The Cloud x ไทยประกันชีวิต
แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

เกือบ 70 ปีแห่งการเจริญเติบโต หากเทียบเป็นต้นไม้สักต้นด้วยอายุเท่านี้ คงเป็นต้นไม้ที่สูงตระหง่านและแผ่กิ่งก้านไปให้ร่มเงา เช่นเดียวกันกับ แคทเธอรีน รูธ ไรลี่ ไบรอัน หญิงชาวนิวซีแลนด์ อายุ 69 ปี ผู้สร้างสถานที่เรียนรู้ โรงพยาบาล และเป็น ‘บ้าน’ ให้แก่เด็กๆ ที่ขาดโอกาสและถูกทอดทิ้ง 

แคทเธอรีน รูธ ไรลี่ ไบรอัน

จากชีวิตที่มีครบและเพียบพร้อมทุกอย่างที่เมืองบ้านเกิด เธอพบว่าชีวิตแบบนั้นน่าเบื่อและไร้ความหมาย จึงเลือกเดินทางมาไกลถึงชุมชนบ้องตี้ จังหวัดกาญจนบุรี ใกล้ชายแดนไทย-เมียนมา พร้อมเต็นท์ 1 หลังกับกระเป๋าเป้เพียง 1 ใบ และก่อตั้ง Bamboo School ขึ้น

ไม่เพียงแต่เธอจะอุทิศตนเพื่อดูแลเด็กๆ หลายเชื้อชาติ แต่เธอยังมุ่งมั่นรักษา พัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมของที่นี่ด้วย เพราะ Bamboo School นับเป็นต้นแบบของการอยู่กับป่าเขาและธรรมชาติอย่างกลมกลืน

ทั้งการสร้างบ้านจากไม้ไผ่ รวมทั้งบ้าน กำแพง และบันไดจาก Eco Bricks หรือขวดพลาสติกที่อัดแน่นไปด้วยขยะ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมสอนให้เด็กๆ รู้จักรักษาคุณค่าของสิ่งที่มีและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“การมาดูแลเด็กๆ ที่นี่ ทำให้เชื่อว่าฉันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ ฉันมีเป้าหมายในชีวิตซึ่งส่งผลต่อคุณค่าทางความรู้สึกมากกว่าการอยู่เฉยๆ อย่างสุขสบาย”

01

คนถูกทิ้งที่จะไม่ทอดทิ้งใคร

เธอเริ่มเล่าเรื่องราวของตนเองอย่างถ่อมตัวและติดตลกว่า “ฉันเกิดที่นิวซีแลนด์เมื่อ 68 ปีที่แล้ว ในครอบครัวที่ทำฟาร์มสัตว์ขนาดใหญ่ พ่อแม่ของฉันมีที่ดิน 53,000 เฮกตาร์ หรือเท่ากับพื้นที่ประมาณ 200,000 ไร่ เราไม่ต้องไปโรงเรียนเพราะเราเข้าโฮมสคูลที่บ้าน พอโตมาอีกหน่อยฉันก็ถูกส่งให้ไปเรียนต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ จากนั้นจึงเข้าเรียนที่วิทยาลัยฝึกหัดครู แล้วก็ต้องเปลี่ยนเป็นวิทยาลัยพยาบาล เพราะเขาบอกว่าฉันเด็กเกินไปที่จะสอนคนอื่นได้”

ไม่นานหลังจากนั้นเธอก็ตัดสินใจออกจากโรงเรียน และเริ่มต้นออกเดินทางทั่วโลกเพื่อเป็นครูสอนเด็กๆ

หากแต่ชีวิตรักของเธอเพิ่งเริ่มต้น ฟังดูเหมือนกับนิยายเรื่องหนึ่ง “ฉันกลับมาแต่งงานกับเพื่อนรักของฉันที่มีฟาร์มอยู่ข้างๆ กัน จนเข้าสัปดาห์ที่ 6 เขาก็เริ่มไปกับแฟนผู้ชาย เพราะเขาเป็นเกย์ ฉันเองจึงเดินทางไปทั่วโลกเพราะไม่อยากโดนทอดทิ้ง และเพื่อที่จะได้ปริญญาด้านการสอนและการพยาบาล”

แคทเธอรีน รูธ ไรลี่ ไบรอัน

แคทเธอรีนเริ่มทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รถฉุกเฉินข้างสนามฟุตบอล แล้วก็ได้เจอกับชายอีกคนหนึ่ง เดเรค นักเตะของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ภายหลังทั้งสองแต่งงานกัน และมีลูกด้วยกัน 3 คน หลังจากเดเรคเสียชีวิต แคทเธอรีนก็ถูกเรียกตัวเพื่อให้ไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล 

“หลังจากนั้นฉันได้พบรักครั้งใหม่กับมิชชันนารี จึงแต่งงานกับเขาแล้วมาที่ประเทศไทยประมาณ ค.ศ. 1993 ซึ่งเขาตรงกันข้ามกับสามีคนแรกของฉันทุกอย่าง เพราะว่าเขารักผู้หญิงไม่ใช่ผู้ชาย สุดท้ายแล้วเขาก็เจอกับเด็กสาวแล้วก็ทิ้งฉันไว้อีกครั้ง”

แต่การถูกทอดทิ้ง ทั้งการจากเป็นและจากตายครั้งแล้วครั้งเล่าทำให้เธอเข้าใจและพยายามตามหาบ้านให้กับเด็กๆ ด้อยโอกาสที่เธอสอน เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องกลายเป็นคนที่ถูกทอดทิ้งแบบเธอ 

“หลังจากนั้นฉันก็ได้ไปทำงานที่เชียงใหม่เกี่ยวกับกลุ่มชาวเขาทางเหนือ ไปสอนภาษาอังกฤษ แล้วก็เจอเด็กๆ ที่ไม่ได้ไปไหนในช่วงวันหยุด เด็กๆ บอกฉันว่าเขาไม่มีแม่ แต่พ่อเขาน่าจะอยู่ที่ไหนสักแห่งในกาญจนบุรี 

“ดังนั้น ในวันหยุดต่อมาฉันจึงพาพวกเขากลับมาที่กาญจนบุรี ตามหามาเรื่อยๆ จนมาถึงที่บ้องตี้ ทำให้เราเจอย่าของเขาซึ่งอยู่ในหมู่บ้านถัดไป แต่พ่อพวกเขาไม่อยู่และจะไม่กลับมา ตั้งแต่นั้นมาฉันก็กลับมาที่บ้องตี้กับเด็กๆ ทุกครั้งที่มีวันหยุด และเริ่มสนใจหมู่บ้านแห่งนี้” 

แคทเธอรีน รูธ ไรลี่ ไบรอัน

เธอเล่าว่า ในตอนนั้นที่นี่ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีอะไรเลย มีแต่หมู่บ้านของคนกะเหรี่ยงและชาวเมียนมาที่ต่อสู้กับความยากลำบากและโรคร้ายนานาชนิด เช่น โรคมาลาเรีย โรคธาลัสซีเมีย วัณโรค ในปีแรกที่เธอเข้ามามี 81 คนต้องตายด้วยโรคพวกนี้ นับว่าเป็นจำนวนที่เยอะมาก และทักษะการพยาบาลของเธอก็เริ่มได้ถูกกลับมาใช้ 

“ฉันคิดว่าพวกเขาต้องการโรงพยาบาล เพื่อไม่ให้พวกเขาตายจากโรคมาลาเรีย แต่มันไม่มีรถจากที่นี่ลงไปที่ไทรโยคเลย และคนพวกนี้ก็จนมาก พวกเขาเดิน 23 กิโลเมตร เพื่อไปโรงพยาบาลไทรโยคไม่ได้หรอก 

“และถึงแม้เขาจะไปถึง พวกเขาก็พูดภาษาไทยไม่ได้อยู่ดี เพราะเขาพูดได้แต่ภาษากะเหรี่ยงหรือพม่า เพราะฉะนั้น มันไม่มีทางเลยที่พวกเขาจะสื่อสารกับหมอได้ว่าเขาเป็นอะไร ถึงอย่างนั้นฉันก็คิดว่ามันแก้ไขได้ง่ายมากนะ ฉันจึงลาออกจากงานที่เชียงใหม่ แล้วก็มาทำอะไรสักอย่างเพื่อที่นี่”

และนี่คือจุดเริ่มต้นในการทำเพื่อคนอื่นของแคทเธอรีน

02

โรงเรียนจากป่าไผ่

เราเดินทางกันมาหลายร้อยกิโล ผ่านพื้นที่ห่างไกลชุมชน ไม่น่าเชื่อว่าท่ามกลางความยากลำบากทั้งหลาย ปรากฏเป็นโรงเรียนที่มีเสาธงตั้งตระหง่าน ภายในเป็นทั้งโรงพยาบาล โรงอาหาร และสถานที่ที่เด็กๆ เรียกว่า ‘บ้าน’

Bamboo School โรงเรียนไม้ไผ่กลางหุบเขาที่สอนการใช้ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมด้วยการทำ Eco Brick จากพลาสติกเหลือใช้

แคทเธอรีนบอกว่า ปีแรกที่เธอลงมาสำรวจหมู่บ้านแห่งนี้ ที่นี่ไม่มีอะไรเลย และเธอต้องเริ่มต้นจากจุดที่พวกเขาต้องการมากที่สุด เริ่มจากการทำงานกับตำรวจตระเวนชายแดน จนสร้างเป็นโรงเรียนที่บ้องตี้ล่าง และช่วยชาวบ้านตั้งรถสองแถวไปยังไทรโยค เพื่อให้พวกเขาสามารถไปซื้อของและไปโรงพยาบาลได้

เธอเล่าเรื่องสุดตลกปนเศร้าที่เกิดขึ้น ซึ่งนำไปสู่การได้มาซึ่งพื้นที่ของ Bamboo School ในปัจจุบันว่า

“เพราะไม่มีน้ำประปา เราเลยต้องไปอาบน้ำกันที่แม่น้ำ ฉันพบกับหญิงสาวชาวบ้านและเป็นครั้งแรกที่ฉันต้องนุ่งโสร่ง พออาบน้ำเสร็จอยู่ๆ พวกเขาก็ยืนขึ้นแล้วสะบัดน้ำออกจากตัว ฉันเห็นแบบนั้นก็ทำบ้าง ฉันยืนขึ้นและสะบัดน้ำออกจากตัว แต่โสร่งดันหลุด (หัวเราะ) พวกเขาก็หัวเราะกันใหญ่ จากนั้นพวกเราก็เป็นเพื่อนกัน 

“มีผู้หญิงคนหนึ่งในนั้นท้องแก่มาก หลังจากที่เธอคลอดลูก เธอยอมรับว่าไม่มีเงิน เพราะเอาไปเล่นการพนันหมดและกำลังตกที่นั่งลำบาก ฉันก็เลยให้เงินเธอไปห้าพันบาท เธอเลยยกที่ดินตรงนี้ให้ฉันทั้งหมด ถึงแม้ตอนแรกมันจะรกมาก แต่อย่างน้อยฉันก็มีที่ดินเป็นของตัวเอง พร้อมเงินในบัญชีที่เหลืออยู่แค่ร้อยหกสิบเก้าบาทเท่านั้น” 

Bamboo School โรงเรียนไม้ไผ่กลางหุบเขาที่สอนการใช้ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมด้วยการทำ Eco Brick จากพลาสติกเหลือใช้

แคทเธอรีนบอกว่า เมื่อมองกลับไปตอนที่เธอเหลือเงินอยู่แค่ 169 บาท นั้นไม่ใช่อุปสรรคเลย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเขามีในวันนี้มาจากการบริจาคทั้งนั้น มีคนรวมตัวกันแล้วบริจาคเงินเพื่อที่จะช่วยพัฒนาที่นี่ เด็กๆ เองก็บริจาคแรงกำลังและเวลา บางครั้งพวกเขาก็บริจาคความรู้ ผู้คนเองก็บริจาคสิ่งของที่พวกเราต้องการ

ที่เธอตั้งชื่อว่า Bamboo School ก็เพราะว่าเธอกับพวกเด็กๆ ต้องเข้าป่าเพื่อตัดไม้ไผ่มาเพื่อทำบ้านทั้งหลัง เริ่มต้นด้วยสองมือเล็กๆ ของเด็กๆ แค่ 10 คนที่ช่วยเริ่มกันสร้าง 

Bamboo School โรงเรียนไม้ไผ่กลางหุบเขาที่สอนการใช้ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมด้วยการทำ Eco Brick จากพลาสติกเหลือใช้

“เราใช้เวลาทั้งวัน ห้าวันต่อสัปดาห์ในการก่อสร้าง ส่วนวันที่หกเราจะพาเด็กๆ ไปโรงเรียนแถวไทรโยค พอพวกเขากลับมาก็มาช่วยกันตัดต้นไม้ ทำความสะอาด ทำคอนกรีตก้อน อย่างกำแพงนี่พวกเขาก็ระบายสีเอง ทำกันเอง”

เธอเล่าว่า การให้เด็กๆ สร้างมันขึ้นมาเองด้วยสองมือ ยังทำให้พวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งและเป็นเจ้าของที่แห่งนี้อย่างเต็มตัว

จากเด็กแค่คนเดียว ก็เพิ่มเป็น 2 เป็น 4 จนเป็นหลายสิบคน ปัจจุบันที่ Bamboo School มีเด็กทั้งหมด 74 คน อีก 18 คน เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย และมีหลายคนที่เรียนจบแล้ว พวกเขาไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ 8 คน หมอ 1 คน พยาบาล 5 คน และเจ้าหน้าที่รถฉุกเฉินทั่วประเทศ รวมทั้งมีเด็กๆ ที่ออกไปทำงานในประเทศอื่นทั่วโลกด้วย

03

เรื่องเด็กๆ

แคทเธอรีนมองว่าเด็กๆ ที่นี่ถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือ เด็กที่พยายามมีชีวิตรอด พวกเขาแค่มองหาสิ่งที่จะตกถึงท้องได้วันนี้เท่านั้น โดยยังไม่รู้เลยว่ามื้อต่อไปพวกเขาจะได้กินไหม ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่เคยมองว่าพวกเขายังมีความฝันและมีอนาคตที่สดใสได้ สิ่งที่โรงเรียนแห่งนี้พยายามทำ คือการเปลี่ยนพวกเขาจากการเป็นเด็กที่ ‘รอการช่วยเหลือ’ ไปสู่เด็กที่คิดว่าจะ ‘ออกไปช่วยเหลือ’ คนอื่นได้อย่างไรบ้างแทน ผ่านการสอนวิชาชีวิต ที่ไม่อาจหาได้ในโรงเรียนทั่วไป

เด็กที่นี่บางคนมาจากบ้านที่ใช้ความรุนแรง ยากจน บ้างก็ถูกทิ้งอยู่ตามโรงพยาบาล หรือไม่ก็ถูกทอดทิ้ง เพราะพ่อแม่พวกเขาเสียชีวิตและไม่มีใครต้องการพวกเขา นอกจากนี้ Bamboo School ยังเปิดรับเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายต่างๆ ซึ่งถูกทอดทิ้ง เนื่องจากพ่อแม่ของพวกเขาไม่รู้จะหาทางรักษาอย่างไร

Bamboo School โรงเรียนไม้ไผ่กลางหุบเขาที่สอนการใช้ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมด้วยการทำ Eco Brick จากพลาสติกเหลือใช้

“เด็กทุกคนมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง อย่าง ‘ดอกไม้’ แม่ของเธอมาที่สังขละบุรี เป็นเด็กสาวชาวเมียนมาที่ยังเด็กมากๆ ไม่แน่ใจว่าอายุเท่าไหร่ ตอนที่ใกล้จะถึงโรงพยาบาลเด็กก็คลอดออกมาแล้ว เด็กทารกตัวเขียวเหมือนจะไม่หายใจ แล้วรถก็รีบพาไปห้องฉุกเฉิน พอกลับมาอีกทีแม่เด็กก็ไม่อยู่แล้ว เราก็เลยรับดอกไม้มาตั้งแต่อายุหนึ่งเดือน

“เด็กบางคนก็บกพร่องทางร่างกายเป็นอย่างมาก เรามีเด็กผู้ชายคนหนึ่งชื่อ ‘จอห์น’แม่ของจอห์นเป็นโรคหนองในแท้ ซึ่งเกิดจากการทำงานเป็นโสเภณีให้พวกทหาร เธอกลับมาที่นี่เพื่อคลอดลูกบนพื้นหญ้าและจากไป 

“ฉันมาเจอและพาเขาไปยังโรงพยาบาล หมอบอกว่าเชื้อหนองในแพร่จากแม่ไปยังเด็ก ทำให้เขามีอาการตาบอด หูหนวก และสมองพิการ ทั้งยังบอกว่าเขาจะอยู่ได้แค่สามปี แต่ตอนนี้ เขาเพิ่งจะอายุครบสิบห้าปี ทั้งยังสบายดี เล่นซน สามารถมองเห็น และสื่อสารได้”

แม้ว่าเด็กๆ จะขาดหายอะไรบางอย่างไปในชีวิต แคทเธอรีนก็เชื่อมั่นมาเสมอที่จะพัฒนาให้พวกเขามีชีวิตที่ดี

Bamboo School โรงเรียนไม้ไผ่กลางหุบเขาที่สอนการใช้ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมด้วยการทำ Eco Brick จากพลาสติกเหลือใช้
Bamboo School โรงเรียนไม้ไผ่กลางหุบเขาที่สอนการใช้ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมด้วยการทำ Eco Brick จากพลาสติกเหลือใช้

“ฉันจะพยายามหาว่าทักษะและพรสวรรค์ที่พวกเขาแต่ละคนมีคืออะไร แล้วก็พาเขาไปในเส้นทางนั้น อย่าง ‘มูไว’ตอนนี้เขาเป็นหมอ ทั้งๆ ที่เขาเริ่มเข้าโรงเรียนครั้งตอนอายุสิบสี่ปีเท่านั้น เขาฉลาดมากนะ แต่เนื่องจากเขาพูดได้แต่ภาษาพม่าและกะเหรี่ยง ทำให้ต้องพยายามที่จะเปลี่ยนมาเรียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษแทน แม้จะท้าทาย แต่เขาก็ทำได้ ตอนแรกเขาอยากจะเป็นศิลปิน วาดรูปเต็มกำแพงไปหมด ที่เห็นๆ นี่ก็ฝีมือเขาทั้งนั้น หลังจากนั้นเขาก็อยากเป็นนักดนตรี เล่นกีต้าร์เสียงดังตอนที่ว่าง (หัวเราะ) 

ฉันว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาเลือกจะเป็นหมอ คือตอนที่เขามาช่วยฉันดูแลคนป่วยและช่วยฉันทำคลอดเด็กคนหนึ่งได้สำเร็จ จากนั้นเขาก็ได้รับการอุปการะจากเพื่อนของฉันที่อเมริกา ช่วยส่งเสียค่าเล่าเรียนจนได้เข้าเรียนที่โรงเรียนแพทย์ที่ฟิลิปปินส์ ตอนนี้เขาเรียนจบแล้วก็กลับมาช่วยฉันดูแลที่นี่ระหว่างรอผลสอบตัวสุดท้าย

“ถ้าพูดถึงสิ่งที่เด็กๆ อยากจะทำในอนาคต ฉันจะบอกพวกเขาว่าพวกเขามีความฝันที่ยิ่งใหญ่ได้ แล้วยังช่วยเหลือคนอื่นได้เช่นกัน” 

04

คบเด็กสร้างบ้าน

สิ่งที่เธอกำลังให้เด็กๆ ช่วยกันทำกันยกใหญ่อยู่ในตอนนี้คือ Eco Bricks ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นจากปณิธานปีใหม่ในปี 2017 ของเธอ เพราะเธอเบื่อกับการเห็นถุงพลาสติกตามท้องถนน จึงคิดที่จะลงไปยังชุมชนและจัดการกับขยะจำนวนมหาศาล

“ฉันพาเด็กทุกคนออกไปข้างนอก เก็บขยะใส่รถบรรทุก แล้วก็ส่งต่อให้ที่ทิ้งขยะในไทรโยค เราใช้เวลาเก็บขยะในชุมชนทั้งวันจนเต็มสองคันรถ เป็นกองพลาสติกสูงพะเนินเทินทึก แล้วฉันก็ให้เงินเขาเอาไปทิ้งที่ที่ทิ้งขยะ แต่พวกเขากลับมาพร้อมขยะเต็มคันรถแล้วก็บอกอย่างสุภาพว่า ที่ทิ้งขยะปิด ฉันก็เลยเปิดหาข้อมูลจากลุงกูเกิลเพื่อนรักของฉัน เพื่อหาว่าจะจัดการกับพลาสติกอย่างไรดี จนเจอว่าที่อินโดนีเซียกำลังเริ่มทำ Eco Bricks วัสดุสร้างบ้านจากพลาสติกรีไซเคิล พวกเขาวางเรียงมันเป็นแถวๆ แล้วฉาบมันด้วยโคลน ตอนนั้นเองที่ฉันคิดว่าเราควรลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง”

Bamboo School โรงเรียนไม้ไผ่กลางหุบเขาที่สอนการใช้ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมด้วยการทำ Eco Brick จากพลาสติกเหลือใช้

ขั้นตอนการทำ Eco Bricks ไม่ยากเลย เริ่มต้นจากขวดพลาสติก และเศษขยะชิ้นเล็กชิ้นน้อย 

“เราเริ่มจากการนำขยะพลาสติกยัดใส่ในขวดพลาสติกให้แน่น แล้วติดแต่ละขวดเข้าไว้ด้วยกัน จากนั้นเราก็เอามันไว้ตรงกลางระหว่างคอนกรีต ซึ่งมันจะแข็งแรงและมั่นคงมาก ทำเป็นกำแพงสูงๆ ได้ไม่มีปัญหา ไม่พังลงมาแน่นอน เพราะเราใช้เหล็กเป็นโครงอยู่แล้ว 

“เด็กๆ เก่งกันมากในการเอาขยะใส่ในขวดโดยเราสร้างเกมใน Bamboo School ด้วยการให้เด็กๆ ยัดขยะลงในขวดแล้วมาแข่งกันว่าใครจะได้ขวดที่หนักที่สุด เด็กๆ ก็จะเชียร์กัน ให้พวกเขารู้สึกสนุกที่จะทำ ฉันมีความสุขกับอะไรแบบนั้นมาก เราก็แค่ใช้การเล่นเกมเพื่อทำ Eco Bricks”

ขยะชิ้นเล็กที่จะยัดใส่ในขวดจะเป็นขยะอะไรก็ได้ เธอบอกว่าห่อไอศครีมของเด็กๆ ก็สามารถยัดใส่ลงในขวดได้ เพราะว่าพอไปอยู่ในกำแพงแล้วเอาซีเมนต์ฉาบไปใส่ในแต่ละด้าน มันก็เหมือนกับการซีลอยู่แล้ว แต่การยัดขยะประเภทกระดาษลงไปอาจทำให้ขวดไม่แข็งแรงพอ 

Bamboo School โรงเรียนไม้ไผ่กลางหุบเขาที่สอนการใช้ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมด้วยการทำ Eco Brick จากพลาสติกเหลือใช้

 “มีคนส่งขวดที่ใส่กระดาษมาให้ แล้วตัวกระดาษมันนิ่มเกินไป ทำให้ไม่แน่นพอเหมือนพลาสติก และอีกอย่างหนึ่งคือกระดาษสามารถนำไปเผาหรือรีไซเคิลได้ แต่เราอยากกำจัดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งมากกว่า”

บอกแล้วคุณอาจจะตกใจ แต่ภายในขวดลิตร 1 ขวด เราสามารถกำจัดขยะพลาสติกได้ถึง 500 กรัม

นอกจากนี้ เธอยังเล่าถึงเคล็ดลับอื่นๆ กับเราอีกด้วย

“เรามีเรื่องตลกๆ เกี่ยวกับกาวด้วย บางคนบอกว่าใช้กาวร้อนติดขวดด้วยกันต้องดีแน่ๆ แต่พอขวดโดนแสงแดด กาวร้อนละลาย ขวดก็แยกออกจากกัน ดังนั้น ใช้กาวร้อนนี่ไม่รอดแน่ แล้วเราก็ทดลองกาวอีกหลายยี่ห้อ จนได้กาว 3M ที่ติดทนและแข็งแรงมาก”

Bamboo School โรงเรียนไม้ไผ่กลางหุบเขาที่สอนการใช้ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมด้วยการทำ Eco Brick จากพลาสติกเหลือใช้

นอกจากเคล็ดลับเรื่องกาวแล้ว ลักษณะของขวดก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน

“เรายังพบอีกว่า ถ้าเราติดกาวที่ขวดแบบเดียวกันด้วยกันมันจะแข็งแรงกว่า อย่างขวดเครื่องดื่มบางประเภทที่ทำขวดหลายรูปร่างมาก บางขวดอ้วน บางขวดผอม ซึ่งมันไม่มีประโยชน์เลย เพราะมันต้องใช้ขวดเหมือนกันแปดขวด ถึงจะสามารถติดกาวมันด้วยกันได้ เพราะฉะนั้น ฉันจะรักขวดสี่เหลี่ยมมากๆ ยิ่งเป็นขวดเหลี่ยมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งติดกาวง่ายขึ้นเท่านั้น มันก็เหมือนยิ่งเราทำเราก็ยิ่งเรียนรู้ เราก็ยิ่งทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ”

05

ฮีโร่ขยะ

เธอบอกกับเราว่าความพยายามแรกของเธอ คือการวางแผนทำกำแพงและบันไดจาก Eco Bricks เท่านั้น แต่หลังจากนั้นเธอก็คิดที่จะทำบ้านจากนวัตกรรมขยะรีไซเคิลนี้ด้วย

และแล้วบ้านจาก Eco Bricks ริมอ่างเก็บน้ำหลังนี้ก็ถูกสร้างขึ้น ผ่านการออกแบบโดยวิศวกรทางอาคารและโครงสร้าง ซึ่งเป็นเด็กชายคนหนึ่งที่เคยอยู่ที่แบมบูสคูล และขวดน้ำที่ใช้สร้าง Eco Bricks ก็มาจากน้ำพักน้ำแรงของเด็กๆ 

“นอกจาก Eco Bricks แล้ว เรายังตั้งใจทำมันเป็นเครื่องปรับอากาศด้วย หลักการของมันก็คือเวลาที่คุณเป่าลมจากปากกว้างๆ ออกมาที่มือ คุณจะรู้สึกถึงไอร้อนที่ออกมา แต่ถ้าเราเป่าลมจากปากแคบๆ อากาศที่ออกมาจะเย็น ดังนั้น เราก็จะตัดก้นขวดออก หันปากขวดยึดกับก้นขวด แล้วยึดมันกับช่องลมหรือช่องหน้าต่างโดยหันด้านปากขวดเข้าด้านในบ้าน ทีนี้อากาศจากภายนอกที่ผ่านเข้ามาในบ้านก็จะเย็น ซึ่งมันช่วยลดอุณหภูมิได้ถึงห้าองศา” 

Bamboo School โรงเรียนไม้ไผ่กลางหุบเขาที่สอนการใช้ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมด้วยการทำ Eco Brick จากพลาสติกเหลือใช้

แม้ตอนนี้ตัวบ้านจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์และต้องทำต่อไปอีก แต่แคทเธอรีนก็ตื่นเต้นมากที่มันมาได้ไกลขนาดนี้ จากปัญหาขยะล้นชุมชม กลายเป็นปัญหาขาดขยะมากกว่า ฉะนั้น พวกเขาจึงรับขยะจากทางอนามัยบ้องตี้ โรงเรียนและร้านค้าของโรงเรียนมาเพื่อสร้างอาคารต่อไป

“ฉันได้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ Trash Hero เพราะว่าพวกเขาเก็บรวบรวมขยะกันอยู่แล้ว โดยตอนนี้ เขายังเอาขยะมาให้เราทำ Eco Bricks ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีนะ เพราะทำให้เด็กๆ ได้รู้วิธีการกำจัดขยะมากขึ้น”

Bamboo School โรงเรียนไม้ไผ่กลางหุบเขาที่สอนการใช้ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมด้วยการทำ Eco Brick จากพลาสติกเหลือใช้

ประโยชน์ของกำแพงที่ทำจาก Eco Bricks คือจะช่วยลดอุณหภูมิ หากลองจับกำแพงจะรู้สึกได้เลยว่าด้านนอกของอาคารค่อนข้างร้อน แต่พอมาจับที่ด้านในจะเย็นกว่า อย่างที่สองก็คือช่วยกันเสียงออกไปด้านนอก และอย่างที่สามที่สำคัญที่สุดคือมันช่วยลดขยะ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

“เราพยายามสอนเด็กๆ ว่าถึงแม้มันจะเป็นขยะ แต่เราใช้ประโยชน์จากมันได้ เด็กๆ บางคนก็ออกแบบโต๊ะและเฟอร์นิเจอร์จาก Eco Bricks เริ่มทำที่พักวางเต็นท์ ตกแต่งครอบเสาคอนกรีต ทำเป็นรูปทรงต้นไม้เพื่อครอบเสาปูนเปลือย ทั้งยังพยายามที่จะสอนเด็กๆ ว่าอย่าปล่อยให้จินตนาการของพวกเขาหยุดลง

06

ขยายร่มเงา

แคทเธอรีนมองว่าการปลูกฝังการรักษาสิ่งแวดล้อมกับเด็กๆ เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการสอนผู้ใหญ่ โดยพวกเขายังเป็นความหวังในการพัฒนาโลกของเราในอนาคต       

“ที่นิวซีแลนด์เราเรียนวิชาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย และจะถูกปรับถ้าใครทิ้งแค่พลาสติกชิ้นเล็กๆ ลงพื้น หรือถ้าฉันเห็นใครก็ตามทิ้งขยะลงพื้น ฉันถ่ายรูปแล้วไปแจ้งตำรวจให้ดำเนินการกับเขาได้เลย ทำให้นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่สะอาดมาก ไม่มีขยะในแม่น้ำหรือที่ชายหาด ซึ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับประเทศไทย 

Bamboo School โรงเรียนไม้ไผ่กลางหุบเขาที่สอนการใช้ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมด้วยการทำ Eco Brick จากพลาสติกเหลือใช้

“ดังนั้น ฉันเลยสอนเด็กๆ อย่างจริงจังเลยว่าเราจะปลูกต้นไม้และสร้างสวน เราจะช่วยให้ทุกสิ่งเติบโตและแผ่ร่มเงา และเราจะไม่ทิ้งขยะใกล้สวนที่เราสร้าง เราควรแสดงให้คนเห็นว่ามันเป็นไปได้ มันจะเป็นสิ่งที่ดีมากถ้าเรากระตุ้นให้มันเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม”

เธอมองว่าถ้าเราไม่เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม โลกนี้จะกลายเป็นสถานที่ที่น่าหดหู่มาก

“เพราะว่ามันมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศอย่างรุนแรง เราจะต้องเปลี่ยนคนรุ่นนี้ ถ้าเราอยู่ต่อไปอย่างนี้ก็เท่ากับว่าเราทำลายสิ่งแวดล้อม เราจะปลูกพืชผลอะไรไม่ได้ มีชีวิตอยู่ไม่ได้ เพราะเราต้องการต้นไม้ และคนรุ่นนี้ต้องอยู่กับสิ่งพวกนี้ต่อไป 

Bamboo School โรงเรียนไม้ไผ่กลางหุบเขาที่สอนการใช้ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมด้วยการทำ Eco Brick จากพลาสติกเหลือใช้

“ฉันพยายามสอนเด็กๆ ให้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม เราต้องสนับสนุนโรงเรียนให้มากขึ้น ให้ผู้คนที่มีความคิดเกี่ยวกับเรื่องรีไซเคิลและการนำกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นขึ้น”

ก่อนบทสนทนาของเราจะจบลง เธอมองออกไปยังหญ้าบนเนินเขาสีเขียวด้านหน้านั้น มองไปรอบบ้านไม้ไผ่ แล้วหันมาพูดกับเราว่า

“พอมองย้อนกลับไปแล้วก็ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าเรามาไกลได้ขนาดนี้ แต่ฉันก็คิดว่ามันทำให้ดีได้ยิ่งขึ้นไปอีก ฉันคิดว่าเราควรทำสิ่งที่ดีทุกวัน ควรออกไปและทำอะไรสักอย่าง อย่าแค่พูดถึงแต่ทำมันเลย เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ก็ได้ 

อย่างทุกวันนี้ ฉันจะเอาผ้าห่มและอาหารที่เรามีเหลือพอจะแบ่งปันออกไปให้คนที่เขายังขาดและต้องการ เราทุกคนควรพยายามทำสิ่งที่ดีเพื่อคนอื่น เพราะมันทำให้เป็นสุข” เธอกล่าวทิ้งท้ายพร้อมกับรอยยิ้มแสนอบอุ่น

Writer

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ชาวนนทบุเรี่ยน ชอบเขียน และกำลังฝึกเขียนอย่างพากเพียร มีความหวังจะได้เป็นเซียน ในเรื่องขีดๆ เขียนๆ สักวันหนึ่ง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล