ภาพความน่ารักของ ‘มาเรียม’ และ ‘ยามีล’ น่าจะยังคงอยู่ในความทรงจำของใครหลายๆ คน

จากลูกพะยูนที่พลัดหลงกับแม่เข้ามาสู่การดูแลของกลุ่มนักอนุรักษ์และชาวบ้านบนเกาะลิบง จังหวัดตรัง เกิดเป็นปรากฏการณ์ ‘ลูกสาวลูกชายของคนไทย’ ที่แจกความสดใสให้แม่ยกพ่อยกไปทั่วสังคมออนไลน์

จนวันหนึ่งที่ลูกพะยูนน้อยทั้งสองตัวไปต่อไม่รอด ด้วยพลาสติกเต็มท้องจากน้ำมือของมนุษย์มักง่าย

การสูญเสียครั้งนี้จะต้องไม่เสียเปล่า เครือข่ายนักอนุรักษ์ได้ร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นำร่างของมาเรียมและยามีลมาเก็บรักษาเป็นหุ่นสตัฟฟ์เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาวิจัย โดยมีนักวิชาการและทีมงานมือหนึ่งด้านการสตัฟฟ์สัตว์ของไทยเป็นผู้ดูแลการดำเนินงานในครั้งนี้

เชื่อว่าหลายๆ คนนึกภาพไม่ออกว่าการสตัฟฟ์สัตว์ทำยังไง ด้านในตัวสัตว์ยังคงเป็นเนื้อ หรือเป็นวัสดุอื่นที่ยัดเข้าไปแทน

นักสตัฟฟ์สัตว์มือหนึ่งของประเทศไทยพร้อมจะเล่าให้ฟังแล้ว

เบื้องหลังการสตัฟฟ์เพื่อชุบชีวิต มาเรียมและยามีล สองลูกพะยูนขวัญใจมหาชน

อุทิศร่างเพื่อการศึกษา

แนวคิดการสตัฟฟ์สัตว์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากในอดีตมากพอสมควร จากที่แต่เดิมสัตว์สตัฟฟ์ถูกใช้เป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะในการล่า มาสู่การทำเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาวิจัย การทำงานสตัฟฟ์สัตว์เพื่อการศึกษาจึงไม่ใช่การเน้นแข่งขันว่าใครมีครอบครองไว้เยอะกว่ากัน แต่เน้นความสมบูรณ์ถูกต้องตามหลักวิชาการ

บางครั้งสัตว์หนึ่งประเภททำสตัฟฟ์ไว้ตัวเดียวก็เพียงพอที่จะช่วยให้มนุษย์ได้เรียนรู้อะไรมากมาย รวมไปถึงกระตุ้นให้เกิดสำนึกในการอนุรักษ์ได้อีกทางหนึ่งด้วย พะยูน 2 ตัวก็เช่นกัน พวกมันไม่ได้เป็นแค่สัตว์สตัฟฟ์ แต่ยังเล่าเรื่องราวมากมายที่เกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทร และเรื่องที่คนไทยทั่วประเทศส่งกำลังใจให้พวกมัน เป็นเรื่องราวที่น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการลงมือแก้ปัญหาอะไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมแบบเดียวกับพะยูนทั้งสองอีก

พบกันครั้งแรก

หลังจากผ่านการผ่าชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตแล้ว ร่างของมาเรียมและยามีลถูกส่งมาที่กรุงเทพฯ โดยเครื่องบินของกองทัพเรือ วัชระ สงวนสมบัติ ผู้อำนวยการกองวัสดุอุเทศพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เล่าให้ฟังถึงภาพแรกเมื่อได้พบร่างพะยูนทั้งสองที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งเขายอมรับว่าไม่เป็นเหมือนดังที่คิด

วัชระ สงวนสมบัติ ผู้อำนวยการกองวัสดุอุเทศพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา

“เปิดเครื่องบินมามันไม่ใช่ภาพน่ารักเลย ร่างมันยุบ เหี่ยวๆ แห้งๆ โดยเฉพาะมาเรียม รู้สึกเศร้าเพราะดูเป็นสัตว์ป่วย ผอมซูบ ไม่เหมือนตัวที่เราเคยเห็นในข่าว เราก็คิดว่าจะทำยังไงต่อ ตอนนั้นใจผมยังเชื่อมั่นว่าทำได้นะ”

แม้จะอยู่ในมือของทีมนักสตัฟฟ์สัตว์ที่เก่งที่สุดในประเทศแล้ว แต่ด้วยสถานะของลูกพะยูนทั้งสองตัวนี้ที่เป็นดาราขวัญใจประชาชนซึ่งใครๆ ก็จับจ้อง ทำให้ความกดดันถาโถมเข้ามาสู่ทีมทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เบื้องหลังการสตัฟฟ์เพื่อชุบชีวิต มาเรียมและยามีล สองลูกพะยูนขวัญใจมหาชน

“มีกระแสว่าไม่อยากให้ทำ เพราะเขาเคยเห็นสัตว์สตัฟฟ์ที่ไม่สวย ทำออกมาน่าหดหู่ คนก็กลัวผิดหวัง อยากเก็บภาพดีๆ ไว้ในความทรงจำ แต่ในมุมมองของเรามันมีประโยชน์มากกว่าสัตว์ทั่วไป ถึงแม้ไม่ใช่มาเรียมหรือยามีล เราก็ควรทำเก็บไว้ เพราะในไทยมีพะยูนสตัฟฟ์เพียงไม่กี่ตัว แล้วถ้านับตัวที่สตัฟฟ์สวยๆ เท่าที่ผมนึกออกก็ยังไม่มีตัวไหนที่เป็นสุดยอดของความเหมือน เนื่องจากพะยูนเป็นสัตว์ที่ทำค่อนข้างยาก ทีมงานเราก็ต้องคุยกันว่าเราจะต้องหาวิธีที่ดีที่สุดเพื่อรับกระแสต่างๆ ให้ได้” คุณวัชระกล่าวด้วยความมั่นใจ

กองวัสดุอุเทศพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา

วางแผนอย่างรัดกุม

ทีมงานตัดสินใจสตัฟฟ์ยามีลก่อนเนื่องจากมีสภาพที่สมบูรณ์กว่า ผิวหนังมีรอยผ่าชันสูตรน้อยกว่า และไม่ซูบผอมเท่ามาเรียม ขั้นตอนการทำงานถูกวางแผนมาอย่างรัดกุม โดยจะต้องทำแม่พิมพ์จากตัวจริงขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นหล่อหุ่นซิลิโคนเพื่อใช้อ้างอิงสัดส่วนต่างๆ แล้วจึงค่อยทำหุ่นปูนปลาสเตอร์ให้เหมือนหุ่นซิลิโคนมากที่สุดเพื่อใช้เป็นโครงสร้างภายใน ก่อนที่จะเลาะหนังเพื่อนำมาหุ้มหุ่นปูนปลาสเตอร์อีกที

เบื้องหลังการสตัฟฟ์เพื่อชุบชีวิต มาเรียมและยามีล สองลูกพะยูนขวัญใจมหาชน

ขั้นตอนการหุ้มหนัง สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการวางหนังให้ตรงตำแหน่งแบบพอดีเป๊ะ เพราะหากตำแหน่งหนังเคลื่อนไปเพียงนิดเดียว จะทำให้จุดอื่นๆ เคลื่อนตามไปด้วยทั้งตัว การสตัฟฟ์สัตว์สี่ขาทั่วไปใช้ความยาวขาช่วยอ้างอิงตำแหน่งและขนาดได้ แต่สัตว์รูปร่างกลมเรียวยาวเป็นทรงกระบอกอย่างพะยูน ผอ.วัชระ ยืนยันว่า การวัดขนาดทำได้ยากกว่ามาก

“จากประสบการณ์ที่ทำสตัฟฟ์สัตว์มา รูปทรงนี้คือรูปทรงที่ยากที่สุดแล้ว อย่างเราวัดเส้นรอบวงได้ห้าสิบเซนติเมตร แต่เป็นวงรีหรือวงกลมล่ะ ตอนเอาหนังมาหุ้มถ้าเหลื่อมกันนิดเดียวมันก็ค่อยๆ ขยับไปหมด เราเลยต้องหล่อแบบซิลิโคนเอาไว้ก่อนเพื่อใช้อ้างอิงขนาดที่แท้จริง ผมคิดต่อว่าเนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องเยอะ แต่ตัวจริงมีตัวเดียว เช่น หากชาวบ้านเกาะลิบงอยากได้เพราะเขาผูกพัน ก็เอาหุ่นซิลิโคนไปเป็นตัวแทนได้ เพราะเป็นแบบที่หล่อจากตัวจริงก่อนที่จะผ่า เราทำตัวแทนอีกกี่ตัวก็ได้ ตราบใดที่พิมพ์ยังไม่พัง”

 วัชระ สงวนสมบัติ ผู้อำนวยการกองวัสดุอุเทศพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เบื้องหลังการสตัฟฟ์เพื่อชุบชีวิต มาเรียมและยามีล สองลูกพะยูนขวัญใจมหาชน

หัวใจของการสตัฟฟ์สัตว์อยู่ที่หนัง

วันชัย สุขเกษม นักวิชาการ Taxidermy ประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา คือหนึ่งในทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์ที่ดูแลร่างของมาเรียมและยามีลมาตั้งแต่ต้น แม้จะทำงานแข่งกับเวลา แต่คุณวันชัยก็กล่าวกับเราว่างานละเอียดเช่นนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะรีบร้อนได้

“ตอนนี้เราเพิ่งเริ่มยกมาเรียมออกมาจากตู้เย็น และอยู่ในขั้นตอนถอดพิมพ์จากตัวจริง เราตั้งเดดไลน์สำหรับมาเรียมไว้ว่าภายในสามวันต้องทำพิมพ์ให้เสร็จ โดยต้องแบ่งทำทีละซีกครับ พิมพ์เสร็จก็เอาไปแช่แข็งก่อน เพราะกว่าแบบซิลิโคนจะแห้งก็ใช้เวลานาน ถ้าทำในอุณหภูมิปกติหนังจะเสียหายเร็ว ถ้าหนังไม่ดีหนังไม่สวย หนังมันเน่าไปแล้ว เราก็จะสตัฟฟ์ไม่ได้ แต่ก็รีบไม่ได้อยู่ดี เพราะทำพิมพ์ต้องใช้เวลา ความชื้นของสัตว์ที่เราสตัฟฟ์มีผลต่อซิลิโคนด้วย ต้องค่อยๆ ทำ ใจเย็นๆ”

เบื้องหลังการสตัฟฟ์เพื่อชุบชีวิต มาเรียมและยามีล สองลูกพะยูนขวัญใจมหาชน

ทักษะสำคัญของการสตัฟฟ์สัตว์นอกจากความรู้ในเรื่องกายวิภาคแล้ว สมาธิและความใจเย็นคือสิ่งที่ทุกคนต้องมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนการเลาะหนัง การขยับมือต้องแม่นยำไม่ต่างจากศัลยแพทย์ เพราะหากพลาดทำหนังขาด นั่นหมายถึงความเสียหายที่ย้อนกลับมาไม่ได้

การเลาะหนังจึงต้องใช้คนช่วยกันเลาะอย่างน้อยตัวละสองคน และจะต้องมีช่วงพักมือเป็นระยะ เพื่อหลีกเลี่ยงความเครียดสะสมที่อาจนำมาสู่ความผิดพลาดได้

เบื้องหลังการสตัฟฟ์เพื่อชุบชีวิต มาเรียมและยามีล สองลูกพะยูนขวัญใจมหาชน

ความท้าทายของสัตว์ทะเล

พะยูนเป็นสัตว์สงวน หากผู้ใดครอบครองซากต้องทำเรื่องขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงทำให้ที่ผ่านมามีการสตัฟฟ์พะยูนน้อยมาก นั่นหมายความว่าข้อมูลที่ทีมงานจะมาใช้ช่วยในการทำงานยิ่งน้อยลงไปอีก

แม้แต่อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่คอยให้คำปรึกษาด้านการสตัฟฟ์สัตว์กับทางพิพิธภัณฑ์มาโดยตลอดก็ไม่มีประสบการณ์สตัฟฟ์พะยูนเช่นกัน เนื่องจากเป็นสัตว์หายากที่อาศัยอยู่ในทะเลแถบเขตร้อนเท่านั้น

เมื่อไม่มีองค์ความรู้ให้อ้างอิง ทีมงานไทยในครั้งนี้จึงต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนงานอย่างละเอียดและคิดแก้ปัญหาอย่างรอบคอบในทุกๆ ขั้นตอน จนน่าจะถือได้ว่าการทำงานในครั้งนี้จะกลายเป็นงานครูอีกชิ้นที่จะเป็นแนวทางให้กับการสตัฟฟ์พะยูนในครั้งต่อไปในอนาคต

เบื้องหลังการสตัฟฟ์เพื่อชุบชีวิต มาเรียมและยามีล สองลูกพะยูนขวัญใจมหาชน

“เราเป็นทีมทำสัตว์ใหญ่โดยเฉพาะครับ เรายังไม่เคยทำพะยูน หนังพะยูนกับหนังสัตว์ปกติไม่เหมือนกัน ชั้นหนังจะบางกว่า แล้วในหนังอีกชั้นนึงมีไขมันแทรกอยู่ ถ้าเราเลาะบางไป พอนานๆ ไปก็เสี่ยงที่หนังจะแตกเพราะอากาศบ้านเราร้อนชื้น แต่ถ้าเราเลาะหนังไว้หนามากๆ ไขมันก็จะแทรกอยู่ในนั้น ก็จะต้องใช้ระยะเวลาการทิ้งไว้ให้แห้งนานขึ้น และอาจจะมีไขมันไหลเยิ้มออกมาตลอดเวลา

“เรื่องนี้เราได้คุยกันแล้วว่าเราจะใช้วิธีการฟอกหนังช่วยดึงไขมันในหนังสัตว์ออกมา ตอนแรกเราตีไว้สามเดือน แต่ถ้าปัญหาเรื่องไขมันยังไม่จบ เวลาการทำงานก็อาจจะยาวไปอีก เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานที่เราคุมได้ยาก แต่เราก็พยายามวางแผนกันมาเยอะพอสมควรครับ” คุณวันชัยเล่าถึงความท้าทายที่ต้องเจอหน้างาน

มีไขมันเกินไปก็ไม่ได้ แห้งเกินไปก็ไม่ดี สำหรับการแก้ปัญหาหนังแห้งแตก ทีมงานตัดสินใจเติมไขมันเทียมให้ซึมเข้าไปในหนัง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแต่ไม่ละลายไหลเยิ้มในอากาศร้อนเหมือนไขมันธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเติมพาราฟินเข้าไปเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นด้วย เป็นการรวมเทคนิคสตัฟฟ์สัตว์หลายๆ ชนิดมารวมกันในการทำงานกับพะยูนตัวเดียว

เบื้องหลังการสตัฟฟ์เพื่อชุบชีวิต มาเรียมและยามีล สองลูกพะยูนขวัญใจมหาชน

ราวกับมีชีวิตจิตใจ

ความกังวลใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่มักจะเป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อพูดถึงการสตัฟฟ์สัตว์ คือความสมจริง นักสตัฟฟ์สัตว์จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องของกายวิภาคสัตว์ชนิดนั้นๆ รวมถึงออกแบบท่วงท่าของสัตว์ให้เหมาะสมและสื่อสารได้ถูกต้องมากที่สุด คำถามคือ สำหรับมาเรียมและยามีลที่สุขภาพร่างกายในวาระสุดท้ายของชีวิตไม่ได้สดใสสมตามวัยของมัน ทีมงานจะเลือกทำหุ่นสตัฟฟ์ของทั้งสองให้อยู่ในสถานะไหนของชีวิต

คุณวันชัยเล่าให้ฟังถึงแผนการที่วางไว้

“เราจะทำให้มาเรียมดูอ้วนนิดหนึ่ง ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมานิดหนึ่ง ไม่อยากทำให้ผอมมากจนดูไม่ดี ก็รู้สึกกดดันนะครับ แต่ว่าเรามีความภูมิใจมากกว่าที่เราได้ทำงานแบบนี้ครับ โชคดีที่มีโอกาสได้ทำ ถือเป็นโชคดีของพวกเรา”

เบื้องหลังการสตัฟฟ์เพื่อชุบชีวิต มาเรียมและยามีล สองลูกพะยูนขวัญใจมหาชน

การสตัฟฟ์สัตว์มี 2 แบบ ถ้าทำแบบง่ายๆ มักจะใช้วัสดุเช่นฝอยไม้มายัดไว้ภายในตัว ผลลัพธ์ที่ได้จะดูป่อง พอง และไม่มีกล้ามเนื้อ จนทำให้ใครหลายคนติดภาพว่าสัตว์สตัฟฟ์จะต้องดูแข็งทื่อน่ากลัว แต่สำหรับการปั้นหุ่นขึ้นมาใหม่หรือการทำพิมพ์ จะทำให้โครงหุ่นมีกล้ามเนื้อสมจริงมากขึ้น จัดหนังให้โค้งเว้าตามกล้ามเนื้อได้

“อย่างดวงตาก็เหมือนกัน สัตว์บางชนิดมันสีดำก็จริง แต่ไม่ดำสนิท ตาปัจจุบันเราใช้สองแบบ หนึ่งคือ เรซิ่นที่ทำขึ้นมาเอง สองคือ สั่งตาสำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามา เขาทำสีได้เหมือนจริงมาก แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นตาของสัตว์ต่างประเทศที่ล่าได้แล้วก็นิยมสตัฟฟ์ ถ้าเป็นสัตว์เฉพาะบ้านเราจะไม่มี บางตัวก็ต้องซื้อตาแก้วใสๆ มาทำสีเอง”

เบื้องหลังการสตัฟฟ์เพื่อชุบชีวิต มาเรียมและยามีล สองลูกพะยูนขวัญใจมหาชน

ส่งต่อจินตนาการและเนื้อหาสำคัญสู่ผู้ชม

ผอ.วัชระ ได้เล่าถึงข้อคิดที่อาจารย์ที่ปรึกษาชาวต่างชาติเคยฝากไว้

“อาจารย์ของผมแกบอกว่า สัตว์สตัฟฟ์เป็นสิ่งจัดแสดงที่ทำให้คนคิดเอง สมมติผมทำกวางกินหญ้า พ่อแม่ลูกสามคนมาด้วยกันแล้วก็ชี้ คนเห็นว่ากวางกินหญ้านี่ตามจุดประสงค์ของเราแล้ว แต่เด็กที่มาด้วยกันเขาอาจจะไม่ได้มองแค่กวางกินหญ้า เขาอาจจะมองว่ากวางมันรักลูกมันนะ มันเป็นการชี้ชวนกันชม งานชิ้นนั้นจะแสดงรายละเอียดได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับฝีมือคนทำ ถ้าเราให้รายละเอียดหรือข้อมูลที่เป็นจริงได้ ในการสื่อสารเราจะแทบไม่ต้องใช้คำอธิบายเลย ตัวสัตว์สตัฟฟ์จะสื่อสารด้วยตัวมันเอง”

การสตัฟฟ์มาเรียมและยามีลในครั้งนี้ ผอ.วัชระ ผู้นำทีมนักสตัฟฟ์สัตว์ก็มีความคาดหวังที่อยากจะสื่อสารไปถึงผู้ชมด้วยเช่นกัน

กองวัสดุอุเทศพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา

“แน่นอนว่ามาเรียมกับยามีลเป็นตัวแทนได้หลายมุมมอง เป็นทั้งความหวังดี ความตั้งใจ ความรัก ความทุ่มเท ของคนที่พยายามจะช่วยสัตว์ ในขณะเดียวกันมันก็เป็นความโหดร้ายที่มันต้องตายโดยมนุษย์อีกกลุ่มนึง มันทำให้คนเห็นว่าทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อจะช่วยโลกใบนี้ ถ้าไม่ทำก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาอีก บางทีเราไปสอนว่าลูกต้องหยุดใช้พลาสติกนะ มันคิดภาพไม่ออกหรอก แต่ถ้าเราบอกว่าถ้าเราใช้พลาสติกมาเรียมจะตายอีกกี่ตัวก็ไม่รู้ คนที่เขาติดตามและผูกพันกับมาเรียมมาตั้งแต่ต้น พอเห็นตัวสตัฟฟ์ก็จะตอบสนองได้ง่ายขึ้น ผมว่ามันคิดอะไรไปได้มากมาย”

ในท้ายที่สุดไม่ว่าหุ่นสตัฟฟ์มาเรียมและยามีลจะได้จัดแสดงในรูปแบบไหน แต่เราก็เชื่อว่ามันจะกลายเป็นบันทึกเรื่องราวความสูญเสียทางธรรมชาติที่ชัดเจนที่สุด เพื่อเป็นบทเรียนให้กับมนุษย์ได้เรียนรู้ที่จะวางตัวกับธรรมชาติให้ดีขึ้นกว่าเดิม

“สุดท้ายแล้วทั้งมาเรียมและยามีลมันได้กลายเป็นไอคอนการเปลี่ยนแปลงตัวเองของมนุษย์ไปแล้วล่ะครับ” ผอ.วัชระ กล่าวปิดท้าย

Writer

Avatar

แก้วขวัญ เรืองเดชา

โปรดิวเซอร์สารคดีโทรทัศน์ นักเขียน และนักออกแบบนิทรรศการ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan