เมื่อ 1 มกราคมปีที่แล้ว ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกจำนวนมากพร้อมใจงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะพลาสติกที่เราใช้นั้น กลายเป็นขยะที่อยู่บนผืนดินและผิวน้ำอย่างยาวนานกว่าจะย่อยสลาย ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม เป็นอันตรายต่อสัตว์และพืชพันธุ์ต่างๆ

แต่การก่นด่าต่อว่าพลาสติกเป็นผู้ร้ายไม่น่าให้อภัยก็อาจไม่ยุติธรรมเท่าไร เพราะสารประกอบที่มีส่วนผสมไฮโดรคาร์บอนนี้ ยังคงมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และมนุษย์คงไม่อาจเลิกใช้พลาสติกได้ภายในเร็ววันนี้

ทางออกนอกจากลดการใช้ อาจเป็นการตามหาวิธีใช้พลาสติกให้ได้คุ้มค่าที่สุด และไม่ปล่อยให้หลุดรอดกลายเป็นขยะที่เปล่าประโยชน์หรือเป็นภัย

หนึ่งในองค์กรที่เฝ้าตามหาวิธีนั้นอย่างจริงจังคือ โลตัส ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ที่ดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อมในหลากหลายด้านมาตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว เช่น การสร้างอาคารสถานที่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทดแทนภายในร้านค้า รวมถึงผลักดันแคมเปญรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก มอบแต้มสะสมให้ลูกค้าเป็นของตอบแทนที่ช่วยกันไม่รับถุงพลาสติก และริเริ่ม #1มกราบอกลาถุง ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา จนเคยเป็นกระแสติดเทรนด์ในทวิตเตอร์

ถุงคืนชีพ โปรเจกต์รีไซเคิลขยะพลาสติกเป็นถุงใบใหม่ใช้ได้ไม่รู้จบของ Won และ Tesco Lotus

จากปรากฎการณ์นั้น โลตัสเล็งเห็นว่า ลูกค้าให้ความร่วมมือในการนำถุงผ้ามาซื้อของเป็นอย่างดี แต่บางส่วนก็ลืมหยิบมาหรือไม่สะดวก ด้วยเหตุนี้ ช่วงต้นปีที่แล้ว โลตัส จึงจับมือร่วมกับโครงการ “วน” (WON Project) ผลิต ‘ถุงคืนชีพ’ จากการรีไซเคิลพลาสติกเก่า ให้มีความหนาทนทาน รองรับน้ำหนักมากถึง 8 กิโลกรัม และวนใช้ซ้ำได้หลายครั้งสมชื่อ เพื่อรองรับลูกค้าและดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

หากถุงคืนชีพนี้เกิดชำรุด ลูกค้าสามารถนำกลับมาแลกใบใหม่ที่สาขาของโลตัสฟรี ส่วนถุงใบเก่านั้น โครงการ “วน” จะนำกลับไปรีไซเคิลเพื่อคืนชีวิตให้อีกครั้ง กลายเป็นวงจรการใช้ถุงพลาสติกที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่าการทำระบบปิดของบรรจุภัณฑ์ (Closed-loop Packaging System)

กมล บริสุทธนะกุล ผู้ริเริ่มโครงการ Won
สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส

The Cloud มีโอกาสพูดคุยกับ คุณกมล บริสุทธนะกุล  ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ผู้ริเริ่มโครงการ “วน” และ คุณสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท โลตัส ถึงความร่วมมือในการผลิตถุงคืนชีพนี้ และความท้าทายในการดำเนินโครงการรักษาสิ่งแวดล้อมของสององค์กรที่ข้องเกี่ยวกับพลาสติกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“หัวใจสำคัญคือพลาสติกและผู้บริโภคไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป เราใช้พลาสติกได้ แต่ใช้อย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด และจัดเก็บกลับเข้ามาในระบบอีกครั้งได้อย่างถูกวิธี” ทั้งสองคนบอกความเชื่อที่มีร่วมกัน

สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส

01

พลาสติกรีไซเคิล

โครงการ “วน” คือโครงการพิเศษอายุ 2 ปีครึ่งที่เกิดจากทีมด้านนวัตกรรมเฉพาะกิจของบริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ TPBI ธุรกิจผู้ผลิตและรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ก่อตั้งเมื่อราว 40 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันเขารับหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ควบคู่กับการเป็นทายาทรุ่นสองผู้คลุกคลีอยู่กับโรงงานในจังหวัดนครปฐมมาตั้งแต่เด็ก

เดิม TPBI รับรีไซเคิลพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งออกไปขายต่างประเทศอยู่แล้ว ทำให้มีศักยภาพการผลิตและรีไซเคิลที่ครบครัน รวมถึงทราบความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในโลกเป็นอย่างดี เช่นการแบนถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียว ซึ่งเกิดขึ้นในต่างประเทศมาหลายปี

แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวนี้ สักวันจะส่งผลกระทบต่อตัวธุรกิจของเขาที่มีรายได้หลักจากถุงพลาสติก

กมล บริสุทธนะกุล ผู้ริเริ่มโครงการ Won

“เรามองเห็นว่าพลาสติกเป็นปัญหาในหลายประเทศ แต่เราทำธุรกิจด้านนี้มาก็รู้ว่าพลาสติกไม่ได้แย่เสมอไป ถ้าจะมีใครสักคนขึ้นมาหาวิธีแก้ ก็ควรจะต้องเป็นพวกเรานี่แหละ” 

คุณกมลเข้าใจดีว่าพลาสติกนำไปรีไซเคิลเพื่อทำประโยชน์ได้ แถมยังใช้พลังงานและปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อการใช้หนึ่งครั้งน้อยกว่าวัตถุดิบอื่นๆ เสียอีก สิ่งที่เขาต้องหาคำตอบให้ได้คือ ทำอย่างไรให้พลาสติกไม่ถูกทิ้งเป็นขยะแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ถุงคืนชีพ โปรเจกต์รีไซเคิลขยะพลาสติกเป็นถุงใบใหม่ใช้ได้ไม่รู้จบของ Won และ Tesco Lotus

02

แยกขยะ

ต้นตอหลักที่ทำให้พลาสติกนำกลับมารีไซเคิลไม่ได้ คือการทิ้งขยะโดยคัดแยกไม่ถูกวิธี เช่นทิ้งพลาสติกสะอาดในถังขยะทั่วไป ทั้งที่พลาสติกบางประเภทนำกลับมารีไซเคิลได้ หรือทิ้งพลาสติกปนเปื้อนที่ส่งกลิ่นจนทำให้นำกลับมาใช้งานลำบาก

พลาสติกเหล่านั้นจึงกลายเป็นสิ่งไร้ค่า หรือไม่ก็ต้องใช้ทั้งเวลาและพลังงานคัดแยกเพิ่มทันที

“เราเห็นต้นแบบจากประเทศอังกฤษ เขามีถังขยะแปะรูปถุงหูหิ้วอยู่ที่ถังรีไซเคิล หรือไม่ก็แยกถังออกมาเป็นพิเศษทำให้คนทิ้งถูก เลยคิดว่าน่าจะต้องเริ่มจากสื่อสารให้คนเข้าใจก่อนว่า พลาสติกแบบไหนรีไซเคิลได้และไม่ได้บ้าง ก็เจอว่ามีพลาสติกประมาณสิบชนิดที่รีไซเคิลได้ จุดเด่นที่จำง่ายคือเอานิ้วโป้งจิ้มแล้วพลาสติกยืดออกได้”

คุณกมลเล่าเคล็ดลับการแยกประเภทพลาสติกที่เราทำได้ด้วยตัวเอง เขาเริ่มทดลองสื่อสารผ่านการทำภาพกราฟิกที่ดูง่าย และแปะตัวอย่างขยะประเภทนั้นๆ ไว้บนถังขยะภายในบริษัท เพื่อให้คนรู้ว่าต้องทิ้งถังไหนภายในเวลาเพียงเสี้ยวนาที ปรากฏว่าคนแยกทิ้งขยะได้ถูกมากขึ้นจริงๆ พวกเขาจึงขยายไปตั้งจุดรับบริจาคพลาสติกสำหรับบุคคลทั่วไปตามที่ต่างๆ และประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ “วน”

03

โครงการ “วน” รับถุงพลาสติก เพื่อนำมาวนรีไซเคิลใช้ใหม่

เมื่อได้รับขยะพลาสติกจากผู้คนมากขึ้น ขั้นตอนถัดไปคือการรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่

เบื้องต้น โครงการ “วน” นำขยะเหล่านั้นรวมกับขยะที่รับซื้อจากโรงงานอื่นที่ไม่ได้ถนัดด้านรีไซเคิล มาผลิตเป็นถุงพลาสติกใหม่ ตามความเชี่ยวชาญที่มีอยู่และความต้องการของตลาด โจทย์ที่โครงการ “วน” คิดตอนออกแบบถุงนี้คือ ทำอย่างไรให้คนใช้ได้นานที่สุด จึงเกิดเป็นถุงพลาสติกจากพลาสติกรีไซเคิล 80 เปอร์เซ็นต์ที่มีความหนามากกว่า 36 ไมครอน รับน้ำหนักสิ่งของได้มากโดยไม่ขาด ใช้ซ้ำเพียง 4 รอบก็คุ้มกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ใช้ในการผลิต ในขณะที่ถุงผ้าต้องใช้ซ้ำถึง 131 ครั้ง

ถุงคืนชีพ โปรเจกต์รีไซเคิลขยะพลาสติกเป็นถุงใบใหม่ใช้ได้ไม่รู้จบของ Won และ Tesco Lotus

“ถุงประเภทที่เราทำมีในโลกนานแล้ว แต่มักถูกผลิตแบบถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียว หนาประมาณสิบไมครอน เราแค่ทำให้หนาขึ้นและทำให้นำมารีไซเคิลซ้ำหลายรอบ ด้วยการเติมพลาสติกใหม่เข้าไปยี่สิบเปอร์เซ็นต์” คุณกมลเล่า

ถุงคืนชีพ โปรเจกต์รีไซเคิลขยะพลาสติกเป็นถุงใบใหม่ใช้ได้ไม่รู้จบของ Won และ Tesco Lotus

ยิ่งใช้หลายรอบและนำกลับมารีไซเคิลอีกเมื่อใช้ถุงไม่ได้แล้ว ยิ่งช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่อเทียบกับการผลิตบรรจุภัณฑ์อื่น 

ส่วนการเติมพลาสติกใหม่เข้าไป เป็นความจำเป็นในการช่วยเสริมสภาพความแข็งแรงของเชื้อพลาสติกเมื่อเจอความร้อนในกระบวนการผลิต ที่ปกติทำให้โครงสร้างภายในเสื่อมลง 

วิธีการนี้ทำให้โครงการ “วน” รีไซเคิลพลาสติกได้เรื่อยๆ แถมเศษขยะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของกระบวนการผลิตนี้ ยังนำไปรีไซเคิลได้อีกรอบ สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อย่างแท้จริง

04

ถุงคืนชีพไทย

หลังจากโครงการ “วน” ผลิตถุงชนิดพิเศษนี้ไประยะหนึ่งจนผลงานเป็นที่ประจักษ์ พวกเขามีโอกาสพบทีมของโลตัสที่กำลังตามหาวิธีแก้ปัญหาพลาสติกอยู่ ถือเป็นการพบกันของสององค์กรที่มีพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกันในช่วงเวลาที่เหมาะสม

“โลตัสมีนโยบายการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ลูกค้ากำลังตามหาถุงที่ใช้งานได้อย่างหลากหลาย ทนทาน และเหมาะสมกับการใช้งานไม่ว่าจะใส่ผลิตภัณฑ์ที่มีของเหลวหรือความชื้น เช่น อาหารสด รวมไปถึงการใส่ของหนัก เวลาเดินซื้อสินค้าอุปโภคมากๆ ก็ไม่เป็นอะไร ซึ่งโครงการ “วน” ทำสิ่งนี้พอดี” คุณสลิลลาเล่าว่า โครงการ “วน” เข้ามาช่วยมาเติมเต็มโจทย์ที่ค้างคาอย่างไร

และเพื่อปรับบริบทให้เหมาะสมกับเมืองไทย ทีมงานโลตัสจึงร่วมออกแบบลายของถุงคืนชีพให้น่ารักเข้าถึงง่าย เช่นลวดลายตามภูมิภาคและภาษาถิ่น ลายคาแรกเตอร์การ์ตูน และลายล่าสุด ลายผ้าไทยประจำ 4 ภาคที่มีในปัจจุบัน ชวนให้คนดูแลเก็บรักษาอย่างดี

05

ทีมเดียวกัน

เมื่อมาทำงานร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายและผู้บริโภคเป็นเหมือนทีมวิ่งผลัดที่ส่งไม้ต่อกันอย่างถูกจังหวะ

โครงการ “วน” รับบทบาทผลิต ‘ถุงคืนชีพ’ ส่งให้ทางศูนย์กระจายสินค้าของโลตัส ก่อนมีรถบรรทุกสินค้านำถุงพลาสติกเหล่านี้ส่งไปยังแต่ละสาขาพร้อมสินค้า

ส่วนทางโลตัส นอกจากรับหน้าที่จำหน่ายถุงตามแต่ละสาขาทั่วประเทศ พวกเขาเปลี่ยนจุดบริการลูกค้าให้กลายเป็นจุดรับแลกถุงคืนชีพ หากถุงนี้ของโลตัสชำรุด ผู้บริโภคก็นำกลับมาแลกใบใหม่ได้ทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

หลังจากนั้น ทางร้านจะรวมถุงชำรุดและขยะพลาสติกอื่นที่รีไซเคิลได้ตามคำแนะนำของโครงการ “วน” ส่งกลับมาที่ศูนย์กระจายสินค้า เพื่อส่งต่อให้โครงการ “วน” รับกลับไปรีไซเคิลเป็นถุงพลาสติกใบใหม่ กลายเป็นวงจรที่ทุกคนทำงานร่วมกันอย่างสมบูรณ์ 

ด้วยความร่วมมือนี้ ทำให้โครงการ “วน” ได้รับบทบาทเป็น Extended Producer Responsibility (EPR) หรือผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบขยายออกไปมากกว่าแค่การผลิต

“ต้องชื่นชมทางโลตัสที่มีความตั้งใจเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วย เช่น การปรับโมเดลศูนย์กระจายสินค้าเพื่อรับและส่งขยะพลาสติกกลับมาซึ่งต้องมีการลงทุน นี่ถือเป็นโมเดลนำร่องที่ดีมาก ต่อไปธุรกิจอื่นๆ อาจต่อยอดทำเป็นศูนย์รีไซเคิลที่ให้คนมาทิ้งขยะ และจบกระบวนการภายในแต่ละจังหวัดได้เลย แบบนั้นประเทศจะพัฒนามาก แต่ทั้งหมดนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับคนในประเทศเช่นกัน ที่จะต้องหันมาร่วมมือกันนำขยะพลาสติกกลับเข้าระบบมารีไซเคิลให้เกิดประโยชน์สูงสุด” คุณกมลยิ้มอย่างมีความหวัง

06

ไม่แพงไป ไม่ถูกไป

ปัจจุบัน ถุงคืนชีพ มีวางขายที่สาขา ราคาถุงเล็ก 3 บาท และถุงใหญ่ 5 บาท

อาจมีหลายคนตั้งคำถามว่า ร้านค้าปลีกที่ขายหรืองดการแจกถุงพลาสติกทำไปเพื่อประหยัดต้นทุน มากกว่าคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า ซึ่งคุณสลิลลาตอบคำถามนี้ได้อย่างมั่นใจ

“เวลาร้านค้าตั้งต้นทุนสินค้า เราไม่ได้เอาค่าถุงพลาสติกมารวมด้วยอยู่แล้ว และจริงๆ การงดแจกและหันมาจำหน่ายถุงรูปแบบนี้แทน ก็มีต้นทุนแฝงด้านการสื่อสารเยอะ บางคนซื้อของน้อยลง แต่เรายินดีรับส่วนนี้ไว้ เพราะเราต้องการขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม และเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ” คุณสลิลลาเชื่อว่า นี่เป็นสิ่งที่ธุรกิจพอจะอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้ พร้อมการดูแลสิ่งแวดล้อม

เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าธุรกิจไม่ได้มุ่งหวังกำไรจากช่องทางนี้ ในปีที่ผ่านมาโลตัสจึงนำเงินจากการจำหน่ายถุงคืนชีพบางส่วนไปบริจาคเป็นอุปกรณ์การแพทย์เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลมะเร็งในชนบท 8 แห่งทั่วประเทศ

ส่วนทางด้าน โครงการ “วน” คุณกมลมองว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลอย่างมีนัยสำคัญ

“เราคิดว่าสามหรือห้าบาทมีความหมายมากพอที่จะทำให้คนรู้สึกว่าถุงนี้มีค่า ไม่ใช่ได้ไปแล้วทิ้งง่ายๆ แบบไม่เห็นค่า แต่ก็ไม่แพงไปจนคนรู้สึกเอารัดเอาเปรียบ คนเข้าถึงได้” คุณกมลอธิบายจากมุมมองผู้ผลิต

07

การเติบโตของโครงการ “วน”

ปัจจุบันโครงการ “วน” ขยายจุดรับบริจาคขยะพลาสติกทั่วประเทศมากกว่า 300 แห่ง และรับพลาสติกกลับมารีไซเคิลมากกว่า 100,000 กิโลกรัม เกินความคาดหมายตอนเริ่มโครงการ

“ตอนแรกคิดว่าวางได้ห้าจุดบริจาคก็น่าดีใจแล้ว ทำมาเท่านี้ เราพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นนะ เห็นคนเข้ามาทำความรู้จัก และได้สื่อสารกับสังคมในฐานะผู้ประกอบการพลาสติก

“สำหรับเรา พลาสติกมีบุญคุณกับชีวิตคนในบริษัทมาก จะให้ไม่ทำอะไรกับเขาเลยก็คงไม่ใช่ สิ่งที่ทำได้คือบอกให้คนรับรู้ว่าพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอ และเรามีทางออกของปัญหา” คุณกมลย้ำ

แต่เมื่อถุงพลาสติกนี้ใช้ซ้ำได้หลายครั้ง ในอนาคต ความต้องการของตลาดจะน้อยลง และส่งผลต่อรายได้ของโครงการ “วน” และ TPBI หรือเปล่า เราสงสัย

“คงใช่ ช่วงที่ผ่านมาเราเลยเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้หลากหลายไว้ด้วย” คุณกมลเล่า พร้อมหยิบถังที่พัฒนาจากกระบวนการ Upcycling ให้เราดู เป็นการยืนยันว่าธุรกิจยังมีทางไปต่ออย่างสร้างสรรค์ยั่งยืน

08

ก้าวต่อไปของโลตัส

ตลอด 1 ปีเต็มที่งดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โลตัสมองเห็นว่าโครงการนี้มีผลตอบรับที่ดี สังเกตเห็นได้จากพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป มีการนำถุงใช้ซ้ำติดตัวมาเอง ไม่ว่าจะเป็นถุงกระสอบ ถุงผ้า หรือถุงพลาสติกแบบหนาของโลตัส

โลตัสไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่เท่านั้น ในปีที่ผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SME หลายแห่งขาดรายได้หรือต้องยุติอาชีพจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โลตัสต่อยอดและจัดทำโครงการ ‘ถุงคืนชีพ สร้างอาชีพ’ นำรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายถุงยังชีพ มอบเป็นอุปกรณ์ทำอาหารเพื่อการประกอบอาชีพ ให้กับ SME ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงมอบเงินทุนสนับสนุนการฝึกสอนการประกอบอาชีพพื้นฐาน สำหรับการตั้งหลักครั้งใหม่ของ SME

“ความตั้งใจของเราในปีนี้เป็นการช่วยสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายหลักของโครงการถุงคืนชีพ และช่วยเหลือ เยียวยาผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกัน” 

คุณสลิลลาอธิบายการต่อยอดโครงการที่ขยายจากการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายตั้งต้น สู่การช่วยเหลือชุมชน

หากร่วมมือร่วมใจกันคนละไม้คนละมือ คงมีวันที่เราอาศัยอยู่ร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นมิตร และผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้ด้วยกัน

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographers

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ