ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ตอนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมีจำนวนเกิน 1,000 คน สิ่งที่ทุกคนกังวลคงหนีไม่พ้นเรื่องความพร้อมของบริการสาธารณสุข ว่าเราจะรับมืออย่างไรหากจำนวนผู้ติดเชื้อมีมากขึ้นเรื่อยๆ

หนึ่งในแผนล่าสุดของกรุงเทพมหานคร คือการเพิ่มสถานที่ควบคุมโรค เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินและการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย 

รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ศูนย์เวชศาสตร์แห่งใหม่ที่จะเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย COVID-19

และนี่คือโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน โรงพยาบาลแห่งใหม่ล่าสุดของสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และกำลังจะเป็นสถานที่ควบคุมโรค ซึ่งรองรับผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่อาการไม่รุนแรงได้ถึง 294 เตียง

นอกจากแผนเฉพาะกิจสำหรับไวรัส COVID-19 โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนที่ตามกำหนดการเดิมจะเปิดทำการเฟสแรกในเดือนนี้ ยังมีความพิเศษในแง่ฟังก์ชันและการออกแบบหลายประการ

ที่นี่เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการอนุมัติเพื่อดำเนินการในสมัยผู้ว่าราชการ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี จาก พ.ศ. 2556 สู่หมุดหมายปลายทางใน พ.ศ. 2575 

แผนดังกล่าวแบ่งวิสัยทัศน์ในการพัฒนากรุงเทพฯ ออกเป็น 6 ยุทธศาสตร์ คือ มหานครปลอดภัย มหานครสีเขียว สะดวกสบาย มหานครสำหรับทุกคน มหานครกะทัดรัด มหานครแห่งประชาธิปไตย และมหานครแห่งเศรษฐกิจและการเรียนรู้

การก่อสร้างโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างมหานครปลอดภัย เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุและขยายการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนทั่วไป โดยที่นี่ไม่ได้เป็นแค่โรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังเป็นสถาบันฝึกอบรมเวชศาสตร์และการพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุ พูดง่ายๆ คือไม่ได้แค่รักษา แต่มุ่งเน้นพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้แข็งแรงยั่งยืน

รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ศูนย์เวชศาสตร์แห่งใหม่ที่จะเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย COVID-19
รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ศูนย์เวชศาสตร์แห่งใหม่ที่จะเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย COVID-19

ฟังก์ชันครบวงจรที่เล่าไปข้างต้น ถูกจัดวางไว้อย่างลงตัวในอาคารหน้าตาโมเดิร์นกลางน้ำ ที่ฉีกกฎอาคารโรงพยาบาลแบบที่เราๆ คุ้นตา แถมยังเป็นการออกแบบอย่างเคารพสภาพแวดล้อมโดยรอบ ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เราจะพาคุณไปเยี่ยมชมโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน พร้อมพูดคุยกับ ปฤษฐ ชุมสาย ณ อยุธยา แห่ง DYMAXION STUDIO สถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบพื้นที่บริการสาธารณสุขสุดเท่แห่งนี้ ที่จะเป็นหนึ่งในพื้นที่แห่งความหวังของพวกเราทุกคน

โรงพยาบาลกลางน้ำ

“เชื่อไหมว่าพื้นที่โครงการสามสิบสี่ไร่ของโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนได้รับบริจาคมาจากคุณตาคุณยายคู่หนึ่ง โดยมีเงื่อนไขว่าให้ใช้พื้นที่นี้สำหรับสร้างสถานพยาบาลเท่านั้น ในเวลานั้นย่านบางขุนเทียนยังไม่มีโรงพยาบาลของรัฐในรัศมีการให้บริการ ประจวบเหมาะกับการดำเนินการยุทธศาสตร์มหานครปลอดภัย กทม. จึงตัดสินใจจะสร้างโรงพยาบาลขึ้น” ปฤษฐเริ่มเล่า

ในการออกแบบโรงพยาบาล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีรูปแบบการใช้งานเฉพาะตัว โดยเฉพาะเมื่อเป็นโรงพยาบาลที่มีผู้สูงอายุเป็นผู้ใช้งานหลักด้วยแล้ว จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการออกแบบ บริษัทสถาปนิก 110 ที่มีผลงานการออกแบบโรงพยาบาลมาแล้วนับร้อยแห่งทั่วประเทศไทย จึงเข้ามารับหน้าที่ในช่วงแรกร่วมกับ DYMAXION STUDIO ด้วย

“ความท้าทายแรก คือบางขุนเทียนอยู่ใกล้ทะเลมาก ทำให้มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี แถมยังเป็นเขตแก้มลิง ซึ่งเป็นพื้นที่รับและค่อยๆ ปล่อยน้ำไหลลงสู่อ่าวไทย ถ้าเราจะต้องถมพื้นที่ทั้งหมดขึ้นมาเพื่อหนีแนวน้ำขัง ก็เท่ากับเราไปลดพื้นที่รับน้ำด้วย

รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ศูนย์เวชศาสตร์แห่งใหม่ที่จะเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย COVID-19

“ดังนั้น โจทย์คือจะทำยังไงให้อาคารที่สร้างใหม่ใหญ่โตนี้ กระทบวิถีน้ำดั้งเดิมน้อยที่สุด คำตอบเลยออกมาว่า เราต้องสร้างโรงพยาบาลที่ปล่อยให้น้ำขังและไหลผ่านไปสู่ทะเลได้อย่างสะดวก” นั่นก็เท่ากับว่าภารกิจของพวกเขาคือการสร้างโรงพยาบาล ‘ลอยน้ำ’

ปฤษฐบอกว่า จริงๆ แล้วโรงพยาบาลลอยน้ำคือไอเดียตั้งต้นแรกของเขา แต่ด้วยข้อจำกัดด้านนวัตกรรมและการก่อสร้าง ทำให้ต้องลดรูปแบบลงมาเป็นโรงพยาบาล ‘บนน้ำ’ ที่ยื่นเสาปักลงไปในน้ำที่น้ำท่วมขังแทน แม้รูปแบบจะเปลี่ยน แต่ยังคงคอนเซปต์เดิม นั่นคือน้ำของไหลผ่านอาคารได้ โดยต้องให้แน่ใจว่าน้ำหมุนเวียนเข้าออกได้ ไม่อย่างนั้นน้ำในแก้มลิงนี้จะเน่าเสีย

รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ศูนย์เวชศาสตร์แห่งใหม่ที่จะเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย COVID-19
รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ศูนย์เวชศาสตร์แห่งใหม่ที่จะเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย COVID-19

“เราถมพื้นที่ด้วย แต่ก็น้อยมาก ประมาณเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่อาคารทั้งหมดก่อสร้างบนน้ำ อีกสามสิบเปอร์เซ็นต์คืออาคารที่สร้างบนพื้นดินที่ถมขึ้นใหม่ จะเป็นอาคารที่ต้องมีฟังก์ชันเชื่อมต่อกับถนน อย่างอาคารจอดรถและตึก OPD โดยน้ำในพื้นที่แก้มลิงซึ่งโรงพยาบาลตั้งคร่อมอยู่นำไปใช้รดน้ำต้นไม้และใช้ขัดล้างพื้นที่ส่วนต่างๆ แทนน้ำประปาได้” ช่วยประหยัดน้ำได้มหาศาลในแต่ละปี

ธรรมชาติบำบัด

“ความท้าทายต่อมา คือคุณหมอที่ปรึกษาโครงการบอกว่า ให้ใช้เครื่องปรับอากาศในอาคารให้น้อยที่สุด เพราะอาคารที่ใช้ระบบระบายอากาศแบบปิดมันมีความชื้นเยอะ ทำให้เชื้อโรคสะสมเยอะตามไปด้วย ต่างกับระบบระบายอากาศแบบธรรมชาติ ถ้ามีลมพัดผ่านอาคารอยู่เสมอ ลมพวกนั้นก็จะพัดพาความชื้นและเชื้อโรคออกไป”

รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ศูนย์เวชศาสตร์แห่งใหม่ที่จะเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย COVID-19

ปฤษฐบอกว่า อาคารทั้งหมดจึงออกแบบอย่างเปิดโล่งเพื่อรับลมและไม่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ โดยมีพื้นที่เปิดโล่งเป็นเหมือนสวนหย่อมเล็กๆ ปลูกต้นไม้ กระจัดกระจายอยู่ตามตำแหน่งต่างๆ ในอาคาร เพื่อช่วยระบายอากาศ ผู้คนก็ออกมานั่งเล่นได้เพื่อรับบรรยากาศดีๆ 

“เราพยายามให้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นระบบระบายอากาศแบบธรรมชาติ แต่สุดท้ายก็มีบางส่วนที่ต้องติดเครื่องปรับอากาศ อย่างส่วนที่เป็นคลินิกหรือห้องเอกซเรย์ เราก็เลือกที่จะติดเป็นก้อนๆ ไป ไม่ติดทั้งอาคารแบบโรงพยาบาลอื่น

รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ศูนย์เวชศาสตร์แห่งใหม่ที่จะเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย COVID-19
รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ศูนย์เวชศาสตร์แห่งใหม่ที่จะเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย COVID-19

“ส่วนของอาคารที่หันหน้าประจันกับทิศใต้และทิศตะวันตก ซึ่งแดดบ่ายจะสาดเข้ามา เป็นพื้นที่ส่วนที่ได้รับความร้อนมากที่สุด เราก็ออกแบบ Facade อีกหนึ่งชั้นซ้อนช่องเปิดต่างๆ เหล่านั้นเพื่อช่วยบังแดด

“เราใช้เวลาทำแบบประมาณสองปี แม้ว่าหน้าตาของอาคารจะพัฒนา เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่แนวคิดในการนำระบบธรรมชาติเข้ามาในอาคารยังคงเหมือนเดิมตั้งแต่แรกเริ่ม เราพยายามออกแบบเพื่อให้ตึกอยู่ได้ด้วยพลังงานธรรมชาติ และนำพลังงานพวกนั้นมาใช้ซ้ำได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ลม แดด

รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ศูนย์เวชศาสตร์แห่งใหม่ที่จะเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย COVID-19
รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ศูนย์เวชศาสตร์แห่งใหม่ที่จะเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย COVID-19

“ธรรมชาติไม่ได้ให้แค่พลังงาน แต่ยังให้ความสดชื่นร่มเย็น ไซต์ที่ตั้งโครงการเป็นแปลงที่ดินที่สวยมากอยู่แล้ว เพราะอยู่บนน้ำ เมื่อเราออกแบบอาคารไว้บนน้ำ เราก็พยายามออกแบบให้ทุกห้องมองเห็นผืนน้ำ ให้ทุกคนออกไปสวนเขียวได้ เพราะการอยู่โรงพยาบาลมันเครียด นอกจากทีมหมอ พยาบาล แล้ว ธรรมชาตินี่แหละที่จะเยียวยาเราได้” ปฤษฐเอ่ยยิ้มๆ

เกษียณสำราญ

โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือส่วนบริการสาธารณสุขของคนทั่วไปและของผู้สูงอายุ “ในส่วนบริการของคนทั่วไป จะมีฟังก์ชันตามมาตรฐานโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นห้องฉุกเฉิน คลินิกต่างๆ ห้องผ่าตัด ไปจนถึงอาคารห้องพักผู้ป่วย ที่รองรับได้มากสุดถึงสี่ร้อยเตียง” ปฤษฐอธิบาย

ส่วนบริการผู้สูงอายุ เรียกว่าศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 1 และ 2 เท่านั้น เพื่อให้เข้าถึงได้สะดวกที่สุด 

รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ศูนย์เวชศาสตร์แห่งใหม่ที่จะเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย COVID-19

“ศูนย์แห่งนี้ไม่ได้เป็นแค่ที่เยียวยาอาการป่วยไข้ของผู้สูงอายุ แต่ครอบคลุมไปจนถึงการสร้างเสริมสุขภาพกายใจ โดยมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมและทำกายภาพบำบัด ทั้งการฝึกเดิน การฝึกขึ้นบันได การฝึกอาบน้ำ ที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ การทำกายภาพบำบัดให้ผู้สูงอายุ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการทำกายภาพบำบัดของคนทั่วไป นักกีฬาขาหักจึงไม่สามารถใช้ Medical Equipment เดียวกับผู้สูงอายุได้

“นอกจากนี้ ยังมีอาคารสถานพักฟื้นผู้สูงอายุที่เปิดให้ผู้สูงอายุที่มาตรวจสุขภาพ หรือมาทำกายภาพบำบัดระยะสั้น เข้าพักได้ เป็นคนละส่วนกับห้องพักผู้ป่วยของคนทั่วไปที่เป็นอาคาร สถานพักฟื้นผู้สูงอายุมีแค่สามสิบสองห้อง และรูปแบบเหมือนบ้านกลางน้ำ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุที่มาใช้บริการรู้สึกผ่อนคลายมากกว่า”

รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ศูนย์เวชศาสตร์แห่งใหม่ที่จะเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย COVID-19
รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ศูนย์เวชศาสตร์แห่งใหม่ที่จะเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย COVID-19

ปฤษฐเล่าว่า ความท้าทายของการออกแบบเพื่อผู้สูงอายุยังรวมถึงรายละเอียดเล็กๆ อีกมากมาย เช่น ความลาดชันของทางเดิน ระดับของพื้น บันไดก็ต้องชันน้อยกว่า เพราะผู้สูงอายุทรงตัวไม่ได้อย่างคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะในห้องน้ำที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ต้องมีอุปกรณ์พิเศษจำพวกราวจับหรือพื้นกันลื่น 

“ทั้งหมดนี้คือ Universal Design หรือหลักการออกแบบเพื่อทุกคน ที่พื้นที่สาธารณะต่างๆ ควรให้ความสำคัญกับหลักออกแบบนี้มากยิ่งขึ้น เพราะจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ และคนทุกประเภทในสังคมสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายเท่าเทียมกัน” 

คุณภาพชีวิตดีๆ ที่ลงตัว

“ตอนแรกที่เสนอแบบไป ผู้ใหญ่เขาก็ทักมานะว่าทำไมตึกมันไม่เป็นสี่เหลี่ยม” ปฤษฐเอ่ยขึ้นยิ้มๆ

องค์ประกอบที่ร้อยเรียงอาคารต่างๆ ของโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนไว้ด้วยกันคือ Curve ที่ปฤษฐอธิบายต่อว่าเป็นระเบียงเชื่อมตึก ซึ่งถือเป็น Main Circulation หลักของโรงพยาบาลที่ต้องคดโค้งเพราะเขาอยากให้โรงพยาบาลดูมีชีวิต จึงเลือกใช้รูปทรงออร์แกนิกมาเป็นองค์ประกอบใหญ่

รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ศูนย์เวชศาสตร์แห่งใหม่ที่จะเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย COVID-19
รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ศูนย์เวชศาสตร์แห่งใหม่ที่จะเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย COVID-19

“ที่ผู้ใหญ่ทัก เขาน่าจะกังวลว่าถ้าอาคารไม่เข้าเหลี่ยมเข้ามุม มันจะจัดวางอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ยาก ซึ่งผมก็ต้องค่อยๆ อธิบายว่ามันคดโค้งแค่ด้านนอกนะ ฟังก์ชันอาคารด้านในยังสมบูรณ์ครบถ้วนเหมือนเดิม ทุกท่านก็เข้าใจ ถือเป็นโปรเจกต์ของหน่วยงานรัฐที่ค่อนข้างมีอิสระเยอะในการออกแบบ”

ถัดจากกลุ่มอาคารหลัก มีอาคารทรงหกเหลี่ยมตั้งอยู่ติดกัน อาคารหลังนี้คือที่พักบุคลากรการแพทย์ของโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ที่เห็นแล้วน่าตื่นตาและยินดีที่ทีมแพทย์-พยาบาลจะได้มีพื้นที่ดีๆ (และดีไซน์เท่มาก) ไว้พักผ่อนหลังการทำงานอย่างหลักหน่วงในแต่ละวัน

โรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยโควิด-19
รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ศูนย์เวชศาสตร์แห่งใหม่ที่จะเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย COVID-19

“ผมชอบอาคารสไตล์ญี่ปุ่น เลยนำมาประยุกต์ใช้กับอาคารที่พัก โดยให้มี Open Court อยู่ตรงกลาง แล้วมีห้องพักล้อมรอบ แสงเข้าทำให้ระเบียงทางเดินสว่าง ไม่รู้สึกทึบหรืออึดอัด ระหว่างชั้นมีกระถางสำหรับพืชไม้เลื้อย ที่จะกลายเป็น Verticle Green เย็นตา

“ตอนแรกผมเสนอให้ทั้งอาคารเป็นปูนเปลือย เน้นความดิบและความสวยงามของวัสดุอย่างที่มันเป็น แต่อันนี้อาจจะเอ็กซ์ตรีมไปหน่อย สุดท้ายเลยพบกันครึ่งทาง

“โดยผมเอาฝ้าออกหมด ทำให้อาคารมีความเป็น Industrial ข้อดีของการเอาฝ้าออก คือทำให้ระยะเพดานสูงขึ้น เปิดโล่ง โปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก” ปฤษฐอธิบาย 

ฮีโร่ชุดกาวน์

ล่าสุด พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกเล่าถึงการเตรียมความพร้อม โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เพื่อเป็นสถานที่ควบคุมโรคเพิ่มเติม ที่ขณะนี้ กทม. ได้ตรียมอุปกรณ์ บุคลากรทางการแพทย์ และทบทวนมาตรการตามแผนปฏิบัติงาน 

เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้มีความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติ รวมถึงจัดเตรียมอาคารสถานพักฟื้นผู้สูงอายุ กลางน้ำมาใช้ในกรณีเฉพาะกิจ

สำหรับผู้เข้าเกณฑ์ต้องสงสัยที่รอผลการตรวจยืนยัน หากผลตรวจเป็นลบ จะสามารถกลับไปกักตัวต่อที่บ้านได้ แต่หากผลตรวจเป็นบวก ผู้ติดเชื้อจะถูกย้ายไปรับการรักษาต่อที่อาคารหอพักผู้ป่วย

ผู้ติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง กทม. ได้จัดเตรียมอาคารหอพักผู้ป่วยกลางน้ำ ซึ่งรองรับผู้ติดเชื้อได้ทั้งหมด 294 เตียง แบ่งเป็นห้องเดี่ยว 106 เตียง และห้องรวม 188 เตียง โดยเบื้องต้นจะเปิดใช้อาคารหอพักผู้ป่วยชั้น 2 – 3 จำนวน 103 เตียงเป็นลำดับแรก 

โรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยโควิด-19

พล.ต.ท.โสภณ อธิบายว่า พื้นที่หอพักผู้ป่วยซึ่งถือเป็นผู้ป่วยในจะแยกขาดออกจากส่วนให้บริการผู้ป่วยนอก โดยมีการซักซ้อมการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแล้ว เพื่อรับมือสถานการณ์การระบาดระยะที่ 3 หรือพบการระบาดเป็นวงกว้างในพื้นที่กรุงเทพฯ

แต่อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลบางขุนเทียนจะรับเฉพาะผู้ป่วยที่ผ่านการส่งต่อจากโรงพยาบาลเครือข่ายเท่านั้น โดยโรงพยาบาลที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อจะประสานโรงพยาบาลเครือข่าย เพื่อส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานที่ควบคุมโรคตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่หลายแห่ง รวมถึงที่โรงพยาบาลผู้สูงบางขุนเทียนด้วย

โรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยโควิด-19

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของโรคระบาดในตอนนี้ เราได้เห็นกันแล้วว่าบุคลากรการแพทย์คือฮีโร่ชุดกาวน์ผู้เป็นกองทัพด่านหน้า และเราได้เรียนรู้อีกอย่างหนึ่งว่าถ้าทุกคนในสังคมตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ระบบจะดำเนินต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ 

เช่นเดียวกับสถาปนิกอย่างปฤษฐ ที่ช่วยเสริมสร้างคุณภาพการเยียวยารักษาได้ ด้วยสถาปัตยกรรมที่ออกแบบมาอย่างรอบคอบชาญฉลาด รวมถึงช่วยลดความเหนื่อยล้าให้บุคลากรการแพทย์ด้วยการสร้างพื้นที่พักผ่อนและคุณภาพชีวิตดีๆ ให้เหล่าฮีโร่ชุดกาวน์ของพวกเรา

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์

ช่างภาพ ig @addcandid และ @somethingarchitecture