ธุรกิจ : Ballet Shoes 

ประเภทธุรกิจ : ธุรกิจจำหน่ายรองเท้าและกระเป๋าหนัง

ปีก่อตั้ง : ค.ศ. 1959

อายุ : 62 ปี

ผู้ก่อตั้ง : ซิมเหงี่ยน แซ่หย่อง และ กิมสง แซ่เจี่ย

ทายาทรุ่นสอง : พงษ์เดช และ จริยา คงเดชะกุล

ทายาทรุ่นสาม : พรชนก คงเดชะกุล Ballet Shoes Since 1959 (ค.ศ. 2003)

Ballet Shoes แบรนด์รองเท้าจากรุ่นคุณย่า ที่ยังผลิตแบบแฮนด์เมดและรับซ่อมมาตลอด 62 ปี

ทุกปีที่โละตู้เสื้อผ้ารองเท้าเก่าไปขายหรือบริจาค รองเท้าหนังส้นเตี้ยมีโบว์ของ Ballet Shoes จะได้ไปต่ออีกปีอยู่เสมอ เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยปี 3 มาตอนนี้ผ่านมาเกือบ 10 ปีได้แล้ว ก็ยังทนทานใส่สบายจนตัดใจทิ้งไม่ลงสักที

Ballet Shoes คือแบรนด์รองเท้าที่ก่อตั้งโดย อากุงซิมเหงี่ยน แซ่หย่อง และ คุณย่ากิมสง แซ่เจี่ย ในช่วง ค.ศ.1959 อากุงเดินทางย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองจีน ส่วนย่าเป็นคนจีนที่เกิดในประเทศไทย มาพบรักกันที่นี่ ตัวคุณย่าเองเคยค้าขายอย่างอื่น ส่วนอากุงเริ่มจากรับจ้างเป็นช่างรองเท้ามาก่อน ทำไปทำมาจึงตัดสินใจเปิดร้านของตัวเอง

สมัยนั้น ร้านตัดรองเท้าดังๆ มีอยู่ 3 เจ้า ร้านหนึ่งอยู่บริเวณบางรัก อีกร้านอยู่แถวเยาวราช ส่วนร้านอากุงและย่าเรียกได้ว่าโชคดี เพราะตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่านธุรกิจอย่างสี่แยกราชประสงค์ หรือเกษรพลาซ่าในปัจจุบัน 

 คุณแม่จริยา คงเดชะกุล และ จ๋า-พรชนก คงเดชะกุล ทายาทรุ่นสองและทายาทรุ่นสาม Ballet Shoes

เวลาผ่านไป ร้านอื่นค่อยๆ ปิดตัวลง เหลือแต่ Ballet Shoes ที่ส่งต่อมายัง คุณแม่จริยา คงเดชะกุล และ จ๋า-พรชนก คงเดชะกุล ทายาทรุ่นสองและทายาทรุ่นสาม ผู้สืบทอดแบรนด์รองเท้า วิธีการผลิตแบบแฮนด์เมด/ฮาร์ตเมด และการให้บริการต่างๆ มาตลอด 62 ปี โดยปรับให้ทันสมัยเข้ากับพฤติกรรมการซื้อรองเท้าที่เปลี่ยนไป

ร้านรองเท้ารับตัดตามแบบ

ร้านแรกของอากุงและย่าอยู่แถวสีลม เพื่อนของคุณย่าเป็นคนตั้งชื่อแบรนด์ให้ ก่อนจะย้ายมาที่แยกราชประสงค์ในเวลาต่อมา

หลายคนเข้าใจผิดว่าชื่อ Ballet Shoes เพราะขายรองเท้าบัลเลต์ จริงๆ แล้วร้านนี้ขายรองเท้าทุกแบบทั้งชายหญิง ผลิตเองด้วยมือทุกคู่ และรับสั่งตัดตามแบบให้กับคนที่สนใจ

Ballet Shoes แบรนด์รองเท้าจากรุ่นคุณย่า ที่ยังผลิตแบบแฮนด์เมดและรับซ่อมมาตลอด 62 ปี

แยกราชประสงค์ในยุคก่อนคล้ายกับ Shopping Avenue ในปัจจุบัน Ballet Shoes เป็นร้าน 2 คูหา เข้าได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ชั้นล่างเป็นพื้นที่ขายรองเท้าทั้งหมด ชั้นลอยเป็นครัวและห้องเก็บสต็อกสินค้า ส่วนชั้นบนเป็นหอพักให้คนขายและช่างตัดรองเท้า

นอกจากรองเท้าที่วางขายหน้าร้านแล้ว ร้านยังรับตัดตามสั่ง สั่งวันนี้ พรุ่งนี้เสร็จเลย ด้วยความที่ทำเลดี อยู่ใกล้โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะ แม้กระทั่งลูกเรือสายการบินก็พักอยู่แถวนั้น แอร์โฮสเตสทั้งไทยและฝรั่งต่างมาสั่งตัดรองเท้ายูนิฟอร์มที่ร้านกันหมด ตัดเสร็จพนักงานที่ร้านก็เอาไปจากที่ล็อบบี้ของโรงแรม สมัยที่กีฬาบัลเล่ต์เข้ามาประเทศไทยใหม่ๆ เหล่าพ่อแม่ก็พากันมาตัดรองเท้าบัลเล่ต์ให้ลูก

Ballet Shoes แบรนด์รองเท้าจากรุ่นคุณย่า ที่ยังผลิตแบบแฮนด์เมดและรับซ่อมมาตลอด 62 ปี

“ร้านสั่งตัดมีไม่มาก ลูกค้าประจำเราเป็นชาวต่างชาติ ดารา นักร้องลูกทุ่ง แดนเซอร์ มาตัดกับเราหมด บางทีลูกค้าเอาตัวอย่างรองเท้ามาให้ตัด บางทีเอารูปจากนิตยสารให้ดู แล้วรองเท้าที่ขายกันที่เมืองนอกาคาสูงมาก มาสั่งตัดที่เมืองไทยถูกกว่า แถมฝีมือดี ช่างที่ร้านสมัยก่อนเป็นคนจีนหมดเลย ละเอียด อย่างเวลาตัดรองเท้าบูตนี่ต้องวัดขาจริงทีละปล้อง ไม่อย่างนั้นใส่ไม่พอดีขา สั่งตัดถ้าลองแล้วไม่พอดีก็รอรับแก้ได้เลย วิธีการผลิตของเรามันเหมาะกับความต้องการในตอนนั้นพอดี”

คุณแม่จริยาเท้าความให้ฟังพร้อมสาธิตวิธีการวัดขาทีละปล้องไปด้วย

โตมาด้วยกัน

ขณะที่อากุงและย่าดูแลร้านที่ราชประสงค์ คุณแม่จริยาก็ขยับขยายร้านมาอยู่ที่อมรินทร์พลาซ่า ส่วนจ๋าโตมากับร้านนี้ บรรยากาศในตอนนั้นคือ Ballet Shoes มีทั้งหมด 3 สาขา พนักงานผู้ใหญ่ขายของหน้าร้าน พนักงานรุ่นเยาว์คอยวิ่งส่งของระหว่างสาขา ร้านไหนขาดเหลืออะไรก็ขอจากอีกร้าน

“มันเป็นความคุ้นชิน” จ๋าเล่าถึงวัยเด็ก “เราเห็นอย่างนี้มาตั้งแต่เด็ก ใส่รองเท้าที่ร้านมาตลอด เพราะสมัยก่อนมีรองเท้าเด็กขายด้วย รองเท้านักเรียนยังตัดเลย หรือแม้แต่รองเท้าคู่แรกในชีวิตเราก็ไม่ได้ซื้อ ย่าสั่งตัดให้ คู่จิ๋วนิดเดียว เป็นรองเท้าบัลเลต์เล็กๆ สีเขียว มีโบว์หนวดๆ”

“ม๊ายังเก็บไว้อยู่เลย” คุณแม่จริยาเสริม

จ๋าบอกว่าตัวเองใช้ชีวิตที่ร้านมากกว่าที่บ้าน ทำให้ซึมซับเรื่องธุรกิจครอบครัวมาหลายสิบปี สังเกตเห็นวัฒนธรรมของช่างทำรองเท้าที่ไม่เหมือนกับอาชีพอื่นๆ

รองเท้าที่ดีต้องทำด้วยใจ

Ballet Shoes ประสบความสำเร็จด้วยคุณภาพ และช่างตัดรองเท้าฝีมือดีไม่ได้หากันเจอง่ายๆ 

เดิมช่างของย่าเป็นคนจีน ถ่ายทอดความรู้ให้ช่างคนไทยรุ่นเด็กๆ ต่อๆ มา ความยากของการตัดรองเท้าด้วยมือคือในแต่ละวันทำได้จำนวนน้อยมาก อาจจะ 1 หรือ 2 คู่ต่อช่าง 1 คน และแบบที่ตัดไม่เหมือนกันหมด วันนี้ทำรองเท้าผู้หญิง พรุ่งนี้ทำรองเท้าผู้ชาย ยากหน่อยคือวันหนึ่งทำหลายแบบ ช่างจึงต้องมีความถนัดและสามารถทำได้ทุกดีไซน์

กระบวนการแรกสุดคือการวัดเท้า วิธีการคือวางเท้าบนกระดาษ เอาปากกาวาดตั้งตรง 90 องศา ให้ลายเส้นชิดเท้ามากที่สุด แล้วใช้สายวัดทุกอย่าง ถ้าเท้าลูกค้าเบอร์ 6 แต่มีโหนก ก็ต้องเอาหนังมาติดหุ่นเท้าให้สัดส่วนใกล้เคียงที่สุด กว่าจะได้หนึ่งคู่ต้องคุยกับลูกค้า 2 – 3 ชั่วโมง และไม่ใช่ว่าปกติใส่เบอร์ 6 แล้วจะต้องใส่เบอร์ 6 กับรองเท้าทุกแบบ เมื่อความสูงของส้นเปลี่ยน ความเขย่งเปลี่ยน เบอร์ก็เปลี่ยน ถ้าส้นแบนไปเลยเบอร์จะยาวกว่า พอเขย่งปุ๊บเบอร์จะสั้นลง 

Ballet Shoes แบรนด์รองเท้าจากรุ่นคุณย่า ที่ยังผลิตแบบแฮนด์เมดและรับซ่อมมาตลอด 62 ปี

รองเท้าดีๆ หนึ่งคู่ต้องอาศัยจิตใจที่เข้าใจและรักในหน้าที่ของคนทำ ความใส่ใจอยากทำรองเท้าที่คนใส่ใส่สบาย และความเชี่ยวชาญของช่างอย่างน้อย 4 คน

ช่างคนแรก นำแบบเท้าที่วัดได้ไปหาหุ่น ถ้าหุ่นที่ใกล้เคียงที่สุดผอมไปต้องเอาหนังมาแปะให้ได้ขนาดที่พอดีเท้า ปะเสร็จใช้สายวัดวัดว่าเท่ากันหรือเปล่า

ช่างคนที่ 2 ออกแบบและส่งคนไปวิ่งหาหนัง ช่างคนนี้จะวาดแบบหนังหน้าในกระดาษแล้วตัดออกมา หนังหน้ารองเท้าจะเหมือนหมวก แบนๆ แล้วนำกระดาษมาแปะบนหุ่นเท้า

ช่างคนที่ 3 เย็บหนังหน้า ตะเข็บ และติดซับใน

Ballet Shoes แบรนด์รองเท้าจากรุ่นคุณย่า ที่ยังผลิตแบบแฮนด์เมดและรับซ่อมมาตลอด 62 ปี
Ballet Shoes แบรนด์รองเท้าจากรุ่นคุณย่า ที่ยังผลิตแบบแฮนด์เมดและรับซ่อมมาตลอด 62 ปี

และช่างคนสุดท้าย คนดึงขึ้นทรง ประกอบออกมาให้เป็นทรงรองเท้าหนึ่งคู่ตามหนังหน้าที่ช่างคนที่สองออกแบบมา คนที่เก่งคือคนที่ประกอบออกมาเป็นรองเท้าที่สวยและใส่สบาย ถ้าดึงสูงเกินไปจะค้ำส้นเท้า ใส่ไม่สบาย กัด และออกแบบพื้น ทำอย่างไรให้พื้นนิ่ม พื้นต้องกว้างแค่ไหนถึงจะใส่สบาย การดึงรองเท้าหนังไม่เหมือนการดึงรองเท้าพลาสติก ก่อนจะเอาหนังมาใช้ต้องผ่านเครื่องปอกให้บาง ไม่อย่างนั้นจะเย็บไม่ได้ ช่วงที่พับตะเข็บก็ต้องพับให้บางที่สุดเพื่อไม่ให้เสียดสีจนเท้าเป็นแผล

นักเศรษฐศาสตร์ผู้ทำรองเท้า

หลังจากร้านย่าที่ราชประสงค์เลิกกิจการ จุดเปลี่ยนสำคัญของแบรนด์ตอนที่จ๋ากำลังจะเรียนจบจากคณะเศรษฐศาสตร์

จ๋าในเทอมสุดท้ายของมหาวิทยาลัยต้องคิดทางเดินชีวิตต่อ จากแผนที่อยากเรียนจบ 3 ปีครึ่ง แทนที่จะเริ่มงานให้เร็วกว่าเพื่อน เธอตัดสินใจใช้เวลาครึ่งปีที่เหลือลองต่อยอดธุรกิจของครอบครัว ถ้าลองแล้วไม่สำเร็จ ก็ยังสามารถเริ่มงานพร้อมคนอื่นๆ ได้

“เราเห็นว่าร้านแม่ที่อมรินทร์ฯ มีลูกค้าฝรั่งชอบมาซื้อรองเท้า Flat ทรงบัลเลต์ แม่ทำแค่ห้าสี สีเรียบๆ ดำ ขาว น้ำตาล แดง และกรมท่า ลูกค้าซื้อซ้ำตลอด มาเมืองไทยทีไรก็ต้องแวะมาซื้อกลับไป แล้วซื้อทุกสี หรือบางคนก็สั่งตัด เราเลยเห็นโอกาสว่า ทำไมเราไม่ทำสีเพิ่มและเปิดแบรนด์ที่ทำแค่รองเท้าผู้หญิง

“ก็เลยปรึกษาแม่ว่าอยากทำ แต่ไม่อยากเป็นกงสี ให้เปิดไหม ถ้าทำเราขอทำของตัวเอง ตอนเป็นกงสีทำเยอะทำน้อยได้เท่ากัน มันทำให้เราไม่มีแรงบันดาลใจ แม่ก็โอเค แล้วเราเริ่มสเกลไม่ใหญ่ ถ้าเจ๊งจะได้ไม่เจ็บมาก” 

Ballet Shoes แบรนด์รองเท้าจากรุ่นคุณย่า ที่ยังผลิตแบบแฮนด์เมดและรับซ่อมมาตลอด 62 ปี

เข้าใจทุกกระบวนการด้วยการลงมือทำเอง

จ๋าเริ่มจากเอาแบบรองเท้าของแม่ที่มีอยู่มาเปลี่ยนวัสดุให้ดูเข้ายุคเข้าสมัยมากยิ่งขึ้น เปลี่ยนจากสีโทนเข้มเรียบๆ เป็นสีจัดๆ สีเรืองแสง เธอพบปัญหาข้อใหญ่คือการสื่อสารกับช่าง เวลาเอาแบบรองเท้าผู้หญิงไปคุยกับช่างผู้ชาย เขาจะไม่ค่อยเข้าใจ ไม่เหมือนผู้หญิงออกแบบเอง

“พอมีปัญหาก็คิดว่าไม่ได้แล้ว เราต้องออกแบบเอง ตอนแรกก็ไปเรียนกับช่างที่โรงงาน อย่างที่บอกว่าเขาใช้กระดาษทำหนังหน้า แต่ไม่มีหลักการเพื่อให้เราเข้าใจว่าทำไมต้องเป็นอย่างนี้ เขาทำต่อๆ กันมา ตามความเคยชิน ครูพักลักจำ เราก็ไม่เข้าใจ ถ้าคู่ใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงต้องทำยังไง

“เราเลยไปเรียนฝึกอาชีพตรงราชดำเนินที่ค่าเรียนชั่วโมงละบาท เพราะอยากเข้าใจพื้นฐานก่อน พอเราออกแบบเองแล้วเราเป็นผู้หญิง เราจะเข้าใจว่าตรงนี้ควรตื้นลึกหนาบางยังไง เว้าแค่ไหนสวย เว้ามากก็ไม่เก็บเท้าอีก”

หลังจากนั้น เธอมีโอกาสได้เรียนกับช่างชาวมาเลเซียคนหนึ่ง ว่ากันว่าร้านตัดหนังทุกร้านรู้จักอาจารย์คนนี้ เขาสอนตั้งแต่วิธีการฟิตติ้งหุ่นเท้า ออกแบบพื้น ออกแบบรองเท้าทุกดีไซน์ แต่การเรียนทำรองเท้าไม่มีวันจบสิ้น วันนี้เราได้หลักพื้นฐานมา แต่พรุ่งนี้ถ้าจะออกแบบใหม่ก็ต้องพลิกแพลง ลองผิดลองถูก

Ballet Shoes แบรนด์รองเท้าจากรุ่นคุณย่า ที่ยังผลิตแบบแฮนด์เมดและรับซ่อมมาตลอด 62 ปี

สืบทอดความตั้งใจที่อยากผลิตรองเท้าคุณภาพ

ร้าน Ballet Shoes Since 1959 ของจ๋าที่แยกตัวมาจากธุรกิจครอบครัวเปิดตัวอย่างสวยงามที่โรงหนังสยามใน ค.ศ. 2003 โดยมีรองเท้าส้นเตี้ยทรงบัลเลต์ที่ปรับแบบจากของคุณแม่จริยาชูโรงรุ่นแรก

“พื้นของแม่จะแคบกว่า หัวก็ไม่มนเท่านี้ เราใส่แบบเดิมไม่สบาย มันบีบ เพราะทำตามทรงรองเท้าคนยุโรป คนเอเชียเท้าจะอวบกว่า ต้องขยายหุ่นออกมาหน่อย และทำหน้ากว้างขึ้นนิดหนึ่ง สมัยเปิดแรกๆ คนยังคิดเลยว่าเอารองเท้ามือสองมาขายหรือเปล่า รองเท้าเราไม่เหมือนร้านอื่น”

ชื่อเสียงจากร้านเดิมของย่าและแม่ช่วยให้ Ballet Shoes ติดตลาดคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยเริ่มจากเวลาลูกค้ามาเลือกรองเท้ากับแม่ ผู้เป็นแม่จะช่วยเชียร์ ช่วยขาย ไปด้วยเพราะรู้จักร้านนี้มาก่อน

เธอตั้งใจเอาองค์ความรู้เดิมสมัยคุณย่ามาปรับใช้ให้ตรงใจคนรุ่นใหม่ ช่วงเปิดร้านใหม่ๆ เธอยอมรับว่าไฟแรงมาก อยากทำทุกอย่างถึงขั้นไปดูเครื่องจักรสำหรับผลิตรองเท้า เพื่อค้นพบว่าเครื่องจักรไม่หลากหลายเท่าฝีมือคน และต้องผลิตแบบเดียวหมื่นๆ คู่เป็นอย่างน้อย แต่เพราะโตมากับช่างฝีมือของที่บ้าน สุดท้ายก็ตัดสินใจคงไว้ซึ่งการผลิตแบบแฮนด์เมดเหมือนเดิม

Ballet Shoes แบรนด์รองเท้าจากรุ่นคุณย่า ที่ยังผลิตแบบแฮนด์เมดและรับซ่อมมาตลอด 62 ปี

“ความสบายเป็นสิ่งที่แบรนด์เราให้ความสำคัญมาตั้งแต่รุ่นคุณย่า ซึ่งต้องอาศัยทักษะของช่างที่ทำ สมมติอยากได้รองเท้านิ่ม ถ้าเอาฟองน้ำชนิดหนึ่งไปทำ มันอาจจะไม่นิ่มเขาหรือเทอะทะ เขาก็ต้องรู้ว่าควรจะใช้วัสดุยังไง พอรู้รายละเอียดเยอะเกินไป เราก็อยากให้ทุกอย่างเพอร์เฟกต์ มันก็เลยยังต้องเป็นทำมือแบบเดิมอยู่”

เพื่อให้เข้ากับความต้องการของคนในยุคนี้ จ๋าไม่ได้ตัดวัดแบบคู่ต่อคู่เหมือนสมัยก่อน เพราะกระบวนการวัดเกิด Human Error ได้ง่าย เธอใช้วิธีให้ลูกค้าลองจากไซส์มาตรฐาน และใช้ความชำนาญที่สั่งสมมาตลอดชีวิตปรับแก้ให้พอดีที่สุด

“พฤติกรรมเปลี่ยนไปแล้ว สมัยนี้ใครจะรอรองเท้าเป็นสัปดาห์ๆ” เธอยิ้ม “ช่างที่เก่งต้องมีภาพในหัวคอยแก้ปัญหาตลอดเวลา ถ้าเท้าไม่พอดีหุ่นจะปรับยังไงถึงโอเค”

Ballet Shoes แบรนด์รองเท้าจากรุ่นคุณย่า ที่ยังผลิตแบบแฮนด์เมดและรับซ่อมมาตลอด 62 ปี

การรับช่วงต่อความเชี่ยวชาญที่มีอายุยาวนานกว่า 60 ปีไม่ใช่เรื่องง่าย เธอเล่าว่า สมัยคุณย่า ช่างอาศัยอยู่ด้วยกันที่ร้าน จะแก้อะไรก็ง่ายดายแค่ขึ้นไปชั้นสอง หลังจากธุรกิจของย่าปิดตัว ช่างทุกคนย้ายไปอยู่โรงงานแถวหมอชิตและค่อยๆ เติบโต เริ่มมีครอบครัว มีลูกหลาน พอมาตอนนี้เธอต้องปรับการทำงานของช่างใหม่ จากที่ต้องเดินทางมาทำงานไกลๆ ก็ให้เขาทำที่บ้าน เขาได้เลี้ยงลูก ไปรับลูกที่โรงเรียน กอปรกับรองเท้า Ballet Shoes ในวันนี้ตัดเป็นชุดๆ มากขึ้น ไม่ได้ Tailor Made คู่ต่อคู่เหมือนเมื่อก่อน 

“ถ้ามีแบบไหนที่ช่างในมือเราไม่ถนัด เราก็จะไปจ้างช่างสมัยคุณย่าที่ตอนนี้ไปเปิดโรงงานเองทำ พออายุมากขึ้น เขาก็อยากขยับขยาย เราไม่ได้มองว่าเขาเป็นคู่แข่ง ไม่รู้สึกว่าต้องโกรธเขา แต่มองเขาเป็นพันธมิตร วงการทำรองเท้ามันแคบนิดเดียว”

ไม่ลดราคาเพื่อกระตุ้นยอดขาย แต่สร้างความแตกต่างจากตลาด

“ร้านเราลดราคาน้อยมาก” คุณแม่จริยาและจ๋ายืนยันเป็นเสียงเดียวกัน

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสินค้าไม่ค่อยเหลือ สินค้าลดราคาคือมีสต็อกน้อยมากๆ เช่น ไม่ครบสี ไม่ครบไซส์ การเรียนเศรษฐศาสตร์ทำให้เจ้าของแบรนด์นี้ไม่เชื่อเรื่องกลยุทธ์ราคา

“มันเป็นกลยุทธ์สุดท้ายที่นักเศรษฐศาสตร์จะหยิบมาใช้ รองเท้าเรามีคุณภาพ เลยไม่จำเป็นต้องเล่นเรื่องราคา เดี๋ยวทำลายแบรนด์ตัวเอง และลูกค้าอาจไม่เชื่อถือ ในขณะเดียวกัน รองเท้าหนังเราจะไม่ให้ราคาเกินสองพันห้าร้อยบาท ถ้าเลยไปสามพันบาทถือว่าแพงเกินไปสำหรับเรา จริงอยู่อาจจะมีคนซื้อ แต่แค่นี้เราอยู่ได้ และลูกค้าก็อยู่ได้ด้วย”

เมื่อไม่ใช้ราคาจูงใจ ก็ต้องมั่นใจว่าสินค้าคุณภาพดีเยี่ยม เธอสร้างความแตกต่าง (Differentiate) ให้แบรนด์โดดเด่นออกมาจากเจ้าอื่นๆ ทั้งการผลิตแบบแฮนด์เมด สีสันที่ไม่เหมือนใคร และที่ขาดไม่ได้มาตั้งแต่รุ่นคุณย่า คือบริการซ่อมหลังการขาย ที่วันนี้แทบไม่มีใครทำกันแล้ว

“เคยคิดอยากยกเลิกบริการซ่อมเหมือนกัน เพราะมีปัญหาจุกจิก บางทีไม่คุ้ม แต่สุดท้ายเลิกไม่ได้ เพราะนี่คือตัวตนของแบรนด์เรา เรารับผิดชอบกับของของเรามาตลอด

“พอมีการซ่อม เรายิ่งต้องพยายามรักษาคุณภาพการผลิต เพราะคิดว่าถ้ามันไม่ดีมาตั้งแต่แรก เราก็ซ่อมให้ดีไม่ได้ ของเรามาซ่อมไม่จำเป็นต้องมีใบเสร็จอะไรเลย เราจำรองเท้าตัวเองได้ทุกคู่ นานแค่ไหนก็จำได้อยู่ดี” เธอยิ้ม

ทุกสาขาต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง

ช่วงเศรษฐกิจคึกคัก Ballet Shoes ของจ๋าเคยมีสาขามากสุดถึง 6 สาขา ปัจจุบันเหลือ 2 สาขาคือ Siam Quare One และ Silom Complex

“แบบสมัยแม่ที่เปิดที่เดิมยาวนานสามสิบปีไม่มีอีกแล้ว เรามองว่าความเจริญตอนนี้หมุนไปเรื่อยๆ วันนี้ไอคอนสยามเปิด ความเจริญก็กระจายไปฝั่งนั้น แถวสยามก็อาจจะเงียบลงหน่อย ถ้าเราอยู่ที่ใดที่หนึ่งเลยอาจจะล้มเหลว”

แต่แม้ช่วงนั้นจะเปิดสาขาเยอะ เธอก็ตัดใจปิดสาขาที่ผลตอบรับไม่คุ้มทุนได้ไม่ยาก การทำธุรกิจแบบที่เอากำไรจากสาขาหนึ่งไปช่วยอีกสาขาหนึ่งไม่ใช่ตัวเลือกของจ๋า ทุกร้านทุกสาขาต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่อย่างนั้นธุรกิจจะไม่เหลืออะไรเลย

กฎเหล็กของเธอคือ 6 เดือน ถ้าภายในระยะเวลานี้ไม่ทำกำไร เธอจะเลือกเดินออกมา 

Ballet Shoes แบรนด์รองเท้าจากรุ่นคุณย่า ที่ยังผลิตแบบแฮนด์เมดและรับซ่อมมาตลอด 62 ปี
Ballet Shoes แบรนด์รองเท้าจากรุ่นคุณย่า ที่ยังผลิตแบบแฮนด์เมดและรับซ่อมมาตลอด 62 ปี

ไม่มีใครเป็นคู่แข่ง สิ่งที่ทำให้แบรนด์ยังอยู่ได้คือการรู้ว่าตัวเองมีดี

“เราไม่เคยคิดว่าใครเป็นคู่แข่งเลย บางร้านของเราอยู่บนชั้นที่มีรองเท้าเต็มไปหมด แต่เราไม่เคยไปดูร้านอื่นเลย เรารู้ว่าของเราดียังไง ลูกค้าชอบของเราที่ตรงไหน ไม่ใช่ว่าไปเห็นร้านนั้นขายดีแล้วจะไปทำแข่งกับเขา เราก็ไม่ถนัดอยู่ดี แบบที่ดีไซน์ คือสิ่งที่เราคิดว่าตัวเองอยากใส่”

ผนังด้านหนึ่งของสาขา Silom Complex เป็นรองเท้าเต้นรำของคุณแม่จริยาที่เริ่มทำตั้งแต่ประเทศไทยจัดการแข่งขันซีเกมส์ครั้งแรก ครูเต้นรำทิ้งตัวอย่างรองเท้าไว้ พ่อให้ช่างเปิดดูแล้วเอามาพัฒนาให้เข้ากับรูปเท้าคนไทยอยู่สองปี

ลูกค้าพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารองเท้าแบรนด์นี้ทนและไม่กัด คุณแม่จริยาถึงกับเคยแซวลูกค้าเล่นๆ ว่า ถ้าไม่พังก็ทิ้งเลยจะได้ซื้อคู่ใหม่ นอกจากฝีมือการเย็บที่เชี่ยวชาญ ความใส่ใจ และซับในรองเท้าที่ทำจากหนังทั้งหมด ก่อนขายทุกรุ่น คุณแม่จริยาและจ๋าต้องลองใส่กันเองก่อน ถ้าบีบจนเจ็บหรือกัดถือว่ายังไม่ผ่าน

“ร้อยคนโดนกัดคนหนึ่ง” คุณแม่ว่า “ถ้าลูกค้าบอกกัด เราต้องดูว่าทำไมถึงกัด รองเท้าไม่พอดีหรือเปล่า หรือทรงไม่เหมาะกับรูปเท้าหรือเปล่า วิธีการเย็บก็เกี่ยว บางอย่างเย็บแล้วสวย เนี้ยบ แต่ทบๆ กันสี่รอบจนเสียดสีกับเท้า กัด ลูกค้าบางคนไม่ชอบหนังนิ่ม เพราะเป็นคนเท้ากว้าง อยากให้รองเท้าเก็บเท้า เราก็ต้องบอกก่อนเลยว่ามันมีโอกาสจะกัดนะ”

ทั้งคู่มองลูกค้าเหมือนเพื่อน และหลายคนก็กลายมาเป็นเพื่อนจริงๆ มีอะไรก็บอกกันตรงๆ ว่าเหมาะไม่เหมาะ คนเท้าอวบอาจไม่เหมาะกับเท้าทรงนี้ ใส่อีกแบบจะเก็บเท้ากว่า หนังแบบไหนดูแลยากก็จะบอกตั้งแต่ต้น แบบนี้เป็นรอยง่าย แบบนั้นเก็บไว้นานแล้วลอก พนักงานทุกคนจึงต้องรู้เรื่องรองเท้าจริงๆ ไม่ใช่ขายตามหน้าที่อย่างเดียว เขาต้องรู้เหมือนที่จ๋ากับแม่รู้ และอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจได้ 

Ballet Shoes ในวัย 17 ปีของทายาทรุ่นสาม อาจไม่ใช่ธุรกิจใหญ่โตเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน จนเราอดสงสัยไม่ได้ว่า การทำมือต่อไปแบบนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจหรือไม่

จ๋าตอบทันทีไม่รีรอ และเป็นคำตอบสุดท้ายของบทสนทนาในวันนั้นที่สรุปเรื่องราวทั้งหมดได้ดีที่สุด

“เราไม่อยากขยายใหญ่ไปกว่านี้ วิธีการผลิตของเราเป็นแบบนี้ คุณค่าแบรนด์เราอยู่ที่ตรงนี้ เราก็อยากทำมันแบบนี้แหละ แต่ทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะดูแลไหว”

Ballet Shoes แบรนด์รองเท้าจากรุ่นคุณย่า ที่ยังผลิตแบบแฮนด์เมดและรับซ่อมมาตลอด 62 ปี

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล