เรามองภาพนางแบบหน้าตาแสนเฉี่ยวในเสื้อผ้าสีน้ำเงินที่เต็มไปด้วยลวดลายสุดชิคบนลุคบุ๊กที่เขียนว่า ‘บายศรี’ 

แบรนด์ชื่อสุดแสนจะไทย แต่ทำไมเก๋ไก๋สากลขนาดนี้

บายศรี แบรนด์แพร่ที่หยิบลายตุง เครื่องเซรามิก มาออกแบบผ้าจนพาผ้าไทยไปแฟชั่นวีกทั่วเอเชีย

เราคิดในใจขณะยืนอยู่ในอาณาจักรบายศรี ขออนุญาตเรียกที่นี่ว่า ‘อาณาจักร’ เพราะสิ่งที่เราเห็นไม่ใช่เพียงร้านขายสินค้า แต่ในพื้นที่กว่า 4 ไร่ ที่มองภายนอกอาจดูคลับคล้ายคลับคลาป่าร่มรื่น คือโรงงานตัดเย็บผ้า ย้อมผ้า เพนต์ผ้า ปักผ้า แบบครบวงจร

บายศรี แบรนด์แพร่ที่หยิบลายตุง เครื่องเซรามิก มาออกแบบผ้าจนพาผ้าไทยไปแฟชั่นวีกทั่วเอเชีย

ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติอันรื่นรมย์ในอาณาจักรบายศรี เรามีนัดกับผู้สร้างสถานที่แห่งนี้ อาจารย์ช้าง-ศักดิ์จิระ เวียงเก่า ปรมาจารย์ด้านผืนผ้าแห่งเมืองแพร่ ที่ไม่ใช่แค่เปิดแบรนด์ผ้าดีไซน์เก๋ที่บ้านเกิด แต่ยังเป็นอาจารย์พิเศษของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทั้งยังเดินทางไปสอนดีไซน์ให้ชุมชนผ้าทอทั่วไทย และนำภูมิปัญญาผ้าไทยไปเผยแพร่ในแฟชั่นวีกทั่วเอเชีย 

อาจารย์ช้าง-ศักดิ์จิระ เวียงเก่า ปรมาจารย์ด้านผืนผ้าแห่งเมืองแพร่

By Phrae, by himself 

อาจารย์ช้างเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดว่า ตนเรียนจบวิทยาลัยช่างศิลป์ จบออกมาทำงานโฆษณา แล้วจับพลัดจับผลูมีเพื่อนชวนไปทำงานออกแบบที่ชินวัตรไหมไทย

“ทำงานโฆษณาอยู่สองปี พอมาเปลี่ยนเป็นออกแบบผ้านี่ใช่เลย ลาออกเลย มาทำที่ชินวัตรไหมไทยที่เชียงใหม่ ผมออกแบบผ้าไหม ผ้าพิมพ์ ผ้ามัดหมี่ และผ้าบาติก แล้วเอามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขายในช็อป ช่วงนั้นขายดีเพราะเศรษฐกิจดีมาก งานทำให้เข้าใจรสนิยมของคนต่างชาติ และใช้ศาสตร์การออกแบบได้เต็มที่ ทั้งลายผ้าและผลิตภัณฑ์”

อาจารย์ช้าง-ศักดิ์จิระ เวียงเก่า ปรมาจารย์ด้านผืนผ้าแห่งเมืองแพร่
บายศรี แบรนด์แพร่ที่หยิบลายตุง เครื่องเซรามิก มาออกแบบผ้าจนพาผ้าไทยไปแฟชั่นวีกทั่วเอเชีย

เมื่อสะสมประสบการณ์เต็มที่ ราว 30 ปีที่แล้ว ดีไซเนอร์ไฟแรงจึงออกมาก่อตั้งแบรนด์บายศรีร่วมกับเพื่อน เริ่มจากออกแบบงานผ้าบาติกที่ใต้ถุนบ้านคุณยาย โดยตั้งใจว่าจะผลิตผลงานที่นี่แล้วนำงานคราฟต์ไปขายในเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่

“สมัยนั้นคนยังไม่รู้จักเลยว่าแพร่อยู่ตรงไหนในประเทศไทย อยู่ติดเพชรบูรณ์หรือเปล่า เราเลยต้องดูแลตัวเอง ทำเองให้มากที่สุด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ จะมัวมาหวังพึ่งคนอื่นก็ไม่ได้ โครงการที่รัฐช่วยก็ยังไม่มี ต้องช่วยเหลือตัวเองหมด” 

ช่วงเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูก่อนยุคฟองสบู่แตก บายศรีมีลูกค้าเป็นชาวต่างชาติมากมาย และส่งสินค้าออกนอกประเทศอย่างสม่ำเสมอ เปิดโอกาสให้แบรนด์เล็กๆ ในบ้านไม้ในตัวอำเภอเมือง ขยับขยายไปสู่โรงงานขนาดใหญ่ที่มีฝ่ายผลิตครบถ้วน

บายศรี แบรนด์แพร่ที่หยิบลายตุง เครื่องเซรามิก มาออกแบบผ้าจนพาผ้าไทยไปแฟชั่นวีกทั่วเอเชีย

By Culture

ในร้านค้าของบายศรี เหล่าผืนผ้าสีน้ำเงินที่บ่งบอกสีม่อฮ่อมของแพร่ในรูปแบบต่างๆ ทั้งเสื้อ กางเกง กระโปรง ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ รวมถึงของตกแต่งบ้านมากมาย โชว์ตัวงามเด่นอย่างไม่มีใครยอมใคร 

บายศรี แบรนด์แพร่ที่หยิบลายตุง เครื่องเซรามิก มาออกแบบผ้าจนพาผ้าไทยไปแฟชั่นวีกทั่วเอเชีย

ถึงแม้จะสีน้ำเงินคล้ายกัน แต่แต่ละตัวล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกันไป ตัวนี้ปักน้อยสำหรับสาวสายมินิมอล ตัวนี้ปักมากหน่อยสำหรับสาวก More is more แทบไม่มีตัวไหนเลยที่ดีไซน์เหมือนกันเป๊ะๆ

ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากอาจารย์ช้างจะใส่ต้นทุนทางวัฒนธรรม ทั้งจากอาหาร เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ที่อยู่อาศัย การตกแต่ง ฯลฯ ไปในเสื้อผ้าในทุกคอลเลกชัน

บายศรี แบรนด์แพร่ที่หยิบลายตุง เครื่องเซรามิก มาออกแบบผ้าจนพาผ้าไทยไปแฟชั่นวีกทั่วเอเชีย

“อาหารทางเหนือมีอะไร ทางใต้มีอะไร ก็เอามาช่วยในการออกแบบได้ แง่มุมสถาปัตยกรรม หรือการตกแต่งทางเหนือเช่นการปักตุงในวัด ก็เอามาสร้างคอลเลกชันได้ทั้งนั้น

“คอลเลกชันนี้ผมใช้ลวดลายของเผ่าม้ง ปกติในเสื้อผ้าชาวม้งจะมีลวดลายเล็กๆ น้อยๆ เฉพาะตัว และชาวแพร่จะเรียกชาวม้งว่า ‘คนบ้านบน’ คืออยู่บนดอย อำเภอร้องกวาง ผมก็เลยใช้ชื่อคอลเลกชันนั้นว่า ‘บ้านบน’” อาจารย์เล่าเฉยๆ แต่เราร้องว้าวในใจ

เจ้าของแบรนด์บายศรียังยกตัวอย่างคอลเลกชันที่ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมเพิ่มว่า ปีนี้บายศรีออกคอลเลกชัน ‘ลายคราม’ นำลวดลายของเซรามิกลายครามมาสร้างบนผ้า แทนที่จะเป็นกระเบื้อง โดยใช้เทคนิคทั้งการย้อม การพิมพ์ และการกัดสี 

ปีนี้เขากำลังจะนำเสนอคอลเลกชันใหม่โดยใช้ชื่อว่า ‘สิงห์สาราสัตว์’ โดยนำเอาลวดลายของสัตว์มาใช้ อาจารย์ช้างศึกษาลวดลายเสือประเภทต่างๆ เช่น เสือโคร่งลายพาดกลอน เสือชีตาห์ แล้วนำมาปรับใช้

บายศรี แบรนด์แพร่ที่หยิบลายตุง เครื่องเซรามิก มาออกแบบผ้าจนพาผ้าไทยไปแฟชั่นวีกทั่วเอเชีย
บายศรี แบรนด์แพร่ที่หยิบลายตุง เครื่องเซรามิก มาออกแบบผ้าจนพาผ้าไทยไปแฟชั่นวีกทั่วเอเชีย

“เราใช้ทุนทางวัฒนธรรมมาตลอดเลย ใช้ผ้าทอ ผ้าปัก มาผสมเข้าไปให้มันดูร่วมสมัย เวลาผมไปสอนที่ไหนผมก็บอกว่านี่แหละถูกทาง ลูกค้าที่เข้ามาเมืองไทยเขาก็หาสินค้าที่มีความไทยแต่ร่วมสมัย นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เวลาสอนเด็กรุ่นใหม่ ผมจะสอนว่าให้คิดจากตรงนี้ก่อน เพราะจะทำให้งานเรามีที่มาที่ไป มีเรื่องราวในการนำเสนอ ไม่ใช่ทำไปเรื่อยๆ โดยไม่มีหลักการ”

นอกจากเสื้อผ้าของบายศรีจะทำให้คนในประเทศได้แต่งตัวสวยแล้ว อาจารย์ช้างก็พาบายศรีไปให้คนต่างประเทศได้ยลโฉมด้วยเช่นกัน

“สองปีที่แล้วเมืองเว้ของเวียดนามมีงาน Craft Festival เราก็เลยเอาสีม่อฮ่อมไปนำเสนอ ล่าสุดผมเพิ่งไปฮ่องกงมา ก็ไปในนามของนักออกแบบให้กับจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นแหล่งผ้าทอ ก็นำผ้าแพรวาของภูไทไปเดินบนแคตวอล์ก”

บายศรี แบรนด์แพร่ที่หยิบลายตุง เครื่องเซรามิก มาออกแบบผ้าจนพาผ้าไทยไปแฟชั่นวีกทั่วเอเชีย
บายศรี แบรนด์แพร่ที่หยิบลายตุง เครื่องเซรามิก มาออกแบบผ้าจนพาผ้าไทยไปแฟชั่นวีกทั่วเอเชีย

ว่ากันว่าความงามเป็นเรื่องปัจเจก แล้วชาวต่างชาติมองเสื้อผ้าของบายศรีว่ายังไง เราถาม

“ปฏิกิริยาของต่างชาติต่อผ้าไทยก็ได้รับความสนใจค่อนข้างสูง วัฒนธรรมของเรามันแตกต่างจากเพื่อนบ้าน เลยทำให้น่าสนใจ ถ้าเรารู้จักใช้นะ ไม่มีวันหมดหรอก” ชายตรงหน้ากล่าวพร้อมยิ้ม

By Curiosity

พอมองอย่างนี้ ยิ่งรู้สึกว่าธุรกิจของบายศรีอยู่ตัว ผู้ซื้อในประเทศไม่ขาดหาย ต่างประเทศก็ให้ความสนใจเป็นระยะ แต่ทำไมชายตรงหน้าจึงยังไม่หยุดที่บทบาทนักออกแบบ แต่ยังผันตัวไปรับอีกบทที่ใหญ่ไม่แพ้กันคืออาจารย์ ที่สอนทั้งนักศึกษาและชุมชนต่างๆ ด้วย

“ด้วยวัยของผมมั้ง เวลาไปสอนเรารู้สึกว่ามีแรงขับ การเรียนทำให้เราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เราสอนเขา เขาก็สอนเรา ผมถึงได้ชอบ รุ่นผมเป็นรุ่นเกษียณ เพื่อนๆ รอบตัวเหมือนลูกโป่งที่ลมออกในวันสุดท้ายที่ทำงาน เพราะต้องอยู่บ้าน ไม่มีอะไรทำ แต่ผมอยากกระตุ้นตัวเองให้มีความคิดใหม่ๆ ตลอด” 

ถึงแม้จะอายุขึ้นเลข 6 แล้ว แต่ความคิดสร้างสรรค์และผลงานของดีไซเนอร์ตรงหน้ายังเฉียบคมน่าสนใจไม่แพ้นักออกแบบรุ่นลูก

อาจารย์ช้าง-ศักดิ์จิระ เวียงเก่า ปรมาจารย์ด้านผืนผ้าแห่งเมืองแพร่

By Experience

จากประสบการณ์ในวงการออกแบบมานานหลายปี อาจารย์ช้างมองสถานการณ์คราฟต์ในบ้านเราว่ายังเติบโตได้อีกมาก

บายศรี แบรนด์แพร่ที่หยิบลายตุง เครื่องเซรามิก มาออกแบบผ้าจนพาผ้าไทยไปแฟชั่นวีกทั่วเอเชีย

“บ้านเรามีวัตถุดิบดีมาก ผ้ามัดหมี่สวย ผ้าทอ ผ้าบาติก แต่เราขาดปลายน้ำคือนักออกแแบบผลิตภัณฑ์ วิทยานิพนธ์เด็กรุ่นใหม่ที่ออกมาก็เป็นแนวฝรั่งไปหมด คนที่ทอผ้าก็ทอไปเป็นแค่ผ้าทอ แม่ๆ ที่ทอผ้าเขารอคนที่จะนำเอาวัตถุดิบไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อยู่” อาจารย์กล่าวอย่างมั่นใจ

“ทำแล้วอยู่ได้ เชื่อเถอะ เราไม่จำเป็นต้องตามฝรั่งทุกอย่าง แต่ต้องรู้จักปรับ อาหารไทยที่ไปไกลมากก็ไม่ใช่อาหารไทยดั้งเดิม เขาปรับรสชาติ การตกแต่งให้เข้ากับวัฒนธรรมต่างชาติได้ เมื่อคนต่างชาติมาไทย เขาก็อยากหาของที่แสดงความเป็นไทย เพียงแต่ต้องแต่งกลิ่น แต่งรส ให้เข้ากับเขาได้ เราต้องมองว่าเราก็มีดี” 

บายศรี แบรนด์แพร่ที่หยิบลายตุง เครื่องเซรามิก มาออกแบบผ้าจนพาผ้าไทยไปแฟชั่นวีกทั่วเอเชีย

กว่า 30 ปี มาแล้วที่เสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้านของบายศรีออกสู่สายตาชาวโลก อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้แบรนด์ยืนหยัดอยู่ได้นานขนาดนี้ เราสงสัย

“ผมทำธุรกิจกลับหลังนะ ธุรกิจสมัยนี้ตลาดต้องมาก่อน กลุ่มเป้าหมาย ต้นทุน ราคา คู่แข่ง แต่ของผม ผมจะเริ่มจากผลิตภัณฑ์ก่อน เราทำผลิตภัณฑ์ให้ดี ให้สวย คนซื้อเพราะผลิตภัณฑ์ ไม่ได้ซื้อเพราะการตลาด” อาจารย์ช้างเล่าเคล็ดลับความสำเร็จที่ทำให้ลูกค้าที่ซื้อกลายเป็นลูกค้าประจำยาวนานเสมอ

บายศรี แบรนด์แพร่ที่หยิบลายตุง เครื่องเซรามิก มาออกแบบผ้าจนพาผ้าไทยไปแฟชั่นวีกทั่วเอเชีย

Baisri in the future

เมื่อถามถึงอนาคต เจ้าของแบรนด์ผ้าอายุกว่า 30 ปี เชื่อว่าบายศรีจะหดตัวลงโดยธรรมชาติ เขาอยากให้บายศรีกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ และนำประสบการณ์ของตนไปเผยแพร่มากขึ้นในอนาคต

“คำว่าโตขึ้นของยุคสมัยใหม่ ไม่ใช่โตแล้วใหญ่ แต่คือคำว่า ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’ ต่างหาก”

อาจารย์ช้างทิ้งท้าย 

ก่อนจากกันขอกระซิบว่าโรงงานครบวงจรของบายศรีเปิดให้นักศึกษาทั่วประเทศที่เรียนด้านการออกแบบมาฝึกงานได้เสมอ ขอเพียงพกความอยากรู้มา ที่นี่พร้อมสอนให้! ส่วนนักท่องเที่ยวขาจรที่แวะไปมา ที่นี่มีเวิร์กช็อปทำพวงกุญแจเย็บมือสำหรับผู้สนใจอีกด้วย

มาแพร่ครั้งหน้า ตระเตรียมเวลาสัก 2 – 3 ชั่วโมง แวะเวียนมาอาณาจักรแห่งนี้ รับรองว่านอกจากความทรงจำและเสื้อผ้าสวยงามของเมืองเหนือแล้ว คุณอาจได้งานคราฟต์ฝีมือคุณเอง และความภูมิใจน้อยๆ กลับบ้านไปด้วย

อาจารย์ช้าง-ศักดิ์จิระ เวียงเก่า ปรมาจารย์ด้านผืนผ้าแห่งเมืองแพร่

ปี 2562 ททท. และบายศรีร่วมสร้างสรรค์กิจกรรม Workshop ประดิษฐ์เครื่องประดับจากเศษผ้า ใครสนใจอยากลองทำแวะไปเรียนได้ที่บายศรี และใครที่มาเที่ยวแพร่ในช่วงนี้ แวะไปเรียน ไปช้อปปิ้ง ก็อย่าลืมลงทะเบียนรับเข็มกลัดเซรามิกจากสตูดิโอคราฟต์ต่างๆ ในจังหวัดแพร่นะป.ล. ตอนนี้ The Cloud และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทำเข็มกลัดเซรามิกรุ่นพิเศษแจกฟรีเป็นของที่ระลึกในสตูดิโอคราฟต์ต่างๆ ของจังหวัดแพร่ ใครอ่านเรื่องนี้จบแล้วอยากไปเยี่ยม อย่าลืมไปลงทะเบียนเพื่อรับของขวัญพิเศษชิ้นนี้นะ

Writer

Avatar

เทวรักษ์ รุ่งเรืองวิรัชกิจ

สาวอวบระยะสุดท้ายผู้หลงรักคาปูชิโน่เย็น สิ่งของจุกจิก เสื้อผ้าวินเทจ เเละเสียงเพลงในวันฝนพรำ

Photographer

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย