‘15 ไร่ กับ 6 กลุ่มผู้ใช้งาน’ คือโจทย์สุดท้าทายที่นักออกแบบจากสถาบันอาศรมศิลป์ ประกอบไปด้วย แอน-อิสริยา ปุณโณปถัมภ์, ปุ๊ก-นฤมล พลดงนอก สถาปนิกชุมชน และ เป้-รัฐพงศ์ ปิ่นแก้ว ภูมิสถาปนิก จะมาเล่าถึงโปรเจกต์การพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่ ‘บางสะแก’ ให้พวกเราฟัง สำหรับคอลัมน์ Public Space ครั้งนี้

พื้นที่ 15 ไร่นี้มีการใช้งานฟังก์ชันหลายอย่าง เนื่องด้วยเป็นที่ตั้งของวัด ที่ทำการ อบต. โรงเรียน กศน. และสถานีอนามัย รวมอยู่ในไซต์เดียว ซึ่งการแบ่งขอบเขตที่ไม่ชัดเจนของแต่ละกลุ่มผู้ใช้งาน และการเปลี่ยนแปลงเส้นทางคมนาคมหลักจากทางน้ำมาเป็นทางบกตามยุคสมัย ทำให้การจัดการพื้นที่ของแต่ละส่วนเกิดความสับสน ใช้งานไม่สะดวก แล้วทางสัญจรก็มีการ ‘กลับหัวกลับหาง’ เกิดขึ้น

ภารกิจของเหล่าสถาปนิก คือการระดมสมองกับชาวบ้านเพื่อคลี่คลายปัญหา และที่สำคัญ ต้องออกแบบพื้นที่ที่สื่อสารความพิเศษเฉพาะตัวของตำบลบางสะแก เพื่อรองรับการทำกิจกรรมของชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างที่ชาวบ้านตั้งใจด้วย

ปรับพื้นที่ 15 ไร่ บางสะแก สมุทรสงคราม เป็นหน้าบ้านรับนักท่องเที่ยวที่ชุมชนก็ใช้งานได้

ที่มา สู่ ที่ไป

บางสะแกเป็นตำบลเล็ก ๆ ในอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ชาวบ้านยึดการทำสวนผลไม้เป็นอาชีพหลักกันมาแต่ไหนแต่ไร ซึ่ง ‘ส้มโอ’ และ ‘ลิ้นจี่’ เป็นของดีประจำถิ่นที่ทุกคนภูมิใจ ว่าหวาน หอม อร่อย

“เราคุยตั้งต้นว่าอยากทำโครงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในจังหวัดสมุทรสงคราม 2 พื้นที่” แอนเริ่มเล่าถึงที่มาที่ไป ซึ่งในที่สุดแล้ว บางสะแกก็ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 2 พื้นที่นั้น

“เพิ่งรู้ว่าหน่วยงานท้องถิ่นไม่มีพื้นที่เป็นของตัวเอง ส่วนใหญ่จะอยู่ตามวัด” สถาปนิกสาวกล่าวถึงปัญหาของตำบลเล็ก ๆ แห่งนี้ “กำนันซึ่งเป็นแกนนำก็เลยสนใจอยากผลักดันให้บางสะแกได้มีพื้นที่สาธารณะสักแห่งหนึ่ง จากที่ไม่มีเลย”

ผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ วัยรุ่น และเด็ก ๆ ชาวบางสะแก ไม่รู้จะไปรวมตัวกันที่ไหน ได้แต่อาศัยพื้นที่เล็ก ๆ ตามจุดต่าง ๆ ในชุมชนทำกิจกรรม ไม่มีพื้นที่ที่ใช้ได้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ อบต. จึงเสนอพื้นที่วัดบางสะแก ที่รายล้อมด้วยสวนส้มโอ-ลิ้นจี่ ริมคลองแควอ้อม ขนาด 15 ไร่ ให้อาศรมศิลป์พัฒนาต่อ ด้วยเหตุผลว่าที่นี่เหมาะเป็น ‘เซ็นเตอร์’ ของชุมชนมากที่สุด

ปรับพื้นที่ 15 ไร่ บางสะแก สมุทรสงคราม เป็นหน้าบ้านรับนักท่องเที่ยวที่ชุมชนก็ใช้งานได้

“ตอนแรกเข้าใจว่าเป็นวัด แล้วก็มีส่วนของ อบต. แต่พอเข้าไปดูก็พบว่ามีโรงเรียน มี กศน. มีสถานีอนามัยด้วย” แอนเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น จะเรียกว่าเป็นพื้นที่วัดอย่างเดียวก็คงไม่ถูก อาจต้องพูดรวม ๆ ว่าเป็นศูนย์ราชการที่รวม 5 ฟังก์ชันไว้ด้วยกัน

“พื้นที่นี้ไม่ได้มีผังแม่บทสำหรับอนาคต อาคารในไซต์ก็อาศัยสร้างในตำแหน่งที่สร้างสะดวก”

เดิมทีการสัญจรทางน้ำเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก วัดบางสะแกซึ่งสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา และโรงเรียนบางสะแกที่อยู่ข้างกันจึงอยู่ริมน้ำ และหันหน้าไปทางน้ำเพื่อรับคนที่เดินทางด้วยเรือ

วันเวลาผ่านไป เมื่อคลองลดบทบาทลง การสัญจรทางบกเข้ามาแทนที่ อบต. และสถานีอนามัยที่สร้างขึ้นมาใหม่ในพื้นที่เดียวกันจึงหันหน้าไปทางถนน

“คนจะไปวัด เด็กจะไปโรงเรียน ก็เลยต้องตัดเข้าไปใน อบต. กับอนามัยก่อน” ปุ๊กกล่าว เรียกได้ว่า Circulation (เส้นทางสัญจร) ยุ่งเหยิงขึ้น เพราะ ‘ยุคสมัย’ พาให้มีการเปลี่ยนทางเข้าของไซต์ไปโดยปริยาย”

ปรับพื้นที่ 15 ไร่ บางสะแก สมุทรสงคราม เป็นหน้าบ้านรับนักท่องเที่ยวที่ชุมชนก็ใช้งานได้

รับฟังเรื่องราว

จากนั้นช่วงเวลาของการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก็มาถึง

ปุ๊กเล่าว่าบางสะแกมีการทำงานเป็นระบบ อาศรมศิลป์จะทำงานผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้านก่อน แล้วผู้ใหญ่บ้านก็จะพาไปรู้จักว่า หมู่ของตัวเองมีบริบทอย่างไร ซึ่งเมื่อได้พูดคุยนักออกแบบ ก็ได้เห็นความพิเศษแตกต่างกันไป บางหมู่ก็มีความรู้เรื่องการทำขนมไทย บางหมู่เก่งเรื่องพืชสวน บางหมู่เก่งเรื่องทำสวนผสมผสาน

“ชาวบ้านกระตือรือร้นกันมาก” ปุ๊กเน้นเสียง จากปากคำของเธอ ชาวบางสะแกคือ ‘นัมเบอร์วัน’ ในการมีส่วนร่วม ต่างจากหลายครั้งที่เธอไปลงชุมชน แล้วเกิดปัญหาว่าชาวบ้านไม่กล้าแสดงความคิดเห็น

คนที่นี่อยากพัฒนาตำบลกันอยู่แล้ว พวกเขาอยากให้บางสะแกมีสภาพแวดล้อมที่ดี เศรษฐกิจรุ่งเรือง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาซื้อส้มโอกันเยอะ ๆ ให้สมกับความอร่อยที่มี

“เขาพยายามผลักดันให้ชุมชนให้เป็นที่รู้จัก ก็เลยทดลองจัดงาน Pomelo Run งานวิ่งที่มีกิมมิกเป็นส้มโอ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้รู้จักบางสะแกให้มากขึ้น” และงานวิ่งนี้ก็จัดใช้ไซต์ 15 ไร่นี้เป็นที่จัดงานหลัก

“โชคดีงานนี้จัดในช่วงที่อาศรมศิลป์เริ่มเก็บข้อมูลพอดี นักออกแบบจึงมีโอกาสได้เห็นการใช้พื้นที่ในวันที่คนเยอะ และมองเห็นภาพว่า พื้นที่นี้จะส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้อย่างไร

“15 ไร่นี้ นอกจากต้องรองรับชาวบ้านกลุ่มต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมา ยังต้องรองรับนักท่องเที่ยวเมื่อมีงานด้วย รวมเป็น 6 กลุ่มผู้ใช้งาน”

‘หนึ่งพื้นที่ แต่ต้องรองรับผู้ใช้งานหลายกลุ่ม’ จึงเป็นประเด็นหลักในการเริ่มออกแบบ

ปรับพื้นที่ 15 ไร่ บางสะแก สมุทรสงคราม เป็นหน้าบ้านรับนักท่องเที่ยวที่ชุมชนก็ใช้งานได้
ปรับพื้นที่ 15 ไร่ บางสะแก สมุทรสงคราม เป็นหน้าบ้านรับนักท่องเที่ยวที่ชุมชนก็ใช้งานได้

“เด็กอยากได้สนามเด็กเล่นระหว่างรอผู้ปกครองมารับ ผู้ปกครองก็อยากได้ที่รอรับเด็ก ตอนนี้ต้องตากแดดรออยู่บนมอเตอร์ไซค์” ปุ๊กเล่าว่าในวันนั้น มีชาวบ้านมากมายเข้ามาให้ข้อมูล เด็ก ๆ ในโรงเรียนซึ่งเป็นผู้ใช้งานสำคัญของพื้นที่ก็มาด้วย

“อบต. ต้องการพื้นที่ Multi-function จันทร์ถึงศุกร์เป็นที่จอดรถให้คนมาทำงาน หรือคนมาติดต่อราชการ แต่วันเสาร์อาทิตย์ปรับเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมได้

“ส่วนผู้สูงอายุก็อยากได้พื้นที่ออกกำลังกายใกล้ ๆ อนามัย เผื่อเป็นอะไรขึ้นมาจะได้อยู่ใกล้หมอ”

แล้วปัญหาเรื่องเส้นทางสัญจรที่เรากล่าวไปในตอนแรก ก็ตามมาด้วยปัญหา Zoning หรือการแบ่งพื้นที่ใช้งาน

ในอดีต ผู้ใช้งานทุกกลุ่มจะใช้พื้นที่นี้ร่วมกันทั้งหมด แต่เวลาต่อมา บริบทต่าง ๆ ของสังคมก็ทำให้พฤติกรรมการใช้พื้นที่เปลี่ยนไป โรงเรียนต้องการกำหนดพื้นที่เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน วัดก็ต้องการกำหนดเขตสังฆาวาสให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้มีการ ‘ตกลง’ ขอบเขตให้ชัดเจนเสียทีเดียว ความสับสนในการใช้พื้นที่จึงเกิดขึ้นเป็นระยะ

“อย่างตรงนี้ ชุมชนอยากให้เป็นส่วนออกกำลังกาย เขาก็จะไปตั้งที่ออกกำลังกาย ทำลู่วิ่ง ในขณะที่พระท่านก็อยากให้ตรงนั้นเป็นสวนสัปปายะ” แอนพูดถึงสิ่งที่ชาวบ้านเล่าในเวที ประเด็นแบบนี้นี่เองที่นักออกแบบอย่างพวกเขาต้องออกโรงแก้ไข

ทิป-ชัชนิล ซัง อีกหนึ่งภูมิสถาปนิกของอาศรมศิลป์ที่ร่วมรับผิดชอบโปรเจกต์นี้เสริมขึ้นมาว่า เป้าหมายของการออกแบบ คือทำให้ภาพรวมหลอมเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ยังใช้งานอย่างเป็นสัดเป็นส่วนได้ในขอบเขตของแต่ละคน แล้วก็มีพื้นที่กลางให้ทุกคนได้เชื่อมสัมพันธ์กัน

ปรับพื้นที่ 15 ไร่ บางสะแก สมุทรสงคราม เป็นหน้าบ้านรับนักท่องเที่ยวที่ชุมชนก็ใช้งานได้

ลองจัดระบบใหม่

เมื่อได้ยินเสียงสะท้อนแห่งความวุ่นวายจากกระบวนการมีส่วนร่วม อาศรมศิลป์จึงรวบรวมความต้องการของผู้ใช้งานกลุ่มต่าง ๆ แล้วนำมาจัดวางลงบนผังใหม่อย่างเป็นระบบ

“บางทีกิจกรรมของผู้สูงอายุก็ไปรวมอยู่กับพื้นที่เด็กได้” ตามที่ทิปได้กล่าวไป นอกเหนือจากการแบ่งแยกพื้นที่ แนวทางจัดผังใหม่นี้มีการรวมฟังก์ชันที่ใช้ร่วมกันได้ไว้ในพื้นที่เดียวกันหรือใกล้กันด้วย

“พื้นที่ลานปฏิบัติธรรม ก็ไปอยู่ใกล้ อบต. อนามัย พื้นที่ออกกำลังกาย ลู่วิ่ง ก็ไปอยู่ใกล้กับวัด แต่เป็นโซนที่ห่างจากเขตสังฆาวาส” เป้แจกแจงให้เราฟัง

สำหรับเส้นทางสัญจรที่ไม่ลงตัวในตอนแรก ก็ได้รับการคลี่คลายในขั้นตอนนี้

“ถนนหลักเดิมที่รถใช้วิ่ง จะตัดผ่าไปในวัด ระหว่างกุฏิ โบสถ์ และวิหาร ซึ่งการที่รถเข้ามาจอดตรงวิหารเยอะ ๆ ทำให้ความสง่างามของวิหารลดลงไป” เขาค่อย ๆ อธิบาย

“เราเลยทำถนนเส้นใหม่ ให้ผ่านทั้ง อบต. วัด และอนามัย ตรงเข้าไปรับคนที่วงเวียนรับส่ง แล้วก็วนกลับไปจอดที่ลานจอดรถริมถนน รถไม่ต้องเข้าไปยุ่งวุ่นวายถึงข้างในสุด” สำหรับเด็ก ๆ ที่มาโรงเรียนก็เดินต่อไปจากวงเวียนได้ในระยะใกล้ ๆ

“ส่วนถนนเส้นเดิมไม่ได้ยกเลิกนะ แต่ลดความสำคัญลง โดยการเปลี่ยนวัสดุผิวให้ดูเป็นเส้นทางคนเดิน แทนที่จะเป็นเส้นทางรถยนต์”

ปรับพื้นที่ 15 ไร่ บางสะแก สมุทรสงคราม เป็นหน้าบ้านรับนักท่องเที่ยวที่ชุมชนก็ใช้งานได้

แอนบอกว่าอีกหนึ่งแนวคิดที่กำหนดที่ทิศทางการทำงานของอาศรมศิลป์ คือ การเก็บของเก่าที่มีไว้ รวมถึงการส่งเสริมให้ของเก่าสวยสง่ายิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งของเก่าที่ว่าก็มีต้นสะดือริมน้ำอายุ 200 ปีที่ชาวบ้านถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ศาลาริมน้ำที่อยู่ไม่ไกลกัน และวิหารสมัยอยุธยา

วัดบางสะแกเป็นวัดเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยา มีช่วงที่ร้างประมาณ 200 ปี จากนั้นก็กลับมาบูรณะใหม่ โดยมุมมองปัจจุบันนี้ ทำให้ผู้คนมองเห็นวิหารไม่ค่อยชัด ไม่สง่างามเท่าที่ควร เมื่อมีการปรับปรุง Zoning และ Circulation จึงได้ส่งเสริมให้ของเก่าทรงคุณค่าเหล่านี้ปรากฏให้ชัดเจนกว่าเดิม

“เราทำให้มุมมองสู่วิหารชัดเจนขึ้น และทำให้วิหารมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เกื้อกูลต่อการประพฤติปฏิบัติธรรมยิ่งขึ้น” แอนกล่าว ถนนเส้นใหม่พาให้รถวิ่งมาถึงวิหารได้ แต่ลานกว้างที่เว้นไว้ ก็ทำให้เกิดระยะก่อนจะเข้าสู่สถาปัตยกรรมโบราณ ไม่จอแจเหมือนที่เคย

ส่วนริมน้ำซึ่งเคยเป็นทางเข้าหลักในอดีตที่คนไม่ค่อยได้ใช้งานแล้ว ก็กลายเป็นพื้นที่บรรยากาศดี มีทางเดินเล่น เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งทางสถาปนิกออกแบบให้คนได้สัมผัสและใกล้ชิดกับน้ำมากขึ้น แต่ไม่กระทบกับแนวคันเขื่อนเดิม ทั้งนี้ ยังมีทางเดินเท้าจากริมน้ำมุ่งไปสู่วิหารหลังงามด้วย

โครงการจัดระเบียบการใช้งานหลากฟังก์ชันใน 1 ไซต์ให้ลงตัว และการดีไซน์ให้ ต.บางสะแก เป็น ‘หน้าบ้าน’ รับนักท่องเที่ยว
โครงการจัดระเบียบการใช้งานหลากฟังก์ชันใน 1 ไซต์ให้ลงตัว และการดีไซน์ให้ ต.บางสะแก เป็น ‘หน้าบ้าน’ รับนักท่องเที่ยว

ขอเพิ่มกิมมิก

หลังจากนั้น สถาปนิกอาศรมศิลป์ทั้งสามก็พาเราลงรายละเอียดของดีไซน์ในแต่ละพื้นที่ โปรเจกต์ปรับปรุงไซต์บางสะแกในครั้งนี้ นอกจากต้องแบ่งพื้นที่และเส้นทางเดินให้ลงตัวแล้ว เหล่านักออกแบบยังมีหน้าที่ ‘ดึงเอกลักษณ์’ ของพื้นที่ออกมาให้ชาวโลกเห็น ซึ่งเอกลักษณ์ที่ว่า ก็คือส้มโอแสนอร่อยนั่นเอง

“นี่คือลานบางสะแกครับ” เป้เริ่มพาเราลงรายละเอียดไปในแต่ละพื้นที่ โดยเริ่มจากส่วนแรกที่เรียกว่าเป็น Welcome Area ริมถนน บริเวณที่ตั้งของอาคาร อบต. “แนวคิดคือพื้นที่ยืดหยุ่น ทำกิจกรรมได้ด้วย จัดงานคนเยอะ ๆ ก็จอดรถได้ด้วย เราเลยดีไซน์ให้ต้นไม้ไม่ไปขวางที่จอดรถ แต่ก็ให้ร่มเงาได้”

ในส่วนของวัด จะมีการปรับปรุงให้เขตสังฆาวาสเป็นสัดเป็นส่วน มีบรรยากาศที่สงบมากขึ้น และมีพื้นที่เชื่อมระหว่างวัด อนามัย โรงเรียน ซึ่งทั้งพระ นักเรียน คนทั่วไป ก็มาใช้ตรงนี้เป็นพื้นที่ส่วนกลางได้ และยังมีพื้นที่ที่ปฏิบัติธรรม ซึ่งพัฒนามาจากส่วนที่เคยเป็นพื้นที่รกร้าง

โครงการจัดระเบียบการใช้งานหลากฟังก์ชันใน 1 ไซต์ให้ลงตัว และการดีไซน์ให้ ต.บางสะแก เป็น ‘หน้าบ้าน’ รับนักท่องเที่ยว

“พื้นที่ระหว่างอนามัยกับ อบต. ที่ปัจจุบันมีต้นส้มโออยู่ ปลูกเป็นร่องสวน เราไม่อยากไปเปลี่ยนแปลงลักษณะภูมิทัศน์เดิม เลยแทรกทางเดินและลานออกกำลังกายยกลอยไปตามต้นส้มโอ ส่วนข้างล่างก็ยังเป็นร่องสวนอยู่ ไม่ได้ถมพื้นที่” อย่างที่อาศรมศิลป์ได้บอกไว้ว่าต้อง ‘เก็บของเก่า’ ร่องสวนเองก็เป็นสิ่งที่อยู่ตรงนี้มาตั้งแต่แรก และอยู่คู่กับบางสะแกมานานจนเป็นเอกลักษณ์

“ลานกีฬาที่ อบต. ทำไว้ เราเข้าไปปรับปรุงด้วยการเพิ่มฟังก์ชัน อย่างลานแอโรบิก ลานแบดมินตันเข้าไปตามที่ชาวบ้านเสนอ โดยมีส้มโอเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ”

โรงเรียนเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญ และสนามเด็กเล่นก็เป็นสิ่งที่ชาวบ้านลงความเห็นว่า จำเป็นที่สุด และน่าจะเกิดประโยชน์ที่สุด เพราะตอนนี้ไม่มีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ๆ เลย

โครงการจัดระเบียบการใช้งานหลากฟังก์ชันใน 1 ไซต์ให้ลงตัว และการดีไซน์ให้ ต.บางสะแก เป็น ‘หน้าบ้าน’ รับนักท่องเที่ยว

“เราได้ไอเดียมาจากตะกร้อสอยผลไม้ค่ะ” ปุ๊กเล่าถึงสนามเด็กเล่นใหม่หน้าอาคารอนุบาล ที่พวกเขาออกแบบด้วยการหยิบอุปกรณ์คู่ใจของชาวบางสะแกมาเป็นไอเดีย “เราดีไซน์ให้แบ่งช่วงเป็นแต่ละ Station เครื่องเล่นสำหรับเด็ก มีชิงช้า มีที่ปีน มีทางเดิน มีที่ห้อยโหนตัว ตามที่เราได้ไปปรึกษากับชุมชน”

  “ตอนก่อนสร้างมันเป็นช่วงโควิดพอดี เราเลยพยายามปรับ Station ให้มีระยะห่าง 2 – 3 เมตร จะได้เล่นอย่างปลอดภัยพอสมควร” แอนเสริมขึ้นมา

จากภาพ Perspective ที่ทีมงานให้เราดู จะเห็นได้ว่าสนามเด็กเล่นนี้ประกอบไปด้วยเชือกจำนวนมาก ซึ่งหน้าที่ถักเชือกนี้ ทางสถาปนิกบอกว่า ชาวชุมชน ครู และเด็กในโรงเรียนมาช่วยกันทำ ส่วนอะไรที่ต้องใช้แรงหน่อย พี่ ๆ ชาวบ้านบางคนและเจ้าหน้าที่ อบต. ก็จะอาสามาช่วยดูแล

หากนักท่องเที่ยวได้แวะมาเยือนที่นี่ ก็จะได้พบกับพื้นที่แห่งความร่วมมือกันของชาวบ้านที่มีส้มโอเป็นเอกลักษณ์ ทั้งต้นส้มโอจริง ๆ ในร่องสวน รวมถึงการออกแบบที่มีส้มโอและ ‘ความเป็นสวน’ เป็นไอเดีย

โครงการจัดระเบียบการใช้งานหลากฟังก์ชันใน 1 ไซต์ให้ลงตัว และการดีไซน์ให้ ต.บางสะแก เป็น ‘หน้าบ้าน’ รับนักท่องเที่ยว

เป้าหมายในใจ

“ความพยายามของบางสะแก คือเขาอยากขายความเป็นพื้นที่ที่ส้มโอ ลิ้นจี่ อร่อยที่สุด คาดหวังไว้ว่า สักวันหนึ่ง นักท่องเที่ยวจะพากันมาเที่ยวที่สวนของเขา” แอนเผยเป้าหมายที่ชาวบ้านอยากไปให้ถึง พร้อมกับกระซิบบอกเราว่า สวนที่นี่เขาสวยจริงนะ

โดยทำเลแล้ว วัดบางสะแกอยู่ติดกับแม่น้ำ มีตลาดน้ำอยู่ใกล้ ๆ ถึง 2 แห่งด้วยกัน ชาวบ้านจึงหวังให้พื้นที่โครงการพัฒนาเป็นท่าเรือในอนาคต เป็นที่ที่คนมาเที่ยวตลาดน้ำต้องแวะ หรือถ้ามาทางรถก็เข้ามาเที่ยวได้ เป็นเหมือน ‘หน้าบ้าน’ สำหรับแนะนำชุมชนให้รู้จักก่อนไปที่อื่น

ปุ๊กรู้สึกประทับใจบางสะแก ที่แม้ว่าแต่ละปีจะได้งบประมาณในการพัฒนาชุมชนน้อยมาก แค่ทำถนนก็หมดเงินแล้ว แต่พวกเขายังดูแลกันเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการดึงข้อดีของความเป็นชุมชนเกษตรมาเป็นจุดเด่นให้นักท่องเที่ยวสนใจ มีการจัดงาน Pomelo Run เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม-เศรษฐกิจ เพื่อนำรายได้มาใช้พัฒนาชุมชนต่อ และเพื่อบอกให้ลูกหลานในพื้นที่รู้ว่า บางสะแกก็มีต้นทุนที่ดีกับเขาเหมือนกัน

“บางสะแกเป็นชุมชนชาวสวนแบบใหม่ พูดไม่ถูกเหมือนกัน เป็นชาวสวนที่ทันสมัย” ปุ๊กพยายามหาคำจำกัดความ “เขายังเก็บความเป็นวิถีชีวิตชาวสวน ทำเกษตรกรรม ภูมิใจกับส้มโอแสนอร่อยของเขา แต่เขาก็พยายามเอาตัวเองออกมาสู่โลกภายนอกด้วย”

ที่บ้านปุ๊กเองก็เป็นชาวสวนเช่นกัน แต่สิ่งที่ได้เห็นที่บางสะแก ไม่เหมือนวิถีชีวิตที่เธอเคยเจอมาในอดีต และต่างจากภาพที่คาดไว้ในตอนแรก

เราในฐานะผู้ที่ได้ฟังเรื่องราวของบางสะแก หวังว่าโปรเจกต์ในครั้งนี้จะเป็นไปด้วยดี ได้พื้นที่สุขภาวะที่เหมาะชุมชน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะสมความตั้งใจของชาวบ้าน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้มีโอกาสไปเยือนเมืองส้มโออร่อยนี้ให้ได้ในสักวัน

โครงการจัดระเบียบการใช้งานหลากฟังก์ชันใน 1 ไซต์ให้ลงตัว และการดีไซน์ให้ ต.บางสะแก เป็น ‘หน้าบ้าน’ รับนักท่องเที่ยว

ภาพ : สถาบันอาศรมศิลป์

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน