9 กุมภาพันธ์ 2019
20 K

เคยเห็นตึกร้างที่มีโครงสร้างภายนอกสวยๆ แล้วนึกเสียดายที่ตึกเหล่านั้นถูกทิ้งผ่านกาลเวลาไปเสียเฉยๆ กันบ้างมั้ย

แล้วถ้าจะมีใครสักคนหลงรักตึกร้างเก่าเพียงแค่พริบตาเดียวที่ขับรถผ่าน จนอยากจะเป็นผู้ดูแลตึกหลังนี้เสียเองจะดูเกินจริงไปหรือเปล่า

แต่ฉันว่า Love at first sight มักจะเกิดขึ้นตอนที่เราไม่ทันตั้งตัวอยู่เสมอ

ตรงหน้าฉันคือตึก 3 ชั้นสีเหลืองสบายตาตั้งโดดเด่นอยู่ท่ามกลางห้องแถวเก่า จิ๋ม-อรพิณ วิไลจิตร กำลังรอต้อนรับฉันเข้าสู่ ‘บ้านตลาดพลู’ สถานที่ที่เป็นบ้านของเธอ และเป็นบ้านของแขกผู้มาเยี่ยมเยือนเช่นเดียวกัน

บ้านตลาดพลู

บ้านตลาดพลู

“เราไม่ใช่เป็นคนตลาดพลู บ้านเก่าของเราที่เราเกิดแถวนั้นก็คือคลองเตย เราไม่เคยมาตลาดพลูเลย แล้วเรามาตลาดพลูครั้งแรกในชีวิตแล้วก็มาเจอบ้านหลังนี้” จิ๋มเล่าให้เราฟังถึงการพบกันครั้งแรกระหว่างเธอกับตึกที่สูงที่สุดในตลาดพลูสมัยก่อน

ห้องแถวอายุร้อยปีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ผู้ปลูกสร้างเป็นคหบดีชื่อ คุณชื่น มัฆวิบูลย์ ซึ่งตอนที่สร้างครั้งแรกตึกนี้ก็มีเพียง 2 ชั้นเท่าตึกอื่นๆ ในละแวกเดียวกัน แต่เกิดไฟไหม้บริเวณนี้ คุณชื่นจึงปลูกตึกใหม่บนพื้นที่เดิมแต่เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ชั้น ความพิเศษของอาคารนี้คือสร้างด้วยปูนซีเมนต์ ในยุคแรกๆ ที่มีการนำปูนซีเมนต์มาใช้ในประเทศไทย ผสมกับไม้เก่าโบราณอย่างลงตัว

บ้านตลาดพลู

“หลายๆ คนอาจจะบอกว่ามันเป็น Destiny สำหรับเรา แต่เราเชื่อว่าความปรารถนาแรงกล้าในตัวเราต่างหากที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการได้ตึกนี้มา” ชาวตลาดพลูหน้าใหม่เล่าว่า เธอใช้เวลากว่า 5 เดือนในการติดต่อหาเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน เพราะบ้านหลังนี้ปิดร้างมานานกว่า 10 ปี ไม่ได้รับการดูแลจนดูทรุดโทรมน่ากลัว จนในที่สุดเธอก็ได้พบกับทายาทรุ่นหลานของ คุณปู่ชิน เสริบุตร เจ้าของบ้านผู้เป็นหมอทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เหตุที่บ้านหลังนี้กลายมาเป็นของหมอชินอาจเพราะคุณชื่นเห็นว่าหมอชินเสียสละ เพราะตึกนี้เป็นตึกที่สูงที่สุดในย่านตลาดพลู เป็นจุดที่อาจโดนทิ้งระเบิดได้ง่าย และหมอชินเข้ามาประจำการที่นี่พอดี ดังนั้น คุณชื่นอาจให้เซ้งหรือยกให้หมอชินก็เป็นได้

บ้านตลาดพลู

หลังจากใช้เวลารีโนเวตร่วม 8 เดือน จึงย้ายเข้าอยู่ที่ตึกนี้อย่างเต็มตัว ในช่วงแรกเธอตั้งใจไว้ว่าที่นี่จะเป็นเพียงที่อยู่อาศัยธรรมดาในชั้นสามของตึก แต่เธอเคยศึกษาเรื่องการทำโฮสเทลมาบ้าง ประกอบกับเรื่องราวความเป็นมาของที่แห่งนี้ยิ่งจุดประกายความฝันให้ชัดเจนขึ้น แม้จะยังลังเลใจเพราะบริเวณนี้ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่เธอก็ค่อยเริ่มๆ ลงมือทำจนเกิดเป็นโฮสเทลจำนวน 3 ห้องในบริเวณชั้นสองของตึกทั้งหมด

บ้านตลาดพลู บ้านตลาดพลู

อย่างที่นี่จะมีประตูอยู่ 1 บานที่มีตัวเขียนภาษาจีนอยู่ แปลได้ว่าเป็นที่พักที่รู้สึกผูกพันอาวรณ์ เชื่อมโยงกับตอนที่หมอชินย้ายออกไปในช่วงสงครามโลกได้พอดี หรือในอีกความหมายหนึ่งแปลเป็นคำอวยพรว่าที่พักนี้อยู่แล้วดี เธอมองตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าเล่าให้คนฟัง

“คือเราทำเองหมด การให้สีบ้านแต่ละห้องแต่ละชั้น เราก็จะคิดเองว่าสีนี้มันควรจะอยู่แบบนี้ เฟอร์นิเจอร์เป็นแบบนี้ เพราะว่าเราไม่อยากให้บ้านดูทันสมัยเกินไป แต่ก็ไม่อยากให้ดูน่ากลัวจนเกินไป หลายๆ จุดที่สามารถทำมือขึ้นมาได้เราจะทำเอง อย่างผ้าม่านหรือป้ายต่างๆ เพราะเรามีความรู้สึกว่ามันเข้ากับบ้าน” หญิงเจ้าของตึกเล่าเสริมว่ามีหลายสิ่งที่ยังคงเดิมเอาไว้ ทั้งประตู หน้าต่าง ราวบันได หรือพื้นกระเบื้องดินเผาเขียนลายที่ยังคงความสวยงามอยู่

บ้านตลาดพลู บ้านตลาดพลู

ในส่วนบริเวณชั้นล่างของตึกยังเปิดเป็นคาเฟ่เล็กๆให้แวะมานั่งพักผ่อนหย่อนใจ มีเพียงโต๊ะไม้ยาว 1 ตัวให้คนที่มาได้ลองทำความรู้จักกันในระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างละเลียดไอศครีมโฮมเมดรสอร่อยที่ลูกสาวเธอเป็นคนเลือก จิบน้ำวุ้นใบเตยหอมๆ ที่ลงมือทำเอง หรือลิ้มรสน้ำตาลสดจากเมืองเพชรร้านเจ้าประจำของครอบครัว ถ้าวัยผู้ใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็มีคราฟต์เบียร์ที่สามีของเธอรับรองว่ารสชาติดีให้ลองเลือกชิม

บ้านตลาดพลู

บ้านตลาดพลู

บ้านตลาดพลู

ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่นี่เธอเคยเปิดร้าน pub & restaurant  จนถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกอิ่มตัวกับธุรกิจจึงเลิกกิจการไป แต่เธอยังคิดถึงบรรยากาศการพบปะ แลกเปลี่ยนเรื่องราวกับผู้คนในแต่ละวัน ดังนั้น พื้นที่ตรงนี้จึงกลายเป็นที่พูดคุยกันอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง

“ตอนแรกเราอยู่แต่บนชั้นสาม ไม่ลงมาข้างล่างเลย แต่เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูก เพราะทุกคนกำลังถามว่าเราทำอะไร บ้านหลังนี้ทำอะไร เราต้องลงมา เราต้องให้คนรู้ เราเลยเริ่มคิดว่าเราจะทำอะไร แล้วก็ค่อยๆ มาทีละอย่าง เราอยากมีคนเข้ามาคุยกับเรา มาถามเราว่าบ้านเป็นยังไง แล้วจะไปเที่ยวที่ไหนได้บ้างอะไรแบบนี้” เจ้าของบ้านเล่าถึงที่มาของการเปิดร้านชั้นล่างให้ฉันฟัง

ระหว่างนั้นฉันกวาดตามองไปรอบๆ และสะดุดตากับภาพสีน้ำที่ติดอยู่ตรงชั้นวางของ โมบายปลาทำจากผ้าที่แขวนอยู่กับหน้าต่าง หรือกี่เย็บผ้าขนาดกะทัดรัดที่อยู่ใกล้ประตูทางเข้า ฉันได้รับคำตอบของความสงสัยว่าที่นี่เป็นศูนย์รวมของคนที่มาทำกิจกรรมในชุมชนตลาดพลู ไม่ว่าจะเป็นการสอนวาดภาพพู่กันจีน การสอนเพนต์สีน้ำ การทอผ้า รวมไปถึงการพาเดินชิมของอร่อยรอบตลาดพลู ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นที่บริเวณชั้นล่างของตึกแห่งนี้

บ้านตลาดพลู

เจ้าของบ้านตลาดพลูเล่าว่า ครอบครัวของเธอเป็นครอบครัวที่รักงานศิลปะและงานคราฟต์ ตัวเธอเองจบเพาะช่างทำให้มีทักษะเกี่ยวกับงานศิลปะ ส่วนลูกสาวเรียนเกี่ยวกับการทอผ้ามาโดยตรง และสามีก็จบทางด้านสถาปัตยกรรม จึงเห็นหลายๆ มุมตกแต่งด้วยงานฝีมือของคนในบ้านเอง ถือเป็นความโชคดีที่ได้มาเจอคนชอบจัดกิจกรรม และตัวเธอเองก็ชอบทำความรู้จักคนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้น เธอจึงยินดีถ้าที่นี่จะเป็นที่รวมผู้คนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือคนในชุมชนที่อยากเรียนรู้หรือแชร์สิ่งต่างๆ ให้แก่กัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เธอบอกว่าเกินจากเป้าหมายที่คิดไว้มาไกลทีเดียว

“จริงๆ มันไม่ใช่เป้าหมายแรกนะจากที่เราเคยคิดไว้ เราไม่ได้คิดมาไกลขนาดนี้ เพียงแต่ว่าพอดีว่าเรามาแล้วเราก็มาเจอน้องๆ กลุ่มยังธน เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากพัฒนาฝั่งธนบุรี มาเจอเพื่อนๆ อย่างเพจถามสิอิฉันคนตลาดพลู ที่แนะนำเรื่องในชุมชน หรือ พี่พี-พีรวัฒน์ บูรณพงศ์ ที่มาสอนวาดภาพสีน้ำ เรามาเจอคนพวกนี้เราแฮปปี้ เรารู้สึกว่าเขาน่ารัก เขาจริงใจ เพราะบ้านเราค่อนข้างกว้าง จะรับแขกอะไรอย่างนี้ได้” จิ๋มกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

แขกของที่นี่มีทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย มากกว่าครึ่งเป็นคนที่เคยอยู่ตลาดพลูแล้วย้ายออกไปอยู่ที่อื่น บางกลุ่มเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนละแวกใกล้เคียงนัดกันมาพบปะสังสรรค์ หรือมาเดี่ยวๆ เพียงคนเดียวก็มี บ้านแห่งนี้จึงกลายเป็นสถานที่ที่คนมาใช้เวลาย้อนความทรงจำ และสร้างประสบการณ์ดีๆ ไปพร้อมกัน  

บ้านตลาดพลู

นอกจากตัวอาคารแล้ว จิ๋มยังแนะนำให้ฉันรู้จักซอยเทอดไท 27 ที่ตั้งของตึกเก่ามากขึ้น ในซอยเต็มไปด้วยของอร่อยคาวหวาน บางร้านเก่าแก่อายุมากกว่า 50 ปี สืบทอดกันมาหลายรุ่น ฉันเห็นร้านขายข้าวหมูแดงที่มีคนมาต่อแถวรอซื้อไม่ขาดสาย ถัดออกไปหน่อยเป็นร้านขายบะหมี่มะระชื่อดัง หรือร้านน้ำเต้าหู้ทรงเครื่องที่อยู่ตรงข้าม ฉันว่าก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ร้านเหล่านี้เปิดบ้านเป็นหน้าร้าน ที่สำคัญ ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นห้องแถวโบราณเอาไว้ อย่างการใช้ประตูบานเฟี้ยมไม้ หรือภายในบ้านก็จะเห็นผนังปูนเดิมๆ อยู่

แดดร่มลมตก จิ๋มเชื้อเชิญฉันเดินขึ้นไปบนชั้นดาดฟ้าของตึกนี้เพื่อพิสูจน์คำกล่าวของเธอที่ว่าข้างบนนั้นเหมือนเป็นอีกโลกหนึ่ง ขณะยืนทอดสายตา ฉันนึกถึงเรื่องที่ได้ฟังก่อนหน้าเกี่ยวกับหนังสือที่เขียนโดยหลวงเมือง ผู้เป็นเด็กท้ายซอยในสมัยที่คุณชื่นยังอาศัยอยู่ที่นี่ หลวงเมืองเคยขึ้นมาเล่นว่าวกับคุณชื่นที่ชั้นดาดฟ้า เขาเห็นชุมชนตลาดพลูกว้างใหญ่ เห็นเรือกสวนไร่นาเขียวขจี ไม่มีตึกสูง เสาไฟฟ้าบดบังให้รกสายตา เห็นรางรถไฟสายแม่กลองที่ถูกใช้งานตลอดวันโดยขบวนรถไฟที่ผ่านไปขบวนแล้วขบวนเล่า เป็นช่วงเวลาที่แสนสุขใจ

บ้านตลาดพลู

บ้านตลาดพลู

แม้ภาพที่ฉันเห็นในวันนี้จะแตกต่างออกไป แต่กลับสัมผัสได้ถึงบรรยากาศสบายใจแบบเดียวกัน ฉันเห็นชุมชนตลาดพลูที่มีตึกสูงรายล้อมอยู่รอบๆ ไม่มีทุ่งนาสีเขียวแต่มีถนนหลายสายตัดผ่าน รางรถไฟสายแม่กลองยังอยู่ที่เดิมแต่ห่างออกไปไม่ถึง 10 นาทีมีสถานีรถไฟฟ้าตั้งอยู่ ความเจริญกำลังเข้ามาสู่ชุมชนชานเมืองนี้ทีละน้อย และการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเรื่องดี แต่สิ่งที่น่ายินดีกว่าคือการที่ชุมชนปรับตัวตามแต่ไม่ได้ทิ้งเอกลักษณ์และวัฒนธรรมเดิม

จากการรีโนเวตตึกเก่าเป็นบ้านของครอบครัววิไลจิตร ขยับสู่การเป็นพื้นที่สื่อกลางระหว่างคนภายนอกและคนในชุมชน เป้าหมายของบ้านตลาดพลูไม่ใช่แค่แสวงหาผลกำไร แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้คนมาเยี่ยมเยียนและจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ ทำความรู้จักย่านตลาดพลูให้มากขึ้น

และนั่นทำให้เรายังสามารถรู้สึกถึงเสน่ห์ของชุมชนเก่าแห่งนี้อย่างที่เคยเป็นมา

บ้านตลาดพลู

Facebook: บ้านตลาดพลู

คาเฟ่เปิดทุกวัน 17.00 – 22.00 น.

 

Writer

Avatar

สิรามล เฮ็งรักษา

คนกรุงเทพฯ ที่ชอบเดินทางด้วยรถไฟมากกว่านั่งเครื่องบิน รักการกินนมจืดพอๆ กับกาแฟที่ไม่ขมและโกโก้ที่ไม่หวาน กำลังทำความรู้จักโลกใบที่ใหญ่ขึ้นและเรียนรู้การเขียนเล่าเรื่องไปพร้อมๆ กัน

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan