 น

05

98-160-500-5,000-14,000-100,000-7,000,000,000 

Ruangsak Anuwatwimon

ไม้หลากสายพันธุ์ และการจำลองสภาวะคัดสรรหาต้นที่แข็งแกร่งที่สุด

Bangkok Art Biennale 2020, Ruangsak Anuwatwimon
Bangkok Art Biennale 2020, Ruangsak Anuwatwimon

เมื่อเข้าไปในห้องจัดแสดง พลันพบกับเหล่าต้นไม้จัดวางอยู่เรียงรายทั่วบริเวณห้อง นี่ไม่ใช่กระแสตกแต่งไม้ใบหรือต้นไม้ฟอกอากาศ แต่เป็นผลงานของศิลปินงานร่วมสมัย โจ้-เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล ผู้สนใจงานด้านนิเวศวิทยา ธรรมชาติและวิวัฒนาการของมนุษย์ในอนาคต

เราอาจเคยพอได้ยินเรื่องทฤษฎีการคัดสรรเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่แข็งแรงที่สุดในการอยู่รอดกันมาบ้าง เรืองศักดิ์เลือกนำเสนอแนวคิดนี้โดยใช้งานศิลปะ 3 ชิ้นที่ยึดโยงกัน ทั้งต้นไม้หลากชนิดที่มีความทนทานต่อสภาวะต่างกัน จัดแสดงร่วมกับภาพวาดกวางไซก้าที่ตายอยู่กลางทุ่งหญ้า อันเป็นผลกระทบจากการพัฒนาสายพันธุ์โดยมนุษย์ และประติมากรรมรูปวงกลมที่แทนนิวเคลียสขณะกำลังแบ่งเซลล์ ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือความต้องการของศิลปิน ที่สื่อถึงเรื่องการบริโภคของมนุษย์ซึ่งกำลังเบียดเบียนสัตว์และสิ่งแวดล้อมรอบตัว

ที่ตั้ง : มิวเซียมสยาม 

4 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

วันที่จัดแสดง : 29 ตุลาคม 2563 – 31 มกราคม 2564

เวลาทำการ : 10.00 – 18.30 น. ปิดวันจันทร์

06

Chinese: Place of Diasporas 

Jureeporn Pedking

ความยากแค้นของ ‘จีนนอกนา : สถานที่ของคนพลัดถิ่น’ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

Bangkok Art Biennale 2020, Jureeporn Pedking
Bangkok Art Biennale 2020, Jureeporn Pedking

เสื่อผืนหมอนใบและความยากลำบาก เป็นเรื่องที่ถูกกล่าวเสมอเวลาอ้างถึงชาวจีนโพ้นทะเล แต่แน่นอนว่านั่นเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ไม่มีทางเคยเห็น

จุรีพร เพชรกิ่ง เลือกสถาปัตยกรรมจีนของล้ง 1919 ย่านคลองสาน อดีตท่าเรือและโกดังเก็บสินค้าที่ชาวจีนอพยพมาขึ้นฝั่ง เป็นพื้นที่ขับเน้นคอนเซปต์ในงานครั้งนี้ กระสอบพลาสติกที่กองไว้ในห้องจัดแสดงผ่านการเย็บด้วยความอดทน เพื่อจำลองความรู้สึกแร้นแค้น และพาเรานึกถึงความยากลำบากของชาวจีนอพยพที่ต้องประสบในช่วงแรกของการย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ประเทศไทย ก่อนกระสอบทุกใบจะถูกเป่าลมเข้าไป เสมือนการต่อลมหายใจให้ประวัติศาสตร์และเรื่องราวของบรรพบุรษ

จริงๆ แล้ว ผลงานชิ้นนี้ของเธอใน BAB 2020 เป็นการแสดงผลงานจัดวางควบคู่ไปกับการแสดงสด ใครสนใจชมการ Performance จากศิลปิน อย่าลืมตรวจสอบรอบการแสดงล่วงหน้า เนื่องจากไม่ได้มีทุกวัน

และสำหรับผู้ที่พลาดชมผลงานชิ้นนี้ที่จัดแสดงมาก่อนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสอันดีที่เธอกลับมาจัดอีกครั้ง 

ที่ตั้ง : LHONG 1919

248 ถนนเชียงใหม่ แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร 10600

วันที่จัดแสดง : 29 ตุลาคม 2563 – 31 มกราคม 2564

เวลาทำการ : 10.00 – 19.00 น. ปิดวันจันทร์

07

Dusit Thani Province 1, 2020 และ Dusit Thani Province Map

Prateep Suthatongthai

คลาสเรียนประวัติศาสตร์ผ่านงานอาร์ต ว่าด้วยเรื่องเมืองประชาธิปไตยและหมู่บ้านคอมมิวนิสต์

Bangkok Art Biennale 2020, Prateep Suthatongthai
Bangkok Art Biennale 2020, Prateep Suthatongthai

หม่อม-ประทีป สุธาทองไทย เป็นศิลปินภาพวาดเสมือนจริง เขาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย งานของเขามักโยงใยไปกับประวัติศาสตร์และการเมือง ดังที่ปรากฏผ่านตามาแล้วอย่าง ‘ประเทศเล็กที่สมบูรณ์’ และ ‘ประชาธิปไตยถาวร’

นิทรรศการใน BAB 2020 เขาเลือกใช้ ‘ดุสิตธานี’ เมืองจำลองประชาธิปไตยในอุดมคติที่กลุ่มชนชั้นนำสยามเวลานั้นเล่นกันอย่างจริงจัง ภายใต้การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยนำเสนอภาพของผังเมืองและอาคารต่างๆ ในเมือง ร่างเป็นแผ่นพิมพ์เขียว ควบคู่ไปกับภาพถ่ายเก่าที่เขาลงมือวาดใหม่ด้วยเทคนิคการลงสีจิตรกรรมเสมือนจริง แต่ความตลกร้ายของงานนี้ คงเป็นการเชื่อมโยงไปยังหมู่บ้านน้อมเกล้า อำเภอเริงนกทา จังหวัดยโสธร ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลังออกจากป่าเพื่อยุติทำสงครามกับรัฐบาล เมืองในฝันของกษัตริย์และคอมมิวนิสต์อันเป็นคู่ตรงข้ามทาบทับลงบนความสมบูรณ์ต่างมุมมองของ 2 ฝ่ายที่ประทีปตั้งใจซ่อนเอาไว้ จนกลายเป็นงานศิลปะที่แฝงไปด้วยอุดมคติ และเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรละเลยจะหยิบมาพูดถึง

“เป็นหน้าที่ของคนดูที่เขาจะต้องเชื่อมโยงเมืองจำลองของรัชกาลที่ 6 เข้ากับหมู่บ้านของคอมมิวนิสต์เก่า” ประทีปโยนโจทย์ให้กับผู้ที่กำลังจะไปชมงานของเขา

ที่ตั้ง : The Prelude One Bangkok

1032 1-5 ถนนพระรามที่ 4 แขวงปทุมวัน เขตลุมพินี กรุงเทพมหานคร 10330

วันที่จัดแสดง : 29 ตุลาคม 2563 – 31 มกราคม 2564

เวลาทำการ : 10.00 – 20.00 น. ปิดวันอังคาร

08

DRAGONERPANZER 

Wasinburee Supanichvoraparch

รถถังลายครามกับเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ที่ยังทันสมัยอยู่เสมอ

Bangkok Art Biennale 2020, Wasinburee Supanichvoraparch
Bangkok Art Biennale 2020, Wasinburee Supanichvoraparch

ติ้ว-วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของกิจการเครื่องปั้นดินเผา เถ้าฮงไถ่ จังหวัดราชบุรี และยังเป็นศิลปินด้านเซรามิกแนวหน้าของไทย บางคนอาจจะไม่รู้จักเขาดีนัก ดังนั้นขออนุญาตสาธยายเกียรติประวัติของเขาสักหน่อย เขาเคยเป็นตัวแทนประเทศไทยได้จัดแสดงผลงานที่ชื่อ ‘Poperomia’ ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติเวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 55 เคยได้รับรางวัลต่างๆ ในแวดวงศิลปะที่นักออกแบบและคนทำงานศิลปะทั้งหลายฝันอยากครอบครอง และถ้าใครเคยไปจังหวัดราชบุรี แล้วพบกับประติมากรรมเซรามิกขนาดใหญ่กระจายตัวอยู่หลายพื้นที่สำคัญในตัวจังหวัด ผลงานเหล่านี้เกิดขึ้นจากการผลักดันของเขาให้กับถิ่นเกิด

BAB ครั้งนี้ ผลงานของเขาก่อร่างจากความประทับใจที่มีต่อเรื่องราวประวัติศาสตร์ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เมื่อกษัตริย์เฟรดเดอริก ออกัสตัสที่ 1 แห่งแซกโซนี นำกองทหารม้า 600 นายแลกกับแจกันพอร์ซเลนเพียง 151 ชิ้น ของจักรพรรดิเฟรดเดอริกแห่งปรัสเซีย ความไม่สมเหตุสมผลของการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ ทำให้วศินบุรีเลือกนำเสนอหมู่รถถัง 7 คัน ซึ่งแทนความหมายของกองทหารม้าในปัจจุบัน ด้วยเทคนิคเซรามิกลายครามสีสันสดใสน่ารัก เช่นเดียวกับชุดแจกันดรากูนที่ปัจจุบันเหลืออยู่จำนวนเท่ากันคือ 7 ใบ อันเป็นสัญลักษณ์ของการเพิ่มมูลค่าและการแลกเปลี่ยน เล่นล้อไปกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในครั้งนั้น และสะท้อนความปรารถนาอำนาจและเกียรติยศที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน

ที่ตั้ง : ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

939 ถนนพระรามที่ 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

วันที่จัดแสดง : 29 ตุลาคม 2563 – 31 มกราคม 2564

เวลาทำการ : 10.00 – 19.00 น. ปิดวันจันทร์

09

Money

Tawan Watuya

ความพร่าจางของสีน้ำบนธนบัตร ในวันที่เงินตราอาจกลายเป็นเพียงกระดาษ

Bangkok Art Biennale 2020, Tawan Watuya
Bangkok Art Biennale 2020, Tawan Watuya

ตะวัน วัตุยา เป็นอีกศิลปินแถวหน้าของเมืองไทยที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศมากกว่าบ้านเกิด ตระเวนแสดงผลงานที่นู่นที่นี่อยู่บ่อยครั้ง และครั้งนี้แถวของธนบัตรสกุลเงินต่างๆ ที่จับจองกรรมสิทธิ์พื้นที่บนผนังชั้น 7 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ก็เป็นอีกหนึ่งในผลงานสเกลมหึมาของเขา

เขาเลือกใช้คุณสมบัติความพร่าเลือนของสีน้ำ เพื่อนำเสนอปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเงินตรา ทั้งปัญหาเงินเฟ้อ การลดอัตราค่าเงิน หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตการณ์ต่างๆ ผ่านการขยายสัดส่วนของธนบัตรหลากหลายชาติ บนกระดาษแฮนด์เมด ด้วยความต้องการให้ผู้ที่ผ่านมาพบเห็นงานชิ้นนี้ฉุกคิดถึงเงินตราอันเป็นสิ่งสมมติที่มีค่าไม่คงที่ ไม่แน่นอน ธนบัตรที่ใช้อาจลดหรือสูญค่ากลายเป็นเพียงเศษกระดาษไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ที่ตั้ง : ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

939 ถนนพระรามที่ 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

วันที่จัดแสดง : 29 ตุลาคม 2563 – 31 มกราคม 2564

เวลาทำการ : 10.00 – 19.00 น. ปิดวันจันทร์

10

Untitled 2020 (infinite attempts never concluded)

Rirkrit Tiravanija

วงกตไม้ไผ่ลี้ภัยปัญหาและไอศกรีมน้ำปลา

Bangkok Art Biennale 2020, Rirkrit Tiravanija
Bangkok Art Biennale 2020, Rirkrit Tiravanija

พื้นที่ปลีกวิเวกในกล่องสีขาว ตั้งมั่นอยู่กลางวงกตไม้ไผ่ที่เกิดจากการมัดและวางขัดโดยแรงงานอพยพ ท่ามกลางแดดร้อนระอุ ที่ลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ออกแบบโดย ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินชาวไทยที่สร้างชื่อระดับโลกจากงานศิลปะแนว Relational Aesthetics ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับงานศิลปะ อย่างการใช้อาหารเป็นองค์ประกอบที่เป็นเสมือนลายเซ็นในงานชิ้นก่อนๆ ของฤกษ์ฤทธิ์ (ที่เคยแจกผัดไทย แกงเขียวหวาน ก๋วยเตี๋ยวเรือ ลาบ ฯลฯ ในแกลเลอรี่ต่างประเทศมาแล้ว)

โดยงานนี้ก็ยังคงเป็นแนวที่เขาถนัด เพราะสถานที่เปรียบเหมือนโอเอซิสกลางทะเลทราย ในยามที่เราต้องการหาทางออกจากปัญหาต่างๆ นี้ เปิดพื้นที่ให้เราเขียนอะไรก็ได้ผ่านปากกาล่องหนภายในกล่อง ก่อนเชิญชวนผู้ชมที่กลายเป็นหนึ่งในองค์ประกอบในงานของเขาไปแล้วได้ลองชิม ‘ไอศกรีมน้ำปลา’ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งของการแสดงผลงานในครั้งนี้

Bangkok Art Biennale 2020, Rirkrit Tiravanija

ตัวหนังสือคงอธิบายไม่ได้หมดว่างานของฤกษ์ฤทธิ์เล่าอะไรอยู่ จนกว่าจะได้ไปลองชิมงานศิลปะของเขาด้วยตัวเองเสียก่อน

ที่ตั้ง : ลานด้านหน้า หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

939 ถนนพระรามที่ 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

วันที่จัดแสดง : 29 ตุลาคม 2563 – 31 มกราคม 2564

เวลาทำการ : 10.00 – 19.00 น. ปิดวันจันทร์ 

11

Rising

Marina Abramovic

VR ภาพสะท้อนผลกระทบจากโลกร้อน ที่ชวนผู้ชมตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม

Bangkok Art Biennale 2020, Marina Abramovic

มารินา อบราโมวิช (Marina Abramovic) เป็นศิลปิน Perfomance Art ชาวเซอร์เบียร์ชื่อดัง (มากๆ) ระดับโลกคนหนึ่ง จุดเด่นคือ เธอชอบใช้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนดูกับผู้แสดง โดยนำข้อจำกัดทางร่างกายและจิตใจของมนุษย์มาเป็นส่วนหนึ่งในงาน ตลอดกว่า 4 ทศวรรษในวงการศิลปะแนวแสดงสด งานของเธอถูกพูดถึงอยู่เสมอ และถ้าหากแฟนงานศิลปะร่วมสมัยจำได้ เมื่อ 2 ปีก่อน เธอเคยมารักษาบาดแผลและเยียวยาจิตใจคนผ่านงานประติมากรรมเรืองแสงในเทศกาล BAB 2018 ที่กรุงเทพฯ มาแล้ว 

Bangkok Art Biennale 2020, Marina Abramovic

วันนี้เธอกลับมาให้เราได้มีส่วนร่วมในชิ้นงานศิลปะของเธออีกครั้ง ผ่านผลงานที่ชื่อ ‘Rising’ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มารินานำเทคโนโลยี Virtual Reality หรือ VR มาเป็นส่วนหนึ่งการแสดงงานศิลปะ คอนเซปต์ของงานนี้คือการชวนผู้ชมอยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ เปิดประสบการณ์ตรงต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมผ่านภาพเสมือนจริง โดยมีเธอเป็นตัวละครอยู่ในแท็งก์สี่เหลี่ยมที่ระดับน้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่เกิดจากการละลายของน้ำแข็งเนื่องจากปัญหาภาวะโลกร้อน

ที่ตั้ง : ชั้น 15 The PARQ

88 ถนนรัชดาภิเษก แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110

วันที่จัดแสดง : 29 ตุลาคม 2563 – 31 มกราคม 2564

เวลาทำการ : เปิดทุกวัน เวลา 10.00 – 20.00 น.

12

Bleu Blanc Rouge

Yuree Kensaku

สัญญะชวนครุ่นคิดในงานศิลป์ล้อเลียนภาพของเดอลาครัวซ์

Bangkok Art Biennale 2020, Yuree Kensaku

ยุรี เกนสาคู ศิลปินลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น ที่งานเพนติ้งของเธอเป็นเอกลักษณ์แบบใครเห็นก็จำได้ ด้วยคาแรกเตอร์น่ารักของตัวการ์ตูนที่ภายนอกสีสดใส ทะเล้น แต่อาบไปด้วยนัยของการการเสียดสีและวิจารณ์สังคมอย่างหนักหน่วงไม่แพ้ใคร 

ผลงานภาพชื่อว่า ‘Bleu Blanc Rouge’ หรือ น้ำเงิน ขาว แดง ซึ่งมีที่มาจากสีธงชาติของประเทศฝรั่งเศส เกิดจากการประสบพบปัญหาระหว่างเธออยู่ที่แดนน้ำหอม ทั้งเหตุการณ์ประท้วงและสถานการณ์ COVID-19 ความจำเป็นต้องอยู่ที่นั่นกลายมาเป็นการรังสรรค์ภาพล้อเลียนงานศิลปะเลื่องชื่อ Liberty Leading The People ของจิตรชาวฝรั่งเศส เออแฌน เดอลาครัวซ์ (Eugène Delacroix) ด้วยการเปลี่ยนองค์ประกอบภาพจนทำให้ภาพเหตุการณ์ปฏิวัติ ค.ศ. 1830 กลายเป็นภาพการ์ตูนน่ารักสดใสตามสไตล์ของเธอ งานชิ้นนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์เกี่ยวกับประเทศฝรั่งเศสทั้งจากงานศิลปะชิ้นอื่น เรื่องเล่า และวรรณกรรม แทรกอยู่ทั่วบริเวณภาพรอให้ผู้ชมไปตามถอดรหัส คู่ไปกับภาพล้อเลียนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งจัดแสดงอยู่คู่กัน

Bangkok Art Biennale 2020, Yuree Kensaku

นอกจากงานเพนต์แล้ว ยังมีประติมากรรมรูปเทพีไนกี้ปีกหัก โดยยุรีเลือกเชื่อมโยงเข้ากับนกพิราบหลงที่ถูกดึงปีก สัตว์เลี้ยงของเธอ ซึ่งแทนความหมายของอิสรภาพที่โดนจำกัด ล้อไปกับภาพวาดเทพีถือธงของเดอลาครัวซ์ด้วยอีกชิ้นหนึ่ง

ที่ตั้ง : ชั้น 15 The PARQ

88 ถนนรัชดาภิเษก แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110

วันที่จัดแสดง : 29 ตุลาคม 2563 – 31 มกราคม 2564

เวลาทำการ : เปิดทุกวัน เวลา 10.00 – 20.00 น.

ยุรี เกนสาคู ร่วมทำโปรเจกต์ Crystal x Yuree กับคริสตัลด้วยความเชื่อเช่นเดียวกันว่าเราทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีคุณภาพ คาแรกเตอร์ทั้ง 7 จากการสร้างสรรค์ของยุรี สะท้อนความแตกต่างทางกายภาพ ความคิด เชื้อชาติ ตลอดจนสายพันธุ์ของเหล่าสรรพสัตว์โลกในอุดมคติที่ทุกๆ สิ่งสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก โดยทุกผู้คนยังคงความมีอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคล

งานของยุรี เกนสาคู ปรากฏอยู่บนขวดน้ำดื่มคริสตัล โดยบรรจุภัณฑ์เวอร์ชั่นใหม่ Crystal x Yuree จะมีลวดลายคาแรกเตอร์น่ารัก 6 แบบ ซึ่งสามารถสแกน QR Code ไปเล่น Crystal IG Photo Filter เป็นคาแรกเตอร์การ์ตูนเพื่อนๆ ของ นาย ณภัทร นอกจากนี้ยังมีขวดลาย Limited edition อีกสองลายที่พิมพ์ฉลากเป็นการ์ตูนเต็มขวด นำทีมโดยวาฬยักษ์ใหญ่ และนางเงือกชุบแป้งทอด ซึ่งขวดรุ่นพิเศษนี้หาซื้อได้ที่ 7-11 เท่านั้น

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Art for Life ที่มีเป้าหมายให้ทุกคนร่วมรักสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลังกันดูแลทุกชีวิตในโลกได้ง่าย ๆ เพียงแค่เก็บ แยก ทิ้ง ขยะ และสิ่งเหลือใช้อย่างถูกวิธี เพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมบนโลกร่วมกัน ให้ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีคุณภาพ

Writer

Avatar

พณิช ตั้งวิชิตฤกษ์

นักลองฝึกพิสูจน์อักษร ผู้แสร้งเป็นนักลองฝึกเขียน อดีตเป็นนักเรียนภาษา ผู้สนใจเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ รักในมวลรอบข้างที่ดี กาแฟ ชาเขียว และแมวเหมียว

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ