บ้านบูรณ์ คือแบรนด์ไม้กวาดสัญชาติไทยที่มีประสบการณ์ผลิตไม้กวาดส่งขายต่างประเทศมากว่า 30 ปี แต่ไม่เคยทำการตลาดในไทยเลยสักครั้ง ไม่ใช่เพราะหยิ่ง แต่ลำพังรายการสั่งผลิตจากญี่ปุ่น เกาหลี อิตาลี สวีเดน ก็มากพอไม่เหลือขายในประเทศ 

จนเมื่อไม่นานมานี้ ที่วิกฤตโรคระบาดสร้างโอกาสให้แบรนด์ไม้กวาดจากเชียงรายแบรนด์นี้ได้แนะนำตัวกับเหล่าพ่อบ้านแม่บ้านไทยกันเสียที

เคยจับแต่ไม้กวาดดอกหญ้ามาทั้งชีวิต พอได้สบตากับไม้กวาดจากก้านดอกข้าวฟ่างครั้งแรกเราก็เผลอทำสุภาพใส่ตามสไตล์ญี่ปุ่น พอได้เมื่อจับๆ กวาดๆ ก็ถูกใจอยากเปลี่ยนอาชีพเป็นเด็กกวาดลานห้องขึ้นมา และนึกขึ้นได้ว่าเคยเห็นไม้กวาดหน้าตาแบบนี้ที่ร้านขายของเก๋ในยุโรป

สายวันเสาร์ที่อากาศสบายๆ The Cloud มีนัดกับครอบครัววิวัฒนานุกูล ที่พร้อมหน้าด้วย คุณพ่อสมบูรณ์, คุณแม่เมตตา, บูรณิตา และ บูรณ์เมตต์ วิวัฒนานุกูล ผู้ก่อตั้งและทายาทรุ่นสองของสมบูรณ์ผลคราฟต์ ผู้ผลิตไม้กวาดที่ชาวญี่ปุ่นให้การยอมรับ ถึงขั้นบอกต่อกันในวงการว่า หากอยากได้ไม้กวาดคุณภาพเยี่ยมต้องมาที่เชียงราย ล่าสุดคุณพ่อผู้ก่อตั้งและลูกๆ กำลังร่วมกันทำแบรนด์ ‘บ้านบูรณ์’ นำไม้กวาดดีๆ มาให้คนไทยได้ใช้ ใช้แล้วยังภูมิใจไม่ต้องหลบต้องซ่อนตามซอกตู้แบบที่เคย

ไม่บ่อยที่เราจะเจอธุรกิจครอบครัวที่ทำงานคราฟต์ขนาดนี้ ไม้กวาดทุกชิ้นยังถักทอด้วยมือของชาวบ้าน พวกเขามีวิธีส่งต่อและรับช่วงการทำงานกันอย่างไร 

จิบน้ำเย็นและเชิญนั่งลงฟังพร้อมกัน พื้นตรงนี้กวาดแล้ว รับรองสะอาดไว้ใจได้

ธุรกิจ : บริษัท สมบูรณ์ผลคราฟต์ จำกัด

ปีก่อตั้ง : พ.ศ. 2529

อายุ : 34 ปี

ประเภท : ผู้ผลิตและจำหน่ายไม้กวาด

ผู้ก่อตั้ง : สมบูรณ์ วิวัฒนานุกูล

ทายาทรุ่นสอง : บูรณิตา, บูรณ์เมตต์ และบูรณา วิวัฒนานุกูล

จากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวฟ่างทำไม้กวาดส่งต่างประเทศ สู่การก่อตั้งโรงงานไม้กวาดญี่ปุ่นที่เชียงราย

เดิมคุณพ่อสมบูรณ์ทำธุรกิจพืชไร่เล็กๆ อยู่ที่ภาคเหนือ จนกระทั่งวันหนึ่งใน พ.ศ. 2529 มีนักธุรกิจจากไต้หวันที่ย้ายฐานการผลิตไม้กวาดมาที่ไทยต้องการวัตถุดิบ ได้แก่ ต้นข้าวฟ่างพันธุ์พิเศษสำหรับทำไม้กวาดโดยเฉพาะ ซึ่งต่างจากข้าวฟ่างไทยที่เป็นอาหารไก่

2 ปีต่อมา มีลูกค้าชาวญี่ปุ่นบังเอิญผ่านมาเห็นต้นข้าวฟ่างที่ตากอยู่ริมถนน จึงติดต่อขอให้คุณพ่อสมบูรณ์ผลิตไม้กวาดให้ เป็นจุดเริ่มต้นให้คุณพ่อสมบูรณ์ตัดสินใจก่อตั้งโรงงานไม้กวาดของตัวเองที่จังหวัดเชียงราย โดยรับผลิตไม้กวาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นไม้กวาดที่เน้นการใช้งาน มีรูปร่างหน้าตาเป็นธรรมชาติ ทำจากหญ้าข้าวฟ่างสีเขียวอ่อน

บ้านบูรณ์ แบรนด์ของทายาทรุ่นสองผู้ผลิตไม้กวาดอายุ 34 ปี จากเชียงรายที่ดังไกลถึงญี่ปุ่นและสวีเดน, baanboon blooms, ไม้กวาดบ้านบูรณ์
บ้านบูรณ์ แบรนด์ของทายาทรุ่นสองผู้ผลิตไม้กวาดอายุ 34 ปี จากเชียงรายที่ดังไกลถึงญี่ปุ่นและสวีเดน, baanboon blooms, ไม้กวาดบ้านบูรณ์

หากใครสงสัยว่าไม้กวาดหน้าตาแบบนี้ใช้งานอย่างไร เรามีคำตอบ

โดยทั่วไปคนญี่ปุ่นจะใช้ไม้กวาด 2 ประเภท ได้แก่ กวาดพื้นทั่วไป และกวาดพื้นห้องนอน

“บ้านคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังมีเสื่อทาทามิ หากใช้ไม้กวาดดอกหญ้าแบบบ้านเราจะนิ่มเกินไป ในเชิงปฏิบัติจำเป็นต้องใช้ไม้กวาดที่แข็งพอให้ดีดสิ่งสกปรกที่อยู่ตามร่องเสื่อออกมา การใช้งานอีกแบบคือพื้นที่นอน ซึ่งคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังนอนพื้นอยู่ โดยมีผ้านวมปูบนเสื่ออีกที” คุณพ่อสมบูรณ์เป็นตัวแทนเล่า

เพราะคนญี่ปุ่นใช้งานไม้กวาดจริง ไม่ได้มีไว้เพื่อประดับตกแต่ง จึงต้องการไม้กวาดที่มีคุณภาพดี และเปลี่ยนไม้กวาดกันทุก 1 – 2 ปี ไม้กวาดจึงเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่เสมอ

ย้อนกลับไปในอดีต ไม้กวาดที่ใช้ในญี่ปุ่นผลิตโดยช่างฝีมือในประเทศ ก่อนย้ายฐานการผลิตไปไต้หวัน ไทย และจีนตามลำดับ ด้วยเหตุผลเรื่องต้นทุนแรงงานมีฝีมือ

บ้านบูรณ์ แบรนด์ของทายาทรุ่นสองผู้ผลิตไม้กวาดอายุ 34 ปี จากเชียงรายที่ดังไกลถึงญี่ปุ่นและสวีเดน, baanboon blooms, ไม้กวาดบ้านบูรณ์
บ้านบูรณ์ แบรนด์ของทายาทรุ่นสองผู้ผลิตไม้กวาดอายุ 34 ปี จากเชียงรายที่ดังไกลถึงญี่ปุ่นและสวีเดน, baanboon blooms, ไม้กวาดบ้านบูรณ์

สมบูรณ์แบบ

ช่วงที่ฐานการผลิตไม้กวาดเริ่มย้ายไปจีน สมบูรณ์ผลคราฟต์ก็เริ่มคิดทำไม้กวาดหน้าตาอื่นๆ เพื่อเปิดตลาดใหม่

“ตอนแรกๆ เราก็ออกแบบไม้กวาดไม่เป็นหรอก แต่เมื่อเข้าใจธรรมชาติของการถักไม้กวาด รู้ว่าโค้งระดับไหนได้ ก้านยาวขนาดนี้ควรใช้ทำอะไร ตรงไหนเอาเส้นด้ายเข้าไปแทรกได้บ้าง ก็เริ่มออกแบบลวดลายถักที่แตกต่าง ถ้าอยากทำแปรงให้เล็กต้องทำส่วนไหนให้มากหรือน้อยอย่างไร ขณะที่เรื่องไม้กวาดสี เราไม่ใช่เจ้าแรกที่ทำไม้กวาดสีๆ นะ ญี่ปุ่นเองก็มีสีแดง สีน้ำเงิน แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม

“ตอนนั้นเราเริ่มจากสีย้อมพื้นฐานที่มีในตลาดก่อน ใช้เวลาพัฒนาไม่น้อย เพื่อให้ได้สีที่ติดทนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนได้ไม้กวาดอีกมากกว่าสิบสี เมื่อก่อนมีสีเขียวมรกตผสมสีเหลืองได้สีเขียวมะนาว หรือทำเป็นสีเทอควอยซ์ ตั้งใจเปิดตลาดกลุ่มยุโรป ซึ่งลูกค้าเจ้าแรกที่เข้ามาเป็นบริษัทออกแบบในอิตาลี” คุณพ่อสมบูรณ์เล่า

เธอบอกว่าเป็นโอกาสดีที่ตัดสินใจสมัครและได้รับคัดเลือกเป็น Selected Lists จากกรมส่งเสริมการส่งออก ทำให้องค์กรรัฐของต่างประเทศได้เห็นสินค้าในการออกงานแสดงสินค้า และได้รับเลือกให้ไปนำเสนองานในต่างประเทศ โดยทางองค์กรรัฐในต่างประเทศเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ ก่อนตามมาด้วยการพัฒนาไม้กวาดรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่แปรงขนาด 15 เซนติเมตร ไปจนเสื่อผืนใหญ่ 

ปัจจุบันกลุ่มตลาดหลักของสมบูรณ์ผลคราฟต์ยังเป็นญี่ปุ่น ขณะที่คนชาติยุโรปจะคุ้นเคยกับเครื่องดูดฝุ่นมากกว่า หรือใช้ไม้กวาดจากจีนที่ทำด้วยไม้ไผ่สำหรับกวาดพื้นถนน ไม่ได้ใช้ไม้กวาดในชีวิตประจำวัน จึงสนใจและมองไม้กวาดจากญี่ปุ่นเป็นของตกแต่ง รวมถึงคนไทยไม่คุ้นเคยกับไม้กวาดที่ดูแข็งๆ เพราะกลัวทำพื้นเป็นรอย

บ้านบูรณ์ แบรนด์ของทายาทรุ่นสองผู้ผลิตไม้กวาดอายุ 34 ปี จากเชียงรายที่ดังไกลถึงญี่ปุ่นและสวีเดน, baanboon blooms, ไม้กวาดบ้านบูรณ์

“สมัยออกงานแสดงสินค้าแรกๆ เราต้องเอาพื้นปาเก้มาให้ลองกวาดจริง ให้เขากระทุ้งไม้กวาดลงพื้นพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่เป็นรอย และให้เขาลองดึงว่าไม่ร่วง ต้องอาศัยการอธิบายเยอะ และด้วยกำลังการผลิตเราไม่ได้มีเยอะ ทั้งไม้กวาดยังมีราคาสูงกว่าทั่วไป ที่ผ่านมาไม้กวาดของสมบูรณ์ผลคราฟต์จึงไม่ได้วางขายในตลาดบ้านเรา เท่าการผลิตและส่งออกไปขายต่างประเทศ เช่น ประเทศเยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ”

อะไรทำให้ลูกค้าญี่ปุ่นยังคงเลือกทำงานกับสมบูรณ์ผลคราฟต์อยู่ ไม่ไปไหน แถมยังแนะนำบอกต่อกันในกลุ่มผู้ค้าไม้กวาดในญี่ปุ่นโดยไม่หวงว่า หากอยากได้ผู้ผลิตไม้กวาดคุณภาพดีต้องมาที่นี่ เราถาม

“เป็นเพราะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับคู่ค้า ช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้า รักษาคุณภาพการผลิต ส่วนที่ขายได้หลายๆ บริษัท เพราะแต่ละเมืองในญี่ปุ่น เช่น โตเกียว คันไซ โอซาก้า นิยมดีไซน์ของไม้กวาดไม่เหมือนกัน การใช้งานอาจจะเหมือนกัน แต่เมืองนี้ไม่ชอบเส้นด้ายสีน้ำเงิน เมืองนี้ไม่ชอบเส้นด้ายสีดำ เขาจึงไม่แย่งตลาดกันและกัน

“ปัจจุบันที่ญี่ปุ่นก็ยังผลิตไม้กวาดได้เองแต่ทำในจำนวนน้อยมากๆ มีบ้างที่สั่งวัตถุดิบจากเราไปทำใช้เองเฉพาะแบบของเขา ขณะที่ตลาดวัยรุ่นญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนมาชอบไม้กวาดมีสีสัน” ครอบครัววิวัฒนานุกูลผลัดกันเล่าพร้อมหยิบไม้กวาดด้ามยาวขึ้นมาอธิบาย

คุณภาพที่เห็นเป็นประจักษ์ของไม้กวาดของสมบูรณ์ผลคราฟต์ พิสูจน์ด้วยรางวัล The Seal of Excellence for Handicrafts (South East Asia) จาก UNESCO และ AHPADA (ASEAN Handicraft Promotion and Development Association) ใน พ.ศ. 2550 ซึ่งยังคงคุณภาพที่ดีเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน

บ้านบูรณ์ แบรนด์ของทายาทรุ่นสองผู้ผลิตไม้กวาดอายุ 34 ปี จากเชียงรายที่ดังไกลถึงญี่ปุ่นและสวีเดน, baanboon blooms, ไม้กวาดบ้านบูรณ์
บ้านบูรณ์ แบรนด์ของทายาทรุ่นสองผู้ผลิตไม้กวาดอายุ 34 ปี จากเชียงรายที่ดังไกลถึงญี่ปุ่นและสวีเดน, baanboon blooms, ไม้กวาดบ้านบูรณ์

กวาดจะรักเท่าวันนี้ กวาดจะมีคนมาเข้าใจต้องใช้เวลา

ได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจงานหัตถศิลป์ น่าสนใจว่าสมบูรณ์ผลคราฟต์มีวิธีควบคุมคุณภาพ แก้ปัญหาแรงงานมีฝีมืออย่างไร

“เรากระจายความเสี่ยงที่เกิดจากการผลิตสินค้าไม่ทัน ด้วยการตั้งโรงงานสองโรง ห่างกันร้อยกิโลเมตร อยู่ในชุมชนที่มีวัฒมธรรมแตกต่างกัน แห่งหนึ่งเป็นคนในท้องถิ่น อีกแห่งเป็นชาวเขา” คุณพ่อสมบูรณ์เล่า

“คนในท้องถิ่นจะทำงานชิลล์กว่าแต่ได้งานที่มีคุณภาพ ต้องเข้าใจก่อนว่าสำหรับพวกเขาเงินไม่สำคัญเท่าวิถีชุมชน ดังนั้นเขาจะให้ความสำคัญกับพิธีกรรมหรือวันสำคัญค่อนข้างมาก ขณะที่ชาวเขานั้นขยันมาก สิ่งที่ต้องการคือรายได้มาจุนเจือครอบครัว” บูรณิตา ทายาทรุ่นสองและพี่ใหญ่ผู้สนใจความเป็นชุมชนเล่าภาพรวมการทำงานที่ผู้เป็นพ่อออกแบบมาอย่างยืดหยุ่นเพราะเข้าใจธรรมชาติของคนทำงาน

“คนงานเขาสัมผัสได้นะว่าเราให้เกียรติวิถีชีวิตเขา พวกเขาก็พร้อมให้ใจแก่เรา ช่วยงานกันมากขึ้น คุยกันง่ายขึ้น” คุณพ่อสมบูรณ์เสริม

หากปัญหาของธุรกิจที่อาศัยแรงงานฝีมือ คือบริหารจัดการให้ผลิตสินค้าได้ทันกำหนดเวลาที่สัญญาไว้กับคู่ค้า แล้วทำไมจึงไม่เปิดโรงงานแห่งที่ 3 เราสงสัย

คุณพ่อสมบูณ์เล่าทันทีว่า การเปิดโรงงานผลิตไม้กวาด ไม่เพียงต้นทุนการฝึกทักษะแรงงานให้ได้คุณภาพ ยังมีเรื่องวิถีชีวิตที่พวกเขาอยากรักษา ในอนาคตอาจจะทำได้แต่ตอนนี้ยังไม่พร้อม นอกจากนี้ยังมีเรื่องต้นทุนการขนส่งที่พวกเขาไม่ให้เกิดขึ้น เพราะจะเป็นการผลักภาระให้ลูกค้าโดยไม่จำเป็น

หากติดตามคอลัมน์ทายาทรุ่นสองมาตลอด จะรู้ว่าเราชอบถามผู้ก่อตั้งถึงบรรยากาศยุครุ่งเรืองของธุรกิจ ครั้งนี้ก็เช่นกัน เราคาดหวังจะได้ยินแผนการตลาดบุกญี่ปุ่นสู้จีนอย่างธุรกิจครอบครัวธุรกิจอื่น แต่สิ่งที่ได้ยินทำเราอยากกลับบ้านไปช่วยงานเตี่ยและแม่แทบจะทันที

“น่าจะเป็นยุคนี้แหละ ยุคที่ลูกกลับมาช่วยงาน หนึ่ง คือเราได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีคนงานเข้ามาทำงานกับเรามากขึ้น และสอง ลูกช่วยทำให้เราขยายตลาดได้ ความเหนื่อยล้าที่มีก็ลดลง” คุณพ่อสมบูรณ์เล่าว่าที่ผ่านมาความยากไม่ใช่เรื่องการตลาด แต่เป็นการบริหารจัดการการผลิตในโรงงาน ซึ่งแก้ด้วยการสร้างระบบของทายาทรุ่นสอง

บ้านบูรณ์ แบรนด์ของทายาทรุ่นสองผู้ผลิตไม้กวาดอายุ 34 ปี จากเชียงรายที่ดังไกลถึงญี่ปุ่นและสวีเดน, baanboon blooms, ไม้กวาดบ้านบูรณ์

ร้านไม้กวาด 3 อัน

“รู้ตั้งแต่ตอนเด็กแล้วว่าไม้กวาดของบ้านเราไม่เหมือนใคร ช่วงที่เริ่มโตพอช่วยงานได้ก็ไปช่วยขายไม้กวาดที่งานแสดงสินค้า” บูรณิตา ผู้เป็นพี่สาวคนโตของครอบครัวเล่าความทรงจำ

เพราะคลุกคลีกับธุรกิจครอบครัว สนใจคนต่างชาติและวัฒนธรรมต่างแดน เธอตัดสินใจเรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนเรียนต่อด้านผังเมืองที่ประเทศออสเตรเลีย

“ช่วงค้นหาตัวเอง เราตัดสินไป Work and Holiday ที่ออสเตรเลียหลังเรียนจบ ก่อนกลับมาทำงานที่ร้านดอกไม้ Plant House เรียนรู้การสร้างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จท่ามกลางร้านดอกไม้ในตลาดมากมาย ตอนนั้นเริ่มคิดอยากต่อยอดสินค้าที่บ้าน แต่อยากมีประสบการณ์ชีวิตมากกว่านี้ จึงกลับไปเรียนต่อปริญญาโทด้านผังเมืองที่ออสเตรเลียและทำงานอยู่ที่นั้นสี่ปี” บูรณิตาเล่า

ขณะที่บูรณ์เมตต์ น้องชายคนกลาง ผู้ประกาศตัวตั้งแต่เด็กว่าไม่ขอทำงานที่บ้าน กลับเลือกเรียนด้านบริหารธุรกิจ ในภาควิชาผู้ประกอบการ ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“หลังเรียนจบ ผมเริ่มทำงานด้านออนไลน์มาร์เก็ตติ้งที่สตาร์ทอัพแห่งหนึ่ง ซึ่งหลังเลื่อนขั้นเพียงหนึ่งเดือนผมก็ตัดสินใจลาออก ตอนนั้นพี่สาวและน้องสาวอยู่ต่างประเทศกันหมด พ่อแม่ก็อายุมากแล้ว เริ่มคิดว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นมา องค์ความรู้หรือต้นทุนที่บ้านมีจะหายไป ผมเองก็พร้อมที่สุดในตอนนั้นจึงตัดสินใจกลับบ้าน” จากคนที่ไม่อยากทำงานที่บ้านที่สุดในบรรดาสามพี่น้อง กลายเป็นคนแรกที่กลับมา สร้างความประหลาดใจให้ทุกคนในครอบครัวโดยเฉพาะคุณพ่อสมบูรณ์ 

“พ่อเขาไม่คิดว่าลูกชายจะโทรมา ที่ผ่านมาพ่อเขาพูดกับแม่เสมอว่า ทำไมลูกไปช่วยงานคนอื่น ทั้งๆ ที่พ่อก็ต้องการคนช่วย” คุณแม่เมตตาเสริม

ส่วน บูรณา น้องสาวคนเล็ก ผู้หมายมั่นตั้งใจมาช่วยพ่อออกแบบไม้กวาด เลือกเรียนออกแบบอุตสาหกรรม ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนเริ่มทำงานด้านกิจการเพื่อสังคม ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างเรียนต่อสาขา Adult Education ที่ยุโรป

บ้านบูรณ์ แบรนด์ของทายาทรุ่นสองผู้ผลิตไม้กวาดอายุ 34 ปี จากเชียงรายที่ดังไกลถึงญี่ปุ่นและสวีเดน, baanboon blooms, ไม้กวาดบ้านบูรณ์
บ้านบูรณ์ แบรนด์ของทายาทรุ่นสองผู้ผลิตไม้กวาดอายุ 34 ปี จากเชียงรายที่ดังไกลถึงญี่ปุ่นและสวีเดน, baanboon blooms, ไม้กวาดบ้านบูรณ์

วิธีรับช่วงต่อธุรกิจแบบ (บ้าน) บูรณาการ

จากนักวิเคราะห์ข้อมูลในบริษัทสตาร์ทอัพชื่อดังของประเทศ บูรณ์เมตต์ เริ่มต้นใช้เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบ

“คุณพ่อเขาทำงานของเขาไปเหมือนเดิม ผมต้องหาวิธีสอดแทรกตัวเองลงไป เริ่มจาก อะไรคือสิ่งที่เรารู้ อะไรคือสิ่งที่บริษัทขาด ก่อนที่ผมจะเข้ามาทำงาน ข้อมูลทุกอย่างบันทึกบนเอกสาร ทำให้ใช้เวลาค้นหาข้อมูลลูกค้านานมาก ผมจึงหาวิธีที่จะทำให้ประหยัดเวลามากที่สุด” บูรณ์เมตต์เล่า

การทำระบบทำให้บูรณ์เมตต์พบว่า ที่ผ่านมาธุรกิจมีรายการสั่งผลิตชนรายการสั่งผลิต ทำให้ไม่สามารถนำไม้กวาดไปขายในตลาดค้าปลีก ดังนั้นการทำการตลาดออนไลน์อย่างที่ถนัดจึงไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเท่าไหร่ ในอุตสาหกรรมไหน การเก็บข้อมูลลูกค้า ข้อมูลราคา ลักษณะสินค้า รายการสั่งซื้อที่ผ่านมา ทั้งหมดสำคัญต่อธุรกิจมาก ไม่เพียงมีลต่อการค้นหา แต่ข้อมูลที่มียังช่วยวิเคราะห์หาโอกาสใหม่ๆ

ผลงานการจัดระบบใหม่ภายในเวลาไม่กี่เดือนของบูรณ์เมตต์ ช่วยบริหารจัดการการผลิต รับรายการสั่งซื้อจากลูกค้าทั้งเก่าและใหม่ได้มากขึ้นโดยไม่กระทบกำลังการผลิตเดิม

หลายๆ ครั้ง เวลาคนรุ่นใหม่เข้าจัดการระบบ มักจะไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ส่งต่อกิจการ เพราะคิดว่าเดิมก็ขายดีมากอยู่แล้ว จะเสียเวลาทำให้ยุ่งยากทำไม บูรณ์เมตต์มีวิธีโน้มน้าวคุณพ่ออย่างไร เราถาม

“เพราะผมไม่ได้คุยกับพ่อก่อน ผมทำของผมเลย” ทุกคนระเบิดเสียงหัวเราะ ซึ่งตอนนี้คุณพ่อกับลูกๆ ก็ตกลงกันแล้วว่าต่อไปจะสื่อสารให้และรับรู้ร่วมกัน

“เมื่อก่อนเราไม่มี Order Management เลยด้วยซ้ำ ทุกอย่างอยู่ในหัวคุณพ่อ ลูกค้าถามว่าของรอบนี้พร้อมเมื่อไหร่ พ่อจะคำนวณแล้วจำเองคนเดียว แต่น้องชายทำให้ทุกอย่างเป็นระบบ เก็บทำเอกสารส่งลูกค้าเป็นรายๆ เมื่อลูกค้ามีรายการสั่งซื้อซ้ำ ก็อ้างอิงค้นหาประวัติการสั่งซื้อได้ง่ายกว่าในเชิงบัญชี เมื่อก่อนใช้เวลาเยอะมากกว่านี้มาก” บูรณิตา ผู้เป็นตัวกลางการสื่อสารระหว่างพ่อกับน้องชายเล่าสิ่งที่เปลี่ยนไป 

“สิ่งที่ทำให้แม่มีความสุขมาก คือการมีลูกชายมาช่วยตอบอีเมลลูกค้าแทนแล้ว เพราะปกติแม่เองก็มาช่วยคุณพ่อตอบอีเมลได้หลังเลิกงานหรือวันหยุด ทำให้บางครั้งตอบอีเมลไม่ได้ทันที เมื่อก่อนเวลาลูกค้าอีเมลมาตามงานเราจะเริ่มเครียด ด้วยความเป็นครูก็จะพยายามอธิบายกลับเป็นข้อๆ 1, 2, 3, 3.1, 3.2, 3.3 ตอนนี้ลูกค้าอีเมลมาบอกว่า I love your son.” คุณแม่เมตตาเล่า

ในการทำงานของครอบครัววิวัฒนานุกูลหลังลูกเข้ามารับช่วงต่อมีการแบ่งหน้าที่ชัดเจนดังนี้ คุณพ่อสมบูรณ์ ดูแลและบริหารวัตถุดิบ บูรณ์เมตต์ ดูแลงานเอกสาร เป็นหน้าบ้านติดต่อลูกค้า และบูรณิตา ควบคุมการผลิต

บ้านบูรณ์ แบรนด์ของทายาทรุ่นสองผู้ผลิตไม้กวาดอายุ 34 ปี จากเชียงรายที่ดังไกลถึงญี่ปุ่นและสวีเดน, baanboon blooms, ไม้กวาดบ้านบูรณ์
บ้านบูรณ์ แบรนด์ของทายาทรุ่นสองผู้ผลิตไม้กวาดอายุ 34 ปี จากเชียงรายที่ดังไกลถึงญี่ปุ่นและสวีเดน, baanboon blooms, ไม้กวาดบ้านบูรณ์

ความหวังของหมู่บ้าน (บูรณ์)

จะบอกว่าเป็นความโชคดีในความโชคร้ายก็ได้ ช่วงโรคระบาดที่ผ่านมาซึ่งทำให้การสั่งซื้อทั่วโลกชะลอตัว เป็นโอกาสให้ทายาทรุ่นสองทบทวนแผนการทำการตลาดในประเทศ ขยายกลุ่มลูกค้าจากผู้จัดจำหน่ายที่ต่างประเทศ ไปสู่กลุ่มคนที่ชอบงานออกแบบและรู้คุณค่าของเก่า 

ทายาทรุ่นสองของสมบูรณ์ผลคราฟต์จึงตัดสินใจสร้างแบรนด์ ‘บ้านบูรณ์’ ขึ้นมา แต่เดิมเป็นชื่อที่คุณพ่อสมบูรณ์ตั้งเมื่อนานแล้ว เพียงเพื่อพิมพ์บนใบโบรชัวร์ แต่ไม่เคยแม้แต่พิมพ์ป้ายประกาศแต่อย่างไร 

เราชอบที่เครื่องหมายการค้าเป็นลายของคุณพ่อ แถมชื่อก็ยังสอดคล้องกับลูกทั้งสาม

“เราเชื่อในคุณภาพสินค้าของเราอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือให้ข้อมูลตลาดเรื่องไม้กวาดของเรา ลักษณะของหญ้า ข้อดีและจุดแข็ง ความแตกต่างของไม้กวาดแต่ละแบบ ขนาดและความยาวซึ่งเป็นการออกแบบอย่างละเอียดของคนญี่ปุ่น เช่น ไม้กวาดด้ามสั้นที่ออกแบบให้การตัดปลายหญ้าพอดีกับพื้น และรับกับองศาการเหวี่ยงแขนยามปัดกวาด” บูรณิตาและคุณแม่เมตตาลุกขึ้นยืนพร้อมสะบัดแขนราวถือไม้กวาดในอากาศ

ความตั้งใจของแบรนด์บ้านบูรณ์ คือการทำไม้กวาดที่คนใช้รู้สึกภูมิใจ ไม่ต้องเป็นไม้กวาดที่หลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในซอกเหมือนที่เคย ต้องเป็นไม้กวาดที่ใครเห็นเป็นต้องถามว่าซื้อที่ไหน

“สำหรับเราไม้กวาดคืองานศิลปหัตกรรมที่ใช้งานได้จริงและใช้งานได้ดีด้วย” บูรณิตาเล่าถึงที่มาของโจทย์ที่อยากเปลี่ยนภาพจำของไม้กวาดในหมู่คนไทย

ความสมบูรณ์แบบในธุรกิจครอบครัว

ใครๆ ก็บอกว่าทำงานที่บ้านนั้นแสนยาก แต่ก็ทำได้

“ที่ยากที่สุดน่าจะเป็นเส้นแบ่งระหว่างงานกับความสัมพันธ์ บางทีมีบางสิ่งที่สำคัญกับธุรกิจจริงๆ และเราคิดว่าต้องเปลี่ยน แต่ถ้าเขาไม่เห็นด้วย เราจะทำอย่างไรให้ไม่กระทบความสัมพันธ์ตรงนั้น ซึ่งค่อนข้างยาก โชคดีที่มีพี่สาวเข้ามาช่วยเชื่อมสายใย ซึ่งทั้งเราและเขาต้องค่อยๆ ปรับ วันที่เราเข้ามานั่งดูระบบ เราเห็นทุกอย่างมันดูผิดไปหมด แต่จริงๆ มันผิดไหม มันไม่ได้ผิด เพียงแค่ไม่ได้ถูกที่สุด ถ้าผิดจริงเขาคงไม่อยู่มานานขนาดนี้ ต้องให้เครดิตสิ่งที่เขาทำ และไอเดียเราที่เคยคิดว่าถูก มันก็อาจจะไม่ถูกก็ได้ เพราะเรายังไม่ได้ลองทำด้วยซ้ำ” บูรณ์เมตต์เล่า

“เรายังยืนยันว่าสิ่งสำคัญของการเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวคือการสื่อสาร แม้เห็นต่างก็ยังดีที่อย่างน้อยได้รู้ว่าใครคิดเห็นอย่างไร” บูรณิตาเสริม

“ความรักสำคัญที่สุด จริงๆ ลูกทั้งสองคนเขาไปทำงานที่เติบโตได้ดีกว่านี้ได้นะ เงินเดือนที่ออสเตรเลียสูงกว่าที่ไทยไม่รู้กี่เท่า สิ่งที่เขาได้ คือพวกเขาได้ทำในสิ่งที่วันหนึ่งเขาจะไม่เสียดาย ไม่โกรธตัวเองว่าทำไมไม่มาช่วย” คุณแม่เมตตายิ้มก่อนหันไปทางคุณพ่อ

“ทำงานด้วยกันแล้วดีกว่าทำคนเดียวจริงๆ นะ” คุณพ่อสมบูรณ์ทิ้งท้าย

บ้านบูรณ์ แบรนด์ของทายาทรุ่นสองผู้ผลิตไม้กวาดอายุ 34 ปี จากเชียงรายที่ดังไกลถึงญี่ปุ่นและสวีเดน, baanboon blooms, ไม้กวาดบ้านบูรณ์

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล