บากะ บากะ บากะนก!

เสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็กๆ ดังมาแต่ไกล เป็นสัญญาณว่าเราน่าจะมาถูกที่แล้ว เมื่อเดินตามหาต้นตอของเสียงก็ถึงที่หมาย เราพบห้องโถงเล็กๆ เต็มไปด้วยข้าวของน่ารัก ประตูเปิดกว้าง มีเคาน์เตอร์ไม้เตี้ยๆ กั้นบอกอาณาเขต เดาว่าตรงนี้คงเคยเป็นหน้าต่างบานใหญ่มาก่อน แต่แทนที่จะเป็นกระจกใสกลับโล่งโปร่ง เผยให้เห็นหนังสือเด็กปกฉูดฉาดวางเรียงรายอยู่บนชั้น บ่งบอกว่านี่คือร้านหนังสือ

ในเมืองที่มีร้านหนังสืออิสระเพียงไม่กี่ร้าน ที่นี่เป็นหนึ่งในนั้น และเป็นร้านหนังสือเด็กแห่งเดียวของเชียงใหม่ในขณะนี้

Baka-Nok แม่ทำห้องสมุดให้ลูกสาวจนกลายเป็นร้านหนังสือเด็กหนึ่งเดียวของเชียงใหม่

หากเอ่ยชื่อ ‘บากะนก’ (Baka-Nok) คงไม่มีใครคิดว่านี่คือชื่อร้านหนังสือ เมื่อถาม อิ๋ว-ปุณย์ศิริ สกุลวิโรจน์ แวร์ญ คุณแม่ลูกหนึ่งผู้เป็นเจ้าของร้าน เธอเล่าว่านี่เป็นวลีน่ารักๆ จาก อเดล ลูกสาววัย 3 ขวบของเธอ

“ในภาษาอังกฤษ ไก่ร้อง ดุ๊กดูดู้ว 

ในฝรั่งเศสไก่ร้อง โกโกรีโก 

ในไทยไก่ร้อง เอ้กอีเอ้ก”

อิ๋วเลียนเสียงไก่จากหนังสือเด็กต่างภาษาที่เธอเคยอ่านให้ลูกฟัง 

แน่นอน อเดลยังคงสับสนว่าไก่ร้องอย่างไรกันแน่

Baka-Nok แม่ทำห้องสมุดให้ลูกสาวจนกลายเป็นร้านหนังสือเด็กหนึ่งเดียวของเชียงใหม่
Baka-Nok แม่ทำห้องสมุดให้ลูกสาวจนกลายเป็นร้านหนังสือเด็กหนึ่งเดียวของเชียงใหม่

“หนึ่งในหนังสือที่ต้องอ่านให้เด็กๆ ฟังคือหนังสือเกี่ยวกับสัตว์ ลูกเรางงเสียงสัตว์มาก เพราะเสียงร้องของสัตว์ในฝรั่งเศส อังกฤษ และไทย ต่างกัน เราเลยสอนโดยเลียนแบบเสียงธรรมชาติไปเลย แล้วให้เขาไปหาเองว่าร้องยังไง” 

อิ๋วบอกกับเรา ก่อนจะเลียนเสียงหมู เสียงไก่ ในแบบที่เคยทำให้ลูกฟังอย่างอารมณ์ดี

“เวลาเราเล่นขี่ม้ากับลูก เราใช้เสียงม้าวิ่งว่ากุบกับ ส่วนพ่อเขาใช้อุตะกะ เขาพูดไม่ได้ทั้งคู่ สุดท้ายถ้าเขาอยากขี่หลังเรา เขาจะใช้คำว่าบากะ บากะ ครั้งหนึ่งตอนที่เราไปแม่ริม เขาเห็นม้ากำลังกินหญ้าอยู่แล้วนกมาเกาะ เขาพูดว่าบากะนก เขาชอบพูดคำนี้ เป็นคำที่ไม่ได้มีความหมายอะไรมาก แต่เรารู้สึกว่าตลกดี”

นี่คือที่มาของชื่อบากะนก ที่ต่อไปผู้คนจะจดจำในฐานะของร้านหนังสือเด็ก

Baka-Nok แม่ทำห้องสมุดให้ลูกสาวจนกลายเป็นร้านหนังสือเด็กหนึ่งเดียวของเชียงใหม่

ก่อนจะมาเป็นบากะนก อิ๋วบอกกับเราว่าห้องเล็กๆ ตรงมุมอาคารแห่งนี้เคยเป็นร้านของเพื่อน เธอไม่เคยคิดจะเปิดร้านหนังสือมาก่อน จนกระทั่งเพื่อนย้ายออกไปและทำให้ที่นี่ว่างอยู่สักพัก อิ๋วจึงคิดว่าน่าจะเริ่มทำอะไรสักอย่างดู

เธอมองเห็นว่าเวิ้งเหล็กแดงที่ตั้งเลียบถนนท่าแพมีร้านพาสต้า บาร์ สตูดิโอ แกลเลอรี่ แต่ยังไม่มีที่ของเด็ก ความตั้งใจแรกคือการเปลี่ยนที่นี่ให้เป็นพื้นที่สำหรับครอบครัวและอเดลก็ใช้ที่นี่เป็นห้องสมุดไว้พบปะเพื่อนๆ หลังเลิกเรียน

“เราเปลี่ยนให้เป็นร้านหนังสือและเปิดเป็นพื้นที่ให้คนได้เข้ามา อเดลเป็นลูกคนเดียว เขาจะได้แบ่งสิ่งที่เขามีให้กับคนอื่นๆ ด้วย เขาจะได้โตกับคนที่นี่ พื้นที่ตรงนี้เปิดให้เขาได้เจอคนใหม่ๆ เจอสังคมที่มีคนหลากหลาย อีกอย่างในเชียงใหม่ยังไม่ค่อยมีที่ของเด็ก เราอยากให้เด็กๆ ได้มาวิ่งเล่น มาซื้อ มาอ่านหนังสือ ในวันเสาร์-อาทิตย์”

“เราค้นพบความสงบจากหนังสือ” 

Baka-Nok แม่ทำห้องสมุดให้ลูกสาวจนกลายเป็นร้านหนังสือเด็กหนึ่งเดียวของเชียงใหม่

อิ๋วเปรียบบากะนกเป็นต้นไม้เล็กๆ เป็นงานอดิเรกที่ใช้รายได้จากงานประจำมารดน้ำ พรวนดินให้เติบโตต่อไปได้ 

ก่อนหน้านี้อิ๋วทำแบรนด์เสื้อผ้าและงานคราฟต์ของตัวเอง เห็นได้ว่ามีเสื้อผ้าเด็ก กระเป๋า และของกระจุกกระจิก ที่เป็นงานของอิ๋ววางอยู่ตามมุมต่างๆ ของร้าน ปัจจุบันเธอเป็นผู้ช่วยเมเนเจอร์โปรดักชันการผลิตผ้าให้กับแบรนด์หนึ่งในเชียงใหม่ และเปิดร้านหนังสือเด็กแห่งนี้ควบคู่ไปด้วย ส่วน อาเธอร์ แวร์ญ สามีชาวฝรั่งเศสเป็นสถาปนิกประจำอยู่ที่สตูดิโอพันธุ์ทาง ซึ่งตั้งอยู่บนชั้นสองของร้านหนังสือ ทั้งสองคนหลงใหลหนังสือมาตั้งแต่เด็ก

Baka-Nok แม่ทำห้องสมุดให้ลูกสาวจนกลายเป็นร้านหนังสือเด็กหนึ่งเดียวของเชียงใหม่

“เราค้นพบความสงบจากหนังสือ ต่อให้โลกก้าวไปข้างหน้า วาร์ปได้ หรือเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าแสง สุดท้ายเราก็คือมนุษย์ ยังมีเซนส์ของการเปิด การสัมผัส ได้ดมกลิ่นของกระดาษเก่าๆ”

อิ๋วเล่าความประทับใจที่มีต่อหนังสือให้เราฟัง ก่อนที่จะเอื้อมมือไปยกถุงใบใหญ่ข้างตัว ซึ่งด้านในจุด้วยหนังสือเล่มโปรด เดาว่าเธอคงอ่านมันทั้งหมดแล้ว แต่ก็ยังค่อยๆ เปิด ชวนเราพินิจแต่ละหน้าอย่างใจเย็น

Baka-Nok แม่ทำห้องสมุดให้ลูกสาวจนกลายเป็นร้านหนังสือเด็กหนึ่งเดียวของเชียงใหม่

ขณะที่เรากำลังคุยกัน ในมือของอิ๋วถือหนังสือปกสีชมพูเล่มเก่า เรื่อง ‘โมโมจัง’ วรรณกรรมเด็กจากปลายปากกาของ มัตสุทานิ มิโยโกะ (Matsutani Miyoko) เธอเล่าว่านี่คือหนังสือเล่มโปรดในวัยเด็ก

“ตอนเด็กเราชอบเล่มนี้ มันเป็นวรรณกรรมที่เราอ่านตอนแปดขวบ ตอนนี้เราเริ่มอ่านให้ลูกฟังก่อนนอน เราอยากถ่ายทอดให้ลูก สามีเราก็เหมือนกัน เขาสะสมหนังสือเรื่อง Treasure Island เพราะพ่อของเขาซื้อและอ่านให้ฟังเป็นเล่มแรกๆ บางเล่มเป็นเรื่องที่คุณปู่อ่านให้พ่อเขาฟัง แล้วพ่อก็อ่านให้เขาฟัง เขาเองก็อยากอ่านให้ลูกฟัง เราทำต่อๆ กันมา ไม่มีต้นทุนอะไรมาก แค่ตั้งใจเลือกหนังสือและให้เวลา นี่เลยกลายเป็นแพสชันเล็กๆ ที่ทำให้เรามีหนังสือไว้ที่บ้าน”

Baka-Nok แม่ทำห้องสมุดให้ลูกสาวจนกลายเป็นร้านหนังสือเด็กหนึ่งเดียวของเชียงใหม่
Baka-Nok แม่ทำห้องสมุดให้ลูกสาวจนกลายเป็นร้านหนังสือเด็กหนึ่งเดียวของเชียงใหม่

ผู้เป็นแม่คนนี้เผยว่าอุ่นใจหากลูกสาวได้เติบโตในห้องสมุด 

“เราว่าหนังสือมันเหมือนเพื่อน คนทุกคนมีเพื่อน มีคนรอบตัว แต่มันก็ต้องมีวันที่ไม่มีใคร หนังสือเป็นโลกที่ทำให้คุณมีประสบการณ์และได้เรียนรู้โดยที่ไม่ต้องวิ่งออกไปข้างนอก มันทำให้เราอยู่กับตัวเองได้ ถ้าลูกอ่านหนังสือออก เราก็อุ่นใจแล้ว” เธอเล่า

ห้องสมุดของอเดล

อิ๋วเริ่มจากการหอบหนังสือของอเดลจากที่บ้านมาไว้ที่นี่เพื่อเปิดเป็นร้านหนังสือมือสอง และค่อยๆ เลือกหนังสือเล่มใหม่ที่น่าสนใจมาวางขายในร้าน 

“เด็กๆ ยังไม่รู้วิธีการรักษาหนังสือ เขาจะเปิดแรง การหนังสือมือสองอยู่ในสองชั้นแรกให้เขาเอื้อมถึง ทำให้เราไม่ต้องห่วง มันมีมุมใหญ่ๆ ที่ให้เขาได้เลือกหนังสือเองได้อย่างเต็มที่ จะซื้อก็ได้ ไม่ซื้อก็ได้ เอาไปอ่านตรงนู้น ตรงนี้ ก็ได้

“หนังสือเด็กมันแพง ไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ทุกคนเอื้อมถึง มันเหมาะจะเป็นของขวัญให้กับลูกในบางเทศกาล แต่อาจซื้อหนังสือใหม่ให้บ่อยๆ ไม่ได้ ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายชีวิตของหลายๆ คนที่อยากมีหนังสือให้ลูกเยอะๆ เราเองซื้อหนังสือใหม่ให้ลูกเพราะอยากจะซัพพอร์ตสำนักพิมพ์หรือร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ในเมืองต่างๆ”

Baka-Nok แม่ทำห้องสมุดให้ลูกสาวจนกลายเป็นร้านหนังสือเด็กหนึ่งเดียวของเชียงใหม่

อิ๋วเล่าให้เราฟังขณะพาเราดูหนังสือมือสองบนสองชั้นแรก ส่วนบนโต๊ะกลางห้องโถงและชั้นวางที่สูงขึ้นมาหน่อยถูกจับจองด้วยหนังสือเล่มใหม่

ถ้ามีโอกาสไปเยือนเมืองต่างๆ อิ๋วมักจะตามหาร้านหนังสืออิสระ และซื้อหนังสือสักเล่มกลับมาเป็นของขวัญเสมอ นั่นทำให้ร้านบากะนก ไม่ได้มีแค่หนังสือมือสอง แต่ยังมีหนังสือมือหนึ่งดีๆ สำหรับใครที่อยากซื้อกลับไปเป็นของขวัญด้วย

Baka-Nok แม่ทำห้องสมุดให้ลูกสาวจนกลายเป็นร้านหนังสือเด็กหนึ่งเดียวของเชียงใหม่

“เรามีหนังสือภาษาอังกฤษเป็นหลัก และเลือกหนังสือที่แปลไทยดีๆ มาบางส่วน เราไม่ได้คิดว่าเด็กไทยจะต้องพูดอังกฤษได้ เพียงแต่ไม่ปิดกั้น พออ่านได้แค่ผิดๆ ถูกๆ ถ้าคุณอ่านเล่มนี้ออก คุณจะมีเพื่อนเป็นชาวสวีเดน อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ มันคือการเปิดโลกทัศน์ของเด็ก เราเลยพยายามเลือกหนังสือมาอย่างหลากหลาย” 

หลังจากมีอเดล หนังสือเด็กของลูกก็เข้ามาทำให้ชั้นหนังสือที่บ้านของอิ๋วและอาเธอร์มีสีสัน พวกเขามีเวลาอ่านหนังสือที่ตัวเองอยากอ่านน้อยลง ได้อ่านหนังสือให้ลูกฟังมากขึ้น และยังเดินหน้าเสาะหาหนังสือดีๆ มาแบ่งปันต่อไป

Baka-Nok แม่ทำห้องสมุดให้ลูกสาวจนกลายเป็นร้านหนังสือเด็กหนึ่งเดียวของเชียงใหม่

“พอเราอยู่ในโลกของหนังสือเด็กมากเข้า เราจะเห็นว่าเดี๋ยวนี้หนังสือเด็กมีนักวาดภาพประกอบที่น่าสนใจ เช่น เรื่องต้นไม้ ก็เป็นหนังสือแปลที่ดีมาก เราอยากเลือกหนังสือเองด้วย เพราะร้านมันเล็ก พยายามเลือกหนังสือที่ภาพประกอบดี เรื่องราวดี แบบคลาสสิกก็มี โมเดิร์นคลาสสิกก็มี เดี๋ยวนี้มีเกี่ยวกับการดูแลโลก อวกาศ แอดวานซ์กว่าเมื่อก่อน เราว่ามันน่าสนใจ เพราะมีนักเขียนใหม่ๆ ที่มีวิธีการนำเสนอชีวิตที่มีความเป็นปัจจุบันกว่า” 

อเดลเป็นลูกคนเดียว การมาร้านหนังสือจึงเป็นโอกาสที่ทำให้เธอได้เจอเพื่อนๆ อิ๋วอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่สำหรับเด็กๆ ที่จะทำอะไรก็ได้อย่างอิสระ จะเกลือกกลิ้ง ปีนป่าย นั่งอ่านหนังสือตามมุมต่างๆ หรือวาดรูประบายสีตรงเคาน์เตอร์ไม้ก็ได้ตามใจชอบ

Baka-Nok แม่ทำห้องสมุดให้ลูกสาวจนกลายเป็นร้านหนังสือเด็กหนึ่งเดียวของเชียงใหม่
Baka-Nok แม่ทำห้องสมุดให้ลูกสาวจนกลายเป็นร้านหนังสือเด็กหนึ่งเดียวของเชียงใหม่

ที่นี่ไม่ได้มีแปลนซับซ้อนอะไรนัก สิ่งที่อาเธอร์ พ่อผู้เป็นสถาปนิกให้ความสำคัญที่สุด คือความปลอดภัยและดีไซน์ที่จะเป็นมิตรกับเด็กๆ โต๊ะไม้โค้งมนไม่มีเหลี่ยมให้วิ่งชนแล้วบาดเจ็บ เคาน์เตอร์ไม้กว้างและไม่สูงเกินไป พอให้พวกเขาปีนป่ายได้โดยไม่เป็นอันตราย ประตูที่นี่ก็ไม่เคยปิด เด็กๆ วิ่งเข้า วิ่งออกได้อย่างสะดวกสบาย

นอกจากเป็นร้านหนังสือแล้ว อิ๋วยังมีไอเดียอยากจัดเวิร์กช็อปและ Blind Date กับหนังสือ โดยที่ผู้ข้าร่วมไม่จำเป็นต้องเป็นเด็ก แต่เป็นใครก็ได้ เพราะเธอเชื่อว่านี่คือพื้นที่ของทุกคน

“บางทีผู้ใหญ่เองก็นึกถึงความเป็นเด็กเหมือนกัน อยากให้ที่นี่เป็น Sharing Space เป็นพื้นแลกเปลี่ยนความรู้สึก แลกเปลี่ยนความเป็นเด็กให้กับผู้ใหญ่ ให้เด็กเรียนรู้จากผู้ใหญ่ได้ด้วย”

เลี้ยงลูกเล็ก ในเวิ้งเหล็กแดง

ระหว่างที่เรากำลังนั่งคุยกับอิ๋ว เสียงโหวกเหวกดังมาจากอีกฟาก บริเวณหน้าร้านพาสต้า จากตรงนี้มองเห็นเด็กหญิงอเดลกำลังวิ่งไปทางนู้นที ทางนี้ที เล่นกับผู้คนในเวิ้งอย่างสนุกสนาน ก่อนกลับมานั่งกินแตงโมสบายใจเฉิบอยู่ที่โต๊ะของร้านข้างๆ นี่เป็นภาพธรรมดาที่พบเห็นได้ หลังจากห้องสมุดส่วนตัวของอเดลย้ายมาตั้งอยู่ในเวิ้งแห่งนี้ อิ๋วยังเล่าให้เราฟังอีกว่า แต่ละร้านจัดเวรประจำวันเพื่อมาดูแลอเดลตลอดช่วงสั้นๆ หลังจากที่เธอกลับจากโรงเรียน

Baka-Nok แม่ทำห้องสมุดให้ลูกสาวจนกลายเป็นร้านหนังสือเด็กหนึ่งเดียวของเชียงใหม่

อิ๋วชี้ให้เราดูบาร์ท่าแพอิส บาร์สวยๆ ที่อยู่ถัดจากร้านหนังสือ

“มันมีร้านหนังสือเด็กที่ไหนอยู่ติดกับบาร์” เธอกล่าวติดตลก

“แม่บางคนก็มาตอนค่ำๆ ได้ดื่มเบียร์สักแก้ว ลูกก็นั่งอ่านหนังสือ ลูกค้าที่มาร้านเราก็เป็นลูกค้าของคนที่มากินปลาร้านตรงข้ามบ้าง หรือเป็นลูกค้าที่มาเวิร์กช็อปทำพาสต้าบ้าง เด็กไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าบาร์เป็นพื้นที่สีเทา เราไม่ต้องปิดตาเขาแล้วบอกว่าอะไรดีไม่ดี เพราะมันไม่มีอะไรไม่ดี ทุกอย่างมีหลายสี ทุกร้านมีฟังก์ชันของตัวเอง”

“โลกคือความจริง เราคงจะสอนลูกแบบนิทานอีสปหรือ หนูน้อยหมวกแดง ที่มีหมาป่า มีคุณยาย มีนายพราน มันไม่ได้สวยงามทั้งหมด มันดีกว่าที่เขาโตโดยที่เห็นทั้งความงามและความไม่งาม”

อิ๋วเล่าถึงที่ตั้งของร้านที่ดูจะขัดแย้งกับการเป็นร้านหนังสือเด็ก แต่กลับสมดุลในความคิดของเธอ

วิ่งเท้าเปล่า ตักหิน เตะก้นบุหรี่

การมีอยู่ของบากะนกในเวิ้งเหล็กแดงไม่ได้ดูขัดเขิน อิ๋วเองก็ชอบมวลรวมของความหลากหลายในพื้นที่ตรงนี้ ที่นี่เป็นเหมือนโอเอซิสใจกลางเมืองที่อนุญาตให้เด็กๆ วิ่งเล่นได้อย่างสนุกสนาน

Baka-Nok แม่ทำห้องสมุดให้ลูกสาวจนกลายเป็นร้านหนังสือเด็กหนึ่งเดียวของเชียงใหม่

“พอเป็นพื้นที่เปิดแบบนี้ เราอยู่กันได้แบบบาลานซ์มาก มันทำให้แม่ๆ พ่อๆ ได้มีพื้นที่ของตัวเอง ได้นั่งกินข้าวสักยี่สิบนาทีแบบที่ไม่ต้องจับลูกไว้ตลอดเวลา บางทีมันสำคัญนะกับการที่คนคนหนึ่งจะได้นั่งดื่มกาแฟเงียบๆ อ่านหนังสือของตัวเองสักสองสามหน้า

“ร้านนี้เหมือนกันกับการสอนลูก เราตีกรอบมันไว้หลวมๆ ถ้าใครมาแล้วได้หนังสือเล่มไหนกลับไป ได้แง่มุมไหนกลับไป หรือได้บรรยากาศ ได้ความทรงจำกลับไปก็เพียงพอแล้วสำหรับเรา แต่สำหรับเขา หากเป็นแม่ที่เลี้ยงลูกมาทั้งวัน เป็นแม่ที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอ่านหนังสือเล่มไหนกับลูก บางทีการที่เขามาเจอพื้นที่ของเรา มันทำให้เขาได้อุปกรณ์ ได้หนังสือ ได้แรงบันดาลใจในการดูแลลูกๆ กลับไป

“เด็กๆ เองอาจรู้สึกว่าเขาได้มาแบ่งปัน มาเล่นกัน การมีพื้นที่ให้เขาเล่นอย่างไม่เป็นอันตราย ได้วิ่งเท้าเปล่าบ้าง ตักหินบ้าง วิ่งบนหญ้าบ้าง เตะก้นบุหรี่บ้าง ท่ามกลางผู้คนที่หลากหลาย เราว่ามันดี เพราะเราเองก็ไม่ได้อยากสร้างพื้นที่ที่มันอุดมคติและสวยงามเกินไป”

อิ๋วทิ้งท้ายกับเรา บทสนทนาจบลงก่อนที่อเดลจะวิ่งมาทวงคุณแม่ของเธอคืน

Baka-Nok แม่ทำห้องสมุดให้ลูกสาวจนกลายเป็นร้านหนังสือเด็กหนึ่งเดียวของเชียงใหม่

บากะนก (Baka-Nok)

ที่อยู่ : 90 ถนนท่าแพ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50000 (แผนที่)

โทรศัพท์ : 09 7989 3594

Facebook : Bakanok

Writer

Avatar

ซูริ คานาเอะ

ชอบฟังมากกว่าพูด บูชาของอร่อย เสพติดเรื่องตลก และเชื่อว่าชีวิตนี้สั้นเกินกว่าจะอ่านหนังสือดีๆ ให้ครบทุกเล่ม

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ