The Cloud x ไทยประกันชีวิต
แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้
เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ตอนที่ หมาดเย็น แสงกุล แห่งบ้านสีดาวเรือง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ลงมือขุดสระ สร้างลำน้ำไหลเวียนรอบบ้าน และทดลองปลูกพืชหลายชนิดผสมผสาน ในขณะที่ชาวบ้านทำนา ปลูกต้นยางซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ ชาวบ้านมองว่าลุงคงเพี้ยนไปแล้วที่ทำอะไรแปลกประหลาด
ในวัยใกล้เกษียนอายุ ลุงหมาดเย็นเริ่มลงมือ ลงแรง ขุดสระขึ้นมา 3 สระ และขุดร่องน้ำเพื่อให้น้ำจากต้นน้ำไหลผ่านที่ดินทำกินของตัวเองได้สะดวก พร้อมทั้งทำฝาย โดยการขนหินมาประดับทีละก้อนๆ ซึ่งทั้งหมด ลุงหมาดเย็นทำด้วยตัวเองคนเดียวในเวลาถึง 7 ปี 6 เดือน

ทำแบบพึ่งพาตัวเอง วันไหนกำลังเยอะก็ทำเยอะ วันไหนต้องหาเลี้ยงชีพในตอนกลางวัน ก็ลงมือขุดดินและขนหินตอนกลางคืน ทีละเล็ก ทีละน้อย ทำด้วยความอุตสาหะอย่างคนไม่มีสตางค์ โดยไม่มีเครื่องทุ่นแรงใดๆ
ทุกวันนี้บ้านสีดาวเรืองคือศูนย์เรียนรู้ชุมชน เป็นพื้นที่ขนาดเล็กๆ แต่เห็นผลลัพธ์ชัดเจนที่นำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชามาใช้ในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางเกษตรกรรมได้อย่างน่าทึ่ง จนคนมากมายแวะเวียนกันมาเยี่ยมเยียน ชื่นชมธรรมชาติ และศึกษาทุกสิ่งทุกอย่างที่ลุงหมาดเย็นลงมือทำ จากความคิดสร้างสรรค์แบบบ้านๆ ผ่านสองมือของตัวเองมาตลอด 20 ปี
แหล่งน้ำไหลเวียนที่ขุดในวันนั้น กลายเป็นที่เลี้ยงปลาอันสมบูรณ์ แถมยังสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดิน ต้นไม้หลากชนิดที่ปลูกผสมผสานเก็บกินได้ทั้งปี แม้ดินจะเป็นกรด น้ำมีกำมะถัน แต่เมื่อมีหลายอย่าง ก็สลับสับเปลี่ยนได้ตามสภาพดิน น้ำ และอากาศ ในแต่ละปี


ในวัย 75 ปี ลุงหมาดเย็นบอกว่า ตนเองพอใจในความพออยู่พอกิน ตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง และเป้าหมายของชีวิตหลังจากนี้ ไม่ใช่การปลูกอะไรก็ตามในผืนดินแล้ว แต่เป็นความปรารถนาที่จะปลูกคน ให้หันมาชื่มชมธรรมชาติและหวงแหนทรัพยากรอันมีคุณค่า
ลงใต้ไปบ้านสีดาวเรืองและคุยกับลุงหมาดเย็น ชายผู้พลิกฟื้นผืนดินที่ปลูกอะไรก็ไม่งอกงาม ให้กลายเป็นพื้นที่ธรรมชาติจากฝีมือมนุษย์แห่งเดียวของจังหวัดตรัง

01
จากสวนยางเป็นสวนป่าผสมผสาน
พื้นที่บริเวณนี้เป็นหมู่บ้านชาวมุสลิมเงียบสงบ และอยู่ใกล้กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ที่ตั้งของน้ำตกโตนตก ที่ได้ชื่อว่าราชินีแห่งน้ำตก เพราะสวยงามไปด้วยหินที่ลดหลั่นลงมานับสิบชั้น ร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้มากมาย ไม่ใช่แค่โตนตก แต่บริเวณนี้ยังมีน้ำตกมีชื่ออีกหลายแห่งกระจัดกระจายอยู่
“เมื่อก่อนชาวบ้านแถวนี้ทำนา ตอนลุงหนุ่มๆ ก็คิดว่าจะทำนาอย่างชาวบ้านคนอื่น ลงทุนซื้อควายเหล็กเลยนะ พอไถลงไปเท่านั้นเจอแต่หินปูนทราย ปลูกข้าวลงไปได้แค่โคนต้น ที่อื่นเขาทำนากันสามสี่เดือน ลุงใช้เวลาแปดเดือนกว่าจะได้ข้าวสักรอบหนึ่ง ทนทำอยู่สิบสี่ปี จนคิดได้ว่าแบบนี้ไม่ไหว เลยไถเอานาออก เปลี่ยนมาปลูกต้นยางตามสมัยนิยม”
แต่ต้นยางก็ประสบปัญหาเดียวกัน คือไม่สามารถปลูกขึ้นจนงอกงามขนาดจะทำเกษตรกรรมในเชิงพาณิชย์
“ถึงจะปลูกได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะปลูกได้ดีนะ เพราะดินที่นี่เป็นหินปูนทรายและเป็นกรด ลุงเลยคิดว่าคงต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ คิดอย่างเรียบง่ายที่สุด ในเมื่อยังไม่รู้ว่าจะปลูกอะไรได้ งั้นลองปลูกอะไรหลายๆ อย่างผสมผสานกันไป จะปลูกได้ต้องมีน้ำ งั้นก็ขุดสระ ขุดลำน้ำให้พื้นที่เรามีน้ำไหลเวียน”

ลุงหมาดเย็นใช้สองมือกับความคิดสร้างสรรค์ฉบับบ้านๆ โดยไม่ได้พึ่งเทคโนโลยีเครื่องจักรใดๆ พลิกฟื้นผืนดินที่เต็มไปด้วยกรดกำมะถัน ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ให้กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง ตอนนี้พื้นที่รอบบ้านปลูกต้นไม้ผสมผสานหลายชนิด บางต้นเป็นต้นไม้ดั้งเดิมที่อยู่มาตั้งแต่สมัยลุงหมาดเย็นยังหนุ่มๆ
รายได้ส่วนใหญ่ของลุงหมาดเย็นมาจากสวนยางบ้าง มะพร้าวบ้าง พืชผลต่างๆ ในสวนผสมผสาน เพราะแต่ละปีราคาของพืชผลทางการเกษตรก็จะสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นลงอยู่แล้วเป็นปกติ แต่อย่างไรก็ตาม ในชีวิตปกติของลุงหมาดเย็น แทบไม่ต้องใช้เงินเลย เพราะทุกสิ่งหากินได้ในผืนดินของตัวเอง
ลุงหมาดเย็นพาเราเดินไปดูต้นน้ำด้านหลัง บริเวณภูเขาที่ลุงหมาดเย็นเอ่ยถึง ระหว่างทางทุกอย่างเงียบสงบ ได้ยินเสียงน้ำไหลและจิ้งหรีดเรไรร้องดังเป็นระยะ เดินฝ่าน้ำไปได้สักพัก ลุงหมาดเย็นชี้ให้ดูรอยเท้าช้างที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้มาพักกินน้ำ


02
ไม่มีน้ำ ก็ไม่มีชีวิต
น้ำใส ลำธารสวย ไหลลดหลั่นเป็นชั้นๆ แวดล้อมไปด้วยพันธุ์ไม้มากมาย รู้สึกถึงความชุ่มชื้นของอากาศบริสุทธิ์โดยรอบ ความสวยงามร่มรื่นตรงหน้าอยู่ในอาณาบริเวณบ้านสีดาวเรือง ที่เป็นทั้งป่าผืนน้อยและศูนย์การเรียนรู้ชุมชนของลุงหมาดเย็น
สายน้ำสายนี้ เมื่อก่อนมีขนาดเล็กนิดเดียวและมีกำมะถันมาก ทำนาปลูกข้าวไม่ได้ จะนำมาหุงหาอาหารก็ไม่ได้ ลุงหมาดเย็นคิดว่า สิ่งที่ต้องทำคือขุดสระให้น้ำไหลมารวมกัน เพื่อเลี้ยงปลาและทดลองทำเกษตรกรรมชนิดอื่นๆ โดยมีลำน้ำขุดเชื่อมสระแต่ละสระเข้าไว้ด้วยกัน ก่อนที่ลำน้ำขุดนี้จะไหลไปเชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติอีกที

“ลุงต้องขุดทางน้ำขึ้นมาใหม่ ตั้งแต่บริเวณต้นน้ำ เพราะทางน้ำเดิมมันแคบ ตื้นเขิน จนแทบไม่มีมวลน้ำไหลเข้ามายังพื้นที่ดิน เมื่อไม่มีน้ำก็ไม่มีชีวิต”
ลุงหมาดเย็นใช้เวลาปีแล้วปีเล่าขุดทางน้ำ รวมถึงสระน้ำ 3 สระด้วยสองมือของตัวเอง ไม่มีเครื่องทุ่นแรงใดๆ แม้แต่หินหรือทราย ที่นำมาประกอบเป็นลำคลองใสและสระน้ำลึกหลายเมตร ลุงหมาดเย็นก็ขนเองมาจากแหล่งต้นน้ำบนภูเขาทั้งสิ้น

“หินก้อนใหญ่แบกมาบนหลัง ก้อนเล็กๆ ก็เหน็บตัวมา เดินไปๆ กลับๆ จากบ้านไปภูเขาด้านหลัง คิดว่าคงหลายร้อยรอบ ดีไม่ดีอาจถึงพันรอบ” ลุงหมาดเย็นเล่าด้วยภาษาถิ่น
จากต้นน้ำ น้ำไหลเอื่อยๆ ผ่านลำน้ำขุดที่ลุงหมาดเย็นสร้างในลักษณะฝาย คือลดหลั่นเป็นชั้น ทำให้น้ำไหลไปรอบพื้นที่ดินเหมือนน้ำตกสายน้อยๆ ที่ลุงหมาดเย็นเรียกว่าน้ำตกบัณฑิต ซึ่งน่าจะมาจากคำว่าประดิษฐ์ อันหมายถึงน้ำตกทำมือนั่นเอง
น้ำเหล่านี้ใสสะอาดเย็บเจี๊ยบ เอามือวักแล้วชื่นใจ ลุงหมาดเย็นนำมาหุงต้มทำอาหาร ทำมานับสิบปีแล้ว ลุงหมาดเย็นบอกว่าคงไม่ต่างจากน้ำประปาเท่าไหร่ เพราะทุกวันนี้ยังแข็งแรงดี เดินเหินคล่องแคล่วแม้จะอายุ 70 กว่าปีแล้ว
สระน้ำทั้ง 3 สระ ลุงหมาดเย็นเลี้ยงปลาหลากชนิด ไม่ได้เลี้ยงไว้เพื่อขายในเชิงพาณิชย์ แต่เลี้ยงไว้กินเองในครัวเรือน ลุงหมาดเย็นเล่าพร้อมรอยยิ้มว่า แม้จะมีเด็กๆ ในชุมชนและแขกจากต่างแดนแวะเวียนกันมาเยี่ยมเยียน และช่วยลุงหมาดเย็นตกปลาขึ้นมากินแล้วอยู่เสมอ แต่ปลาก็ยังมีปริมาณมหาศาลอยู่ดี คงเพราะสภาพดิน น้ำ และอากาศ ที่เอื้อให้ปลาบริบูรณ์

03
สร้างผืนดินให้ชอุ่มชุ่มชื่น
สิ่งที่สะดุดตาตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาที่บ้านสีดาวเรือง คือพื้นดินที่ปกคลุมไปด้วยมอสสีเขียวทั่วบริเวณ ที่เป็นแบบนี้ เพราะสิ่งที่ลุงหมาดเย็นทำสร้างระบบน้ำที่หมุนเวียนหล่อเลี้ยงความชุ่มชื้นแก่ผืนดิน

นอกจากสายน้ำจะเป็นบ้านให้สิ่งมีชีวิตมากมาย ไม่ใช่แค่ปลาหลากชนิดแต่ยังรวมไปถึงสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ แมลงไปจนถึงสัตว์เลื้อยคลาน แต่พื้นที่ขอบตลิ่งยังเป็นพื้นที่เติบโตของพืชหลากชนิดอีกด้วย ลุงหมาดเย็นสร้างน้ำตกที่เป็นเหมือนฝายธรรมชาติจากหินขนาดต่างๆ น้ำไหลกระฉอกช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำแต่ละหยาดหยด
น้ำไหลเวียนไปทั่วพื้นที่ของลุงหมาดเย็น ทำให้พื้นดินที่เต็มไปด้วยต้นไม้เป็นเหมืองฟองน้ำก้อนโตที่ดูดซับน้ำไว้ สระน้ำและลำน้ำขุดสร้างจากดินและหิน เป็นวัสดุธรรมชาติแท้ที่มีช่องว่างเล็กๆ มากพอให้หยดน้ำไหลซึมซาบไปทั่ว

และต้นไม้คือแหล่งเก็บน้ำชั้นดีที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก จากรากจรดกิ่ง ก้าน จรดใบ เป็นตัวช่วยกักเก็บและกระจายความชื้นในดินอีกที จึงไม่น่าแปลกใจที่ผืนดินของบ้านสีดาวเรืองชอุ่มชุ่มชื่นขนาดนี้
ลุงหมาดเย็นเดินมาหยุดที่แอ่งน้ำเล็กๆ ที่มีกลิ่นกำมะถันลอยฉุนออกมา “น้ำในแอ่งนี้มีคนมาขอไปทำยารักษาอาการป่วยไข้เป็นประจำ เห็นขอบแอ่งเล็กแค่ฟุตเดียว แต่ลึกเมตรกว่า บางวันจะเห็นปูไต่ขึ้นมาจากในแอ่ง คงเป็นน้ำจากแหล่งน้ำใต้ดินที่ซึมขึ้นมา” นี่คือความน่าทึ่งของธรรมชาติ
04
อยู่อย่างเศรษฐกิจพอเพียง
บ้านสีดาวเรืองเป็นพื้นที่ขนาดเล็กๆ แต่เห็นผลลัพธ์ชัดเจนที่นำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชามาใช้ในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางเกษตรกรรมได้อย่างน่าทึ่ง
ลุงหมาดเย็นจัดการพื้นที่ทั้ง 22 ไร่ด้วยตัวเองตามพละกำลังที่มี เริ่มในวัย 50 ที่อาจต้องลงแรงมากหน่อย แต่ 20 ปีต่อมา ทุกสิ่งที่ลงแรงไปขยับขยายและออกดอกผลเป็นเท่าทวี เมื่อก่อนคนหาว่าลุงหมาดเย็นเพี้ยนที่ขุดดิน แบกหินด้วยตัวเอง จนมาตอนนี้ ทุกอย่างคือเครื่องพิสูจน์แล้วว่า สิ่งที่ทำมาทั้งหมด ลุงหมาดเย็นตั้งใจจะทำไปเพื่ออะไร

“ผืนดินที่นี่ปลูกอะไรก็ไม่ค่อยงอกงาม แต่รู้ไหมปลูกอะไรถึงได้ผลดีที่สุด ปลูกคนยังไงล่ะ” ลุงหมาดเย็นเอ่ยขึ้น
“ผมตั้งใจให้พื้นที่ของตัวเองเป็นพื้นที่เรียนรู้ของผู้คน สิ่งที่อยู่ตรงหน้าคือภาพที่ไม่ว่าจะเป็นคนวัยไหนหรือชนชาติอะไรล้วนเข้าใจตรงกัน ความสำคัญของธรรมชาติรอบตัว คนมากมายแวะเวียนเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตและน้ำจิตน้ำใจของคนแถวนี้ ก็เป็นเหมือนปุ๋ยชั้นดีที่จะช่วยให้การปลูกคนงอกงาม เป็นต้นไม้ให้สังคม”
ลุงหมาดเย็นทำแบบพึ่งพาตัวเองอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีกำลังเยอะก็ทำเยอะ มีกำลังน้อยก็ทำน้อย ไม่มีสตางค์ก็ทำอย่างคนไม่มีสตางค์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการน้ำที่ไม่จำเป็นต้องทำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ แต่จัดการเฉพาะในพื้นที่ของตัวเอง ต้นไม้ที่ปลูกผสมผสาน อาจจะไม่ใช่การฟื้นฟูป่าผืนใหญ่ แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นในพื้นที่เกษตรกรรมของตัวเอง
เมื่อคนมาเห็น ได้เข้ามาเรียนรู้ สิ่งนี้จะขยายออกไป

05
ปลูกคนให้เติบโต
ใต้ร่มเงาสวนป่าที่ร่มรื่น ที่บ้านสีดาวเรืองมีศาลาเรียนรู้ ลานกางเต็นท์ และโฮมสเตย์หลังน้อย ลุงหมาดเย็นต่อเติ่มขึ้นมาทีละนิด และตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมาเปิดให้เข้าชม เข้าพัก โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่คนที่แวะมา ต่างก็ช่วยค่าบำรุงสถานที่ให้สวนป่าน้อยผืนนี้คงอยู่ต่อไปได้นานๆ
ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ผลัดเปลี่ยนแวะเวียนกันมากางเต็นท์สัมผัสธรรมชาติ บ้านสีดาวเรืองเป็นพื้นที่เรียนรู้ทางธรรมชาติของชุมชนและของเมืองตรัง ที่โรงเรียนต่างๆ มักพาเด็กนักเรียนมาทัศนศึกษาเป็นประจำ
ที่ผ่านมาก็มีนักศึกษาและนักวิจัยจากหลายสถาบัน ขอเข้ามาศึกษาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพในสภาพดินที่เป็นกรดและน้ำที่มีกำมะถัน ลุงหมาดเย็นเล่าพร้อมรอยยิ้มว่า กลุ่มนักศึกษาร่วมร้อยคนที่มาทำวิจัย เคยช่วยลุงหมาดเย็นยกหินมาปรับปรุงลำน้ำขุด และได้เสียงตอบรับว่านี่ไม่ใช่งานง่ายๆ สำหรับชายคนเดียวเลย

ลุงหมาดเย็นทำให้เห็นว่า สุดท้ายนี่คือเรื่องของการพิสูจน์ให้ดูเพื่อพัฒนาคน คนที่เคยหาว่าลุงหมาดเย็นเพี้ยน จะเชื่อและมองเห็นสิ่งเดียวกับที่ลุงหมาดเย็นเห็น ก็ต่อเมื่อเขาเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความเพียรอุตสาหะ สิ่งสำคัญคือตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดจากการลงมือทำ
เด็กๆ รุ่นใหม่ที่ลุงหมาดเย็นบอกว่าเราต้องปลูกคน ให้เติบโตไปเป็นต้นไม้ค้ำจุนสังคม เมื่อเขาเข้าใจว่าทุกคนอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติได้ ในวันหนึ่งข้างหน้า เขาจะกลายเป็นคนคนนั้นที่ลงมือทำอะไรสักอย่างแบบลุงหมาดเย็นเอง

