ในยุคสมัยที่การศึกษาเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทั้งในโรงเรียน สถาบันกวดวิชา หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่ในดินแดนลึกลับกลางป่าเขาลำเนาไพรไกลปืนเที่ยง อย่างชุมชนบ้านห้วยพ่าน ตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน กลับไม่มีการศึกษารูปแบบใดเดินทางไปถึง

ชาวบ้านในชุมชนจึงลุกขึ้นมาระดมเงินจัดการศึกษาให้ลูกหลานของพวกเขาด้วยตัวเอง

เป็นหลักสูตรการเรียนรู้ที่หาไม่ได้จากที่ไหนในโลกใบนี้

ผ้าป่า

เมื่อถึงฤกษ์งามยามดีของทุกปี ชาวชุมชนบ้านห้วยพ่าน ทั้งคนไทย คนลัวะ และคนถิ่น จะชวนกันมาแห่ผ้าป่าการศึกษา สมทบทุนสนับสนุนการเรียนการสอนให้ ‘ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน’ โรงเรียนที่เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของสมาชิกในชุมชน ด้วยความหวังจะผลิตนักเรียนที่เป็นอนาคตของชุมชน

โรงเรียนทางเลือก, บ้านห้วยพาน

โรงเรียนทางเลือก, บ้านห้วยพาน

วันนี้เลยคึกคักเป็นพิเศษ ทั้งเสียงกลอง เสียงฆ้อง และเนื้อร้องทำนองเพลงพื้นบ้าน ดังก้องกลางป่าไพร ราวกับว่าหุบเขาลูกนี้จะไม่มีวันเงียบเหงาเมื่อมีพวกเขาอยู่ที่นี่

หลังเสร็จสิ้นพิธีการสำคัญ ทุกคนล้อมวงนับเงินบริจาค ปีนี้ได้มา 8 หมื่นกว่าบาท ยังห่างไกลกับยอดค่าใช้จ่ายตลอดทั้งปีซึ่งมีจำนวนราว 2 ล้านบาท แต่พวกเขายังรู้สึกยินดีที่อย่างน้อยก็ได้ร่วมต่อชะตาอนาคตของโรงเรียน-สถานศึกษานอกระบบที่อยู่นอกบัญชีการดูแลของหน่วยงานภาครัฐ

ในรอยยิ้มของความภูมิใจ ชวนให้เรื่องราวความหลังถูกกล่าวขานขึ้นอีกครั้ง…

โรงเรียนทางเลือก, บ้านห้วยพาน

โรงเรียนทางเลือก, บ้านห้วยพาน

ห่างไกลเหลือเกิน

ย้อนกลับไปช่วง พ.ศ.2502 – 2514 ในยุคที่มีการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกองทัพของรัฐบาลไทยและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ป่าทึบและภูเขาสูงในอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ที่เคยเป็นที่อยู่ของคนท้องถิ่นกลายมาเป็นที่ตั้งฐานของการต่อสู้ ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพออกนอกพื้นที่ ชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ จำนวน 7 ครอบครัวรวมตัวกันออกเดินทางแสวงหาถิ่นฐานตั้งรกรากใหม่ พวกเขาเดินทางมาพบพื้นที่ผืนนี้ จึงลงหลักปักฐาน แล้วกลายมาชุมชนบ้านห้วยพ่านในปัจจุบัน

หลังสงครามยุติ บ้านเมืองพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จังหวัดน่านมีความเจริญมากขึ้น ทว่าความรุ่งเรืองทางกายภาพก็ยังมาไม่ถึงชุมชนกลางป่าแห่งนี้

หากผู้อ่านเดินทางมาด้วยกันจะพบว่า ทันทีที่เลี้ยวรถเข้าซอยเล็กๆ ตามป้ายบอกทางบ้านห้วยพ่าน ตลอดระยะทางนับสิบกิโลเมตร เราไม่พบถนนคอนกรีต เสาไฟฟ้า ระบบประปา แม้กระทั่งคลื่นโทรศัพท์ จนถึงหมู่บ้านนั่นแหละโทรศัพท์ถึงกลับมาพบกับคลื่นอีกครั้ง

โรงเรียนทางเลือก, บ้านห้วยพาน

ไม่แปลกที่ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า ที่ผ่านมาเด็กๆ ในชุมชนแทบไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะอยู่ห่างจากตัวเมืองและไกลจากโรงเรียน หากเด็กคนไหนอยากเรียนหนังสือต้องระหกระเหินเดินทางไกลตั้งแต่ 10 – 120 กิโลเมตร เกิดค่าใช้จ่ายตามรายทางที่มากเกินกว่าครอบครัวจะรับไหว เด็กบางคนจึงขาดโอกาสทางการศึกษาเพราะไม่มีทุนทรัพย์

เด็กบางคนก็ต้องเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าไปพักอาศัยที่อื่น เพื่อลดระยะการเดินทาง หนำซ้ำพวกเขายังมีปัญหาการเข้าสังคม เพราะส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์ หลายคนจึงเผชิญกับความโดดเดี่ยว บางคนพอไปเติบโตกลางแสงสีในเมืองก็ลืมทุ่งนาป่าควาย กลายเป็นคนอื่นคนไกลไปเสีย

โรงเรียนของหนู

หลังกัดฟันขบความคิดกันนานหลายปี ชาวบ้านก็มีมติว่า ต้องสร้างสถานศึกษาขึ้นในชุมชน ครอบครัว 45 ครัวเรือนจึงเอาแรงเอาเงินลงขันกันร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน ก่ออิฐโบกปูนลูบดิน จนเกิดเป็นอาคารเรียนดินขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2555 และเปิดการเรียนการสอนใน พ.ศ. 2556

โรงเรียนทางเลือก, บ้านห้วยพาน

ผู้รับตำแหน่งครูใหญ่หรือผู้อำนวยการก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ผู้ใหญ่บ้านนั่นเอง ครูผู้สอนก็เป็นลูกหลานคนในหมู่บ้านที่ไปเรียนที่อื่นจบแล้วตั้งใจกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตน พวกเขาตั้งโต๊ะประชุมรับฟังความคิดเห็น เพื่อวางหลักสูตรการเรียนการสอนในแบบที่ทุกคนอยากให้เป็น ดังนี้

หนึ่ง สร้างองค์ความรู้ด้านวิชาการทุกกลุ่มสาระวิชา ให้นักเรียนมีทักษะทุกด้านทัดเทียมกับเด็กโรงเรียนของรัฐและเอกชน ต้องเรียนต่อในระดับสูงได้ตามมาตรฐานการศึกษาที่กฎหมายกำหนด

สอง สร้างองค์ความรู้ภาคปฏิบัติ ส่งเสริมประสบการณ์และจิตสำนึกสาธารณะ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการรักษาดิน น้ำ ป่า ในชุมชนและพื้นที่โดยรอบ ดูเหมือนง่ายแต่นับเป็นความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะในวันที่กระแสการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้ภูเขาหัวโล้นกินพื้นที่กว้างขึ้นทุกที

โรงเรียนทางเลือก, บ้านห้วยพาน

ด้วยแนวคิดดังกล่าวจึงเกิดเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีชื่อว่า ‘มรดกห้วยพ่าน’ จากการผสมผสานระหว่างการเรียนแบบฉบับของห้วยพ่านเองกับหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ เกิดเป็นกลุ่มสาระต่างๆ เช่น

กลุ่มสาระตัวเลขหรรษาและภาษามหาสนุก สอนภาษาลัวะ ภาษาชนเผ่า

กลุ่มสาระคลังสมบัติห้วยพ่าน สอนต้นทุนทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่มีในชุมชน

กลุ่มสาระทักษะสร้างสุข ให้เด็กๆ สร้างเสริมประสบการณ์และหัดใช้ชีวิตอย่างสมดุล

หมู่บ้านต้องยื่นหนังสือถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต 2 ของจังหวัดน่าน ให้รับรองและอนุมัติการดำเนินงานของศูนย์การเรียนฯ ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ที่ระบุให้องค์กรชุมชนมีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้

กว่าจะสำเร็จก็ต้องผ่านการปรับปรุงแก้ไขอยู่หลายครั้ง โดยประสานงานกับเครือข่ายจัดการศึกษานอกระบบ อย่างโรงเรียนม่อนแสงดาวธรรมชาติวิทยาให้เป็นที่ปรึกษาในการเดินเรื่อง กระทั่งได้รับการเห็นชอบจากสำนักงานเขตภายในระยะเวลา 2 ปี

โรงเรียนฟ้ากว้าง ทางใกล้

เด็กนักเรียนในช่วงชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้นที่เคยไปเรียนที่อื่นจึงได้หวนกลับมาสู่อ้อมอกพ่อแม่อีกครั้ง พวกเขาเดินมาเรียนที่ศูนย์การเรียนในชุมชนของตัวเอง ไม่ต้องเสียค่ารถ ไม่ต้องใส่เสื้อผ้าที่ใครบังคับ อยากใส่อะไรก็ได้ตามสะดวกใจ

วันไหนเรียนในห้องแล้วเบื่อก็พากันออกมาเรียนรู้กับธรรมชาติ มองฟ้ากว้าง ดูทางไกล ฟังสายน้ำไหล สบายใจจริงเอย หรือวันไหนที่หมู่บ้านมีกิจกรรม ครูก็จะพาเด็กๆ มาร่วมบำเพ็ญประโยชน์

โรงเรียนทางเลือก, บ้านห้วยพาน

เมื่อหมู่บ้านมีพิธีขอขมาแม่น้ำ ซึ่งเป็นพิธีกรรมเก่าแก่ที่สืบทอดต่อกันมาช้านาน เด็กๆ ในชุดพื้นบ้านจะไปเก็บดอกไม้ในป่าเอามาโปรยบนผิวน้ำ ระหว่างนั้นพระสงฆ์จะนำสวดมนต์บูชา ชวนให้ระลึกถึงคุณค่าของแม่น้ำที่เป็นจุดกำเนิดของทุกสรรพสิ่ง และเป็นโอกาสที่เด็กๆ จะได้เรียนวิชาวัฒนธรรมร่วมกับชุมชน

โรงเรียนทางเลือก, บ้านห้วยพาน

นอกจากจะมีความรู้พื้นฐานไม่ต่างจากเรียนที่อื่น ยังปลูกฝังความรู้สึกรักและหวงแหนถิ่นที่อยู่ดั่งมรดกที่บรรพบุรุษรักษาเอาไว้

วันนี้มีนักเรียนเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่จบการศึกษาจากศูนย์การเรียนรู้ชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่านแล้วทั้งหมด 5 รุ่น เด็กหลายคนสอบเข้าสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงได้ แม้ไม่ได้เรียนพิเศษในห้างดังอย่างใครเขา ตรงกันข้ามพวกเขายังมีอาวุธความคิด ทั้งทักษะวิชาชีวิต และเข็มทิศในการเรียนรู้ ที่มีเป้าหมายว่า สักวันหนึ่งจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตน

หลักสูตรการสอนของที่นี่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคน และมีผลสัมฤทธิ์ให้เด็กๆ รู้จักรู้ใจตัวเองจริงๆ ว่าเรียนไปทำไม ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากในโรงเรียนทั่วไป

โรงเรียนทางเลือก, บ้านห้วยพาน

อยู่นอกสายตา

ความสำเร็จในการสร้างคนของศูนย์การเรียนฯ แห่งนี้สร้างความประหลาดใจมากแล้ว แต่สิ่งที่ไม่น่าเชื่อไปกว่านั้น คือสถาบันการศึกษาการแห่งนี้ดูเหมือนเป็นคนนอกสายตาที่ภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญ ทำให้ชาวห้วยผ่านยังคงล้มลุกคลุกคลานอยู่ในสมรภูมิการต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่ของศูนย์การเรียนฯ

ผู้ใหญ่บ้านเล่าต่อว่า ตั้งแต่ก่อสร้างจนถึงวันนี้ ศูนย์การเรียนฯ แห่งนี้ยังไม่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการหรือกระทรวงมหาดไทยเหมือนอย่างสถานศึกษาหรือโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศ แม้ว่าจะผ่านการรับรองให้จัดการเรียนการสอน และมีรหัสสถานศึกษาตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. แล้วก็ตาม

แต่ยังคงต้องรอการตรวจสอบสิทธิ์ที่พึงจะได้ตามข้อกำหนดของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง พร้อมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาวินัยทางงบประมาณและการคลัง ทั้งยังต้องผ่านด่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก่อน ถึงจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อหามติร่วมกัน ซึ่งหากมีมติเห็นชอบแล้ว จะต้องประเมินเกณฑ์การอุดหนุน และรอการจัดสรรงบประมาณต่อไป

จึงไม่อาจตอบได้เลยว่า เมื่อไหร่กันหนอ นมโรงเรียนกล่องเล็กๆ จะตกถึงท้องเด็กๆ ห้วยพ่าน ในระหว่างที่รอพวกเขาต้องห่อข้าวจากบ้านไปกินเองที่โรงเรียน พ่อแม่ต้องปันเงินส่วนตัวมาเป็นค่าจ้างครู หรือช่วยกันจัดผ้าป่าหาเงินสนับสนุน เพราะศูนย์การเรียนไม่มีรายได้มากพอ   

เมื่อลองศึกษา พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 จะพบว่า มาตรา 14 และ มาตรา 14 (2) ระบุว่า องค์กรชุมชนซึ่งจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามควร อาทิ เงินอุดหนุนจากภาครัฐสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะที่ มาตรา 61 ระบุว่า ให้รัฐจัดสรรเงินอุดหนุนการศึกษาที่จัดโดยองค์กรชุมชนตามความเหมาะสมและความจำเป็น

แม้ดูเหมือนจะมีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่เพราะคำจำกัดความไม่ได้มีสภาพบังคับ มีผลทำให้การศึกษาของชุมชนห้วยพ่านยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น

โรงเรียนทางเลือก, บ้านห้วยพาน

ยิ้มสู้

ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นนำมาสู่ข้อเรียกร้องเพื่อหาความเป็นธรรม ชาวบ้านห้วยพ่าน มูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหลายต่อหลายครั้ง ด้วยหวังว่ากระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้รับผิดชอบดูแล จะเจียดเงินก้อนเล็กๆ จากงบประมาณที่มีรวมๆ กว่า 7 แสนล้านบาท มาปันให้กับศูนย์การเรียนรู้หลังน้อยๆ ในหุบเขาบ้าง

ชาวบ้านห้วยพ่านเต็มใจจะเป็นกำลังเสริมทำงานแทนหน่วยงานภาครัฐที่เข้าไม่ถึงคนกลุ่มน้อยในพื้นที่ห่างไกล ขอแค่มีค่าอาหารกลางวัน 20 บาทต่อมื้อต่อหัว ค่าจ้างครู 7,000 – 10,000 บาทต่อเดือน และเงินสนับสนุนตามมาตรฐานที่ใช้กับโรงเรียนทั่วๆ ไป ก็จะช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายที่ศูนย์การเรียนฯ ต้องแบกรับแต่เพียงผู้เดียว ราวปีละ 2 ล้านบาทได้บ้าง และเพียงพอต่อการพัฒนาการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น แต่ที่ผ่านมาผลการเรียกร้องยังคงเป็นศูนย์

สิ่งเดียวที่พวกเขาทำได้คือ ยืนหยัดปลูกต้นไม้เล็กๆ ด้วยการศึกษาให้กับลูกหลาน เพื่อเพาะกล้าคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังในการรักษามรดกจากธรรมชาติ ทั้งป่ากว้างนับหมื่นไร่ แหล่งน้ำทั้ง 47 แห่ง และวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวห้วยพ่านให้อยู่ดีมีสุขเรื่อยมา

จากเรื่องราวการต่อสู้ของชาวห้วยพ่านที่เป็นจุดเริ่มสร้างถิ่นฐานในหุบเขาน่าน ตลอดจนการสร้างรากฐานการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ถึงวันนี้ดูเหมือนพวกเขายังต้องเดินทางไกลจนกว่าจะถึงจุดหมาย แต่รอยยิ้มที่เห็นได้ในทุกๆ วันเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า มีชัยชนะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีขบวนผ้าป่าเดินทางมาถึง ศูนย์การเรียนกำลังเปิดสอน และมีนักเรียนเดินเข้าออกระหว่างป่ากับห้องเรียน

ก่อนจะหมดวันฤกษ์งามยามดี เด็กๆ ห้วยพ่านยังจัดการแสดงร้องเล่นเต้นรำให้ดูอย่างสนุกสนาน บางคนรับบทเป็นล่ามแปลภาษาจากเนื้อร้องภาษาถิ่นให้ฟัง บางคนอาสาทำของขวัญพื้นบ้านเล็กๆ น้อยๆ ให้เป็นที่ระลึกแทนใจ ทั้งหมดอาจไม่มีราคาที่เป็นมูลค่า แต่มีคุณค่าทางจิตใจที่เกินกว่าจะประเมินได้

หากเพียงจะนิยามได้ว่า หุบเขาน่านที่ไกลปืนเที่ยง ไม่ได้ล้าหลัง แต่กลับรุ่งเรืองด้วยจิตวิญญาณและแนวทางพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์

โรงเรียนทางเลือก, บ้านห้วยพาน

ภาพ: มูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน

Writer & Photographer

Avatar

December Sky

ปากกา หน้าจอ สมอ หมอนข้าง ฟ้ากว้าง และ กวางเรนเดียร์