ธุรกิจ : บริษัท เฮงง่วงเฮียงบ้านไผ่ จำกัด 

ประเภทธุรกิจ : แปรรูปเนื้อสัตว์

ปีที่ก่อตั้งเฮงง่วนเฮียง (ตราตึก) : พ.ศ. 2499

ผู้ก่อตั้ง : อากงเลี่ยงเฮง  

ทายาทรุ่นสอง : คุณอาภรณ์ ลิ้มธีระกุล

ทายาทรุ่นสาม : คุณชัญญา อังวราวงศ์

บ้านเฮง ร้านอาหารเช้าที่ขยายเวลาเปิดเพื่อชาวตื่นสาย และมีกุนเชียงเป็นตัวเอกของเรื่อง เพราะกุนเชียงที่ว่าไม่ใช่กุนเชียงธรรมดา แต่คือ ‘กุนเชียงบ้านไผ่’ ที่โด่งดังระดับประเทศมากว่า 70 ปี แต่ตำนานไม่อาจอยู่ได้ตลอดไป หากไม่ปรับตัวและทำความเข้าใจกับตลาดสมัยใหม่ คุณฝน-ชัญญา อังวราวงศ์ จึงรับไม้ต่อจาก คุณแม่อาภรณ์ ลิ้มธีระกุล เพื่อสานต่อกิจการอันภาคภูมิใจของครอบครัว เพื่อให้ไปต่อได้ในวันที่คลื่นลูกใหม่มากมายกำลังโถมเข้ามาสู่เมืองขอนแก่น

บ้านเฮง ห้องรับแขกของเมืองขอนแก่นที่เชื่อมั่นว่าใช้วัตถุดิบดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

คอลัมน์ทายาทรุ่นสองวันนี้ ชวนมาเรียนรู้เรื่องราวธุรกิจครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนของทายาทรุ่นที่ 3 ที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำ สร้างความแตกต่าง รวมถึงแนวคิดการพัฒนาร้านบ้านเฮงเพื่อพาคนในชุมชนและแขกของเมืองขอนแก่นไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งสอนให้รู้ว่าการสานต่อธุรกิจไม่ได้มีแค่การต่อยอดจากสินค้าเดิมเท่านั้น

เฮงง่วนเฮียง(ตราตึก) ต้นตำรับกุนเชียงบ้านไผ่

กิจการบ้านเฮงชื่อเดิมคือ เฮงง่วนเฮียง (ตราตึก) ก่อตั้งโดย อากงเลี่ยงเฮง เป็นแบรนด์เก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองของแก่นมาเกือบ 70 ปี ดั้งเดิมมาจากบ้านไผ่ ซึ่งถ้าเป็นผู้ใหญ่อายุเกิน 50 ขึ้นไป ต้องเคยได้ยินแน่นอนว่ากุนเชียงบ้านไผ่ของขอนแก่นมีชื่อเสียงระดับประเทศ จนทำให้สมัยก่อนกุนเชียงโซนเยาวราชที่โด่งดังเรื่องอาหารจีนก็จะมาซื้อของจากที่นี่ แล้วเอาไปขายต่อ ปัจจุบันลดลงเพราะพอขายดีหลายเจ้าก็เข้ามาผลิตเอง 

คุณฝนเล่าว่า เฮงง่วนเฮียง (ตราตึก) ไม่ใช่กุนเชียงบ้านไผ่เจ้าแรก บ้านไผ่จะมีเจ้าดั้งเดิม 2 เจ้า คือพี่สาวของอากง กับอากงเลี่ยงเฮง พี่สาวอากงบอกให้อากงมาอยู่เมืองไทย แล้วก็มาทำอยู่ในเมืองเดียวกัน ทั้งสองแบรนด์เป็นคนละสูตรและมีปรัชญาในการทำธุรกิจไม่เหมือนกัน ฉะนั้น สไตล์หรือว่าสูตรอาหารจึงไม่เหมือนกันเลย 

บ้านเฮง ห้องรับแขกของเมืองขอนแก่นที่เชื่อมั่นว่าใช้วัตถุดิบดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

“เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้” คือปรัชญาธุรกิจของอากงในมุมมองของคุณฝน ซึ่งคำว่าเสียหน้าไม่ได้นั้นมีความหมายว่าต้นทุนเท่าไหร่เท่ากัน แต่ถ้าลูกค้าบอกว่าไม่อร่อย กินแล้วรู้สึกว่าสินค้าไม่ดีนั้นไม่ได้ กุนเชียงที่ร้านจะมีจุดเด่นที่เด่นมาตั้งแต่สมัย 70 ปีที่แล้ว คือกุนเชียงจะไม่มีกลิ่นอับ 

คุณฝนเล่าต่อถึงประวัติของการทำกุนเชียง กุนเชียงเป็นการถนอมอาหารชนิดหนึ่ง ใช้เศษหมูที่เหลือจากการทำอย่างอื่น เอาไปบดแล้วนำมาทำเป็นกุนเชียง แปลว่าหลังจากทำอย่างอื่นมาทั้งวัน เหลือหมูอะไรก็เอามาทำเป็นกุนเชียง เอามาบด บด ๆ ผสมกับมันหมู แล้วเอามาทำกุนเชียง 

“อะไรก็ตามที่อยู่นอกตู้เย็นนาน ๆ กลิ่นมันจะไม่สดใหม่ ฉะนั้น กุนเชียงบางแบรนด์เขาจะใส่เครื่องเทศเข้าไปเยอะ ๆ เพื่อดับกลิ่นอับ แต่ของเราจะยังได้กลิ่นอยู่ กุนเชียงบางยี่ห้อกลิ่นมันจะหืน ๆ อับ ๆ แล้วก็จะมีกลิ่นเครื่องเทศตีกัน” เราพอจะนึกออกถึงกุนเชียงที่เคยลิ้มลอง ซึ่งบางครั้งก็ได้กลิ่นตามที่คุณฝนอธิบาย 

“แต่ว่าอากงไม่ได้ทำแบบนั้นด้วยปรัชญาของแก ไม่ใช่ปรัชญาหรอก แกเป็นคนแบบนั้น” คนนั้นแบบนั้นก็คืออากงท่านจะใช้หมูสดจากโรงชำแหละที่ส่งมาตอนตี 3 – 4 ทำกุนเชียงตอน 7 โมงเช้า เรียกได้ว่าทำกันแบบสด ๆ ไม่ใช้เศษหมูจากที่ไหนทั้งสิ้น เพราะถ้าเป็นเศษหมูจะควบคุมยากและมักมีกลิ่น กุนเชียงเฮงง่วนเฮียงจึงควบคุมปริมาณมันได้ค่อนข้างแน่นอน 

“อาหารถ้าใช้วัตถุดิบดีก็อร่อยไปครึ่งหนึ่งแล้ว ที่เหลือเป็นฝีมือ” คุณฝนสรุปเคล็ดลับการทำอาหารของอากง

บ้านเฮง ห้องรับแขกของเมืองขอนแก่นที่เชื่อมั่นว่าใช้วัตถุดิบดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
บ้านเฮง ห้องรับแขกของเมืองขอนแก่นที่เชื่อมั่นว่าใช้วัตถุดิบดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

ก่อนจะเป็นบ้านเฮง

การสร้างมุมมองที่ดีต่อลูกค้า คือปัจจัยแรกของการเริ่มทำธุรกิจ สิ่งที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นนอกจากดีเอ็นเอแล้ว ก็คือความคิดของแต่ละเจนเนอเรชันที่มีต่อลูกค้า

ของแบรนด์บ้านเฮงก็ยังเป็นมุมมองเดียวกันด้วย

“คุณแม่กับอากงเป็นคนพิถีพิถันเรื่องวัตถุดิบเหมือนกันเลย ตัวเองทำกินอย่างไร ลูกค้าต้องได้กินอย่างนั้น เราไม่อยากกินสารกันบูด เราไม่อยากกินผงชูรส ลูกค้าก็ได้กินแบบที่เรากิน ก็คือไม่ใส่” 

เป้าหมายของทั้งสามรุ่นคือความจริงใจต่อลูกค้า จนเกิดคำถามว่า คุณฝนมองลูกค้าเหมือนคนในครอบครัวแบบที่หลาย ๆ แบรนด์ใช้ข้อคิดนี้เป็นคำโฆษณาหรือไม่

“ลูกค้าไม่ใช่คนในครอบครัว แต่ไม่ว่าลูกค้าเป็นใครก็ตาม มาตรฐานของที่บ้านก็คือ เอาสิ่งที่ดีให้แขกเสมอ” ทายาทกิจการอาหารเอ่ยตรงไปตรงมา เธอคือผู้เสียสละความฝันในการเรียนต่อเพื่อมาทำแบรนด์บ้านเฮงให้เกิดขึ้น

“ตอนแรกเราโชคดีที่ได้ทุนนักกีฬามหาวิทยาลัยของ University of Illinois Chicago เราจบด้านจิตวิทยา ตอนเรียนใกล้จบเลือกมหาวิทยาลัยแล้ว แล้วก็เลือกโปรแกรมแล้วว่าจะไปเรียนต่อหมอจิตวิทยา แต่ว่ามี Deep Conversation กับคุณแม่ในช่วงที่กลับเมืองไทยก่อนจะกลับไปเรียนต่อ คุณแม่อายุ 60 ปีพอดี แกบอกว่ากลับมาอยู่กับแกเถอะ เพราะว่าแกน่าจะอยู่ได้ไม่เกิน 15 – 20 ปี กลับมาอยู่ด้วยกัน แล้วจะทำอะไรก็ทำ” 

บทสนทนาในวันนั้นทำให้ว่าที่จิตแพทย์ผันตัวกลับมาจับงานด้านธุรกิจของครอบครัวที่เต็มไปด้วยความกดดันของคนรุ่นเก่า และความเสี่ยงของการจะรีแบรนด์ให้คนจำแบรนด์เก่าได้ พร้อมสร้างฐานลูกค้าแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อใหม่ ‘บ้านเฮง’ ให้คนจดจำ ถือว่าเป็นงานที่ยากมากพอสมควร

“พอกลับมาเห็นกิจการที่บ้าน เรารู้สึกได้เลยว่ากิจการที่บ้านกำลังจะแย่ พี่น้องคนอื่นไม่มีใครถนัดในการที่จะมาแทนคุณแม่ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุด เพราะเขาถนัดด้านอื่นกัน” 

บ้านเฮง ห้องรับแขกของเมืองขอนแก่นที่เชื่อมั่นว่าใช้วัตถุดิบดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
บ้านเฮง ห้องรับแขกของเมืองขอนแก่นที่เชื่อมั่นว่าใช้วัตถุดิบดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

พลิกโฉมตึกเก่าให้กลายเป็นบ้านที่เฮง เฮง เฮง

เดิมเป็นแบรนด์ที่บ้านไผ่ ห่างจากตัวเมืองไปสัก 30 – 40 กิโลเมตร คุณแม่เห็นโอกาสการทำธุรกิจจึงขออากงมาเปิดสาขาใหม่และผลิตเองที่อำเภอเมืองขอนแก่น ด้วยความที่สมัยนั้นคุณแม่เป็นคนหัวทันสมัย เลยมาซื้อที่ตรงกลางเมือง แล้วเปิดกิจการขายของฝากของตัวเองได้สำเร็จ 

30 กว่าปีผ่านไป ก็กลับมารีโนเวตครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง 

ธุรกิจที่ต่อยอดจากแบรนด์กุนเชียงบ้านไผ่ ที่หวังให้คนขอนแก่นมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“การรีโนเวตรอบล่าสุดเรามีความเข้าใจมากขึ้น มีความรู้เรื่องตลาดมากขึ้น รู้จักตัวเองมากขึ้น เห็นชัดว่าเราคือใคร มีจุดเด่นด้านอะไรในตลาด เรามีสิ่งที่คุณต้องการ ฉะนั้น เราก็จะขยี้เรื่องนี้ ร้านก็เลยจะออกมาค่อนข้างอิงตัวตนของแบรนด์” การทำร้านใหม่แบบยกแผง รวมถึงการเปลี่ยนชื่อนั้นต้องทำให้ลูกค้าเก่ายังจำอัตลักษณ์แบรนด์ได้ และต้องดึงดูดใจลูกค้าใหม่ ๆ สุดท้ายเลยจบที่การออกแบบตึกใหม่ ให้สะท้อนอัตลักษณ์ของแบรนด์บ้านเฮง เป็นเหมือนห้องรับแขกของคนเมืองขอนแก่น ณ สถานที่เดิมที่คุณแม่เริ่มไว้

“บ้านเฮงไม่ได้สร้างตึกก่อนนะ เกิดจากการทำรีเสิร์ช เราคือใคร กลับไปถามลูกค้าว่าเขาเข้าใจว่าเราเป็นใคร” คำถามสั้น ๆ ตอบยาก แต่บ้านเฮงตอบได้

“เราเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่อยู่ในภาคอีสาน สถาปนิกที่ออกแบบที่นี่ไม่ใช่สถาปนิกที่ออกแบบร้านอาหาร ร้านค้า แต่เป็นสถาปนิกที่ออกแบบบ้าน” สัมผัสแรกของการไปเหยียบร้านบ้านเฮงจึงเป็นความรู้สึกของบ้านคนไทยเชื้อสายจีน แต่ก็แอบแฝงไปด้วยกลิ่นอายอีสานที่ไม่ใช่ความลำบากแร้นแค้น หากแต่คือความอุดมสมบูรณ์ด้านอาหารแบบที่คนกรุงคาดไม่ถึง ในร้านเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตอย่างถูกต้อง มีการการันตี และที่สำคัญคือน่ารับประทาน เป็นของฝากที่จะทำให้คนซื้อไม่ต้องอายใครเมื่อมาขอนแก่น

“เราดูแลลูกค้าโดยมองว่าเขาคือคนที่มาเยี่ยมบ้านเรา บ้านเฮงมีน้ำชาให้ฟรีตลอดเพราะเป็นวัฒนธรรมคนจีน มาบ้านต้องมีน้ำชาให้ดื่ม” ผู้คนในไทยถูกหล่อหลอมวัฒนธรรมจนแทบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแต่ก็ไม่ใช่ สังคมไทยนั้นผสมไปด้วยความหลากหลายของเชื้อชาติ ศาสนา แต่รายละเอียดเล็กน้อยเหล่านี้ล้วนที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกร้านอาหารของลูกค้าอย่างเรา ๆ ซึ่งบ่งบอกว่าเราคือแขกของคนไทยเชื้อสายจีนอย่างแท้จริง

“คอนเซ็ปต์ในการออกแบบบ้านกับชื่อคือ บ้านเฮง บ้านนี้เป็นบ้านของเรา เราจะเปิดต้อนรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแขกเราเอง แขกของเพื่อน หรือว่าแขกที่มาเยี่ยมเมืองขอนแก่น เรารับทุกคน แล้วจะบริการสิ่งที่มีคุณภาพดี ให้กินดี อยู่ดี สบายใจ” มีคำกล่าวว่าอาหารเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุดของวัน ถ้าเราเริ่มวันด้วยอาหารที่อร่อยแล้ว วันนั้นก็จะเป็นวันที่ดีสำหรับทุกคน

บ้านเฮงไม่ได้เติบโตเพราะโชคช่วย

“เราเป็นคน All or Nothing ก็คือร้อยเปอร์เซ็นหรือศูนย์เปอร์เซ็น ถ้าไม่ดี เราไม่ทำ” ความตั้งใจแน่วแน่และความพยายามอาจเป็นที่มาในความเฮงของคุณฝนก็เป็นได้

บ้านเฮงแปลว่า บ้านที่อยู่แล้วโชคดี แต่ร้านนี้เกิดขึ้นได้จากน้ำพักน้ำแรงของคนในครอบครัวที่ส่งต่อมาจากรุ่นอากงจนถึงคุณฝน ไม่ได้มีโชคช่วยแต่อย่างใด แน่นอนว่าการบริหารงานของคุณฝนนั้นแตกต่างจากคุณแม่ และคุณแม่ก็มีแผนที่แตกต่างจากอากง ทุกเจนเนอเรชันล้วนมีแรงบันดาลใจและความเป็นตัวตนภายในที่แตกต่างกัน 

ความยากอย่างหนึ่งของการรับไม้ต่อ คือการทำอย่างไรให้คนเก่าแก่ทั้งระดับผู้บริหารและพนักงาน ยอมรับและทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าไปบริหารได้อย่างไม่มีปัญหา เคล็ดลับของคุณฝนมีทั้งหมด 4 ข้อ

“สิ่งแรกคือช่วงระหว่างวัย 18 – 24 ปี เราหายไปเพราะอยู่ที่อเมริกา แล้วคนที่จากไปกับคนที่กลับมามันชัดมากว่าคนละคนกัน เลยทำให้เขาตกใจ ถ้าเขาเห็นเราทุกวัน มันยากมากที่จะยอมรับว่าเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ด้วยความที่เราหายไป 6 ปี แล้วความคิดไม่เหมือนเดิม กลายเป็นคนละคนอย่างชัดเจน เขาก็เลยปฏิบัติต่อเราอย่างจริงจังมากขึ้น” นั่นคือข้อแรก 

“สอง คือ ต้องเป็นคนพูดจริงทำจริง ไม่กลัวลำบาก เพราะคนรุ่นเก่าเขาจะไม่ชอบคนที่ตื่นสาย การตื่นสายก็ประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน แต่มันไม่ได้ใจคนรุ่นเก่าตั้งแต่แรก แล้วจะทำงานลำบาก ก็แค่ตื่นเช้าหน่อยแล้วทำให้เขาเห็น ประสบความสำเร็จหรือเปล่าไม่รูู้ แต่เราโคตรพยายาม ดึกก็ทำ เช้าก็ทำ” ซึ่งสิ่งนี้เป็นข้อถกเถียงเป็นอย่างมากระหว่างคนต่างเจนเนอเรชัน

“สาม ทำให้เห็นทั้งลับหลังและต่อหน้า ต้องทำให้เขาเห็น เราเคยทำงานทั้งวันแต่แม่บ่นเพราะแม่ไม่รู้ว่าเราทำงาน เปลี่ยนใหม่ เราย้ายโต๊ะทำงานไปทำงานข้างห้องแม่ ให้แกเห็นว่าเรานั่งทำงาน คือใช้ชีวิตเหมือนเดิมให้แกเห็น ทำดีก็ต้องทำดีให้เขารู้ด้วยว่าเราทำ” นี่คือการแก้ปัญหาที่แก้ยากระดับพอ ๆ กับน้ำท่วม เชื่อว่าGen Y-Z หลายคนต้องเคยประสบกับปัญหานี้อย่างแน่นอน

“สี่ อย่าไปเก๊กกับผู้ใหญ่ แล้วเล่าให้เขาฟังทั้งอันที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว อัปเดตเหมือนเขาเป็นสมุดบันทึก อันไหนที่เราผิดก็ยอมรับไปเลย แต่เราต้องบอกเขาว่าได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาด เขาถึงจะรู้สึกว่ามันคุ้ม เพราะตอนที่เราพลาด เราได้ประสบการณ์จริง ผู้ใหญ่รุ่นใหญ่ ๆ เขาจะแพ้ผลงานกับความพยายาม” นี่คือหลักที่คุณฝนนำมาใช้จริงกับการทำงานกับคนรุ่นเก่าที่ไม่ง่าย ต้องอาศัยทั้งความพยามยามจนพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถนำองค์กรได้

ไม่ว่าใครก็ควรมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“เราเป็นคนที่ต้องมั่นใจว่าคนในครอบครัวของเรา หรือคนในการดูแลของเรา มีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็เลยสามารถขึ้นมาอยู่ตำแหน่งที่สูงที่สุดของบริษัทได้ ใครมาเป็นลูกน้องเรา เราอยากให้เขามีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี” คงจะดีไม่น้อยถ้าเราได้มีผู้นำที่ใส่คุณภาพชีวิตของเรา สิ่งนี้จะทำให้ความเป็นอยู่ของพนักงานดีขึ้น แล้วกิจการก็จะเติบโตมากขึ้นตาม หากมีพนักงานที่ตั้งใจบริการออกมาจากความรักในงาน เพราะงานนั้นส่งเสริมชีวิตของเขา 

“การที่เราเลือกจะสร้างบ้านเฮงขึ้นมาให้เป็นร้านอาหาร และเป็นอาหารเช้าอีกต่างหาก มี 2 เหตุผล เหตุผลแรกคือตอนทำตอนรีเสิร์ช เราเห็นลูกค้าบริโภคสินค้าประเภทของเราตอนเช้าเป็นหลัก กินตอนเช้า กินกับข้าวต้ม 

“อีกอย่างหนึ่งนอกจากเราได้รู้ว่าเขาบริโภคของเราตอนไหน ขอนแก่นยังไม่มีร้านอาหารเช้าที่ให้คุณภาพชีวิตกับคนเมือง เราต้องการให้ร้านบ้านเฮงเพิ่มภาพชีวิตให้กับคนในขอนแก่น ทั้งเขามากินเองและพาคนอื่นมารับรอง มันถือเป็นคุณภาพชีวิตนะ ซึ่งในการบริหารแบรนด์เราใช้แค่เรื่องนี้เลย ต้องทำอย่างไรให้เพิ่มคุณภาพชีวิต เพิ่มสิ่งดี ๆ เข้ามาในเมืองนี้ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนที่นี่”

คุณภาพชีวิต ไม่ได้หมายถึงการมีเงินอย่างเดียวเท่านั้น แม้เงินจะเป็นปัจจัยใหญ่ของชีวิต แต่มันคือการดำรงชีวิตของมนุษย์ในระดับที่เหมาะสมตามความจำเป็นพื้นฐานในสังคมหนึ่ง อย่างน้อยก็น่าจะมีอาหารที่ดีให้เลือกสรรอย่างเพียงพอ มีสุขภาพกายและจิตใจดี รวมทั้งได้รับการบริการพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อาหารที่ดีก็จะเป็นสิ่งแรกที่เป็นพลังในการสร้างคนในสังคมขึ้นมา เพื่อประกอบการดำรงชีพอย่างยุติธรรม

“สุดท้ายเรากลับมาถามตัวเองว่าทำไมต้องใช้ของดี ถ้าใช้ของไม่ดีก็ไม่ได้ต่างอะไรกับที่อื่น ไม่ได้พัฒนาอะไรให้คนที่นี่ แล้วเราก็ไม่อยากกินด้วย”

จากการสัมภาษณ์ของคุณฝน จะเห็นได้ว่าเธอมีแนวคิดคล้ายกันกับอากง คือมีความหวังดีต่อลูกค้า ไม่ใช่การเสียหน้าไม่ได้ แต่คือความเชื่อมั่นว่าวัตถุดิบที่ดีจะนำไปสู่อาหารที่ดี และอาหารการกินที่ดีก็จะส่งผลให้คนในสังคมมีชีวิตที่ดีมากขึ้น สุขภาพดีมากขึ้น คุณภาพชีวิตดีมากขึ้น

Photographer

Avatar

ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

นักเรียนวารสารศาสตร์จากมอน้ำชี ที่เชื่อว่าชีวิตต้องผ่านน้ำ เบื่อการเรียนออนไลน์ อยากเรียนจบแล้ว รักใครรักจริง