ขอแสดงความยินดีที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC) จะได้ต่อสัญญาอีก 10 ปี

จากใจคนรักหอศิลปกรุงเทพฯ ที่มาเที่ยวชมงานศิลปะกับเพื่อนตั้งแต่สมัยอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย มานั่งกินข้าวกินขนม มาทำงานพิเศษ มาช้อปปิ้งของคราฟต์กับอาหารสุขภาพ มาดูหนังฟังเพลง มาฟังเสวนา มาชมการแสดง มาเรียนเวิร์กช็อป ช่วยทำละคร แสดงละคร จนเคยได้รับเลือกให้นำเสนอผลงานละครของตัวเองที่นี่ โดยมีเจ้าหน้าที่หอศิลปฯ ช่วยดูแลสนับสนุนอย่างน่าซาบซึ้งใจ พูดได้เต็มปากว่าการมีอยู่ของ BACC ได้บ่มเพาะมนุษย์กรุงเทพฯ คนหนึ่งให้ใกล้ชิดศิลปวัฒนธรรม จนได้ลงมือทำงานศิลปะของตัวเองสำเร็จ 

หอศิลปกรุงเทพ BACC ได้ไปต่ออีก 10 ปี สรุปสถานการณ์แบบเข้าใจง่าย จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้

‘โชคดีที่มีหอศิลปฯ’ เราคิดเช่นนี้ และเชื่อมั่นว่าชาวไทยรวมถึงชาวต่างชาติอีกมากมายหลายคนก็เห็นด้วย การมีอยู่ของหอศิลปกรุงเทพฯ ที่มีคุณภาพ เมืองที่มีประชากร 10 ล้านคนนี้ได้ประโยชน์ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านการศึกษา และด้านการท่องเที่ยวอย่างคุ้มค่ามหาศาล 

ตอนนี้สถานการณ์ของหอศิลปฯ เป็นอย่างไร ทิศทางในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อ และเหล่าประชาชนคนไทยจะได้ใช้งานหอศิลปฯ และได้ช่วยพัฒนาหอศิลปฯ ต่อไปอย่างไร ลักขณา คุณาวิชยานนท์ กรรมการบริหารผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการหอศิลปฯ มาช่วยไขคำตอบ โดยเราสรุปข้อมูลมาให้ ดังนี้

หอศิลปกรุงเทพ BACC ได้ไปต่ออีก 10 ปี สรุปสถานการณ์แบบเข้าใจง่าย จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้

1. มูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ บริหารงานมา 10 ปีแล้ว และได้ต่อสัญญาอีก 10 ปี

อธิบายอย่างรวบรัดที่สุด 27 ปีก่อน สังคมและประชาชนได้ต่อสู้เรียกร้องยาวนานว่าคนกรุงเทพฯ ต้องการหอศิลปวัฒนธรรม ไม่ใช่ศูนย์การค้าอีกแห่งใจกลางเมือง จนในที่สุดข้อเรียกร้องนี้ก็สำเร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2553 

พื้นที่และอาคารย่านปทุมวันเป็นของกรุงเทพมหานคร แต่ กทม. มอบอำนาจให้มูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ บริหารเป็นเวลา 10 ปี สัญญากำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ.​ 2564 2 -3 ปีที่ผ่านมาจึงเกิดคำถามในวงกว้างว่า อนาคตของหอศิลปฯ ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของรัฐจะเป็นอย่างไร

กทม. ให้คำตอบแล้วว่า BACC ยังควรบริหารจัดการในรูปแบบมูลนิธิ และให้มูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ เป็นผู้บริหารหอศิลปกรุงเทพฯ ต่อจากสัญญาเดิมอีก 10 ปี 

“สิบปีที่ผ่านมา หอศิลปฯ น่าจะพิสูจน์กับสังคมระดับหนึ่งแล้วว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญ คงมีไม่กี่มูลนิธิหรอกที่ได้บริหารพื้นที่ศิลปะแบบนี้ และทำงานให้สังคมได้เห็นทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ จากนี้อีกสิบปีข้างหน้า เราหวังว่าจะได้ออกแบบร่วมกันกับกทม. ว่าทิศทางของหอศิลปฯ ควรเป็นอย่างไร เพราะมันไม่ใช่แค่หอศิลปฯ ของคนกรุงเทพฯ แต่เป็นห้องรับแขกของประเทศไทย ได้รองรับผู้คนมากมาย ตั้งแต่ราชวงศ์ รัฐมนตรีประเทศต่างๆ เรียกได้ว่าใครที่สนใจศิลปะ เมื่อมากรุงเทพฯ ก็ต้องมาที่นี่ 

“ความสำเร็จของ BACC คือความสำเร็จของ กทม. เป้าหมายของหอศิลปฯ คือทำประโยชน์ให้คนกรุงเทพฯ และประชาชนอื่นๆ เราอยากทำหน้าที่แทน กทม. ด้วยการแปรรูปนโยบายทางศิลปวัฒนธรรมของ กทม. เป็นรูปธรรม” ลักขณาเอ่ยอย่างหนักแน่น

2. กรรมการมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ กำลังจะหมดวาระ และยังไม่มีการคัดเลือกกรรมการชุดใหม่

กรรมการมูลนิธิกำลังจะหมดวาระในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 กทม. เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ วิธีการคือคัดเลือกกรรมการสรรหาฯ ก่อน ซึ่งคนเหล่านี้จะเป็นผู้คัดเลือกกรรมการมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ 12 คนอีกที 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ BACC ระบุว่า ปัจจุบันทีมงาน กทม. ครองตำแหน่งคณะกรรมการที่ปรึกษาหอศิลปกรุงเทพฯ ด้วย ตั้งแต่ผู้ว่าราชการ รองผู้ว่า ปลัด และรองปลัดกรุงเทพมหานคร รวมถึงผู้อำนวยการสำนักต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวม 11 คน 

วิถีเดิมที่นิยมปฏิบัติกันมา คณะกรรมการสรรหาฯ จะคัดเลือกกรรมการมูลนิธิฯ ชุดเดิมบางส่วนจาก 12 คนมาปฏิบัติหน้าที่ต่อ เพื่อให้การทำงานราบรื่นต่อเนื่อง การคัดเลือกกรรมการสรรหาฯ น่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เพราะหากอย่างช้าที่สุด เดือนกรกฎาคมยังไม่ได้กรรมการมูลนิธิฯ การดำเนินงานในปีนี้และปีถัดไปจะติดขัดลำบาก ทั้งการวางแผนงาน การหาสปอนเซอร์ การร่วมมือกับหน่วยงานหรือศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศ 

หอศิลปกรุงเทพ BACC ได้ไปต่ออีก 10 ปี สรุปสถานการณ์แบบเข้าใจง่าย จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้
หอศิลปกรุงเทพ BACC ได้ไปต่ออีก 10 ปี สรุปสถานการณ์แบบเข้าใจง่าย จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้

3. ปัญหางบประมาณ ยังรอการแก้ไข

ที่ผ่านมาหลายคนคงได้ยินข่าวว่า BACC ประสบปัญหาด้านงบประมาณ 

หอศิลปกรุงเทพฯ ใช้เงินราว 70 ล้านบาทต่อปีในการทำงาน ไม่แพงเลยสำหรับคุณภาพและจำนวนผลงานที่ดึงดูดผู้เข้าชมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเกือบ 2 ล้านคนต่อปี 

 โดยเฉลี่ย มูลนิธิฯ หางบประมาณเองราว 30 ล้านบาท อีก 40 – 45 ล้านบาท ทาง กทม. เป็นผู้อุดหนุน แต่ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา งบสนับสนุนจาก กทม. ก็ชะงักไป ใน พ.ศ. 2564 หอศิลปฯ ได้รับการสนับสนุนเพียงค่าน้ำค่าไฟ 8 ล้านบาทจาก กทม. เท่านั้น ส่วนที่เหลือทางมูลนิธิและทีมงานต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด

 อย่างไรก็ดี สัญญาที่ตกลงไว้กับ กทม. ทำให้มูลนิธิฯ หารายได้ไม่ได้เต็มที่ เพราะห้ามเก็บค่าเข้าอาคาร และค่าเข้าชมงานศิลปะทั้งหมด ทางมูลนิธิฯ เองก็ไม่อยากทุ่มสรรพกำลังและเวลากับการหารายได้เชิงพาณิชย์ จนสูญเสียวิสัยทัศน์เดิม เพราะการมีอยู่ของหอศิลปกรุงเทพฯ คือสวัสดิการรัฐ ซึ่งคนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มาเยี่ยมเยียนควรเข้าถึงได้ 

“เราคาดหวังว่า พ.ศ. 2565 สภาฯ จะอนุมัติงบเพิ่มเติม ได้เห็นข่าวเบื้องต้นว่าเพิ่มงบค่าทำความสะอาดมาให้ด้วย แต่ยังไม่มีงบกิจกรรม คงต้องหารือกันต่อไป” อดีตผู้อำนวยการหอศิลปฯ พ.ศ. 2554-2560 เอ่ย “สมัยก่อน กทม. ก็มาช่วยดูแลการซ่อมตึกครั้งใหญ่ๆ ให้นะคะ พูดคุยกันได้ ได้รับความร่วมมือดี แรกๆ อาจมีช้าบ้างเพราะต้องปรับตัวกัน มูลนิธิไม่ได้มีระบบแบบราชการ บางทีเขาก็ไม่เข้าใจว่าทำไมค่าโปรดักชันเยอะขนาดนี้ ทำไมค่าตัวศิลปินมากเท่านี้ เราก็พยายามอธิบายให้เข้าใจว่างบประมาณนี้ออกมาเป็นเนื้องานยังไง 

“เวลาเราของบอุดหนุน เราชี้แจงล่วงหน้าทั้งปีว่าต้องใช้เงินทำอะไรบ้าง ซึ่งไม่รวมเงินเดือนเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ฐานเงินเดือนเขาสูงกว่าราชการ เพราะเราอยากดึงคนเก่งๆ ที่รู้เรื่องศิลปะ เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาทำงาน โดยการหารายได้มาจัดการส่วนนี้ มูลนิธิหาเองจากการให้เช่าพื้นที่ จัดกิจกรรม และจำหน่ายของที่ระลึกต่างๆ 

“สี่สิบล้านเป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐาน น้ำไฟ รปภ. แม่บ้าน และจัดกิจกรรม อย่างจัดนิทรรศการ การแสดงละคร กิจกรรมการศึกษา ทุกอย่างไม่เก็บค่าเข้าชม เพราะเป็นการคืนภาษีของประชาชนกลับไป แต่ถ้า กทม. ไม่สามารถอุดหนุนงบจำนวนเท่าเดิมได้ด้วยข้อจำกัดอะไรบางอย่าง ก็น่าจะปลดล็อกสัญญาบางข้อให้เรา”

ความช่วยเหลือสำคัญที่มูลนิธิฯ ต้องการจากรัฐ คือทำให้มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร สามารถจดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณะกุศล เพื่อเป็นมูลนิธิที่ช่วยลดหย่อนภาษีได้ เพื่อจูงใจให้บริษัทห้างร้านและผู้คนบริจาคเงิน ทางมูลนิธิฯ เคยยื่นเรื่องเองหลายครั้งแต่ไม่ได้รับการอนุมัติ ในขณะที่การบริจาคให้กองทุนของกระทรวงวัฒนธรรม หักภาษีได้สองเท่า

“ระบบลดหย่อนภาษีนี้เป็นระบบที่อเมริกาใช้แล้วเวิร์กมาก จนรัฐแทบไม่ต้องอุดหนุนมิวเซียมเลย ทำให้เอกชนอุดหนุนเอกชนกันเอง แล้วเอกชนอยู่ได้ ถ้าทำแบบนี้ ในอนาคตรัฐอาจค่อยๆ ลดงบประมาณอุดหนุนได้ แต่ไม่ถึงขั้นไม่ให้เลย ยังต้องให้เพื่อสร้างกลไกควบคุมไม่ให้มูลนิธิใช้โอกาสแสวงหากำไร แค่ทำให้มูลนิธิไม่ถูกผลักไปทำงานเชิงพาณิชย์ ยังทำตามนโยบายหลักของรัฐได้ 

“ถ้าปิดล็อกทุกทาง บริจาคก็ไม่จูงใจ เก็บค่าเข้าชมก็ไม่ได้ เราไม่อาจสร้างวัฒนธรรมที่ทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองต้องมีส่วนร่วมสนับสนุนศิลปะ อาจเก็บค่าเข้าชมนิทรรศการบ้าง หรือเปิดโอกาสให้เราทำระบบสมาชิกและเก็บค่าสมาชิกได้ ก็จะทำให้ภาคประชาชนได้เข้ามาช่วยสนับสนุน ไม่จำเป็นต้องรอแต่บริษัทรายใหญ่ ซึ่งคนอาจกลัวว่านายทุนจะมาครอบงำ อำนาจนั้นก็จะกระจายออกไป”

หอศิลปกรุงเทพ BACC ได้ไปต่ออีก 10 ปี สรุปสถานการณ์แบบเข้าใจง่าย จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้

4. หอศิลปฯ เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับทุกคน ไม่ควรมีลักษณะเหมือนศูนย์การค้า

BACC เองเป็นกรณีศึกษาในคอร์สออนไลน์ Massive Open Online Course (MOOC) ให้มหาวิทยาลัย Leuphana University Digital School ในเยอรมนี ด้วยโมเดลการทำงานที่เป็นลูกผสมระหว่าง Art Center กับมิวเซียม มีการเปลี่ยนนิทรรศการทุก 3 เดือน จึงนำเสนอประเด็นที่วิวัฒน์ไปกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ตลอด 

“ข้อเสียคือเราไม่มีนิทรรศการถาวร แต่ในเวลาเดียวกันก็มีพื้นที่ให้หน่วยงานอื่นที่ใช้ศิลปะเล่าเรื่อง เช่น ทัศนศิลป์ วรรณกรรม ภาพยนตร์ เข้ามาใช้พื้นที่เปิดประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ จึงเป็นพื้นที่ร่วมสมัยตามแนวโน้มของโลกยุคใหม่ที่ทุกอย่างเกี่ยวข้องกัน ไม่ใช่แค่พื้นที่ของคนสนใจทัศนศิลป์ มีเนื้อหาสำหรับคนหลากหลายกลุ่มจริงๆ เดินเข้ามาแล้วไม่เกร็ง ไม่ต้องเรียนศิลปะก็มาได้ ตัวงานก็เปิดให้พูดคุย ถกเถียง ตั้งคำถาม”

“บางวันแค่อยากมาพักผ่อน เจอเพื่อน เจอคนทำงานสร้างสรรค์สาขาต่างๆ ก็มีมุมให้มาได้ ร้านกาแฟ ร้านหนังสือ ร้านเครื่องประดับ ร้านไอศกรีม ร้านช็อกโกแลต ทุกร้านไอเดียสร้างสรรค์ ไม่ใช่แบรนด์ที่เจอที่ไหนก็ได้ บรรยากาศก็ไม่เหมือนห้าง แต่มีบรรยากาศเฉพาะซึ่งคิดว่าจำเป็นสำหรับเมือง มันกลมกลืนเป็นมิตร ไม่แข็งจนเกินไป เราคิดว่าพื้นที่แบบนี้แหละที่ทำให้ต่างชาติสนใจ ซึ่งก็เป็นพื้นที่ที่ กทม. ช่วยคิดมาตั้งแต่เริ่มด้วยนะ

“เราพูดเสมอว่า BACC ทำงานแบบประชารัฐสามัคคีมาตั้งนานแล้ว ทั้ง Public คือภาครัฐ Private คือมูลนิธิที่มีสถานะนิติบุคคล รวมถึงบริษัทห้างร้านต่างๆ และ People ประชาชนที่เป็นเจ้าของตัวจริงของที่นี่ ผู้สะท้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเขาอยากเห็นอะไรที่นี่ มีคนบอกว่าถ้ามีปัญหาเรื่องเงิน ก็ทำเป็นห้างสิ ชั้น 1 – 5 นี่ทำเป็นห้างไปเลย ให้ร้านแฟรนไชส์ดังๆ มาเช่า เหลือไว้แค่ชั้น 7- 9 ที่เป็นหอศิลปฯ ถามว่าทำแบบนั้นประชาชนจะยอมไหม แบบนั้นคุณไปห้างสรรพสินค้าอื่นในสยามก็ได้ มันต้องนำเสนอทางเลือกที่แตกต่างให้สังคมบ้าง”

หอศิลปกรุงเทพ BACC ได้ไปต่ออีก 10 ปี สรุปสถานการณ์แบบเข้าใจง่าย จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้
หอศิลปกรุงเทพ BACC ได้ไปต่ออีก 10 ปี สรุปสถานการณ์แบบเข้าใจง่าย จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้

5. หอศิลปฯ เป็นทั้งแกลเลอรี่ โรงหนัง โรงละคร ห้องเรียน และอื่นๆ อีกสารพัด

พื้นที่หอศิลปฯ ตั้งแต่ชั้น 1 – 9 มีนิทรรศการและกิจกรรมหลากหลายหมุนเวียน ตัวอย่างชัดๆ โด่งดังคือ เป็นพื้นที่หลักในการจัดแสดง Bangkok Art Biennale นอกจากนี้ยังเคยมีนิทรรศการหลากหลาย เช่น ‘เมืองจมน้ำ’ พ.ศ​. 2554 ซึ่งทางหอศิลปฯ คิดล่วงหน้าก่อนน้ำท่วมพอดิบพอดี ว่าการพัฒนาเมืองแบบผิดวิธีจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง จนเกิดภัยพิบัติที่คาดไม่ถึง หรืองาน Retrospective จัดแสดงผลงานและเรื่องราวของศิลปินไทยรุ่นใหญ่อย่าง อาจารย์ชะลูด นิ่มเสมอ, อาจารย์ประเทือง เอมเจริญ, อาจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก ซึ่งเล่าประวัติศาสตร์และพัฒนาการวงการศิลปะไทย 

ที่นี่ยังเคยมีนิทรรศการไทยเท่…จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์ เล่าเรื่องการพัฒนาศิลปะไทยตลอด 40 ปีจนถึงศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบัน มีนิทรรศการจัดแสดงโมเดลสถาปัตยกรรมระดับโลกที่ออกแบบโดยบริษัท Foster + Partners ที่ชาวสถาปัตย์มาดูกันอย่างคึกคัก และที่สนุกมากๆ คือการแสดงงานของศิลปินออสเตรียระดับโลก Erwin Wurm ที่ผู้ชมได้แปลงร่างเป็น Sculpture คนละ 1 นาที 

นอกจากนี้ยังมีงานกิจกรรมในรูปแบบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากงานนิทรรศการหรืองานทัศนศิลป์ อาทิ Cinema Diverse เทศกาลภาพยนตร์คัดสรร, เทศกาลละครกรุงเทพฯ, เทศกาลศิลปะการแสดง Performative Art Festival ที่เริ่มมีการเปิด Open Call เพื่อสนับสนุนศิลปินสาขาศิลปะการแสดง และมีโครงการแลกเปลี่ยนอีกมากมาย 

“เวลาเราจัดงาน ไม่ใช่แค่ให้สถานที่ บางครั้งมีทุนให้ศิลปินทำงาน ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวกลางระหว่างศิลปินกับผู้ชม ออกแบบกิจกรรมการศึกษา พัฒนาผู้ชม ไม่ใช่แค่ประชาสัมพันธ์งานแล้วรอคนเข้ามา เหมือนเป็นสถาบันการศึกษาไปด้วยในตัว เพราะเราเห็นว่าการศึกษาหลักขาด Art Education ขาด Art Appreciation ทำอบรมครูศิลปะในโรงเรียน ไม่ใช่แค่ให้เด็กมาทัศนศึกษาเพียงอย่างเดียว”

ตัวอย่างโครงการดูแลศิลปินรุ่นใหม่ที่ทางมูลนิธิฯ ภูมิใจคือ ‘โครงการ Early Years Project’ บ่มเพาะสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ เปิด Open Call ให้ยื่นขอพื้นที่และทุนสนับสนุนการแสดงงาน โดยคัดเลือก 8 – 12 โปรเจกต์ต่อปี ศิลปินหลายคนที่เคยผ่านโครงการนี้เติบโตจนได้รับการยอมรับในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ แถม BACC ยังมีทุนสนับสนุนให้ไปดูงานต่างประเทศ และทุน Artist Residency ให้ศิลปินรุ่นใหม่ไปพำนักและทำงานศิลปะอีก 2 รางวัล

สำหรับผลงานอันใกล้ในปีนี้ หอศิลปฯ กำลังจะมีนิทรรศการ ‘กรุงเทพเปลี่ยนแปลง’ ที่ให้สถาปนิก นักออกแบบ คนทำงานเรื่องเมือง การเกษตร ฯลฯ มาเล่าเรื่องโมเดลการจัดการเมืองเพื่อพัฒนาวิถีชีวิต ซึ่งจะเปิดเดือนกันยายนนี้ 

หอศิลปกรุงเทพ BACC ได้ไปต่ออีก 10 ปี สรุปสถานการณ์แบบเข้าใจง่าย จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้
หอศิลปกรุงเทพ BACC ได้ไปต่ออีก 10 ปี สรุปสถานการณ์แบบเข้าใจง่าย จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้

6. เป้าหมายของมูลนิธิฯ คือทำให้ BACC เป็นพื้นที่ศิลปวัฒนธรรมเต็มรูปแบบที่พึ่งตัวเองได้มากขึ้น 

เมื่อถามถึงทิศทางอนาคตของหอศิลปกรุงเทพฯ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการหอศิลปฯ เอ่ยปากว่าไม่อยากให้การต่อสัญญากับ กทม. เกิดขึ้นทุก 10 ปี 

“องค์กรสร้างสรรค์ต่างๆ ในเมืองไทย เป็นการบริหารกึ่งรัฐกึ่งเอกชนทั้งสิ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นองค์กรมหาชน เช่น CEA ห้องสมุด TK Park มิวเซียมสยาม หอภาพยนตร์ เพราะองค์กรเชิงสร้างสรรค์ต้องการความคล่องตัว ขณะเดียวกันก็ยังได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ เป็นสวัสดิการสังคมที่รัฐมีหน้าที่รับผิดชอบ ถ้า กทม. คิดว่าโมเดลมูลนิธิเหมาะสมแล้ว ก็ไม่อยากให้มีกรอบเวลากำหนด ยกเว้นว่าอนาคตมีโมเดลอื่นที่เหมาะสมกว่าก็ควรปรับเปลี่ยน

“เรายังอยากให้คงโมเดล Public, Private และ People ไว้ รัฐไม่ต้องสนับสนุนร้อยเปอร์เซ็นต์ มูลนิธิพึ่งพาตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ภาระ เอกชนก็ควรมีส่วนร่วมสนับสนุนได้ แต่หอศิลปฯ ยังเป็นพันธกิจของรัฐ ถ้ารัฐไม่สนับสนุนเลย ก็ไม่อาจคงสถานะไม่แสวงหาผลกำไรได้ เพราะองค์กรต้องการงบประมาณมาจัดกิจกรรมให้ได้มาตรฐาน ให้เกิดประโยชน์กับสังคมจริงๆ

“ในประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ เยอรมนี และประเทศยุโรปต่างๆ รัฐก็ช่วยสนับสนุนศิลปะ เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสาธารณะ รัฐมีหน้าที่ตอบแทนพลเมือง เหมือนโรงพยาบาล โรงเรียน สวนสาธารณะ เพียงแต่ว่าสถานที่เหล่านั้น กทม. บริหารจัดการเองได้ แต่เรื่องศิลปะ ณ วันนี้ระบบภายในของราชการยังไม่มีบุคลากรเชี่ยวชาญ ถึงต้องแต่งตั้งมูลนิธิมาบริหารจัดการ ซึ่งคล่องตัวกว่า”

ในแง่ผลงาน กรรมการบริหาร BACC แย้มว่าอาจทบทวนเรื่องการทำนิทรรศการถาวรควบคู่กับนิทรรศการหมุนเวียน โดยยืมงานศิลปะจากนักสะสมหรือสถาบันต่างๆ มาทำเป็นงาน Crossover กำหนดบทบาท BACC ว่าเป็นห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ และเจาะลึกแต่ละยุคสมัยอย่างจริงจัง 

ขณะเดียวกันก็จะเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมได้มีส่วนร่วมออกแบบมากขึ้น และสร้างพื้นที่บ่มเพาะอาชีพด้านศิลปะให้มากขึ้น สร้างบุคลากรเฉพาะทาง จากที่เป็นโรงเรียนฝึกหัดคิวเรเตอร์แบบกลายๆ ก็ทำให้ชัดเจนเต็มรูปแบบ รวมถึงตั้งเป้าว่าจะจัดงานระดับนานาชาติปีหรือสองปีครั้ง มีงานดีๆ ระดับโลกที่คนไทยอยากดู มาจัดแสดงได้บ้าง นอกเหนือจากงาน Bangkok Art Biennale

“จริงๆ อยากทำอีกมาก แต่คงตอบโจทย์ประเทศไทยไม่ได้ทุกอย่าง เราก็ทำตามกำลังที่เรามี ข้อดีคือเรามี Partnership ที่ดี มีสตาฟที่เชี่ยวชาญขึ้นเรื่อยๆ มีศิลปินที่เป็นนักจับชีพจรสังคม หยิบเรื่องราวขึ้นพูดแล้วทำให้คนหันมาฟัง” ลักขณากล่าวปิดท้าย

หอศิลปกรุงเทพ BACC ได้ไปต่ออีก 10 ปี สรุปสถานการณ์แบบเข้าใจง่าย จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้

บทความนี้อุทิศแด่ เพียงดาว จริยะพันธุ์ และ ภาวิณี สมรรคบุตร และบรรดาศิลปินผู้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพศิลปะในประเทศนี้

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ