ใครที่มาลำปางจนเชี่ยวย่อมรู้ดีว่าเมืองแห่งนี้มีอาคารบ้านเรือนเก่าแก่และทรงคุณค่าให้เที่ยวชมมากมาย โดยเฉพาะที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียล ยืนโดดเด่นเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์และยืนยันคำกล่าว “คนงามต้องลำพูน แม่บุญต้องเชียงใหม่ ทันสมัยต้องลำปาง” ที่สะท้อนความรุ่งเรืองเฟื่องฟูในยุคสัมปทานป่าไม้ ซึ่งส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในชุมชนกาดกองต้าและท่ามะโอ

บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์ ย้อนวันวานในร้านอาหารจากจวนผู้ว่าฯ คนแรกของลำปาง

แต่จากนี้ไปบรรดานักท่องเมืองเก่าอาจต้องจับรถม้า คว้ารถสองแถวไปแอ่วฝั่งสบตุ๋ยกันบ้าง เพราะเมื่อไม่นานมานี้ เรือนโบราณระดับเพชรเม็ดงามที่อยู่คู่ลำปางมานานร่วมศตวรรษ อดีตเคหสถานของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาสุเรนทรราชเสนา (เจิม จารุจินดา) ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางคนแรกได้ฟื้นคืนความมีชีวิตชีวาสู่บทบาทร้านอาหาร ‘บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์’ ให้เราตามไปสัมผัสความทรงจำวันวาน ละเลียดอาหารคาวหวานเลิศรสท่ามกลางมนตร์เสน่ห์ของอาคารประวัติศาสตร์รายละเอียดสมบูรณ์แบบ และกลิ่นอายบรรยากาศลำปางแห่งความหลังครั้งสมัยที่วิศกรชาวเยอรมันยังเดินปะปนกับชาวบ้านร้านตลาด บริติชคลับริมแม่น้ำวังคลาคล่ำไปด้วยนายห้างชาวอังกฤษ และพ่อค้าชาวจีนตะแคงนอนสูบฝิ่นกันอย่างเสรี

บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์ ย้อนวันวานในร้านอาหารจากจวนผู้ว่าฯ คนแรกของลำปาง

1

เรือนผู้ว่า

ผมพยายามนึกภาพตามถ้อยความทรงจำของ ป้าเล็ก-พยอม ตุ่นแจ้ ผู้ดูแลบ้าน ขณะย้อนเล่าถึงสภาพแวดล้อมรอบรั้วในอดีตซึ่งแตกต่างสิ้นเชิงกับปัจจุบัน จากท้องทุ่งหน้าบ้านกลายเป็นย่านธุรกิจ ใกล้เคียงกันคือโรงยาฝิ่นแปรสภาพเป็นอาคารร้านค้า หรือบริเวณคอกม้าท้ายบ้านทุกวันนี้ก็ผุดขึ้นเป็นสถานศึกษาโรงเรียนเทศบาล 5

บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์ ย้อนวันวานในร้านอาหารจากจวนผู้ว่าฯ คนแรกของลำปาง

ทุกสิ่งผันเปลี่ยนไปตามกาล แต่มีสิ่งหนึ่งที่ป้าเล็กยืนยันว่าไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยตั้งแต่วัยแรกขวบจวบจน 67 ปี คือ ‘บ้านเจิมสุข’ หลังนี้ ที่ แม่เลี้ยงกิมเนย ดวงรัตน์ แม่บุญธรรมของท่านตัดสินใจซื้อและย้ายครอบครัวมาอยู่อาศัยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

หากย้อนกลับไปสมัยแผ่นดินในรัชกาลที่ 6 ย่อมไม่มีชาวลำปางคนไหนไม่รู้จักบ้านเจิมสุข เรือนทรงโคโลเนียล 2 ชั้นหลังโตโอ่อ่า สวยสง่าด้วยหลังคาทรงปั้นหยาพร้อมมีมุขยื่นหกเหลี่ยมและระเบียงกว้างตามสมัยนิยม เพราะไม่เพียงเป็นสถาปัตยกรรมกลิ่นอายตะวันตกแบบดั้งเดิมที่สร้างมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 5 ทว่ายังเป็นบ้านพักของมหาอำมาตย์ตรี พระยาสุเรนทรราชเสนา (เจิม จารุจินดา) บุตรของพระยารัตนสมบัติ (แป๊ะ จารุจินดา) และคุณเปลี่ยน จารุจินดา ปลัดมณฑลประจำจังหวัดลำปาง เมื่อ พ.ศ. 2453 ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่ากับผู้ว่าราชการคนแรกของจังหวัด

โดยพระยาสุเรนทรราชเสนานี่เองที่เป็นที่มาของชื่อ ‘ถนนสุเรนทร์’ สายจากสามแยกโรงน้ำแข็งมุ่งหน้าสู่สถานีรถไฟนครลำปาง และเป็นหัวหน้าเฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมลฑลพายัพ อันถือเป็นอีกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญของลำปาง เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จฯ สู่นครลำปางหลังพระบรมราชาภิเษก รวมทั้งเป็นผู้แทนรับพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมือง สัญลักษณ์แทนพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2469 ซึ่งยังคงประดิษฐาน ณ สำนักงานคลังจังหวัดลำปางมาจนถึงทุกวันนี้

2

สู่บ้านแม่เลี้ยง

ภายหลังจากพระยาสุเรนทรราชเสนาถึงแก่อนิจกรรม สถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในลำปางก็ครุกรุ่นรุนแรงขึ้นจากการเข้ามาของกองทัพญี่ปุ่นเพื่อปักหลักตั้งกองบัญชาการ ยึดกิจการของชาวตะวันตกและอาคารสำคัญต่างๆ พร้อมกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่โปรยระเบิดโจมตีทางอากาศ เวลาเดียวกันนั้นเองที่บ้านเจิมสุขถูกขายต่อให้กับแม่เลี้ยงกิมเนย ดวงรัตน์ เจ้าของโรงงานน้ำแข็งแห่งแรกๆ ของจังหวัด เรือนหลังงามจึงผลัดเปลี่ยนผู้อยู่อาศัยมาสู่ตระกูลดวงรัตน์นับแต่นั้นเป็นต้นมา

บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์ ย้อนวันวานในร้านอาหารจากจวนผู้ว่าฯ คนแรกของลำปาง

“ยาย (แม่เลี้ยงกิมเนย) ขายบ้านเก่าแถวตลาดจีนแล้วซื้อบ้านหลังนี้มาในราคาสองหมื่นบาท เพราะคุณบุญทอง สามีของท่านอยากมีพื้นที่บ้านกว้างหน่อยเอาไว้เลี้ยงม้า แล้วก็ให้ลูกหลานและคนงานรับใช้ได้อยู่กันอย่างสุขสบาย”

ป้าเล็กยิ้มพลางเล่าต่อว่า สมัยนั้นตัวท่านเองอยู่อาศัยในเรือนหลังใหญ่กับแม่เลี้ยงกิมเนย คอยปรนนิบัติแม่เลี้ยงและดูแลคุณนนท์ ดวงรัตน์ หลานชายที่น่ารักคนที่ 3 ส่วนเรือนหลังเล็กที่มีทางเดินเชื่อมอาคารบริเวณชั้นสอง เป็นห้องพักของครอบครัวคนขับรถ และเรือนไม้ท้ายบ้านเป็นของคนสวน

แต่แล้วจู่ๆ แววตาแจ่มใสของป้าเล็กกลับระคนเศร้า เมื่อพลั่งพรูเรื่องราวมาจนถึงช่วงประเพณีปีใหม่เมือง (สงกรานต์ล้านนา) ที่บรรยากาศในบ้านแสนจะสนุกสนาน ครื้นเครง เมื่อส่งสวัสดิ์ ดวงรัตน์ ลูกชายคนเดียวของแม่เลี้ยงพาหลานทั้ง 4 จากกรุงเทพฯ ขึ้นมารดน้ำดำหัวคุณย่ากันพร้อมหน้าพร้อมตา เจ้าตัวน้อยวิ่งเล่นบนลานสนามหญ้า ส่งเสียงเจื้อยแจ้วลั่นบ้านให้ทุกคนหัวเราะกันจนเหนื่อยอ่อน นี่คือเหตุการณ์ที่ป้าเล็กบอกว่าสุขใจทุกคราวยามได้นึกย้อน เป็นความสุขที่ชวนเปล่าเปลี่ยวเมื่อผันผ่าน ไม่ต่างกับบรรยากาศเคว้งคว้างของบ้านในวันที่แม่เลี้ยงจากไป

บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์ ย้อนวันวานในร้านอาหารจากจวนผู้ว่าฯ คนแรกของลำปาง
บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์ ย้อนวันวานในร้านอาหารจากจวนผู้ว่าฯ คนแรกของลำปาง

พ.ศ. 2546 ผ่านงานโศกของแม่เลี้ยงกิมเนยได้ 1 ปี ป้าเล็กก็ตัดสินใจหอบสัมภาระเข้าเมืองกรุงมาร่ำเรียนวิชาอาหารไทยที่โรงเรียนศิลปศาสตร์การอาหารไทย หม่อมหลวงพวง ทินกร ก่อนสบโอกาสเริ่มงานเป็นเชฟอาหารไทยในโรงแรมหรู ตลอดจนตระเวนเก็บเกี่ยวประสบการณ์งานครัวอยู่ต่างแดน แน่นอน คงไม่มีใครคาดคิดว่าเรือนโบราณที่ถูกปิดประตูไปนานเกือบ 2 ทศวรรษจะถูกผลักบานออกอีกครั้ง กระทั่งเมื่อป้าเล็กได้รับคำไหว้วานจาก นนท์ ดวงรัตน์ ให้ช่วยกลับมาดูแลบ้าน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปลุกปั้นทำร้านอาหาร ‘บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์’

3

เปิดปรับปรุง

“เรากับป้าเล็กเป็นรู้จักกันมาประมาณสิบกว่าปี ตั้งแต่สมัยที่ยังทำงานอยู่โรงแรมเจดับบลิว แมริออท ตอนนั้นป้าเล็กเป็น Executive Thai Chef พอเราออกมาเปิดธุรกิจร้านอาหาร ‘มาดามมูเซอร์’ สาขาแรกแถวถนนพระอาทิตย์ เลยชวนป้ามาเป็นเชฟและช่วยกันทำร้าน จนทุกอย่างเข้าที่ ป้าจึงขอออกเดินทางท่องเที่ยวและไปเก็บประสบการณ์ทำอาหารอยู่ต่างประเทศ

“ผ่านไปหลายปี วันหนึ่งป้าก็แวะมาหาเราที่ร้านแล้วเอ่ยปากชวนให้ไปเที่ยวบ้านที่จังหวัดลำปาง ซึ่งเราเองไม่เคยคิดมาก่อนว่าเขาจะอยู่บ้านใหญ่โตขนาดนี้ พอได้มาเห็นและฟังเรื่องราวของบ้านก็หลงรักทันที พร้อมกับผุดความคิดชวนป้าว่าน่าจะลองเปิดเป็นร้านอาหารดู”

บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์ ย้อนวันวานในร้านอาหารจากจวนผู้ว่าฯ คนแรกของลำปาง

ด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวของสล่า (ช่างฝีมือ) ล้านนาและธุรกิจค้าของโบราณ ทำให้ น้อง-พัชริน วรรณวิจิตร ซึมซับความหลงใหลในมรดกทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และข้าวของเครื่องใช้จากยุคอดีต ประกอบกับประสบการณ์ทำงานในโรงแรมระดับไฮเอนด์ที่จุดประกายมุมมองให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการยกระดับคุณค่าอัตลักษณ์ท้องถิ่น ธุรกิจของเธอจึงประสบความสำเร็จในการเนรมิตเรือนไม้เก่าให้กลายเป็นร้านอาหาร ที่ยังคงรักษามนตร์เสน่ห์ของสถาปัตยกรรมเดิมอย่างสร้างสรรค์ สิ่งนี้ช่วยยืนยันความเชื่อมั่นของเจ้าของบ้านผู้เป็นทายาทรุ่นหลานของแม่เลี้ยงเนย และทำให้เธอได้รับโอกาสชุบชีวิตอาคารประวัติศาสตร์หลังนี้ขึ้นอีกครั้ง

“เราค่อนข้างให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดั้งเดิม บริบทแวดล้อม และพื้นที่สีเขียว แนวคิดหลักในการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารจึงต้องคำนึงทั้งเรื่องความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐาน การผสานงานระบบสมัยใหม่ให้กลมกลืนและไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคาร”

บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์ ย้อนวันวานในร้านอาหารจากจวนผู้ว่าฯ คนแรกของลำปาง
บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์ ย้อนวันวานในร้านอาหารจากจวนผู้ว่าฯ คนแรกของลำปาง

คุณน้องเสริมต่อว่า งานหนักที่ต้องใส่ใจไม่แพ้กัน คือการปรับปรุงภูมิทัศน์และการออกแบบตกแต่งภายใน ซึ่งทำให้เธอต้องทำการบ้านค้นคว้าประวัติศาสตร์ของอาคารและเมืองลำปาง ก่อนร่วมงานกับนักออกแบบสร้างสรรค์พื้นที่ใช้สอยกว่า 8 ไร่ รวมถึงปรับโฉมภายในให้อบอวลบรรยากาศวันวาน เพื่อเสริมรายละเอียดของอาคารเสมือนได้กลับมามีลมหายใจใกล้เคียงกับยุคสมัยของมันมากที่สุด

บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์ ย้อนวันวานในร้านอาหารจากจวนผู้ว่าฯ คนแรกของลำปาง

4

รักที่จะรักษา

พุ่มกุหลาบจากสวนสไตล์อังกฤษยังรำเพยกลิ่นอ่อนหวานมาถึงใต้ชายคา สิ่งแรกที่สะดุดตาทันทีที่ก้าวเข้ามาภายในอาคารสีเหลืองนวล คือโต๊ะไม้รูปทรงคล้ายเปียโนสำหรับเด็ก ป้าเล็กบอกผมว่านี่คือโต๊ะที่เธอรักมาก เพราะเป็นโต๊ะบัญชีตัวโปรดของแม่เลี้ยงกิมเนย หญิงสาวใบหน้ายิ้มแย้มข้างชายหนุ่มมาดสุขุมในกรอบแขวนบนผนังฝั่งขวา

ปัจจุบันห้องหับต่างๆ ในบ้านหลังนี้ถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานใหม่เพื่อรองรับการให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม โดยชั้นล่างประกอบด้วยห้องรับรองสไตล์วิกตอเรียน หรูหรา ระยิบระยับ และค็อกเทลบาร์บรรยากาศแบบทรอปิคอล ซึ่งประดับตกแต่งด้วยต้นปาล์มสิบสองปันนาและต้นจั๋ง รวมถึงรูปภาพรวมไลฟ์สไตล์ของชาวต่างชาติในยุคสัมปทานป่าไม้ที่ได้รับการอนุเคราะห์สำเนาภาพมาจากอาจารย์สุวภรณ์ ชูโต

บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์ ย้อนวันวานในร้านอาหารจากจวนผู้ว่าฯ คนแรกของลำปาง
บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์ ย้อนวันวานในร้านอาหารจากจวนผู้ว่าฯ คนแรกของลำปาง

ถัดมาบริเวณบันไดทางขึ้นชั้นสองมี ‘ตู้มั่นคง’ หรือตู้เซฟสุดคลาสสิก พร้อมภาพชุดเกี่ยวกับวิถีชีวิตนายห้างค้าไม้ให้ชื่นชม โดยบางส่วนได้รับการอนุเคราะห์สำเนาภาพจาก ศ.ดร.กิตติชัย วัฒนานิกร และจัดว่าเป็นภาพหาชมยากยิ่ง เนื่องจากต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ ซึ่งเป็นทายาทของ หลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ นายห้างค้าไม้และลูกชายแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่อาศัยอยู่ประเทศอังกฤษ

บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์ ย้อนวันวานในร้านอาหารจากจวนผู้ว่าฯ คนแรกของลำปาง

เมื่อเดินขึ้นมายังชั้นสอง ก็จะพบกับห้องรับรองหกเหลี่ยมกึ่งห้องสมุดและแกลเลอรี่จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้

 นอกจากนี้ด้านนอกอาคารยังมีจุดห้ามพลาด อย่างโคมไฟสนามเก่าแก่จากอังกฤษระบุ ค.ศ. 1903 และห้องอาหารกลาสเฮาส์ที่เหมาะนั่งหย่อนอารมณ์จิบชายามบ่าย ลิ้มลองสารพัดเมนูอาหารไทยชาววังและอาหารไทยต้นตำรับรสเลิศ

บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์ ย้อนวันวานในร้านอาหารจากจวนผู้ว่าฯ คนแรกของลำปาง
บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์ ย้อนวันวานในร้านอาหารจากจวนผู้ว่าฯ คนแรกของลำปาง

ก่อนกลับผมมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้สึกประทับใจหลังจากที่ได้เดินสำรวจจนทั่วบ้านให้คุณน้องฟัง และสนใจว่าเธอนั้นคิดอย่างไรจึงกล้าลงเงินทุนจำนวนมหาศาลในเมืองท่องเที่ยวรอง ที่ว่ากันตามตรงคงมีความเสี่ยงสูงกว่าการทำธุรกิจในเมืองใหญ่หลายเท่า 

 “สำหรับเราเรื่องมูลค่ามาหลังคุณค่านะ” เธอตอบพร้อมขยายความให้ฟังว่า ทุกครั้งที่เริ่มต้นทำธุรกิจ สิ่งที่เธอจะให้น้ำหนักมากที่สุดคือสิ่งที่เธอรัก เพราะเชื่อว่านั่นเป็นสิ่งที่มีคุณค่ากับชีวิต และจากประสบการณ์เธอทำมันออกมาได้ดีเสมอ

“การที่เรามาลงทุนที่นี่ส่วนหนึ่งเกิดจากความรักในสถาปัตยกรรมโบราณมากกกว่ามองว่ามาทำธุรกิจ เราแค่อยากให้ทุกคนได้มาสัมผัสคุณค่าของอาคารสวยๆ หลังนี้ด้วยกัน เพื่อรักษามันไว้ให้อยู่คู่กับเมืองไปนานๆ และอยากเป็นก้าวเล็กๆ ของการทำให้ลำปางกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง”

บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์ ตั้งอยู่บนถนนสุเรนทร์ ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง พร้อมเปิดประตูต้อนรับทุกท่านภายในปลายเดือนตุลาคมนี้ ดูรายละเอียดหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 08 9111 4305 และ Facebook : Baan Phraya Suren by Madame Musur

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ