เราชอบกาแฟออร์แกนิกด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ
ต้องขอบคุณมันสมองของนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบว่าการดื่มกาแฟออร์แกนิกช่วยให้เรามีสุขภาพดีขึ้น
ต่อมา ต้องขอขอบคุณนักภูมิศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟที่ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกาแฟออร์แกนิก ว่าไม่ใช่ทุกพื้นที่จะสามารถปลูกกาแฟออร์แกนิกได้ แต่เกิดขึ้นได้บนพื้นที่สูง อุดมสมบูรณ์ อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี และมีความชื้นที่เพียงพอเท่านั้น
นั่นเท่ากับว่าการปลูกกาแฟออร์แกนิกในประเทศไทยจะเกิดขึ้นบนภูเขาหรือพื้นที่ของชาวไทยภูเขา
ไม่เพียงให้ผลผลิตชั้นดี ผลพวงจากการปลูกกาแฟออร์แกนิกคือ การช่วยรักษาผืนป่าให้ยังคงธรรมชาติที่สมบูรณ์
ได้ยินอย่างนี้แล้วมันน่าชื่นใจใช่ไหมคะ กาแฟแสนอร่อยที่เราดื่มช่วยรักษาป่าไม้ได้ด้วย อย่ารอช้าเลยค่ะ รีบแบกเป้ขึ้นดอยไปเรียนรู้ที่มาของกาแฟออร์แกนิกที่ว่ากันดีกว่า
1
สูงแค่ไหนก็ไปถึง
1,200 เมตร คือความสูงเหนือระดับน้ำทะเลของหมู่บ้านป่าคาหรือบ้านแม่แจ๋ม ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง แหล่งปลูกกาแฟออร์แกนิกอาราบิก้าของอินทนิลที่เรากำลังเดินทางไป
สมัยก่อนพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นที่ปลูกยาฝิ่น ต่อมาในปี 2530 ชาวบ้านได้รับการส่งเสริมให้ปลูกพืชเมืองหนาวอย่างกาแฟและแมคคาเดเมีย จนถึงปัจจุบันชาวบ้านมีรายได้หลักจากพืช 2 ชนิดนี้
หลายร้อยโค้งที่รถวิ่งผ่าน วิวข้างทางคือภูเขาทางภาคเหนืออันเขียวชอุ่มบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าพื้นที่ป่าแถวนี้อุดมสมบูรณ์ขนาดไหน
รถที่เรานั่งมาเริ่มลัดเลาะเข้าหมู่บ้าน เลี้ยวเข้าทางขึ้นภูเขาไปยังไร่กาแฟ ทางขึ้นทั้งลาดชันและยังไม่เป็นถนนหนทางที่ดีนัก แต่ทางที่ดีคือเราควรเตรียมใจไว้ก่อนซะตั้งแต่ตอนนี้ว่าการเดินขึ้นไปเก็บกาแฟบนภูเขาน่าจะไม่ง่ายสำหรับคนเมืองอย่างเรา
รถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อเร่งเครื่องขึ้นทางชันเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะเบรกดังเอี๊ยด เป็นอันว่าถึงที่หมายเรียบร้อย
พี่ปาว-เลาสาร แซ่จ๋าว กับ พี่ดาว-วิภารัตน์ แซ่จ๋าว คือเจ้าของไร่ชาวมูเซอที่จะพาเราเรียนรู้กระบวนการทั้งหมดของการทำกาแฟออร์แกนิก ทั้งสองปลูกกาแฟบนภูเขาลูกนี้มานานกว่า 20 ปี ส่วนพี่ปาวเองก็เป็นทั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและผู้นำการปลูกกาแฟแบบออร์แกนิกของหมู่บ้านแม่แจ๋ม ที่ชักชวนให้คนอื่นในหมู่บ้านหันมาปลูกกาแฟแบบออร์แกนิกกัน
พวกเขาทั้งสองดูพร้อมมากกับการที่จะพาเราเดินขึ้นไปเก็บกาแฟด้วยกัน
2
เขาอยู่ได้ เราก็อยู่ได้
เขาที่ว่าคือภูเขาและป่าไม้
ไร่กาแฟออร์แกนิกขนาด 14 ไร่แห่งนี้ คือหนึ่งในไร่กาแฟอาราบิก้าที่อินทนิลรับซื้อจากกลุ่มเกษตรภาคเหนือ ไร่กาแฟของพี่ปาวอยู่บนภูเขาที่เป็นจุดสูงสุดของหมู่บ้าน ใกล้แหล่งต้นน้ำ และอยู่ทางซีกภูเขาฝั่งตะวันตก นั่นหมายความว่าต้นกาแฟทุกต้นจะได้รับความชื้นเพียงพอจากผืนดินที่กักเก็บน้ำ มีต้นไม้ใหญ่คอยให้ร่มเงา ได้รับแสงแดดเต็มที่ในตอนเช้า และไม่โดนแดดบ่ายที่แรงเกินไป
พี่ปาวและพี่ดาวพาเราเดินขึ้นไร่บนทางชันชวนท้อใจ เราต้องฝ่าหญ้ารก ดินที่ชื้นจนน่ากลัวจะลื่น ฝ่าด่านกิ่งต้นกาแฟบางส่วน บางช่วงของทางเดิน (ที่ไม่อยากเรียกว่าทางเดินเลย) เราต้องใช้มือทั้งสองยึดโยงตัวเองกับกิ่งกาแฟไว้เพื่อไม่ให้ลื่นตกเขาลงไป
ยอมรับกันตรงนี้อย่างไม่อายเลยว่าทั้งกลัวและเหนื่อยมาก แต่อย่างน้อยนี่ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าขาทั้งสองข้างมีสมรรถภาพแห่งการเดินบนพื้นที่ลาดชันได้อย่างดี
“เดินเก่งมากเลยครับ” พี่ปาวหันมาบอกเราแล้วหัวเราะเล็กน้อย ก่อนจะหยุดที่ต้นกาแฟต้นหนึ่งแล้วค่อยๆ เก็บผลผลิต
สองสามีภรรยาคู่นี้กำลังใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งค่อยๆ หมุนเก็บผลกาแฟเชอร์รี่สีแดงก่ำทีละลูกลงกระบุงสานไม้ไผ่ของชาวมูเซอ พวกเขาต้องคอยระวังไม่ให้ผลสีเขียวร่วงผสมลงมา แล้วพี่ปาวก็เริ่มเล่าถึงการปลูกกาแฟในไร่นี้ให้เราฟัง
“เมื่อก่อนผมก็ปลูกแบบใช้สารเคมีนะ ผลผลิตสวยก็จริง แต่ผืนดินตรงนี้แข็ง ไม่ร่วนซุย ไม่เป็นสีดำและนิ่มแบบนี้ ผมต้องซื้อปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงที่ราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ธรรมชาติตรงนี้ก็โทรมลง เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นปลูกแบบออร์แกนิกประมาณ 6 – 7 ปีมานี้เอง เพราะเห็นว่ามีตลาด อินทนิลเขาก็อยากรับซื้อ
กาแฟอินทนิลไม่ใช่แค่เป็นแบรนด์กาแฟที่เลือกใช้เมล็ดกาแฟออร์แกนิกอาราบิก้ามากที่สุดในประเทศไทย แต่เป็นกาแฟที่ใช้ไบโอพลาสติกมากที่สุดอีกด้วย และจากนโยบายที่อินทนิลเปลี่ยนมาใช้แก้วพลาสติกด้วยวัสดุแบบย่อยสลายในธรรมชาติได้ 100 เปอร์เซ็นต์ (Bio Cup) เป็นรายแรกๆ เมื่อหลายปีก่อน รวมถึงการเปลี่ยนมาใช้ฝาแบบยกดื่ม (อินทนิลฝาใหม่ไม่หลอด) ในปีที่ผ่านมา ก็คงจะพอทำให้รับรู้ได้ว่าแบรนด์นี้น่ารักและรักษ์โลกขนาดไหน
ตัดภาพมาที่พี่ชายชาวมูเซอตรงหน้า เขายังคงง่วนอยู่กันการเก็บผลกาแฟเชอร์รี่ แล้วเล่าประวัติความเป็นมาให้ฟังอย่างภาคภูมิใจ
“แรกเริ่มเลย ผมต้องเปลี่ยนการใส่ปุ๋ยก่อน ใช้เวลาประมาณ 3 ปี จากที่ให้ปุ๋ยเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นผสมปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์ให้ต้นกาแฟเขาปรับตัว แล้วลดปริมาณปุ๋ยเคมีลงเรื่อยๆ จนตอนนี้ใส่แต่ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียวแล้ว ก็คือเปลือกกาแฟกับขี้วัวนั่นแหละ ตรงนี้ก็มีใบไม้ทับถม มันก็เป็นปุ๋ยให้ต้นกาแฟได้อีก ต้นกาแฟมันก็เหมือนคนนะ ได้กินอาหารธรรมชาติเขาก็อยู่ได้นาน” ชายวัย 39 ปีตรงหน้าชี้ให้เห็นเราดูใบไม้และกิ่งไม้ที่ทับถมกันอยู่ใต้ต้นกาแฟ พวกมันคือแหล่งอาหารชั้นดีของต้นกาแฟออร์แกนิก
การเปลี่ยนแปลงย่อมต้องใช้เวลา แม้แต่การเปลี่ยนวิถีการปลูกกาแฟของคนที่นี่เอง พี่ปาวก็ต้องค่อยๆ ชักชวนชาวบ้านคนอื่นๆ มาปลูกกาแฟแบบออร์แกนิกโดยการทำเป็นตัวอย่างให้เห็นว่ากาแฟออร์แกนิกขายได้ เป็นที่ต้องการของตลาด จนตอนนี้ที่นี่มีพื้นที่ปลูกกาแฟออร์แกนิกอาราบิก้าในหมู่บ้านครอบคลุมประมาณ 70 เปอร์เซ็นแล้ว แถมธรรมชาติตรงบริเวณไร่กาแฟก็ดีขึ้นในระดับที่เรียกได้ว่าอุดมสมบูรณ์
ความพิเศษอย่างหนึ่งที่เราสังเกตได้ตั้งแต่แรกคือ ต้นกาแฟในไร่แห่งนี้อยู่ใต้ต้นแมคคาเดเมีย พี่ปาวให้เหตุผลกับเราว่ามันจะช่วยให้รสกาแฟมีความหอมมันเหมือนกับลูกแมคคาเดเมีย บางวันก็มีกระรอกและนกมากินผลผลิตให้พออิ่มท้อง เจ้าของไร่อย่างเขาอนุญาตให้ธรรมชาติได้พึ่งพิงดูแลซึ่งกันและกัน
“เราปลูกกาแฟอยู่บนที่สูงและอยู่ต้นน้ำ เพราะฉะนั้น ถ้าเราใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ยาฆ่าแมลง สิ่งแวดล้อมก็จะเริ่มอยู่ไม่ได้ จุดมุ่งหมายของออร์แกนิกคือทำยังไงก็ได้ให้กลับมาเป็นธรรมชาติที่สุด” เขาว่าอย่างนั้น
ไม่ช้าไม่นานผลกาแฟเชอร์รี่ก็ถูกเก็บจนเต็มกระบุง พร้อมเดินทางลงจากยอดเขา เข้าสู่ขั้นตอนต่อไป
3
รสชาติของงานละเอียด
ผลกาแฟเชอร์รี่ที่ได้มาถูกนำไปแช่ในบ่อน้ำกลางหมู่บ้านเพื่อทำการคัดแยก ลูกที่ลอยน้ำขึ้นมาจะถูกคัดทิ้ง เป็นอันว่าไม่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ารอบต่อไป
เราเดินทางขึ้นมาถึงโรงกะเทาะเปลือกหลังน้อยที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านของครอบครัวพี่ปาว สองข้างทางเรียงรายไปด้วยสวนกาแฟขนาดย่อมของบ้านข้างเคียง มีลานตากกาแฟรายล้อมอยู่อย่างละลานตา
บ้านไม้ สวนกาแฟ ลานตากไม้ไผ่ สลับกันไปกันมาอย่างนี้ตลอดเส้นถนน
โรงกะเทาะเปลือกอายุสิบกว่าปีหลังนี้มีหน้าที่ตามชื่อของมัน สองสามีภรรยาช่วยกันตักกาแฟเชอร์รี่คุณภาพเข้าเครื่องกะเทาะเปลือกออกอย่างขะมักเขม้น เครื่องจะพ่นเปลือกไปยังอีกฝั่ง คัดแยกไว้รอเอาไปทำเป็นปุ๋ย ไม่มีอะไรในที่นี้ไร้ประโยชน์
กาแฟกะลาที่ได้จะยังคงมีเมือกติดจากเปลือก พี่ปาวจะเอาเมล็ดกาแฟเหล่านี้ใส่ในกระสอบแล้วปล่อยให้พวกมันนอนแช่น้ำประปาภูเขา 1 คืนเพื่อทำการชำระล้างเมือกตัวเอง เช้ามา พี่ปาวก็จะเทเมล็ดกาแฟเหล่านั้นลงกะละมังเพื่อล้างด้วยน้ำประปาภูเขาอีกประมาณ 3 – 4 รอบ เขาบอกเราว่า หากล้างน้ำเยอะเกินไป รสชาติกาแฟที่ได้จะจางและไม่อร่อย
ความละเอียดลออของคนทำกาแฟส่งต่อมาเป็นคุณภาพของรสชาติที่ดีนี่เอง
และเมื่อเมล็ดกาแฟถูกล้างเสร็จแล้วก็เข้าสู่กะบวนการตากให้แห้ง ขั้นตอนนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน แค่ต้องใช้เวลาและความอดทนเป็นเชื้อเพลิง
เมล็ดกาแฟสีขาวและสีน้ำตาลที่ผสมปะปนกันอยู่ จะถูกเทลงตะแกรงไม้ไผ่ที่ยกสูงเกือบเมตร พี่ปาวและพี่ดาวจะต้องช่วยกันแบ่งกลุ่มเมล็ดเหล่านี้ตามสีทีละเม็ดด้วยสองมือและสองตา กว่าจะเสร็จก็กินเวลานานเกินสัปดาห์
เมล็ดสีเข้มกว่าจะถูกนำไปสี คั่วให้เข้ม แล้วขายได้เป็นกาแฟดำหรือกาแฟโบราณ ส่วนเมล็ดกาแฟสีนวล หลังสีเสร็จแล้วจะสามารถเก็บไว้ส่งให้อินทนิลนำไปคั่วต่อได้
ด้วยพื้นที่หมู่บ้านที่มีอากาศหนาวเย็นและแสงแดดอ่อน พวกเขาต้องใช้เวลาถึง 15 วันกว่าเมล็ดกาแฟจะแห้งพร้อมคั่ว แต่ถ้าเป็นพื้นที่ข้างล่างที่มีแสงแดดแรง กระบวนการนี้จะใช้เวลาแค่ 5 วัน และเมื่อมีความชื้นไม่เกิน 8 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าผ่าน พร้อมส่งต่อให้ผู้บริโภค
อินทนิลจะส่งคนมารับซื้อกาแฟเหล่านี้ถึงหมู่บ้าน พร้อมนำเมล็ดกาแฟชั้นดีส่งต่อถึงคนรักกาแฟผ่านเมนูเครื่องดื่มแสนอร่อย
อดทนกันอีกนิดนะคะ เราจะได้ดื่มกาแฟกันแล้ว
4
จากธรรมชาติสู่ธรรมชาติ
แบรนด์กาแฟอินทนิลพยายามสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ว่า แค่ดื่มกาแฟคุณก็มีส่วนช่วยธรรมชาติได้
ไม่ใช่แค่เมล็ดกาแฟอาราบิก้าแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือกาแฟออร์แกนิกจากธรรมชาติที่อินทนิลเลือกใช้ แต่ทุกแก้วของอินทนิลคือวัสดุชีวภาพ ผลิตจากพืชและย่อยสลายสู่ธรรมชาติด้วยตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์
จากต้นกาแฟบนป่าเขาถึงแก้วกาแฟของอินทนิลที่คุณกำลังถือ ล้วนหวนคืนสู่ธรรมชาติทั้งสิ้น เม็ดเงินจากการซื้อกาแฟสักแก้วก็เดินทางไปเป็นรายได้เลี้ยงปากท้องของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟเช่นกัน
ยังไม่หมดแค่นี้
นอกจากเมล็ดอาราบิก้าจากไร่กาแฟของกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือที่อินทนิลรับซื้อมาตลอด 12 ปี ในปี 2562 แบรนด์อินทนิลวางแผนไว้ว่าจะสามารถรองรับผลผลิตกาแฟออร์แกนิกอาราบิก้าให้ได้ 30 ตัน ถึงเวลานั้นเราคงได้เห็นวิถีการปลูกกาแฟอาราบิก้าแบบออร์แกนิกที่ช่วยรักษาป่าเพิ่มขึ้นอีกหลายพื้นที่
ไม่ใช่แค่น่าสนใจ แต่มันน่าชื่นใจจริง ๆ
รู้ขนาดนี้แล้ว ไปดื่มกาแฟอินทนิลด้วยกันนะคะ