หลายคนมักเข้าใจว่า อัลบั้มแรกของ Moderndog ชื่อว่า เสริมสุขภาพ เนื่องจากคำนี้ดันไปปรากฏเด่นหราอยู่บนหัวมุมขวาของปก

แต่ความจริงแล้ว อัลบั้มนี้ชื่อ Moderndog และ เสริมสุขภาพ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเพลงทั้งสิบหรือ 4 หนุ่มสมาชิกวงแต่อย่างใด หากเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของผลงานภาพคอลลาจซึ่ง ทอม-วรุตม์ ปันยารชุน สร้างสรรค์ขึ้น

Bakery Music ค่ายเพลงเล็กที่พลิกโฉมวงการออกแบบไทยด้วยปก CD สก๊อตช์-ไบรต์ แว่นสามมิติ ฯลฯ

ถึงอย่างนั้นภาพปกที่ดูน่าสงสัยนี้ กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง ตั้งแต่การเปิดประตูให้คนไทยได้รู้จักกับ Bakery Music ค่ายเพลงเล็กๆ ซึ่งต่อมากลายเป็นแหล่งปลูกปั้นศิลปินแถวหน้าของประเทศมากมาย และยังเป็นย่างก้าวสำคัญของการนำงานศิลปะเข้ามาผสมผสานในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับดนตรีอย่างจริงจัง

เปลี่ยนขนบเดิมๆ ของภาพปกอัลบั้ม จากที่เน้นการถ่ายภาพศิลปินเป็นหลักไปสู่การมองในมิติที่หลากหลายขึ้น แม้แต่กล่องใส่ซีดี ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นกล่องพลาสติกเสมอไป แต่ใช้ซองกระดาษ กระดาษแข็ง สก๊อตช์-ไบรต์ หรือถุงผ้าแทนได้

Bakery Music ค่ายเพลงเล็กที่พลิกโฉมวงการออกแบบไทยด้วยปก CD สก๊อตช์-ไบรต์ แว่นสามมิติ ฯลฯ

ไม่แปลกเลยว่าทำไมผลงานของ Bakery Music ในยุคนั้นจึงโดดเด่นออกมาจากแผง เป็นของน่าสะสม ถึงขั้นที่บางคนยกให้เป็นการปฏิวัติวงการ Music Graphic ของเมืองไทยเลยทีเดียว จนกลายเป็นต้นแบบให้นักออกแบบรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยอยากเดินตาม

ทอม-วรุตม์ ปันยารชุน อดีต Creative Director ของ Bakery Music กับ 2 สมาชิกร่วมทีม โปน-พอพล อินทรวิชัย Art Director และ เคลวิน หว่อง Designer

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงชักชวน ทอม-วรุตม์ ปันยารชุน อดีต Creative Director ของ Bakery Music กับสองสมาชิกร่วมทีม โปน-พอพล อินทรวิชัย Art Director และ เคลวิน หว่อง Designer มาร่วมพูดคุยเรื่องราวการทำงานตลอดเกือบ 10 ปีในค่ายขนมปังดนตรี และปัจจัยที่ทำให้ผลงานของพวกเขายังคงถูกพูดถึง และอยู่ในความทรงจำของผู้คนมายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ

01

The Best of My Worst

ย้อนกลับเมื่อปี 26 ปีก่อน วงร็อกเล็กๆ ที่ใครๆ เรียกว่า หมาทันสมัย ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่วงการดนตรีไทย จุดประกายกระแสอัลเทอร์เนทีฟ จนนำไปสู่การถือกำเนิดของศิลปินและค่ายเพลงเล็กๆ อีกร่วมร้อย โดยมี Bakery Music ต้นสังกัดของ Moderndog เป็นแกนนำ

แต่ที่มากไปกว่านั้น คือ Bakery Music ยังสร้างความแปลกใหม่แก่กราฟิกดีไซน์เมืองไทย เนื่องจากเป็นครั้งแรกๆ ที่มีการนำวิธีคิดนี้มาใช้สร้างสรรค์ปกอัลบั้มอย่างเป็นรูปธรรม ถึงขั้นตั้งแผนกขึ้นมารับผิดชอบจริงจัง 

เพราะที่ผ่านมางานกราฟิกมักจำกัดอยู่ตามกลุ่มเพลงใต้ดิน ซึ่งนิยมใช้กราฟิกโหดๆ โทนสีดำทึบๆ หรืองานของศิลปินบางคน อย่าง ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล ซึ่งใช้เทคนิคภาพตัดแปะ หรือ Baracudas อัลบั้ม วันอาทิตย์ เมื่อ พ.ศ. 2527 ซึ่งทำกราฟิกปกเป็นรูปก้างปลา

กระทั่ง เมื่อป๊อด โป้ง บ๊อบ เมธี มาทำอัลบั้มร่วมกันในนาม Moderndog จึงมีการดึงคนคุ้นเคยเข้ามาช่วยงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนของปกอัลบั้ม ป๊อด-ธนชัย อุชชิน นักร้องนำ ได้ชักชวนทอม รุ่นพี่สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นผู้ดูแล

เวลานั้นทอมกำลังเรียนกราฟิกดีไซน์อยู่ที่ต่างประเทศ และสนใจภาพคอลลาจ หรือการนำภาพต่างๆ มาแปะทับซ้อนกันไปมา เพื่อให้เกิดเรื่องราวใหม่ๆ โดยเขาเพิ่งทำผลงานใหม่ชื่อว่า The Best of My Worst และคิดว่าน่าจะเข้ากับ Moderndog ได้ จึงนำงานชิ้นนี้มาต่อยอดและพัฒนาจนเป็นปกอัลบั้ม 

“เราคิดว่าความโมเดิร์นไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งล้ำยุค หรือไม่เคยเห็นเสมอไป เอาสิ่งเก่ามาทำให้ล้ำยุคก็ได้ จึงตีโจทย์จากเพลง ซึ่งชุดแรกเป็นลักษณะการเปรียบเปรยเกี่ยวกับการหวนหาอดีต แบบ กะลา ทุเรียน หรือ บุษบา เราเลยคิดถึงการเอาโปสเตอร์หนังเก่ามาแปะทับซ้อนกัน ทำให้เกิดเรื่องใหม่ขึ้น

“แล้ว Moderndog เองไม่ใช่วงที่ขายหน้าตา แต่ถ้าอยากให้โชว์หน้า ก็โชว์หน้าผู้หญิงคนนี้ เป็นหน้าดาราโบราณ คือเราต้องการให้คนเกิดคำถามว่า เอ๊ะ! ทำไมเป็นรูปผู้หญิงคนนี้ คนนี้เป็นอะไรกับวง พอเกิดคำถามก็เกิดความสนใจขึ้น เพราะคำตอบมันไม่มี เราแค่สร้างคำถามให้คน พอเปิดดูข้างในก็มีรูปจากภาพยนตร์เรื่อง พิภพมัจจุราช บางคนก็สงสัยว่าเป็นสมาชิกของวงหรือเปล่า

“พูดได้เลยว่า นี่ไม่ใช่ปกที่สวย แต่เป็นปกที่แปลก อีกอย่างหนึ่งเรารู้จักป๊อดก่อนแล้ว พอรู้จักเขาอยู่แล้วก็ทำงานง่าย เพราะรู้ว่าวิธีคิดเขาเป็นยังไง เวลาทำงานให้กับใคร เราก็ต้องพยายามเข้าใจตัวตนของเขา เขาโตมาอย่างไรถึงได้ทำเพลงอย่างนี้ พอเราเข้าใจตรงนี้เราก็ทำสิ่งที่มันซัพพอร์ตเขา และต้องเข้าใจ Target Group หรือคนฟังด้วยว่ารับได้ประมาณไหน ไม่ใช่พยายามให้มันเดิร์นอย่างเดียว”

ทอมยังจำได้ดีว่า วันที่ยื่นผลงานให้ สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ โปรดิวเซอร์ของ Moderndog และผู้บริหารค่าย Bakery Music สุกี้ตอบรับอย่างง่ายดาย แล้วบอกว่า “แบบนี้มันต้องอาร์ตเลยนะ” ทอมก็เลยตอบไปว่า “ก็อาร์ตไปเลยสิ” ก่อนจะบินกลับไปเรียนต่อทันที

ภาพปกอัลบั้ม Moderndog ได้รับเสียงตอบรับจากแฟนเพลงสูงมาก เพราะเป็นปกที่ดูแปลก แหวกแนว และแตกต่างจากทุกปกบนแผงเทปในช่วงนั้น ซึ่งล้วนเป็นภาพพอร์เทรตของศิลปินเกือบทั้งสิ้น และส่งผลให้ปกอัลบั้มอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มอินดี้หันมาใช้ภาพกราฟิกมากขึ้น

จากความโดดเด่นของปกอัลบั้ม Moderndog ป๊อดจึงแนะนำทอมให้รู้จักกับ บอย-ชีวิน โกสิยพงษ์ ผู้บริหารอีกคนของ Bakery Music ซึ่งเวลานั้นกำลังมีแผนทำอัลบั้มแรกของตัวเองเช่นกัน ทอมจึงมาช่วยออกแบบปกซิงเกิล รักคุณเข้าแล้ว โดยใช้ภาพดอกแอปเปิ้ลเป็นตัวเดินเรื่อง

“พอเราทำปก Moderndog เสร็จก็กลัวว่าคนอื่นจะหาว่าเราไม่เก่ง เพราะปกนั้นไม่เน้นความสวยงาม ปกนี้ก็เลยทำสวยๆ แล้วกัน นั่นเป็นความคิดแรก และพอฟังเพลงพี่บอยปุ๊บ โอเค มันต้องสวย เพราะเพลงพี่บอยสวยไง สวยแล้วก็เกี่ยวกับจินตนาการ เกี่ยวกับเรื่องโพซิทีฟมากๆ เป็นเรื่องของความรักในอุดมคติ มองความรักเป็นเรื่องสูง สวยงาม ยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องโรแมนติก

รักคุณเข้าแล้ว เป็นเพลงแรกที่ออกมา เราก็คิดว่าเอ๊ะยังไงดี ถ้าเป็นช็อกโกแลต แรกๆ มันก็ใช่ แต่มันไม่ใช่ความรักเท่ากับความรักในเพลงของพี่บอย มันน่าจะเป็นภาพที่ดูเพ้อฝันก็เลยให้เป็นดอกไม้ แต่เป็นดอกแอปเปิ้ล แอปเปิ้ลที่อดัมกับอีฟกิน เพราะว่าพอกินไปเท่านั้นก็รักคุณเข้าแล้วไง แล้วในปกก็มีจะมีประโยค How long does it take to make the love? As long as it takes to make the world. เพราะกลัวคนไม่เข้าใจ เลยต้องใส่คำอธิบาย”

Bakery Music ค่ายเพลงเล็กที่พลิกโฉมวงการออกแบบไทยด้วยปก CD สก๊อตช์-ไบรต์ แว่นสามมิติ ฯลฯ

ไม่เพียงแค่นั้น ทอมยังแสดงฝีมือต่อในอัลบั้ม Rhythm & BOYd เป็นภาพคิวปิดที่ต้องการความรัก เพื่อสื่อว่ากามเทพเองก็มีช่วงค้นหาความรักของตัวเอง ทุกคนล้วนอยากมีความรัก ดังนั้น จะให้ความรักแก่ใคร เราควรรักตัวเองให้ดีก่อน ซึ่งภาพปกนี้ได้รับรางวัล BAD AWARD ประจำ พ.ศ. 2538

ด้วยลายเซ็นที่เป็นเอกลักษณ์ ผู้บริหารจึงชักชวนให้ทอมทำงานที่ Bakery Music เต็มตัว พร้อมตั้งแผนกครีเอทีฟขึ้นมา ดูแลตั้งแต่ปกอัลบั้ม กล่องใส่ซีดี โปสเตอร์ รวมถึงมิวสิกวิดีโอ และนั่นเองคือการเปิดศักราชใหม่ของการออกแบบผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับดนตรีในเมืองไทย

02

ทุกอย่างคือการทดลอง

ใน พ.ศ. 2538 หากพูดว่าสก๊อตช์-ไบรต์จะกลายร่างมาเป็นปกซีดี คงมีแต่คนหัวเราะแล้วบอกว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะกล่องใส่ซีดีแบบมาตรฐานที่ทุกคนรู้จักมีแต่พลาสติกแข็งๆ ที่เรียกว่า Jewel Case หรืออย่างมากก็เป็นซองกระดาษ

แต่ทีมสร้างสรรค์ของ Bakery Music ได้ลบล้างความคิดแบบเดิมๆ ผ่านอัลบั้มที่ชื่อ Zequence ผลงานชุดแรกของ สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ในสังกัด Bakery Music

“เดิมพี่สมเกียรติเขาเป็น Z-MYX มาก่อน แต่เมื่อมาทำอัลบั้มใหม่จึงอยากขจัดภาพเก่าออก พอพูดว่าขจัดก็ต้องสก๊อตช์-ไบรต์แล้ว คือเราไม่คิดว่าปกเทป ปกซีดี ต้องอยู่ในกล่องพลาสติกธรรมดาเท่านั้น แต่เป็นอะไรก็ได้ ตอนแรกเราก็ฝันว่าอยากได้สก๊อตช์-ไบรต์หลายสี สีแดง สีเหลือง สีส้ม แต่ปรากฏว่าเมืองไทยมีแต่สีเขียว เราก็โอเค เขียวก็เขียว

“แต่ด้วยความที่เราอาจไม่ถนัดเรื่องฟังก์ชันเท่าไหร่ คนที่ซื้อมาเลยบอกว่าดึงออกมาได้ แต่กล่องเจ๊งเลยนะ บางคนก็แกะไม่ถูก แน่นอนว่าอาจมีบางอย่างขาดตกบกพร่องไป แต่ไม่เป็นไร เพราะสิ่งที่เรานำเสนอคือ Story แล้วก็ Concept ซึ่งบางทีอาจไม่ Practical ไปบ้าง แต่คุณค่าที่แท้จริงมันอยู่ที่เพลง บางคนเลยซื้อสองแผ่นเลย เก็บอันหนึ่ง ฟังอีกอันหนึ่ง” ทอมเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

สำหรับพวกเขาแล้วงานออกแบบของ Bakery Music ไม่ต่างจากการเรียนรู้ที่ต้องลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ พวกเขานำเครื่องมือต่างๆ เข้ามาใช้สร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่อง ทั้งกระดาษไข ถุงผ้า โปสการ์ด รวมทั้งพยายามหาเทคนิคการพิมพ์แบบใหม่ๆ มาทดลองใช้ บางครั้งก็หยิบของใกล้ตัว แบบแว่นสามมิติมาต่อยอด จนกลายมาเป็นแพ็กเกจซีดีอัลบั้ม Mr. Z Return to Retro ผลงานซีรีส์ต่อมาของสมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์

ครั้งนั้นสมเกียรติตั้งใจจะนำซาวนด์ดนตรียุค 60 กลับมาทำให้ทันสมัยขึ้น ทีมงานจึงคิดว่าน่าจะนำแว่นสามมิติ ซึ่งเป็นของเล่นที่เคยเท่มากในอดีตมาทำเป็นกล่องใส่ซีดี เพราะนอกจากดูแปลกไม่เหมือนใครแล้ว แว่นตายังถือเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่คู่ตัวสมเกียรติมาตั้งแต่ต้น

Bakery Music ค่ายเพลงเล็กที่พลิกโฉมวงการออกแบบไทยด้วยปก CD สก๊อตช์-ไบรต์ แว่นสามมิติ ฯลฯ

“ความยากตอนนั้นคือ จะพับยังไงดี เราก็หารูปแบบการพับ ทำเป็นเลนส์ ซ้อนกันอย่างนี้ดีไหม ส่วนสีเราก็ใช้สี CMYK มาผสมสีสะท้อนแสงฟลูออเรสเซนต์ แล้วพิมพ์ออกมา สีมันก็จะดูประหลาดๆ” ทอมย้อนความหลัง

“มันจะดูเหมือนรูปเก่า แต่เป็นเทคนิคการพิมพ์แบบใหม่ เหมือนที่แกบอกว่า แนวเพลงเก่า แต่ซาวนด์ใหม่ เราก็พยายามทำล้อกันไป แน่นอนว่าต้องมีจุดผิดบ้าง เช่นกระดาษงอ เป็นลอน แต่ก็ถือเป็นการเรียนรู้ของเรา” โปนช่วยเสริม

“แต่ความสนุกคือ เราได้นำเสนอสิ่งที่เราชอบ แฟชั่นที่เราชอบ ดีไซน์ที่เราชอบ เพลงที่เราชอบ เทคนิคการพิมพ์ที่เราอยากลองที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งเราได้ทดลองทุกอย่างพร้อมกันเลย” หัวหน้าทีมกล่าวสรุป

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้ฉายภาพการก้าวข้ามกรอบเดิมๆ ของการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางดนตรีเท่านั้น แต่ยังสะท้อนพื้นฐานความคิดของดีไซเนอร์ใน Bakery Music ที่ไม่ได้มองว่างานออกแบบมีหน้าที่เพียงแค่ทำให้มีสินค้าวางจำหน่าย แต่ยังต้องช่วยอธิบายความคิดและความตั้งใจของศิลปินให้ชัดเจนขึ้นด้วย

Bakery Music ค่ายเพลงเล็กที่พลิกโฉมวงการออกแบบไทยด้วยปก CD สก๊อตช์-ไบรต์ แว่นสามมิติ ฯลฯ

ปัจจัยหลักที่ทำให้พวกเขามีรากฐานความคิดเช่นนี้ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะอิทธิพลจากโลกตะวันตก ซึ่งความให้สำคัญกับคอนเซปต์มากกว่าภาพปกที่สวยงามแต่เพียงอย่างเดียว พวกเขามักพูดคุยและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับ ไลฟ์สไตล์ หนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี เสมอ ซึ่งล้วนแต่เป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ใช้ต่อยอดในงานออกแบบได้ทั้งสิ้น

แต่อีกมุมก็ไม่ลืมนำเบื้องหลังความคิดของศิลปินในการสร้างงานแต่ละชิ้นผนวกลงไป ที่ผ่านมาศิลปินแต่ละคนมักจะมาถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเอง หรือเปิดเพลงให้ฟัง จากนั้นนักออกแบบก็มีหน้าที่นำคำพูดเหล่านั้นมาตกผลึก หรือวิเคราะห์เพิ่มเติมแล้วกลั่นกรองออกมาเป็นภาพ

“งานออกแบบใดๆ เราไม่ได้แต่งขึ้นเอง แต่เราพูดคุยกับศิลปินแล้วดูบุคลิก ดูวิธีคิด คือเราไม่ได้เอาตัวเองไปใส่เขา แต่ต้องเอามาจากเขา” โปนเปิดประเด็น

“บางทีศิลปินไม่ได้พูดออกมาตรงๆ เราก็ต้องช่วยสโคปลงมา หาสิ่งที่หล่อหลอมตัวเขาอยู่ข้างนอก หลายครั้งสิ่งที่คุยมาก็ไม่ใช่เรื่องเพลง อย่าง โป้ (ปิยะ ศาสตรวาหา) จะพูดแต่ว่าเสียงแบบนี้ดี ชอบอะไรที่แปลก ชื่อวงก็ไม่เหมือนใคร เขาไม่มีกฎเกณฑ์หรือกระบวนการท่า คือมันมากกว่าการเล่นดนตรีที่เป็นสูตร เมื่อศิลปิน Experimental แล้ว ปกจะไม่ Experimental ได้ยังไง” ทอมอธิบายเพิ่มเติม

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะปฏิเสธการให้ศิลปินขึ้นปก เพราะหากเข้ากับคอนเซปต์ก็ไม่มีปัญหา ตัวอย่างเช่น อัลบั้มของ Rik, Pause หรือแม้แต่ศิลปินในสังกัด DOJO CITY 

Bakery Music ค่ายเพลงเล็กที่พลิกโฉมวงการออกแบบไทยด้วยปก CD สก๊อตช์-ไบรต์ แว่นสามมิติ ฯลฯ

“DOJO เป็นอีกวิธีคิดหนึ่งคือ จากที่เป็น Art กันเต็มที่ เราเปลี่ยนเป็น Color Pop มีสีสัน ใช้สีชมพูก็ได้ ซึ่งก็เป็นอะไรที่ท้าทายมาก เพราะเราต้องทำให้มันน่ารักแบบมีรสนิยม จำได้ว่า Niece เราทำออกมาเป็นเด็กสาวข้างบ้าน ส่วน TK เป็นสาวเปรี้ยว มั่นใจ ภาพเลยเป็นเหมือนโบ-จอยซ์ มองลงไปให้ความรู้สึกว่าสัมผัสฉันไม่ได้หรอก” 

แต่งานทั้งหมดจะเดินหน้าไม่ได้เลย หากปราศจากการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้บริหาร รวมถึงศิลปินแต่ละคน

พวกเขาย้ำเสมอว่า Bakery Music ไม่เคยมีบรีฟ หรือบอกว่าต้องทำอะไร ปล่อยให้ทีมงานทำงานอย่างอิสระ เพราะทุกคนทำงานด้วยความเชื่อ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน 

“เราทำงานซัพพอร์ตกัน งานออกแบบจะเวิร์กก็ต่อเมื่อเพลงมันดี ซึ่งข้อดีคือ Bakery สกรีนมาแล้วจุดหนึ่ง ทุกอย่างก็เลยไปด้วยกัน ที่สำคัญคือ เรื่องภาพ เขาปล่อย ไม่ยุ่งเลย ทั้งที่ตัวเองก็เห็นอะไรมาเต็มไปหมด แต่เขาเชื่อว่าสิ่งที่เราเลือกมาทำปกว่า คือ Culture หรือ Fashion ไม่ใช่แค่ Art เพียงอย่างเดียว แต่เป็นศิลปะที่ถูกเลือกแล้วว่าเหมาะสมกับผลงานนั้นจริงๆ” Creative Director อธิบาย

ไม่เพียงแค่ปล่อยให้สร้างสรรค์ภาพปกหรือโปสเตอร์ที่แตกต่างเท่านั้น ผู้บริหารยังยอมให้ทีมออกแบบผลิตแพ็กเกจพิเศษที่เรียกว่า Limited Edition จำนวน 500 – 1,000 แผ่นแรกออกมาวางจำหน่ายก่อนด้วย ทำให้พวกเขาใส่ไอเดียและความตั้งใจแรกที่อยากนำเสนอออกมาได้เต็มที่ โดยไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ 

Limited Edition นอกจากจะเป็นการปล่อยของทีมงานแล้ว ยังถือเป็นของขวัญที่มอบให้แก่นักสะสมหรือผู้ฟังเพลงที่ซื้อลำดับต้นๆ ด้วย แพ็กเกจจึงค่อนข้างพิเศษ มีกลไกและลูกเล่นใหม่ๆ มานำเสนอ เช่น อัลบั้ม Mr.Z Return to Retro ซึ่งทำเป็นแว่นตาสามมิติ หรืออัลบั้ม YKPB ของ Yokee Playboy ที่มีของแถมเป็นสำรับไพ่

Bakery Music ค่ายเพลงเล็กที่พลิกโฉมวงการออกแบบไทยด้วยปก CD สก๊อตช์-ไบรต์ แว่นสามมิติ ฯลฯ
Bakery Music ค่ายเพลงเล็กที่พลิกโฉมวงการออกแบบไทยด้วยปก CD สก๊อตช์-ไบรต์ แว่นสามมิติ ฯลฯ

“เราอยากทำ อยากเอาความคิดแรกของเรามานำเสนอ ซึ่งผู้บริหารเขาก็เปิดไง พอเสนอมาแล้วไอเดียน่าสนใจ เขาก็เลยให้ทำออกมา แต่มันพิมพ์เยอะไม่ได้ เพราะมันแพง” ทอมกล่าว

“แต่เราพยายามควบคุมต้นทุนตลอด เช่นอยากพิมพ์เต็มที่หกเจ็ดสี เราก็จะถามโรงพิมพ์ว่ามีกระดาษอะไรถูกๆ บ้าง บางทีเป็นกระดาษอาร์ตการ์ดธรรมดา แต่มากลับด้าน เอาฝั่งด้านออกมา แล้วพิมพ์หกสี หรืออย่างอัลบั้ม Mr.Z ที่ทุกคนรู้สึกว่าพิมพ์แพง แต่เราพิมพ์สี่สีธรรมดา โรงพิมพ์ไม่ต้องทำอะไร แค่ใส่ฟลูออเรสเซนต์เท่านั้น จากนั้นก็จะมีแพ็กเกจอีกเวอร์ชันให้ฝ่ายการตลาด เพื่อให้งบประมาณลงตัว” เคลวินเสริมเพิ่มเติม

ด้วยความพิเศษ แตกต่าง ไม่เหมือนใคร ทำให้งานออกแบบของ Bakery Music โดดเด่นและเป็นที่จดจำของผู้คนไม่แพ้เพลงเลย และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผลงานเหล่านี้ยังคงถูกพูดถึง และกลายเป็นของสะสมที่หลายคนปรารถนาอยากหามาครอบครองถึงทุกวันนี้

03

เครดิตเป็นของทุกคน

“การทำงานของ Bakery Music สมัยนั้นเหมือนบริษัท Google ทุกวันนี้เลย คือเหมือนมาเล่นสนุก ไม่ได้มาทำงาน เราไม่จำเป็นต้องมานั่งอยู่แต่ที่ออฟฟิศ ถ้าคิดไม่ออกก็ลงมานั่งข้างล่าง นั่ง Center Point ดูเด็กๆ ออกไปซื้อนาฬิกา รองเท้า เอามาโชว์กัน แล้วก็ดีไซน์ต่อ” หัวหน้าทีมสร้างสรรค์ เล่าสไตล์การทำงานในเวลานั้น

หากแต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้มากกว่า คือทุกคนต่างมีเคมีที่ตรงกัน พูดคุยภาษาเดียวกัน เพราะสำหรับพวกเขาไม่มีคำว่าเจ้านายลูกน้อง แต่ทุกคนเป็นเพื่อนพี่น้องที่พร้อมแบ่งปันไอเดีย เติมเต็มความคิดและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

เพราะฉะนั้น การออกแบบอัลบั้มแต่ละชุด แม้จะมีเครดิตผู้รับผิดชอบชัดเจน แต่ความจริงแล้ว ทุกปก ทุกแพ็กเกจ ทุกโปสเตอร์ ที่เกิดขึ้นล้วนมาจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งครีเอทีฟ กราฟิกดีไซเนอร์ ก๊อปปี้ไรเตอร์ ช่างภาพ ฯลฯ กระทั่งได้ผลงานที่ทุกคนพึงพอใจที่สุด

Bakery Music ค่ายเพลงเล็กที่พลิกโฉมวงการออกแบบไทยด้วยปก CD สก๊อตช์-ไบรต์ แว่นสามมิติ ฯลฯ

“เราทำงานกันแบบ Round Table สมมติผมทำของ Mr.Z ผมก็จะทำๆ ไป สักพักพี่ทอมก็จะมาบอกว่าแบบนี้ดีกว่า แล้วโปนก็เข้ามาช่วยเติม หรือสมมติโปนบอกคิดงานไม่ออก เบื่อ เราสลับคอมกันเลย โปนก็ไปทำของผม ผมก็ไปทำของโปน คือต้องเข้าใจก่อนว่า การทำงานของพวกเรา ไม่ใช่พอบอกให้ออกแบบ ก็ไปคิดอาร์ตเวิร์กมา แต่ขึ้นอยู่ว่าช่วงนั้นเรากำลังชอบอะไร อินอะไร ฟังอะไรมา จากนั้นคนในทีมก็มาเสริมกัน ทำให้งานมันดีขึ้น” เคลวินฉายภาพ

ที่สำคัญคือ ไอเดียหรือความตั้งใจใดๆ ที่เคยวางไว้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตามความเหมาะสม

โปนยังจำได้ดีว่า ช่วงที่ทำปก P.O.P เขาต้องขับรถไปถึงรังสิต เพื่อไปคุมการถ่ายภาพปก แต่ปรากฏว่า พอถึงเวลาทำงานจริงกลับใช้แค่ภาพเล็กๆ เท่านั้น บางครั้งก็ต้องรื้อใหม่หมด เพราะมีการเปลี่ยนชื่ออัลบั้ม เปลี่ยนคอนเซปต์ใหม่ 

หลายคนอาจคิดว่า ความยืดหยุ่นทำให้ฝ่ายสร้างสรรค์ของ Bakery Music ทำงานได้แบบสบายๆ แต่ทั้งสามยืนยันว่า ทุกคนต่างทำงานด้วยความละเอียด ใส่ใจทุกขั้นตอนการผลิต วัดขนาดปกเพื่อไม่ให้พลาดแม้แต่มิลลิเมตรเดียว บ่อยครั้งต้องไปรอหน้าแท่นพิมพ์ เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อย ทั้งปกหรือสกรีนแผ่น แม้แต่ตำแหน่งสำหรับติดสติกเกอร์

Bakery Music ค่ายเพลงเล็กที่พลิกโฉมวงการออกแบบไทยด้วยปก CD สก๊อตช์-ไบรต์ แว่นสามมิติ ฯลฯ

“เราจะแม่นเรื่องดีเทลกันมาก กว่าจะเคาะได้หรือวางตรงนี้ ย้ายไปย้ายมา ทำไมบาร์โคดต้องอยู่ตรงนี้ ทำไมโลโก้ไม่อยู่ข้างบน ทุกอย่างมีความหมายหมดเลย ถ้าอัลบั้มทำเสร็จแล้วเราปล่อย เกิดเราไม่แฮปปี้ 100 – 200 เปอร์เซ็นต์ เรากลับมาแก้ไขไม่ได้ เพราะฉะนั้น พอเราทำเสร็จเราต้องรีเช็กรอบหนึ่งเสมอ ปล่อยไว้สักครึ่งวัน ทำอย่างอื่นแล้วกลับมาดู เออ.. Everything Perfect แล้ว พอ!” เคลวินอธิบาย

หลักคิดอย่างหนึ่งคือ พวกเขาไม่ได้ทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายเพื่อทำให้อัลบั้มแต่ละชุดโดดเด่นที่สุด เมื่อไปวางอยู่บนชั้น แน่นอนบางครั้งอาจมีปัญหากับบางฝ่าย ซึ่งไม่เข้าใจแนวคิด ที่มาที่ไปของงานดีไซน์ แต่ด้วยความตั้งใจเดียวกัน ทำให้ทุกอย่างลุล่วงไปด้วยดี

“เราไม่ได้ทำเพื่อโชว์ออฟเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงฟังก์ชันการใช้งานด้วย สมมติเราทำโปสเตอร์ใหญ่ เราก็จะไปช่วยเขาติดด้วย เพื่อให้เห็นว่า ติดแล้วอิมแพกต์ยังไง หรืออย่างโปสเตอร์ Mr.Z มี 6 แบบ เราบอกเขาให้ติดต่อกันเลย เหมือน Andy Warhol เหลือง เขียว แดง ไล่ไปเลย ไม่ต้องมีอะไร แค่รูปอย่างเดียวให้รู้ว่า Mr.Z comes back” เคลวินกล่าวต่อ

“สิ่งที่ผมประทับใจสุด ไม่ใช่ปกอัลบั้ม แต่คือความเป็น Full Team เหมือนทุกคนลงมาเพื่อทำงานนี้กัน อย่างเมื่อก่อนเราอยากให้งานออกมาแบบนี้ แต่หาตัวอย่างไม่ได้ ทุกคนก็ต้องช่วยกันหา ช่วยกันรื้อหนังสือ เปิดดูตามคลังของตัวเอง ซึ่งไม่เหมือนสมัยนี้ ที่แค่เสิร์จก็ขึ้นแล้ว เป็นบรรยากาศที่หาไม่ได้อีกแล้ว” โปนสรุป

04

เมล็ดพันธุ์กราฟิก

Bakery Music ค่ายเพลงเล็กที่พลิกโฉมวงการออกแบบไทยด้วยปก CD สก๊อตช์-ไบรต์ แว่นสามมิติ ฯลฯ

หลังสิ้นสุดตำนาน Bakery Music เมื่อ พ.ศ. 2547 วรุตม์และพรรคพวกต่างแยกย้ายไปตามทางของตัวเอง บางคนเปิดบริษัท บางคนย้ายไปอยู่ในสังกัดใหญ่ บางคนเปลี่ยนสายไปทำอย่างอื่น แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ วงการกราฟิกดีไซน์ที่เกี่ยวข้องกับดนตรีในบ้านเรากลับเฟื่องฟูสุดขีด

ค่ายเพลงทั้งเล็กใหญ่ต่างหันมาพิถีพิถันกับแพ็กเกจเทปและซีดี หาลูกเล่นใหม่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของคนฟังเพลง รวมทั้งยังมีการมอบรางวัลการออกแบบปกอัลบั้มแก่ดีไซเนอร์ ทั้ง Hamburger Award หรือ Fat Award นอกจากนี้ ยังมีการนำงานออกแบบไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์อื่น 

สำหรับทอมแล้วถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่สุด เพราะเท่ากับเพิ่มโอกาสให้คนไทยได้สัมผัสกับงานดีไซน์ใหม่ๆ ที่หลากหลายและน่าสนใจมากขึ้น

แต่ในมุมคนนอก นี่คือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของทีมสร้างสรรค์จาก Bakery Music เพราะสิ่งที่พวกเขาทำมาตลอด อย่างการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ของงานออกแบบให้เข้าไปอยู่ในใจของผู้คน ได้ปรากฏผลเรียบร้อย

สำหรับใครหลายคนแล้ว แผนกเล็กๆ แห่งนี้เป็นเสมือนโรงเรียนที่ผลิตนักออกแบบมือดีมาขับเคลื่อนวงการหลายคน บางคนต่อให้ไม่เคยทำงานที่นี่ แต่ก็ใช้งานของ Bakery Music เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจสร้างสรรค์งานของตัวเอง

ในฐานะของนักเรียนในสังกัด โปนบอกว่า แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่เขากลับได้เรียนรู้อะไรมากมาย

“ทีมเราไม่ได้คนเยอะมาก คนหนึ่งจึงต้องทำหลายหน้าที่มาก บางทีผมก็มาดีไซน์ บางทีผมก็ต้องไปคุมถ่ายรูป คุมตัดเอ็มวี ทุกคนทำหลายอย่าง มันก็เลยเหมือนเป็นหลักสูตรเร่งรัด ผมเรียนรู้ได้เร็ว แม้จะสั้นแต่เข้มข้น ทั้งสไตล์ หรือเทคนิคการพิมพ์ สำหรับผมทุกคนเป็นครูหมด เรื่องอะไรที่เราไม่รู้ เราก็แชร์กัน วิธีคิด ความละเอียด การทุ่มเทกับงาน ทุกอย่างหล่อหลอมเรา ถึงจะออกมาแล้ว แต่สิ่งนี้ก็ยังตามไปด้วย”

แม้วันนี้ความสำคัญของกราฟิกในงานดนตรีอาจไม่เท่าเดิม เพราะผู้คนหันไปฟังเพลงผ่านระบบสตรีมมิ่ง ค่ายเพลงผลิตแผ่นออกมาน้อยลงเรื่อยๆ ตามความนิยมของยุคสมัย แพ็กเกจที่จับต้องได้ไม่จำเป็นอีกแล้ว

แต่สำหรับคนที่เกิดทันยุคที่ต้องใจจดใจจ่อ รอซื้อเทปซีดีที่หน้าร้าน แล้วนำกลับมาบ้าน เปิดกล่อง หยิบแผ่นซีดีใส่เข้าไปในเครื่อง พร้อมกับพลิกอ่านเนื้อเพลงและข้อความ ชื่นชมความสวยงามสร้างสรรค์ของปกซีดีไปด้วยขณะฟังเพลง …ย่อมไม่มีใครลืมช่วงเวลาแห่งความสุขตอนนั้นได้อย่างแน่นอน

และนี่คือเรื่องราวของทีมสร้างสรรค์ในตำนาน หนึ่งในผู้พลิกโฉมวงการออกแบบของเมืองไทย

Bakery Music ค่ายเพลงเล็กที่พลิกโฉมวงการออกแบบไทยด้วยปก CD สก๊อตช์-ไบรต์ แว่นสามมิติ ฯลฯ

ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง

  • สัมภาษณ์คุณวรุตม์ ปันยารชุน, คุณพอพล อินทรวิชัย และคุณเคลวิน หว่อง วันที่ 22 กรกฎาคม 2563
  • นิตยสาร 375 °F BAKERY MUSIC MAGAZINE เดือนมกราคม-ตุลาคม 2547
  • Podcast รายการดีไซน์ไป บ่นไป ตอนที่ 15 วรุตม์ ปันยารชุน และ Bakery Graphic Team
  • วิทยานิพนธ์ การสื่อสารผ่านปกซีดีเพลงอินดี้ โดย ปิยะรัตน์ เนตรไสว คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Writer & Photographer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว