15 กุมภาพันธ์ 2019
76 K

ถนนนครสวรรค์ 2442

กรุงเทพฯ ปี 2442 หรือ ค.ศ. 1899 บริเวณริมถนนนครสวรรค์ใกล้กับแยกสะพานผ่านฟ้ามีการก่อสร้างคฤหาสน์แบบยุโรปขึ้นเพื่อเป็นเรือนหอของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ผู้เป็นคนวางรากฐานด้านการศึกษาของประเทศไทย และเป็นผู้ริเริ่มให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ โดยมีสถาปนิกผู้ออกแบบบ้านคือ มาริโอ ตามาญโญ (Mario Tamagno) คนเดียวกับที่ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคมและห้องสมุดเนลสันเฮย์

ทำให้ตัวอาคารมีลายปูนปั้นทั้งตามเสา คาน ซุ้มประตู หน้าต่าง และช่องลม พื้นชั้นล่างก็กรุด้วยหินอ่อน ชั้นสองของอาคารก็ใช้ไม้เป็นวัสดุหลักภายในอาคาร มีการประดับตกแต่งที่งดงามไม่แพ้ชั้นล่างของบ้านเลย

หลังจากที่ท่านลาออกจากราชการ จึงร่วมกับลูกสาวใช้ที่ดินแปลงข้างกันมาเปิดเป็นโรงเรียนสตรีจุลนาค ภายหลังจากที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีถึงแก่อสัญกรรม ทายาทซึ่งเห็นถึงความแออัดของนักเรียนในโรงเรียนจึงอนุญาตให้ทางโรงเรียนเข้ามาใช้พื้นที่ชั้นล่างของบ้านในกิจการของทางโรงเรียนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

และแม้จะผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานร่วมร้อยกว่าปีแต่ตัวบ้านก็ยังคงอยู่ในสภาพที่ดีมากๆ เช่นเดิม

บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899 บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899

บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899

ถนนนครสวรรค์ 2562

บ้านหลังเดิมของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีนั้นกำลังจะเกิดการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ในช่วงหลังๆ กระแสความตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์บ้านและอาคารเก่านั้นค่อนข้างเป็นที่สนใจของคนกลุ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อได้ยินเรื่องของการเปลี่ยนแปลงอาคารเก่า หลายคนอาจจะตื่นเต้นรอดูสิ่งที่จะเกิดขึ้น และอีกหลายคนอาจจะกังวลว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับคฤหาสน์ทรงยุโรปที่เหมือนเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองแห่งนี้ จะถูกทุบแล้วสร้างใหม่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกแด่นักท่องเที่ยวหรือเปล่า การปรับปรุงจะยังคงเก็บเสน่ห์ของอาคารเดิมไว้ไหม ฯลฯ

และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ผมเดินทางมายังที่แห่งนี้เพื่อมาพบกับ คุณโจ-พงศ์พรหม ยามะรัต เจ้าของบ้าน, คุณซูซานนา Susannah Tantemsapya ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการของโครงการ Bangkok 1899 และ คุณปอง-ปองขวัญ ลาซูส  ทั้งหมดนี้คือผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของบ้านหลังนี้

และบทสนทนาในห้องโถงชั้นล่างก็ทำให้เราสบายใจจากคำถามต่างๆที่ค้างคาอยู่ในหัวเมื่อเราได้ยินถึงการเปลี่ยนแปลง นั่นคือ บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีแห่งนี้จะยังคงอยู่เหมือนเดิม และเพิ่มเติมว่าจะเปิดตัวบ้านและตึกด้านหลังให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาในบ้านได้เป็นครั้งแรกอีกด้วยภายใต้บทบาทใหม่ในการเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนทางด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งประกอบไปด้วยที่พักสำหรับศิลปินนานาชาติ, “Na Café” พื้นที่สร้างสรรค์ที่มาในรูปแบบของร้านกาแฟเพื่อสังคม, พื้นที่สวนสาธารณะ, พื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการและการเป็นต้นแบบในด้านความยั่งยืน ภายใต้ชื่อของโครงการว่า “BANGKOK 1899”

และวิธีคิดเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงก็น่าสนใจเสียจนเราอยากจะนำมาเล่าให้ทุกๆ คนได้ฟังกันต่อ

พร้อมแล้วใช่ไหมครับ ผมขอเชิญทุกคนค่อยๆ เดินเข้ามาด้านในของบ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีแห่งนี้พร้อมๆ กัน และนี่คือเรื่องราวการปรับเปลี่ยนของบ้านแห่งนี้ครับ

บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899

บ้านของเจ้าพระยาผู้พัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ

ก่อนหน้าที่เราจะพูดถึงอนาคตของบ้านหลังนี้ ผมเริ่มชวนทั้งสามคนคุยถึงอดีตที่ผ่านมาของบ้านหลังนี้ก่อน โดยโจได้เริ่มเล่าที่มาของบ้านหลังนี้ว่า เป็นของคุณทวดซึ่งตอนนั้นจบการศึกษามาจากอังกฤษ และตั้งใจอยากจะให้เกิดระบบการศึกษาขึ้นในประเทศไทย ด้วยธรรมชาติของคนที่พัฒนาด้านการศึกษา ซึ่งไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหนต่างก็อยู่ในสถานะที่ไม่ต่างกันเลย นั่นก็คือไม่ค่อยจะมีเงินมากมายนัก

“บ้านหลังนี้หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นบ้านของตระกูลคุณทวด (เทพหัสดิน ณ อยุธยา) แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ทั้งหมด ตอนคุณทวดจะแต่งงานกับคุณย่าทวดนั้นแกไม่มีเงินสร้างเรือนหอ ทางฝั่งพ่อตาแกเห็นถึงความตั้งใจที่อยากจะพัฒนาประเทศด้วยการศึกษาก็เลยอยากช่วยสนับสนุนโดยออกเงินสร้างบ้านหลังนี้ให้แก่ท่าน

“หลังจากนั้นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเลยได้ทำตามสัญญาที่ท่านให้ไว้ นั่นก็คือเรื่องของการศึกษา ท่านตั้งใจจะพัฒนาประเทศด้วยการสร้างการศึกษาให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะการศึกษาคือพื้นฐานที่สำคัญที่สุด เป็นเหมือนกับประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน

“แนวคิดแรกที่ท่านต้องการจะทำให้เกิดขึ้นก็คือ ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจนจะต้องไม่เกิดความแตกต่างด้านการศึกษา ท่านเลยลงมือทำโรงเรียนสตรีจุลนาคขึ้นมาเพื่อให้คนอื่นได้ดูเป็นแนวทาง ซึ่งความพิเศษของโรงเรียนแห่งนี้ก็คือ เป็นโรงเรียนแรกที่เจ้ากับคนธรรมดาได้มาเรียนอยู่ด้วยกัน

“วันที่เปิดโรงเรียนนั้นคุณทวดก็ไปเชิญคนรู้จักซึ่งก็เป็นเจ้าให้ส่งลูกหลานมาเรียนที่นี่ แต่ในขณะเดียวกัน ก็กันพื้นที่ในห้องเรียนบางส่วนไว้เพื่อให้กับเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบข้างอย่างนางเลิ้งได้มาเรียนด้วยกัน” โจอธิบายถึงประวัติที่มาของบ้านคุณทวด

บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899 บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899

จากบ้านเจ้าพระยาสู่พื้นที่สาธารณะและศูนย์การเรียนรู้

แล้วจุดเริ่มในการเปลี่ยนบ้านคุณทวดให้กลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะแก่ชุมชนแบบนี้มันเกิดจากอะไร ผมถามทายาทของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีต่อ

“มันเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ในตอนนั้นผมกับพี่ปองและท่านอื่นๆ รวมกันก่อตั้งกลุ่ม BIG TREES ขึ้นมา ซึ่งเป้าหมายจริงๆ ของกลุ่มก็คือการสร้างเมืองอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable City ซึ่งความยั่งยืนมันไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่มันคือทุกๆ เรื่องในสังคม เพราะทุกๆ เรื่องมันเชื่อมโยงและส่งผลกระทบถึงกันหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฝุ่น PM2.5 พื้นที่สีเขียว มลภาวะ

“แต่เราเองก็ไม่ได้มีความรู้ไปทุกเรื่อง เราก็เลยใช้กลุ่ม BIG TREES นี่แหละเป็นเหมือนโรงเรียนเพื่อให้เราเรียนรู้เรื่องต่างๆ ทั้งชุมชน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ในตอนนี้เราก็เลยมองว่ามันควรจะมีพื้นที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเพื่อมอบความรู้พวกนี้คืนให้กับสังคม” โจอธิบายต่อ

“เรื่องของการอนุรักษ์ตึกเก่านั้นเริ่มกลายมาเป็นแนวคิดที่เป็นกระแสของสังคม คือเริ่มมีคนทำการอนุรักษ์ตามย่านต่างๆ ซึ่งการที่เราจะอนุรักษ์บ้านสักหลังหนึ่ง เราก็ต้องมองไปถึงประวัติของบ้านหลังนั้นๆ เพื่อดึงออกมาเป็นจุดเด่นของโครงการด้วย

“อย่างบ้านหลังนี้ก็ถือว่าเกี่ยวข้องกับการศึกษาเพราะเจ้าของเดิมเป็นผู้ริเริ่มการทำการศึกษาแบบสมัยใหม่ ดังนั้น การต่อยอดให้บ้านหลังนี้กลับมามีชีวิตใหม่จึงควรให้ยังคงเกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องของการศึกษา

“พอโจมีไอเดียเรื่องอยากจะให้มีพื้นที่เพื่อมอบความรู้ เราก็เลยคล้ายกันเรื่องปรับให้บ้านหลังนี้กลายมาเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่คนทั่วไป ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ผ่านเครือข่ายของบรรดาเหล่าธุรกิจเพื่อสังคม เช่น เรื่องของการใช้ชีวิตโดยปราศจากขยะ หรือ zero waste คือเราสนใจในเรื่องของเนื้อหากิจกรรมด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญและจะทำให้สถานที่นี้ยั่งยืนขึ้นด้วย” ปองเสริมในส่วนของวิธีคิดในการปรับเปลี่ยนบ้านเก่า

บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899 บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899

ในฐานะของเจ้าของที่ดินการมีบ้านที่หน้าตาราวกับวังแบบนี้ ทำไมถึงเลือกที่จะยกให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่บริหารจัดการงานโดยไม่ได้หวังผลกำไร ผมสงสัย

“อาจเพราะเราเป็นเจ้าของที่ดินที่ใหญ่ที่สุดในละแวกย่านเมืองเก่า ก่อนหน้านี้เลยมีคนมาติดต่อขอทั้งเช่าหรือซื้อบ้านหลังนี้อยู่เยอะมากๆ มีทั้งคนสนใจเอาไปทำโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ซึ่งทั้งหมดนั้นก็ถือว่าเป็นข้อเสนอที่ดีมาก เพราะต่างก็เป็นร้านและโรงแรมที่มีชื่อเสียงทั้งนั้น ยิ่งเห็นราคาที่เขาเสนอมา ผมฟังแล้วยังรู้สึกตกใจเลย” โจเกริ่นเล่าถึงผลประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดขึ้นจากบ้านหลังนี้ซึ่งมีผลต่อมาถึงวิธีคิดในการปรับเปลี่ยนบ้าน

“แต่เราก็ปฏิเสธไปหมด เพราะถ้าตอบรับไปสุดท้ายก็มีแต่ผมคนเดียวที่ได้ประโยชน์แต่สาธารณะไม่มีใครได้อะไร คือพูดกันแบบจริงๆ เลยเนี่ย ถ้ากรุงเทพฯ มันดีกว่านี้ผมก็คงจะปล่อยให้คนเช่าไปรับเงินมาใช้จ่าย แต่กรุงเทพฯ ไม่ได้ดีแบบนั้นไงผมเลยคิดว่าไม่เอาดีกว่า

“ตัวผมเองก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไรมาก แค่พอมีพอกิน ไม่ได้ลำบาก ถ้าบ้านหลังนี้เป็นศูนย์รวมของบรรดาธุรกิจเพื่อสังคม มันจะช่วยสร้างคนที่มีคุณภาพให้กับประเทศ ซึ่งน่าจะมีประโยชน์กว่า

“และเรามองไปไกลถึงว่าจะสร้างคนที่มีคุณภาพเป็นพันเป็นหมื่นคนกลับคืนสู่สังคม ถ้ามีคนคุณภาพขนาดนั้นแล้ว สังคมก็จะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน”

บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899

บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899

ผมฟังแล้วจึงสงสัยว่า ทำไมโจถึงเชื่อมั่นในกิจการเพื่อสังคมขนาดนั้น

“ผมไม่ได้แค่เชื่อมั่นนะครับ แต่กิจการเพื่อสังคมคือสิ่งที่ใช่ในโลกยุคปัจจุบันที่เกิดการ Disruption ภาครัฐของทุกที่ทั่วโลกกำลังพัง ทุกเมืองใหญ่อย่างลอนดอน ปารีส เกิดปัญหาแบบเดียวกันหมด เพราะการบริหารจัดการเมืองแบบเดิมๆ ที่เคยทำมามันไม่ได้ผลอีกแล้ว

“อย่างการสร้างเมืองที่ทำทุกสิ่งมาให้คนใจกลางเมืองอย่างเดียวมันผิด มันควรจะสร้างทุกอย่างกระจายกันออกไปในทุกๆ เขต ซึ่งถ้ามันไม่ได้ผลเราก็ไม่ควรจะทำอีกต่อไปต้องหาหนทางใหม่

“หรือก็คือกิจการเพื่อสังคมนี่แหละ อย่างปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 นั้น ถ้าเชิญองค์กรเพื่อสังคมมารวมกันหาวิธีแก้ใน 3 วัน เราก็จะแก้มันไม่ได้ แต่เราจะมีวิธีแก้ปัญหาออกมาเลย” โจอธิบายถึงสิ่งที่เขาเชื่อมั่น

หลังจากนั้นทั้งสามคนก็อธิบายถึงตัวโครงการทั้งหมดที่จะเกิดขึ้น โครงการแรกคือ BANGKOK 1899 ที่ได้รับทุนสนับสนุนโดยมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์(Rockefeller Foundation) และกองทุนฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี โดยครอบคลุมพื้นที่ 2 ส่วน ส่วนแรกคือบริเวณพื้นที่ชั้นล่างและพื้นที่โดยรอบของบ้าน ที่จะถูกปรับให้เป็น Café, สวนหย่อมสาธารณะ และพื้นที่สำหรับการจัดอีเวนท์ อีกส่วนคือพื้นที่ชั้นบนที่จะกลายเป็นที่พักสำหรับศิลปินนานาชาติ, พื้นที่สำหรับจัดอีเวนท์ และพื้นที่สำนักงานของ BANGKOK 1899

อีกโครงการซึ่งตั้งอยู่ที่ตึกเรียนด้านหลังของตัวบ้านก็คือ ศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม หรือ Ford Resource and Engagement Center อันเกิดจากความร่วมมือระหว่างกองทุนฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี และหน่วยงานเอ็นจีโอหลายองค์กร โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาชุมชนนางเลิ้งที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของย่านนี้

บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899 บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899

จากบ้านสู่คาเฟ่ที่เป็นมากกว่าคาเฟ่

ซูซานนา อธิบายให้เราฟังถึงรูปแบบของ Na Café ที่แม้จะมีการตกแต่งสวยงามเหมือนคาเฟ่อื่นๆ เพื่อให้เป็นเหมือนแลนด์มาร์กชวนให้คนทั่วไปได้เข้ามารู้จักโครงการอื่นๆ แต่ที่นี่จะเป็นคาเฟ่ที่เป็นมากกว่าคาเฟ่ คือเป็นเหมือนกับพื้นที่สาธารณะที่ให้แรงบันดาลใจแก่สังคมในด้านต่างๆ (Creative Social Impact Café) เช่นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านอาหารและเครื่องดื่ม  ผ่านการจัดกิจกรรม เวิร์คชอปหรือมื้ออาหารในโอกาสพิเศษต่างๆ ไปจนถึงการทำงานร่วมกันระหว่างเชฟและศิลปินแลกเปลี่ยน

“ในช่วงแรกที่กิจกรรมของโครงการจะเน้นไปที่เรื่องของการไม่สร้างขยะ หรือ Zero Waste ในคาเฟ่นี้เองก็จะมีการจัดการให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นการใช้พื้นที่รอบๆ คาเฟ่ปลูกผักกินเอง ในอนาคตก็จะมีแผนจะติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ให้ครอบคลุมการใช้งานภายในร้านด้วย

“หลายๆ คนอาจจะไม่เห็นภาพว่าเราสามารถใช้ชีวิตอยู่โดยปลอดขยะได้ยังไง แต่ถ้ามาเจอและได้แลกเปลี่ยนกับคนที่ใช้ชีวิตแบบนั้นก็อาจจะทำได้ง่ายขึ้น และเมื่อทำได้พอคนอื่นๆ รอบๆ ตัวเรามองเห็น มันก็จะค่อยๆ กระจายออกไปสู่วงกว้าง แล้วสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ และในอนาคตเราจะขยายไปสู่เรื่องอื่นๆ” ซูซานนาอธิบายเพิ่มเติมถึงอนาคตของคาเฟ่แห่งนี้

บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899 บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899

จากบ้านสู่ที่แสดงงานและที่พักของศิลปิน

พื้นที่ชั้นบนของบ้านที่มีสภาพแสนสวยงามอยู่แล้วได้ถูกปรับปรุงในส่วนที่จำเป็นอย่างห้องน้ำ เพื่อให้เป็นพื้นที่แกลเลอรี่และที่พักของศิลปิน โดยเน้นไปที่การแลกเปลี่ยนศิลปินกับประเทศอื่นๆ

ซูซานนาเล่าให้เราฟังว่า การที่มีศิลปินจากประเทศไหนมาก็หมายถึงจะมีศิลปินไทยได้เดินทางไปทำงานศิลปะที่ประเทศนั้นด้วยเช่นกัน ซึ่งเหมือนเป็นช่องทางที่ให้คนไทยได้ไปสร้างงานศิลปะในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยศิลปินคนแรกที่มาแลกเปลี่ยนและพักที่นี่นั้นเป็นศิลปินชาวนิวซีแลนด์ที่ทำงานศิลปะผ่านดนตรี

บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899 บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899

บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899 บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899

จากตึกเรียนเก่าสู่ศูนย์กลางของกิจการเพื่อสังคม

ตึกเรียนเก่าที่อยู่ด้านหลังของตัวบ้านนั้น (ศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม) จะกลายมาเป็นศูนย์กลางและที่ทำงานของบรรดา NGO และกิจการเพื่อสังคมที่ดูแลงานไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสัตว์ป่า พื้นที่สีเขียว ต้นไม้ในเมือง

บรรดาองค์กรเหล่านี้อาจจะทำงานกันอยู่ที่บ้านตัวเองหรือในชุมชนที่ตัวเองไปทำงานด้วย ซึ่งพอการที่ไม่มีจุดศูนย์กลางที่จะทำให้คนเหล่านี้ได้มาเจอกันก็จะทำให้ไม่ค่อยมีการพัฒนาต่อยอดงานไปข้างหน้า

“เราพบว่าในประเทศเราเองนั้นมีคนตัวเล็กๆ ที่ทำอะไรเพื่อสังคมเต็มเลย แล้วแนวโน้มก็จะมีมากขึ้นไปอีกเพราะว่าโลกมันแย่ลง แต่กลับไม่มีสถานที่ให้คนพวกนี้มาพบเจอกันเพื่อต่อยอดแลกเปลี่ยนอะไรกันได้ เราเลยตั้งใจจะทำให้ที่นี่เป็นเป็นแหล่งขับเคลื่อนผลักดัน (Incubator & Accelerator) สำหรับกิจการเพื่อสังคมที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ ชั้นใน ที่มีพร้อมด้วยคน พื้นที่ และเครือข่ายหรือแหล่งข้อมูล

เรามองว่าที่นี่คือสถานที่แรกในกรุงเทพฯ ที่สร้างปัจจัยทั้งสามอย่างนี้ เพื่อช่วยให้การทำงานและต่อยอดของเหล่ากิจการเพื่อสังคมนั้นเกิดขึ้นได้ และจะเป็นประโยชน์ให้ทุกคน ทั้งชุมชนในละแวกนี้ เขต กรุงเทพมหานคร ไปจนถึงระดับประเทศด้วย” โจทิ้งท้ายถึงอนาคตของพื้นที่นี้

บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899 บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899

บ้านหลังนี้เคยเป็นบ้านของผู้วางรากฐานด้านการศึกษาของประเทศ แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมาเป็นร้อยปี แต่เจตนารมณ์เรื่องการใช้การศึกษาพัฒนาประเทศของเจ้าของบ้านนั้นกลับยังไม่ได้สูญหายไป และดูเหมือนจะเข้มข้นขึ้นอีกด้วยซ้ำ

ผมคงไม่ได้คิดไปเองคนเดียวว่าอยากจะกลับมาเยือนที่นี่อีกหลายๆ ทีหลังจากสถานที่แห่งนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 นี้

บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899 บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, Bangkok 1899

Bangkok 1899 และ Na’ cafe จะเปิดให้คนทั่วไปได้เยี่ยมชมตั้งแต่เวลา 10 โมงเช้าของวันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan