บ้าน ณ นาวี เป็นที่รู้จักกันในนาม ‘ชาโต วิลเลียม (Château William)’ มาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่อยู่ภายใต้การครอบครองของผู้เช่าชาวฝรั่งเศส เปีย ปิแอร์ (Pia Pierre) อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการด้านโบราณคดี นักสะสม และนักธุรกิจซื้อขายศิลปวัตถุล้ำค่าในเอเชีย จนสัญญาเช่าเพิ่งสิ้นสุดลงและเธอได้เดินทางกลับประเทศฝรั่งเศสไปเมื่อไม่นานมานี้

“อาจารย์เปียเป็นคนตั้งชื่อบ้านหลังนี้ว่า ชาโต วิลเลียม และเป็นยุคที่ใครๆ ก็รู้จัก เพราะอาจารย์มีแขกมาเยี่ยมเยียนเสมอ และ คุณวิลเลียม วอเรน (William Warren) ก็เคยเขียนถึงบ้านหลังนี้ไว้ในหนังสือ Heritage homes of Thailand

“ช่วงนั้นพิมไม่มีโอกาสได้เข้ามาที่นี่เท่าไหร่ เพราะคุณพ่อค่อนข้างเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้เช่า พิมจึงไม่มีโอกาสได้เข้ามาสำรวจและทำประวัติบ้านของคุณปู่หลังนี้อย่างจริงจัง” พิม วรรณประภา สถาปนิกผู้เป็นเจ้าของบริษัท สตูดิโอ สเปซแมทเทอร์ จำกัด ทายาท หลวงวิชัยนิตินาถ (วิชัย วรรณประภา) เอ่ยถึงความเป็นมาเบื้องต้น

แกะรอยบ้าน ณ นาวี (Château William) บ้านเช่าโอ่อ่าสมัยรัชกาลที่ 5 ของตระกูลช่างกลเรือ
แกะรอยบ้าน ณ นาวี (Château William) บ้านเช่าโอ่อ่าสมัยรัชกาลที่ 5 ของตระกูลช่างกลเรือ

วันนี้โอกาสสำคัญมาถึงแล้ว เมื่อ ชาโต วิลเลียม ได้กลับมาเป็นบ้าน ณ นาวี พิมจึงชวนผมให้มาเดินสำรวจบ้านสวยหลังนี้กับเธอ ผมจึงถือโอกาสเชิญชวนผู้อ่าน The Cloud ทุกท่านให้มาร่วมเป็นแขกกลุ่มแรกตามผมไปสำรวจด้วยพร้อม ๆ กัน

บ้าน ณ นาวี ยังไม่เคยได้รับการสำรวจและการทำประวัติอย่างเป็นทางการมาก่อน เอกสารที่พอจะอาศัยเป็นข้อมูลของบ้านหลังนี้ก็มีน้อยมาก ที่สำคัญคือเรามิใช่สถาปนิกอนุรักษ์ที่มีความรู้ในเชิงประวัติศาสตร์และรูปแบบสถาปัตยกรรมอย่างลึกซึ้ง

ดังนั้น ผมจึงชวนเพื่อนอีก 2 คนมาร่วมเดินสำรวจด้วยกัน นั่นคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้รับหน้าที่วิทยากรคนสำคัญให้กับ The Cloud มาหลายครั้ง รวมทั้ง โก้-ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ผู้มีผลงานการซ่อมบำรุงอาคารเก่าหลายแห่ง เช่น ตำหนักไทย บ้านปลายเนิน  บ้านปลุกปรีดี และบ้านบาหยัน เป็นต้น

แกะรอยบ้าน ณ นาวี (Château William) บ้านเช่าโอ่อ่าสมัยรัชกาลที่ 5 ของตระกูลช่างกลเรือ

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้ ส่งผลให้การเดินสำรวจจำเป็นต้องเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ของบ่ายวันนั้นเพียงวันเดียว และเป็นโอกาสที่เพื่อนผมทั้ง 2 คนเพิ่งเห็นบ้าน ณ นาวี ด้วยตาตนเองเป็นครั้งแรก ข้อมูลที่นำเสนอในบทความนี้จึงเป็นข้อมูลระดับปฐมภูมิ ที่ผมหวังว่าจะช่วยปูพื้นความรู้และก่อให้เกิดการสืบค้นอย่างละเอียดต่อไปในอนาคต

พร้อมจะเป็นนักสืบตามแกะรอยบ้าน ณ นาวี ไปกับเราแล้วใช่ไหมครับ ถ้าพร้อมแล้ว ตามมาเลย

เริ่มปฏิบัติการนักสืบ

หลวงวิชัยนิตินาถ ผู้เป็นปู่ของพิม เป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์เข้ามาครอบครองบ้านหลังนี้ในยุคหลัง และทายาทของท่านคือผู้ที่ดูแลสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น การสืบค้นประวัติความเป็นมาของบ้าน จึงจำเป็นต้องสืบย้อนไปตั้งแต่ผู้ครอบครองบ้านคนแรก นอกจากตัวบุคคลแล้ว เรายังต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทอื่นๆ อันเกี่ยวกับเรื่องของย่านและยุคสมัยด้วย

แกะรอยบ้าน ณ นาวี (Château William) บ้านเช่าโอ่อ่าสมัยรัชกาลที่ 5 ของตระกูลช่างกลเรือ
นาวาเอก พระชำนิกลการ
ภาพ : หนังสือตำนานเรือรบไทย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียง

นาวาเอก พระชำนิกลการ คือเจ้าของบ้านคนแรกและเป็นผู้ที่สร้างบ้านหลังนี้ขึ้น ซึ่งโก้ได้สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับท่านมาแบ่งปันว่า “นาวาเอก พระชำนิกลการ มีนามว่า สมบุญ บุณยกะลิน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2385 ในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 มีบันทึกว่าบิดาของท่านรับราชการเป็นมหาดเล็ก บ้านเดิมของท่านอยู่ใกล้วัดโพธิเรียง ริมคลองมอญ ฝั่งธนบุรี ซึ่งบ้าน ณ นาวี ก็ตั้งอยู่ริมคลองมอญ ดังนั้น ถือว่าท่านเป็นคนในพื้นที่นี้มาแต่เดิม ที่น่าสนใจคือ ท่านเป็นบุคคลในอาณัติของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) บุตรชายของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหม”

“บริเวณฝั่งธนบุรีอย่างคลองมอญเป็นแหล่งทหารเรือมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ขุนนางสายสกุลบุนนาคได้ย้ายมาตั้งนิวาสถานที่ฝั่งธนบุรี รวมทั้งบริเวณคลองมอญด้วย ช่วงสำคัญคือสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เรือกำปั่นเริ่มทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะในเชิงการค้าและคมนาคม แต่รวมถึงการป้องกันพระราชอาณาจักรด้วย ขณะนั้นอุตสาหกรรมการต่อเรือได้พัฒนาจากไม้ไปสู่เหล็ก อู่ที่สามารถต่อเรือกำปั่นได้มักเป็นอู่เรือส่วนตัว เช่น อู่เรือบ้านสมเด็จที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยงวงศ์เป็นเจ้าของ ก็สร้างขึ้นอยู่ฝั่งธนบุรี ตรงหน้าวัดอนงคาราม” อาจารย์พีรศรีเล่าเสริม

ในสมัยรัชกาลที่ 4 เจ้าพระยาสุรวงศไวยวัฒน์ ได้ส่งนายสมบุญ บุณยกะลิน ขณะมีอายุเพียง 13 ปี ไปยังประเทศอังกฤษเพื่อศึกษาวิชาช่างกลเรือ ด้วยความที่เคยมีประสบการณ์จากการช่วยงานในอู่เรือมาก่อน ท่านจึงเรียนได้ดี และใช้เวลาศึกษาอยู่ 6 ปีจึงกลับมารับราชการในประเทศไทย ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ดำรงตำแหน่งกัปตันเรือกลไฟพระที่นั่งในเวลาเสด็จประพาสพื้นที่ต่างๆ ทั้งในและนอกพระนคร นายสมบุญก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นต้นกลเรือพระที่นั่งไปจนตลอดรัชกาลที่ 4 มาจนถึงรัชกาลที่ 5 และได้รับราชการในสังกัดกรมทหารเรือมาโดยตลอด ทั้งยังดำรงตำแหน่งสำคัญมากมาย อาทิผู้บังคับการกองโรงเรียนช่างกล จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระชำนิกลการ

“ท่านมีบุตรชายคนโตที่มีชื่อว่า วิลเลียม บุณยกะลิน ซึ่งคิดว่าอันนี้คือที่มาที่อาจารย์เปีย ปิแอร์ นำมาตั้งชื่อบ้านหลังนี้ว่า ชาโต วิลเลียม ซึ่งต่อมาท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนวิจารณ์จักรกิจ จนบรรดาศักดิ์สูงสุดคือพระยาวิจิตรนาวี ท่านคือผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ระหว่างที่บิดายังมีชีวิต และเป็นผู้ครอบครองบ้านหลังนี้เป็นคนที่สอง” โก้เล่าต่อ

ภาพ : หนังสือตำนานเรือรบไทย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียง
พระยาวิจิตรนาวี
ภาพ : หนังสือตำนานเรือรบไทย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียง

  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับท่านพอสรุปความได้ว่า นายวิลเลียม บุณยกะลิน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2410 อันเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลที่ 4 ท่านเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนสำเหร่บอยสกูล ซึ่งเป็นโรงเรียนของมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน ปัจจุบันคือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ต่อมาเมื่ออายุ 15 ปี บิดาได้ส่งไปศึกษาวิชาช่างกลที่เมืองกลาสโกว (Glasgow) สก็อตแลนด์ ใช้ชีวิตเรียนหนังสือและทำงานที่นั่นเป็นเวลา 10 ปี จน พ.ศ. 2435 เมื่อเรือพระที่นั่งมหาจักรีลำแรกต่อเสร็จและจะแล่นกลับกรุงเทพฯ นายวิลเลียมจึงได้เข้ารับหน้าที่เป็นช่างกลการไฟฟ้าประจำเรือพระที่นั่งข้ามน้ำข้ามทะเลจากอังกฤษกลับมาถึงพระนคร 

ต่อมาท่านได้รับราชการสังกัดกรมทหารเรือและมีบทบาทสำคัญมากมาย ได้แก่ เป็นผู้ตั้งปืนใหญ่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าและป้อมผีเสื้อสมุทร ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อาทิเจ้ากรมยุทธโยธาทหารเรือและเจ้ากรมอู่ทหารเรือ (อู่เรือหลวง) รวมทั้งองคมนตรี จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดที่พระยาวิจิตรนาวี และสิ้นชีวิตใน พ.ศ. 2466 ตรงกับช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 6

แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2430 ซึ่งปรากฏหมู่เรือนเพียง 2 หลังในบริเวณที่เป็นบ้าน ณ นาวี 
ภาพ : พีรศรี โพวาทอง

“ไม่มีเอกสารระบุชัดว่าบ้านหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อใด แต่มีเอกสารสำคัญนั่นคือแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2430 ที่ปรากฏเรือนบริเวณที่ตั้งของบ้านปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงใกล้เคียงกับที่นายสมบุญได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระชำนิกลการ ก็อาจเป็นไปได้ว่ามีการสร้างเรือนบางเรือนขึ้นบ้างแล้วบนพื้นที่แห่งนี้ ภาพเรือนที่ปรากฏในแผนที่ยังมีเพียงสองอาคารดูเป็นเหลี่ยมๆ ซ้อนกันเพียงสองหลังเท่านั้น และมีปรากฏอีกครั้งในแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2453 ซึ่งปรากฏหมู่เรือนครบทุกหลัง ประมาณสี่หลัง เป็นผังอาคารเรียงกันเป็นรูปตัว L ใกล้เคียงกับผังอาคารของบ้านในปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงที่นายวิลเลียมได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิจิตรนาวีแล้ว ซึ่งเป็นอีกช่วงที่แสดงให้เห็นว่าหมู่เรือนทั้งหมดมีลักษณะคล้ายกับปัจจุบันนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5” 

โก้พยายามค้นข้อมูลเท่าที่พอหาได้มาเพื่อคำนวณปีและช่วงเวลาที่สร้างบ้านหลังนี้ ซึ่งความเป็นไปได้คือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา

“ถ้าดูรูปแบบสถาปัตยกรรมบ้านหลังนี้จะเห็นว่ามีประกอบกันหลายยุค มีการปรับปรุงเป็นช่วงๆ แต่โดยรวมจะเห็นว่ามีการสร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก พระชำนิกลการและพระยาวิจิตรนาวีมีชีวิตในสมัยรัชกาลที่ 4 – 6 และเคยทำงานใกล้ชิดกับขุนนางสายสกุลบุนนาคมาก่อน ทำให้มีโอกาสได้เห็นและซึมซาบสถาปัตยกรรมลักษณะนี้ 

“เพราะในสมัยรัชกาลที่ 4 สถาปัตยกรรมตะวันตกกำลังเป็นพระราชนิยม และยิ่งเฟื่องฟูมากขึ้นในรัชกาลต่อๆ มา ที่สำคัญคือ ขุนนางในสายสกุลบุนนาครับหน้าที่เป็นแม่กองในการสร้างพระราชฐานที่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกทั้งหมดในสมัยรัชกาลที่ 4 อย่างพระนครคีรีหรือเขาวัง พระอภิเนาว์นิเวศน์ ฯลฯ ผนวกกับที่ท่านและลูกชายได้ไปใช้ชีวิตที่อังกฤษอยู่หลายปี จึงได้เกิดความนิยมในสถาปัตยกรรมแขนงนี้ และนำประสบการณ์กับความรู้มาสร้างบ้านของตนด้วยก็เป็นได้” อาจารย์พีรศรีร่วมสันนิษฐาน

 รูปบ้านในอดีตก่อนการซ่อมบำรุง ไม่ทราบปี พ.ศ.
 รูปบ้านในอดีตก่อนการซ่อมบำรุง ไม่ทราบปี พ.ศ.

หลัง พ.ศ. 2467 หลวงวิชัยนิตินาถ คุณปู่ของพิมได้เข้ามาครอบครองกรรมสิทธิ์บ้านหลังนี้ แต่ท่านไม่ได้อาศัยอยู่ที่นี่แต่อย่างใด เนื่องจากท่านอาศัยอยู่ที่บ้าน ณ นาวา ซึ่งอยู่เลยจากบริเวณนี้ไปไม่ไกล

“หลังจาก พ.ศ. 2467 ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับผู้อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้นานหลายปี จนต่อมาหลวงวิชัยนิตินาถได้ตัดสินใจเปิดให้เป็นบ้านเช่า เพราะอยากให้บ้านกลับมามีชีวิตชีวา ตามหลักฐาน ผู้เช่ารายแรกๆ คือ แม่ชีวรมัย กบิลสิงห์ ที่เช่าอยู่ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 – 2512 ซึ่งท่านได้เข้ามาปรับพื้นที่ให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรม พร้อมกับตั้งโรงพิมพ์ขนาดเล็กสำหรับผลิตนิตยสารรายเดือนชื่อว่า วิปัสสนาบันเทิงสาร และเรียกบ้านหลังนี้ว่า ตึกวีรธรรม ช่วงนี้เป็นช่วงที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ตัดขึ้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทำให้ทางเข้าบ้านเปลี่ยนจากด้านคลองมอญมาทางด้านถนนแทน” โก้เล่าตามที่ได้ลองสืบค้นข้อมูลมา และลองตรวจสอบข้อมูลกับพิม ซึ่งพิมก็ยืนยันว่าเป็นข้อมูลชุดเดียวกันกับที่รับทราบมา

“อาจารย์เปียมาเช่าบ้านใน พ.ศ. 2534 เป็นเวลาสามสิบปี จนถึงปีนี้คือ พ.ศ. 2564 แต่ช่วงหลังจาก พ.ศ. 2512 จนถึง 2534 บ้านนี้เป็นอย่างไร ใครดูแล อันนี้หาข้อมูลยังไม่ได้เลยค่ะ” นักสืบโก้เปรยหลังจากพลิกสมุดจดไปมาหลายหน้า

“ช่วง พ.ศ. 2512 – 2534 ก่อนอาจารย์เปียมาเช่า คุณพ่อตัดสินใจเข้ามาซ่อมปรับปรุงบ้านค่ะ แล้วแบ่งพื้นที่เป็นห้องเล็กๆ ให้ญาติๆ มาอาศัย พิมเพิ่งถามคุณแม่ก่อนมาเจอกันในวันนี้ สำหรับการซ่อมนั้น คุณแม่บอกว่าเป็นการซ่อมใหญ่ มีสถาปนิกเข้ามาควบคุมการซ่อมแซมอย่างเป็นระบบ เป็นสถาปนิกที่ออกแบบให้บ้านคุณตา หลังจากนั้นการซ่อมยังมีขึ้นประปรายเป็นช่วงๆ เพื่อรักษาบ้านเอาไว้ พิมมีรูปมาให้ดูด้วย” พิมรีบหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเปิดภาพให้อาจารย์พีรศรีและโก้ดู คำอธิบายและรูปภาพจากพิมน่าจะเป็นข้อมูลที่ช่วยไขปริศนาได้เกิดอะไรขึ้นที่นี่ ระหว่างช่วง พ.ศ. 2512 – 2534

“แล้วพอ พ.ศ. 2534 เราก็ลงรูปบ้านในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post เพื่อประกาศหาผู้เช่า อาจารย์เปียเห็นเข้าก็ชอบ จึงติดต่อมาขอเช่า และเป็นผู้เรียกบ้านนี้ว่า ชาโต วิลเลียม และเช่าอยู่นานถึงสามสิบปี ก็ต้องถือว่าอาจารย์เป็นผู้ที่ทำให้คนรู้จักบ้านหลังนี้ และช่วยดูแลบ้านของคุณปู่อย่างดี” พิมกล่าว

ทีนี้นักสืบทุกคนก็ช่วยกันไล่เรียงเหตุการณ์ตามช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับบ้าน ณ นาวี จนครบแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะเดินสำรวจกันว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

สืบรอยสถาปัตยกรรม

 รูปบ้านในอดีตก่อนการซ่อมบำรุง ไม่ทราบปี พ.ศ.

  อาจารย์พีรศรียืนมองไปยังอาคารอย่างเพ่งพินิจ เมื่อผมถามว่าจะบรรยายเกี่ยวกับรูปแบบสถาปัตยกรรมของบ้านหลังนี้อย่างไรดี

“บ้านนี้แปลกและท้าทายมาก ผู้ที่มาอยู่แต่ละคนก็ซ่อมไปเยอะและซ่อมค่อนข้างดี จนกระทั่งเราอาจจะแยกยากว่าส่วนไหนเป็นส่วนดั้งเดิม ส่วนไหนซ่อมและต่อเติมขึ้นใหม่โดยผู้อยู่อาศัยรายนั้นๆ” อาจารย์ถอนหายใจอย่างครุ่นคิด

“อาคารนี้เป็นอาคารที่มีโครงสร้างแบบผนังรับน้ำหนัก (Wall Bearing Structure) เพื่อรับน้ำหนักโครงสร้างจากหลังคาลงมายังพื้น มีการก่ออิฐถือปูนตามลักษณะของบ้านแบบตะวันตกที่ปรากฏอยู่ในเมืองไทยสมัยนั้น ซึ่งเป็นสิ่งใหม่และทันสมัย” โก้ร่วมสืบ

“แต่ที่ค่อนข้างแน่ใจคืออาคารนี้มีหลายยุค สร้างในเวลาที่แตกต่างกัน สิ่งที่สังเกตคือบัวกับกันสาดของอาคารที่ไม่ต่อกันไปเป็นระนาบเดียว มีสูงๆ ต่ำๆ อีกประการคือหน้าต่างที่ไม่จัดวางในแนวที่เป็นระเบียบ ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนว่าสร้างคนละช่วงเวลา ยิ่งอาคารไม้บนชั้นสอง อันนั้นชัดเจนเลยว่าเป็นอาคารที่สร้างขึ้นในระยะหลัง”

         ถ้าสร้างต่างเวลากัน ดังนั้นเราน่าจะลองเดินไล่สืบรอยจากอาคารเก่าสุดไปหาใหม่สุดกันดีกว่า

อาคารแรก

 รูปบ้านในอดีตก่อนการซ่อมบำรุง ไม่ทราบปี พ.ศ.

เราเดินอ้อมไปยังอาคารที่ด้านบนเป็นไม้ด้านล่างเป็นอิฐ ถ้าอิงตามแผนที่ พ.ศ. 2530 อาคารนี้คืออาคารทรงเหลี่ยม 1 ใน 2 หลังที่ปรากฏในแผนที่ฉบับนั้น

ว่ากันที่ลักษณะของตัวอาคารก่อน อาจารย์พีรศรีแสดงทัศนะว่า

“อาคารนี้น่าสนในประเด็นที่ว่าเป็นตัวเรือนสองชั้นลุ่นๆ เลย ไม่มีชานหรือระเบียงใดๆ มีเพียงหน้าต่างเท่านั้น พอเห็นแล้วทำให้นึกถึงวังหน้าที่มีพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระที่นั่งที่มีระเบียงเฉพาะหน้าเรือน ที่เหลือเป็นผนังแล้วเจาะหน้าต่างเท่านั้น คือตั้งใจทำให้อาคารดูเป็นทรงตึก 

“อย่างพระปั้นหย่าที่วัดบวรนิเวศวิหารก็เป็นอาคารทรงตึกในลักษณะเดียวกัน ในขณะนั้นอาคารโดยปกติจะต้องมีชาน มีระเบียง เพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน อาคารทรงตึกเป็นความทันสมัยในยุคนั้น บ้านนี้เป็นบ้านที่เจ้าของมีความทันสมัย อาคารหลังนี้แม้จะเป็นหลังแรกและเก่าสุดในบ้าน แต่ก็ยังสะท้อนความทันสมัยของเจ้าของบ้านได้ดี”

 พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ที่วังหน้า
 พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ที่วังหน้า
ภาพ : พีรศรี โพวาทอง

           สิ่งที่โดดเด่นสะดุดตาของอาคารนี้ คือการตกแต่งมุมของอาคารที่ทำเป็นแบบตะวันตกอย่างชัดเจน

           “อย่างที่กล่าวว่าบ้านหลังนี้มีอิทธิพลของสถาปัตยกรรมตะวันตกอยู่มาก อย่างตรงมุมอาคารนี้จะมีการตกแต่งอย่างที่เรียกว่า Rusticated Corner ซึ่งเป็นการตกแต่งตามสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก นั่นคือการทำผนังก่ออิฐฉาบปูนให้ดูคล้ายหินก้อนใหญ่ๆ สร้างความรู้สึกหนักแน่นมั่นคง เป็นลูกเล่นที่พบบ่อยในอาคารในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 สถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกในเมืองไทยมีหลายที่ เช่น ศุลกสถาน หรือกระทรวงกลาโหม เป็นต้น แต่สถานที่เหล่านี้เป็นสถานที่ราชการ จึงมีการตกแต่งอย่างคลาสสิกชนิดจัดเต็ม คือมีทั้งเสาลอย ทั้งซุ้มโค้งหรือ Arch หรือแม้กระทั่งโดม แต่ที่นี่เป็นบ้านส่วนบุคคล จึงอาจนำองค์ประกอบแบบคลาสสิกมาตกแต่งเพียงบางจุด” อาจารย์พีรศรียังแกะรอยต่อไปอย่างขะมักเขม้น

           และในบ้านหลังนี้เราจะพบทั้ง Rusticated Corner ที่บนอาคารก่ออิฐถือปูนและบนอาคารไม้เช่นอาคารนี้

บนหน้าจั่วอาคารแรก ปรากฏตราไอยราพต ตรงมุมเป็น Rusticated Corner
บนหน้าจั่วอาคารแรก ปรากฏตราไอยราพต ตรงมุมเป็น Rusticated Corner

           บนอาคารปรากฏตราสัญลักษณ์อะไรบางอย่างที่ดึงดูดสายตาพวกเรามาก

           “ผมคิดว่าน่าจะเป็นตราพระราชลัญจกรเก่าที่เรียกว่าตราไอยราพต ทำเป็นช้างสามเศียร มีวิมานอยู่เบื้องบน ประกอบลายกนกเปลว ตรานี้พบได้ในเหรียญบาทสมัยปลายรัชกาลที่ 5 และใช้เป็นตรากรมทหารบกอีกด้วย ซึ่งน่าแปลกที่มาปรากฏอยู่บนจั่วบ้านข้าราชการฝ่ายทหารเรือได้อย่างไร ทั้งยังติดอยู่ที่ด้านข้างของเรือนหลังในด้วย” อาจารย์พีรศรีชี้ประเด็นที่เราจะต้องร่วมกันค้นคว้าคำอธิบายกันต่อไปในอนาคต

 บริเวณชั้นล่างของอาคารแรก มีร่องรอยการแบ่งพื้นที่เป็นห้องเล็กๆ และกระเบื้องซีเมนต์พิมพ์ลายสมัยรัชกาลที่ 5
 บริเวณชั้นล่างของอาคารแรก มีร่องรอยการแบ่งพื้นที่เป็นห้องเล็กๆ และกระเบื้องซีเมนต์พิมพ์ลายสมัยรัชกาลที่ 5
 บริเวณชั้นล่างของอาคารแรก มีร่องรอยการแบ่งพื้นที่เป็นห้องเล็กๆ และกระเบื้องซีเมนต์พิมพ์ลายสมัยรัชกาลที่ 5

           เราเดินมาสำรวจภายในอาคารแรกกันต่อ ตั้งแต่ เปีย ปิแอร์ ผู้เช่าคนล่าสุดเดินทางกลับฝรั่งเศส บ้าน ณ นาวี ยังไม่มีผู้เช่ารายใหม่ในวันนี้ จึงทำให้สังเกตรายละเอียดบนพื้นที่โล่งๆ ได้ถนัด

           “บริเวณอาคารแรกนี้ถือเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเจ้าของบ้าน ความที่เป็นเรือนหลังใน ส่วนเรือนด้านหน้า ถือเป็นเรือนหลังนอก น่าจะเป็นที่รับแขก อย่างแรกที่สังเกตได้เลยคือ ในอดีตจะมีการซอยพื้นที่แบ่งออกเป็นห้องเล็กๆ ไม่ใช่พื้นที่โล่งอย่างที่เห็นอยู่ขณะนี้ กระเบื้องที่ใช้ปูเป็นกระเบื้องซีเมนต์พิมพ์ลายสมัยรัชกาลที่ 5 บนกระเบื้องมีร่องรอยบางอย่างปรากฏอยู่ 

“ถ้าไปอ่านบันทึกเกี่ยวกับบ้านในสมัยที่เป็นสำนักปฏิบัติธรรมของแม่ชีวรมัย กบิลสิงห์ มีบันทึกว่าบริเวณนี้เป็นห้องสกัดและกลึงหินเพื่อทำบาตร โถ แจกัน และใกล้กับบันไดเป็นที่วางแท่นพิมพ์เพื่อพิมพ์นิตยสาร วิปัสสนาบันเทิงสาร ซึ่งร่องรอยดังกล่าวยังปรากฏอยู่ และกระไดนี้จะพาขึ้นไปที่ยังห้องนอน ห้องแต่งตัวที่ด้านบน” โก้ช่วยแกะรอยต่อ

           ทีนี้มีประเด็นเรื่องกระไดให้เราต้องถกกันต่ออย่างสนุกสนาน

บริเวณด้านข้างของบ้าน สันนิษฐานว่าเคยมีกระไดภายนอกตั้งอยู่เพื่อให้เจ้านายขึ้นบ้านสู่ชั้นบน แต่ปัจจุบันไม่มีกระไดปรากฏอยู่

           “คนไทยเป็นคนถือหัว บ้านในสมัยก่อน โดยเฉพาะข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ จะมีกระไดภายนอก หมายถึงกระไดที่ตั้งอยู่นอกเรือน เวลาขึ้นลงกระไดจะได้ไม่มีใครมายืนค้ำศีรษะ ส่วนกระไดในเรือน มักจะเป็นกระไดบ่าว คือให้บริวารใช้ บ้านในยุคนั้นจึงมีกระไดภายนอกที่ขึ้นทางหน้าบ้านหรือทางด้านข้างของบ้านขึ้นสู่ชั้นบนเลย เพราะชั้นบนเป็นที่ของนาย ส่วนชั้นล่างนั้นเป็นที่ของบ่าว แต่น่าแปลกที่บ้านนี้ไม่มีกระไดภายนอกปรากฏอยู่” อาจารย์พีรศรีตั้งข้อสังเกต และนั่นทำให้โก้ต้องลองไปเปิดแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2495 เพื่อพิจารณาผังอาคารต่างๆ ในบ้านหลังนี้ แล้วพบว่ามีการบันทึกภาพร่างของบ้านที่มีกระไดขึ้นด้านข้าง ดังนั้น บ้านนี้อาจเคยมีกระไดภายนอกตั้งอยู่ด้านข้าง แต่ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว

 แผนที่กรุงเทพ ฯ พ.ศ. 2495 ปรากฏภาพหมู่อาคารครบตามลักษณะปัจจุบัน และมีภาพร่างเป็นเหลี่ยมยื่นออกมาจากด้านข้างของตัวบ้าน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นกระไดภายนอกที่เคยมีอยู่
ภาพ : พีรศรี โพวาทอง
 แผนที่กรุงเทพ ฯ พ.ศ. 2495 ปรากฏภาพหมู่อาคารครบตามลักษณะปัจจุบัน และมีภาพร่างเป็นเหลี่ยมยื่นออกมาจากด้านข้างของตัวบ้าน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นกระไดภายนอกที่เคยมีอยู่
ภาพ : พีรศรี โพวาทอง

อาคารที่ 2 

สวมบทนักสืบสถาปัตยกรรมผสมผสานสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 ที่บ้าน ณ นาวี หรือ Château William บ้านโบราณทรงคุณค่าในกรุงเทพฯ
หอสังเกตการณ์และดาดฟ้า

           จากอาคารแรกเราเดินต่อมายังอีกอาคารที่ปรากฏอยู่ในแผนที่เมื่อ พ.ศ. 2430 เช่นกัน อาคารนี้เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสูง 2 ชั้น ตั้งอยู่ด้านหน้าของอาคารแรก จุดเด่นของอาคารนี้คือมีหอสังเกตการณ์ (Observatory Deck) สูง 3 ชั้นตั้งอยู่

สวมบทนักสืบสถาปัตยกรรมผสมผสานสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 ที่บ้าน ณ นาวี หรือ Château William บ้านโบราณทรงคุณค่าในกรุงเทพฯ
ภาพเดิมของบ้าน อาคารที่สองและหอสังเกตการณ์อยู่ทางซ้ายมือในภาพ ขณะนั้นยังเปิดโล่ง ไม่กรุกระจกทึบ

“หอสังเกตการณ์ที่เป็นดาดฟ้าของบ้าน ถ้าดูจากภาพถ่ายเดิม จะเป็นบริเวณเปิดโล่ง ไม่ได้กรุกระจกล้อมทึบเช่นปัจจุบัน การปิดทึบน่าจะเป็นช่วงที่อาจารย์เปียมาเช่าอยู่ค่ะ” พิมนำภาพเดิมมาเทียบ ซึ่งถ่ายไว้ก่อน เปีย ปิแอร์ มาเช่า

“หอสังเกตการณ์และดาดฟ้าก็อิงกับเรื่องการถือหัวของคนในสมัยก่อนเช่นกัน ส่วนใหญ่ชั้นสองคือส่วนที่เจ้าบ้านอยู่อาศัย จึงมักไม่ให้ใครมาย่ำอยู่บนหัว แต่บ้านหลังนี้กลับสร้างหอและมีดาดฟ้าอยู่ที่ชั้นสาม ซึ่งเราไม่ค่อยจะพบเจอในบ้านยุคนั้น ส่วนมากชั้นบนสุดของบ้านมักจะทำเป็นห้องพระหรือห้องเก็บอัฐิ ในสมัยนั้นไม่ค่อยมีใครทำเป็นดาดฟ้า 

“ถ้าอิงกับสิ่งก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 อย่างเช่นพระอภิเนาว์นิเวศน์ ซึ่งเป็นพระราชมนเฑียร ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก มีพระที่นั่งองค์หนึ่งชื่อว่าพระที่นั่งจันทรทิพโยภาส ซึ่งเป็นพระที่นั่งที่มีดาดฟ้าเป็นแห่งแรกๆ ของไทย เป็นดาดฟ้าที่สามารถเดินขึ้นไปได้ สำหรับเสด็จขึ้นไปทรงสังเกตดวงจันทร์ เพราะรัชกาลที่ 4 ทรงศึกษาเรื่องดาราศาสตร์อย่างจริงจัง แต่บนนั้นก็ยังมีมุมหนึ่งที่สร้างเป็นหอประดิษฐานพระบรมอัฐิกับหอพระ เพื่อแยกไปทรงนมัสการต่างหาก 

แต่ดาดฟ้าบนหอที่บ้านนี้มีขนาดเล็ก พื้นที่จำกัด ไม่น่าพอที่จะเป็นหอพระหรือไว้อัฐิได้ แต่หออีกหอซึ่งตั้งคู่กัน หอนั้นน่าจะเป็นหอพระและที่เก็บอัฐิ เพราะอยู่สูงเสมอกัน ปัญหาคือทั้งสองหอนี้สร้างพร้อมหรือไม่ ดูเหมือนว่าหอดาดฟ้าที่เรายืนอยู่นี้จะสร้างก่อน เพราะเป็นซีกอาคารกลุ่มแรกๆ ในขณะที่อีกหอสร้างขึ้นภายหลัง และอาคารนั้นน่าจะเป็นอาคารที่สร้างขึ้นลำดับที่ 3” อาจารย์พีรศรีสันนิษฐานสิ่งที่สังเกตอยู่ตรงหน้าเพื่อสืบประวัติของบ้านไปเรื่อยๆ

สวมบทนักสืบสถาปัตยกรรมผสมผสานสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 ที่บ้าน ณ นาวี หรือ Château William บ้านโบราณทรงคุณค่าในกรุงเทพฯ
ภายในดาดฟ้า ชั้นบนสุดของหอสังเกตการณ์

         จากดาดฟ้า เราเดินกลับลงมาชั้นล่างสุดของอาคาร ซึ่งเป็นห้องกว้างปูกระเบื้องหินอ่อนสีแดงลายสวย

“การปูหินอ่อนอย่างนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่พบน้อยมากในบ้านบุคคลธรรมดา เราอาจจะพบการปูหินอ่อนได้ทั่วไปในวัง ซึ่งต้องถือว่าบุคคลที่มีบ้านปูหินอ่อนเช่นนี้ต้องเป็นคนที่พิเศษมากๆ อย่างที่เล่าไปแล้วว่าบริเวณชั้นล่างมักเป็นบริเวณของบ่าว แต่การที่เจ้าของบ้านเอาสิ่งสวยๆ งามๆ และมีคุณค่าเช่นนี้มาอยู่ข้างล่าง ก็แปลว่าเป็นส่วนที่เจ้าของเองก็ใช้พื้นที่นี้เองด้วย ซึ่งสะท้อนวิธีคิดของเจ้าของบ้านที่ทันสมัยกว่าคนในยุคเดียวกัน และการปูหินอ่อนไว้ด้านหน้าบ้านเช่นนี้ ก็ต้องถือว่าเขาตั้งใจทำไว้ต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน และหินอ่อนก็สะท้อนความทันสมัยแบบตะวันตก”

สวมบทนักสืบสถาปัตยกรรมผสมผสานสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 ที่บ้าน ณ นาวี หรือ Château William บ้านโบราณทรงคุณค่าในกรุงเทพฯ
 ภายในอาคารที่ 2 ชั้นล่างมีกระเบื้องปูหินอ่อน
สวมบทนักสืบสถาปัตยกรรมผสมผสานสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 ที่บ้าน ณ นาวี หรือ Château William บ้านโบราณทรงคุณค่าในกรุงเทพฯ
 ลายกระเบื้องหินอ่อนที่ปูในอาคารที่ 2

“แม้ชั้นหลักจะอยู่ชั้นสองเพราะเป็นชั้นที่เจ้าของบ้านอาศัย แต่การจะนำหินอ่อนอันเป็นวัสดุที่หนักไปปูไว้บนชั้น สอง ต้องทำให้อาคารรับน้ำหนักมาก และชั้นสองเป็นพื้นไม้ การปูหินอ่อนบนไม้ก็ทำได้ยากด้วย” อาจารย์พีรศรีบรรยายไปเรื่อยๆ โดยมีโก้ พิม และผม ฟังการแกะรอยสถาปัตยกรรมของอาจารย์กันอย่างเพลิดเพลิน

อาคารที่ 3

สวมบทนักสืบสถาปัตยกรรมผสมผสานสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 ที่บ้าน ณ นาวี หรือ Château William บ้านโบราณทรงคุณค่าในกรุงเทพฯ

           อาคารที่ 3 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนที่ทอดตัวยาว และปรากฏหอคอยอีกหอตั้งอยู่ปลายสุดของอาคาร ซึ่งเป็นหอสูง 3 ชั้น ส่วนเรือนไม้ที่ปรากฏอยู่ด้านบนนั้นนับว่าเป็นอาคารที่ 4  

           “ดูจากภายนอกกันก่อนนะคะ สิ่งที่น่าสนใจสำหรับโก้ก็คือหอสูงสามชั้นของอาคารที่สามที่ปราศจากดาดฟ้า ซึ่งต่างจากอาคารที่แล้ว จึงสันนิษฐานว่าเป็นหอพระและเก็บอัฐิ” โก้เริ่มสืบ ซึ่งเป็นความเห็นเดียวกับอาจารย์พีรศรีที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ พิมเสริมด้วยว่าบนชั้นสูงสุดของหอคอยนี้มักจะปิดไว้เสมอ และเป็นที่เก็บรูปเคารพที่อยู่คู่บ้านหลังนี้มานานจนถึงทุกวันนี้

         “ข้อแตกต่างอีกประการคือ อาคารที่สามไม่มีการตกแต่งมุมแบบ Rusticated Corner อย่างอาคารที่สองตรงนี้ก็จะพอมองเห็นได้ว่ามาสร้างทีหลัง บ่งบอกความเป็นยุคที่สองได้ชัดเจน และอาคารนี้เลือกตกแต่งด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก คือมีลายปูนปั้นเป็นเสาแบบคอรินเธียน (Corinthian) มีการเจาะช่องเปิดทำเป็นหน้าต่าง ถ้าสังเกตดี เหนือหน้าต่างจะมีรอย Arch หรือซุ้มโค้งเป็นช่วงๆ ซุ้มโค้งนั้นมีจุดประสงค์เพื่อรับน้ำหนักผนังที่อยู่เหนือช่องหน้าต่างขึ้นไป ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญตามแบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5 สันนิษฐานว่ากันสาดนั้นเพิ่งมาต่อเติมภายหลังพร้อมกับอุดช่องโค้งเหนือกันสาด จึงทำให้ปรากฏรอยซุ้มโค้งเพียงลางๆ เท่านั้นในวันนี้” โก้สืบต่อ และชวนเราเดินไปสังเกตรอยซุ้มโค้งที่ยังพอสังเกตเห็นได้

สวมบทนักสืบสถาปัตยกรรมผสมผสานสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 ที่บ้าน ณ นาวี หรือ Château William บ้านโบราณทรงคุณค่าในกรุงเทพฯ
 อาคารที่ 3 ไม่มีการตกแต่งอาคารแบบ Rusticated Corner เหมือนอาคารที่ 1 และ 2 แต่มีการตกแต่งด้วยเสาลายปูนปั้น เจาะช่องหน้าต่าง เหนือหน้าต่างมีซุ้มโค้งประกับ แต่เลือนไปมากจนต้องสังเกตดีๆ

           ภายในบริเวณแนวยาวของอาคารเป็นห้องขนาดใหญ่ มีพื้นปูด้วยหินอ่อนสีขาวดำวางสลับกันในมุม 45 องศาแบบตาหมากรุกทแยงมุม ระหว่างที่เราเข้ามานั่งพักกัน เราร่วมกันสันนิษฐานว่าห้องนี้ดูหมือนท้องพระโรง ซึ่งดูเกินฟังก์ชันของบ้านส่วนบุคคลไปมาก แต่พระชำนิกลการและเจ้าพระยาวิจิตรนาวีล้วนเป็นข้าราชการคนสำคัญของกองทัพเรือด้วยกันทั้งคู่ มีข้าราชการในอาณัติที่เป็นทั้งชาวไทยและชาวตะวันตกจำนวนมาก ในอดีตห้องนี้น่าจะเป็นอีกห้องที่ใช้เป็นสถานที่จัดงานรับรองแขกคนสำคัญที่มาเยี่ยมเยียนก็เป็นได้

สวมบทนักสืบสถาปัตยกรรมผสมผสานสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 ที่บ้าน ณ นาวี หรือ Château William บ้านโบราณทรงคุณค่าในกรุงเทพฯ
ภายในอาคารที่ 3 แนวยาว พื้นปูด้วยหินอ่อนสีขาวดำ วางสลับกันในมุม 45 องศาแบบตาหมากรุก
สวมบทนักสืบสถาปัตยกรรมผสมผสานสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 ที่บ้าน ณ นาวี หรือ Château William บ้านโบราณทรงคุณค่าในกรุงเทพฯ
 ห้องเดียวกันสมัย เปีย ปิแอร์ มาเช่าอยู่ สังเกตจากพื้นหินอ่อนสีขาวดำ
ภาพ : หนังสือ Heritage homes of Thailand

อาคารที่ 4

สวมบทนักสืบสถาปัตยกรรมผสมผสานสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 ที่บ้าน ณ นาวี หรือ Château William บ้านโบราณทรงคุณค่าในกรุงเทพฯ

           อาคารที่ 4 เป็นเรือนไม้หลังใหญ่ที่ตั้งอยู่บนอาคารที่ 3 และดูแตกต่างจากอาคารอื่นๆ ทั้งหมด หลังจากที่เราพักและคุยกันในห้องโถงมาระยะหนึ่ง เราก็ชวนกันเดินขึ้นข้างบนเพื่อไปยังอาคารดังกล่าว

           “เดี๋ยวๆๆ หยุดตรงนี้ก่อนค่ะ” นักสืบโก้เบรกเราดังเอี๊ยดตรงบริเวณที่เรียกว่าส่วนเชื่อมต่อ (Transition) ระหว่างอาคารที่ 2 และที่ 4 

สวมบทนักสืบสถาปัตยกรรมผสมผสานสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 ที่บ้าน ณ นาวี หรือ Château William บ้านโบราณทรงคุณค่าในกรุงเทพฯ

         “ตรงนี้จะเห็นชัดเลยว่าอาคารที่สี่สร้างขึ้นภายหลังเพราะอยู่สูงกว่ามาก ถ้าจะเข้าไปในอาคารที่สี่ต้องขึ้นกระไดไปสามขั้น กระเบื้องที่ใช้ปูเป็นกระเบื้องซีเมนต์พิมพ์ลายสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างเดียวกันกับด้านล่าง เราจะเห็นผนังอิฐโชว์แนว ซึ่งเป็นของอาคารที่สองซึ่งเป็นอาคารที่เก่ากว่า อาคารที่สี่เป็นอาคารที่สร้างหลังสุด น่าจะมาในสมัยรัชกาลที่ 6 นอกจากนั้นยังประดับไม้ฉลุลายไว้เหนือระเบียงลูกกรงเหล็กหล่อ ซึ่งไม่มีประดับที่ส่วนอื่นของอาคาร” โก้ชี้จุดสังเกตพร้อมแกะรอยเรื่องราวที่บ่งบอกว่าแต่ละอาคารสร้างกันคนละยุค

           “มานี่ มาใกล้ๆ นี่กัน” อาจารย์พีรศรีเจออะไรที่น่าสนใจเข้าแล้ว

           “ลูกกรงเหล็กหล่อบริเวณนี้น่าสนใจ เพราะเป็นลูกกรงเหล็กที่ฝังลงไปในเนื้อไม้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ เหมือนกับการเอาของหนักไปฝังอยู่ในของเบา ซึ่งน้อยคนที่จะทำอะไรแบบนี้ ถ้าสังเกตระเบียงลูกกรงเหล็กหล่อที่ประดับอาคารส่วนอื่นๆ ซึ่งเราได้เดินผ่านกันมาก่อนหน้านี้ จะเห็นว่าเป็นการฝังเหล็กลงไปในเนื้อปูนทั้งหมด อาจเป็นไปได้ว่าอาคารที่สี่สร้างขึ้นหลังสุดโดยเป็นเรือนไม้ รวมทั้งใช้ไม้ตกแต่งเป็นหลัก ไม่ได้เป็นอาคารปูนเหมือนส่วนอื่นๆ ระเบียงตรงนี้จึงนำเหล็กมาใช้กับไม้ แทนที่จะใช้กับปูน เป็น Transition ในเชิงวัสดุก็เป็นได้ เลยทำให้ระเบียงตรงนี้มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่าง ไม่เหมือนใคร” ผมลองหลับตานึกภาพตาม ก็พบว่าจุดนี้เป็นจุดแรกของบ้านที่ผมเห็นลูกกรงเหล็กหล่อวางบนไม้แทนปูนดังเช่นที่อาจารย์ว่า

“เรื่องลูกกรงเหล็กหล่อ ถ้าจะเล่าเรื่องนี้ก็ต้องย้อนไปยังช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ซึ่งเกิดขึ้นคือช่วงเวลาตั้งแต่ ค.ศ. 1760 – 1850 โดยเริ่มต้นขึ้นในอังกฤษ จากนั้นจึงแพร่ขยายไปทั่วยุโรปตะวันตก อเมริกา จนขยายไปทั่วโลกในเวลาต่อมา ซึ่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อให้เกิดการผลิตเหล็กใช้กันอย่างแพร่หลาย สมัยก่อนเหล็กเป็นวัสดุที่ผลิตในเมืองไทยไม่ได้ จึงนิยมนำเข้าจากยุโรป ถือว่าเป็นของมีค่ามาก และใช้ประดับตกแต่งสถานที่สำคัญ 

“นึกถึงคือเหล็กหล่อที่ล้อมเป็นรั้ววัดประยุรวงศาวาส สร้างในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 พอมาถึงสมัยรัชการที่ 5 วัสดุอย่างเหล็กเริ่มกลายเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายมากขึ้น และผู้มีฐานะก็สามารถเสาะหาเพื่อนำมาตกแต่งได้โดยทั่วไป ลายลูกกรงเหล็กหล่อของบ้านนี้ไม่จัดว่าเป็นแบบมาตรฐาน เพราะดูหนาและหนักกว่าทั่วไป ลวดลายก็ดูหรูหรากว่าปกติอีกด้วย” อาจารย์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลูกกรงเหล็กหล่อ

จากส่วนเชื่อมอาคาร เราเดินเข้าไปสู่ภายในอาคารที่ 4 ซึ่งดูงดงามราวท้องพระโรงอีกเช่นกัน

สวมบทนักสืบสถาปัตยกรรมผสมผสานสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 ที่บ้าน ณ นาวี หรือ Château William บ้านโบราณทรงคุณค่าในกรุงเทพฯ
 ภายในอาคารที่ 4 ซึ่งเป็นเรือนไม้ มีห้องกว้าง เป็นสถาปัตยกรรมช่วงปลายรัชกาลที่ 6

“โก้คิดว่าเรือนไม้หลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมช่วงปลายรัชกาลที่ 6 สังเกตได้จากฝ้าเพดานที่เป็นกระเบื้องแผ่นเรียบ ตีคิ้ว ขนาด 60 x 60 เซนติเมตร ซึ่งเราพบได้ในอาคารยุคเดียวกันอย่างเช่นพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ส่วนบานกระทุ้งมีขนาดกว้าง น่าจะมาทำขึ้นใหม่ในระยะหลัง และเช่นเดียวกับห้องโถงชั้นล่าง ห้องนี้ก็ดูหมือนท้องพระโรง ซึ่งก็ดูเกินฟังก์ชันของบ้านบุคคลธรรมดาไปมาก ไม่แน่ใจว่าในอดีตใช้ทำอะไร มีเพียงบันทึกที่ระบุว่าในสมัยที่แม่ชีวรมัย กบิลสิงห์ มาเช่าอยู่ ห้องนี้เป็นที่ปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิ ในสมัยอาจารย์เปีย ปิแอร์ อาจารย์จัดพื้นที่ตรงนี้เป็นห้องแสดงงานศิลป์”

สวมบทนักสืบสถาปัตยกรรมผสมผสานสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 ที่บ้าน ณ นาวี หรือ Château William บ้านโบราณทรงคุณค่าในกรุงเทพฯ
ห้องเดียวกัน เปีย ปิแอร์ ใช้พื้นที่เป็นห้องแสดงงานศิลป์
ภาพ : หนังสือ Heritage homes of Thailand

บ้าน ณ นาวี ณ วันนี้และวันหน้า

         เราเดินสำรวจทุกอาคารด้วยความเพลิดเพลินจนเวลาบ่ายคล้อย ผมคิดว่าพิมได้รับข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับบ้าน ณ นาวีไปมากพอสมควรแล้ว ด้วยความกรุณาของอาจารย์พีรศรีและโก้

           “บ้านหลังนี้มีคุณค่ามากมาย จากข้อมูลที่ได้ฟังจากอาจารย์ทั้งสองในวันนี้ ทั้งประวัติความเป็นมาและรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ช่วยให้พิมเข้าใจและสามารถนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาบ้านหลังนี้ให้ดำรงอยู่ถึงคุณค่าของบ้านนี้ต่อไป” พิมกล่าวด้วยความสุขใจ

           “การศึกษาเรื่องอาคารเก่ามีหลายมิติ เราไม่ควรฟันธงอะไรง่ายๆ ต้องค่อยๆ สืบค้นทั้งเอกสารและการดูโครงสร้าง รวมทั้งการสืบประวัติบุคคล ความสัมพันธ์ของย่านและยุคสมัย ฯลฯ ยิ่งค้นพบก็อาจจะยิ่งเจอข้อมูลที่ทำให้เรารู้จักและเข้าใจมากขึ้นครับ” อาจารย์พีรศรีกล่าว และผมอยากย้ำอีกครั้งว่าการสำรวจและสืบค้นของ ‘นักสืบจำเป็น’ ในวันนี้ เป็นเพียงบทแรกของความเข้าใจบ้าน ณ นาวี

           แล้วในอนาคตล่ะ พิมอยากจะดูแลบ้านของคุณปู่หลังนี้ต่อไปอย่างไร

“อยากเก็บรักษาคุณค่าและความสวยงามของบ้านให้คงอยู่ต่อไป ในเบื้องต้นคือคงต้องซ่อมรอยร้าวรอยรั่วที่อาจเป็นอันตรายกับอาคาร และปรับปรุงอาคารให้เหมาะสมกับการใช้งานในอนาคต 

“นอกจากนี้ก็ต้องพยายามเสาะหาผู้เช่าที่รู้คุณค่าและร่วมรักษาบ้านหลังนี้ให้สวยงามตามคุณค่าดั้งเดิม อาจมีการปรับรายละเอียดบ้างเล็กๆ น้อยๆ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และการใช้สอยของผู้เช่า เช่น การเสริมระบบไฟฟ้าหรือสาธารณูปโภคต่างๆ โดยไม่ทำลายโครงสร้างหลักหรือคุณค่าเดิมๆ ของบ้านไป วัตถุประสงค์ของเรายังเป็นเรื่องการอนุรักษ์ ดังนั้น ผู้ที่มาเช่าก็ต้องมาเป็นผู้ร่วมอนุรักษ์บ้านไปพร้อมกันกับเราด้วย”

เราร่ำลากันในตอนเย็น ผมขอขอบคุณเพื่อนผม ทั้งอาจารย์พีรศรีและโก้ที่กรุณาสละเวลามาร่วมเป็นนักสืบจำเป็นตามแกะรอยประวัติและสถาปัตยกรรมของบ้าน ณ นาวี ในวันนี้ และผมขอขอบคุณพิมที่อนุญาตให้ผมมาร่วมสำรวจและทำความรู้จักบ้าน ณ นาวี ไปพร้อมกับเธอ ผมขอเอาใจช่วยพิมให้สืบค้นและทำประวัติบ้านอย่างเป็นทางการได้สำเร็จ โดยผมเชื่อว่าข้อมูลเบื้องต้นในวันนี้จะเป็นประโยชน์ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเธอมากมาย และผมขอขอบคุณผู้อ่าน The Cloud ทุกท่านที่มาเป็นแขกกลุ่มแรกร่วมเดินสำรวจบ้าน ณ นาวี ไปด้วยกันจนมาถึงบรรทัดนี้

จนกว่าเราจะพบกันใหม่ในเดือนหน้า จะเป็นบ้านหลังไหนและมีประวัติอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ

ขอขอบพระคุณ

คุณพิม วรรณประภา ทายาทบ้าน ณ นาวี· 

– ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรศรี โพวาทอง ผู้ให้สัมภาษณ์และสืบค้นข้อมูล

– ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน ผู้ให้สัมภาษณ์และสืบค้นข้อมูล

– ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี ช่างภาพ (จำเป็น)

เอกสารอ้างอิง

ตำนานเรือรบไทย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียง

 Heritage homes of Thailand โดย William Warren

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี

ช่างภาพ อาจารย์ และทาสแมว