ใครที่ขับรถผ่านทางด่วนผ่านมาแถวย่านหมอชิต จตุจักร หรือนั่งรถไฟผ่านสถานีบางซื่อก็คงเห็นโครงสร้างอาคารขนาดมหึมาที่กำลังก่อสร้างกันไม่หยุดหย่อนมาหลายปี มันใหญ่มากเสียจนดึงดูดสายตาทุกครั้งเวลานั่งรถผ่าน และแน่นอนว่าหลายคนคงมีคำถามในหัวว่าเจ้าโครงสร้างยักษ์นี่มันคืออะไรกัน

สถานีกลางบางซื่อ

บอกไปจะเชื่อไหมว่ามันคือสถานีรถไฟ และจะเป็นสถานีรถไฟที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยด้วย

มันมีชื่อว่า ‘สถานีกลางบางซื่อ’ หรือชื่อใหม่คือ ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ ว่าที่สถานีรถไฟศูนย์กลางของระบบรถไฟทางไกลที่จะมาแทนที่สถานีรถไฟกรุงเทพหรือหัวลำโพงที่เราคุ้นเคยกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก 

นี่ไม่ใช่เรื่องสมมติแต่อย่างใด แต่มันคือเรื่องจริงที่เรากำลังจะได้ใช้งานอะไรใหม่ๆ จากรถไฟไทยกันแล้ว

สถานีกลางบางซื่อ

รถไฟฟ้าสายสีแดง

หากพิจารณาแผนที่รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ แล้วคงต้องหิวลูกกวาดแน่ๆ เพราะมันมีสารพัดสี ทั้งม่วง น้ำเงิน เขียว เหลือง ส้ม แดง ชมพู ทอง 

รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเป็นหนึ่งในรถไฟฟ้าสารพัดสีของกรุงเทพฯ แตกต่างจากรถไฟสายอื่นคือมันไม่ใช่รถไฟในเมือง (Metro) แต่มันเป็นรถไฟชานเมือง (Commuter)

แผนแม่บทเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ซึ่งสายสีแดงเป็นระบบรถไฟชานเมืองต่างจากระบบอื่นๆ ที่เป็นรถไฟ Metro

รถไฟในเมืองคือรถไฟที่วางตัวอยู่ในเมือง มีเสกลเล็กที่สุด สถานีใกล้กัน รถไฟรอบถี่ ประตูเปิดทีก็มีแต่คนเข้าออกมหาศาล ส่วนรถไฟชานเมืองวางตัวออกจากในเมืองไปสู่รอบนอกของเมืองใหญ่ มีเสกลอัพขึ้นไปหน่อย ระยะทางไกลกว่า สถานีห่างกว่า รถไฟวิ่งเร็วกว่า แต่รอบน้อยกว่า ที่ผ่านมา เราคุ้นเคยกับรถไฟฟ้าเช่น BTS และ MRT ซึ่งเป็นรถไฟในเมือง ส่วน Airport Rail Link คือรถไฟฟ้าชานเมืองระบบแรกในประเทศไทย จากที่เคยมีแค่รถไฟชานเมืองของ รฟท. ซึ่งเป็นรถไฟธรรมดาวิ่งไปจังหวัดในรัศมีไม่เกิน 200 กม. โดยมีรถไฟในเมืองรับหน้าที่เป็นตัวป้อน (Feeder) คนเข้าสู่เมืองชั้นในอีกที

รถไฟฟ้าสายสีแดงก็เลยเป็นรถไฟฟ้าชานเมืองระบบที่ 2 แบ่งออกเป็น 2 สาย มี 2 สี

แผนที่โครงข่ายรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงแบบเต็มโครงการ

สายสีแดงเข้ม วางตัวแนวเหนือ-ใต้ มีศูนย์กลางอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ ทางทิศเหนือวิ่งไปตามแนวรถไฟสายเหนือ ผ่านดอนเมืองไปสุดสายที่รังสิต และมีแผนต่อขยายไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยุธยา และแตะขอบสระที่บ้านภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ส่วนด้านทิศใต้ พุ่งออกจากสถานีกลางบางซื่อ ผ่านสามเสน ยมราช ปลายทางที่สถานีรถไฟกรุงเทพซึ่งอนาคตจะเปลี่ยนชื่อเป็นหัวลำโพงตามภาษาปากสักที และมีส่วนต่อขยายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปโผล่คลองสาน วงเวียนใหญ่ มหาชัย ไปสุดสายที่ปากท่อ ตามแนวทางรถไฟสายแม่กลองเป๊ะๆ

สายสีแดงอ่อน วางตัวแนวตะวันตก-ตะวันออก มีศูนย์กลางที่สถานีกลางบางซื่อเหมือนกัน ฝั่งตะวันตกนั้นวิ่งขนานไปกับทางรถไฟสายใต้ผ่านบางซ่อน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางกรวย ไปสุดที่ตลิ่งชันและมีแผนต่อขยายไปศาลายา นครปฐม นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีเส้นแยกเข้าซอยจากตลิ่งชันไปโรงพยาบาลศิริราช

ส่วนแนวตะวันออกก็วิ่งคู่กับสายสีแดงเข้มผ่านสามเสน ผ่านสถานีรถไฟจิตรลดา ซึ่งเป็นอุโมงค์ 2 ชั้น ไปออกมักกะสัน สุดที่หัวหมาก และมีแผนต่อขยายไปลาดกระบัง สุดสายที่ฉะเชิงเทรา

ซึ่งทั้งสองเส้นนั้นมีสถานีกลางบางซื่อเป็นเซ็นเตอร์

ส่วนรถไฟที่จะวิ่งในสายนี้ เป็นรถไฟฟ้าที่ผลิตจาก Hitachi ประเทศญี่ปุ่น รับพลังงานไฟฟ้าจากสายส่งเหนือหัว มีความยาวแบบ 4 ตู้ และ 6 ตู้ ใช้ความเร็วในการบริการที่ 120 กม. / ชม. ใช้ระบบอาณัติสัญญาณยุโรป ETCS Level 1 เพื่อให้สอดคล้องกับรถไฟทางไกล

ลองพิจารณาจากแผนที่และรูปแบบการเดินรถจะเห็นได้ว่านี่มันแนวเดียวกับเส้นทางรถไฟปกติชัดๆ นั่นก็แปลว่ารถไฟฟ้าสายสีแดงนั้นก็คือการอัพเกรดรถไฟปู๊นๆ ในระยะชานเมืองให้เป็นรถไฟฟ้านั่นเอง ซึ่งมันคล่องตัวกว่า ไวกว่า สบายกว่ารถไฟชานเมืองแบบเดิมที่มีแต่รถพัดลมและรอบน้อย ถึงแม้ว่าระยะแรกทางเหนือจะไปสุดแค่รังสิต และทางตะวันตกจะสุดแค่ตลิ่งชัน (ส่วนทางใต้และตะวันออกยังไม่ได้สร้าง) ก็น่าจะช่วยบรรเทาความช้ำชอกที่ต้องติดอยู่บนถนนทุกเช้าทุกเย็นได้พอควรเลยล่ะ

แล้วสายสีแดงนี่มีแต่รถไฟฟ้าแค่นั้นหรือ?

ยกรถไฟไทยไปไว้ข้างบน

ในส่วนของรถไฟธรรมดา (aka รถไฟปู๊นๆ) เองนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเหมือนกัน จากที่เคยวิ่งปุเลงๆ อยู่ข้างล่าง ผ่านถนนตรงไหนก็ต้องชะลอเพราะไม้กั้นยังไม่ลง แถมวันดีคืนดีต้องหยุดรอรถยนต์นานแสนนานจนสงสัยว่าประเทศไทยนั้นเป็นชาติเดียวหรือไม่ที่รถไฟจอดรอรถยนต์ ซึ่งเจ้าสิ่งเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้รถไฟไทยเสียเวลาโดยไม่มีเหตุอันควรเลยในเขตกรุงเทพมหานคร 

นี่คือปัญหาที่ทั้งการรถไฟและคนนั่งรถไฟต้องพบเจอ 

วิธีการแก้ปัญหานั้นง่ายนิดเดียว ก็เอารถไฟที่มันต้องเจอกับรถยนต์หนีออกจากกันซะเลย ทำทางรถไฟให้เป็นทางเอกเทศไม่ต้องวิ่งปะปนกับใคร ให้เห็นหน้ากันแค่รถไฟอย่างเดียวแค่นี้ก็จบแล้ว ทางออกของเรื่องนี้ก็คือเอารถไฟธรรมดาไปวิ่งร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีแดงซะก็หมดเรื่อง 

โครงสร้างทางสายสีแดงช่วงจตุจักร-ดอนเมือง เป็นทางยกระดับวิ่งร่วมกันระหว่างรถไฟฟ้าและรถไฟทางไกล

รถไฟฟ้า รถไฟดีเซล รถไฟจักรไอน้ำ สามารถวิ่งร่วมกันได้ตราบใดที่ขนาดทางเท่ากันและติดตั้งระบบควบคุมการเดินรถเพื่อให้สามารถจัดการจราจรได้ แบบนี้ในต่างประเทศก็มีให้เห็นอยู่อย่างเช่นที่ญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมนี 

โครงสร้างทางรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต จึงเป็นทางยกระดับที่ออกแบบให้วางทางรถไฟไปได้ถึง 4 ทาง ซึ่งแบ่งกันคนละครึ่งระหว่างรถไฟฟ้า 2 ทาง และรถไฟทางไกล 2 ทาง โดยจัดให้รถไฟฟ้าวิ่งทางที่ 1 และ 4 จอดทุกสถานี ส่วนรถไฟทางไกลซึ่งจอดน้อยกว่าให้วิ่งทางที่ 2 และ 3 และจอดแค่บางสถานีเท่านั้น

แน่นอนว่าเมื่อเป็นทางรถไฟยกระดับก็ไม่ต้องเจอกับถนนแล้ว รถไฟจะวิ่งได้คล่องตัวมากขึ้น ลดเวลาในการเดินทางได้พอสมควร ส่วนสายสีแดงอ่อนนั้นรถไฟฟ้ากับรถไฟธรรมดาจะใช้ทางวิ่งร่วมกันเลย นั่นเป็นเพราะสายใต้มีขบวนรถไฟทางไกลไม่ได้มากนักไม่ได้กระทบมากเหมือนสายเหนือและอีสานที่มีรถค่อนข้างถี่กว่า

ส่วนช่วงในเมืองนั้นทางรถไฟจะลดระดับลงให้ต่ำกว่าพื้นดินเหมือนรถไฟใต้ดินแต่โครงสร้างไม่ได้เป็นอุโมงค์ มีแบริเออร์ มีรั้วกั้น ซึ่งโครงสร้างนี้เรียกว่า ‘คลองแห้ง’ โดยรถไฟโดยสารจะใช้คลองแห้งเป็นทางวิ่ง ส่วนรถไฟสินค้าจะใช้ทางรถไฟเดิมซึ่งตัดผ่านกับถนนตามปกติ แต่จะไม่สร้างผลกระทบต่อการจราจรเพราะมันมี Traffic น้อยและส่วนใหญ่วิ่งเฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น

โครงสร้างทางช่วงเข้าในเมือง ทางรถไฟโดยสารจะลดระดับลงคลองแห้ง บางส่วนเป็นอุโมงค์ซ้อน ส่วนทางรถไฟเดิมใช้เฉพาะรถสินค้า

สถานีกลางบางซื่อ

สถานีกลางบางซื่อ

สถานีกลางบางซื่อถูกกำหนดให้เป็นสถานีรถไฟต้นทางของรถไฟทางไกล รถไฟฟ้าความเร็วสูง และเป็นสถานีศูนย์กลางของรถไฟฟ้าสายสีแดงซึ่งทั้งสีแดงเข้มและสีแดงอ่อนก็จะมีบรรจบกันที่สถานีนี้ ซึ่งอัพเกรดมาจากสถานีรถไฟชุมทางบางซื่อ ซึ่งแต่เดิมเป็นสถานีรถไฟระหว่างทางที่มีความสำคัญไม่แพ้สถานีกรุงเทพ

สถานีนี้มี 4 ชั้น แต่ละชั้นมีพื้นที่ใช้งานต่างกัน

สถานีกลางบางซื่อ
สถานีกลางบางซื่อ

ตั้งแต่ย่อหน้านี้เป็นต้นไป เราอยากให้ทุกคนใช้จินตนาการตามเรา

ตอนนี้เราขับรถเข้ามาที่สถานีกลางบางซื่อ ข้างหน้าคือสถานีรถไฟที่ประดับด้วยกระจกขนาดใหญ่ ใต้หลังคาโค้งนั้นมีนาฬิกาเรือนใหญ่ประดับอยู่ลอกแบบมาจากสถานีกรุงเทพเป๊ะๆ ถ้าใครขับรถมาเขาคงกำลังลงไปจอดชั้นใต้ดินที่เป็นลานจอดรถขนาดใหญ่ 

สถานีกลางบางซื่อ
โถงทางเข้าหลักสถานีกลางบางซื่อ มีหลังคาทรงโค้งเลียนแบบสถานีกรุงเทพที่เป็นสัญลักษณ์ของรถไฟไทย

เมื่อเข้ามาในชั้น 1 ที่เป็นชั้นระดับพื้น จะพบกับโถงสถานีที่ใหญ่และกว้างขวาง มันมีเคาน์เตอร์ขายตั๋วของรถไฟไปต่างจังหวัด มีเครื่องขายตั๋วของรถไฟฟ้าสายสีแดง มีที่นั่งคอย มีทางเชื่อมกับรถไฟใต้ดิน มีร้านค้าหลากหลายที่ชั้นลอยให้ซื้อของก่อนเดินทาง 

สถานีกลางบางซื่อ
สถานีกลางบางซื่อ
โถงทางเข้าสถานี

“โปรดทราบ ผู้โดยสารของขบวนรถด่วนพิเศษอุตราวิถีปลายทางสถานีเชียงใหม่ โปรดรอการโดยสารชานชาลาที่ 9 ค่ะ” 

สิ้นเสียงประกาศเรียก ผู้โดยสารค่อยๆ ทยอยกันไปที่บันไดเลื่อน มันค่อยๆ พาทุกคนขึ้นไปชานชาลาที่อยู่ชั้น 2 มันเป็นชั้นชานชาลารถไฟทางไกลและรถไฟฟ้าสายสีแดง บนชั้นนี้มี 12 ชานชาลา มันถูกแบ่งเป็นชานชาลารถไฟทางไกล 8 ชานชาลา รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม 2 ชานชาลา และรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน 2 ชานชาลา 

รถไฟที่คุ้นตาจอดเต็มไปหมด บันไดเลื่อนแต่ละตัวพาผู้โดยสารมาขึ้นรถไฟในแต่ละชานชาลา แต่ละคนเดินเข้าไปบนรถอย่างง่ายดายเพราะชานชาลาเสมอระดับพื้นรถโดยสาร ไม่ต้องปีนขึ้นปีนลงบันไดอย่างสถานีรถไฟแบบเก่าแล้ว 

สถานีกลางบางซื่อ
สถานีกลางบางซื่อ
สถานีกลางบางซื่อ

บันไดเลื่อนพามาชั้นบนสุดที่มีความโอ่โถงสุดๆ หลังคาโครงเหล็กสูงสุดสายตา มันโปร่ง โล่งและสว่างกว่าชั้น 2 มาก บนนี้มีรถไฟความเร็วสูงหน้าตาโฉบเฉี่ยวจอดอยู่เต็มเลย มันคือชั้นของชานชาลารถไฟความเร็วสูงสายเหนือ สายอีสาน สายใต้ สายตะวันออก รวมแล้วตั้ง 12 ชานชาลา

สถานีกลางบางซื่อ
สถานีกลางบางซื่อ
ชั้น 3 ชานชาลารถไฟความเร็วสูง

มาพูดถึงนอกสถานีกันบ้าง หากนั่งอยู่บนรถไฟที่ค่อยๆ เคลื่อนออกจากชานชาลา เมื่อมันพ้นตัวอาคารสถานีแล้วภาพที่เห็นคือทางรถไฟที่ยั้วเยี้ยตัดไขว้ไปมาทั้งด้านข้างและด้านบน เราทึ่งคนออกแบบมากที่วาดเส้นทางรถไฟให้สลับไปสลับมาและแยกออกไปตามสายต่างๆ ของตัวเอง 

สถานีกลางบางซื่อ
ทางวิ่งออกจากสถานีกลางบางซื่อไปทางทิศเหนือ
ด้านบนของภาพคือทางสายใต้ที่วิ่งแยกตัวออกไป ส่วนด้านล่างคือสายเหนือและอีสานที่วิ่งร่วมกับรถไฟสายสีแดง เมื่อสร้างเสร็จจุดแยกต่างระดับนี้จะเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญที่ใครต่อใครก็ละสายตาไปไม่ได้แน่ๆ
สถานีกลางบางซื่อ
ทางวิ่งสถานีกลางบางซื่อออกไปทางทิศใต้

ทางรถไฟสายใต้ค่อยๆ แยกตัวออกไปทางซ้ายและค่อยๆ ห่างออกไป จุดแยกต่างระดับนี้มีความสูงลดหลั่นกันไปเหมือนทางต่างระดับบนทางด่วน แต่เปลี่ยนจากถนนเป็นทางรถไฟ ซึ่งเราเชื่อว่าเมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วจุดต่างระดับนี้จะเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่ผู้โดยสารรถไฟคงละสายตาไปไม่ได้เลย

สิ่งที่ทุกคนจินตนาการตามเราไปเมื่อกี้นี้มันกำลังจะเห็นเป็นภาพจริงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

นี่คงเป็นสิ่งที่คนไทยอยากเห็นจากรถไฟไทยมานานนับตั้งแต่เกิดมาแล้วเห็นแต่ภาพสถานีรถไฟแบบเดิมๆ ไม่ใช่แค่สถานีกลางบางซื่อแต่รวมถึงรถไฟทางคู่สายต่างๆ ที่กำลังก่อสร้าง ทั้งเป็นชานชาลาสูง สถานีที่ออกแบบมาให้เป็นระบบปิด ทางรถไฟระบบปิดที่มีรั้วกั้นตลอดสองข้างทาง รวมถึงการรองรับการติดตั้งระบบไฟฟ้าสำหรับจ่ายไฟให้รถไฟที่เคยรองรับแค่ระบบดีเซลมาเกือบจะทั้งชีวิต นี่คือสิ่งที่จะสนับสนุนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศไทยให้เติบโตขึ้นหลังจากที่ชะงักงันและเดินอย่างเชื่องช้ามาหลายทศวรรษ 

อนาคตใหม่ของรถไฟไทยกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว มานับถอยหลังเพื่อเข้าสู่ยุคสถานีกลางบางซื่อกันเถอะ

สถานีกลางบางซื่อ

อีกนิดอีกหน่อย

  1. ในช่วงแรกนั้นรถไฟทางไกลจะยังไม่ย้ายไปที่สถานีกลางบางซื่อทั้งหมด จะขึ้นรถไฟอาจจะต้องดูตั๋วดีๆ ว่ารถไฟขบวนที่เราขึ้นนั้นออกที่สถานีไหน ระหว่างสถานีกรุงเทพและสถานีกลางบางซื่อ ไม่งั้นขึ้นผิดไม่รู้ด้วยนะ
  2. สถานีกรุงเทพหรือที่คุ้นเคยกันว่าหัวลำโพงก็ไม่ได้หายไปไหน แต่จะลดบทบาทลงเป็นสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มส่วนทิศใต้ (บางซื่อ-หัวลำโพง) และมีหน้าที่ที่ 2 คือการเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟไทยอย่างเต็มภาคภูมิ
  3. นอกจากการสร้างสถานีรถไฟแล้ว พื้นที่รอบๆ สถานีกลางบางซื่อก็จะถูกพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน โรงแรม ศูนย์การค้า บ้านพัก คอนโดมิเนียม และอื่นๆ อีกมากมายเป็นเหมือนมหานครย่อมๆ จัดจ้านในย่านบางซื่อ

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ