น่าจะเป็นความปรารถนาของคนจำนวนไม่น้อยที่อยากจะรู้รากเหง้าของตัวเองและครอบครัวว่ามาจากที่ไหน ตัวเองมีเลือดเนื้อเชื้อไขของคนไทย คนจีน คนมอญ หรือชาติอะไรก็ให้ว่ามา ยิ่งถ้ายกระดับขึ้นเป็นระดับชาติ คำถามยอดนิยมที่ติดระดับท็อปฮิตข้อแรกๆ มาแต่ไหนแต่ไรย่อมได้แก่คำถามว่า ผู้ที่เรียกตัวเองว่าคนไทยมีต้นทางของความเป็นคนไทยมาจากที่ไหน

สมัยที่ผมเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาเมื่อราว 60 ปีมาแล้ว ตำราเรียนบอกว่า ต้นกำเนิดของคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต ในประเทศจีน ความรู้แค่นั้นก็เพียงพอสำหรับผมแล้ว ไม่ได้ขวนขวายอยากรู้ต่อไปเลยว่าเจ้าภูเขาที่ว่านี้อยู่ตรงไหนกันแน่ ผมเป็นคนเชื่อคนง่าย ว่าอะไรก็ว่าตามกันครับ

อันที่จริงชุดความรู้ที่ว่าคนไทยมาจากดินแดนทางใต้ของจีน แล้วถูกรุกรานจึงต้องถอยร่นลงมาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิ จนกระทั่งประชิดติดทะเล แบบที่ต้องพูดปลุกใจให้ฮึกเหิมว่า “เราถอยไปที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว” ไม่ได้เป็นความรู้เพียงแค่ของคนรุ่นผมเท่านั้น แต่น่าจะย้อนยุคขึ้นมาได้อีกอย่างน้อยหนึ่งชั่วคน คือย้อนขึ้นไปถึงสมัยพ่อแม่ของผม ซึ่งเติบโตขึ้นในยุคสมัยที่เชื่อผู้นำแล้วชาติจะพ้นภัย ข้อมูลชุดนี้ได้รับการตอกย้ำและเผยแพร่อย่างเป็นจริงเป็นจังมาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว

น่าแปลกไหมครับถ้าผมจะตั้งข้อสังเกตว่า ตำรับตำราหรือหนังสือที่บอกว่าคนไทยมาจากตอนใต้ของจีนนั้น ถ้าเป็นหนังสือเก่าอายุประมาณ 100 ปีหรือย้อนหลังขึ้นไปเก่ากว่านั้น ผมยังไม่เคยพบผ่านตาเลย นั่นน่าจะหมายความว่าหนังสือเช่นว่าไม่มีอยู่ หรือถ้ามีอยู่ก็เป็นจำนวนน้อยฉบับ และไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณะอย่างจริงจัง

เอาเถิดครับ สรุปเบื้องต้นว่าเมื่อตอนผมเป็นเด็กนักเรียนประถม ผมเข้าใจตามที่กระทรวงศึกษาธิการบอกว่า บรรพบุรุษไทยยุคแรกของผมเดินทางมาจากเทือกเขาอัลไต ซึ่งอยู่ที่เมืองจีนโน่น

พอเวลาผ่านไป อายุมากขึ้น เรียนหนังสือชั้นสูงขึ้น มาถึงยุคสมัยที่ผมเรียนชั้นมัธยมศึกษา ในพุทธศักราช 2510 มีข่าวใหญ่เกิดขึ้นในเมืองไทยเรื่องหนึ่ง นั่นคือการขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ ทำให้เราได้พบอะไรต่อมิอะไรจำนวนมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีจุดเด่นหรือชื่อที่เป็นที่สนใจกันในวงกว้างคือ บ้านเชียง

บ้านเชียงนี้เป็นชื่อของตำบลหนึ่งในอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

ก่อนจะพูดคุยฟุ้งซ่านอะไร ต่อไปขอนิยามเสียก่อนครับว่า ‘ยุคก่อนประวัติศาสตร์’ คืออะไร

เรามาตกลงกันก่อนว่า ยุคประวัติศาสตร์นั้นคือยุคสมัยที่มีการจดเรื่องราวต่างๆ เป็นลายลักษณ์อักษร จะจดครบจดขาด จดจริงจดปลอมอะไรก็ไม่ว่ากัน ถ้าถอยหลังขึ้นไปก่อนนั้นคือช่วงเวลาที่ยังไม่มีการจดเรื่องราวต่างๆ ไว้เป็นหลักฐาน ตรงนั้นล่ะครับคือก่อนประวัติศาสตร์ การศึกษาเรียนรู้เรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์จึงไม่ได้ทำโดยอาศัยเอกสารเป็นเครื่องมือ หากแต่อาศัยการขุดค้นหลักฐานที่ส่วนมากถูกกลบฝังอยู่ใต้พื้นดิน เนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของวันเวลา แล้วนำมาเป็นเครื่องบ่งชี้เพื่อสันนิษฐาน หรือบอกให้เรารู้ว่าผู้คนในยุคนั้นเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร

ความรู้ทางวิชาโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์นี้ ต้องนับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยเรา กว่าจะเริ่มมีการศึกษาอย่างจริงจังก็เป็นช่วงหลังเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านพ้นไปแล้ว ดูเหมือนต้นทางจะเนื่องมาจากมีเชลยสงครามฝ่ายสัมพันธมิตรคนหนึ่งที่ถูกจับมาคุมขังอยู่ในค่ายของญี่ปุ่น ที่จังหวัดกาญจนบุรี คุณคนนี้เป็นนักโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ ระหว่างถูกบังคับให้ทำทางรถไฟไปเมืองพม่า ได้ไปพบหลักฐานทางโบราณคดีหลายอย่างที่ส่อแสดงให้เห็นว่าเป็นหลักฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์ในเมืองไทย เมื่อสงครามเลิกแล้ว คุณคนที่ว่าได้ย้อนกลับมาทำการศึกษาอย่างจริงจัง ทางราชการไทยจึงเข้ามาทำงานในเรื่องนี้ด้วย และขยายผลจนกระทั่งความรู้แตกดอกออกช่อไปอีกเป็นอันมาก

นั่นหมายความว่า แรกทีเดียวเรามีแหล่งขุดค้นโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์อยู่ที่เมืองกาญจนบุรีเป็นสำคัญ ตอนผมเป็นเด็กตัวเล็กตัวน้อยก็เคยได้ยินชื่อของแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี ที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี มาบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ดังเปรี้ยงปร้างเท่ากันกับเรื่องราวของบ้านเชียงหรอกครับ

อย่างที่ผมเกริ่นในเบื้องต้นแล้วว่า บ้านเชียงมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาเมื่อพุทธศักราช 2510 เริ่มต้นจากการพบภาชนะดินเผามีลวดลายวิจิตรพิสดาร มีแหล่งใหญ่อยู่ที่บ้านเชียงดังที่ว่า แต่ไม่ได้จำกัดบริเวณอยู่ที่ตำบลบ้านแห่งนั้นที่เดียว หากแต่มีการค้นพบเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกันกว้างขวางออกไปในบริเวณโดยรอบ ทั้งที่เป็นอำเภออื่นในจังหวัดอุดรธานีเอง และจังหวัดอื่นที่อยู่ใกล้เคียงอีก 3 จังหวัด ได้แก่จังหวัดสกลนคร จังหวัดนครพนม และจังหวัดขอนแก่น

สิ่งของที่ค้นพบนั้นมีทั้งในระดับใกล้ผิวดินและระดับใต้ดินที่อยู่ลึกลงไปหลายชั้นดิน มีทั้งวัตถุที่ทำด้วยดินเผา เป็นภาชนะหรือเครื่องใช้ไม้สอยรูปทรงต่างๆ บางทีก็เป็นเครื่องมือสำริด เรื่อยไปจนถึงโครงกระดูกที่ถูกฝังอยู่ใต้ดิน พร้อมกับภาชนะดินเผาวางอยู่ในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งน่าเชื่อได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามพิธีกรรมความเชื่อในยุคนั้น

คำถามแรกที่เกิดขึ้นในใจของคนไทยทั้งหลายรวมทั้งผมด้วยคือ อายุอานามของวัฒนธรรมเหล่านี้จะอยู่ประมาณสักเท่าใดหนอ

คำถามแบบนี้จะใช้วิธีทรงเจ้าเข้าผีย้อนกลับไปถามเจ้าของหม้อดินเผาเห็นจะไม่สำเร็จเป็นแน่

ไม่เป็นไรครับ โชคดีที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์เราก้าวหน้าไปพอสมควร ด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยวิธีการที่เรียกว่าอะไรก็ช่างเถิด เพราะชื่อฟังดูขยุกขยุยเต็มที เราได้รู้ว่าอายุของเครื่องปั้นดินเผาของวัฒนธรรมบ้านเชียงนี้มีอายุเก่าแก่ย้อนหลังไปประมาณ 4,000 – 6,000 ปี

คราวนี้ก็เลยตื่นเต้นกันใหญ่สิครับ ความตื่นเต้นนี้มีทั้งในแวดวงวิชาการ รวมถึงแวดวงนักค้าของเก่า นักสะสมของเก่าด้วย

และต้องไม่ลืมว่าในยุคนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐฯ ได้เข้ามาตั้งฐานทัพในเมืองไทยหลายจังหวัด รวมทั้งจังหวัดอุดรธานีและอีกหลายจังหวัดในภาคอีสานของเรา

จึงไม่น่าแปลกใจที่ข้าวของยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาชนะเครื่องปั้นดินเผาเขียนสีเป็นลวดลายต่างๆ อันเป็นลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมบ้านเชียง จะมิได้มีอยู่แต่เฉพาะในความดูแลครอบครองของกรมศิลปากร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่โดยตรงเท่านั้น แต่ได้ไปอยู่ในบ้านของคนโน้นคนนี้ ทั้งในเมืองไทยและเมืองนอกเป็นอันมาก

จะถามว่าบ้านใครบ้าง คดีก็ขาดอายุความหมดแล้ว ผมเองก็ไม่อยากก่อคดีใหม่ เป็นคดีหมิ่นประมาทหรืออะไรเทือกนั้น ให้เดือดร้อนกับชีวิตเปล่าๆ

เอาเป็นว่าละไว้ในฐานที่ไม่เข้าใจก็แล้วกัน

ตั้งแต่มีการขุดค้นทางโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์อย่างเป็นระบบที่บ้านเชียงและแหล่งขุดค้นอื่นในปริมณฑล หลักฐานทั้งหลายทำให้เราพอจะประมวลความได้ว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเรานั้นมีผู้คนอยู่อาศัยมาช้านานแล้วตั้งแต่ยุคหินใหม่ตอนปลาย ยุคสำริด เรื่อยมาจนถึงยุคประวัติศาสตร์ แม้จนปัจจุบัน

นี่เองเป็นที่มาของคำถามหรือทฤษฎีใหม่ว่า คนเหล่านี้เป็นใคร จะเป็นต้นทางของความเป็นคนไทยในปัจจุบันใช่หรือไม่

คำถามแบบนี้ต้องให้คนที่มีความรู้ลึกซึ้งเขาอภิปรายอธิบายกันต่อไป

สำหรับผมซึ่งเป็นคนธรรมดาสามัญ ก็ได้แต่ติดตามข่าวคราวด้วยความสนใจ ตัวอย่างหลักฐานเอกสารที่ยังเก็บงำไว้ในบ้านเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างน้อยก็มี 2 ชิ้นครับ

แกะรอย ‘บ้านเชียง’ การขุดค้นที่ทำให้คนไทยเลิกเชื่อว่าเรามาจากเทือกเขาอัลไต

รายการแรกเป็นหนังสือเรื่อง ‘มรดกวัฒนธรรมบ้านเชียง’ กรมศิลปากรเป็นผู้จัดพิมพ์ถวายพระภิกษุสามเณรที่เข้าชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ในเทศกาลเข้าพรรษา พุทธศักราช 2516 หน้าปกเป็นรูปภาชนะดินเผาเขียนสี แม้จัดพิมพ์ด้วยเทคนิคขาวดำ แต่ก็พอทำให้เราเห็นความงามของภาชนะชิ้นดังกล่าวได้พอควรเลยทีเดียว

แกะรอย ‘บ้านเชียง’ การขุดค้นที่ทำให้คนไทยเลิกเชื่อว่าเรามาจากเทือกเขาอัลไต
แกะรอย ‘บ้านเชียง’ การขุดค้นที่ทำให้คนไทยเลิกเชื่อว่าเรามาจากเทือกเขาอัลไต

ชื่อเสียงและความสนใจของชาวโลกเกี่ยวกับวัฒนธรรมบ้านเชียงไม่ได้จำกัดอยู่เป็นแค่เมืองไทยของเราเท่านั้น อีก 12 ปีต่อมา ในพุทธศักราช 2528 ผมเรียนจบและทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสือได้หลายปีแล้ว จังหวะชีวิตทำให้ผมมีโอกาสเดินทางไปที่เมืองลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ประจวบเวลากันกับที่ Natural History Museum of Los Angeles County ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของเมืองนั้นจัดแสดงนิทรรศการพิเศษเรื่องบ้านเชียงพอดี แบบนี้ผมจะไปรอดเหรอครับ

ว่าแล้วผมก็จัดตารางชีวิตของตัวเองให้ได้มีโอกาสไปชมนิทรรศการดังกล่าว สิ่งของที่จัดแสดงนั้นมีทั้งการหยิบยืมมาจากกรมศิลปากรของประเทศไทย จากพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย และจากสถาบันสมิธโซเนียน กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นิทรรศการนี้เขาจัดได้อะร้าอร่ามมาก ดีทั้งในแง่ของความรู้ ดีทั้งในแง่การนำเสนอ และน่าชมในเรื่องของความอุตสาหะ ระดมข้าวของจากหลายแหล่งมาจัดแสดงพร้อมกัน เป็นเวลานานราว 3 เดือน ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม

ระหว่างที่เดินดูนิทรรศการก็แอบภูมิใจลึกๆ ว่า นี่ไงของจากบ้านฉัน

แม้จนทุกวันนี้ผมยังเก็บแผ่นพับที่แจกประกอบนิทรรศการดังกล่าวไว้ในสมบัติบ้าของผมเลยครับ

แกะรอย ‘บ้านเชียง’ การขุดค้นที่ทำให้คนไทยเลิกเชื่อว่าเรามาจากเทือกเขาอัลไต
แกะรอย ‘บ้านเชียง’ การขุดค้นที่ทำให้คนไทยเลิกเชื่อว่าเรามาจากเทือกเขาอัลไต

แน่นอนว่า แผ่นพับที่พิมพ์แจกที่งานดังกล่าวต้องเป็นแผ่นพับภาษาอังกฤษตลอดทุกหน้า ยกเว้นใบปกที่มีการพิมพ์ตัวหนังสือไทยไว้ด้วย 2 บรรทัด มีข้อความว่า

แกะรอย ‘บ้านเชียง’ การขุดค้นที่ทำให้คนไทยเลิกเชื่อว่าเรามาจากเทือกเขาอัลไต

“บ้านเชียง

การค้นพบยุคสัมฤทธิ์ที่สาปสูญ”

ขณะที่ภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า

“Ban Chiang

Discovery of a Lost Bronze Age”

เนื้อความตอนหนึ่งในแผ่นพับบอกเล่าว่า อายุเริ่มต้นของวัฒนธรรมบ้านเชียงอยู่ที่ประมาณ 3,600 ถึง 1,000 ปีก่อนคริสตกาล (ca. 3,600 – 1,000 B.C.)

ว้าว! ไหมล่ะคุณ

ถ้าจะวิ่งไปดูนิทรรศการเรื่องนี้ที่อเมริกาตอนนี้ไม่ทันแล้วครับ เขาเลิกไปหลายปีแล้ว แต่ถ้าอยากดูของจริงของแท้ประกอบกับดูสถานที่จริงด้วย ขอเชิญไปที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ที่นั่นกรมศิลปากรของเราได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นเป็นการถาวร ถ้าแวะเวียนผ่านไปแถวนั้นไม่ควรพลาดนะครับ

Writer

Avatar

ธงทอง จันทรางศุ

คนวัยเกษียณจากอาชีพครูและการทำราชการหลายกระทรวง ผู้รักการอ่านและงานเขียนเป็นชีวิตจิตใจ ใช้เวลาทุกวันคืนอยู่กับหนังสือ ของกระจุกกระจิก และสมบัติพระศุลีทั้งปวง

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน