จากกรุงเทพฯ – อุทัยธานี รถยนต์คันใหญ่ขับแล่นมาตามป้ายบอกทาง ‘บ้านสวนจันทิตา’ 

เราเปิดประตูลงจากรถเพื่อเปิดประตูไม้บานใหญ่ เข้าไปยังโฮมสเตย์ท่ามกลางธรรมชาติที่เจ้าบ้านปลูกต้นไม้กว่า 30 ปีจนมีป่าเป็นสวนหลังบ้าน แถมใจดีแบ่งปันพื้นที่สีเขียวให้เพื่อนต่างถิ่นแวะหย่อนกายสบายใจ

บ้านสวนจันทิตา โฮมสเตย์ของครูวัยเกษียณที่ปลูกต้นไม้ไว้ตั้งแต่ 30 ปีก่อน

บ้านสวนตรงหน้าเป็นความคิดหลังเกษียณของหนุ่มนครสวรรค์และสาวกรุงเทพฯ ที่ปักหลักอยู่เมืองอุทัยฯ และอยากมีกิจการขนาดเล็กบรรเทาความหน่าย เป็นเวลา 5 ปี ที่บ้านกลางป่าแห่งนี้ต้อนรับแขกด้วยความอบอุ่นเหมือนครอบครัว ทว่ากว่าจะมาเป็นที่พักที่คนติดใจ มีเบื้องหลังสนุกและความบังเอิญน่ารักที่เราอยากให้คุณรู้จัก

ทำไมต้องตั้งชื่อว่า ‘บ้านสวนจันทิตา’ เราถามด้วยความสงสัย

“ผู้ชายเขาก็ตั้งชื่อเพื่อผู้หญิงกันทั้งนั้นแหละ” ชายวัยค่อน 70 ตอบพร้อมเขินม้วนเหมือนเจอรักครั้งแรก

เพียงสบตา

“ครูจันเป็นคนกรุงเทพฯ แกบรรจุหลังผมสองปี ตอนมีครูผู้หญิงมาใหม่ตื่นเต้นกันใหญ่ เผอิญมีคนโสดอยู่สองคน อีกคนอายุน้อยกว่าผม พอครูจันลงจากรถปุ๊บ เขาสละสิทธิ์เลย” เสียงหัวเราะและรอยยิ้มตาหยีระคนความสุขของ ลุงสาน-ไพศาล กุศลวัฒนะ บอกเราทันทีว่ารักแรกพบระหว่างเขากับ ป้าจัน-จันทิตา กุศลวัฒนะ มีจริง

บ้านสวนจันทิตา โฮมสเตย์ของครูวัยเกษียณที่ปลูกต้นไม้ไว้ตั้งแต่ 30 ปีก่อน

ลุงสานและป้าจันเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ประจำที่โรงเรียนบ้านหูช้าง จังหวัดอุทัยธานี จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ก็ตัดสินใจปักหลักอยู่อุทัยฯ ที่ผูกพัน ราว 30 กว่าปีก่อน เขาและเธอตัดสินใจซื้อที่ดินขนาด 3 ไร่ เพื่อปลูกต้นไม้และบ้านพักอยู่อาศัย ชายหนุ่มหว่านเมล็ดพันธุ์ที่รับแจกจากศูนย์เพาะชำกล้าไม้ เวลา 30 ปีให้หลัง ต้นไม้หลากพันธุ์สูงใหญ่ให้ร่มเงา อาทิ ประดู่ป่า ชิงชัน ยางนา เต่าร้าง เฟิร์น เสลา หมากแดง ฯลฯ

“ตรงนั้นต้นนนทรี เพราะครูจันเขาจบจาก ม.เกษตร” หนุ่มนครสวรรค์พูดพลางยิ้มเขิน 

“ผมเป็นพวกเพ้อเจ้อ โรแมนติก อยากปลูกป่าไว้หลังบ้าน ผมไม่มีประสบการณ์ปลูกต้นไม้นะ มีอย่างเดียวคือความชอบ ตอนเด็กผมชอบอ่าน ล่องไพร ของน้อย อินทนนท์ มาอยู่บ้านไร่ก็ชอบขึ้นเขา ตอนเด็กบ้านอยู่นครสวรรค์ เวลานั่งรถผ่านทุ่งนา ใจผมอยากจะกระโดดลงจากรถแล้วไปเลี้ยงควายในนา” ลุงสานเล่าอย่างอารมณ์ดี แถมเฉลยว่าป่าดงดิบเป็นป่าในฝันที่ชอบมากที่สุด ซึ่งสวนทางกลับป้าจัน สาวเมืองกรุงนิสัยเด็ดขาด ถ้าจะปลูกพืชต้องได้ผล

ครูวัยเกษียณสองคนทำสัญญาใจด้วยการแบ่งพื้นที่กันปลูก ด้านหลังปลูกป่าตามความต้องการของลุงสาน ด้านหน้าปลูกผักและผลไม้ตามความต้องการของป้าจัน อิจฉานกแถวนั้นที่มองลงมาเห็นสีเขียวสบายตาเต็มสามไร่

บ้านสวนจันทิตา โฮมสเตย์ของครูวัยเกษียณที่ปลูกต้นไม้ไว้ตั้งแต่ 30 ปีก่อน

ยินดีที่ได้รู้จัก

หลังเกษียณอายุ ครูจันคันไม้คันมืออยากหากิจการและกิจกรรมยามว่างบรรเทาความหน่าย จึงคิดอยากใช้พื้นที่ว่างกลางป่าส่วนตัวทำเป็นห้องพักรายเดือน แต่ลุงสานปะเหลาะให้เปลี่ยนความคิดมาทำโฮมสเตย์กันดีกว่า

สำเร็จ! ป้าจันตกลงใจเปลี่ยนพื้นที่บริเวณป่าหลังบ้านเป็นบ้านไม้แสนอบอุ่นจำนวน 4 หลัง

บั๊ม-ประกิจ กัณหา เจ้าของ Studiomiti เป็นสถาปนิกที่ออกแบบ ‘บ้านสวนจันทิตา’ ด้วยความสมัครใจ

“สมัยก่อนผมเล่นมัลติพลาย เอาไว้ลงภาพถ่าย คุณประกิจดันชอบภาพที่ผมถ่าย แกก็ส่งคำขอเป็นเพื่อนมา ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแกเป็นสถาปนิก ผมถ่ายอะไรแกชอบหมด จนผมลงภาพบ้านที่เพิ่งทำเสร็จ แกตอบกลับมาว่า ‘ผมอยากมีบ้านแบบนี้จัง’ สุดท้ายก็คุยกัน แกก็มาดูสถานที่และถ่ายภาพพื้นที่เอาไว้” เจ้าบ้านเล่าย้อนความหลัง

บ้านสวนจันทิตา โฮมสเตย์ของครูวัยเกษียณที่ปลูกต้นไม้ไว้ตั้งแต่ 30 ปีก่อน

บั๊มเขียนความคิดของที่พักท่ามกลางป่าที่ใช้เวลาปลูกด้วยความรักกว่า 30 ปีลงกระดาษ เขาเกริ่นกับเจ้าบ้านว่าจะทำบ้านสูง-ต่ำไม่เท่ากัน ทุกหลังเชื่อมกันด้วยลานกว้าง เขาจะรักษาต้นไม้รอบบ้านให้ได้มากที่สุดและบ้านจะต้องกลมกลืนกับธรรมชาติมากที่สุด เจ้าบ้านได้ฟังเพียงไอเดียก็ถูกใจและไม่คิดขัดคอ ให้บั๊มเป็นตัวเองเต็มที่

“ผมบอกคุณประกิจว่าเงินไม่ค่อยมีนะ กลุ้มใจว่าจะมีเงินสร้างให้สำเร็จมั้ย คิดไปคิดมาผมโทรยกเลิกเขาเลย สงสัยคงไม่ได้สร้างแล้ว แต่แกบอกว่าจะทำให้ได้ อยากทำมากเลย ผมเลยตกลง คิดว่าไปตายเอาดาบหน้า

“ตอนบ้านเสร็จเราชอบนะ คุณประกิจออกแบบไม่เหมือนใคร เหมือนแกหาสไตล์ของแกเจอและสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ในใจแกมาตลอด เราเปิดโอกาสให้แกทำ จนกลายเป็นลายเซ็นของแกไปแล้ว” ลุงสานยิ้มยินดีกับลายเซ็นของสถาปนิกหนุ่มที่ตัวอยู่ไกลสุดขอบฟ้า ทว่ายังระลึกถึงเสมอผ่านสถาปัตยกรรมที่สวยงามเคียงคู่กับธรรมชาติ

ซ่อมได้

“จะเล่าถึงปัญหาที่มีผลต่อการออกแบบนะ” เจ้าบ้านบอกกับเราแบบนั้น 

ปัญหาแรก ช่างตีฝาบ้านแนวตั้งมีช่องห่าง ป้าจันเกรงว่าถ้าติดเครื่องปรับอากาศ ความเย็นจะทะลุช่องนั้นออกมาด้านนอก บั๊มซ่อมได้ เขาแก้ปัญหาด้วยการเอาแผ่นฝ้ายิปซั่มมาติดทับ กลายเป็นดีเสียอีก ภายในห้องพักดูเหมือนบ้านของคนญี่ปุ่นอย่างบังเอิญ, ปัญหาที่สอง เนื่องจากมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นตรงพื้นที่ที่จะวางเสา จากระยะห่างระหว่างเสาขนาด 3 เมตรตามสากล เขาปรับลงมานิดเหลือ 2.70 เมตร เพื่อรักษาต้นไม้ต้นนั้นเอาไว้ บั๊มซ่อมได้!

บ้านสวนจันทิตา โฮมสเตย์ของครูวัยเกษียณที่ปลูกต้นไม้ไว้ตั้งแต่ 30 ปีก่อน

หากสังเกตบ้านทุกหลังจะไร้ชายคา สาเหตุมาจากต้นไม้ที่เจ้าบ้านและสถาปนิกไม่อยากตัด แต่อาศัยการออกแบบที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน, ปัญหาที่สาม ฝนตกที่หน้าต่าง น้ำฝนไหลจากด้านนอกเข้าด้านใน เพราะไม่มีชายคา แต่นั้นไม่ใช่ปัญหา บั๊มซ่อมได้ เขาติดเหล็กชิ้นเล็กเหนือหน้าต่างเพื่อกันน้ำฝนไหลเข้าบ้าน

บ้านสวนจันทิตา โฮมสเตย์ของครูวัยเกษียณที่ปลูกต้นไม้ไว้ตั้งแต่ 30 ปีก่อน

ปัญหาที่สี่ ทัศนียภาพด้านล่างไม่สวยงาม เป็นปัญหาที่อยู่นอกแปลนและสถาปนิกหนุ่มไม่ทันฉุกคิด ลุงสานบอกว่าซ่อมได้ ยกมือขอช่างทำเพิ่มอีกชั้น กลายเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ใต้ถุนบ้านที่ทุกคนใช้งานร่วมกัน

ส่วนข้อสงสัยที่หลายคนแคลงใจ ทำไมบ้าน 4 หลังขนาดสูง-ต่ำไม่เท่ากัน สถาปนิกบอกว่าเกี่ยวกับการระบายอากาศ ทว่าลุงสานคิดว่าเกี่ยวกับมุมมอง ถ้าบ้านทุกหลังเท่ากันหมด จะไม่มีบ้านหลังไหนรับบทพระเอก ถ้าถอยออกมาตรงสนามหญ้าหน้าบ้าน จะเห็นทันทีว่าบ้างหลังที่สามฉายแววความหล่อพุ่งออกมามากกว่าหลังอื่น

บ้านสวนจันทิตา โฮมสเตย์ของครูวัยเกษียณที่ปลูกต้นไม้ไว้ตั้งแต่ 30 ปีก่อน

นอนได้แล้ว

เราสูดอากาศบริสุทธิ์เข้าเต็มปอดและกดบันทึกเสียงนกตัวน้อยร้องเพลงเอาไว้เต็มสองหู ก่อนเจ้าบ้านผมแซมสีดอกเลาจะพาเดินสำรวจด้วยท่าทียังแข็งแรง ลุงสานบอกว่าหากมานอนพักจะแถมอาหารเช้าจากเจ้าอร่อยในท้องถิ่นและกระซิบว่าห้ามเปิดประตูห้องไว้เด็ดขาด ไม่เช่นนั้นสัตว์เลื้อยคลานเพื่อนยากจะมาหาถึงหน้าประตู

บ้านสวนจันทิตา โฮมสเตย์ของครูวัยเกษียณที่ปลูกต้นไม้ไว้ตั้งแต่ 30 ปีก่อน

ลุงสานเดินนำ ก่อนจะเปิดประตูห้องพักให้เข้าไปยลโฉมความน่ารัก ภายในมีเตียงนุ่มสำหรับแขก 2 คน (กดเพิ่มที่นอนเสริมได้นะ) มีโต๊ะไม้พร้อมเบาะสีอุ่นที่ขับให้ห้องนี้ดูเป็นบ้านฉบับญี่ปุ่นมากกว่าเดิม เราชอบความเรียบง่าย มีเพียงข้าวของจำเป็น ไม่หวือหวา เพราะเป้าหมายหลักคือการชวนแขกมาพักและดื่มด่ำกับธรรมชาติรอบตัว

บ้านสวนจันทิตา โฮมสเตย์ของครูวัยเกษียณที่ปลูกต้นไม้ไว้ตั้งแต่ 30 ปีก่อน
บ้านสวนจันทิตา โฮมสเตย์ของครูวัยเกษียณที่ปลูกต้นไม้ไว้ตั้งแต่ 30 ปีก่อน

รายละเอียดอีกจุดที่แสดงถึงความใส่ใจของสถาปนิกคือหน้าต่างกระจกรอบห้องพักที่อยู่ระดับสายตาพอดิบพอดี มองเห็นสีเขียวของต้นไม้นานาชนิด ช่างผ่อนคลายสบายตาเสียจริง น่าเอนกายหย่อนหลังเป็นที่สุด ลุงสานบอกว่าบางคนติดใจ ‘บ้านสวนจันทิตา’ มาก มาอยู่หลายวันไม่ยอมกลับก็มี ขอซื้อไว้เป็นของตัวเองสักหลังก็มี

“ผมว่าเขาอาจจะชอบธรรมชาติ บางคนบอกว่ามาเพราะต้นไม้ ผมว่าไม่น่าใช่ ถ้าไปพักบนภูเขาต้นไม้เยอะกว่าอีก ผมมองว่าคงเกี่ยวกับงานออกแบบและดีไซน์ที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน เหมือนว่าคุณประกิจแกทำในสิ่งที่คนไม่กล้าทำ แล้วบ้านผมมีต้นไม้เยอะมากอยู่แล้ว ภาพที่ออกมาคนเลยตื่นตะลึง” เจ้าบ้านยิ้มด้วยความภูมิใจ

บ้านสวนจันทิตา โฮมสเตย์ของครูวัยเกษียณที่ปลูกต้นไม้ไว้ตั้งแต่ 30 ปีก่อน

คนมาพักส่วนใหญ่มากันแบบปากต่อปาก คณะแรกเป็นนักเขียน ตามด้วยสถาปนิก คนทำงานดีไซน์ หมอ (ลุงสานแซวว่าหมอมาแทบจะทุกโรงพยาบาลแล้ว) นอกจากความสวยงามระหว่างสมดุลธรรมชาติกับสิ่งก่อสร้างที่มัดใจให้นักนอนเที่ยวมาแล้วก็อยากมาอีก คงด้วยพื้นที่อุทัยฯ เข้าถึงง่าย เดินทางสะดวก ขับรถไม่ไกลจากกรุงเทพฯ 

“เข้ามาก็เป็นป่า ออกไปก็เป็นเมือง” ลุงสานอธิบายหมัดเด็ดด้วยใจความเพียงหนึ่งประโยค

บ้านสวนจันทิตา โฮมสเตย์ของครูวัยเกษียณที่ปลูกต้นไม้ไว้ตั้งแต่ 30 ปีก่อน

จันทิตา (ที่รัก)

ลุงสานชวนเราเดินมาตรงสนามหญ้าเนินหลังเต่า (อดีตสระน้ำ) เราถอยหลังออกมานิด จนสายตามองเห็นบ้านไม้หลังงามถูกโอบกอดด้วยป่าธรรมชาติจากน้ำพักน้ำแรงของชายที่ยืนถัดจากเรา สวยสะกดใจเหลือเกิน

เจ้าบ้านพูดขึ้นมาท่ามกลางสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยที่กำลังส่งเสียงบรรเลงอยู่สักมุมในพื้นที่สีเขียวกว้างใหญ่

“พูดถึงก็มีความสุขดีนะ เราจะเอาความสุขมากกว่านี้ไม่ได้” เขาระเบิดความสุขผ่านเสียงหัวเราะ “ความจริงครูจันเขาทำเพื่อลูกนะ เมื่อก่อนลูกสาวอยู่กรุงเทพฯ แกอยากให้ลูกกลับบ้าน ความรู้สึกของคนเป็นแม่ แกห่วงลูก”

ไม่ว่าจะคิด ทำ หรือพูด ชายคนนี้ยังคงเอ่ยถึงหญิงอันเป็นที่รักของเขาตั้งแต่ประโยคแรกจนประโยคสุดท้าย

บ้านสวนจันทิตา โฮมสเตย์ของครูวัยเกษียณที่ปลูกต้นไม้ไว้ตั้งแต่ 30 ปีก่อน

บ้านสวนจันทิตา

ที่อยู่ : 32/9 หมู่ 5 ตำบลสะแกกรัง อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี  (แผนที่)

เบอร์โทรศัพท์ : 08 1114 1988

เฟซบุ๊ก : บ้านสวนจันทิตา

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล