หลังการพูดคุยยาวนาน งิ่ง-รัชชัย รุจิวิพัฒนา หนึ่งในสมาชิกคณะละครใบ้ ‘Babymime’ ยื่นหนังสือเล่มหนึ่งให้กับผม

หนังสือเล่มนั้นชื่อ เต้นกิน รำกิน ที่ Edinburgh

ภายในบรรจุเรื่องราวเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนที่เขาและเพื่อนอีกสองชีวิตอย่าง ทา-ณัฐพล คุ้มเมธา และ เกลือ-ทองเกลือ ทองแท้ เดินทางไปแสดงที่งานเทศกาลการแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอย่าง Edinburgh Festival Fringe 2016

ท่ามกลางนักแสดงกว่าครึ่งแสน โชว์กว่า 3,000 ชุดที่กระจายอยู่ในเมือง ปรากฏร่างคณะละครใบ้จากไทยที่ไปกันเอง 3 ชีวิต กินอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยตามจำนวนเงินอันน้อยนิดในกระเป๋า แน่นอน การเป็นศิลปินในบ้านเมืองที่วงการละครใบ้ยังเงียบเชียบสมชื่อ พวกเขาย่อมไม่ได้มีรายได้มากมายไว้ใช้สอยอยู่แล้ว-ไม่ใช่พวกเขาไม่รู้

แต่ที่พวกเขาไป เพราะมันเป็นหมุดหมายบางอย่างที่ทั้ง 3 ชีวิตฝันใฝ่ร่วมกัน

“ถ้าที่สุดของเทศกาลหนังคือเมืองคานส์ ที่สุดของงานศิลปะคือฝรั่งเศส ที่สุดของนักแสดงสตรีทโชว์คือ  เทศกาลเอดินบะระฟรินจ์ นี่แหละครับ”

บางบรรทัดในหน้าแรกๆ ของหนังสือที่อยู่ในมือผมเขียนไว้อย่างนั้น

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อพูดถึงคณะละครใบ้ในประเทศไทย เบบี้ไมม์ คือชื่อแรก-เผลอๆ เป็นชื่อเดียว ที่ใครหลายคนนึกถึง

 เสียงหัวเราะ น้ำตา และปรัชญาชีวิตที่ Babymime เรียนรู้จากละครใบ้

ย้อนกลับไปก่อนที่เราจะมานั่งคุยกันที่บ้านของงิ่งวันนี้ ผมรู้จักเบบี้ไมม์ครั้งแรกจากงาน ‘Pantomime in Bangkok’ เวทีละครใบ้ที่ใหญ่ที่สุดในบ้านเราเมื่อหลายปีก่อน หลังจากนั้นผมก็เห็นพวกเขาตามสื่อต่างๆ อยู่เป็นระยะ แม้ไม่บ่อยแต่ก็ไม่หายไปไหน

เรานัดพบกันราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ ‘Pantomime in Bangkok ครั้งที่ 15’ จะเริ่มขึ้น หลังจากหยุดจัดไป 4 ปี

บทสนทนาของเราย้อนคุยกันหลากเรื่องหลายรส ทั้งสุขทั้งเศร้า ทั้งสมหวังทั้งผิดหวัง และหากบ้านหลังข้างๆ แอบฟัง เขาหรือเธอย่อมได้ยินเสียงหัวเราะสดชื่นดังสลับความเงียบชวนวังเวงจนคาดเดาบทสนทนาแทบไม่ได้

แน่นอน ชีวิตคนเราไม่ได้มีแต่รอยยิ้มเหมือนยามที่พวกเขายืนแสดงอยู่บนเวทีอยู่แล้ว

เหมือนกับชื่อของบทที่ 1 ในหนังสือที่เขามอบให้ผม

ชีวิตมักไม่เป็นอย่างที่คิด

 เสียงหัวเราะ น้ำตา และปรัชญาชีวิตที่ Babymime เรียนรู้จากละครใบ้

บทที่ 1

ว่ากันว่าก่อนเล่าเรื่องตลก เราไม่ควรบอกว่ากำลังจะเล่าเรื่องตลก เพราะมันจะไม่ตลก

แต่กับเรื่องตลกร้าย ไม่ว่าจะบอกก่อนหรือไม่ มันจะยังคงเป็นเช่นนั้น

ความเงียบเข้าปกคลุมโต๊ะอาหารเมื่อ เกลือ สมาชิกในชุดสีเหลืองย้อนเล่าบางเรื่องราวเมื่อสองปีที่แล้ว

“วันนั้นแสดงอยู่ดีๆ ตาผมที่มองเห็นกว้างๆ มันก็เห็นแคบลงๆ ผมเริ่มมองไม่เห็นเพื่อน เริ่มเดินชนคนนั้นคนนี้ วันนั้นผมตกใจมากก็เลยไปหาหมอ หมอก็ส่งไปทำ MRI ผลคือมีก้อนเนื้องอกทับต่อมใต้สมอง ทำให้ทับเส้นประสาทสายตา สองแสนคนจะมีคนเดียวที่เป็น” เกลือย้อนเล่าจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาและเพื่อน

อย่างที่บอก โรคที่ว่าเป็นโรคที่ใหม่มากสำหรับหมอ จึงไม่มีใครบอกได้ว่าหลังการผ่าตัดผลจะเป็นอย่างไร

ไม่ต้องพูดถึงการกลับมาเล่นละครใบ้อีกครั้ง เอาแค่กลับมาใช้ชีวิตปกติได้หรือเปล่า ตาจะกลับมามองเห็นไหม ยังไม่มีใครกล้ารับประกัน

“สิ่งที่เราคิดคือหลังผ่าตัดเราจะกลับมาเล่นได้เหมือนเดิมมั้ย” เกลือบอกความกังวลเดียวในตอนนั้น

ใช่, เขาคิดถึงละครใบ้ก่อนลมหายใจเสียอีก

 เสียงหัวเราะ น้ำตา และปรัชญาชีวิตที่ Babymime เรียนรู้จากละครใบ้

เรื่องตลกร้ายคือช่วงเวลานั้นพวกเขากำลังจะมีโปรเจกต์  World Tour ตระเวนเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ในหลากทวีปเพื่อแสดงละครใบ้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความฝันของพวกเขาในฐานะนักแสดงละครใบ้ สุดท้ายสองสมาชิกจึงจำต้องหานักแสดงชั่วคราว เพื่อทดแทนหนึ่งสมาชิกที่นอนฟื้นตัวอยู่บนเตียง เนื่องจากตกลงทุกอย่างกับทางต่างประเทศไว้หมดแล้ว

ผลการผ่าตัดเป็นอย่างไรเราต่างรู้ดีกันอยู่แล้ว วันนี้เกลือกลับมานั่งเคียงข้างเพื่อนตรงหน้าผม

หากแต่ผลกระทบจากการผ่าตัดครั้งนั้นยังส่งผลต่อเรื่องเล่าอยู่บ้างเล็กน้อยยามที่เราย้อนไปคุยถึงเรื่องราวในอดีต

“หมอบอกว่าผมอาจจะหลงลืมความจำบางส่วน ซึ่งมันก็หายไปจริงๆ นะ ความทรงจำมันหายไปเป็นช่วงๆ บางทีสถานที่จำได้ว่าเคยไป แต่เราจำไม่ได้ว่ามาทำไร” เกลืออธิบายอาการของตัวเอง ก่อนที่งิ่งจะเสริมต่อ “เวลาเราไปที่ต่างๆ ถ้ามีช่วงเวลาที่ผมได้คุยกับเขา ผมก็จะถามเขาเสมอว่า ‘ป๋าจำได้มั้ย ตรงนี้เราเคยมาด้วยกัน’ ถามเหมือนคู่รักเลยนะ ซึ่งเขาก็จำได้บ้างไม่ได้บ้าง เราจะเช็คกันเป็นระยะ”

ฟังเรื่องเล่านี้แล้วรู้สึกว่าเขาโชคดีที่มีเพื่อนซึ่งจดจำทุกอย่างที่ผ่านเผชิญมาด้วยกันได้อย่างแม่นยำ

นี่คงเป็นข้อดีของการที่ความทรงจำไม่ได้ฝากไว้ที่ใครเพียงคนเดียว

 เสียงหัวเราะ น้ำตา และปรัชญาชีวิตที่ Babymime เรียนรู้จากละครใบ้

บทที่ 2

“ผมว่าชีวิตการทำละครใบ้มีครบทุกรสนะ มีทั้งรสขม รสเปรี้ยว รสอดอยาก รสยืมตังค์ โอ้โห ทุกอย่าง”

เกลือบอกด้วยรอยยิ้มเมื่อผมชวนทุกคนทบทวนเส้นทางชีวิตที่ผ่านมากว่าทศวรรษ

“มีรถแลกเงินด้วย” มุกนี้ของทา ทำเอาบทสนทนาครื้นเครงขึ้นมา แม้ใจความของมันจะขมปร่าอยู่ไม่น้อย

ไม่ต้องรอเขาบอกผมก็พอเดาได้ว่าไม่ง่าย-ไม่เคยง่าย กับการที่ศิลปินละครใบ้จะยืนหยัดอยู่ได้เกือบ 20 ปีโดยไม่ละทิ้งความเชื่อที่ไม่มีใครเชื่อ ก่อนความฝันนั้นจะผลิดอกออกผลให้เก็บกินอย่างทุกวันนี้

“ช่วงใหม่ๆ แรงเสียดทานค่อนข้างเยอะ” ทาเล่าช่วงเวลา ณ จุดเริ่มต้น “จำได้ว่างานแรกในชีวิตผมไปเล่นที่เดอะมอลล์บางแค เราภูมิใจมากที่ได้เล่น ก็เลยบอกญาติๆ ว่าเราได้ไปเล่น ญาติๆ เลยตามไปดู วันนั้นตอนแสดงเสร็จก็คิดว่า เราเด่นนะเว้ย เราเจ๋งนะเว้ย มีคนมาดูเรานะ แต่พอกลับถึงบ้านญาติๆ ไปบอกกับแม่ว่า ‘หางานให้ทาทำเถอะ อายเขา’ ตอนนั้นผมหน้าชาเลย นึกว่าเขาจะบอกว่า เฮ้ย ตลกดีหรืออะไร แม่ก็เลยจะคอยบอกให้เราหางานทำ

“ของผมนี่แม่พูดเป็นสิบปีเลยนะครับ ขนาดมีเงินให้แม่ เพราะบางงานได้เงินเยอะก็แบ่งให้แม่ใช้ แม่ก็ยังบอกว่า เฮ้ย ไปหางานทำ ตอนนั้นผมก็บอกว่า นี่ไงงาน ก็เล่นละครใบ้ไงแม่ นี่ไงได้ตังค์ คือถ้าผมตัวคนเดียวแม่อาจจะไม่ห่วงขนาดนี้ ที่แม่จะห่วงผมมากเพราะว่าผมมีลูกด้วย

“ทำอาชีพนี้แล้วลูกมึงจะกินอะไร” หลังจากทาเล่าถึงตรงนี้ผมเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าเขา แต่ไม่แน่ใจว่าข้างในเขายิ้มออกหรือเปล่า

ไม่ใช่แค่ทาเท่านั้นที่ต้องทนแรงเสียดทานในช่วงเริ่มต้น หากแต่อีกสองสมาชิกก็เผชิญชะตากรรมไม่ต่างกัน พวกเขาไม่มีอะไรจะอ้าง นอกจากปล่อยให้วันเวลาและสิ่งที่ทำเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพวกเขาอยู่กันได้ อยู่กันได้ดี ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง

“พอเวลาผ่านไป หลังจากนั้นผมก็ชวนแม่มาดูละคร แม่ก็เริ่มโอเคขึ้น แล้วก็เริ่มชวนพ่อ ซึ่งปกติพ่อผมเป็นคนที่ไม่ดูอะไรอย่างนี้ ซึ่งพ่อก็ตามไปดู 3-4 ครั้ง

“ถ้าถามว่าตอนไหนที่รู้สึกว่าสำเร็จแล้ว ก็คือตอนที่พ่อเดินมาตบบ่าแล้วบอกว่า แม้ป๊าจะไม่ชอบดู ป๊าดูไม่รู้เรื่อง แต่ป๊าภูมิใจในตัวทานะ ทำในสิ่งที่เราอยากทำเถอะ พ่อพูดแค่นี้ ตอนนั้นน้ำตาไหลเลยครับ”

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ตอกย้ำและยืนยันว่าพวกเขาได้รับการยอมรับแล้วคืองานโชว์เดี่ยวครั้งแรกในชีวิต

“ก่อนหน้านี้พวกเราใช้เวลานานมากกว่าจะมีโชว์ของตัวเอง จากที่เราเล่นที่นั่นทีที่นี่ที่ เล่นตามฟุตปาท เล่นตามเทศกาลเล็กๆ สั้นๆ แล้วเราก็มีคำถามที่เราคุยกันเองเสมอว่า เอ๊ะ เมื่อไหร่มันจะมีเวลาของเราเอง จนกระทั่งวันที่มาทำโชว์ครั้งแรกของตัวเอง

“จำได้เลย ตอนนั้นเสียงประกาศขึ้นมาเรายังกอดกันอยู่หลังเวที เฮ้ย เราทำได้แล้ว ทุกวันนี้หลายๆ ครั้งเราก็ยังกอดกันอยู่ แต่มีแค่โมเมนต์ครั้งแรกครั้งเดียวที่มันพิเศษจริงๆ”

 เสียงหัวเราะ น้ำตา และปรัชญาชีวิตที่ Babymime เรียนรู้จากละครใบ้

บทที่ 3

อาจฟังดูน่าทึ่ง ที่คณะละครใบ้คณะหนึ่งสามารถอยู่ได้ด้วยอาชีพนี้เป็นหลักบ้านเรา

อยู่ได้ในความหมายที่ว่า มีรายได้หล่อเลี้ยงปากท้องจากงานแสดงละครใบ้เป็นหลัก แม้ไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่ก็ไม่มีคำถามอีกต่อไปว่า ‘ทำอาชีพนี้แล้วลูกมึงจะกินอะไร’

ที่สำคัญเหนืออื่นใด พวกเขาอยู่ได้โดยสบตาคนในกระจกได้อย่างภาคภูมิ ไม่ต้องก้มหน้าหลบตา

นอกจากการแสดงตามงานจ้าง พวกเขายังใช้วิชาความรู้มาต่อยอดเปิดสอนบุคคลทั่วไปที่สนใจอยากเรียนรู้ศาสตร์ไร้เสียงนี้

“เราพยายามจะทำให้มันอยู่ได้จริงๆ ยั่งยืนจริงๆ เพราะว่าความเป็นโชว์วันนึงมันก็อาจจะหมดไปหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่ว่าความเป็นศิลปินละครใบ้ที่สามารถเอาองค์ความรู้ไปทำต่อ มันไม่มีสิ้นสุด ผมรู้สึกอย่างนั้น” งิ่งบอกกับผมเมื่อถามถึงการยืนหยัดในเส้นทางที่เลือกแล้วและถอยไม่ได้แล้ว

“แล้วอะไรทำให้ยังทำสิ่งนี้กันอยู่ ยังเล่นละครใบ้กันอยู่” ผมชวนพวกเขาทบทวน

“เหมือนจะต้องผ่อนอะไร”  งิ่งปล่อยมุกเรียกเสียงฮาไปหนึ่งครืน ก่อนที่เพื่อนคนอื่นจะดึงเข้าหมวดจริงจัง

“จริงๆ ผมว่ามันคงข้ามจุดอาชีพไปแล้วมั้ง” ทาว่าอย่างนั้น “มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว เราเป็นมนุษย์ ชีวิตต้องมีสุขมีทุกข์บ้างอยู่แล้ว เรื่องงานก็เหมือนกัน มันก็มีทั้งเรื่องที่ทุกข์และสุข แต่ผมคิดว่ามันมีเรื่องที่สุขมากกว่า เราอาจจะไม่ได้สิ่งนี้ แต่ว่าเราได้สิ่งที่มากกว่า มันคงเป็นเหตุผลว่าทำไมยังทำ ก็มันมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นกับเรามากมาย แล้วเราจะทิ้งมันทำไม ความสุขมันไม่ต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ได้ สุขห้าสิบเปอร์เซ็นต์ผมก็โอเคนะ หรือสี่สิบก็ยังโอเค แต่สุขร้อยเปอร์เซ็นต์มันไม่มีอยู่แล้ว

“อีกอย่าง สิ่งที่มีค่าที่สุดที่เรามีอยู่ทุกวันนี้คือประสบการณ์ เพราะเราทำมาจะ 20 ปีแล้ว นี่คือสิ่งที่หาไม่ได้ในเด็กยุคใหม่ๆ คุณค่าคือประสบการณ์ที่เราผ่านมา แล้วเราจะไปทำอาชีพอื่นทำไม มึงทำมาเกินหมื่นชั่วโมงแล้วนะ อยู่จนมันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายแล้ว

“เคยมีคนบอกผมว่า คุยกับมึงเหมือนคุยกับตัวละครใบ้เลย เพราะมือไม้มันออก เราก็คิดว่า เออ มันคงกลายเป็นเนื้อเดียวไปแล้ว แล้วเราจะไปปฏิเสธตัวเองทำไม ก็เราเป็นคนอย่างนี้”

 เสียงหัวเราะ น้ำตา และปรัชญาชีวิตที่ Babymime เรียนรู้จากละครใบ้

ทุกวันนี้เบบี้ไมม์มีอายุเกินสิบปีแล้ว แต่สิ่งที่พวกเขาทำยังคงเดิมคล้ายชีวิตในขวบปีแรกๆ นั่นคือรับงานจ้าง และตระเวนตามเทศกาลต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ

หากจะมองว่านี่คือความหนักแน่นก็ย่อมได้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผมสงสัยว่าพวกเขามองไหมว่านี่คือการย่ำอยู่กับที่

“ผมอาจจะเห็นต่าง” ทาเป็นผู้ตอบ “ผมรู้สึกว่าเราจะย่ำอยู่กับที่ก็ได้ ผมไม่ได้รู้สึกว่ามันจะต้องไปข้างหน้านะ ถ้ามีความสุขที่จะอยู่กับที่ก็อยู่ไปสิ มันไม่ได้เดือดร้อนอะไร

“สำหรับเรา อันดับแรก ถ้าถามเรื่องการเติบโต อย่างน้อยที่สุดคือเราเติบโตเรื่องความคิด เพราะว่าทาที่อายุ 39 ปีนี้ กับทาที่อายุ 25 หรือกับทาตอนอายุ 20 กว่าๆ ที่เริ่มต้นเล่น มันก็ไม่เหมือนกัน มันคนละคนกันเลย ความห่าม ความบ้าระห่ำ การใช้ชีวิตมันก็คนละเรื่องเลย ผมรู้สึกว่าเราเติบโตในทางความคิด ละครใบ้มันสอนเราเยอะมาก สอนให้เราเห็นชีวิต สอนให้เราใช้ชีวิต สอนให้เราเดินทาง พาเราไปเห็นโลกกว้าง ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุด ความคิดเราเติบโต ถึงแม้เงินในกระเป๋าในบัญชีมันจะไม่ได้เติบโตตามความคิดเราก็ตาม”

พวกเขาบอกว่าทุกวันนี้มุมมองที่มีต่อละครใบ้ได้แปรเปลี่ยนไปจากวันแรกแล้ว

และนี่อาจเป็นการเติบโตในอีกรูปแบบ

“สมัยก่อนเรารู้สึกว่ามันเป็นของเรา เป็นความยิ่งใหญ่ เป็นสิ่งที่ดีมาก ซึ่งพอเราไปยกว่ามันสำคัญ เราก็จะมีอีโก้ คนแตะต้องไม่ได้ แต่ทุกวันนี้ผมมองมันเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสาร ที่ทำให้สิ่งที่เราอยากพูดมันง่าย เข้าถึงคนดู  แล้วพอมองมันเป็นเครื่องมือสื่อสาร มันก็จะเบาลง คำถามคือแล้วเราจะใช้เครื่องมือนี้คุยอะไรกับคนได้บ้าง

“ครั้งหนึ่งเราทำประเด็นเรื่อง ‘ไทยจ๋า’ ซึ่งเป็นชิ้นงานที่เราภูมิใจ โปรเจกต์นั้นเป็นการทำงานร่วมกับน้องนิสิตจากจุฬาฯ คนหนึ่งที่ตั้งคำถามแบบนี้แหละว่า จริงๆ แล้ว ความเป็นละครใบ้สามารถเล่าในบริบทไทยได้ไหม เขียนบทได้ไหม แล้วเราก็ทำงานกัน ใช้เวลาประมาณ 2 ปี จนกลายเป็นละครใบ้ที่พูดเรื่องการไหว้ในหลายมิติ ไหว้แบบขอโทษ ไหว้แบบขอบคุณ ไหว้แบบกลัว ไหว้แบบอื่นๆ งานชิ้นนั้นความยาวแค่ประมาณ 2 นาทีนิดๆ แต่เรารู้สึกว่าละครใบ้มันทำอะไรได้มากมายเหลือเกิน”

 เสียงหัวเราะ น้ำตา และปรัชญาชีวิตที่ Babymime เรียนรู้จากละครใบ้  เสียงหัวเราะ น้ำตา และปรัชญาชีวิตที่ Babymime เรียนรู้จากละครใบ้

บทที่ 4

“มันไม่ใช่ลำบากแค่เงินทอง แต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ด้วย”

ระหว่างนั่งคุยกันจนท้องฟ้าด้านนอกเปลี่ยนสี พวกเขาก็พูดถึงอุปสรรคสำคัญที่ต้องเผชิญ

คู่รักอยู่ด้วยกันยังกระทบกระทั่ง นับประสาอะไรกับชายหนุ่มสามคนที่เติบโตมาต่างกัน นิสัยต่างกัน หากแต่โชคชะตาพัดพาให้มาใช้ชีวิตร่วมกัน

“คนอยู่ข้างๆ กันมันก็เหมือนกับสามีภรรยา แรงกระแทกมันต้องรับหมด ไม่ว่าเพื่อนจะเป็นอะไร มันโดนเหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย” งิ่งบอกถึงสิ่งที่พวกเขาทุกคนล้วนต้องยอมรับ

“ตอนนั้นมีช่วงหนึ่งซึ่งเป็นช่วงที่หนักมากๆ คือเราอาจจะไม่ได้ทำงานด้วยกันอีกต่อไปแล้วก็ได้ เพราะเราทะเลาะกันบ่อย ไม่ใช่เพราะเรื่องธุรกิจ แต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ พอมันมีความเครียดเกิดขึ้น มันก็ส่งผลให้ในครอบครัวก็เครียด เวลามาทำงานก็เครียด จากที่เราเคยมาทำงานแล้วมีความสุข เราก็เริ่มไม่มีความสุข จากที่อยู่กับครอบครัวแล้วมีความสุขก็ไม่มีความสุข อยู่กับพ่อแม่มีความสุขก็ไม่มีความสุข แล้วเราก็เหมือนเอาความสุขฉาบหน้า พอมีคนมาบอกว่า เราดูเป็นคนมีความสุข เราก็บอกว่า เออ ใช่ๆๆ เรามีความสุข แล้วเราก็เอาความสุขมาทับปัญหาเรา สุดท้ายปัญหาก็ไม่ได้แก้ มันก็ระเบิดออกมา มันเกือบจะไม่ได้ทำงานด้วยกัน แต่โชคดีที่เพื่อนๆ ก็ยังให้โอกาส คนรอบข้างก็ยังให้โอกาส” ทาเล่าถึงเส้นทางอันไม่ราบเรียบที่ผ่านมาแล้ว

งิ่งเล่าว่าพวกเขาถึงขนาดเคยเชิญนักจิตบำบัดมาช่วยแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างในใจของพวกเขา

“บางทีมันมีปัญหาเยอะแล้วเราแก้ไม่ได้ อย่างที่ว่า มันเคยมีจุดที่เคยเกือบๆ จะขาดสะบั้น แต่ว่ามันก็ไม่ขาด มองย้อนกลับไป ถ้าพวกเรามองแค่งานเฉยๆ คงอยู่ไม่ถึงสิบกว่าปีแน่ๆ แต่มันอาจจะเป็นเพราะเราเหมือนครอบครัวกันก็ได้”

“คงเป็นเวรกรรมที่ร่วมทำกันมา ต้องชดใช้กรรม” เกลือเรียกเสียงหัวเราะกลับมายังวงสนทนาอีกครั้ง

 เสียงหัวเราะ น้ำตา และปรัชญาชีวิตที่ Babymime เรียนรู้จากละครใบ้

เท่าที่ติดตามเบบี้ไมม์มา พวกเขาพูดเสมอว่างานที่ทำอยู่คือ การมอบรอยยิ้ม มอบเสียงหัวเราะ มอบความสุข ผมเลยสงสัยไม่น้อยว่า เขาเคยขึ้นเวทีไปมอบความสุขด้วยความทุกข์บ้างไหม

“ผมบ่อย” ทาชิงมอบตัว “ช่วงที่ไม่โอเคมันกินเวลาหลายปี ก็ต้องอยู่กับตรงนั้น แต่พอขึ้นเวทีไปมันกลับดีมากๆ คือที่ผ่านมาเราเคยรู้สึกว่า เราเป็นยาที่ไว้เยียยวยาคนอื่น ไว้เยียวคนดู คือมาดูเรา แล้วก็มีช่วงเวลาหนึ่งที่เขาแฮปปี้ แล้วเขาก็เอากลับไป แต่พอช่วงที่เราเกิดปัญหาเองแล้วเราต้องขึ้นไปเล่น ปรากฏว่าเขานั่นแหละที่เยียวยาเรา เสียงหัวเราะที่มันกลับมามันรักษาเรา เราไม่ได้ให้เขาฝ่ายเดียว เราต่างให้ซึ่งกันและกัน”

ฟังถึงตรงนี้ผมคิดว่ามีความจริงที่น่ายินดีสองเรื่อง

หนึ่ง-พวกเขายังแสดงละครใบ้อยู่ สอง-พวกเขายังอยู่ด้วยกัน ไม่มีใครหล่นหายไประหว่างทาง

ซึ่งบางทีเรื่องหลังอาจเป็นเรื่องน่ายินดีกว่าเรื่องแรกเสียอีก ในความหมายว่าถ้าเรามองความสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญของชีวิตน่ะนะ

“เงินทองไม่หาทางนี้ก็ไปหาทางอื่นได้ แต่ความสัมพันธ์ ถ้าขาดแล้วขาดเลยนะครับ การที่มันจะกลับมามันยากกว่าเงินทองด้วยซ้ำ เราต้องพยายามรักษาไว้” ทาสรุปบทเรียนที่เขาได้รับ

“เคยคิดเล่นๆ ไหมว่า ถ้าอยู่คนเดียวคงเลิกทำละครใบ้ไปแล้ว” ผมชวนเขาคิดก่อนที่งิ่งจะชิงตอบ

“อย่าว่าแต่เล่นคนเดียวเลย วันก่อนไปเล่นสองคน ยังรู้สึกเลยว่ามันอะไรขาดไป”

สิ้นประโยคนี้ของงิ่ง ผมดีใจที่เห็นพวกเขา 3 คนนั่งนิ่งเรียงกันอยู่ตรงหน้า

 เสียงหัวเราะ น้ำตา และปรัชญาชีวิตที่ Babymime เรียนรู้จากละครใบ้

บทที่ 5

หลังนั่งคุยกันที่โต๊ะอาหารจนอิ่มบทสนทนา เราชวนกันเดินขึ้นไปที่ห้องซ้อมซึ่งอยู่บนชั้นสองของบ้าน

ห้องซ้อมของพวกเขาไม่ได้ใหญ่โตอะไร แต่ก็ไม่เล็กเกินไปสำหรับคนสามคน

ที่ผนังด้านหนึ่ง ผมเห็นโปสเตอร์โปรโมทงานแสดงทั้งชีวิตของเบบี้ไมม์เข้ากรอบอย่างดีเรียงรายอยู่บนนั้น งิ่งซึ่งเป็นเจ้าของบ้านเดินมาบอกเล่าความทรงจำที่ฝังอยู่ในรูปต่างๆ

“อันนี้เป็นโชว์ครั้งแรก” “อันนี้ตอนที่ไปสนุกมาก” “ส่วนอันนี้ตอนนั้นพวกเราไปแสดงที่มาเลเซีย”

งิ่งอธิบายราวกับว่าเขาเห็นภาพนิ่งตรงหน้าเป็นภาพเคลื่อนไหว

เมื่อสังเกตสมาชิกทั้งสามคนที่อยู่ในโปสเตอร์ตรงหน้า ผมพบว่าเกลือคือคนที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด

อย่างที่เล่าไป, เมื่อสองปีที่แล้ว เขาป่วยเป็นโรคเนื้องอกในต่อมใต้สมอง การผ่าตัดส่งผลทางอ้อมให้รูปร่างของเขาไม่เหมือนเดิม น้ำหนักของเกลือขึ้นมาหลักสิบกิโลจนใครหลายคนอาจจำเขาไม่ได้ หากแต่เรื่องเหลือเชื่อคือหลังการผ่าตัดเพียง 8 เดือน เกลือสามารถกลับมาซ้อมละครใบ้ได้

“ตอนนั้นรักษาตัวประมาณ 6 – 8 เดือน แต่กลับมาเล่นจริงจังได้ก็เกือบปี ซึ่งถือว่าเร็วมาก หมอยังตกใจ หมอเขาบอกว่าฟื้นตัวเร็ว เพราะว่ามีคนไข้อีกคนที่เขาผ่าตัดเบากว่าผม แต่ตอนที่ผมหายแล้วไปหาหมอครั้งแรกเขายังนั่งรถเข็นอยู่เลย

“หมอชมเชยว่า อยู่ที่ใจแล้ว จิตใจคุณเข้มแข็ง” เกลือพูดประโยคที่ไม่ใช่แค่หมอหรอกที่คิดแบบนั้น

ถึงอย่างไรก็ใช่ว่าจะไม่มีสิ่งใดที่เขาและเพื่อนต้องปรับตัว ในความเป็นจริงแม้จะกลับมาเล่นละครใบ้ได้อีกครั้ง แต่มันก็ไม่เหมือนกับก่อนผ่าตัดอีกแล้ว

สรีระของเขาไม่เหมือนเดิม ความคล่องตัวไม่เหมือนเดิม นั่นคือความจริงที่เขาต้องยอมรับ

“ตอนแรกผมก็ทุกข์ ตอนที่กลับมาซ้อมผมรู้สึกว่า ตัวเองได้ขยับร่างกายไปแล้ว แต่เพื่อนบอกว่าไม่เห็นขยับเลย เราก็ เอ๊ะ เราว่าเราขยับนะ ผมเพิ่งรู้ว่าร่างกายผมใหญ่ขึ้น เวลาการขยับมันก็ต้องกว้างขึ้น จะขยับเหมือนแต่เดิมมันไม่ได้แล้ว โชคดีที่ผมจดจำร่างกายได้ แต่ถึงเวลาที่มันต้องเปลี่ยนแล้ว เพราะร่างกายเราเปลี่ยน เราต้องเคลื่อนไหวอีกแบบหนึ่ง เราก็ต้องฝึกจำใหม่ ทุกวันนี้มันก็ยังไม่เต็มร้อย แต่ว่าพอเล่นหลายๆ ครั้งเข้ามันก็รู้ว่า อ๋อ งานตัวเองมันเป็นอย่างนี้ คนเขาโอเคแล้ว ว่าเราเปลี่ยนแล้ว รูปร่างรูปลักษณ์เราเปลี่ยนแล้ว จะไปเล่นเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว แต่ว่าเราก็หาวิธีใหม่มา”

“แล้วเพื่อนๆ ได้ปลอบใจอะไรบ้างไหม” ผมถามเพื่อนอีกสองคนที่นั่งอยู่

ส่วนมากจะซ้ำครับ” เป็นทาอีกแล้วที่เรียกเสียงหัวเราะให้กลับมาอีกครั้ง “ผมคิดว่าเหตุการณ์นี้เกลือทำได้ดีนะ ถ้าเกิดกับผม ผมอาจจะไม่สามารถยอมรับได้เร็วและได้ง่ายขนาดนี้ มันไม่ใช่ทุกคนที่จะมานั่งยอมรับได้นะว่ากูต้องเป็นแบบนี้ ยิ่งถ้าเป็นคนมีความคาดหวังเยอะมันยิ่งคอยถามว่าทำไม ทำไม ทำไม แล้วคำว่าทำไมมันก็จะมาทำร้ายเรา แต่ผมดูเขาก็ชิลล์ๆ สบายๆ”

“ไม่ชิลล์นะ มีแอบนอนร้องไห้บ้าง” เกลือแทรกขึ้นมาก่อนจะหัวเราะร่า

“ถามในมุมผม พูดตรงๆ มันก็ไม่เหมือนเดิมแหละ” ทายอมรับว่ามีสิ่งที่เปลี่ยนแปลง “บางอย่างที่เคยเล่นได้ก็เล่นไม่ได้ แต่ว่าข้อดีของมันก็มันมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นไงครับ ถ้าได้ดูจะเห็นว่าบางเรื่องที่เกลือเคยเล่น พอหุ่นหรือรูปร่างเป็นแบบนี้แล้วมันน่ารักขึ้น เล่นแค่นี้เองแต่ได้มากกว่า ผมเลยไม่รู้สึกว่ามันดรอปลง เราได้สิ่งใหม่มาน่ะครับ

“นี่คือกฎธรรมชาติ เมื่อมีสิ่งที่หายไปก็ได้สิ่งใหม่ขึ้นมา ดีออก”

 เสียงหัวเราะ น้ำตา และปรัชญาชีวิตที่ Babymime เรียนรู้จากละครใบ้

บทที่ 6

นอกจากสรีระและการแสดงที่เปลี่ยนแปลง การที่ชีวิตเหยียบยืนอยู่ระหว่างความเป็นความตาย ก็ทำให้เกลือและเพื่อนมองชีวิตเปลี่ยนไป

“จริงๆ ตอนนั้นก็ปลงเหมือนกันนะ” งิ่งเล่าความรู้สึกในช่วงเวลานั้น “เราเองก็ไม่นึกว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้กับคนใกล้ๆ ตัว เพราะว่าตอนนั้นพี่เกลืออายุยังไม่ 40 เลย เรารู้สึกว่ามันเร็ว และที่สำคัญคือชีวิตมันไม่แน่นอน ไอ้ความไม่แน่นอนมันแน่นอนจริงๆ มันก็เลยทำให้เรากลับมามองย้อนถึงมิติอื่นๆ  ของชีวิตเราเอง

“เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าการทำเบบี้ไมม์นี่คือสุดยอดแล้ว เราทำงานหามรุ่งหามค่ำ มุกนี้คิดไม่ได้ก็มาบี้มาขยี้กันจนไม่ได้กินข้าว ไม่หลับไม่นอน เพื่อให้งานมันเกิดขึ้น แต่พอมาถึงจุดนี้เรารู้สึกว่าไม่ใช่ สิ่งสุดยอดคือชีวิตของเรา ชีวิตของเราเองนี่แหละ เบบี้ไมม์อาจจะอยู่ต่อก็ได้ หรือจะไม่อยู่ก็แล้วแต่ แต่ชีวิตเรามันสำคัญ”

ทาซึ่งนั่งฟังอยู่ข้างๆ เสริมต่อว่า “ตอนนั้นก็ตั้งตัวไม่ทันเหมือนกัน เคยคิดว่าคงอายุ 60 ขึ้นไปมั้ง ถึงจะคุยกันเรื่องนี้ ว่าเพื่อนจะหายไปไม่หายไป แล้วอยู่ดีๆ ก็ หืม เอาแล้วหรอ แล้วก็ต้องทำงานอยู่กับสภาวะความไม่แน่นอน ซึ่งมันทำงานยากเหมือนกันนะ แต่ข้อดีของมันคือแต่ก่อนผมเป็นพวก perfectionist ทุกอย่างต้องได้ เราเชื่อว่าเราทำได้ก็ต้องทำให้ได้ แล้วก็ทำได้จริงๆ แต่ว่าพอเจอเหตุการณ์นี้ก็มาย้อนดูว่าเราได้ก็จริง แต่เราก็เสียอะไรไปตั้งเยอะแยะมากมาย มันได้อย่าง แต่มันต้องเสียอีก ก็ต้องมาดูว่าคุ้มมั้ย”

แล้วเมื่อย้อนมองคิดว่าคุ้มไหม –ผมถามเมื่อสิ้นคำตอบของเขา

“ผมว่าคุ้ม” ทาตอบ “เพราะว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ เพราะว่า ถ้าเราไม่เจอเหตุการณ์นั้น เราจะพูดประโยคนี้ไม่ได้ว่ามันไม่คุ้มหรอก แต่เผอิญพวกเราโชคดีที่มีโอกาสได้เรียนรู้กับสิ่งนั้นในเวลาที่ยังเหมาะสมอยู่ บางคนอาจจะต้องรอถึงแก่มากๆ หรือว่าไม่เหลือใครแล้ว แต่นี่เราก็ยังอยู่กันไงครับ”

 เสียงหัวเราะ น้ำตา และปรัชญาชีวิตที่ Babymime เรียนรู้จากละครใบ้

บทที่ 7

ก่อนแยกย้ายผมเพิ่งรู้ว่า เดือนพฤศจิกายนนี้ เกลือจะต้องผ่าตัดสมองอีกครั้งหนึ่ง

“ตอนนั้นเนื้องอกมันงอกรอบแกนสมอง ครั้งที่แล้วหมอผ่าเข้าทางด้านซ้ายแต่ผ่าอ้อมไปทางด้านขวาไม่หมด เพราะเครื่องมือมันไม่ถึง เหลืออยู่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เขาก็คิดว่าถ้าเนื้องอกมันไม่โตก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ปรากฏว่ามันโตครับ ก็เลยต้องกลับไปผ่าอีกครั้ง” เกลือเล่าด้วยรอยยิ้ม ราวกับกำลังเล่าเรื่องราวธรรมดา ไม่มีอะไรน่าหวาดกลัว

โดยก่อนที่จะเข้าห้องผ่าตัดใหญ่อีกครั้ง แทนที่จะเลือกพักให้เต็มที่ แต่เขากลับขอขึ้น 2 เวทีสำคัญ อันได้แก่ Pantomime in Bangkok ครั้งที่ 15 ซึ่งจะจัดในวันที่ 6-8 กรกฎาคม และงานโชว์เดี่ยวของพวกเขาที่ใช้ชื่อว่า ‘BBM48’ ในเดือนสิงหาคม

“เราคงเสพติดความรู้สึก ความตลกของคน พอเราได้ยินเสียงหัวเราะบนเวทีมันมีความสุขมาก มันทำให้เราใจชื้น และทำให้สุขภาพผมดีขึ้นมา” เกลืออธิบายเหตุผลที่เขาเลือกขึ้นเวทีก่อนการผ่าตัดครั้งสำคัญ

ถึงแม้ผมจะมั่นใจว่านี่ไม่ใช่ 2 เวทีสุดท้ายของเขาหรอก หัวจิตหัวใจแบบนี้ ทัศนคติที่มีต่อโลกแบบนี้ เขากลับมาขึ้นเวทีอีกครั้งได้สบายอยู่แล้ว แต่ถึงอย่างไร ผมก็ยังอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเสียงหัวเราะข้างล่างเวที

“ผมนึกออกแล้ว ที่เรายังทำอยู่ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า เรารู้สึกว่าตัวเรามีคุณค่า อันนี้อาจจะเป็นสิ่งที่มากกว่าเงินทอง” ทาเสริมคล้ายคิดบางคำตอบที่ตกหล่นไประหว่างสนทนาออกกะทันหัน “ถามว่าเรามีคุณค่าเพราะว่าอะไร เพราะว่าเวลาเราไปเล่น ทุกคนมาบอกกับเราว่า ขอบคุณมาก ขอบคุณที่ทำให้เขามีความสุข เสียงปรบมือที่เขาให้กับเรา ก็เป็นเพราะเราให้ความสุขกับเขา โดยที่เราไม่ได้คาดหวังว่า เขาจะต้องมาบอกเราว่าเราเก่งเราเท่

“จริงๆ แล้วเจตนาของพวกเรามันเริ่มต้นจากเราแค่อยากไปทำให้ทุกคนมีความสุข แล้วสิ่งนั้นมันตีกลับมาเป็นคุณค่าในตัวเอง การที่เขาขอบคุณกลับมามันทำให้เรารู้ว่าเขาเห็นคุณค่าในตัวเรา ทำไมเวลาเราลำบากทุกคนก็พร้อมจะมาช่วย อย่างพี่เกลือนี่เห็นชัดเลย”

ทาพูดถึงงาน เพื่อนกันกับวันมหัศจรรย์ของนายทองเกลือ ที่เพื่อนพ้องในวงการ รวมทั้งแฟนๆ ต่างพร้อมใจกันจัดขึ้นเพื่อระดมทุนมาช่วยให้นายทองเกลือได้มีทุนในการผ่าตัด

อย่างที่รู้กัน ลำพังเงินเก็บจากงานแสดงละครใบ้นั้นไม่มากพอที่จะรักษาตัวอยู่แล้ว แต่มันไม่ได้ว่างเปล่าหรอก เพราะสุดท้ายสิ่งที่เขาทุ่มเททำตลอดมาก็กลับมารักษาชีวิตเขา

“ตอนนั้นค่าผ่าตัดของผมอย่างเดียวประมาณล้านสอง มันแพงมาก เพราะว่ามันเฉพาะทาง ผมก็คิดว่าจะทำยังไง ก็คุยกับเพื่อน ทุกคนก็บอกว่า มา ช่วยกัน แล้วทุกคนก็มาช่วยกัน ผมนี่น้ำตาไหลเลย คนดูก็มาดูกันเยอะมาก บางคนมาไม่ได้ก็โอนตังค์มา ทำให้ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมามันมีคุณค่า”

 เสียงหัวเราะ น้ำตา และปรัชญาชีวิตที่ Babymime เรียนรู้จากละครใบ้

ก่อนร่ำลาจากกัน ผมตั้งใจถามบางคำถามเพื่อบันทึกสิ่งสำคัญเอาไว้ เพราะลึกๆ ก็ไม่แน่ใจว่าการผ่าตัดครั้งใหม่เขาจะสูญเสียความจำส่วนใดไปอีก

“จากที่ใช้ชีวิตด้วยกันมา ความทรงจำที่ดีที่สุดคือตอนไหน” ผมถามโดยเฉพาะเจาะจงให้เกลือเป็นผู้ตอบ

หลังได้ยินคำถาม เขานิ่งคิดไม่นานคล้ายมีคำตอบในใจอยู่แล้วเมื่อค้นลึกลงไป

“ผมรู้สึกว่ามันคือตอนที่เราไปเอดินบะระ แล้วเราไปใช้ชีวิตกัน ไปนอนสนามบิน ไปเดินกินเที่ยว แล้วก็ไปเล่น มันรู้สึกว่าเราได้คุยกัน เราได้ใกล้กันจริงๆ เรารับรู้ถึงความลำบากด้วยกัน ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างลำบากมาแล้วก็มาคุยกัน แต่อันนี้เหมือนเราลำบากในสิ่งเดียวกัน แล้วเราก็เห็นตรงกัน แก้ไขสิ่งต่างๆ เหมือนกัน ผมรู้สึกว่าความทรงจำนั้นมันยังอยู่นะ

“หลังการผ่าตัดมาผมจำช่วงเอดินบะระได้ แต่ผมจำไม่ได้นะว่าผมแสดงอะไรยังไง แต่รู้ว่าเราไปเอดินบะระ ไปเจอคนไทยที่นั่นเขาต้อนรับ ผมรู้สึกว่ามันเป็นความทรงจำที่ดี ผมอยากให้เบบี้ไมม์มีโมเมนต์อย่างนั้นด้วยกัน”

สิ้นคำตอบของเขา ผมแทบไม่ต้องถามคำถามสุดท้ายที่ตั้งใจ

สิ่งสำคัญในชีวิตคืออะไร-คล้ายอยู่ในบทสนาระหว่างเราอยู่แล้ว

การได้อยู่ด้วยกัน กระทบกระทั่งกัน เยียวยากันและกัน ยิ้มด้วยกัน หัวเราะด้วยกัน ร้องไห้ด้วยกัน สุขทุกข์ด้วยกัน ใช้วันเวลาร่วมกัน ก่อนที่วันหนึ่งจะจากกันไป

บางทีนี่อาจจะเป็นความหมายของการมีชีวิตก็ได้

 เสียงหัวเราะ น้ำตา และปรัชญาชีวิตที่ Babymime เรียนรู้จากละครใบ้

Writers

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Avatar

เอม มฤคทัต

นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ที่อยากจะลองทำงานเขียน หลงรักทุกอย่างที่เป็นสีพีชและภาพยนตร์จิบลิ มีความสามารถพิเศษในการกินข้าววันละ 5 มื้อ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan