หลายปีมานี้ เราได้ยินคำว่าโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และ Climate Change ลอยวนอยู่บนสนามสื่อ ที่หยิบยกประเด็นเหล่านี้มาชวนฉุกคิดให้มนุษย์ตระหนักถึงปัญหา ว่าหากเราไม่รักษ์โลกวันนี้ โลกก็จะไม่รักเราเหมือนกันในอนาคต เราเห็นความพยายามของหลายคน หลายแบรนด์ หลายองค์กร ที่โปรโมตแนวคิดการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมกันอยู่มาก 

ถ้านี่คือการออกรบ พูดอย่างตรงไปตรงมา การต่อสู้เพื่อชุบชีวิตโลกให้หายร้อนหรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในวงกว้างนั้นไม่ได้ง่ายเหมือนธานอสดีดนิ้ว แต่สิ่งสำคัญคงอยู่ที่ทุกภาคส่วนร่วมแรงผลักดันการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทิ้งมันไว้กลางทาง 

‘มูลนิธิใบไม้ปันสุข’ เป็นหนึ่งในมูลนิธิที่กำลังสร้างความต่อเนื่องนั้นให้เห็น และเชื่อว่าแม้โลกจะมีเทคโนโลยีมากมายเกิดขึ้น แต่เราจะไปไหนไม่ได้ไกล หากโลกที่อาศัยยังเกิดวิกฤต

มูลนิธิใบไม้ปันสุข ก่อตั้งมาแล้ว 5 ปี แต่เพิ่งจะมาเปิดตัวให้ผู้คนรู้จักในขวบปีที่ 5 เพราะพวกเขาเชื่อว่าการลงมือทำให้เห็นเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องเสียก่อน ย่อมดีกว่าการเปิดตัวแรง แต่ทำแค่ฉาบฉวย 

มูลนิธิใบไม้ปันสุข โดยบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สนใจการเติบโตเคียงข้างชุมชนและอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งการคัดแยกขยะมาเพิ่มมูลค่า หรือการรับน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุด และล่าสุดกำลังอยู่ในกระบวนการนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วมาแปรรูปเป็นน้ำมันเครื่องบินไบโอเจ็ต นั่นหมายความว่าแม้จะก่อตั้งมา 5 ปี แต่หัวใจการสร้างความยั่งยืนนั้นฟูมฟักมานานกว่านั้น

'ใบไม้ปันสุข' มูลนิธิที่ติดอาวุธการศึกษาให้เยาวชน เพื่อลงสนามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

มูลนิธิใบไม้ปันสุขมีแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม มองเห็นว่าพลังของเยาวชนมีส่วนสำคัญในการสร้างอนาคตที่ดี จึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป เพราะเชื่อว่าการศึกษาที่ดีจะนำพาให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ โดยมุ่งเน้น 3 โครงการ ได้แก่ 

1. โครงการอ่านเขียนเรียนสนุก ปั้นเด็กจิ๋ว เป็นเด็กแจ๋ว ที่สนับสนุนสื่อการสอนอบรม และติดตามผลคุณครูผู้สอนอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้เด็ก ๆ อ่านออกเขียนได้ 

2. โครงการรักษ์ ปัน สุข จูเนียร์ ปลูกจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมให้เยาวชน 

และ 3. โครงการโซลาร์ปันสุข ที่สนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก พร้อมถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ให้กับเยาวชนในสถานศึกษา

และความเข้มแข็งทางวิสัยทัศน์ว่า คุณภาพชีวิตของเยาวชนมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในอนาคต เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ คือหัวใจสำคัญที่พาเรามาคุยกับมูลนิธิใบไม้ปันสุขวันนี้

'ใบไม้ปันสุข' มูลนิธิที่ติดอาวุธการศึกษาให้เยาวชน เพื่อลงสนามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

มูลนิธิที่มีดีเอ็นเอรักษ์สิ่งแวดล้อม

มาร์ท-ยอดพจน์ วงศ์รักมิตร ประธานมูลนิธิใบไม้ปันสุข และ ก้อย-กลอยตา ณ กลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน สองตัวแทนจากมูลนิธิใบไม้ปันสุข พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การสร้างสรรค์โครงการต่าง ๆ ในมูลนิธินั้นสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Sustainable Development Goals หรือ UNSDGs โดยเริ่มจากเป้าหมายที่ 4 ว่าด้วยเรื่อง Quality Education ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่จะนำพาประเทศขับเคลื่อนต่อไปที่เป้าหมาย 13 เรื่อง Climate Action เนื่องจากความรู้ทางการศึกษาจะปลูกฝังจิตสำนึกเพื่อให้เกิดพฤติกรรมอยากดูแลสิ่งแวดล้อมของคนในประเทศได้

“โลโก้มูลนิธิของเราเป็นรูปผีเสื้อ มีความหมายเรื่องของการปรับเปลี่ยนและปรับตัว หากเราย้อนไปดูตั้งแต่ต้นทางของผีเสื้อ มันเคยเป็นดักแด้มาก่อน เหมือนเยาวชนที่สุดท้ายพวกเขาจะเริ่มเติบโต และเริ่มบินได้อย่างแข็งแรงถ้าได้รับการศึกษาที่ดี”

'ใบไม้ปันสุข' มูลนิธิที่ติดอาวุธการศึกษาให้เยาวชน เพื่อลงสนามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

คุณก้อยจริงจังกับสิ่งที่เธอพูด เธอบอกว่าไม่ว่ามนุษย์เราจะเดินไปทางไหน การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญมาก และน่าตกใจที่มูลนิธิพบว่าเยาวชนจำนวนไม่น้อยอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ทั้งเด็กในพื้นที่ห่างไกล เด็กยากไร้ เด็กที่ใช้ภาษาถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ และในกรุงเทพฯ เอง จากการสำรวจ พบว่าวัยรุ่นในเขตพระโขนงอายุ 15 – 17 ปี อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายคนมองข้าม

“จะ Deep Learning ปัญญาประดิษฐ์ AI หรือเทคโนโลยีทั้งหลาย เราจะไปไม่ถึงมันเลย ถ้ารากฐานไม่แข็งแรง ซึ่งรากฐานที่สำคัญที่สุดคือการศึกษา และถึงแม้วันนี้คุณจะตั้งเป้าว่าเราจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 หรือต้องเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2030 หากการศึกษายังเข้าไม่ถึงเด็กไทย มันก็จะไปไม่ถึงเป้า จะไม่มีการพัฒนาที่ยั่งยืน การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน จะไม่มีความยั่งยืนอะไรทั้งนั้น” คุณก้อยกล่าว

'ใบไม้ปันสุข' มูลนิธิที่ติดอาวุธการศึกษาให้เยาวชน เพื่อลงสนามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

จุดเริ่มต้นของมูลนิธิฯ จึงเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวที่ยังเป็นปัญหา และคำว่าใกล้ที่ว่าก็รวมถึงปัญหาที่อยู่ใกล้โรงกลั่นของบางจาก ซึ่งตั้งอยู่ที่สุขุมวิท 64 เนื่องจากทางทีมได้สำรวจโรงเรียนใกล้โรงกลั่น แล้วพบว่ามีเด็กหลายคนที่ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่ลำพังบางจากไม่ได้เป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญด้านการศึกษา เลยคิดว่าจะทำทั้งทีก็ต้องทำให้ดี 

นั่นทำให้พวกเขาเฟ้นหาพันธมิตรเฉพาะทางเข้ามาร่วมด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งมูลนิธิขึ้นมาใน พ.ศ.​ 2560 พร้อมริเริ่มโครงการแรก อ่านเขียนเรียนสนุก ปั้นเด็กจิ๋ว เป็นเด็กแจ๋ว และโครงการอื่น ๆ ตามมาที่มีพันธมิตรที่แตกต่างกันไป

“เราไม่ใช่บริษัทที่ทำธุรกิจด้านการศึกษา เราเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจพลังงาน แต่เราสนใจเรื่องพวกนี้ เป็นที่มาว่าเวลาเราคิดจะทำอะไร เรามีความตั้งใจอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีผู้มีองค์ความรู้มาช่วยและทำให้มันเกิดขึ้นจริง” คุณมาร์ทบอกเรา ก่อนจะเริ่มชวนเราคุยถึงรายละเอียดความดีงามของแต่ละโครงการ

'ใบไม้ปันสุข' มูลนิธิที่ติดอาวุธการศึกษาให้เยาวชน เพื่อลงสนามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

ติดปีกเยาวชนด้วยการศึกษาที่ดี

15,000 คน จาก 200 สถานศึกษา ใน 52 จังหวัด คือตัวเลขเยาวชนที่มูลนิธิใบไม้ปันสุขได้มอบโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตไปแล้ว สำหรับโปรเจกต์แรกอย่างโครงการอ่านเขียนเรียนสนุก ปั้นเด็กจิ๋ว เป็นเด็กแจ๋ว มูลนิธิได้จับมือกับพันธมิตรร่วมทางกลุ่มแรกอย่างศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม ที่สนับสนุนสื่อการสอนอบรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนอ่านออกเขียนได้ มุ่งเน้นการติดตามผลจากคุณครูผู้สอนอย่างต่อเนื่อง ว่าเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหรือไม่ และคุณครูมีทักษะในการสอนที่ทำให้เด็กเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน เพราะสุดท้ายเด็กจะรู้วิชาในห้องเรียนได้ ครูผู้สอนมีส่วนสำคัญ

อาจารย์ในดวงตา ปทุมสูติ จากทุ่งสักอาศรม สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กและสังคมว่า การอ่านออกเขียนได้ ไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือในการสื่อสารเท่านั้น แต่การที่เด็กคนหนึ่งอ่านออกเขียนได้นั้นเปรียบเหมือนสะพานที่พาเด็ก ๆ ออกไปสำรวจโลกกว้าง และเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาให้ค้นพบศักยภาพ และตัวตนที่อยู่ข้างในได้อย่างชัดเจน

อย่างที่เราบอกว่า เมื่อมูลนิธิใบไม้ปันสุขมีแกนหลักขององค์กรว่าจะไม่ทำอะไรที่ฉาบฉวย แต่ต้องการทำอะไรที่ยั่งยืนและยาวนาน ทุ่งสักอาศรมจึงเห็นพ้องต้องกัน เริ่มจากการติดอาวุธให้ครูผู้สอน ด้านการสื่อสารกับเด็กอย่างไรจะทำให้เด็กเข้าใจได้ง่ายขึ้น ช่วยกันกับคุณครูหาต้นตอว่าทำไมเด็กคนนี้ถึงอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หรือบางคนอ่านได้ แต่เขียนไม่ได้ ซึ่งเป็นเส้นผมบังภูเขาที่ครูหลายคนเคยมองข้ามไป หากเด็กคนนั้นทำไม่ได้จริง ๆ ดังนั้น อาวุธครูที่ทุ่งสักอาศรมเข้าไปติด จึงเป็น ‘ทักษะการแก้ไขสถานการณ์’ ที่ครูทุกคนควรเรียนรู้ที่จะเข้าหาเด็กในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างหลากหลาย เด็กสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใช้ภาษามลายูก็แบบหนึ่ง เด็กชนเผ่าม้งก็แบบหนึ่ง หรือเด็กปกาเกอะญอก็อีกแบบ และในความแตกต่างทางภาษายังมีความแตกต่างทางบุคลิกของเด็กที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งครูที่ดีก็ควรทำความเข้าใจ

ผลลัพธ์โครงการหลังจากที่ลงไปติดตามผลเรื่อย ๆ ก็เป็นเรื่องน่ายินดี และน่ายิ้มตามกับความสำเร็จเล็ก ๆ ของเยาวชน ยกตัวอย่างแบบทดสอบเขียนตามคำบอก 50 คำในวิชาภาษาไทย ที่ก่อนเข้าอบรมเด็กชั้น ป.1 ได้ราว 0 – 4 คะแนนจาก 50 ข้อ แต่เมื่อได้ทำการอบรม เด็ก ๆ คะแนนพุ่งขึ้นมาถึง 37 – 50 คะแนน

มองเรื่องกู้โลกให้เป็นเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัว

เมื่อผ่านการบ่มเพาะนักเรียนด้านวิชาการมาแล้ว มูลนิธิใบไม้ปันสุข ขยับขยายโครงการที่สอง ที่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนจะมีใจรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยโครงการ รักษ์ ปัน สุข จูเนียร์ ร่วมกับ เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ผ่านการจัดตั้ง 8 สถานีการเรียนรู้ในสถานศึกษา ได้แก่ สถานีธนาคารขยะ สถานีกล่องนม-ถุงนมกู้โลก สถานีน้ำมันพืชใช้แล้ว สถานีใบไม้ปันสุข สถานีเรือนวัสดุ สถานีพอ พัก ผัก สถานีน้ำหมักชีวภาพ และสถานีน้ำหมักรักษ์โลก โดยมีเป้าหมายอยากให้เด็ก ๆ สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จากสิ่งรอบตัว และมองว่าการจะรักษ์โลกนั้น บางครั้งก็เริ่มได้เลยจากเรื่องใกล้ตัวง่าย ๆ

ช่วง 5 เดือนแรก ทางมูลนิธิและ SCGC ได้คัดเลือกขยะเพื่อไปรีไซเคิลแล้วกว่า 4,100 กิโลกรัม ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 14,300 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นั่นทำให้นักเรียนเห็นว่า การเก็บขยะที่ใครมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ หากมองให้มันใหญ่ขึ้น มันอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าที่คิด

5 ปีของมูลนิธิที่ติดปีกเยาวชนให้ได้รับการศึกษาดีขึ้น และค้นหาการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ถัดมาคือการเอาถุงนมโรงเรียนมาทำเป็นเก้าอี้ที่นั่งได้จริงและมีคุณภาพ เพื่อยืดอายุการใช้งาน เด็ก ๆ จะได้เริ่มเข้าใจด้านวัสดุศาสตร์ว่าพลาสติกที่คนมองว่าเป็นตัวร้าย บางครั้งหากเราทำเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ มันก็กลายเป็นพระเอกที่นำกลับมาใช้หมุนเวียนใหม่ได้ ยังมีเรื่องของการนำเศษอาหารมาทำน้ำหมักชีวภาพ สอนด้านการประหยัดน้ำ และปลูกฝังการทำปุ๋ยจากเศษอาหารที่เหลือจากมื้อต่าง ๆ ที่กินกันในโรงเรียน

นอกจากนี้เด็ก ๆ ยังสามารถนำไปขยายผลต่อที่บ้าน ในแง่การช่วยคุณพ่อคุณแม่แยกขยะ ซึ่งผลลัพธ์ของโครงการ ณ ปัจจุบันขยายไปมากกว่า 18 จังหวัด มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการหลักหมื่น และตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดของเสียหรือวัสดุที่นำกลับไปหมุนวนได้มากกว่า 6,000 กิโลกรัม ซึ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 17,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 

ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการดี ๆ ที่เราคิดว่า หากเด็กเข้าใจแก่นหลักของการรักธรรมชาติแล้วว่า มันสามารถขยายต่อไปถึงการลดก๊าซเรือนกระจก หรือพูดง่าย ๆ อากาศร้อน ๆ ที่เราเจออยู่ทุกวันก็เกิดจากก๊าซเรือนกระจก เด็ก ๆ น่าจะมีแรงกระตุ้นในการทำเรื่องง่าย ๆ ในชีวิต ซึ่งในภายภาคหน้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ และน่าตื่นเต้นไม่ใช่น้อยที่จะรอติดตามผล

พลังงานแสงอาทิตย์ที่ช่วยลดค่าไฟ

เดินทางมาถึงโครงการล่าสุดของมูลนิธิที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานทดแทนอย่างโซลาร์เซลล์ผ่านโครงการโซลาร์ปันสุข ร่วมกับ มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ซึ่งเฟ้นหาโรงเรียนที่มีผลงานด้านการเกษตรและพัฒนาชุมชนรอบข้าง ด้วยการสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก และถ่ายทอดความรู้พร้อมเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ ซึ่งคุณก้อยและคุณมาร์ทบอกกับเราว่า จริง ๆ โครงการที่สามนี้ เป็นการต่อยอดจากสองโครงการแรก และเติมเต็มแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมให้กลมกล่อมมากขึ้น

“เนื่องจากเราทำงานกับโรงเรียนมาค่อนข้างเยอะ ทำให้เห็นความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ว่านอกจากด้านวิชาการที่เป็นส่วนสำคัญแล้ว เรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีก็มีส่วนสำคัญ เรามีโอกาสได้ทำงานกับมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ เห็นกระบวนการพัฒนาธุรกิจเกษตรในโรงเรียน ที่ทำให้ทั้งคนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและต่อยอดด้วยการบริหารกองทุนอาชีพของทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความมั่นคงทางอาหารและมีรายได้ นั่นเป็นสิ่งที่เราประทับใจและอยากร่วมงานด้วย เพราะมันต่อยอดจากสิ่งที่เรามีได้เหมือนกัน”

คุณมาร์ทเล่าให้ฟัง ซึ่งนั่นหมายถึง มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะเติมเต็มมูลนิธิปันสุขได้

5 ปีของมูลนิธิที่ติดปีกเยาวชนให้ได้รับการศึกษาดีขึ้น และค้นหาการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

“ในโครงการ รักษ์ ปัน สุข จูเนียร์ เรามีกิจกรรมปลูกผักชื่อว่าสถานีพอ พัก ผัก อยู่แล้ว เพราะเราพยายามรณรงค์ให้แต่ละโรงเรียนมีอาหารที่ทำกินเองโดยไร้สารพิษ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่โรงเรียนมีชัยพัฒนาทำอยู่แล้วเช่นกัน ทีนี้เราก็มาร่วมกันคิดว่า ฟันเฟืองหนึ่งที่จะใช้ในการปลูกผักสวนครัวได้ คือน้ำที่ต้องใช้เยอะมาก โรงเรียนหลายแห่งต้องขุดบ่อเพื่อเอาน้ำขึ้นมาใช้ บ้างก็ใช้ปั๊ม ทีนี้พอใช้ปั๊ม ก็ต้องใช้ไฟ ค่าน้ำประปาก็แพง 

“สิ่งที่เราช่วยแก้ไขได้ตอนนี้ คือการที่เรามองว่าโรงเรียนมีชัยพัฒนาเป็นต้นแบบของการทำโครงการโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นที่มาของโครงการโซลาร์ ปันสุข ที่เราเอาแผงโซลาร์เพื่อมาช่วยเรื่องค่าไฟให้กับโรงเรียนท้องถิ่น ตอบโจทย์ UNSDGs ทั้งเป้าหมายที่ 13 Climate Action และ เป้าหมายที่ 7 Affordable and Clean Energy และยังเพิ่มทักษะความรู้สำหรับน้อง ๆ ให้เขาได้เข้าใจการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นแสงอาทิตย์” คุณก้อยกล่าว

5 ปีของมูลนิธิที่ติดปีกเยาวชนให้ได้รับการศึกษาดีขึ้น และค้นหาการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ซึ่งความรู้ที่มูลนิธิใบไม้ปันสุขได้เข้าไปร่วมกับโรงเรียนมีชัยพัฒนาก็น่าสนใจไม่ใช่น้อย เพราะก่อนหน้านี้ น้อง ๆ จากโรงเรียนมีชัยพัฒนาได้เข้าไปเรียนรู้เกี่ยวกับการทำโซลาร์เซลล์ที่ Barefoot College ประเทศอินเดีย ที่ช่วยตบความรู้ที่มีอยู่แล้วเป็นทุนเดิมให้แข็งแกร่งและพร้อมพัฒนา

โครงการโซลาร์ปันสุขจะคัดเลือกจาก 141 โรงเรียนที่เหมาะจะทำระบบโซลาร์เซลล์ และส่งไปอบรมกับโรงเรียนมีชัยพัฒนา เพื่อออกแบบโซลาร์เซลล์ประจำโรงเรียน ซึ่งการอบรมครั้งนี้ ทั้งนักเรียน ครู และเจ้าหน้าที่ จะร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีที่สุดและช่วยรักษ์โลกไปพร้อมกัน

5 ปีของมูลนิธิที่ติดปีกเยาวชนให้ได้รับการศึกษาดีขึ้น และค้นหาการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ก้าวที่ 5 และก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน

สิ่งที่มูลนิธิใบไม้ปันสุขทำมาตลอด 5 ปี นับเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่หากก้าวไปเรื่อย ๆ จะกลายเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ และข้อชวนคิดที่ได้จากมูลนิธิใบไม้ปันสุข คือการเริ่มมองปัญหาตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทางและไม่ทอดทิ้งใครไว้ด้านหลัง ทั้งเยาวชนและธรรมชาติ จะต้องก้าวต่อไปด้วยกันอย่างสง่างาม

“เราไม่อยากจัดอีเวนต์แล้วจบไป เราอยากให้มันจับต้องได้ วัดผลได้ เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีความต่อเนื่อง จึงตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้เกิดผลสำเร็จในระยะยาว” คุณมาร์ทว่า

“เราให้ความสำคัญกับการประเมินและติดตาม เราต้องรอให้เห็นผลก่อนจึงจะมั่นใจว่ามันเวิร์ก อาจเป็นสาเหตุที่บอกว่าทำไมเราเพิ่งแถลงข่าวทั้งที่เปิดมาแล้ว 5 ปี เพราะเราอยากมั่นใจว่า โครงการที่เราทำมันต่อเนื่องและยั่งยืน เห็นผลจริง และจริงจัง” คุณก้อยทิ้งท้าย

จากบริษัทพลังงานที่ชื่อว่า บางจากฯ สู่การส่งต่อดีเอ็นเอรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการจัดตั้งมูลนิธิใบไม้ปันสุข ที่มีเลนส์การมองปัญหาสิ่งแวดล้อม จากการปลูกฝังความรู้ให้เยาวชนที่เป็นอนาคตใหม่ของประเทศ หลายคนอาจคิดว่าทำแค่เรื่องเล็ก ๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่มูลนิธิใบไม้ปันสุขเชื่อมั่นว่า การเริ่มต้นด้วยเรื่องเล็ก ๆ เมื่อได้ผลสัมฤทธิ์ที่เห็นผล สามารถขยายต่อเนื่องได้ นั่นคือการส่งต่อกำลังใจเพื่อที่จะร่วมแก้ไขปัญหาของพวกเขา เพื่อสร้างโลกยั่งยืนต่อไป

5 ปีของมูลนิธิที่ติดปีกเยาวชนให้ได้รับการศึกษาดีขึ้น และค้นหาการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

Writer

Avatar

พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

นัก (ชอบ) เขียนบ้ากล้องที่ชอบถ่ายรูปตัวเองเป็นพิเศษ เสพติดเสียงธรรมชาติ กลิ่นฝน และสีเลือดฝาดบนใบหน้า ที่ใช้เวลาเขียนงานไปพร้อมๆ กับติ่งอปป้าอย่างใจเย็น

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ