ทุกครั้งเมื่อผู้เขียนจะเดินทางไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อน ๆ ที่ทราบข่าว มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า

“ระวังตัวด้วยครับ”

เป็นเวลานานนับสิบปีแล้ว ที่คนไทยจำนวนมากมีภาพจำเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เป็นดินแดนที่ผู้คนอยู่กันด้วยความหวาดกลัว ระแวงว่าจะมีการวางระเบิด เสียงปืนปะทะกัน มีเสียงหวอของรถพยาบาล บ้านช่องปิดเงียบไม่คึกคัก

ใครไม่มีธุระจำเป็น ไม่ควรไปดินแดนเหล่านี้

ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนใช้เวลา 4 – 5 วันตระเวนไปเยี่ยมชุมชนชาวมุสลิมหลายแห่งในจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ทุกแห่งที่เดินทาง ผู้คนใช้ชีวิตปกติ อยู่กันด้วยความสงบสุข ร้านค้าเปิดขายกัน ผู้คนเดินทางกันขวักไขว่

รถราตามท้องถนนแล่นกันพลุกพล่าน ไม่ได้เงียบเหงาวังเวงอย่างที่คนข้างนอกจินตนาการ ชาวบ้านในพื้นที่แนะนำว่า ระหว่างเดินทาง หากไปด้วยรถยนต์ส่วนตัวจะปลอดภัยกว่าเป็นรถของทางการ

ด่านหลายแห่งตามท้องถนนที่เคยมีทหาร ตำรวจรักษาการณ์เคร่งครัด กลายเป็นด่านร้าง แทบจะไม่ค่อยมีเจ้าหน้าที่ประจำการ

วันหนึ่งที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ผู้เขียนเดินเข้ามาเยี่ยมชมโรงเรียนประถมศึกษาบ้านช่องแมว โรงเรียนเล็ก ๆ แต่มีบรรยากาศสดใส ต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น และที่น่าสนใจคือ ภาพวาดสัตว์นานาชนิดสีสันจัดจ้านงดงามตามกำแพงห้องเรียน ราวกับโรงเรียนเด็กเล็กในเมืองใหญ่ จนแทบไม่น่าเชื่อว่าโรงเรียนแห่งนี้อยู่ในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ดินแดนแห่งความรุนแรงและความขัดแย้งตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

บ้านช่องแมว : รร.เล็ก ๆ ในปัตตานี ต้นแบบการปฏิรูปการศึกษาและอาหารกลางวันระดับประเทศ

ที่ผ่านมาโรงเรียนเล็ก ๆ แห่งนี้ได้รับรางวัลหลายรางวัล อาทิ โรงเรียนต้นแบบนักเรียนสุขภาพดี โรงเรียนปลอดขยะ ฯลฯ

โดยเฉพาะรางวัลโรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวันดีเด่น ระดับประเทศ

‘โรงเรียนบ้านช่องแมว’ เป็นโรงเรียนเก่าแก่ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 ในอดีตโรงเรียนแห่งนี้ไม่ค่อยมีใครสนใจ ไม่ค่อยได้รับการพัฒนา ทำให้จำนวนนักเรียนลดลงเรื่อย ๆ กระทั่งเมื่อหลายปีก่อน โรงเรียนกำลังจะโดนยุบตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากมีจำนวนนักเรียนไม่ถึง 100 คน

แต่คณะกรรมการโรงเรียน ผู้ปกครอง ในเวลานั้น ร่วมกันหาทางออก และประจวบเหมาะกับ นายอุดม ชูอ่อน ย้ายมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนคนใหม่ จึงได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการเพิ่มจำนวนนักเรียน ในที่สุดโรงเรียนไม่โดนยุบ และสิบกว่าปีผ่านไป โรงเรียนบ้านช่องแมวค่อย ๆ มีนักเรียนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีนักเรียน 325 คน และกลายเป็นโรงเรียนประถมศึกษาตัวอย่าง โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในอำเภอสายบุรี

ครูอุดมย้อนความหลังให้ฟังว่า แนวทางการจัดการแก้ปัญหาในอดีตเป็นอย่างไร

“ตอนแรกที่ผมมารับตำแหน่ง เด็กนักเรียนเกือบทั้งหมดเป็นมุสลิม ผมสังเกตว่า สาเหตุที่ผู้ปกครองมาให้นักเรียนลาออก เพราะโรงเรียนรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ค่อยให้ความสำคัญกับศาสนาอิสลามเหมือนศาสนาพุทธ ทำให้ผู้ปกครองย้ายลูกหลานตัวเองไปอยู่โรงเรียนมุสลิมแทน ผมจึงเปลี่ยนวิธีการทำให้โรงเรียนรัฐบาลแห่งนี้ให้ความสำคัญกับทุกศาสนาเท่ากัน ผู้ปกครองจึงพานักเรียนกลับมาเรียนใหม่ และหันมาปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน สภาพแวดล้อมในโรงเรียน และที่สำคัญคือปรับปรุงอาหารกลางวัน”

คุณครูเล่าให้เราฟังว่า การคำนึงถึงสุขภาพของนักเรียนต้องมาก่อนเรื่องอื่น นักเรียนทั้งหมดในโรงเรียนเป็นลูกหลานคนยากจนในอำเภอ ไม่ค่อยมีเงิน แกจึงปรับปรุงคุณภาพอาหารกลางวันก่อน โดยใช้เงินค่าอาหารกลางวันของเด็กที่ทางการอุดหนุนคนละ 21 บาท มาบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมให้โรงเรียนมีการเลี้ยงปลา ไก่ เป็ด กบ ปลูกผักสวนครัวหลากหลายชนิด เพื่อเป็นอาหารเสริมและลดค่าใช้จ่าย จนทำให้นักเรียนทั้งหมดได้กินอาหารครบทุกหมู่อย่างอิ่มหนำ

โรงเรียนมีสระน้ำพื้นที่ 5 ไร่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดต่าง ๆ อาทิ ปลายี่สก ปลาทับทิม ปลาสวาย ฯลฯ และนำน้ำไปใช้ในทางการเกษตร บริเวณรอบ ๆ สระมีการปลูกพืชที่มีประโยชน์ เช่น ปาล์มน้ำมัน มะพร้าวหอม และสวนอนุรักษ์พันธุ์กล้วยของจังหวัดปัตตานี จำนวน 19 สายพันธุ์

นักเรียนตัวน้อยทำหน้าที่เป็นไกด์ พาผู้เขียนเดินไปชมโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ 200 ตัว บ่อเลี้ยงปลาดุก ปลาหมอหลายพันตัว แหล่งอาหารโปรตีนสำคัญของนักเรียน เรือนเพาะเห็ด ผักสวนครัว อาทิ ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะละกอ มะนาว คะน้า ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง พริก มะเขือ โดยพืชผักเหล่านี้ใช้ปุ๋ยขี้ไก่จากโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ และปุ๋ยหมักชีวภาพต่าง ๆ ที่ทำขึ้นเองมาบำรุงรักษา โดยแต่ละแห่งจะมีนักเรียนคอยผลัดเวรมารับผิดชอบ

บ้านช่องแมว : รร.เล็ก ๆ ในปัตตานี ต้นแบบการปฏิรูปการศึกษาและอาหารกลางวันระดับประเทศ

การทำงานของนักเรียนเหล่านี้ช่วยตอกย้ำว่า อาหารกลางวันที่กินได้อิ่มท้อง ส่วนหนึ่งมาจากน้ำพักน้ำแรงของพวกเขาด้วย

ผู้เขียนแวะมาที่โรงอาหาร เด็กนักเรียนกำลังต่อแถวเข้าคิวรับอาหารกลางวันและนำมากินที่โต๊ะอาหาร เราเห็นถาดหลุมของเด็กน้อย มีกับข้าว 3 อย่าง ทั้งผัดผัก ไข่เจียว ปลาทอด พร้อมของหวานและข้าวสวยเต็มจาน นักเรียนล้อมวงกินกันอย่างเอร็ดอร่อย

เด็กนักเรียนแห่งนี้ แม้จะเป็นเด็กยากจน แต่รับประกันว่ากินอาหารกลางวันอิ่มแน่ และที่สำคัญคือ ผอ. โรงเรียนบอกว่า

“ทุกคนในโรงเรียนกินอาหารเหมือนกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จะมีอาหารให้ทานแบบเท่าเทียมทุกคน ทั้งมื้อเช้า มื้อเที่ยง บางครั้งก็มีอาหารว่าง และมื้อเย็นด้วย รวมถึงผู้ปกครองบางคนที่ไม่มีเงิน ก็มาทานข้าวกลางวันพร้อมลูกตัวเองได้ ”

บ้านช่องแมว : รร.เล็ก ๆ ในปัตตานี ต้นแบบการปฏิรูปการศึกษาและอาหารกลางวันระดับประเทศ
บ้านช่องแมว : รร.เล็ก ๆ ในปัตตานี ต้นแบบการปฏิรูปการศึกษาและอาหารกลางวันระดับประเทศ

ผู้เขียนสังเกตว่า บรรยากาศโรงเรียนดูร่มรื่นเป็นธรรมชาติ มีพื้นที่ป่าชุมชนภายในโรงเรียน อนุรักษ์ไว้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ มีความหลากหลายของพันธุ์ไม้หลายชนิด

“พวกเราดูแล ปลูกต้นไม้ใหญ่มานาน เพื่อเป็นปอดให้กับทุกคนจนกลายเป็นสวนพฤกษศาสตร์ เพราะผมเชื่อว่า ธรรมชาติจะเยียวยาและให้สติปัญญากับเด็กนอกห้องเรียนได้เป็นอย่างดี”

ครูอุดมเชื่อว่า นักเรียนจะเติบโตมีคุณภาพขึ้นมาได้ หน้าที่ของครูคือสร้างสิ่งแวดล้อมสำหรับเด็กให้ดีก่อน

มีการอนุรักษ์พันธุ์ไม้กันเกราอายุนับ 100 ปี จำนวนหลายสิบต้น อันเกิดจากวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่ไม่ทำลายต้นไม้ และสังเกตเห็นว่าสิ่งก่อสร้างในโรงเรียนก็ไม่ทำลายต้นไม้เลย เช่น การสร้างสนามเด็กเล่นในโรงเรียนที่กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม แวดล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่มากมาย

นอกจากนั้น โรงเรียนยังทำหน้าที่บริการชุมชน อาทิ เมื่อชาวบ้านในชุมชนบางคนไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ทางโรงเรียนได้ร่วมกันตรวจสอบข้อมูลกับทางกรรมการหมู่บ้าน และอนุญาตให้ชาวบ้านเหล่านั้นมาใช้ที่ดินของโรงเรียนบางส่วนเพื่อปลูกผักสวนครัวเป็นอาหารเลี้ยงภายในครอบครัวได้ ปัจจุบันมีชาวบ้านประมาณสิบคน ที่มาปลูกผักกาดเขียว ผักบุ้ง

ทุกวันนี้โรงเรียนบ้านช่องแมว ได้กลายเป็นโรงเรียนตัวอย่างในวงการศึกษา มีหน่วยงานต่าง ๆ มาดูงานอย่างต่อเนื่อง

ก่อนกลับ เราถามครูอุดมว่า ทำไมอาคารเรียนที่นี่จึงทาสีชมพูสด

“เราเลือกใช้สีชมพูสดเพื่อตัดกับความเขียวของต้นไม้รอบโรงเรียน และวาดภาพทุกผนังกำแพง เพื่อสร้างสีสันและจินตนาการให้กับเด็กครับ”

โรงเรียนเล็ก ๆ ไกลปืนเที่ยง แต่คือตัวอย่างของการปฏิรูปการศึกษาจริง ๆ

บ้านช่องแมว : รร.เล็ก ๆ ในปัตตานี ต้นแบบการปฏิรูปการศึกษาและอาหารกลางวันระดับประเทศ

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว