ก่อนจะเริ่มบทความนี้ ผมอยากให้ผู้อ่านทุกท่านอย่าเพิ่งเปิดไปดูเนื้อหาในส่วนอื่นๆ ค่อยๆ อ่านกันก่อนครับ ทีนี้ อยากให้ลองใช้จินตนาการกันสักนิดหนึ่งกับคำถามที่ว่า “ถ้าพูดถึงมัสยิด คุณจะนึกถึงอาคารที่หน้าตาประมาณไหน” ผมเชื่อว่าเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะ 90 เปอร์เซ็นต์ ของผู้อ่านน่าจะนึกถึงอาคารที่มียอดเป็นโดม บางท่านอาจจะเพิ่มหอคอยเข้าไปด้วย แน่นอนว่าลักษณะเด่นทั้งสองน่าจะเป็นภาพจำภาพหนึ่งของมัสยิดที่โดดเด่นที่สุดในความคิดของคนส่วนใหญ่ ทีนี้ลองดูภาพข้างล่างครับ

มัสยิดบางหลวง มัสยิดหนึ่งเดียวในไทยที่สร้างด้วยสถาปัตย์วัดพุทธจนคนไทยพุทธหลงยกมือไหว้

ผมเชื่อว่าหลายท่านน่าจะคิดว่านี่คือวัดพุทธ เพราะไม่ว่าหน้าจั่ว รูปทรง ดูยังไงก็วัดพุทธแน่ๆ แต่บอกเลยว่าสิ่งที่ท่านกำลังเห็นอยู่นี้คือมัสยิดครับ นี่คือมัสยิดเพียงหนึ่งเดียวที่นำสถาปัตยกรรมแบบวัดไทยมาสร้าง และมัสยิดแห่งนี้ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครนี่เอง เราจะไปทำความรู้จักกับมัสยิดบางหลวงพร้อมๆ กันครับ

มัสยิดบางหลวง หรือกุฎีขาว เป็นมัสยิดของชุมชนมุสลิมนิกายซุนนีที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีทั้งแขกจาม (กลุ่มมุสลิมจากจามปา ปัจจุบันอยู่ในประเทศเวียดนาม) และแขกแพ (กลุ่มมุสลิมที่อาศัยอยู่ในเรือนแพ) มัสยิดหลังแรกสันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นโดยโต๊ะหยี พ่อค้าชาวมุสลิมในสมัยรัชกาลที่ 1 ก่อนจะมีการสร้างมัสยิดหลังปัจจุบันขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 

หากมองจากภายนอกตัวอาคารมัสยิดจะดูเหมือนวัดไทยพุทธชนิดแยกไม่ออก เหมือนขนาดชาวชุมชนมัสยิดบางหลวงเล่าให้ฟังว่า เคยมีคนไทยพุทธเดินผ่านมาแล้วยกมือไหว้มัสยิดหลังนี้ด้วยความเข้าใจผิดเลยด้วยซ้ำ ตัวมัสยิดเป็นอาคารสีขาวชั้นเดียว ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ กุฎีขาว หลังคาจั่วมุงกระเบื้อง หน้าบันประดับลายปูนปั้นดอกโบตั๋นหรือดอกพุดตาน ดอกไม้ที่นิยมประดับหน้าบันวัดในสมัยรัชกาลที่ 3 มีพาไล ทางเดินโดยรอบ ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของวัดในสมัยรัชกาลที่ 3

มัสยิดบางหลวง มัสยิดหนึ่งเดียวในไทยที่สร้างด้วยสถาปัตย์วัดพุทธจนคนไทยพุทธหลงยกมือไหว้

 แล้วจะมีอะไรที่แยกมัสยิดหลังนี้จากวัดได้บ้าง ถ้ามองจากภายนอก จะมี 2 จุดที่พอสังเกตได้ อย่างแรกคือ สีของกระเบื้องมุงหลังคา ถ้าเป็นหลังคาวัดมักจะใช้กระเบื้องมากกว่า 1 สี อาจจะเป็นสีส้มกับสีเขียว หรือน้ำเงิน เหลือง แดง แต่มัสยิดหลังนี้ใช้หลังคาสีเขียวสีเดียว 

มัสยิดบางหลวง มัสยิดหนึ่งเดียวในไทยที่สร้างด้วยสถาปัตย์วัดพุทธจนคนไทยพุทธหลงยกมือไหว้

อีกจุดหนึ่งก็คือบนหน้าบัน ถ้าเป็นวัดสมัยรัชกาลที่ 3 จะประดับด้วยลายพันธุ์พฤกษาหรือดอกไม้เต็มพื้นที่ หรือ อาจจะใช้สัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์คือพระนารายณ์ทรงครุฑมาประดับ แต่ที่นี่ประดับกึ่งกลางหน้าบันด้วยรูปพานที่ใช้ลายใบอะแคนธัส (Acanthus) ซึ่งนิยมใช้กับหัวเสาในศิลปะตะวันตก มารองรับดอกบัวที่ภายในบรรจุตัวอักษรที่อ่านว่า อัลลอฮฺ นามของพระเป็นเจ้าในศาสนาอิสลาม โดยใช้วิธีการเล่นอักษร เขียนคำเดียวกันแบบสองด้าน ซึ่งเป็นเทคนิคที่นิยมและพบได้ทั่วไปในศิลปะอิสลาม

มัสยิดบางหลวง มัสยิดหนึ่งเดียวในไทยที่สร้างด้วยสถาปัตย์วัดพุทธจนคนไทยพุทธหลงยกมือไหว้

เมื่อเทียบกับด้านนอกแล้ว ภายในมัสยิดน่าจะแตกต่างจากภายในโบสถ์หรือวิหารอย่างชัดเจนที่สุด เพราะมุสลิมไม่มีการประดิษฐานรูปเคารพ ดังนั้น ภายในโถงละหมาดจะเป็นห้องโล่ง ผนังมีการตกแต่งด้วยชามและกรอบภาพที่นำเข้าจากประเทศมุสลิม ด้านในสุดเป็นที่ตั้งของมิห์รอบ (ออกเสียงว่า เมี๊ยะหรอบ) และมิมบัร มิห์รอบเป็นสิ่งที่ใช้ระบุทิศกิบละฮฺ หรือทิศที่มุสลิมทั่วโลกจะหันไปเวลาละหมาด นั่นก็คือหินดำ หรือกะอ์บะฮ์ ที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย และเนื่องจากซาอุฯ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศไทย ดังนั้น มัสยิดทุกหลังในประเทศไทยจะหันไปทางทิศตะวันตกทั้งหมด ส่วนมิมบัร หรือแท่นยืนสำหรับให้อิหม่ามหรือคอเต็บขึ้นแจ้งข่าวสารหรือปราศรัย อารมณ์คล้ายๆ ธรรมาสน์ของวัดไทยครับ ซึ่งเป็นสิ่งที่มัสยิดทุกหลังมี 

มัสยิดบางหลวง มัสยิดหนึ่งเดียวในไทยที่สร้างด้วยสถาปัตย์วัดพุทธจนคนไทยพุทธหลงยกมือไหว้

แต่สิ่งที่จะไม่เหมือนกันก็คือการออกแบบครับ มิมบัรและมิห์รอบของมัสยิดหลังนี้เป็นสิ่งที่เจ้าสัวพุก พ่อค้ามุสลิมชาวจีนต้นตระกูลพุกภิญโญ ได้สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 แทนที่ของเดิมที่ชำรุด มิห์รอบของมัสยิดหลังนี้เป็นซุ้มสามยอดประดับกระจกสี และยังประดับด้วยลายพันธุ์พฤกษาที่ผสมผสานศิลปะไทย จีน และตะวันตก เข้าด้วยกัน รูปทรงดูคล้ายซุ้มประตูของอุโบสถวัดอนงคารามวรวิหาร ซึ่งอาจเป็นแรงบันดาลใจของช่างในการออกแบบมิห์รอบนี้ ส่วนมิมบัรมีลักษณะเป็นขั้นบันไดตั้งอยู่ภายในมิห์รอบอีกทีหนึ่ง

มัสยิดบางหลวง มัสยิดหนึ่งเดียวในไทยที่สร้างด้วยสถาปัตย์วัดพุทธจนคนไทยพุทธหลงยกมือไหว้

พอชมงานศิลปะอันงดงามตรงหน้าแล้ว ขอให้แหงนขึ้นไปดูเหนือหัวด้วย มัสยิดแห่งนี้มีของสำคัญอีกสิ่งหนึ่ง นั่นก็คือตะเกียงโบราณ ตะเกียงนี้มีความสำคัญเพราะเป็นตะเกียงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเป็นที่ระลึก เนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือเครื่องสังเค็ดในงานพระเมรุมาศนั่นเอง ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่ที่มัสยิดแห่งนี้ ยังมีที่มัสยิดอีกหลายแห่ง เช่น มัสยิดต้นสน มัสยิดตึกแดงที่กรุงเทพมหานคร หรือจะเป็นมัสยิดตะเกี่ยโยคิณฯ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

มัสยิดบางหลวง มัสยิดหนึ่งเดียวในไทยที่สร้างด้วยสถาปัตย์วัดพุทธจนคนไทยพุทธหลงยกมือไหว้

ด้านหลังมัสยิดหลังนี้ยังมีกุโบร์ หรือสุสานของชาวมุสลิมอยู่ด้วย กุโบร์ของชาวมุสลิมค่อนข้างเรียบง่าย และมีหออะซานที่ใช้ประกาศเรียกคนในชุมชนให้มาละหมาด ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มัสยิดจะต้องมี ขาดไปไม่ได้เลยครับ

มัสยิดหนึ่งเดียวในไทยที่สร้างด้วยสถาปัตย์วัดพุทธจนคนไทยพุทธหลงยกมือไหว้
มัสยิดหนึ่งเดียวในไทยที่สร้างด้วยสถาปัตย์วัดพุทธจนคนไทยพุทธหลงยกมือไหว้

มัสยิดบางหลวงแห่งนี้จึงถือเป็นหลักฐานสำคัญของการประยุกต์เอางานสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นที่ชาวมุสลิมเข้าไปอาศัย มาใช้ในการก่อสร้างมัสยิด ไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องสร้างเป็นโดมเสมอไป เพราะมัสยิดเป็นอาคารที่มีรูปทรงค่อนข้างยืดหยุ่นไปตามสภาพสังคม วัฒนธรรม พื้นที่ สภาพอากาศ ดังนั้น จึงมีการสร้างมัสยิดแบบท้องถิ่นอีกหลากหลายรูปแบบเลยครับผม

เกร็ดแถมท้าย

  1. มัสยิดบางหลวงตั้งอยู่ตรงข้ามมัสยิดต้นสนแค่ข้ามคลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวงเท่านั้น แค่ข้ามสะพานมาก็ถึงแล้วครับ ฝั่งตรงข้ามถนนมีตรอกเล็กๆ ที่เดินไปยังวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารและชุมชนกุฎีจีนได้เลยครับ ทางเข้ามัสยิดอยู่ริมถนน เดินไปตามทางไม่ไกล มัสยิดจะอยู่ทางซ้ายมือครับ
  2. ปกติมัสยิดไม่ได้เปิดให้เข้าไปชมด้านใน ถ้าอยากเข้าไปชมต้องลองติดต่อกับอิหม่ามของมัสยิดดู หรือรอเข้าไปชมหลังช่วงที่เขาละหมาดก็ได้ครับ 
  3. ถ้าใครอยากชมมัสยิดรูปทรงแปลกๆ ในกรุงเทพมหานคร อีกสักหลังที่แนะนำเป็นกุฎีเจริญพาศน์ครับ มัสยิดของกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะห์แห่งนี้เป็นอาคารทรงมะนิลาหลังคามุงกระเบื้อง ไม่มีโดมเช่นกัน หรือถ้าใครไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย เขาก็มีมัสยิดทรงพื้นเมืองตามเมืองเก่าเหมือนกัน เช่น ปีนัง มะละกา

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ