The Cloud x Sustainable Development Goals

Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือข้อตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติ (UN) กับประเทศต่างๆ ว่าจะร่วมมือสร้างโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันใน 17 เป้าหมาย

หลายปีมานี้ เราได้ยินข่าวคราวการรับบริจาคสิ่งของจากมูลนิธิกระจกเงาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ชุดนักเรียน คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ ได้ยินว่าเขารับได้ทุกอย่าง 

คนยุคปัจจุบันที่หันมาสนใจเรื่องการจัดบ้าน เคลียร์สิ่งของไม่ได้ใช้ในชีวิต จึงจดชื่อ ‘โครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง’ ไว้ในลิสต์ เพื่อจัดส่งสิ่งของล้นความจำเป็นไปให้

คอลัมน์ Sustainable Development Goals พาคุณไปตะลุยโกดังสารพัดข้าวของบริจาคของมูลนิธิกระจกเงา และพูดคุยกับ สฤษดิ์ ถิรชาญชัย หัวหน้าโครงการ ถึงการผลักดัน เป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 12 Responsible Consumption and Production ภายใน พ.ศ. 2573 ลดการสร้างขยะในปริมาณมากโดยวิธีการป้องกัน ลดการใช้ รีไซเคิล และนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงบรรลุการบริหารจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

สฤษดิ์ ถิรชาญชัย

เราเชื่อว่าหลายคนคงได้ยินชื่อโครงการนี้มานานหลายสิบปีแล้ว เผลอๆ อาจเป็นหนึ่งในผู้บริจาคด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่หลายคนยังไม่รู้คือความเจ๋งของโครงการนี้ ซึ่งสิ่งของที่ได้รับบริจาคมานั้น มีการบริหารจัดการเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดถึง 3 ต่อ

ต่อแรก คือ นำสิ่งของบริจาคไปส่งต่อโดยตรงแก่คนขาดแคลน ผู้ด้อยโอกาส ผู้ประสบสาธารณภัย รวมไปถึงคนในค่ายอพยพซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเริ่มแรกของโครงการ

ต่อที่สอง คือ คัดสิ่งของที่ไม่เหมาะกับการบริจาคมาเปิดขายระดมทุน เพื่อนำรายได้สนับสนุนโครงการทั้งหมดของมูลนิธิกระจกเงา ได้แก่ ศูนย์ข้อมูลคนหาย โครงการอาสามาเยี่ยม โครงการผู้ป่วยข้างถนน โครงการโรงพยาบาลมีสุข โครงการยุติธุรกิจเด็กขอทาน

เท่ากับว่าของที่เราส่งไปบริจาคให้กับพวกเขา ทำประโยชน์ได้อีกหลายต่อ สิ่งของที่คนมองว่าเหลือใช้กลับเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนมากมาย ทั้งยังแฝงด้วยกำลังใจและศรัทธาอันยิ่งใหญ่ขนาดที่เจ้าของไม่ได้คาดคิด

แบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง โครงการส่งต่อของเหลือใช้ที่ช่วยทั้งคนและช่วยลดปริมาณขยะ

ต่อที่สาม สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือมีขยะเยอะมากแฝงมากับสิ่งของบริจาค สิ่งของจากการบริจาค 1 ครั้งอาจมีของใช้งานได้เพียง 40 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นขยะเกือบทั้งหมด ผู้บริจาคบางท่านอาจคิดว่า เมื่อบริจาคให้ไป ก็คือสิ้นสุดกระบวนการแล้ว แต่จริงๆ สิ่งของที่ว่าต้องผ่านกระบวนการอีกมากมาย

แต่ละวันจะมีขยะในรูปแบบของเหลือใช้ที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ พ่วงมากับของบริจาคจำนวน 20 ถุงดำต่อวัน เพื่อสุดท้ายสิ่งของเหล่านี้จะเป็นประโยชน์สูงสุดในอีกหลายทาง มูลนิธิกระจกเงาจึงได้ประสานงานกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญต่างๆ เริ่มจากผ้าที่ใช้งานไม่ได้หรือผ้าที่นำไป Reuse ไม่ได้ จะส่งต่อให้ SCG เพื่อนำไปเป็นขยะเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel)

ขยะเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นไม้ Particle หรือไม้ชานอ้อยเคลือบน้ำยา นำไปใช้ต่อได้ยากและผุกร่อนเร็วเมื่อโดนน้ำ ก็ส่งไปเป็นขยะเชื้อเพลิง ตอนนี้ขยะในโครงการเป็นของมีมูลค่า ซึ่งมูลนิธิกระจกเงาสามารถจัดการได้ดีถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และจะเดินทางต่อไปให้เข้าใกล้การเป็น Zero Waste ให้ได้มากที่สุด

แบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง โครงการส่งต่อของเหลือใช้ที่ช่วยทั้งคนและช่วยลดปริมาณขยะ
แบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง โครงการส่งต่อของเหลือใช้ที่ช่วยทั้งคนและช่วยลดปริมาณขยะ

นอกจากประโยชน์ 3 ต่อ โครงการนี้ ยังมีกำลังใจ ความหวัง และการขับเคลื่อนสังคมในแง่มุมอื่นติดไปกับของบริจาคอีกด้วย อย่างหลอดไฟหลอดหนึ่ง ถ้าเรามองว่าเป็นหลอดไฟมันก็เป็นแค่ของชิ้นหนึ่ง แต่ถ้านำไปติดที่โรงเรียนชนบทที่แสงสว่างไม่พอ พอติดแล้วไฟสว่างพร้อมใช้งาน เด็กๆ นั่งเรียนได้ การศึกษาเพื่ออนาคตของชาติก็ถูกพัฒนาไปพร้อมกัน ความหวังก็เกิดขึ้น

เราทุกคนมีส่วนในการขับเคลื่อนสังคมได้ ถ้าคุณมีสิ่งของที่ดูเหมือนไม่มีค่า จัดการไม่ได้ คิดไม่ออก อย่าปล่อยให้ทรัพยากรเหล่านั้นไร้ค่า ส่งไปให้โครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทรัพยากรเหล่านั้นก็จะสามารถไปสู่มือของคนอีกกลุ่มที่ขาดแคลนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สุดท้ายแล้วการแบ่งปันเพียงเล็กน้อยสร้างศรัทธาและกำลังใจยิ่งใหญ่ที่ไปไกลเกินกว่านั้น

01

เริ่มต้นจากชุดนักเรียนมือสอง

ช่วงสายของวันธรรมดา เราเดินมาเข้ามาในพื้นที่ 3 ไร่ของ Mirror Art ในซอยแจ้งวัฒนะ 1แยก 6 ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการแบ่งปันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงของมูลนิธิกระจกเงา

เท่าที่สังเกตจากทางเข้า เราเห็นรถขนส่งสิ่งของเข้ามาไม่ขาดสาย รวมถึงผู้คนหลายสิบเดินมุ่งตรงเข้าไปในโกดังเปิดโล่งขนาดใหญ่ ด้านในนั้นมีคนเดินขวักไขว่ถือตะกร้าเดินเข้าไปในส่วนที่กั้นด้วยตาข่ายเหล็กที่แบ่งพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วน

“ตรงนี้เป็นพื้นที่คัดแยกสิ่งของบริจาค และส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ร้านค้าสำหรับธุรกิจเพื่อสังคมของเรา” สฤษดิ์อธิบายภาพตรงหน้าที่เรากำลังสนใจ ก่อนย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการที่หลายปีมานี้ คนในสังคมให้ความสนใจกันมากขึ้น

แบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง โครงการส่งต่อของเหลือใช้ที่ช่วยทั้งคนและช่วยลดปริมาณขยะ
แบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง โครงการส่งต่อของเหลือใช้ที่ช่วยทั้งคนและช่วยลดปริมาณขยะ

เริ่มจาก 15 ปีที่แล้ว กลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงาเริ่มทำงานด้านปัญหาสัญชาติพี่น้องชนเผ่า และปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จึงได้พบปัญหาเพิ่มเติมในด้านการขาดแคลนชุดนักเรียนของเด็กๆ ชนเผ่า พวกเขาจึงเปิดรับบริจาคชุดนักเรียนมือสองผ่านระบบ Mailing List ในสมัยนั้น และได้การตอบรับอย่างดี มีผู้บริจาคชุดนักเรียนเข้ามาจำนวนมาก

แต่นอกเหนือจากชุดนักเรียนแล้ว ผู้บริจาคได้ส่งเสื้อผ้าทั่วไป และสิ่งของอื่นๆ ติดมาด้วย ทางกลุ่มจึงคิดแบบแผนการจัดการให้เกิดประโยชน์ ด้วยการนำไปขายในหมู่บ้านในพื้นที่เหล่านั้นในราคาชิ้นละ 1 บาท เพื่อนำเงินรายได้มอบให้กับผู้นำชุมชนหรือกรรมการหมู่บ้านไปใช้พัฒนาชุมชนของตนเอง

“ถามว่าทำไมเราต้องคิดราคาหนึ่งบาท เพราะต้องการให้คนในหมู่บ้านมีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้ โดยรายได้ที่ได้ก็มอบกลับไปให้เขาเพื่อใช้พัฒนาชุมชนของตัวเอง ซึ่งในสมัยนั้นมีการพัฒนาเส้นทางหรือสร้างแนวกันไฟ แต่ไม่นานนักโครงการนี้ต้องปิดตัวลง เพราะเรายังไม่มีการบริหารจัดการและวิธีรับมือกับสิ่งของบริจาคที่มีความหลากหลายมากเสียจนทำให้ระบบที่มีอยู่พัง จึงต้องหยุดเรื่องนี้ไว้ก่อน”

แบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง โครงการส่งต่อของเหลือใช้ที่ช่วยทั้งคนและช่วยลดปริมาณขยะ

หลังจากจัดตั้งมูลนิธิกระจกเงาและตั้งสำนักงานในกรุงเทพฯ ควบคู่กับการทำงานในพื้นที่เชียงราย มูลนิธิฯ เริ่มเปิดรับบริจาคคอมพิวเตอร์และหนังสือ เพื่อมอบให้กับชุมชนที่ขาดแคลน ซึ่งมีผู้บริจาคจำนวนหนึ่งมอบเสื้อผ้าทั่วไปติดมาเช่นเคย จึงกลายเป็นที่มาของโครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง

“มีเสื้อผ้าเข้ามาจำนวนหนึ่งจนเราต้องมานั่งขบคิดกันว่ารอบนี้ต้องออกแบบกิจกรรมจริงจัง จึงตั้งเป็นโครงการเพื่อเปิดรับเสื้อผ้าและสิ่งของทั่วไป”

ในปีที่ 2 ของโครงการ มีผู้บริจาคเข้ามาเป็นจำนวนมาก รวมถึงเริ่มมีผู้บริจาคที่เป็นภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้สิ่งของเพิ่มเป็นจำนวนมหาศาล จึงเกิดการวางเป้าหมายบริหารสิ่งของบริจาคให้ได้ประโยชน์ที่สุด

02

รับได้ทุกอย่าง

 “ตอนนี้เรารับทุกสิ่งทุกอย่าง ของที่อยู่ในบ้าน ของใช้ในชีวิตประจำวัน เรารับหมด” สฤษดิ์ยิ้มเมื่อเราถามว่าหลังจากระบบลงตัว ทางโครงการรับบริจาคอะไรบ้าง

เขาเล่าต่อว่า แต่ละปีมูลนิธิฯ จะจัดแคมเปญประชาสัมพันธ์ในชื่อเก๋เรียกความสนใจอย่าง ‘ของเก่าเราขอ’ ‘มหกรรมเคลียร์’ และ ‘แฟชั่นสัญจร’ เพื่อระดมสิ่งของบริจาคจากผู้สนใจ

ส่วนการเดินทางของสิ่งของบริจาคเข้ามา 3 ทาง คือ หนึ่ง ผู้บริจาคเดินทางมาด้วยตัวเอง สอง ผู้บริจาคขอให้นำรถออกไปรับ และสาม ผู้บริจาคส่งสิ่งของผ่านพาร์ตเนอร์ด้านระบบโลจิสติกส์ เช่น ไปรษณีย์ไทย Kerry NIM Express ที่มีการร่วมมือกันอำนวยความสะดวกให้ผู้บริจาค เช่นถ้าส่งมาที่มูลนิธิกระจกเงา มีส่วนลดค่าส่ง 50 เปอร์เซ็นต์ หรือบริการส่งฟรี 3 เดือน

แบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง โครงการส่งต่อของเหลือใช้ที่ช่วยทั้งคนและช่วยลดปริมาณขยะ
แบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง โครงการส่งต่อของเหลือใช้ที่ช่วยทั้งคนและช่วยลดปริมาณขยะ

เมื่อสิ่งของบริจาคมาถึงศูนย์รับบริจาค จะมีเจ้าหน้าที่แบ่งแยกสิ่งของออกเป็นแต่ละประเภทยิบย่อย เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ชุดนักเรียน ของกิฟต์ช็อป ของใช้ทั่วไป เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และวัสดุก่อสร้าง หลังจากนั้นสิ่งของที่คัดแยกแล้วจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่นำไปบริจาคและกลุ่มที่นำไประดมทุน ดังนั้นสิ่งของที่ได้รับบริจาคมานี้มีการบริหารจัดการเพื่อให้ได้ประโยชน์ 2 ต่อ

ต่อแรก คือ นำสิ่งของบริจาคไปส่งต่อโดยตรงแก่คนขาดแคลน ผู้ด้อยโอกาส ผู้ประสบสาธารณภัย รวมไปถึงคนในค่ายอพยพ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเริ่มแรกของโครงการ

ต่อที่สอง คือ คัดสิ่งของที่ไม่เหมาะกับการบริจาคมาเปิดขายระดมทุน เพื่อนำรายได้สนับสนุนโครงการทั้งหมดของมูลนิธิกระจกเงา ได้แก่ ศูนย์ข้อมูลคนหาย โครงการอาสามาเยี่ยม โครงการผู้ป่วยข้างถนน โครงการโรงพยาบาลมีสุข โครงการยุติธุรกิจเด็กขอทาน

แบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง โครงการส่งต่อของเหลือใช้ที่ช่วยทั้งคนและช่วยลดปริมาณขยะ

“ของที่เรานำไปส่งต่อโดยตรงเราจะจัดไว้เลยคือ ชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนทุกอย่าง สื่อการเรียนการสอนทุกชนิด อาจมีเสื้อผ้าทั่วไปบ้าง ซึ่งเราจะจัดให้โรงเรียน ศูนย์ในชุมชน วัด หรือแม้กระทั่งองค์กรพัฒนาชุมชนในพื้นที่ แม้แต่หน่วยงานกู้ภัย ซึ่งน้ำท่วมขอนแก่นครั้งนี้ เราก็เอาของลงไปช่วยได้ทันที” สฤษดิ์อธิบายถึงเส้นทางของการจัดการสิ่งของบริจาค ที่ต้องคัดสรรให้ตรงกับความต้องการของผู้รับ

“ผู้รับมีสิทธิ์เลือกหนังสือหรือเสื้อผ้า สำหรับชุดนักเรียน เรากำลังพัฒนาถึงการแบ่งตามไซส์หรือโรงเรียนต้องการไซส์แบบนี้ ถ้ามีเราก็ส่งให้ เพื่อให้ได้ประโยชน์โดยตรง ไม่ต้องเอาของไปกอง เพราะของที่กองนั้นอาจสร้างประโยชน์หรือเป็นโอกาสของคนอื่นได้

“ระยะหลังเราส่งเฟอร์นิเจอร์ไปตามโรงเรียนเยอะมาก จนบางทีแปลกใจว่าไม่มีการจัดสรรงบประมาณด้านนี้ให้โรงเรียนหรือ การส่งของชิ้นใหญ่นับเป็นเรื่องหนักเอาการเหมือนกัน เพราะมีค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งและการใช้กำลังคนเยอะ แต่เรายินดีที่จะทำให้ เพราะเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ช่วยจัดห้องเรียน หรือแม้แต่ห้องสมุดพร้อมใช้ให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนและประสบภัยพิบัติได้เยอะทีเดียว”

ต่อมาเมื่อเอ่ยถึงประเด็นการขายระดมทุน หลายคนคงสงสัยว่าทำไมต้องนำสิ่งของบริจาคมาขาย สฤษดิ์เข้าใจความรู้สึกและความกังวลของผู้บริจาคหลายคนเช่นกัน และเขาให้เหตุผลว่า

 “สิ่งของบริจาคบางรายการไม่เหมาะกับการบริจาค และเป็นสิ่งของที่คุณภาพค่อนข้างดี เช่นเสื้อผ้าหรือกระเป๋าบางอย่าง เราจึงนำมาเปิดระดมทุนในราคาถูก เพื่อนำรายได้มาสนับสนุนเพื่อนในแต่ละโครงการของมูลนิธิฯ ที่ทำงานร่วมกัน เพราะการเขียนขอทุนมีปัจจัยต่างหลายอย่างที่อาจทำให้งานล่าช้า เราต้องการความเร็วและความเป็นเอกภาพในการทำงาน”

03

เส้นทางการระดมทุน

การระดมทุนในที่นี้ไม่ใช่การนำไปขายทอดตลาดเพื่อหวังกำไรสูงสุดอย่างธุรกิจทั่วไป หากเป็นการจัดการในลักษณะของธุรกิจเพื่อสังคม โดยขายสินค้าประเภทเสื้อผ้าเป็นหลักในราคาเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาจริง เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมาเลือกซื้อเป็นสินค้ามือสอง และนำไปขายสร้างเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองต่อไป

“เราเปิดกว้างให้คนมาซื้อโดยไม่มีการผูกขาด หรือสร้างเงื่อนไขให้คนมีกำลังซื้อเยอะมารับของไปทั้งหมด เพราะเราต้องการกระจายให้ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรได้ ระยะแรกเหมือนจะมีการแย่งชิงกัน ต่อมาจึงพัฒนาเป็นระบบโควตา แต่ละวันคุณต้องมาลงทะเบียนซื้อเพื่อของได้หกตะกร้า คัดเลือกตามที่พอใจแล้วนำมาคิดเงิน ที่เหลือคนอื่นก็จะได้เลือกไป”

สฤษดิ์พาเราเดินดูห้องต่างๆ ในโกดังเก็บสิ่งของบริจาคที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากห้องแยกประเภทสิ่งของบริจาค ไปสู่ห้องคัดแยกเสื้อผ้าซึ่งเป็นของบริจาคหลักของที่นี่

ในห้องเล็กๆ ที่กั้นด้วยผืนพลาสติกใสหน้าประตูคล้ายโรงงาน มีอาสาสมัคร 5 – 6 คนคัดแยกประเภทเสื้อผ้าใส่ลังพลาสติกอย่างขยันขันแข็ง ต่อมาลังเสื้อผ้าเหล่านั้นจะถูกจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบ แยกชัดเจนว่าเป็นเสื้อผ้าสำหรับนำไปส่งต่อ หรือเสื้อผ้าที่จะนำไปเป็นสินค้าต่อไป 

แบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง โครงการส่งต่อของเหลือใช้ที่ช่วยทั้งคนและช่วยลดปริมาณขยะ

ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 9.30 – 12.00 น. จะมีผู้คนจำนวนหนึ่งเข้ามาเลือกซื้อเสื้อผ้าในพื้นที่ขาย ซึ่งเป็นโถงขนาดใหญ่ แบ่งสัดส่วนสินค้าอย่างชัดเจน เสื้อผ้าจะแบ่งตามราคา 10 – 20 – 30 บาท ทุกคนถือตะกร้าเข้าไปรื้อไปเลือกได้ตามใจ

ที่น่าทึ่งสำหรับเราคือ เสื้อผ้าเหล่านี้เปลี่ยนใหม่วันต่อวัน!

หลังเที่ยงวันเสื้อผ้าทั้งหมดจะถูกเก็บใส่กระสอบและขายเหมาในราคา 70 บาท เพราะนับเป็นสินค้าเหลือจากการเลือก ในวันต่อไปเสื้อผ้าล็อตใหม่ที่คัดสรรเรียบร้อยและเก็บไว้เป็นสต็อกแล้ว จะนำมาลงขายให้ผู้ซื้อมาเลือกกันได้ใหม่

“เป็นเสน่ห์ทางธุรกิจที่เรานำมาปรับใช้ ให้คนซื้อรู้สึกว่าได้ของใหม่ตลอดเวลา” สฤษดิ์ว่าอย่างนั้น

แบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง โครงการส่งต่อของเหลือใช้ที่ช่วยทั้งคนและช่วยลดปริมาณขยะ

นอกเหนือจากกองเสื้อผ้าราคาย่อมเยาแล้วอีกด้านหนึ่งนั้นเป็นส่วนของร้านแบ่งปัน ที่คัดเสื้อผ้าคุณภาพระดับมีแบรนด์มาแขวนขายในราคาตัวละ 100 บาท รวมถึงสินค้าคุณภาพดีชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า รองเท้า กระเป๋าเดินทาง สินค้าสำหรับเด็ก

เราถามถึงประเด็นที่อาจมีคนกังวลว่า สินค้าเหล่านี้อาจไม่ได้กระจายไปถึงคนที่ลำบากจริงๆ หากมีผู้ขายเจ้าใหญ่แอบมาซื้อไปด้วย

“จริงๆ เป็นระบบที่อาจพึ่งพากันนิดหน่อยในวงการธุรกิจของมือสอง อาจต้องมี Supplier มาเป็นตัววิ่งบ้าง แล้วก็มีรายเล็กมาวิ่ง ถึงจะเกิดตลาดที่สมบูรณ์ได้” เขาอธิบายให้เข้าใจ

“ถ้าเราไปเจาะว่าให้แต่คนยากจนและลำบาก อาจทำให้ตลาดของเขาหดตัว เพราะพวกเขามีเงื่อนไขนิดหน่อยตรงที่เงินไม่เยอะ เวลาต้องเอาเงินมาซื้อของทำให้เงินจม ดังนั้นก็จะมีรายใหญ่หน่อยมาช่วยอีกที และพึ่งพากันในระบบนิเวศถึงจะไปต่อได้ แต่เราก็โฟกัสและมีการควบคุมอยู่”

04

ธุรกิจเพื่อคนจน

เมื่อดำเนินงานมาได้สักระยะ ทีมงานโครงการได้พบว่าคู่ค้าที่เข้ามาซื้อของเป็นประจำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทำอาชีพเป็นแม่ค้าขายของมือสองตามตลาดนัดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คนกลุ่มนี้มีปัญหาด้านความเป็นอยู่อื่นๆ ติดมาด้วย เช่นการมีหนี้สินจากการกู้นอกระบบ หรือปัญหาด้านเศรษฐกิจต่างๆ ดังนั้นการสร้างอาชีพที่มั่นคงให้พวกเขาจึงเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง ทีมงานจึงมีการต่อยอดพัฒนา ‘ธุรกิจเพื่อคนจน’ โดยใช้ระบบสมาชิก

“เราจัดเป็นระบบสมาชิก โดยมีการสะสมยอดการซื้อ หรือถ้ามีคนที่ไม่ขายเลยแต่อยากลองดู เราก็เริ่มต้นโดยให้ของฟรีไปก่อน พอเขาตั้งต้นได้ก็กลับมาหา มาเป็นสมาชิกและซื้อของกับเราต่อไป ตอนนี้เรามีสมาชิกประมาณหนึ่งพันคนแล้ว ในแต่ละวันก็มีคนที่มาซื้อของกับเราประมาณสองร้อยคน”

ข้อได้เปรียบที่สมาชิกจะได้มากกว่าขาจรทั่วไปคือ ได้รับเงินปันผลที่จ่ายปีละ 2 ครั้ง พร้อมการดูแลเยียวยาปัญหาชีวิตจากมูลนิธิฯ โดยตรง

สฤษดิ์ ถิรชาญชัย

“สิ่งที่สมาชิกจะได้รับนอกจากการซื้อของได้ในราคาถูกมากเพื่อนำไปสร้างอาชีพให้ตัวเองได้ คือ หนึ่ง เขาจะได้รับการช่วยเหลือในกรณีที่ยากจนจริงๆ เช่น หากลูกเขาเจ็บป่วย พ่อแม่ไม่สบาย มีผู้ป่วยติดเตียง เราก็มีทรัพยากรบางอย่างที่ดูแลเขาได้ สองคือ ในทุกปีเราจะมีปันผลให้สองครั้ง ในหนึ่งปีคุณซื้อของเป็นยอดรวมเท่าไหร่ คุณมาเบิกคืนได้ห้าเปอร์เซ็นต์ เป็นเหมือนการออมหรือเป็นโบนัสให้ตัวเอง ซึ่งเงินส่วนนี้อาจนำไปแก้ไขในสภาวะที่ติดขัดได้ 

“สุดท้ายแล้วโครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลงออกแบบมาเพื่อแบ่งปันจริงๆ เราไม่ได้คิดเอาเงินปันผลห้าเปอร์เซ็นต์มาเป็นการเก็งกำไรทางการตลาด ขณะเดียวกันเราก็บริหารจัดการให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคมได้ เมื่อเราอยู่ได้ก็นำเงินที่มีไปลงทุนช่วยเหลือคนได้จริง” เขาเล่าอย่างภูมิใจ

05

ขยะที่แฝงตัวมา

สิ่งที่เหนือความคาดคิดของเราคือ มีขยะเยอะมากแฝงมากับสิ่งของบริจาค สิ่งของจากการบริจาค 1 ครั้ง อาจมีของใช้งานได้เพียง 40 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นขยะเกือบทั้งหมด

“ผู้บริจาคบางท่านอาจไม่เข้าใจว่าของที่บริจาคควรดีแค่ไหน หรืออย่างไรนับเป็นขยะ และเขาอาจคิดว่าเมื่อให้มาคือสิ้นสุดกระบวนการแล้ว แต่ถ้าเห็นขั้นตอนที่เล่ามาคือมีการจัดการอีกเยอะมาก” สฤษดิ์เริ่มอธิบาย

“เมื่อโครงการใหญ่ขึ้น เราจึงต้องคิดเรื่องขยะต่อด้วย เริ่มจากเสื้อผ้า จะมีเสื้อผ้าที่ไม่สามารถใช้ได้จริง ขนาดจะเป็นผ้าขี้ริ้วยังลำบาก ซึ่งแต่ละวันจะมีของเหล่านี้พ่วงมาเสมอ เรารับมาเยอะจนคิดว่าเราเป็นภาระสังคมแล้ว เพราะเราผลิตขยะเยอะมากและจัดการไม่ได้จำนวนยี่สิบถุงดำต่อวัน ในขณะเดียวกันเราก็กำลังเป็นผู้ถูกกระทำด้วย”

สฤษดิ์ ถิรชาญชัย

ทีมงานต้องระดมความคิดเพื่อวางมาตรการจัดการขยะอย่างจริงจังและเร่งด่วน ในที่สุดก็หาทางแก้ปัญหาเปลี่ยนขยะให้มีมูลค่า และแปลงเป็นรายได้ ไปพร้อมกับการจัดการให้เข้าใกล้การเป็น Zero Waste ได้สำเร็จ

“จริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องของการรับผิดชอบต่อสังคมที่องค์กรต้องมีอยู่แล้ว เราให้เทศกิจมารับขยะไปได้ แต่ก็ต้องไปเป็นภาระกับทางเทศกิจที่ไปจัดการขยะที่โรงขยะอีก เราจึงคิดจัดการตั้งแต่ที่เราเอง เราได้ประสานงานกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญต่างๆ เริ่มจากผ้าที่ใช้งานไม่ได้ที่เป็นผ้าผสม ซึ่งนำไป Reuse ไม่ได้ จะส่งต่อให้ SCG เพื่อนำไปเป็นขยะพลังงานทางเลือก เป็น RDF (Refuse Derived Fuel)”

“ต่อมาเป็นขยะเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นไม้ Particle หรือไม้ชานอ้อยเคลือบน้ำยา พวกนี้นำไปใช้ต่อยากมากและผุกร่อนเร็วเมื่อโดนน้ำ เราก็ส่งไปเป็นขยะเชื้อเพลิง ส่วนพลาสติกทั้งหมด เราแยกเป็นชนิดและนำไปขายให้กับซาเล้งและโรงงานที่รับซื้อกลายเป็นรายได้เข้ามา ตอนนี้ขยะในโครงการเป็นของมีมูลค่า และเราจัดการได้ดีถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว และจะเดินทางต่อไปให้เข้าใกล้การเป็น Zero Waste ให้ได้มากที่สุด”

06

สร้างวัฒนธรรมการแบ่งปันร่วมกัน 

สังคมไทยเป็นสังคมที่ชื่นชมในเรื่องของการแบ่งปันและการให้ แต่ความท้าทายยิ่งใหญ่ก็คือ วัฒนธรรมของการบริจาคที่สั่งสมมาแต่เดิม

“ส่วนใหญ่เรายังติดวัฒนธรรมที่ว่า ของที่ให้เป็นของทำบุญ ควรจะไปถึงมือผู้รับโดยตรง ดังนั้นในช่วงแรกหลังจากที่เราสื่อสารข้อเท็จจริงว่า มีการนำของบริจาคไปขายระดมทุน จึงมีคำถามมากมายจากผู้บริจาค เพราะบางทีเขาไม่ได้รับข้อความจากเราโดยตรง ซึ่งเราต้องใช้ความพยายามสื่อสารสักสองปีกว่าจะเข้าใจกัน

“ที่ผ่านมาเราพยายามสร้างวัฒนธรรมการบริจาคให้เห็นภาพร่วมกันชัดเจน โดยการเล่าเรื่องการทำงาน เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส” สฤษดิ์เล่าถึงการแก้ไขปมปัญหาที่ต้องคลี่คลายให้ชัดเจน

แต่หลังจากปลุกปั้นและดูแลโครงการนี้มาเป็นเวลา 9 ปี เขาก็ได้เห็นการเติบโตของโครงการและกระแสสังคมที่ให้ความสำคัญกับการแบ่งปันมากขึ้น และมีโอกาสที่จะก้าวสู่การแบ่งปันกันในสังคมอย่างยั่งยืนได้

“เมื่อคนเปิดรับเทรนด์ด้าน CSR มากขึ้น เขาก็อยากช่วยเหลือสังคมมากขึ้น คนเริ่มฉุกคิดถึงว่าอะไรเป็นเงื่อนไขสำคัญ ให้เราเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่ เมื่อก่อนเราอาจรู้สึกว่าการจะมอบเสื้อผ้าให้คนที่ต้องการเป็นเรื่องยากมาก แต่วันนี้มันง่ายขึ้นเพราะมีเรามีวิธีการจัดการให้คุณได้

แบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง โครงการส่งต่อของเหลือใช้ที่ช่วยทั้งคนและช่วยลดปริมาณขยะ
แบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง โครงการส่งต่อของเหลือใช้ที่ช่วยทั้งคนและช่วยลดปริมาณขยะ

“วันนี้สิ่งของที่อยู่ในมือคนกลุ่มหนึ่งสามารถตกไปถึงมือของคนอีกกลุ่มที่ขาดแคลนได้จริง ทรัพยากรเหล่านี้ไหลไปถึงพวกเขา หากคุณมีทรัพยากรที่ดูเหมือนไม่มีค่า จัดการไม่ได้ คิดไม่ออก คุณแค่ส่งมาให้เรา เราจัดการต่อให้คุณได้

“ที่ผ่านมาเราดึงพาร์ตเนอร์ด้านต่างๆ มาร่วมงานกับเรา สร้างคุณค่าและนวัตกรรมร่วมกัน สร้างบรรยากาศแห่งการแบ่งปัน ใครมีจุดแข็งด้านไหนก็มาร่วมกัน บางบริษัทมีอุปกรณ์สำนักงาน โต๊ะ เก้าอี้ เขาก็นำมาให้ เราส่งต่อให้โรงเรียนได้ หรือแม้แต่สถาบันการศึกษาส่งนักศึกษามาฝึกงาน ส่งอาสาสมัครมาร่วมทำงานกับเราได้ มันมีช่องทางให้ทำภารกิจนี้ร่วมกันได้เยอะมาก”

สำหรับรายได้จากการขายระดมทุนในแต่ละปีนับว่าเป็นไปตามเป้าหมาย เพราะมีรายได้เพียงพอสำหรับการบริหารจัดการโครงการ และช่วยเหลือเพื่อนในโครงการให้ดำเนินงานอย่างราบรื่นและสำเร็จได้

“แต่เรามีเงินไม่เยอะนะครับ บางทีมีการตีความว่ากระจกเงาได้เงินเยอะเป็นร้อยล้าน ไม่จริงครับ” สฤษดิ์ยืนยัน

“เรามีเงินไม่เยอะ และเราไม่เก็บเงิน เพราะเราลงหมดกับงานและโครงการ ซึ่งแต่ละงานก็เป็นการแก้ไขปัญหาระดับชาติ แต่ทั้งนี้เราได้คำนึงถึงความคุ้มทุน และบริหารให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด โดยพยายามผลักดันให้งานไปสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ หลายโครงการก็ประสบความสำเร็จแล้ว”

ในอนาคตเขาอยากให้โครงการนี้พัฒนาไปถึงการจัดเป็น Warehouse ที่ดูแลทรัพยากรสำหรับผู้ขาดแคลนรวมไปถึงให้องค์กรพัฒนาสังคมต่างๆ มาเลือกนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ผมวาดความสำเร็จของโครงการไว้ในมุมของการบริหารทรัพยากร โดยนำไปวางให้ถูกจุดถูกที่ ส่งต่อให้คนที่ขาดแคลนจริงๆ ได้ใช้ทั้งหมด นั่นถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว”

07

สิ่งของน้อยนิด กำลังใจมหาศาล

จากประสบการณ์ทำงานเพื่อสังคมที่ยาวนานกว่า 15 ปี สฤษดิ์รับรู้ปัญหามากมายที่ซ่อนอยู่ในสังคมไทย ความขาดแคลนเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงไม่ใช่ภาพที่หน่วยงาน NGO สร้างขึ้นมา

จะเชื่อไหมว่า โรงเรียนในจังหวัดปทุมธานีที่นับเป็นปริมณฑลของเมืองหลวง ยังมีความขาดแคลนชนิดเดียวกับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ

“ผมไม่นึกไม่ฝันเลยว่าจะเจอสภาพโรงเรียนอย่างนี้ ป้ายโรงเรียนก็ล้มพิงกำแพงมานานแล้วแต่ไม่มีงบซ่อมแซม”สฤษดิ์เล่าด้วยสีหน้าครุ่นคิด 

“ในโรงเรียนมี ผอ. ผู้หญิงและครูผู้หญิงทั้งหมดเพียงไม่กี่คน เรานำสิ่งของที่เขาขาดไปมอบให้ พาอาสาสมัครร้อยกว่าคนไปเซ็ตอัพโรงเรียนให้ใหม่ ให้นักเรียนได้ใช้ประโยชน์ แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือจิตใจ คุณครูที่รู้สึกหมดกำลังใจก็มีพลัง มีแรงใจขึ้นมาทำงานที่เขาต่อสู้มาตลอดได้”

สฤษดิ์ ถิรชาญชัย

สุดท้ายแล้วการแบ่งปันเพียงเล็กน้อยสร้างศรัทธา กำลังใจอย่างยิ่งใหญ่ และการหมุนเวียนทรัพยากร อันเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 12 Responsible Consumption and Production ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าที่ใครหลายคนคาดคิด

“นอกจากการแบ่งปันสิ่งของแล้ว มันมีกำลังใจและความหวังติดไปกับของด้วย หลอดไฟหลอดหนึ่ง ถ้าเรามองว่าเป็นหลอดไฟก็จบ แต่ถ้านำไปติดที่โรงเรียนที่แสงสว่างไม่พอ พอติดแล้วไฟสว่างพร้อมใช้งาน เด็กนั่งเรียนได้ ความหวังก็เกิดขึ้น คุณครูก็รู้สึกดี ตรงนี้ผมว่ามันยอดเยี่ยมมาก”

“เพราะการให้ของคุณมันไปได้ไกลกว่าที่คิด มันไปถึงแก่น ไปสู่จิตใจของผู้รับ ไม่ได้อยู่แค่ปัจจัยทางกายที่เขาได้รับ การให้ของเราเป็นการให้โดยที่เขาไม่ต้องมากราบไหว้ เราให้ในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิ์พึงจะได้รับ เรามอบความปรารถนาดีและศรัทธาให้เขา เขาก็ให้ความรู้สึกดีตอบกลับมา พอภาพของคนสองฝั่งมาเจอกัน ผมว่าอย่างนี้ทุกอย่างจบ”

สำหรับสฤษดิ์ ในฐานะคนทำงานด้านสังคมมานาน นับเป็นฟันเฟืองสำคัญหนึ่งในการสร้างบรรยากาศการแบ่งปัน ที่ผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคมของเราให้เกิดขึ้น

“ผมภูมิใจที่เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่เอาไปต่อเป็นภาพใหญ่ และพยายามสร้างแนวคิดร่วมกับภาพนั้นให้เป็นฝันที่เกิดขึ้นจริงได้ นั่นคือ ภาพของสังคมที่มีการช่วยเหลือและแบ่งปันกันอย่างแท้จริง ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่สุดของโครงการและตัวผมเอง”

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ