The Cloud x Sustainable Development Goals

Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือข้อตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติ (UN) กับประเทศต่างๆ ว่าจะร่วมมือสร้างโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันใน 17 เป้าหมาย

น้ำมาจากไหน

น้ำมาจากป่าต้นน้ำสูงขึ้นไปบนภูเขา เมื่อถึงฤดูมรสุม สายฝนที่โปรยปรายลงมาจะถูกกักเก็บไว้ในดินและต้นไม้ในผืนป่า รากสาขาขนาดมหึมาที่แผ่ขยายอยู่ใต้ดินช่วยดูดซับน้ำปริมาณมหาศาลเอาไว้ และค่อยๆ ปล่อยน้ำไหลซึมลงมาทีละน้อย กลายเป็นธารน้ำเล็กบริสุทธิ์ ธารน้ำเล็กๆ ไหลลงมารวมกันสายแล้วสายเล่ากลายเป็นแม่น้ำกว้าง อย่างแม่น้ำเจ้าพระยา เส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงคนไทยทั้งภูมิภาค ก็มีต้นกำเนิดเล็กๆ จากป่าต้นน้ำบนภูเขา

ทุกวันนี้ ป่าต้นน้ำทั่วประเทศไทยถูกรุกล้ำด้วยการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ที่ต้องเร่งการเติบโตของพืชพรรณด้วยสารเคมีจำนวนมหาศาล ทำให้ในน้ำและดินบริเวณป่าต้นน้ำเต็มไปด้วยสารเคมีปนเปื้อน คนเมืองปลายน้ำก็ได้รับสารเคมีที่ไหลลงมาตามสายน้ำด้วยเช่นกัน

ป่าต้นน้ำลดจำนวนลงทำให้ผลิตน้ำได้น้อยลง แถมน้ำยังปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี ปัญหาใหญ่ขนาดนี้ ใครต้องเป็นคนแก้ไข

คอลัมน์ Sustainable Development Goals พาคุณไปทำความรู้จัก กุล ปัญญาวงศ์ หญิงตัวเล็กๆ ผู้ชวนชาวบ้านมาช่วยกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วยการทำเกษตรกรรมผสมผสานที่เลิกใช้สารเคมีถาวร และสร้างระบบจัดการน้ำด้วยนวัตกรรมและภูมิปัญญาที่เพียงพอหล่อเลี้ยงพื้นที่ของตัวเองตลอดทั้งปี 

กุล ปัญญาวงศ์ ผู้เริ่มทำแท็งก์น้ำไม้ไผ่ นวัตกรรมภูมิปัญญาที่ให้ผลเป็นการซ่อมแซมผืนป่าน่าน

สิ่งที่เธอทำคือการผลักดัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 6 Clean Water and Sanitation มุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยการลดมลพิษ ลดการปล่อยสารเคมีลงในน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำทั่วทุกภาคส่วน สร้างหลักประกันการใช้น้ำจืดและแหล่งน้ำจืดที่ยั่งยืนเพื่อตอบสนองต่อการขาดแคลนน้ำ รวมถึงปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น ภูเขา ป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ และแม่น้ำ

พื้นเพของกุลเป็นคนจังหวัดน่าน เธอจากบ้านไปเรียนหนังสือและทำงานในเมืองหลายสิบปี เฝ้าติดตามข่าวความวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมของบ้านเกิดอยู่ห่างๆ จนวันหนึ่งเธอตัดสินใจกลับน่าน​มาเปิด ‘ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน’ เพื่อชวนชาวบ้านมาร่วมมือกันพาสายน้ำ และป่าต้นน้ำอันอุดมสมบูรณ์ของน่านกลับคืนมา

เธอสร้างความยั่งยืนในการใช้น้ำร่วมกับชุมชน​ ด้วยการใช้ภูมิปัญญาโบราณสร้าง ‘แท็งก์น้ำไม้ไผ่’ ความเจ๋งของแท็งก์น้ำนี้ คือทำจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นภาคเหนือ ช่วยลดต้นทุนค่าวัสดุจากหลักแสนให้เหลือเพียงไม่กี่หมื่นบาท ถือเป็นนวัตกรรมในการจัดการน้ำคุณภาพดีราคาย่อมเยา ที่ชาวบ้านเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

กุล ปัญญาวงศ์ ผู้เริ่มทำแท็งก์น้ำไม้ไผ่ นวัตกรรมภูมิปัญญาที่ให้ผลเป็นการซ่อมแซมผืนป่าน่าน

ไม่เพียงแค่กักเก็บน้ำ​ แต่แท็งก์น้ำไม้ไผ่ยังช่วยซ่อมแซมฟื้นฟูผืนป่าน่าน ด้วยการสร้างวัฏจักรของน้ำผิวดินที่หมุนเวียนเป็นวงจร ทำให้ดินชุ่มชื้น เมื่อดินชุ่มชื้นกระบวนการฟื้นป่าก็เร็วขึ้น เพราะต้นไม้พืชพรรณมีน้ำหล่อเลี้ยงเพียงพอ

หนทางในการฟื้นฟูต้นน้ำทำสำเร็จด้วยมือคนคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน คนปลายน้ำในเมืองอย่างพวกเราก็มีส่วนร่วมในการพลิกฟื้นสายน้ำและผืนป่า ด้วยการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ไม่ทิ้งขยะหรือของเสียลงในแหล่งน้ำ เพราะแม้จะเป็นปลายน้ำ แต่สุดท้ายน้ำก็ไหลลงสู่มหาสมุทรถิ่นอาศัยของสัตว์ทะเล แหล่งอาหารของมนุษย์ และต้นกำเนิดของเมฆฝนที่กลั่นกลายเป็นเม็ดฝนนั่นเอง

01

เมื่อป่าน่านหายไป

ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน ตั้งอยู่ในอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน พื้นที่บริเวณนี้ในอดีตมีปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ป่าต้นน้ำอย่างรุนแรง ความอุดมสมบูรณ์ถูกแทนที่ด้วยภูเขาหัวโล้นว่างเปล่า 

ต้นไม้และรากสาขาในป่าต้นน้ำ นอกจากเป็นแหล่งผลิตน้ำแล้ว พวกมันยังช่วยชะลอกระแสน้ำหลาก หากฝนตกลงมาอย่างหนักหน่วง ช่วยรักษาหน้าดินซึ่งอุดมไปด้วยแร่ธาตุไม่ให้ถูกชะล้างไปจากผืนป่า เมื่อเข้าสู่หน้าแล้ง แม้จะไร้ฝนก็ไม่มีปัญหา เพราะน้ำถูกเก็บรักษาอย่างดีใต้ผืนดิน ป่าต้นน้ำจะทยอยปล่อยน้ำออกมาให้เรามีใช้ตลอดทั้งปี 

เมื่อพื้นที่สูงไร้พืชพรรณใดๆ ปกคลุม ก็ยากจะกักเก็บความชุ่มชื้นรวมถึงหยดน้ำตามฤดูกาลไว้ได้ ซ้ำยังจะทวีความรุนแรงเมื่อถึงคราวน้ำหลาก เพราะกระแสน้ำเชี่ยวกรากจะพรากทุกสิ่งไป ไม่เว้นแม้แต่แร่ธาตุและตะกอนดิน

การเติบโตทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งความรีบเร่งในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ชาวบ้านจึงหันมาทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำๆ โดยเฉพาะข้าวโพด พร้อมใช้สารเคมีเต็มอัตราเพื่อหวังร่นระยะการเจริญเติบโตของพืชในแปลงเกษตร ที่นี่จึงมีทั้งปัญหาเรื่องการจัดการน้ำและสารเคมีตกค้างปนเปื้อนในผืนดินและแหล่งน้ำเป็นจำนวนมาก

กุล ปัญญาวงศ์ ผู้เริ่มทำแท็งก์น้ำไม้ไผ่ นวัตกรรมภูมิปัญญาที่ให้ผลเป็นการซ่อมแซมผืนป่าน่าน

“จริงๆ แล้วการที่น่านเต็มไปด้วยเขาหัวโล้นไม่ใช่แค่ปัญหาของคนน่าน แต่เป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ เพราะแปดสิบเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่จังหวัดน่านคือป่าต้นน้ำ และต้นน้ำที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยาก็มาจากที่นี่

“เมื่อถึงฤดูฝน น้ำชะผ่านภูเขาหัวโล้นลงมา ไม่มีรากต้นไม้อุ้มน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ในดิน น้ำจึงหายไปอย่างรวดเร็ว กระแสน้ำพาตะกอนดินบนภูเขาหัวโล้นลงมาด้วย ตะกอนทำให้แม่น้ำตื้นเขิน เมื่อแม่น้ำเก็บน้ำไม่ได้ น้ำก็ไหลลงไปเรื่อยๆ จนไปท่วมพื้นที่ปลายน้ำอย่างกรุงเทพฯ” 

น้ำท่วมที่เกิดจากป่าน่านหายไป น้ำแล้งที่เกิดจากป่าน่านก็หายไป 

02

เล็ก แคบ ชัด

“เมื่อสี่สิบปีที่แล้ว สมัยอยู่ชั้นประถม พื้นที่สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นสักทอง มองออกไปไกลๆ คือป่าเขาชอุ่มอุดมสมบูรณ์ เราเริ่มจากบ้านไปเรียนหนังสือในเมือง กลับมาอีกทีต้นสักทองหายไป ไม่มีป่าชอุ่มอีกแล้ว จากถนน มองทะลุไปเห็นยอดเขาเวิ้งว้างได้เลย จากพื้นที่ป่าเขียวเหลือเพียงดินแห้งแข็งสีดำ ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากจนใจหาย” กุลเริ่มเล่าเสี้ยวความทรงจำของเธอที่มีต่อบ้านเกิด

“เราทำงานอนุรักษ์บนดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่อยู่นาน ถามว่าอยากกลับบ้านที่น่านไหม ในใจลึกๆ ก็อยากกลับ แต่ไม่รู้ว่ากลับไปแล้วจะเริ่มตรงไหน จะทำอะไรก่อนดี ทุกอย่างเปลี่ยนไปจนรู้สึกว่าไกลเกินกว่าที่เราจะตามไป

“จนครั้งหนึ่งมีโอกาสตาม อาจารย์ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร มาดูสภาพพื้นที่จังหวัดน่าน อาจารย์ยักษ์บอกว่า จริงๆ แล้วที่นี่มีโครงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและป่าต้นน้ำใหญ่ๆ เกิดขึ้นแล้วมากมาย มีนักวิชาการเก่งๆ หลายคนขึ้นมาช่วยดูแลแก้ไข แต่ยังขาดใครสักคนทำในส่วนที่เรียกว่า ‘เล็ก แคบ ชัด’ เพื่อให้ชาวบ้านเห็นเป็นตัวอย่างว่าแค่สองมือเล็กๆ ก็ช่วยฟื้นฟูต้นน้ำน่านได้ การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนต้องเริ่มจากจุดที่เล็กที่สุดแล้วค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น”

เล็ก แคบ ชัด ใช้เรียกพื้นที่เล็กๆ ที่คนหนึ่งคนจัดการได้ด้วยตัวเองตามกำลัง คนที่มีกำลังเยอะก็ทำเยอะ คนที่มีกำลังน้อยก็ทำน้อย ไม่มีสตางค์ก็ทำอย่างคนไม่มีสตางค์ ทำแบบพึ่งตัวเองอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เช่น การจัดการน้ำไม่จำเป็นต้องเป็นการทำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ แต่เป็นการจัดการน้ำเฉพาะครัวเรือน หมู่บ้าน ชุมชน ฟื้นฟูป่าก็ไม่ต้องปลูกป่าขนาดใหญ่ แต่ปลูกต้นไม้ในพื้นที่เกษตรกรรมของตัวเอง เพื่อยังชีพและหล่อเลี้ยงตัวเองให้มีกินก่อน แล้วจึงค่อยขยายออกไป 

กุล ปัญญาวงศ์ ผู้เริ่มทำแท็งก์น้ำไม้ไผ่ นวัตกรรมภูมิปัญญาที่ให้ผลเป็นการซ่อมแซมผืนป่าน่าน

กุลจึงตัดสินใจกลับบ้านมาทำศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน เพื่อหวังเปลี่ยนแนวคิดในการจัดการน้ำ แนวคิดในการทำเกษตรกรรม และแนวคิดในการใช้ชีวิตของชาวบ้าน สู่ความยั่งยืนด้วยการลงมือทำให้ดู

03

จัดการน้ำด้วยธรรมชาติ

สายน้ำเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตนานาพันธุ์ที่แหวกว่ายหากินไม่หยุดอยู่กับที่ ตั้งแต่ตัวโตจนถึงตัวจิ๋วมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น นอกจากนี้ พื้นที่ขอบตลิ่งยังเป็นแหล่งบรรจบพบกันของพืชและสัตว์ ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนปัจจัยในการดำรงชีวิต

ก่อนหน้านี้คนนิยมสร้างฝายคอนกรีตบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ ไม่ทันฉุกคิดว่าสิ่งก่อสร้างแปลกปลอมฝีมือมนุษย์เหล่านั้น จะขวางกั้นการใช้ชีวิตของสรรพสัตว์ในสายน้ำ ซึ่งส่งผลไปถึงระบบนิเวศป่าใหญ่ 

หลายปีที่ผ่านมา กระบวนการฟื้นฟูป่าน่าน จากการบุกรุกทำลายด้วยเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ถูกปลุกขึ้นในหลายพื้นที่ มีการจัดตั้งหน่วยจัดการน้ำ ชวนชาวบ้านมาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำน่าน ด้วยการปลูกพืชพื้นถิ่นเพื่อฟื้นป่าและจัดการน้ำอย่างถูกวิธีด้วยภูมิปัญญาธรรมชาติ

ทุกวันนี้ชาวบ้านเริ่มหันกลับไปทำฝายชะลอความแรงของน้ำป่าแบบดั้งเดิมด้วยไม้และก้อนหิน ซึ่งเป็นฝายชั่วคราวที่พังได้หากน้ำป่าไหลบ่ามาแรงมากๆ ฝายลักษณะนี้จะยังคงเหลือช่องว่างให้น้ำและสิ่งมีชีวิตแหวกว่ายเคลื่อนผ่านได้ ไม่เป็นการตัดตอนสายน้ำอย่างฝายคอนกรีตแต่อย่างใด

04

ภูมิปัญญาโบราณในยุคปัจจุบัน

แท็งก์น้ำไม้ไผ่ คือภูมิปัญญาประยุกต์ในการกักเก็บน้ำที่อาจารย์ยักษ์คิดค้นขึ้น จากการนำภูมิปัญญาการใช้ไม้ไผ่ดั้งเดิม มาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทการใช้งานและก่อสร้างในปัจจุบัน 

แท็งก์น้ำไม้ไผ่นี้ กุลและชาวบ้านชุมชนต้นน้ำน่านร่วมไม้ร่วมมือกันก่อสร้างเสร็จไปแล้วหลายแท็งก์ ผลลัพธ์ในการกักเก็บน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในชุมชนนับว่าใช้การได้ดี ไม่มีที่ติ

“บริเวณที่มีแหล่งน้ำต้นทุน เช่น มีลำธาร ห้วย หนอง บึง เราทำถัง อ่าง หรือแท็งก์ สำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ในชุมชนได้

กุล ปัญญาวงศ์ ผู้เริ่มทำแท็งก์น้ำไม้ไผ่ นวัตกรรมภูมิปัญญาที่ให้ผลเป็นการซ่อมแซมผืนป่าน่าน

“โดยปกติแท็งก์น้ำขนาดใหญ่ที่หน่วยงานภาครัฐเข้ามาทำให้ชาวบ้าน ถ้าขนาดบรรจุน้ำราวหนึ่งแสนลิตร ราคาค่าก่อสร้างจะตกที่หลายแสนถึงหลักล้านบาท ที่ใช้งบประมาณเยอะเพราะมีทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์จำพวกเหล็ก ค่าขนส่งขึ้นมาบนภูเขา ค่าแรงงานก่อสร้าง ต้องจัดจ้างประมูลเป็นโครงการใหญ่ ส่งผลให้ระยะดำเนินการนานตามไปด้วย” 

แท็งก์น้ำไม้ไผ่ นวัตกรรมภูมิปัญญาที่ให้ผลเป็นการซ่อมแซมผืนป่าน่าน
แท็งก์น้ำไม้ไผ่ นวัตกรรมภูมิปัญญาที่ให้ผลเป็นการซ่อมแซมผืนป่าน่าน

ต่างจากแท็งก์น้ำไม้ไผ่ที่ชาวบ้านทำกันเองในชุมชน ไม่ต้องเสียค่าแรงงาน และใช้วัสดุที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นคือไม้ไผ่ มาประกอบเป็นโครงสร้างหลักแทนเหล็ก ร่วมกับหิน ปูน ทราย ที่ซื้อมาบางส่วน ทำให้ลดต้นทุนในการก่อสร้างลงเหลือไม่กี่หมื่นบาทเท่านั้น

กุลเล่าว่า ภูมิปัญญาแบบโบราณในการทำอุปกรณ์กักเก็บน้ำของไทยมักใช้ไม้ไผ่ เช่น หาบหรือกระบุงใส่น้ำ มีโครงสร้างเป็นไม้ไผ่สาน เคลือบด้วยยางเพื่อกันน้ำรั่วซึม โอ่งใส่น้ำที่สมัยโบราณเรียกโอ่งแดง ก็ใช้ไม้ไผ่สานขึ้นเป็นรูปทรง เคลือบด้วยดินเหนียว แม้แต่ที่ใส่ข้าวเปลือกยังใช้ไม้ไผ่สาน ฉาบด้วยขี้วัวขี้ควายผสมกับขี้เถ้า

ไม้ไผ่คือวัสดุหลัก เพราะเป็นพืชที่หาง่ายในท้องถิ่น แข็งแรงทนทาน และมีความยืดหยุ่นสูง

05

สานไม้ไผ่ให้เป็นแท็งก์

แท็งก์น้ำไม้ไผ่ของกุลและชาวบ้านมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 3 – 6 เมตร ใช้แรงงานคนในชุมชน 10 คน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพียง 10 วัน แท็งก์น้ำขนาดบรรจุน้ำกว่า 100,000 ลิตร ก็ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์

กุลอธิบายขั้นตอนในการก่อสร้างแท็งก์น้ำไม้ไผ่ว่า ต้องเริ่มจากการหาพื้นที่โล่งว่างที่กว้างมากพอ โดยที่ไม่ต้องไปตัดหรือรบกวนต้นไม้เดิมที่มีอยู่ จากนั้นขุดหลุมทรงกลมลงไปในดินประมาณ 1 เมตรครึ่ง แรงบีบอัดจากเนื้อดินรอบๆ จะเป็นตัวเสริมความแข็งแรงให้ฐานของแท็งก์น้ำไม้ไผ่

ขั้นแรก ทำฐานราก เริ่มจากทุบดินก้นหลุมให้แน่น วางโครงที่สานเป็นตารางขึ้นจากไม้ไผ่ โดยหนุนให้ลอยขึ้นจากพื้นดินเล็กน้อย เพื่อกันปลวกขึ้นจากพื้นดินมากินเนื้อไม้ไผ่ จากนั้นเทปูนซีเมนต์ลงระหว่างไม้ไผ่ เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำฐานรากด้วยไม้ไผ่ ซึ่งให้ความแข็งแรงไม่ต่างจากการใช้เหล็กเส้น

ขั้นที่สอง ก่อโครงสร้างแท็งก์น้ำ เริ่มจากนำไม้ไผ่ปักลงบนฐานรากรอบหลุมดิน ระยะห่างของไม้ไผ่ทางตั้ง แต่ละซีกไม่เกิน 30 เซนติเมตร จากนั้นสานไม้ไผ่ทางนอนขึ้นมาทีละเส้นให้เป็นทรงกระบอก ให้ระยะห่างของไม้ไผ่แนวนอนแต่ละเส้นชิดติดกันมากที่สุด 

แท็งก์น้ำไม้ไผ่ นวัตกรรมภูมิปัญญาที่ให้ผลเป็นการซ่อมแซมผืนป่าน่าน

ขั้นที่สาม ฉาบปูนซีเมนต์ขึ้นมาจากฐานราก ฉาบทั้งข้างนอกและข้างใน เมื่อฉาบเสร็จก็ขัดมันเฉพาะข้างในแท็งก์น้ำเพื่อให้ง่ายต่อการทำความสะอาด ในขณะที่ข้างนอกไม่จำเป็นต้องขัดมัน เพื่อปล่อยให้มอสและตะไคร่เลื้อยเกาะได้ตามอิสระ เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จ

“ในการทำโครงสร้าง เราฝังไม้ไผ่ดิบๆ เข้าไปในเนื้อซีเมนต์ ไม้ไผ่พวกนี้จะไม่โดนอากาศ ไม่โดนปลวกกัดกิน แท็งก์น้ำไม้ไผ่บางที่ แม้จะผ่านไปหลายปีหลังจากก่อสร้าง พอกะเทาะซีเมนต์ออกมา ไม้ไผ่ข้างในยังสดอยู่เลย” กุลเล่าพร้อมรอยยิ้ม

“แท็งก์น้ำไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางห้าเมตรขึ้นไป บรรจุน้ำได้แสนลิตร เป็นขนาดสำหรับทั้งชุมชน แต่ถ้าชาวบ้านคนไหนใคร่อยากจะทำแท็งก์น้ำไม้ไผ่ขนาดเล็กใช้เฉพาะบ้านตัวเองก็ทำได้ ถ้าทำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางสามเมตร ก็จะบรรจุน้ำได้ประมาณสามหมื่นลิตร

“แม้จะทำใช้แค่บ้านตัวเอง แต่ชาวบ้านตามชนบทยังมีวัฒนธรรมเอามื้อ หรือที่ภาษากลางเรียกว่า ลงแขก คือมาร่วมด้วยช่วยกันโดยไม่คิดค่าแรง มาช่วยกันสานไม้ไผ่ มีหลายมือหลายคนไม่กี่วันก็เสร็จ การเอามื้อ นอกจากจะได้งานแล้ว ยังได้เรื่องพลังความสามัคคีในชุมชนด้วย” 

น้ำในแท็งก์น้ำไม้ไผ่ของชาวบ้านชุมชนต้นน้ำน่านถูกนำมาใช้อุปโภค บางส่วนนำไปผ่านเครื่องกรองน้ำเพื่อบริโภค และภารกิจที่ใหญ่กว่านั้นของแท็งก์น้ำไม้ไผ่ คือการช่วยซ่อมแซมฟื้นฟูผืนป่าน่านด้วยการทำงานสอดประสานไปกับผืนดินและผืนน้ำโดยรอบ

กุล ปัญญาวงศ์ ผู้เริ่มทำแท็งก์น้ำไม้ไผ่ นวัตกรรมภูมิปัญญาที่ให้ผลเป็นการซ่อมแซมผืนป่าน่าน

“เราจัดการพื้นที่ให้เกิดระบบน้ำที่หมุนเวียนหล่อเลี้ยงความชุ่มชื้นแก่ผืนดิน โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ผลิตพลังงานสะอาดใช้กับเครื่องยนต์ที่สูบน้ำจากแอ่งน้ำข้างล่างขึ้นไปกักเก็บไว้ในแท็งก์น้ำไม้ไผ่ของชุมชนบนภูเขาสูง เมื่อน้ำเต็มแท็งก์ มันจะค่อยๆ ไหลลงมาสู่พื้นดิน”

กุลอธิบายว่า น้ำที่ล้นออกมาจะไหลซึมซาบไปทั่ว แต่มันจะไม่หายไปในดินอย่างรวดเร็ว เพราะเราขุดร่องน้ำเล็กๆ ไว้รอบพื้นที่ ร่องน้ำนี้เรียกว่าคลองไส้ไก่ น้ำจะไหลเข้าสู่คลองไส้ไก่ ซึ่งเป็นตัวช่วยกักเก็บและกระจายความชื้นให้ดิน 

กุล ปัญญาวงศ์ ผู้เริ่มทำแท็งก์น้ำไม้ไผ่ นวัตกรรมภูมิปัญญาที่ให้ผลเป็นการซ่อมแซมผืนป่าน่าน

“แผงโซลาร์เซลล์ทำงานทุกวัน พอพระอาทิตย์ขึ้นปุ๊บเครื่องยนต์ก็ทำงานทันที สูบน้ำขึ้นไปในแท็งก์จนเต็ม น้ำล้นลงสู่คลองไส้ไก่ บางส่วนซึมซาบไปตามพื้นดิน เมื่อดินชุ่มชื้นกระบวนการฟื้นป่าก็เร็วขึ้น เพราะต้นไม้พืชพรรณมีน้ำหล่อเลี้ยงเพียงพอ

“ในขณะเดียวกัน ต้นไม้แต่ละต้นก็คือแหล่งกักเก็บน้ำชั้นดี เพราะต้นไม้เหมือนร่างกายมนุษย์ มีน้ำเป็นองค์ประกอบหลักในราก กิ่ง ก้าน ใบ ทุกส่วนของต้นไม้คือน้ำ สิ่งที่เราทำจึงไม่ใช่แค่แท็งก์ไม้ไผ่เก็บน้ำ แต่เป็นวัฏจักรของน้ำที่หมุนเวียนเป็นวงจร นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์”

06

ดิน น้ำ ป่า คน

กุลเล่าว่า 6 ปีที่เธอกลับบ้านมาทำศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน สิ่งที่ประจักษ์ชัดกับตัวเองคือ ถ้าชาวบ้านไม่เห็นผลลัพธ์ตำตาว่าวิถีเกษตรกรรมผสมผสานดีกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างไร พวกเขาจะไม่เชื่อสิ่งที่เธอพยายามอธิบายเลยแม้แต่น้อย

“ปีสองปีแรกชาวบ้านมองว่าเราประหลาด เพราะทำทุกอย่างตรงข้ามกับพวกเขาอย่างสิ้นเชิง ชาวบ้านใส่ปุ๋ยเคมี ในขณะที่เราหยุดใช้ปุ๋ยเคมีถาวรเพื่อฟื้นฟูดิน เราเก็บดินตัวอย่างในส่วนต่างๆ ของพื้นที่ทั้งห้าสิบไร่ของศูนย์กสิกรรมไปตรวจสอบ และพบว่าทุกจุดเต็มไปด้วยไซยาไนด์หรือสารหนู รวมถึงสารเคมีตกค้างอื่นๆ เต็มไปหมด เพราะเขาใช้สารเคมีต่อเนื่องมาเป็นสิบๆ ปี”

กุลบอกว่าเธอฟื้นฟูพื้นที่ด้วยศาสตร์พระราชา พัฒนา 4 เรื่องหลักคือ ดิน น้ำ ป่า คน 

อย่างแรกคือ เรื่องดิน เมื่อหยุดใช้สารเคมีแล้ว ขั้นต่อมาคือสร้างอินทรียวัตถุคลุมดิน เพื่อให้ดินผลิตฮิวมัสขึ้นมา ฮิวมัสคือปุ๋ยชั้นดี เป็นธาตุอาหารที่จะไปเลี้ยงดิน และดินที่สมบูรณ์จะส่งผลให้พืชพรรณสมบูรณ์ จากนั้นกุลเริ่มปลูกต้นไม้หลากหลายชนิด ปลูกให้มีระบบนิเวศ แทนที่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยวแค่ชนิดเดียวอย่างที่ผ่านมา

ต่อมาคือเรื่องน้ำและป่า ป่าคือระบบนิเวศ หมายถึงมีพืชและสัตว์หลากหลายชนิดอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างเกื้อกูล  

กุล ปัญญาวงศ์ ผู้เริ่มทำแท็งก์น้ำไม้ไผ่ นวัตกรรมภูมิปัญญาที่ให้ผลเป็นการซ่อมแซมผืนป่าน่าน

ที่ผ่านมาชาวบ้านทำนาน้ำฟ้า เนื่องจากระบบชลประทานเข้าไม่ถึงอำเภอท่าวังผา ชาวบ้านจึงทำนาได้แค่ปีละครั้งในช่วงฤดูฝนที่มีน้ำจากภูเขาไหลผ่านลงมาที่นาเท่านั้น พอหมดฤดูฝนน้ำก็จะลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงฤดูเก็บเกี่ยวที่นาแทบจะแห้งสนิท การทำนาลักษณะนี้ชาวบ้านจะได้ผลผลิตแค่ข้าวเปลือกอย่างเดียว ไม่มีน้ำเหลือใช้ ไม่มีผลผลิตอย่างอื่นให้เก็บกิน

กุลปรับโครงสร้างพื้นที่ทั้ง 50 ไร่ของเธอใหม่หมด เธอขุดหนองน้ำต่างระดับที่เรียกว่าหนองปลาโตไว ลักษณะฟรีฟอร์ม คดโค้งไปทั่วพื้นที่เพื่อกักเก็บน้ำ ระดับก้นหนองที่ตื้นลึกไม่เท่ากันทำให้ปลามีพื้นที่แหวกว่ายหากิน มีที่วางไข่ อนุบาลตัวอ่อน เมื่อถึงฤดูแล้ง ส่วนลึกของหนองก็ยังคงมีน้ำติดก้นหนอง ในขณะเดียวกันก็ทำให้ระดับความเข้มของแสงอาทิตย์ที่ส่องลงไปในน้ำมีหลายระดับ ในหนองจะเกิดแพลงก์ตอน ซึ่งเป็นอาหารของปลาและสัตว์หน้าดิน 

นอกจากเก็บน้ำด้วยแท็งก์น้ำไม้ไผ่ หนองปลาโตไว และคลองไส้ไก่แล้ว อย่างที่กุลอธิบายไปข้างต้นว่า ต้นไม้ล้วนประกอบไปด้วยน้ำ เธอจึงปลูกต้นไม้ 5 ระดับ เพื่อช่วยในการกักเก็บน้ำ ประกอบไปด้วยระดับผสมผสาน สูง กลาง เตี้ยเรี่ยดิน และหัวใต้ดิน ระบบรากแบบผสมผสานของต้นไม้ต่างชนิดจะช่วยกักเก็บน้ำได้ดีกว่า

กุล ปัญญาวงศ์ ผู้เริ่มทำแท็งก์น้ำไม้ไผ่ นวัตกรรมภูมิปัญญาที่ให้ผลเป็นการซ่อมแซมผืนป่าน่าน

จากการทำนาน้ำฟ้า กุลเปลี่ยนมาทำนาแบบหัวคันนากินได้ จากปกติชาวบ้านจะปั้นขอบคันนาสูงแค่หัวเข่าเพื่อกักน้ำ ก็เปลี่ยนมาปั้นสูงถึงเอวเพื่อให้นาเก็บน้ำได้เยอะขึ้น เมื่อระดับน้ำสูงขึ้น ต้นข้าวก็จะยืดตัวหนีน้ำไปเรื่อยๆ ต้นข้าวยาวๆ จะกลายเป็นซังข้าวที่นำไปใช้คลุมดินรักษาความชุ่มชื้น และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ยังมีน้ำเหลือในนาข้าว ก็เลือกได้ว่าจะปลูกพืชชนิดอื่นต่อหรือจะเลี้ยงปลาต่อเพื่อรอปลูกข้าวฤดูกาลต่อไป

หัวคันนากินได้จะต้องขยายขนาดหัวคันนาให้กว้างขึ้น จากที่ปกติเดินกระย่องกระแย่งได้คนเดียว ก็ให้เดินสวนกันได้ 2 – 3 คน หัวคันนากว้างนี้คือแหล่งอาหาร ปลูกพืชผักสวนครัว ผักเด็ดยอด หรือไม้ผลจำพวกกล้วย มะพร้าว มะนาว ส้มโอ ก็ได้ การแบ่งพื้นที่นามาปลูกพืชผลหลายชนิดเช่นนี้ นอกจากสร้างระบบนิเวศแล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยงของราคาผลผลิตตามท้องตลาด

ปกติข้าวเปลือกราคากิโลกรัมละไม่ถึง 15 บาท ในขณะที่บางฤดูพริกขี้หนูกิโลกรัมละ 400 บาท มะเขือพวงราคากิโลกรัมละ 70 บาท วิถีเกษตรกรรมผสมผสานแบบนี้จะทำให้ชาวบ้านมีทางเลือกในการใช้ชีวิต มีกินมีใช้ตลอดทั้งปี

07

แผ่ขยายความยั่งยืน

สุดท้ายคือการพัฒนาคน 

“ชาวบ้านจะเชื่อสิ่งที่เราพูดก็ตอนที่เขาเห็นแหล่งน้ำสมบูรณ์ เห็นข้าวออกรวง เห็นปลาในหนอง เห็นหัวคันนาที่มีผลิตผลทุกอย่างสำหรับเก็บกิน เราใช้เวลาสี่ปีพิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นว่ามันเป็นไปได้ พอเขาเห็นแล้วว่าเกษตรกรรมแบบผสมผสานเป็นทางออกที่จับต้องได้ เขาจะค่อยๆ เปลี่ยนใจจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเอง 

“สิ่งสำคัญคือ ตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดจากการลงมือทำ จากวันที่ตกปากรับคำอาจารย์ยักษ์ว่าเราจะกลับบ้านมาเป็นคนคนนั้น คนที่ทำพื้นที่ ‘เล็ก แคบ ชัด’ ให้ชาวบ้านเห็นเป็นตัวอย่าง ว่าทุกคนช่วยกันฟื้นฟูต้นน้ำน่าน พลิกฟื้นภูเขาหัวโล้นให้กลับมาอุมสมบูรณ์ได้ จากการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนในพื้นที่เล็กๆ ของตัวเอง

กุล ปัญญาวงศ์ ผู้เริ่มทำแท็งก์น้ำไม้ไผ่ นวัตกรรมภูมิปัญญาที่ให้ผลเป็นการซ่อมแซมผืนป่าน่าน

“จนถึงวันนี้ ทุกบทเรียนที่ผ่านมาเราถือว่าคุ้มค่าต่อความเหนื่อยยาก ต่อคำที่ชาวบ้านหาว่าเราบ้าในปีแรกๆ (ยิ้ม) ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่านเป็นเหมือนโรงเรียน ชาวบ้านกลุ่มแรกๆ ที่มาเรียนกับเราเปลี่ยนความคิด ลงมือทำ และประสบความสำเร็จ จากประสบการณ์จริงที่เราถ่ายทอดด้วยการทำให้ดู และเมื่อญาติพี่น้องคนรอบตัวเขาเห็นตำตาว่ามันดี เขาก็จะทำตาม แนวคิดความยั่งยืนนี้ก็จะแผ่ขยายออกไป” กุลกล่าวทิ้งท้าย

บทเรียนของกุลไม่เพียงแผ่ขยายความยั่งยืนในการจัดการน้ำและเกษตรกรรมแบบผสมผสานแก่ชาวบ้านชุมชนต้นน้ำน่านเท่านั้น แต่ยังมอบแรงบันดาลใจในการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า เพื่อผลักดัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 6 Clean Water and Sanitation ให้คนในเมืองอย่างพวกเรา 

เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว คงไม่เป็นคำกล่าวที่เกินจริงนัก เพราะหากคนปลายน้ำใช้น้ำอย่างไม่รู้คุณค่า แหล่งต้นน้ำก็ได้รับผลกระทบจากการกระทำของพวกเราไปด้วย และหากเราทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในน้ำ สัตว์บนบกรวมถึงสัตว์ในน้ำซึ่งเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ ต่างก็ดื่มกินน้ำปนเปื้อนสารเคมีเหล่านั้นเข้าไป สารพิษตกค้างจากสิ่งปฏิกูลที่เราทิ้งก็ตกทอดมาถึงตัวเราหรือลูกหลานเราในอนาคต

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน