ฉาก 1 

สถานที่ : โต๊ะหน้าบ้าน (กลางวัน)

ตัวละคร : หญิงวัย 30 กว่าๆ สองคน คนหนึ่งแต่งตัวแต่งหน้าพริ้ง อีกคนผมกระเดียดไปทางไม่ได้หวี รวบไว้อย่างยุ่งๆ และอุ้ม 

(หญิง 1) เป็นอะไรมากมั้ย

(หญิง 2) กลุ้ม คุยกับลูกไม่รู้เรื่อง อยากได้อะไรก็ไม่บอก ทำอะไรไม่ถูกใจก็ร้องไห้ลงไปดิ้นกับพื้น หนักเข้าก็เขวี้ยงปาข้าวของ

(หญิง 1) ฟังแล้วเครียดแทนเลย นี่ลูกอายุเท่าไหร่แล้วนะ

(หญิง 2) สิบสอง เกือบสิบสาม

(หญิง 1) กำลังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเลย

(หญิง 2) เดือน

(หญิง 1) หืมมมม…

(หญิง 2) เดือน เกือบสิบสามเดือน

– กล้องตัดฉับมาที่อุ้มเดินเข้าฉาก ใส่เสื้อสูทกางเกงสแล็ก เหมือนอยู่ในแล็บครีมทาผิวไม่ระบุประเทศ หญิงสองคนหันมามองหน้าตาแปลกใจปนงง

(อุ้ม) ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป ถ้าคุณได้หัดใช้ภาษามือกับลูกตั้งแต่ยังเล็กค่ะ (ยิ้ม) Baby Sign Language ช่วยคุณได้ ลูกไม่ต้องร้อง พ่อแม่ไม่ต้องหมดปัญญา

Baby Sign Language ภาษามือทารก ตัวช่วยให้พ่อแม่คุยกับเบบี๋รู้เรื่องแม้ลูกยังพูดไม่ได้
Baby Sign Language ภาษามือทารก ตัวช่วยให้พ่อแม่คุยกับเบบี๋รู้เรื่องแม้ลูกยังพูดไม่ได้

– หญิง 1&2 จับมือกัน หน้าตาเหมือนสามีเพิ่งให้ไอโฟน 12 โปรแม็กซ์

(อุ้ม) อย่าลืมนะคะ ภาษามือสำหรับเด็กทารก ฝึกวันนี้ เพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างคุณและลูกรัก

– จิงเกิ้ลเบิกบาน

ฉาก 2

สถานที่ : โต๊ะกินข้าว (กลางวัน แฟลชแบ็กไป 8 ปีก่อน)

ตัวละคร : เด็กเล็กวัย 8 เดือน กับหญิงวัย 39 ผมกระเดียดไปทางไม่ได้หวี หน้ากระเดียดไปทางสิ้นหวัง มือข้างหนึ่งกุมขมับ

(หญิงแม่) เอาอะไรคะลูก

(ลูก) อื๊อๆ (หน้าเริ่มเบะ มือปัดชามข้าวตกกระจาย) ฮึ..ฮึ..ฮือๆๆๆๆ

(หญิงแม่) โอย อีกแล้วเมตตา คุณแม่ไม่รู้หนูจะเอาอะไร (เอาสองมือปิดหน้า) ฮึ..ฮึ..ฮือๆๆๆๆ

– Dissolve หน้าอุ้มร้องไห้ กลับกลายเป็นหน้าตาเชื่อมั่นยิ้มแย้ม 

ฉาก 3 

สถานที่ : ห้องให้สัมภาษณ์ (กลางวัน ต่อเนื่อง)

ตัวละคร : อุ้ม พิธีกร 

(อุ้ม) นั่นแหละค่ะ ชีวิตจริงของอุ้มเมื่อแปดปีก่อน ตอนเมตตายังพูดไม่ได้ แม่มือใหม่อย่างอุ้มก็เลยต้องใช้วิธีดูหน้า ดูท่าทางลูก แล้วเดาเอาว่าต้องการอะไร ก็ผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่ส่วนใหญ่ค่อนข้างกลุ้มใจ แล้วก็คิดตลอดว่าถ้าลูกพูดกับเราได้คงดี 

จนกระทั่งไปคุยกับเพื่อนแม่อีกคน เขาเลยแนะนำว่ามีคลาสสอน Baby Sign Language ซึ่งเอา American Sign Language มาดัดแปลงให้ทำง่ายขึ้น เด็กเล็กๆ จะได้ทำได้ ก็เลยตัดสินใจไปเรียน

– มีคนถามคำถามมาจากหลังกล้อง เสียงคล้ายก้อง ทรงกลด มาก

(พิธีกร) แล้วได้ผลไหมครับ

(อุ้ม) ก็ดีนะคะ เพราะก่อนหน้านี้อุ้มเคยลองดูวิดีโอแล้วเอามาทำให้ลูกดู ลูกก็แบบ แม่ทำอะไร เลยนั่งดูวิดีโอด้วยกัน เมตตาก็ไม่ค่อยสนใจ เราเลยเลิกไป แต่พอไปคลาส ครูเขามีวิธีการสอนเหมือนไม่ได้สอน เหมือนไปเล่นสนุกกันมากกว่า แต่ว่าเห็นผลมากเลย

(พิธีกร) เขาสอนยังไงครับ

(อุ้ม) เขาจะเริ่มคลาสจากร้องเพลงเล่นกันก่อนค่ะ เสร็จแล้วถึงเริ่มสอนภาษามือประมาณสิบห้าคำ มีธีมว่าวันนี้เกี่ยวกับเรื่องอะไร จำได้เลยว่าคลาสแรกเป็นท่าง่ายๆ แล้วก็เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน พวกคำที่ใช้บ่อยๆ อย่างเช่น พอแล้ว/หมดแล้ว พ่อ แม่ กิน เอาอีก เพลง เบบี้ ลูกบอล อยู่ที่ไหน อะไรเงี้ยค่ะ

Baby Sign Language ภาษามือทารก ตัวช่วยให้พ่อแม่คุยกับเบบี๋รู้เรื่องแม้ลูกยังพูดไม่ได้

(พิธีกร) แล้วเขาทำให้สนุกได้ยังไงครับ

(อุ้ม) ครูที่สอนดีมากเลยค่ะ เขาบอกว่าเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กเนี่ย เขาจะเรียนได้ดีที่สุดจากการได้จับ ได้เล่น แล้วก็ฟังเพลง เพราะฉะนั้น พอเขาสอนแต่ละคำเสร็จแล้ว ก็จะเอาของเล่นออกมาเป็นลังๆ เลยค่ะ เทไปรอบห้อง ให้เด็กคลานไปเล่นเอง เด็กสนใจคำไหน พ่อแม่ก็ทำท่าแล้วพูดไปด้วย เพราะพ่อแม่เองก็ต้องเริ่มเรียนไปพร้อมลูก

Baby Sign Language ภาษามือทารก ตัวช่วยให้พ่อแม่คุยกับเบบี๋รู้เรื่องแม้ลูกยังพูดไม่ได้
ภาพ : https://portlandearlylearning.com

(พิธีกร) ทำไมต้องทำท่าแล้วพูดไปด้วย

(อุ้ม) เพราะภาษาเป็นเรื่องของสัญลักษณ์และการเชื่อมโยงค่ะ การได้เห็น หยิบจับ แล้วใช้ภาษามือกับพูดไปพร้อมกัน เขาก็จะค่อยๆ เข้าใจว่านั่นคือการสื่อสาร เช่น ลูกเล่นตุ๊กตาหมี เราก็พูดว่า “นี่ตุ๊กตาหมี” พร้อมทั้งทำท่าหมี เสร็จแล้วลองเอาไปซ่อนข้างหลัง ถามแล้วทำท่า “อยู่ที่ไหน” พอเจอก็ทำท่าหมีอีก “เจอแล้วตุ๊กตาหมี!”

(พิธีกร) แล้วทำไมต้องใช้ภาษามือเพิ่มเข้ามาอีกล่ะครับ พูดอย่างเดียวไม่ได้หรือ

(อุ้ม) ลองมานึกอะไรเล่นๆ กันนะคะ สมมติว่าเราไปเที่ยวญี่ปุ่น แล้วไปเมืองเล็กๆ อยากซื้อข้าวเกรียบปิ้งมากเลย แต่คนขายไม่พูดภาษาอังกฤษและเราไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น เราทำไงคะ

(พิธีกร) เอามือชี้

(อุ้ม) ถ้าอยากได้สามอัน

(พิธีกร) (ชูสามนิ้ว)

(อุ้ม) ง่ายกว่าไปเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่อออกเสียงคำว่า さん個 มั้ยคะ

(พิธีกร) (หัวเราะ) ง่ายกว่าครับ

(อุ้ม) คือกว่าผู้ใหญ่อย่างเราจะเรียนภาษาใหม่ได้อย่างแตกฉานนี่ยังใช้เวลาเป็นปีๆ ใช่มั้ยคะ แล้วนึกถึงเด็กเล็กๆ ว่าสมองกับกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ที่ใช้ในการเปล่งเสียงยังพัฒนาไม่เต็มที่เลย เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่ยังพูดไม่ได้ แต่อยากจะกินข้าวเกรียบปิ้งแล้วเนี่ย จะทำยังไงที่จะช่วยให้ลูกได้กินข้าวเกรียบปิ้ง

Baby Sign Language ภาษามือทารก ตัวช่วยให้พ่อแม่คุยกับเบบี๋รู้เรื่องแม้ลูกยังพูดไม่ได้

(พิธีกร) แต่อย่างนี้ลูกจะใช้แต่ภาษามือ แล้วไม่พูด หรือพูดช้ามั้ยครับ

(อุ้ม) ตรงข้ามเลยค่ะ เมตตานี่พูดเร็วพูดเยอะมาก ขวบครึ่งพูดได้เป็นหลายร้อยคำแล้วค่ะ อนีคาเริ่มพูดช้ากว่า แต่ก็พูดได้เยอะตั้งแต่ยังไม่สองขวบ แต่ก่อนนี้อุ้มก็กลัว เพราะมีคนมาพูดว่า พูดสองภาษาทั้งไทยทั้งอังกฤษ หรือใช้ภาษามือ จะทำให้ลูกสับสน เลยไม่ยอมพูด อันนี้อุ้มกล้ายืนยันเลยค่ะว่าไม่จริง เด็กจะพูดช้าพูดเร็ว มันอยู่ที่ตัวเขาเองด้วย

(พิธีกร) แล้วตอนที่ยังใช้ภาษามือควบคู่ไปด้วยนี่ เมตตาใช้แต่ภาษามือจนพูดได้เลยหรือเปล่าครับ

(อุ้ม) ปนๆ กันค่ะ คำไหนภาษามือทำง่ายก็ใช้ทำท่าเอา คำไหนพูดง่ายกว่าก็ใช้พูด ที่อุ้มอยากจะย้ำเรื่องหนึ่งนะคะ ว่าการใช้ภาษามือ เป็นเพียงสะพานไปสู่การพูด เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเอาเป็นเอาตาย ท่าไม่ต้องเป๊ะ ลูกไม่ทำก็ไม่ต้องไปเครียด สำคัญที่สุดคือทำท่าแล้วพูดไปด้วย เหมือนพูดคุยกันสบายๆ แล้วก็ไม่ต้องยัดเยียดทำทั้งวัน เดี๋ยวจะเบื่อกันก่อนได้เรื่อง

(พิธีกร) อ้าวทำเยอะๆ ไม่ดีเหรอครับ จะได้เป็นเร็วๆ

(อุ้ม) โอ้โหภาษามือทำเยอะไปก็หนวกหูได้นะคะ (หัวเราะ) อุ้มเคยไปงานวันเกิดเพื่อนอนีคาตอนที่ยังเล็กๆ มีแม่คนหนึ่งพยายามจะใช้ภาษามืออยู่นั่น คือพูดอะไรทำท่าหมด ลูกก็ไม่ได้สนใจด้วยนะคะ อุ้มนี่อยากจะหันไปบอกว่า (มือซ้ายแบ มือขวาสับลงไปตรงๆ)

(พิธีกร) แปลว่า

(อุ้ม) Stop! (หัวเราะ)

(พิธีกร) (หัวเราะ) มีอะไรอยากบอกอีกบ้าง

(อุ้ม) ขออีกเรื่องเดียวค่ะ อย่างที่บอกว่าภาษาเป็นเรื่องของสัญลักษณ์ คือการใช้คำหรือท่าทาง แทนอีกสิ่งหนึ่งที่อยากพูดถึง เพราะฉะนั้น ก็อย่าให้ลูกไปใช้ภาษามือเป็นการแสดง เช่น ตื่นเต้นมาก อาทิตย์นี้ลูกทำท่า “ขออีก” บ่อยมากเลย ปรากฏบ่ายวันนั้นพาไปเยี่ยมคุณตาคุณยาย เลยบอกว่า “ทำท่า ขออีก ให้คุณตาคุณยายดูหน่อยสิคะลูก” ลูกก็จะงงๆ ว่าให้ขออะไรอีก แล้วเกิดลูกทำขึ้นมาจริงๆ แล้วไม่ได้ให้อะไรเขา “อีก” ลูกก็จะยิ่งงงใหญ่เลย

(พิธีกร) แล้วที่บอกว่าครูสอนแบบใช้เพลงประกอบ ลองทำให้ดูหน่อยได้มั้ยครับ

(อุ้ม) เอาเพลงนี้ก็แล้วกันนะคะ ลูกๆ อุ้มชอบมาก มีภาษามือสี่คำ คือ More, Together, Happy แล้วก็ Friends

(พิธีกร) ทำวิดีโอแบบนี้เยอะๆ ได้ไหมครับ เผื่อใครหาคลาสเรียนไม่ได้

(อุ้ม) ก็อยากทำนะคะ น่าสนุกดี จริงๆ อุ้มเขียนเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดในหนังสือ เลี้ยงลูกทางเลือก ด้วยนะคะ เผื่อใครอยากอ่านเพิ่มเติม

(พิธีกร) โฆษณาแฝงเหรอครับ

(อุ้ม) (ยิ้ม แล้วเอานิ้วชี้แตะที่ปาก)

Writer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์