“โรงพยาบ้าน มาจากที่เราทำโรงพยาบาลให้เหมือนบ้าน มีความอบอุ่น เป็นมิตร น่าอยู่” 

คอลัมน์ Pubilc Space คราวนี้ แอน-อิสริยา ปุณโณปถัมภ์ สถาปนิกชุมชนจากอาศรมศิลป์กลับมาพูดคุยกับเราอีกครั้ง พร้อมกับพา เกรส-วิลาสินี ยมสาร หนึ่งในทีมออกแบบ นำโปรเจกต์ปรับปรุงโรงพยาบาลบางบัวทอง 2 ที่ทุกคนตั้งใจปั้นกันร่วมปีมาเล่าให้เราฟัง

โปรเจกต์นี้ไม่ใช่การรีโนเวตที่เราเคยเห็นโดยทั่วไป หากเป็นการ ‘เชื่อมประสาน’ ระหว่างโรงพยาบาลและชุมชนรายรอบ

ทั้งทางกายภาพ – ทั้งความสัมพันธ์ทางใจ

แปลงโรงพยาบาลบางบัวทอง 2 ให้กลายเป็น ‘โรงพยาบ้าน’ ของชุมชนโดยรอบ

ศูนย์ฟื้นฟูชุมชน

“เป้าหมายของจังหวัดนนทบุรี คืออยากให้โรงพยาบาลนี้รองรับการเป็นศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพของจังหวัด มีแผนว่าจะทำ Master Plan ใหม่ วางแผนพัฒนาพื้นที่โรงพยาบาล ปรับพื้นที่ ทางเข้าออก และขยายให้รองรับได้ถึง 200 เตียง จากเดิมที่มี 30 เตียง” แอนเริ่มเล่าด้วยการย้อนไปถึงที่มาตอนเริ่มต้น 

เมื่อทราบเป้าหมายของจังหวัด ทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางบัวทอง 2 จึงยกเรื่องนี้ไปปรึกษากับทาง สสส. ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาวะ ซึ่ง สสส. ก็ได้ชักชวนทีมอาศรมศิลป์ที่คุ้นเคยกันจากโปรเจกต์อื่น เข้ามาร่วมเป็นทีมออกแบบให้โรงพยาบาลบางบัวทอง 2 ทันที

แปลงโรงพยาบาลบางบัวทอง 2 ให้กลายเป็น ‘โรงพยาบ้าน’ ของชุมชนโดยรอบ

“ไซต์ของโรงพยาบาลอยู่ใกล้กับชุมชนมาก มีทั้งชุมชนเก่าและชุมชนใหม่เลยค่ะ” เกรสอธิบายบริบทของโรงพยาบาลให้เข้าใจตรงกัน “คาดการณ์ว่าในอนาคตชุมชนจะโตขึ้น แล้วโรงพยาบาลก็จะเป็นพื้นที่รองรับผู้คนที่มาใช้งาน”

ภาพตรงหน้า แสดงให้เห็นถึงแผนผังแสดงพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาล ซึ่งสองสถาปนิกพยายามขีดให้เราดูตำแหน่งของชุมชนที่รายล้อม

เช่นเดียวกับภาพรวมของประเทศไทย ตอนนี้นนทบุรีและพื้นที่ใกล้โรงพยาบาลบางบัวทอง 2 เรียกได้ว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุจำนวนมากอาศัยในละแวกนั้น ทว่าไม่มีพื้นที่สาธารณะที่เหมาะสมให้คุณตาคุณยายเหล่านี้ไปใช้งาน มีเพียงพื้นที่ในหมู่บ้านจัดสรรหรือโรงเรียนที่ไม่ได้เปิดให้ทุกคนเข้าไปได้ ชาวบ้านบางส่วนจึงเข้ามาออกกำลังกายในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นที่ที่คนแถวนี้รับการรักษาอยู่เป็นประจำ

ทั้ง สสส. และอาศรมศิลป์ จึงคิดตรงกันว่า นอกจากต้องการขยายขนาดเป็น 200 เตียง หรือปรับให้เป็นโรงพยาบาลที่เน้นเรื่องการฟื้นฟูสุขภาพแล้ว ยังอยากให้มีพื้นที่ที่เอื้อต่อกิจกรรมของชุมชนโดยรอบ และทำให้โรงพยาบาลเป็นศูนย์รองรับการดูแลผู้สูงอายุด้วย

แปลงโรงพยาบาลบางบัวทอง 2 ให้กลายเป็น ‘โรงพยาบ้าน’ ของชุมชนโดยรอบ

คุยคุ้ยปัญหา

หลังจากผ่านการสำรวจเก็บข้อมูล ทำความเข้าใจพื้นที่โครงการและผู้ใช้งานมาแล้วประมาณหนึ่ง ‘กระบวนการออกแบบ’ ตามสไตล์ของอาศรมศิลป์ก็เริ่มต้นขึ้น

ทางทีมได้เข้าไปพูดคุยเรื่องแนวคิดการทำให้โรงพยาบาลเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน ซึ่งผู้บริหารก็รับฟัง และยินดีติดต่อบุคลากรแผนกต่าง ๆ รวมถึงชาวบ้านในชุมชนรอบ ๆ เพื่อมาร่วมให้ข้อมูลตามคำขอของทีมออกแบบ โดยกระบวนการนี้จะเริ่มด้วยการเข้าไปพูดคุยกับบุคลากรในโรงพยาบาลเป็นอันดับแรก

“โรงพยาบาลมี 10 กว่าแผนก เราก็เข้าไปคุยกับบุคลากรทีละแผนก” เกรสอธิบาย ทีมอาศรมศิลป์ให้ทุกฝ่ายในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ สะท้อนปัญหาการใช้งานที่ประสบมา เพื่อนำไปใช้ในการทำแบบรีโนเวต

แม้ว่าบุคลากรในโรงพยาบาลจะงง ๆ บ้าง เพราะไม่แน่ใจว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร ได้งบประมาณมาจากไหน แต่เมื่อทีมออกแบบเล่าให้ฟังถึงเจตนาของโปรเจกต์ ทุก ๆ คนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

“ห้องพักแพทย์ไม่พอ ห้องพักเจ้าหน้าที่ก็ไม่พอ” เพราะบรรยากาศการพูดคุยเป็นกันเอง เหล่าบุคลากรจึงรู้สึกสบาย ๆ กับการออกความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทางลาดเข้าอาคารชันเกินไป ใช้ไม่ได้จริง เรื่องการไม่มีที่พักคอยของคนป่วย ต้องยืนออกันที่โถงด้านหน้า เรื่องห้องน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ หรือเรื่องอากาศในโรงพยาบาลไม่ถ่ายเท

โรงพยาบาลบางบัวทอง 2 สร้างมาจากแปลนโรงพยาบาล 30 เตียงที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้เป็นมาตรฐาน แปลนนี้อาจจะเหมาะกับบางพื้นที่ แต่สำหรับที่นี่ ได้มีการต่อเติมตามการใช้งานไปไม่น้อย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น อากาศไม่ถ่ายเท ก็มาจากการต่อเติมอาคารที่ว่า

“สำหรับภายนอกอาคาร ปัญหาหลัก ๆ คือความเปลี่ยว แสงสว่างไม่เพียงพอ” นอกจากภายในแล้ว ด้านนอกก็มีปัญหาของตัวเองเช่นกัน 

ทั้งหมดนี้ ทีมออกแบบก็ได้ตั้งใจเก็บข้อมูลไปใช้ต่ออย่างเต็มที่

แปลงโรงพยาบาลบางบัวทอง 2 ให้กลายเป็น ‘โรงพยาบ้าน’ ของชุมชนโดยรอบ

ไอเดียชาวบ้าน

จากนั้นก็ถึงคราวลงพื้นที่ไปคุยกับชุมชน ซึ่งหมู่ 7 และหมู่ 8 เป็นสองชุมชนแรกที่อาศรมศิลป์ได้สัมผัส

“ชาวบ้านเน้นพูดถึงการบริการเป็นส่วนใหญ่” เกรสเล่ายิ้ม ๆ

“รีโนเวตโรงพยาบาลเขาก็คิดว่าสำคัญนะ แต่เขาจะโฟกัสเรื่องให้ปรับปรุงการบริการมากกว่า เราเลยเห็นว่าควรเข้าไปสร้างทัศนคติที่ดีต่อกัน” แอนเสริมขึ้นมา แม้แต่หมู่ 8 เองซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาล และมีชาวบ้านเข้าไปใช้พื้นที่มากที่สุด ทุกคนก็ยังไม่ได้สนิทสนมกับโรงพยาบาลเท่าไหร่นัก

พอมานั่งทบทวนการจัดกระบวนการที่ได้ทำมา ทางอาศรมศิลป์สรุปได้ว่า จริง ๆ แล้วชาวบ้านไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาพื้นที่ แต่พวกเขารู้สึกว่าให้ข้อมูลไปก็เท่านั้น เพราะโครงการอาจไม่เกิดขึ้นจริง

“เราต้องคุยให้เขาเห็นภาพชัดเจนว่าเขาจะมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ได้ยังไง แล้วโครงการนี้จะดีต่อเขายังไง” อาศรมศิลป์พยายามสรุปทิศทางการทำงานต่อ

แปลงโรงพยาบาลบางบัวทอง 2 ให้กลายเป็น ‘โรงพยาบ้าน’ ของชุมชนโดยรอบ

‘เล่าเคสตัวอย่างให้ฟัง’ เป็นวิธีที่ทีมออกแบบเลือกใช้ในการเข้าไปคุยกับชุมชนถัด ๆ ไป อย่างหมู่ 5 และหมู่ 6

เคสแรก คือโรงพยาบาลราชพฤกษ์ ตัวอย่างที่ดีของการออกแบบอาคารและสภาพแวดล้อมให้อบอุ่น เหมือนเดินเข้าไปในบ้าน

เคสถัดมา คือการปรับปรุงพื้นที่อนามัยท่าฉลอม ที่ทำให้เห็นว่าแม้พื้นที่จะมีขนาดเล็ก แต่ชาวบ้านก็มีส่วนร่วมในการออกแบบ ทำให้เป็นพื้นที่พักผ่อนและทำกิจกรรมของชุมชนได้

เคสสุดท้าย โครงการลานกีฬาพัฒน์ ซึ่งใช้พื้นที่ใต้ทางด่วนอุรุพงษ์ ให้ชุมชนมุสลิมมาร่วมกันปรับปรุงและบริหารจัดการพื้นที่

สมความตั้งใจ การเล่าเคส (โดยเฉพาะสองเคสหลัง) ทำให้ชาวบ้านทั้งสองหมู่ ‘เก็ต’ ขึ้นมา ว่าพวกเขาเข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับปรุงพื้นที่ด้วยการเสนอไอเดีย รวมถึงเมื่อพื้นที่นั้นสร้างเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็เข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ได้ด้วย

“พอเขาเก็ต ไอเดียก็เริ่มไหลออกมาเยอะแยะ” เกรสว่า

ชุมชนเกษตรกรรมเสนอจะเข้าไปช่วยปลูกต้นไม้ให้บรรยากาศร่มรื่น บ้างก็เสนอสวนผักสมุนไพร ปลูกไว้ให้โรงพยาบาลใช้ แล้วก็มีตลาดนัดเกษตรกรรม ขายพืชผักปลอดภัย ประเด็นที่ชาวบ้านเห็นว่าโรงพยาบาลขาดแคลนร้านอาหาร ญาติมาเยี่ยมแล้วไม่มีอะไรกิน ชาวบ้านก็ปิ๊งไอเดียว่าให้เปิดโซนร้านค้าชุมชน ประเด็นที่เด็ก ๆ ไม่มีพื้นที่เป็นของตัวเอง ก็มีการเสนอให้สร้างสนามเด็กเล่น และสุดท้ายที่สำคัญ คือพื้นที่ออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ อย่างที่กล่าวไปในตอนแรกว่าชุมชนโดยรอบนั้นเต็มไปด้วยคุณตาคุณยาย

“ที่ผ่านมากายภาพเองก็มีผล เวลาเข้าโรงพยาบาลไปแล้วมันอุดอู้ ไม่มีที่พักคอย ร้อน ก็ทำให้บรรยากาศพูดคุย การบริการไม่ค่อยดี ตอนแรกที่เราเข้าไป ชาวบ้านเลยยังไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะมีส่วนร่วมในการปรับปรุงโรงพยาบาลได้แค่ไหน”

สถาปนิก ผู้ถือได้ว่าเป็นตัวกลางระหว่างสองฝ่าย ได้สะท้อนความความตั้งใจของผู้บริหารโรงพยาบาลไปว่า ทางโรงพยาบาลเห็นความสำคัญของชุมชน และพร้อมรับฟังความคิดเห็นของทั้งชาวบ้านและบุคลากร เมื่อได้รู้เช่นนั้น ชาวบ้านก็คลายความไม่แน่ใจ และร่วมกันออกไอเดียอย่างเป็นธรรมชาติ

“กระบวนการมีส่วนร่วม เหมือนเป็นการสร้างทัศนคติที่ดี โดยใช้เครื่องมือเป็นการออกแบบ มาชวนพูดคุยสร้างความเข้าใจกัน” 

จากครั้งนี้ ทางอาศรมศิลป์ก็ได้วิธีการเล่าเคสตัวอย่างและการสื่อสารความตั้งใจจริง ไปเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ดี ที่จะนำไปใช้คุยกับชุมชนต่อ ๆ ไปได้ในอนาคต

แปลงโรงพยาบาลบางบัวทอง 2 ให้กลายเป็น ‘โรงพยาบ้าน’ ของชุมชนโดยรอบ

ภาพฝันร่วมกัน

เริ่มด้วยการลงพื้นที่สำรวจ สู่การรับฟังความเห็นจากบุคลากรในโรงพยาบาล การสนทนากับชาวบ้าน แล้วก็วนกลับมาที่การพูดคุยกับผู้บริหารอีกครั้ง

อาศรมศิลป์ได้แสดง Site Analysis หรือแผนที่พร้อมบทวิเคราะห์ที่ตั้งโรงพยาบาล ชี้แจงความสำคัญของพื้นที่โรงพยาบาลต่อชุมชนโดยรอบให้ผู้บริหารเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงนำข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยกับผู้ใช้งานพื้นที่อย่างบุคลากรและชาวบ้านมาเล่าด้วย

“เราเล่าว่าชุมชนมีข้อเสนออะไร อยากจะให้โรงพยาบาลปรับปรุงอะไรบ้าง แล้วเขาอยากจะมีส่วนร่วมในการเข้ามาช่วยพัฒนาอะไรบ้าง” แอนกล่าวถึงการเป็นตัวกลาง ทำหน้าที่ถ่ายทอดความคิดจากชาวบ้านสู่ผู้บริหารโรงพยาบาล ซึ่งเมื่อเหล่าผู้บริหารได้ฟัง ก็เต็มใจอย่างยิ่งที่จะพิจารณาข้อเสนอของชาวบ้าน

หลังจากที่ได้รู้ความต้องการของแต่ละฝ่ายแล้ว อาศรมศิลป์ก็ทำการออกแบบทั้งหมด 3 ส่วน

ส่วนแรก ปรับปรุงตัวอาคารเดิมที่เป็นอาคารผู้ป่วยนอก ให้เป็นโรงพยาบาลที่อบอุ่น แม้กายป่วยใจไม่ป่วย

ส่วนที่สอง ปรับปรุงภูมิทัศน์โรงพยาบาล เพื่อรองรับกิจกรรมที่หลากหลายของชุมชน

  และส่วนที่สาม ทำผังแม่บท เพื่อวางแผนรองรับการพัฒนาเป็นศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพของโรงพยาบาล พร้อมออกแบบอาคารใหม่เพิ่มมาให้รองรับได้ 200 เตียง

โรงพยาบาลรัฐย่านนนทบุรี สู่การเป็นศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพของจังหวัด และเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชาวชุมชนเข้ามาใช้ได้อย่างสบายใจเหมือนเป็นบ้าน
โรงพยาบาลรัฐย่านนนทบุรี สู่การเป็นศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพของจังหวัด และเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชาวชุมชนเข้ามาใช้ได้อย่างสบายใจเหมือนเป็นบ้าน

“พอเราออกแบบแล้วนำกลับไปเสนอบุคลากร เราเห็นความเปลี่ยนแปลงในแววตาเขาเลยนะ” เกรสเล่าถึงบรรยากาศการฉายภาพฝันในรูปแบบ Perspective และ Master Plan ให้ทุกคนดู

“จากที่เขาคิดว่ามันดูเป็นไปไม่ได้ ก็เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นมา แล้วเสนอไอเดียต่อยอดจากแบบที่เราทำได้ อย่างเรื่องพื้นที่สาธารณะในโรงพยาบาล เขาก็มีความเห็นในวิธีออกแบบเพื่อความปลอดภัยของคนไข้”

จากที่บุคลากรจะนิ่งเงียบ เมื่อพูดถึงพื้นที่อื่นที่ไม่เกี่ยวกับแผนกของตัวเอง ในที่สุดก็ถึงบรรยากาศที่ทุกคนร่วมระดมความคิด จนได้สโกแกนน่าภูมิใจอย่าง ‘โรงพยาบาลบางบัวทอง 2 โรงพยาบาลกลางธรรมชาติ กลางใจเราทุกคน’ และ คืนสวน คืนสุข สู่ชุมชน  

“ตอนเราเสนอโซนนิ่งให้ส่วนของชุมชนอยู่ด้านหน้า ส่วนรักษาอยู่ตรงกลาง บุคลากรก็บอกกันว่าให้ชุมชนเข้ามาทำกิจกรรมตรงกลางด้วยได้นะ ทำให้เห็นว่าบุคลากรยอมรับแล้วก็จัดสรรพื้นที่ให้ชุมชนมาใช้ในโรงพยาบาลมากกว่าที่เราคิดไว้เสียอีก” แอนกล่าว “มันสะท้อนจากโซนนิ่ง”

ไม่เพียงชาวบ้านเท่านั้นที่รู้สึกว่าตัวเองได้มีส่วนร่วมออกไอเดีย บุคลากรในโรงพยาบาลเองก็เช่นกัน อาศรมศิลป์ได้เข้าไปพูดคุย และให้ความสำคัญกับความเห็นของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะตำแหน่งเล็ก ใหญ่ หรือว่าทำงานมานานแค่ไหน

โรงพยาบาลรัฐย่านนนทบุรี สู่การเป็นศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพของจังหวัด และเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชาวชุมชนเข้ามาใช้ได้อย่างสบายใจเหมือนเป็นบ้าน

แบบสุดท้ายของโรงพยาบาลบางบัวทอง 2 ได้แก้ปัญหาที่เคยเป็น อย่างเรื่องทางลาดที่ไม่ได้มาตรฐาน เรื่องห้องพัก-ห้องน้ำไม่เพียงพอ หรือเรื่องอากาศไม่ถ่ายเท ส่วนประเด็นการไม่มีพื้นที่พักคอยซึ่งเป็นปัญหาที่ชาวบ้านทุกคนพูดถึง สถาปนิกก็ได้ออกแบบชานที่เหมาะสมและมีพื้นที่สีเขียวให้ 2 อาคารโรงพยาบาลใช้ร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีการแยกทางเข้าให้โรคอุบัติใหม่ด้วย

สำหรับพื้นที่สาธารณะในโรงพยาบาลนั้น ด้านนอกสุดจะเป็นลานกิจกรรมชุมชน ใช้ออกกำลังกาย พักผ่อน หรือจัดงานเทศกาล ส่วนด้านในก็จะเป็นสเปซเอาต์ดอร์บรรยากาศดี ๆ ให้คนไข้และชาวบ้านใช้ร่วมกัน โดยมีพื้นที่สวนสมุนไพร-ผักสวนครัวที่ทางชุมชนเสนอจะปลูกให้โรงพยาบาลใช้ทำอาหารอยู่ในบริเวณนั้น

โรงพยาบาลรัฐย่านนนทบุรี สู่การเป็นศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพของจังหวัด และเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชาวชุมชนเข้ามาใช้ได้อย่างสบายใจเหมือนเป็นบ้าน
โรงพยาบาลรัฐย่านนนทบุรี สู่การเป็นศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพของจังหวัด และเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชาวชุมชนเข้ามาใช้ได้อย่างสบายใจเหมือนเป็นบ้าน

“มีเจ้าหน้าที่เอกซเรย์คนหนึ่งชื่อป้าจวน เดินขึ้นมาจับมือ แล้วบอกว่าอีก 3 – 4 ปีเขาจะเกษียณแล้วนะ เขาเห็นแบบแล้วอยากให้เกิดขึ้นจริง” เกรสเล่าความประทับใจปิดท้าย

“เขาคิดว่าถ้ามันปรับแล้ว โรงพยาบาลก็จะมีสภาพแวดล้อมที่ดี ดีต่อใจเจ้าหน้าที่ด้วย ดีต่อชาวบ้านด้วย กลายเป็นโรงพยาบาลของชุมชนที่ทุกส่วนมาใช้งานร่วมกันได้จริง ๆ”

ปัจจุบันโปรเจกต์ปรับปรุงโรงพยาบาลบางบัวทอง 2 อยู่ในขั้นตอนของบประมาณก่อสร้าง และจะค่อย ๆ ดำเนินการไปทีละส่วน ท่ามกลางการรอคอยอย่างใจจดใจจ่อของบุคลากรในโรงพยาบาลและชาวบ้าน

‘โรงพยาบ้าน’ ของชาวนนทบุรี กำลังจะเกิดขึ้นจริงแล้ว

โรงพยาบาลรัฐย่านนนทบุรี สู่การเป็นศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพของจังหวัด และเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชาวชุมชนเข้ามาใช้ได้อย่างสบายใจเหมือนเป็นบ้าน

ภาพ : สถาบันอาศรมศิลป์

โรงพยาบาลบางบัวทอง 2

ที่ตั้ง : เลขที่ 8/88  หมู่ที่ 8 ถนนเลียบคลองตาชม ต.พิมลราช อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี 11110 (แผนที่)

เปิดทำการ 24 ชั่วโมง

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน