ตะวันยามเช้าทอดไออุ่นลงบนพื้นหญ้าเขียวที่แผ่อาณาบริเวณไปจรดตลิ่ง น้ำในคลองไร้ชื่อสงบนิ่งราวไม่รู้สึกรู้สาต่อนกกระยางที่บินร่อนเหนือใบบัวชูก้าน คู่ตุนาหงันผมแดงจูงมือกันมานอนเอนหลัง กินลมชมบรรยากาศรุ่งอรุณในกรุงเก่า ในเวลาเดียวกับที่เราหิ้วกระเป๋าเดินทางใบน้อยตรงไปที่รถ พลันแว่วเสียงจากโต๊ะกินข้าวของครอบครัวเจ้าของรีสอร์ตว่า
“วันไหนว่างก็แวะมาทานน้ำนะลูก มาเที่ยวอยุธยา”
ถ้อยคำแสดงความอารีจากปากชายสูงวัยที่ผู้เข้าพักต่างเรียกว่า ‘ลุง’ ทำให้เราต้องหยุดนิ่งเพื่อคิดทบทวนถึงทุกความทรงจำดี ๆ ที่ได้รับจาก ‘โรงแรมบ้านท้ายวัง’ – ที่พักโดยครอบครัวพลทรัพย์ซึ่งให้แขกทุกคนได้กินอยู่หลับนอนในรั้วบ้าน ‘คนยุดยา’ ยุคใหม่ที่ยังรักษาวิถีชีวิตแบบใต้ถุนสูงริมน้ำไว้
เริ่มตั้งแต่ย่างก้าวแรกที่พาตัวเราเข้ามาอยู่กลางวงล้อมของพืชพรรณอันเขียวขจี โดยมีลูกชาย ‘ลุง’ อย่าง กฤษฎา พลทรัพย์ นำชมบ้านของครอบครัวเขาทีละส่วน

บ้านใกล้วัง
ก่อนจะมี ‘บ้านท้ายวัง’ กฤษฎาบอกกับเราว่าบ้านเดิมของตระกูลเขาอยู่ใกล้เขตวังเก่าของกรุงศรีอยุธยามาก กระทั่งองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ลงมติให้อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี พ.ศ.2534 ผู้ที่มีบ้านเรือนอยู่ในแหล่งมรดกโลกอย่างพวกเขาจึงต้องย้ายออกจากพื้นที่ตามข้อกำหนด
และเพื่อเป็นการชดเชยให้กับชาวบ้านที่ถูกเวนคืนที่ รัฐจึงส่งที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์มาให้ครอบครัวของกฤษฎาและญาติพี่น้องได้เลือกอยู่
“เขาก็ย้ายทุกคนโดยให้กลุ่มบ้านผมมาเลือกที่ในซอยนี้ ในซอยนี้เป็นญาติผมหมดเลย ก็ย้ายมาประมาณปี พ.ศ.2535 เป็นที่เช่าจากราชพัสดุ”

ย่านใหม่ที่ คุณพ่อวิชัย กับ คุณแม่ลัดดาวัลย์ พลทรัพย์ ย้ายมาตั้งรกรากใหม่ ชาวบ้านขนานนามให้ที่นี่ว่า ‘ชุมชนโรงสุรา’ เหตุเพราะเคยมีโรงสุราอยู่ แต่ก็ถูกย้ายออกไปเพื่อเปิดทางให้ผู้คนจากแหล่งโบราณสถานได้มาตั้งบ้านเรือนใหม่นี่เอง
“พอจะเป็นมรดกโลก เขาก็มองว่าโรงสุราไม่ควรอยู่ที่นี่ ทุบไซโลทิ้ง แล้วก็ให้ที่ตรงนี้เป็นที่สำหรับย้ายคนมา” กฤษฎาเล่าก่อนชี้ชวนเราดูคลองที่เป็นไฮไลต์สำคัญของบ้าน “คลองนี้มันไม่มีชื่อ เหมือนเป็นคลองในโรงสุรา ขุดขึ้นมาเพื่อขนเหล้าออกไปแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งไปกรุงเทพฯ แค่นี้เอง”
บ้านท้ายวัง
เมื่อมองย้อนไปในวันนั้น กฤษฎายืดอกพูดได้อย่างไม่อายว่า มันเป็นที่ดินแปลงที่ญาติพี่น้องทุกคนไม่เลือก เนื่องจากถูกทิ้งร้างมานานจนกลายเป็นที่หมักหมมของขยะ นั่นคือยุคที่คนอยุธยายังไม่พิสมัยที่ริมน้ำ เพราะทุกคนเชื่อว่าหมดยุคบ้านริมน้ำแล้ว จะให้ดีต้องได้อยู่บ้านติดถนนซึ่งจะเอื้อต่อการค้า

“พอเรามาปุ๊บ เราก็ลองถางที่ ปรากฏว่ามันมีคลอง ทำแล้วสวยนะ แล้วเราก็โชคดีว่าแต่ก่อนคลองกว้างกว่านี้ กว้างเป็น 30 – 40 เมตรเลย บ้านที่อยู่ติดกันเขาก็สร้างชิดคลอง แล้วปรากฏว่ามันสไลด์ บ้านเขาจะพัง เทศบาลหรือกรมศิลป์ไม่รู้ที่ตัดสินใจเอาดินมาถมให้ คลองก็เลยแคบเหลือแค่นี้ บ้านผมทำตามกฎหมายคือร่นที่ ผมก็เลยได้ที่เพิ่มมาด้วย”
ปรับสภาพที่ดินแล้ว อีกจุดหนึ่งซึ่งต้องให้เครดิตคุณพ่อวิชัย คือการบูรณะบ้านทรงตะวันตกหลังเก่าจนกลายเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง เป็นที่สะดุดตาของบรรดาลูกค้าต่างชาติที่มาพักที่นี่
“เดิมเป็นบ้านทรงฝรั่ง มีจั่วสูง สโลปเยอะ พื้นที่สโลปต้องใช้ พ่อเลยทำห้องใต้หลังคา เวลาญาติมากันเยอะ ๆ ก็ไปนอนข้างบนได้ แต่ก่อนหลังนี้มันเป็นบ้านชั้นเดียว แต่พื้นที่ใช้สอยมันไม่พอ พ่อผมก็ตัดสินใจรื้อเป็นชิ้น ๆ แล้วเอามาทำใหม่ ประตูยกมาจากบ้านเก่า บางชุดก็ซื้อใหม่ แล้วก็ยกข้างล่างให้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง ข้างบนก็เก็บไว้เป็นพื้นที่พักอาศัย”

มากไปกว่านั้น ความเป็นนักปลูกต้นไม้ตัวยงของคุณแม่ลัดดาวัลย์ ก็ส่งผลให้ที่เคยถูกทิ้งร้างแห่งนี้กลายเป็นสวนสวยติดคลองอันร่มรื่นระดะตาด้วยพุ่มพฤกษ์นานาพันธุ์ อย่างเช่นไทรต้นใหญ่ที่กางก้านให้ร่มเงาแก่ชานบ้าน ที่กฤษฎานั่งเล่าความเป็นมาของที่พักให้เราฟังอยู่นี้
“ต้นไม้สวย ใคร ๆ มาก็บอกว่าสวย ตอนที่ยังไม่มีโรงแรม ทุกคนมาก็บอกว่าต้องทำ ๆ เราก็มองว่าที่เราเหลือ เราก็เลยทำโรงแรม”
เมื่อตกลงปลงใจได้แล้วว่าจะเปิดบ้านเป็นโรงแรม ทั้งครอบครัวก็มาหารือกันว่าจะตั้งชื่อให้โรงแรมของพวกตนว่าอย่างไร ก่อนจะผุดไอเดียว่าที่ตั้งของชุมชนโรงสุราทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเคยเป็นพระราชวังหลังสมัยกรุงศรีอยุธยามาก่อน นั่นคือที่มาของชื่อ ‘บ้านท้ายวัง’ ที่เรียกกันอยู่นี้
“ถ้าคุณดู Layout ก็จะเห็นว่าเราอยู่ส่วนท้ายของเกาะเมือง บางยุคเขาเรียกว่า ‘วังหลัง’ บางยุคไม่มีตำแหน่งวังหลัง ก็จะกลายเป็นแค่สวน ตำแหน่งมันอยู่หลังจากวังหลวง ก็เลยตั้งชื่อง่าย ๆ ว่า ‘บ้านท้ายวัง’”
บ้านของแขก
25 ธันวาคม พ.ศ.2553 คือวันแรกที่รีสอร์ตของ ‘บ้านท้ายวัง’ เริ่มกิจการ
แต่กว่าที่ตึกสองชั้นหลังนี้จะเปิดให้บริการได้ ต้องใช้เวลานานถึง 4 ปีถ้วน

“ลูก ๆ ทุกคนตอนนั้นเพิ่งเริ่มทำงาน น้องสาวผมเป็นแอร์โฮสเตสมาก่อน ก็ลงเงินเยอะสุด ตัวผมทำงานแล้วก็ใช้ชีวิต ก็เลยลงน้อยหน่อย ใช้แรงเยอะหน่อย มันเสร็จปี 2553 ก็เริ่มทำตั้งแต่ 2549 เราไม่ได้เก็บเงินเข้าธนาคาร เอาเงินทุกคนในบ้านมารวมเงินลงทุน เป็น Saving ของเรา”
นับว่าโชคเข้าข้างกฤษฎาและครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง เพราะปีแรกที่เปิดบ้านท้ายวัง มีเว็บไซต์เอเจนซีจองโรงแรมผุดขึ้นทั่วอินเทอร์เน็ตแล้ว การจะเปิดโรงแรมที่พักใหม่จึงทำได้ง่ายยิ่ง ไม่จำเป็นต้องง้อทัวร์เหมือนแต่ก่อน เพียงวันแรกที่เปิดโรงแรมมา เขาก็มีลูกค้ามาพักแล้ว อีกหนึ่งปีให้หลังเมื่อพระนครศรีอยุธยาประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ แม้ว่าบ้านท้ายวังจะถูกน้ำท่วมขังอยู่แรมเดือน แต่ครั้นปิดปรับปรุงใหม่ได้ไม่นาน ลูกค้าก็ไหลมาเทมาเช่นเดิม
อาคารส่วนที่เป็นที่พักสำหรับแขกสร้างจากคอนกรีตเสริมเหล็ก ตกแต่งด้วยไม้
ชั้นล่างมี 4 ห้อง แต่ละห้องมีสีสันและวัสดุที่ใช้ในการทำเครื่องเรือนที่ไม่เหมือนกัน ส่งผลให้ห้องทั้ง 4 ได้รับการตั้งฉายาตามสี ได้แก่ ห้องแดง ห้องเขียว ห้องฟ้า และห้องทอง เกิดจากการรังสรรค์ด้วยชาดเขียวไข่กา คราม และทอง เรียงมาตามลำดับ

ฝักบัวอาบน้ำในห้องพักทุกห้องอยู่ด้านนอก เพื่อให้ผู้เข้าพักกำซาบลมเย็นได้เต็มผิวกาย ฟังดูน่าสยิวใจไม่ใช่น้อยสำหรับแขกชาวไทยที่ติดจะขี้อาย แต่ไม่ต้องกังวลใจว่าจะมีใครเห็น เพราะผนังด้านหลังโบกปูนทึบ ซ้ำหลังคาเหนือที่อาบน้ำยังเป็นบานเกล็ดที่ปิดบังสายตาไม่ให้คนจากด้านบนมองลงมาได้
ชมห้องวิวคลองชั้นล่างจนหนำใจ กฤษฎาจึงพาเราเดินขึ้นชั้นบนไปยลห้องสวีทที่รวบห้องพัก 2 ห้องเข้าเป็นห้องเดียว นอกจากชุดรับแขกซึ่งประกอบด้วยตั่งและเก้าอี้ไม้ อีกจุดที่น่าสะดุดตาเป็นพิเศษของห้องนี้คือการมีที่อาบน้ำถึง 3 จุดในห้องเดียว ทั้งด้านนอก ด้านใน รวมทั้งอ่างจากุซซี่ติดหัวเตียงอันเป็นที่โปรดปรานของผู้เข้าพักทุกราย

จะเป็นห้องมาตรฐานหรือห้องสวีท สิ่งที่เจ้าของบ้านภูมิใจนำเสนอมากที่สุดคือการที่ทุกห้องมีเพียงกระจกเงาบานเล็กติดไว้ข้างอ่างล้างหน้า กับเตียงทุกหลังที่ออกแบบมาให้เป็นเตียงใหญ่

“ที่ไม่มีกระจกนี่เป็นเรื่องดื้อด้านของเรา เพราะติดแล้วมันไม่สวย บังวิว คือถ้าคุณยืนแปรงฟันตรงนี้แล้วมองไปเห็นวิว เห็นคลอง สนามหญ้า มันน่าจะสวยกว่าเห็นหน้าตัวเองหรือเปล่า ตั้งแต่ปี 2553 ที่เปิดโรงแรมมาก็ไม่มีคนบ่นเรื่องนี้ ก็เลยคิดว่าถ้าจะทำโรงแรมบูติก คุณก็ควรจะต้องเลือก ถ้าทำทุกอย่างตามแบบโรงแรมมาตรฐาน มันก็จะไม่มีอะไรน่าสนใจ”

ส่วนเรื่องเตียงนั้นก็เป็นสิ่งที่ทุกคนในครอบครัวกำหนดไว้แล้วเช่นกัน
“ห้องเราเป็นเตียงใหญ่หมด ไม่มีเตียงแยก เราเลือกมาตั้งแต่แรกแล้วครับว่าจะรับคู่รัก ถ้าเป็นเพื่อนก็ต้องเป็นเพื่อนสนิท แต่ถ้าคุณจะนอนแยก ผมไม่มีเตียงแบบนั้นให้ ต้องซื้อเตียงเสริมเพิ่มเพื่อจะนอนแยกกันครับ”
บ้านของลุงกับป้า
หากเสิร์ชชื่อ ‘บ้านท้ายวัง’ ในอินเทอร์เน็ต สิ่งที่คุณจะเจอคือคำสร้อยต่อท้ายซึ่งระบุที่พักต่างชนิดกัน บางแห่งเรียก ‘บ้านท้ายวัง โฮเทล’ บางแห่งเรียก ‘บ้านท้ายวัง รีสอร์ต’ ชวนสับสนว่าที่สุดแล้วที่พักในย่านท้ายวังหลวงของกรุงเก่าแห่งนี้จะนิยามว่าเป็นอะไรดี
“ไม่รู้สิ ผมก็เรียกบ้านตัวเองยาก” นี่คือคำตอบของกฤษฎา
“พอเป็นรีสอร์ต มันก็ดูยิ่งใหญ่ไป จะเป็นเกสต์เฮาส์ มันก็ดูไม่ส่งเสริมต่อธุรกิจเรา เหมือนเป็นอีกเกรดหนึ่ง เราก็เลยเรียกรีสอร์ตเป็นหลัก เพราะหมวดหมู่ตามเว็บไซต์มันไม่มีให้เลือกอย่างอื่น เลยต้องเรียกรีสอร์ต”
ทว่าตามความรู้สึกส่วนตัวของเขาแล้ว ที่นี่ควรจะเป็น Lifestyle Hotel มากกว่าชื่ออื่นใดในสารบบ
“เพราะมันเหมือนกับคุณเข้ามาในชีวิตชาวอยุธยา ถ้าคุณมาพักที่นี่ คุณได้เห็นของที่คุณพ่อผมสะสม มาชมสวนที่คุณแม่ผมปลูกไว้ เข้ามาอยู่ในชีวิตพวกผม”
นั่นไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงแม้แต่น้อย เพราะคุณพ่อวิชัยกับคุณแม่ลัดดาวัลย์ยังคงดำเนินชีวิตประจำวันเป็นปกติ พักอยู่ในบ้านใต้ถุนหลังเดิมที่อยู่มาแต่ครั้งย้ายมาที่นี่แรก ๆ กินดื่มเหมือนที่เคยเป็นมาตลอด จะมีที่ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง ก็แค่เนื้อที่ครัวซึ่งต้องเพิ่มขนาด ให้มีแพนทรีสำหรับเก็บเครื่องครัวและเตรียมเครื่องดื่ม กับชั้นสองที่ปรับเป็นแกลเลอรีสะสมวัตถุโบราณให้ลูกค้าเดินชมได้

“พ่อแม่ผมไม่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตเลย ลูกค้าก็จะเห็นชีวิตปกติ คอนเซ็ปต์ของเราก็คือ ‘ให้คุณเข้ามาอยู่ในชีวิตเรา’ อันนี้คือชีวิตมนุษย์จริง ๆ ในอยุธยา…มันไม่มีแล้วอยุธยาที่คุณเห็นในหนัง พวกบ้านทรงไทยแบบนั้น มันอยู่นอกเกาะเมืองออกไปนู่น อยุธยาวันนี้ที่ยังมีวิถีเดิมอยู่คือใต้ถุน ซึ่งมันก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับชีวิตสมัยใหม่แบบนี้” กฤษฎาพูดขณะพาเรากลับจากแกลเลอรีมายังครัวชั้นล่าง

หัวแรงสำคัญที่ดูแลบ้านท้ายวังคือเป็นบุพการีทั้งสองของกฤษฎา ทั้งคู่ดูแลแขกทุกกลุ่มทุกเชื้อชาติเป็นอย่างดีดุจดังลูกหลานแท้ ๆ ของพวกท่านเอง
“เซนส์ของคนไปเที่ยวคืออยากไปมีประสบการณ์แบบคนที่นั่น อย่างถ้าคุณไปเกียวโต คุณก็คงอยากใส่ชุดยูกาตะ นอนในเรียวกัง ถ้าคุณไปอักราในอินเดีย คุณก็อาจจะอยากนอนในอาคารที่เป็นหิน ส่วนที่นี่ถ้าคุณไปดูใน’เน็ต คุณจะเห็นว่าทุกคนจะเรียก ‘ลุง’ กับ ‘ป้า’ ก็เหมือนกับมานอนบ้านผม คุณมาที่บ้านผม พ่อแม่ผมกินอะไร คุณก็จะได้กินแบบนั้น”
ลูกชาย ‘ลุง’ กับ ‘ป้า’ ยังเล่าอีกว่าเมนูอาหารเช้าอย่างข้าวต้ม หมูปิ้ง และไส้กรอก ที่เราได้เลือกกินเมื่อเช้านี้เป็นฝีมือของคุณแม่ลัดดาวัลย์ หรือป้าของบรรดาแขกบ้านท้ายวัง เป็นด้วยระยะทางจากที่พักที่ค่อนข้างไกลจากร้านอาหาร ป้าจึงอาสาทำอาหารให้เติมพลังก่อนออกไปเที่ยวชมโบราณสถานในวันใหม่ และก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจำนวนผู้เข้าพักยังมีมากกว่านี้ ป้าก็ทำอาหารขายให้แขกที่มาพักเพื่ออำนวยความอิ่มหนำถึงปากท้องหลาน ๆ ทุกคน
ไม่แปลกเลยที่กฤษฎาจะคุยให้ฟังว่า Lifestyle Hotel ของครอบครัวเขามีแขกมากหน้าหลายตาแวะเวียนมาพักผ่อนไม่เคยขาด วันธรรมดาที่นี่จะได้รับการเติมเต็มด้วยลูกค้าฝรั่งมังค่า และในวันหยุดสุดสัปดาห์ ห้องพักที่ว่างอยู่ก็มักจะถูกจองเกลี้ยงด้วยลูกค้าคนไทยที่มาเที่ยวไหว้พระ 9 วัด บางคนติดอกติดใจถึงกับมาเป็นลูกค้าขาประจำเลยก็มี

“วันไหนว่างก็แวะมาทานน้ำนะลูก มาเที่ยวอยุธยา”
เสียงลุงวิชัยเลือนหายไปพร้อมกับลมเอื่อยที่นำเรากลับสู่ปัจจุบันขณะอีกครั้ง ภาพใบบัวที่ลอยเกลื่อนคลอง ตุ๊กตากระเบื้องรูปช้างเรียงรายบนขั้นบันได ไม้ใหญ่ในสวน เครื่องเรือนล่องชาด และอื่น ๆ อีกมากมายที่พบได้เฉพาะที่นี่ กำลังจะเป็นอดีตไปในทันทีที่เราก้าวผ่านรั้วบ้านนี้ไป
เราโบกมือลาบ้านทรงจั่วหลังใหญ่ พลันให้สัญญาใจกับครอบครัวพลทรัพย์ว่าไม่ช้าก็เร็ว เราจะต้องหวนกลับมาที่บ้านท้ายวังแห่งนี้อีกแน่นอน
บ้านท้ายวัง (Baan Tye Wang)
ที่ตั้ง : ชุมชนโรงเหล้า ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา (แผนที่)
โทรศัพท์ : 088 695 7320 , 035-323-001
Facebook : Baan Tye Wang