The Cloud x สถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทย

เสน่ห์ของริมฝั่งน้ำเจ้าพระยาผ่านเขตเมืองเก่าทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีของกรุงเทพฯ คือสีสันและวิถีชีวิตของชุมชนเก่าแก่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมงาน ‘งานอาหารสานใจ ชิม ช็อป ล่องเรือ’ ของชุมชนมัสยิดบางอ้อ ที่จัดไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 โดยงานนี้ถือว่าคนในชุมชนเป็นผู้ริเริ่มเปิดบ้านต้อนรับผู้สนใจและอยากสัมผัสชาวมุสลิมในมิติต่าง ๆ ได้รับฟังบรรยายประวัติศาสตร์ชุมชน เดินชมมัสยิด และได้ลิ้มรสอาหารทั้งคาวหวานอีกด้วย นับได้ว่าเป็นกิจกรรมดี ๆ และช่วยให้เราได้ทำความรู้จักชุมชนมุสลิม ‘แขกแพ’ ที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่แห่งนี้ได้ดียิ่งขึ้น จึงขอเก็บเรื่องราวของชาวแขกแพและมัสยิดบางอ้อมาเล่าให้ฟัง 

มัสยิดบางอ้อ สำรวจมัสยิดริมน้ำของชาวแขกแพ และแหล่งชิมอาหารมุสลิมแสนอร่อย ย่านจรัญฯ
มัสยิดบางอ้อ สำรวจมัสยิดริมน้ำของชาวแขกแพ และแหล่งชิมอาหารมุสลิมแสนอร่อย ย่านจรัญฯ
มัสยิดบางอ้อ สำรวจมัสยิดริมน้ำของชาวแขกแพ และแหล่งชิมอาหารมุสลิมแสนอร่อย ย่านจรัญฯ

ความเป็นมาของชุมชนแขกแพและมัสยิดบางอ้อ

ตามประวัติคำบอกเล่าของคนในชุมชนกล่าวว่า ‘แขกแพ’ คือกลุ่มชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่บนเรือนแพซึ่งจอดอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำและคลองในอยุธยามาแต่เดิม โดยส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายซุนนี (Sunni) อีกทั้งยังประกอบขึ้นจากผู้คนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชาวอาหรับ ชาวมลายู และชาวจาม ฯลฯ ส่วนมากประกอบอาชีพค้าขายหรือรับราชการเป็นขุนนาง อีกทั้งการที่พวกเขาลงหลักปักฐานในอยุธยาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการแต่งงานกับคนท้องถิ่น ผสมกลมกลืนจนเรียกได้ว่าเป็น ‘มุสลิมท้องถิ่น’ (Localized Muslim) กลุ่มหนึ่งของลุ่มน้ำภาคกลาง

มัสยิดบางอ้อ สำรวจมัสยิดริมน้ำของชาวแขกแพ และแหล่งชิมอาหารมุสลิมแสนอร่อย ย่านจรัญฯ
จิตรกรรมรูปแขกแพในพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตร

เมื่อถึงคราวกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ. 2310 บรรดาแขกแพเหล่านี้อพยพหนีสงคราม ถอนเรือนแพล่องตามลำน้ำเจ้าพระยาลงมาหาทำเลปลอดภัย บ้างเข้าไปสมทบกับชุมชนชาวมุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตลาดแก้ว-ตลาดขวัญ (จังหวัดนนทบุรี) แต่ส่วนใหญ่จะล่องแพต่อลงมาจนถึงราชธานีใหม่ที่เมืองบางกอก โดยจะไปรวมตัวกันอยู่ที่กุฎีใหญ่ (มัสยิดต้นสน) ใกล้ปากคลองบางหลวง (บางกอกใหญ่) เพื่อประกอบศาสนกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ในขณะที่แขกแพบางกลุ่มไปตั้งชุมชนบริเวณปากคลองบางกอกน้อย (มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะฮ์) หรือลงใต้ไปจนไปถึงย่านคลองสานและย่านบางลำพูล่าง (เจริญนคร) เหล่าลูกหลานของแขกแพเหล่านี้ยังคงสืบสายสกุล และมีสายสัมพันธ์เครือญาติโยงใยตลอดสายน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อยุธยาจนถึงกรุงเทพฯ จวบจนถึงปัจจุบัน

สำหรับชุมชนมัสยิดบางอ้อ แขกแพกลุ่มหนึ่งได้มารวมตัวกันผูกแพริมตลิ่งย่านบางอ้อ ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่เรือกสวนเพาะปลูกผลไม้ จากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษว่า มัสยิดบางอ้อหลังแรกเป็นเรือนไม้บนแพสำหรับใช้ประกอบพิธีละหมาด แต่เมื่อชุมชนขยายจนมีจำนวนคนมาละหมาดมากขึ้น จึงได้ยกมัสยิดเรือนแพขึ้นมาบนฝั่งและขยายต่อเติมให้กว้างขึ้น จนกระทั่งใน พ.ศ. 2462 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนจึงได้อุทิศที่ดินเพื่อเป็นมัสยิด และร่วมกับออกทุนทรัพย์สร้างมัสยิดก่ออิฐถือปูนอย่างดงงามหลังปัจจุบันขึ้น

มัสยิดบางอ้อ สำรวจมัสยิดริมน้ำของชาวแขกแพ และแหล่งชิมอาหารมุสลิมแสนอร่อย ย่านจรัญฯ

ยิ่งไปกว่านั้น ชาวชุมชนมัสยิดบางอ้อยังมีประวัติด้านการประกอบอาชีพที่น่าสนใจ อย่างการได้รับสัมปทานค้าไม้ซุงจากภาคเหนือ และนำเรือไปลากซุงมาจากปากน้ำโพธิ์ นอกจากนี้ยังมีกิจการโรงเลื่อยไม้และเรือเมล์วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-ปากน้ำโพอีกด้วย จากภาพถ่ายทางอากาศภาพหนึ่งของ ปีเตอร์ วิลเลียม-ฮันต์ ใน พ.ศ. 2489 แสดงให้เห็นแพซุงผูกรวมกันทอดยาวอยู่ด้านหน้ามัสยิดบางอ้อและอู่ซุงขนาดใหญ่ เป็นหลักฐานแสดงถึงอดีตกิจการอันรุ่งเรืองและเป็นรากฐานสำคัญให้กับคนชุมชนแห่งนี้ 

หากสังเกตภูมินามย่านบางอ้อ-บางพลัด ในแนวถนนจรัญสนิทวงศ์ ยังคงปรากฏการใช้นามสกุลของนายห้างมุสลิมค้าซุงจากชุมชนมัสยิดบางอ้อเป็นชื่อเรียก อาทิ ซอยมุขตารี ซอยโยธาสมุทร ซอยสิทธิวณิช ซอยดำรงผล ซอยมานะจิตต์ เป็นต้น

มัสยิดบางอ้อ สำรวจมัสยิดริมน้ำของชาวแขกแพ และแหล่งชิมอาหารมุสลิมแสนอร่อย ย่านจรัญฯ
รูปถ่ายทางอากาศ

ความงามของสถาปัตย์-ศิลปะอิสลาม

มัสยิดบางอ้อ สำรวจมัสยิดริมน้ำของชาวแขกแพ และแหล่งชิมอาหารมุสลิมแสนอร่อย ย่านจรัญฯ
มัสยิดบางอ้อ สำรวจมัสยิดริมน้ำของชาวแขกแพ และแหล่งชิมอาหารมุสลิมแสนอร่อย ย่านจรัญฯ

เมื่อเดินเข้ามาด้านในชุมชน จะสะดุดตากับมัสยิดบางอ้อสีเหลืองอร่ามตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มัสยิดหลังนี้สร้างด้วยสถาปัตยกรรมผสมผสานแบบตะวันตกสมัยนิยมช่วงรัชกาลที่ 6 ผสานกับส่วนประกอบอาคารของศิลปะอิสลามอย่างหออะซานคู่ได้อย่างลงตัว 

บริเวณตรงกลางเหนือประตูทางเข้ามัสยิด มีคำจารึกภาษาอาหรับเขียนว่า “ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์ มุฮัมมัด เราะซูลลุลลอฮ์” แปลว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และมุฮัมมัดคือศาสนทูตของพระองค์” คือคำปฏิญญาณตนของชาวมุสลิม 

ถัดลงมาคือจารึกคำว่า “อัลมัสยิด อัลอุบูดียะฮ์” แปลว่า “สถานที่ก้มกราบของบ่าวผู้ภักดี” ยามแหงนขึ้นไปมองจะได้ตั้งจิตระลึกก่อนที่จะเดินเข้าไปนมัสการพระเจ้าภายใน ส่วนด้านข้างขนาบด้วยจารึกคำว่า “เยามุลอะฮัด 7 ฟี ชะฮ์ริ เศาะฟัร อัลมุบาร็อก 1339” แปลว่า “วันอาทิตย์ที่ 7 เดือนเศาะฟัร อันประเสริฐ (เดือนที่สองตามปฏิทินอิสลาม) ฮิจเราะฮ์ศักราช 1339” ซึ่งก็คือปีที่สร้างมัสยิดบางอ้อหลังนี้นั่นเอง ตรงกับ พ.ศ. 2462 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นั่นเอง 

มัสยิดบางอ้อ สำรวจมัสยิดริมน้ำของชาวแขกแพ และแหล่งชิมอาหารมุสลิมแสนอร่อย ย่านจรัญฯ
มัสยิดบางอ้อ สำรวจมัสยิดริมน้ำของชาวแขกแพ และแหล่งชิมอาหารมุสลิมแสนอร่อย ย่านจรัญฯ

เมื่อเข้าไปด้านมัสยิด บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมประตูทางเข้ามัสยิดจึงไม่ตรงแกนอาคารโถงละหมาด ต้องอธิบายก่อนว่า ในการละหมาดหรือการนมัสการพระผู้เป็นเจ้าของชาวมุสลิมนั้นจะต้องหันหน้าไปยัง ‘ทิศกิบละฮ์’ (Qiblah) ที่ตั้งของวิหารอัลกะอ์บะฮ์ ในมัสยิดอัลฮะรอม นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นชุมทิศและเอกภาพในการนมัสการของชาวมุสลิมทั่วโลก ดังนั้น ไม่ว่ามัสยิดจะตั้งอยู่ ณ ที่ใดบนโลก ผู้ออกแบบจะต้องคำนวณตำแหน่งและวางแกนให้มัสยิดหันหน้ายังทิศกิบละฮ์ (สำหรับกรุงเทพฯ จะหันไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเล็กน้อย หรือประมาณ 287.5°) 

อย่างไรก็ดี นอกจากสถาปนิกผู้ออกแบบมัสยิดบางอ้อจะสร้างให้ถูกต้องตามแกนทิศกิบละฮ์แล้ว ยังใส่ใจรายละเอียดโดยคำนึงถึงความสวยงามด้านภูมิสถาปัตยกรรมด้วย มัสยิดบางอ้อจึงได้รับการออกแบบให้ด้านหน้าของมัสยิดตั้งหันหน้าตรงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ใครที่ล่องเรือผ่านไปมาต่างเห็นมัสยิดบางอ้อหันหน้าออกสู่แม่น้ำแลดูสง่างาม

มัสยิดบางอ้อ สำรวจมัสยิดริมน้ำของชาวแขกแพ และแหล่งชิมอาหารมุสลิมแสนอร่อย ย่านจรัญฯ

ภายในโถงละหมาดมัสยิดมีการประดับตกแต่งแบบเรียบง่าย สร้างบรรยากาศสงบนิ่งมีสมาธิ ในส่วนที่สะดุดตาที่สุดคงจะเป็น ‘มิห์รอบ’ (Mihrab) หรือช่องในกำแพงทิศกิบละฮ์ เป็นจุดบอกทิศทางในการหันหน้าละหมาด อีกทั้งยังเป็นที่ยืนของอิหม่ามและที่ตั้งมินบัร (ธรรมาสน์) สำหรับใช้คุฏบะฮ์ (เทศนาธรรม) ในวันศุกร์ซึ่งเป็นวันสำคัญในรอบสัปดาห์ของชาวมุสลิม สำหรับมิห์รอบถูกออกแบบเป็นวงโค้ง ด้านบนตรงกลางมี Keystone ประดับปูนปั้นสัญลักษณ์รูปดาวเดือน เหนือขึ้นไปมีปูนปั้นอักษรวิจิตรภาษาอาหรับ (Arabic Calligraphy) ที่คัดมาจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานวรรคหนึ่ง มีความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธาและปฏิบัติความดีสำหรับพวกเขานั้นคือสวนสวรรค์ชั้นฟิรเดาส์เป็นที่พำนัก” (อัลกุรอาน 18:107)

มัสยิดบางอ้อ สำรวจมัสยิดริมน้ำของชาวแขกแพ และแหล่งชิมอาหารมุสลิมแสนอร่อย ย่านจรัญฯ

ข้อสังเกตที่ผู้เขียนเห็นจากสถาปัตยกรรมและการตกแต่งศิลปกรรมของมัสยิดบางอ้อ ทำให้ชวนนึกถึงมัสยิดดารุ้ลอาบิดีน ตรอกจันทน์ ที่ออกแบบสถาปนิกชาวมุสลิมเชื้อสายยะหวา (ชวา) นามว่า รองอำมาตย์ตรีเอ็ม.เอ กาเซ็ม หรือ กาเซ็ม แปลน (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นไทยว่า นายเกษม อิทธิเกษม) ผู้มีความสามารถออกแบบมัสยิดสำคัญ ๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในสมัยนั้น อีกทั้งยังสองมัสยิดยังสร้างขึ้นในยุคสมัยไล่เลี่ยกัน มีความเป็นไปได้ว่ามัสยิดบางอ้ออาจจะได้รับการออกแบบจากสถาปนิกคนเดียวกันหรือไม่ ก็เป็นประเด็นน่าสนใจที่จะสืบประวัติต่อไป

มัสยิดบางอ้อนับว่าเป็นมัสยิดที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่น และอนุรักษ์ความดั้งเดิมไว้ได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยการบูรณะอาคารมัสยิดครั้งล่าสุดเกิดขึ้นหลังอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2554 จึงจำเป็นต้องดีดยกอาคารและปรับปรุงซ่อมแซมส่วนประกอบต่าง ๆ ต้องขอบคุณวิสัยทัศน์ของกรรมการมัสยิดและคนในชุมชนที่เห็นความสำคัญ และช่วยกันอนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์หลังนี้ไว้ได้อย่างดี ตลอดจนความช่วยเหลือด้านงบประมาณจากสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ปัจจุบันอาคารมัสยิดได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยาม เป็นอาคารที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

มัสยิดบางอ้อ สำรวจมัสยิดริมน้ำของชาวแขกแพ และแหล่งชิมอาหารมุสลิมแสนอร่อย ย่านจรัญฯ
มัสยิดบางอ้อ สำรวจมัสยิดริมน้ำของชาวแขกแพ และแหล่งชิมอาหารมุสลิมแสนอร่อย ย่านจรัญฯ

ด้านข้างมัสยิดบางอ้อมีอาคารน่าสนใจอีกหลังอีกคือ อาคารเจริญวิทยาคาร เป็นเรือนไม้ขนมปังขิงแบบตะวันตก ฉลุลายไม้และประดับกระจกสีอย่างสวยงาม แต่เดิมใช้เป็นอาคารโรงเรียน ปัจจุบันใช้เป็นอาคารอเนกประสงค์ที่ใช้สำหรับการนมัสการ (ละหมาด) หรือที่เรียกว่า ‘บาแล’ ในกรณีที่มีผู้มานมัสการในมัสยิดจนเต็ม ตลอดจนใช้ในการเรียนการสอนพระคัมภีร์อัลกุรอานและกิจกรรมอื่น ๆ ของชุมชน 

นอกจากความสวยงามของอาคารแล้ว จุดเด่นอีกจุดหนึ่งคือ ตราลวดลายอักษรภาษาอาหรับดูอ่อนช้อยบนจั่วของอาคาร ซึ่งเป็นรูปแบบที่เรียกว่า ‘ทูรา’ (Tughra) ซึ่งน้อยคนจะทราบว่ามันคือ พระปรมาภิไธยของสุลต่านแห่งจักรวรรดิอุษมานียะฮ์ หรือ ออตโตมันตุรกี (Ottoman Empire) ผู้เขียนแกะคำอ่านออกมาได้ว่า “อับดุลมะญีด คาน” ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นพระนามของสุลต่านอับดุลมะญีดที่ 1 (ดำรงตำแหน่ง ค.ศ.1839 – 1861) หรืออาจหมายถึง เคาะลีฟะฮ์อับดุลมะญีดที่สอง (ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 1922 – 1924) เคาะลีฟะฮ์องค์สุดท้ายของชาวมุสลิมจากราชวงศ์ออตโตมันหรือไม่ ขอไม่ยืนยัน อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเชื่อว่าตราทูรานี้น่าจะเป็นการเลียนแบบโดย Simplify หรือได้รับแรงบันดาลใจมาจากต้นฉบับอีกทีหนึ่ง

พินิจศิลปะอิสลามและชิมอาหารรสโอชาของชุมชนมัสยิดบางอ้อ ย่านจรัญสนิทวงศ์ของกรุงเทพฯ
พินิจศิลปะอิสลามและชิมอาหารรสโอชาของชุมชนมัสยิดบางอ้อ ย่านจรัญสนิทวงศ์ของกรุงเทพฯ
ซุ้มประตูพระราชวังโทพคาปึ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี

เยื้อง ๆ กับมัสยิดบางอ้อยังมีอาคาร 100 ปีมัสยิดบางอ้อ ที่ใช้เป็นอาคารอเนกประสงค์ อาคารหลังนี้สร้างขึ้นใหม่โดยคุมโทนให้เข้ากับหมู่อาคารเก่าแก่ที่อยู่ใกล้กัน ทั้งนี้ ได้มีการเลือกใช้รูปแบบการตกแต่งด้วยลวดลายเรขาคณิตอิสลาม (Islamic Geometry) และลายประเบื้องเคลือบที่ถ่ายทอดลวดลายจากรูปศิลปะอิสลามแบบจารีตมาปรับใช้เพื่อสื่อถึงความเป็นมุสลิมร่วมสมัยอีกด้วย บริเวณนี้จึงกลายเป็นไฮไลต์ของคนที่ชอบถ่ายรูปอาคารอีกจุดหนึ่งนั่นเอง

อาหารสานใจ อาหารสำรับบางอ้อ

พินิจศิลปะอิสลามและชิมอาหารรสโอชาของชุมชนมัสยิดบางอ้อ ย่านจรัญสนิทวงศ์ของกรุงเทพฯ
พินิจศิลปะอิสลามและชิมอาหารรสโอชาของชุมชนมัสยิดบางอ้อ ย่านจรัญสนิทวงศ์ของกรุงเทพฯ
พินิจศิลปะอิสลามและชิมอาหารรสโอชาของชุมชนมัสยิดบางอ้อ ย่านจรัญสนิทวงศ์ของกรุงเทพฯ

อีกสิ่งที่ผู้เขียนตั้งใจไปสัมผัสจากงานนี้ คือวัฒนธรรมอาหารของชุมชมมัสยิดบางอ้อ โชคไม่ดีที่ผู้เขียนไปถึงช้าและอาหารขายเกือบหมดแล้ว ถึงกระนั้น ยังโชคดีที่ยังทันชิม ‘หรุ่ม’ จากฝีมือของ คุณป้าไร-อุไร มุฮำหมัด และ คุณกุ้ง-ซารีนา นุ่มจำนงค์ หรุ่มเป็นเมนูอาหารชาววังที่ปรากฏอยู่ใน กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ของรัชกาลที่ 2 ซึ่งกลายมาเป็นของว่างแกล้มน้ำชาของชาวบางอ้อที่ปัจจุบันนับว่าหาทานได้ยากยิ่ง

 ยิ่งไปกว่านั้น สองท่านนี้นับว่าเป็นผู้ริเริ่ม ‘โครงการอาหารสานใจ’ เกิดจากการที่สมาชิกในชุมชนเองต้องการสืบทอดมรดกวัฒนธรรมอาหารเก่าแก่ โดยหยิบเอาอาหารมาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุและเยาวชน เป็นการสร้างกิจกรรมให้ผู้ใหญ่ได้เปิดใจถ่ายทอดสูตรอาหารดั้งเดิมของชุมชนไปสู่เด็กรุ่นใหม่ เพื่อรักษาตำรับอาหารชาวบางอ้อให้ยังคงอยู่สืบไป 

เป็นเรื่องน่ายินดีที่อาหารต่าง ๆ ของสมาชิกในชุมชนได้รับความสนใจ และงานอาหารสานใจครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งที่ 8 แล้ว และหวังว่าจะคงมีต่อไปเรื่อย ๆ ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ชาวมัสยิดบางอ้อได้สานต่อกิจกรรมดี ๆ ต่อไป หากใครอยากสัมผัสวิถีวัฒนธรรมชุมชนมัสยิดบางอ้อ ชมความงามของมัสยิด และได้ลิ้มรสอาหารอร่อย ๆ ในบรรยากาศน่ารัก ก็แวะเวียนไปได้

ติดตามข่าวประชาสัมพันธ์ได้ที่ Facebook : อาหารสานใจ 

พินิจศิลปะอิสลามและชิมอาหารรสโอชาของชุมชนมัสยิดบางอ้อ ย่านจรัญสนิทวงศ์ของกรุงเทพฯ

ข้อมูลอ้างอิง

สรยุทธ ชื่นภักดี, (บรรณาธิการ). (2544). มุสลิมมัสยิดต้นสนกับบรรพชนสามสมัย. กรุงเทพฯ: จิรรัชการพิมพ์ หจก.

สมาน อรุณโอษฐ์, ประมาณ ฮะกีมี, ดิเรก ฮะกีมี. (2543) สายสกุลสัมพันธ์ 2543

communityarchive.sac.or.th/community/MatsayitBangO

Writer

Avatar

สุนิติ จุฑามาศ

มุสลิมบางกอกย่านเจริญกรุง-สาทร จบการศึกษาด้านโบราณคดี สนใจค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและอาหาร

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ