The Cloud x สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

วันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติจีน เป็นที่รู้จักกันในฐานะ ‘เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง’

ทุกครั้งที่วันนี้ของปีเวียนมาบรรจบ ชาวไทยเชื้อสายจีนมากมายต่างตื่นเต้นที่จะได้ลิ้มรสอาหารประจำเทศกาลนี้ เช่นเดียวกับผู้เขียน สมชัย กวางทองพานิชย์ ผู้ใช้เวลาตลอด 6 ทศวรรษของชีวิตอยู่ในชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลที่กว้างใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ความสุขในเทศกาลไหว้บ๊ะจ่างของลูกจีนย่านสำเพ็งคนนี้ เริ่มตั้งแต่การนับถอยหลังเข้าสู่เดือน 5 ของจีน เฝ้าดูคุณแม่เลือกซื้อใบไผ่จากตลาด นำใบไผ่กลับบ้านมาแช่น้ำ ตระเตรียมเครื่องบ๊ะจ่างอย่างเนื้อหมู ข้าวเหนียว และไข่เค็ม เพื่อนำมาห่อใบไผ่ขนาดใหญ่ ส่งลงหม้อต้ม นำไปไหว้เจ้าและเซ่นบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ แล้วจึงเป็นเวลารับประทานบ๊ะจ่างอย่างเอร็ดอร่อยให้สมกับที่รอคอยมานานกว่า 3 – 4 วัน

พูดชื่อ ‘บ๊ะจ่าง’ อาจฟังดูเหมือนเป็นอาหารเฉพาะกลุ่มของชนชาติจีน แต่ถ้าเรานิยามว่า ‘บ๊ะจ่างคือข้าวเหนียวที่ถูกห่อด้วยใบพืชธรรมชาติที่มีในท้องถิ่น’ เราจะพบว่าอาหารลักษณะนี้เป็นวัฒนธรรมร่วมของทั้งจีนและอาเซียน ในเมียนมาก็มีของกินลักษณะนี้ ในไทยเองก็มีหลายชนิด เช่น ข้าวเหนียวปิ้ง ข้าวต้มน้ำวุ้น หรือข้าวต้มลูกโยน ในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ก็มีขนมจำพวกซูมัน (Suman)

บ๊ะจ่างในวัฒนธรรมจีนเต็มไปด้วยความหลากหลาย ในสมัยโบราณเคยใช้กระบอกไม้ไผ่ใส่ข้าวเหนียวคล้ายกับข้าวหลามของไทย ก่อนจะแตกแขนงออกเป็นข้าวห่อใบไผ่ที่มีวิธีการห่อแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ที่พอมีให้เห็นในละแวกเยาวราช ได้แก่ บ๊ะจ่างแต้จิ๋วที่ห่อเป็นทรงกรวย บ๊ะจ่างกวางตุ้งที่ห่อเป็นแท่งยาว และบ๊ะจ่างไหหลำที่มีสัณฐานแบนใช้เชือกผูกโดยรอบ

ถึงแม้ว่าในไทยเราจะเรียกเทศกาลนี้ว่า ‘เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง’ แต่วันที่ 5 เดือน 5 ยังได้ชื่อว่าเป็น ‘วันร้าย’ ในความรู้สึกของชาวจีน เพราะอยู่ในช่วงฤดูร้อน สัตว์มีพิษกรูกันออกมาจากดิน ผู้คนโดยเฉพาะเด็ก ๆ ล้มป่วยด้วยโรคภัยได้ง่าย เลยมีธรรมเนียมให้นำใบไม้ที่มีสรรพคุณไล่โรคและแมลงมีพิษ อย่างใบเชียงโพ่ว (โกฐจุฬาลัมพา) และใบเหี่ยเช่า (ใบอ้าย) มาแขวนหน้าบ้านไว้เป็นเคล็ด

ภาพถ่ายชุดนี้ประมวลขึ้นจากการตระเวนถ่ายภาพทั่วเยาวราชช่วงไหว้บ๊ะจ่างเป็นประจำทุกปี รวมเป็นเวลากว่า 18 ปี ประกอบไปด้วยภาพใบไผ่แห้งที่ใช้สำหรับทำบ๊ะจ่าง วัตถุดิบ บรรยากาศการผูกบ๊ะจ่าง รูปแบบบ๊ะจ่างของชาวจีน 3 กลุ่มสำเนียง ใบไม้ไล่โรค รวมไปถึงธรรมเนียมการตากเสื้อผ้าที่จะใช้สวมใส่ในวันตาย (เซียงอี) ซึ่งลูกหลานพันธุ์มังกรหลายคนอาจไม่เคยรู้ว่ามีธรรมเนียมนี้ในวันที่ 5 เดือน 5 ด้วย

วารีไม่คอยท่า เวลาไม่คอยใคร ขนบประเพณีหลายอย่างอาจเสื่อมสิ้นไปตามกาลสมัย 

ภาพชุดนี้จะทำหน้าที่เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ ที่ชี้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นสีสันและความคึกคักของเทศกาลไหว้บ๊ะจ่างที่เฟื่องฟูในสังคมไทยเชื้อสายจีน

The Cloud Golden Week คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ทีมงานก้อนเมฆขอประกาศลาพักร้อน 1 สัปดาห์ เนื่องในโอกาสฉลอง The Cloud ครบ 5 ปี เราเลยเปิดรับวัยอิสระ อายุ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ เข้ามาประจำการแทนใน The Cloud Golden Week ขอเรียกว่าเป็นการรวมพลังวัยอิสระมา ‘เล่าเรื่อง’ ในฉบับของตนเองผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆ เพราะเราเชื่อว่า ‘ประสบการณ์’ ของวัยอิสระคือเรื่องราวอันมีค่า เราเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงตัวเลข ไม่ใช่ข้อจำกัดของการเรียนรู้

แคมเปญนี้เราร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้วัยอิสระกล้ากระโจนเข้าหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ออกมาพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน พร้อมแบ่งปันเรื่องราวอันเปี่ยมด้วยคุณค่า เพื่อเติมฟืนไฟให้กาย-ใจสดใสร่าเริง

นี่เป็นครั้งแรกที่ทีมงาน The Cloud มีสมาชิกอายุรวมกันมากกว่า 1,300 ปี!

Writers

Avatar

สมชัย กวางทองพานิชย์

เป็นคนหลงใหลบ้านและชุมชนของตัวเอง

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

สมชัย กวางทองพานิชย์

เป็นคนหลงใหลบ้านและชุมชนของตัวเอง