เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาวังบางขุนพรหมคึกคักขึ้นมาเป็นพิเศษ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดให้ประชาชนเข้าชมในส่วนตำหนักใหญ่ก่อนที่จะปิดปรับปรุงในเดือนกรกฎาคม ภาพความสวยงามของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยามากว่า 100 ปีแห่งนี้ อาจชวนให้ผู้มาเยี่ยมชมจินตนาการไปถึงชีวิตหรูหราโรแมนติกอย่างเจ้าหญิงเจ้าชายในละคร แต่หากมองเข้าไปดีๆ คุณอาจพบว่าหน้าต่างทุกบาน บันไดทุกขั้นของวังแห่งนี้ แฝงเรื่องราวชะตากรรมอันแสนบอบช้ำไม่แพ้ผู้เป็นเจ้าของบ้าน

วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง

วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง

วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง


เจ้า ของ บ้าน

วังบางขุนพรหม คือที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือ ‘ทูลกระหม่อมบริพัตร’ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ตำหนักใหญ่เป็นตึกฝรั่งสองชั้นสไตล์บาโรก ฝีมือการสร้างสรรค์ของ มารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาลี ผสมผสานการตกแต่งลายปูนปั้นแบบโรโกโกอย่างสมพระเกียรติจนได้ชื่อว่า เป็นวังที่มีความวิจิตรงดงามที่สุดในบรรดาวังของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า

วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง

พระอัจฉริยภาพของทูลกระหม่อมบริพัตรทั้งในบทบาทของนักการทหาร นักบริหาร และศิลปิน ทำให้วังบางขุนพรหมถูกใช้เป็นสถานที่ประชุมและต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองมาหลายสมัย ว่ากันว่าวังแห่งนี้ไม่เคยว่างเว้นเสียงดนตรี ด้วยโปรดให้มีการประชันปี่พาทย์อยู่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีการเชิญครูต่างประเทศมาสอนวิชาการต่างๆ แก่พระธิดาและเจ้านายฝ่ายในของวังอื่นๆ จนเรียกขานว่าเป็น ‘บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้’

จนมาถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ควบคุมองค์ทูลกระหม่อมบริพัตรไว้เป็นองค์ประกันสำคัญสูงสุด เนื่องด้วยทรงเป็นผู้รักษาพระนคร ทั้งยังทรงควบคุมหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ของประเทศ เพื่อตัดเหตุจลาจลที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงทรงตัดสินพระทัยสละวังบางขุนพรหมที่เป็นบ้านมานานกว่า 30 ปีไว้เบื้องหลัง แล้วเสด็จลี้ภัยไปยังเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ตามข้อเรียกร้องของคณะราษฏร และประทับอยู่ที่นั่นจนสิ้นพระชนม์โดยไม่ทรงมีโอกาสได้เสด็จกลับมายังประเทศไทยอีกเลย

วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง

วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง

ตัวเปล่าเล่าเปลือย

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชะตากรรมวังบางขุนพรหมก็ถูกเปลี่ยนมือมาโดยตลอด มีส่วนราชการผลัดกันมาใช้ตำหนักทั้งสองเป็นที่ทำการไม่ต่ำกว่า 5 หน่วยงาน จับพลัดจับผลูมาจนถึงการดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2488 ซึ่งแบงก์ชาติก็ได้ใช้ตำหนักใหญ่เป็นสำนักงานเรื่อยมา จนถึงช่วงที่มีแผนบูรณะใหญ่ จึงได้ย้ายสำนักงานไปยังอาคารใหม่และมีการสำรวจสภาพอาคารอย่างจริงจังในปี 2531

การใช้งานอย่างสมบุกสมบันมาตลอด 50 กว่าปี ทำให้วังบางขุนพรหมอยู่ในสภาพเหมือนกับผู้ป่วยอาการโคม่า ความงดงามหรูหราอย่างในอดีตหายไปจนหมดสิ้น เหลือแต่โครงสร้างอาคารที่บอบช้ำยับเยิน หลังคากลายสภาพเป็นกระเบื้องลอนคู่ที่มีน้ำรั่วซึม ลายปูนปั้นตามผนังหลุดลอกไปตามอายุ สิ่งของตกแต่งดั้งเดิมภายในวังทั้งโคมไฟ พรมเปอร์เซีย เครื่องกระเบื้อง เครื่องเรือนนำเข้าจากต่างประเทศสูญหายไปหมด เหลือเพียงแต่โต๊ะ เก้าอี้ และอุปกรณ์สำนักงาน เพดานที่เคยประดับประดาด้วยโคมไฟแก้วก้านทองเหลืองและลายปูนปั้นอ่อนช้อยสไตล์โรโกโก ถูกแทนที่ด้วยแผงไฟนีออนคู่และพัดลมแขวนเพดาน สไตล์เดียวกันกับโรงเรียนประถมในสังกัดกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ บริเวณที่ว่างระหว่างตำหนักใหญ่และตำหนักสมเด็จยังมีการต่อเติมอาคารเพิ่มขึ้นมาเพื่อใช้เป็นห้องมั่นคงหรือตู้เซฟ สำหรับเก็บธนบัตรและเอกสารสำคัญของแบงก์ชาติ ทำให้ภาพรวมของวังบางขุนพรหมยิ่งดูแออัด หมดความสง่างามอย่างเช่นในอดีต

วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง  วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง

 วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง


ฟื้นคืนชีพ

งบประมาณการซ่อมแซมบูรณะประเมินไว้สูงถึง 46 ล้านบาท

น่าสนใจว่าแบงก์ชาติจะดีดลูกคิดความคุ้มค่าออกมาอย่างไร

คุณบุญเลิศ ตระกูลขจรศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย เล่าให้ฟังถึงความท้าทายในครั้งนั้นว่า “มีผู้ใหญ่ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์คิดจะรื้อทิ้งเลย ถ้าตอนนั้นตัดสินใจแบบนั้นก็ไปเลย พอคิดถึงความคุ้มค่าในแง่เศรษฐกิจแล้วมันไม่ใช่ ก็ยังดีที่มีคนพยายามให้ความสำคัญว่า ต่อไปนี่คือสมบัติของชาติ

แบงก์ชาติได้เชิญกรมศิลปากรและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาเป็นที่ปรึกษา เพื่อให้การบูรณะถูกต้องตามประวัติศาสตร์มากที่สุด ตลอด 50 กว่าปีที่ผ่านมา อาคารถูกทาสีทับไม่รู้กี่ชั้น ทีมบูรณะต้องหาสีดั้งเดิมด้วยการใช้ความร้อนจากไดร์เป่าผมค่อยๆ ลอกสีออกทีละชั้นจนเห็นสีจริง จากนั้นจึงผสมสีใหม่แล้วนำไปทาเทียบกันให้ใกล้เคียงของจริงมากที่สุด

วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง

วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง

วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง

สำหรับวังที่แทบไม่เหลืออะไรที่เป็นของเดิมเหลืออยู่เลย เฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งภายในต่างๆ ทั้งผ้าม่านและพรม ต้องจำลองขึ้นมาใหม่จากการเทียบเคียงกับรูปภาพและตำหนักที่สร้างในยุคเดียวกัน เช่นเดียวกับลายปูนปั้นที่ต้องแกะลายขึ้นมาใหม่โดยเทียบเคียงกับศิลปะในยุคสมัยนั้น

โจทย์สำคัญของการบูรณะใหญ่ในครั้งนั้น คือการฟื้นคืนความสง่างามของวังเดิมให้กลับมาอย่างสมพระเกียรติ เพื่อรับกับบทบาทใหม่ในการเป็นพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ การบูรณะจึงไม่ใช่การมุ่งไปหาวัสดุเดิม แต่มีการผสมผสานวัสดุและเทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่เข้ามาเพื่อช่วยให้แข็งแรงคงทน อย่างเช่นกระเบื้องมุงหลังคาแบบใหม่ที่เข้ามาทดแทนของเดิมซึ่งหาไม่ได้แล้ว หรือการเสริมคานเหล็กรับน้ำหนักเข้าไปในส่วนที่มีการทรุด  

วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง

เมื่อถามถึงสิ่งที่ยากที่สุด คุณบุญเลิศเล่าให้ฟังว่า ในการปรับปรุงอาคารโบราณให้ตอบสนองต่อการใช้สอยแบบใหม่ สิ่งที่ยากที่สุดคือการวางระบบต่างๆ ที่จำเป็น ทั้งระบบปรับอากาศ ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบดับเพลิง  จะต้องทำโดยรบกวนโครงสร้างให้น้อยที่สุด ซึ่งทีมบูรณะก็ได้อาศัยช่องใต้หลังคาทรงสูงเป็นทางเดินระบบต่างๆ แม้แต่ปลั๊กไฟเล็กๆ ก็ถูกซ่อนไว้ด้วยฝาครอบไม้ เพื่อเก็บร่องรอยไม่ให้ทำลายความงดงามทางสถาปัตยกรรม

ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือความชื้น เนื่องจากวังบางขุนพรหมเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนที่ใช้กำแพงรับน้ำหนัก ลักษณะการก่อสร้างคือการใช้ท่อนซุงวางเป็นฐานแล้วก่ออิฐบนซุงขึ้นมาอีกที ไม่มีการตอกเสาเข็มอย่างเช่นสมัยนี้ ประกอบกับตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ความชื้นในดินถูกดูดขึ้นมาผ่านกำแพงได้ตลอดเวลา ในการบูรณะขั้นแรก ช่างได้เลือกสีที่ดีสุดมาใช้ จึงทำให้ผนังเกิดอาการที่เรียกว่า ‘หายใจไม่ออก’  กลายเป็นสีโป่งน้ำ ทีมบูรณะจึงต้องแก้ด้วยการถอดปูนฉาบตรงฐานอาคารออกเพื่อให้ผนังสามารถระบายความชื้นออกได้

วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง

วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง

วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง

เผยโฉม 6 ดรุณีแห่งตำหนักสมเด็จ

อาคารด้านหลังติดกับตำหนักใหญ่คือ ตำหนักสมเด็จ ที่สร้างเพิ่มเติมเพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ผู้เป็นพระมารดาของทูลกระหม่อมบริพัตร บริเวณชั้นสองเหนือห้องบรรทมมีผลงานภาพวาดของนายคาร์โล ริโกลี จิตรกรชาวอิตาลี เจ้าของผลงานจิตรกรรมในพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นภาพนักบวชหญิงแบบยุคพรี-ราฟาเอล วาดด้วยเทคนิคเฟรสโกหรือการเขียนสีปูนเปียก ซึ่งเป็นการเขียนสีลงไประหว่างที่ปูนฉาบยังหมาดๆ เมื่อสีแห้งไปพร้อมกับปูนจึงทำให้ผลงานภาพวาดติดคงทน

เมื่อเทียบกับความยับเยินในส่วนอื่นๆ ของวังก่อนการบูรณะ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ภาพจิตรกรรมนี้จะสามารถอยู่รอดปลอดภัยมาได้จนถึงปัจจุบัน ในสภาพที่สีสันและรายละเอียดต่างๆ อยู่ครบถ้วนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

ตลอดระยะเวลาที่แบงก์ชาติได้เข้ามาใช้ตำหนักเป็นที่ทำการ ไม่มีใครทราบเลยว่าผนังโดมเหนือห้องบรรทมนี้มีภาพเขียนสีอยู่ เนื่องจากถูกปิดด้วยไม้อัดและฉาบปูนทับไว้ สันนิษฐานว่าเพื่อป้องกันการโดนทำลายเมื่อครั้งที่วังถูกเปลี่ยนมือในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนภายหลังมีการสำรวจสภาพอาคาร ทีมบูรณะได้บังเอิญไปเคาะผนังส่วนนี้เข้าและพบว่ามีความโปร่งไม่เหมือนผนังทึบ จึงสกัดปูนและแผ่นไม้อัดออกมา จนได้พบกับหญิงงามทั้ง 6 ที่แอบซ่อนอยู่ภายใน หลังจากเวลาล่วงเลยไปแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ

วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง

วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง

วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง

วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง


บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้

นับตั้งแต่การปรับปรุงใหญ่ในครั้งนั้นมาจนถึงวันนี้ แบงก์ชาติได้ดูแลรักษาตำหนักใหญ่และตำหนักสมเด็จให้คงความสมบูรณ์งดงามมาอย่างต่อเนื่อง รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของทั้งสองตำหนักที่ผสมผสานกันหลายยุคหลายสมัย กลายเป็นจุดเด่นที่ ผศ. ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ที่นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ แวะเวียนมาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง

“ที่นี่เล่าเรื่องได้ครบ ถ้าไปที่อื่นที่สร้างแล้วจบก็จะเห็นแค่ยุคนั้น แต่ตรงนี้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ต้องขอบคุณแบงก์ว่าเค้าพร้อมจริงๆ ทั้งสถานที่ มีวิทยากรช่วยด้วย เด็กคณะมาเกือบ 200 คน ทางนี้ก็มีความพร้อมที่จะรองรับได้”  

เจ้าหน้าที่ที่คอยให้ความรู้ระหว่างเดินชม ล้วนแล้วแต่เป็นพนักงานแบงก์ชาติ ที่เดิมทีมีความเชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคารมากกว่าวิชาประวัติศาสตร์ แต่ทุกคนต่างศึกษาและค้นคว้าเรื่องราวของวังบางขุนพรหมอย่างจริงจัง จนสามารถถ่ายทอดเรื่องราวและเกร็ดความรู้ให้กับประชาชนได้อย่างละเอียดครบถ้วน เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทั้งด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม ราวกับว่าจิตวิญญาณของบางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้ได้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง

เรื่องราวของวังบางขุนพรหมยังมีให้ค้นหาอีกมากมาย หมดจากเดือนมิถุนายนนี้ไป หากใครอยากเข้ามาเยี่ยมชมวังบางขุนพรหมคงต้องอดใจรอกันอีกสักพัก เพราะแบงก์ชาติปิดปรับปรุงใหญ่อีกครั้งเพื่อซ่อมแซมระบบปรับอากาศที่เริ่มทรุดโทรมลงหลังจากทำหน้าที่มานานเกือบ 30  ปี โดยคาดว่าจะเปิดให้เข้าชมได้อีกครั้งในต้นปีหน้า

วังบางขุนพรหม, แบงก์ชาติ, ปิดปรับปรุง

Writer

Avatar

แก้วขวัญ เรืองเดชา

โปรดิวเซอร์สารคดีโทรทัศน์ นักเขียน และนักออกแบบนิทรรศการ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan