หลงทางเสียเวลา หลงรักงานม็อคอัพขึ้นมา ผมไม่เคยเสียใจ

บ่าว-สมพงศ์ อินทร์ศวร ไม่ได้กล่าว…

แต่เราสัมผัสได้ถึงความรักและความใส่ใจที่เขามีให้กับการทำมาสคอต ม็อคอัพ และงาน Mechanic ทุกชิ้นที่วางกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ของ ‘BAAN MOCK UP’ ทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังโฆษณามากกว่า 1,500 ตัว ตลอดเวลา 15 ปี หนึ่งในโฆษณาที่คุณเคยเห็นผ่านตาอาจเป็นผลงานของพวกเขา

ไม่ว่าจะเป็นจิ้งจอกสีส้มสุดหล่อจากโฆษณาซื้อรถมือสอง CARS24

(ชมเบื้องหลัง) 

โจโจ้ (จิงโจ้) และโคโค่ (โคอาล่า) ชวนคนเหงาซื้อตั๋วท่องเที่ยวจาก AirAsia

(ชมเบื้องหลัง) 

หรือน้าค่อมในชุดจิ้งจกกลับชาติมาเกิดจาก Car4Cash

Car4Cash – Dir.Teerapol (Ae) from Suneta House on Vimeo.

(ชมเบื้องหลัง) 

ก็ล้วนเป็นผลงานที่ BAAN MOCK UP ร่วมกันผลิต

พวกเขาถือเป็นกำลังสำคัญเบื้องหลังที่ขาดไม่ได้ แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก

ครั้งนี้ The Cloud เดินทางมาเยือนซอยพหลโยธิน 48 เพื่อให้เจ้าของกิจการเปลือยเบื้องหลังการทำงานแสนสนุก ท้าทาย และ ปวดหัวให้ฟัง เริ่มตั้งแต่สมัยที่ยังหาตัวเองไม่เจอ จนถูกดึงเข้าวงการโฆษณา ศึกษาระบบ Mechanic จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทำให้ทุกสิ่งขยับได้ราวกับมีชีวิต

กระทั่งถึงวันที่เตือนรุ่นน้องในวงการให้ ‘หนีไป’ หากใจยังไม่พร้อม

BAAN MOCK UP ความสนุกหลังจอของทีมงานผู้สร้างม็อกอัพ Mechanic ให้โฆษณามากกว่า 1,500 ตัว

01
เราเด็กบ้าน ๆ

บนโต๊ะทำงานท่ามกลางสถานที่เปิดโล่ง มีหัวตุ๊กตาสีดำ 5 หัวที่ยังไม่ได้คลุมขนสัตว์วางอยู่ พร้อมรีโมตควบคุมระยะไกล 5 ตัว เราหยิบมันขึ้นมาด้วยความซน เห็นแล้วอยากคัฟเวอร์เป็นเซียนรถบังคับในการ์ตูนสมัยเด็ก

“ตอนผมเด็ก ผมไม่ได้เล่นอะไรแบบนี้ เพราะไม่มีเงิน ส่วนตอนนี้ก็เล่นไปเลยสิ! เดี๋ยวผมต่อแบตเตอรี่ให้ดู”

เขาหาแหล่งพลังงานก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณฝ่ามือมาติดตั้งให้หัวม็อคอัพขยับได้ มันมีสายสีแดงระโยงระยางเต็มไปหมด เหมือนระเบิดที่เคยเห็นในหนังแอคชัน

บ่าวหยิบรีโมตขึ้นมาบังคับ เลื่อนคันโยกทางซ้าย ปากอ้าตามคำสั่ง เลื่อนคันโยกทางขวา หูกระดิก ตากะพริบตามประสงค์ นี่คือเวทมนตร์ของการช่างชัด ๆ

แต่กว่าเจ้าตัวจะก้าวมาถึงจุดที่ดลบันดาลให้กลไกทำงานได้อย่างไม่ติดขัด เส้นทางด้านเครื่องจักรกลของเขาเรียกว่าเริ่มจากศูนย์ ส่วนความเกี่ยวข้องกับวงการโฆษณาก็คงถึงขั้นติดลบ

BAAN MOCK UP ความสนุกหลังจอของทีมงานผู้สร้างม็อกอัพ Mechanic ให้โฆษณามากกว่า 1,500 ตัว

หนุ่มสงขลา บ้านอยู่หาดใหญ่ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกเพื่อร่ำเรียนปริญญาตรีสาขาวิชาจิตรกรรมที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หลังจบการศึกษา เขาเดินทางค้นหาตัวเองอยู่ 2 ปี รับจ้างสร้างม็อคอัพตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ทำงานให้ Simon Cabaret ที่เชียงใหม่และภูเก็ต รับหน้าที่เซ็ตฉากสุดอลังการรองรับนางฟ้าคาบาเรต์ พร้อมม็อคอัพประกอบฉากในธีมจีน อียิปต์โบราณ จนถึงกรีก-โรมัน ไหนจะทำภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่สายพันธุ์ไทยแท้เรื่อง เหยี่ยวพิฆาต ในยุคที่หนังแผ่นรุ่งเรือง ทำให้เขาได้พบพานกับหุ้นส่วนคนปัจจุบันอย่าง แชน-บริรักษ์ ชะบางบอน

หน้าที่ของเขาในวันนั้นคือการทำม็อคอัพชุดเกราะ หน้ากาก ปืน และดาบประกอบฉาก บ่าวอธิบายว่า พร็อพและม็อคอัพมีความต่างกันอยู่ โดยพร็อพหยิบยืมหรือซื้อมาได้ แต่ม็อคอัพคือสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นโดยเฉพาะ

“ตอนนั้นขอแค่มีงาน ใครจ้างก็ไปหมด ไม่คิดว่าจะมาถึงจุดนี้ ผมรับทำสัตว์ประหลาดช่วงแรกได้ตัวประมาณ 2,000 – 3,000 บาท พอเสร็จงานก็ไปกินเคเอฟซีกัน นั่นคือความฝันสูงสุดในตอนนั้น” เขาว่า

หลังหนังฉาย ยอดขายไม่เป็นไปตามที่ต้องการ จึงเกิดการเลิกจ้าง

ชีวิตของเขามาถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่เมื่อบ่าวและแชนรวมกลุ่มกันเป็นทีมในเวลาที่ประจวบเหมาะ เมื่อมีงานโฆษณาเข้ามา เขาหยิบภาพเก่าสีซีดจางมาให้ดู

“ภาพนี้ถ่ายตอนทำโฆษณาชิ้นแรกเป็นขบวนการ โจ๋ Ranger ของ DTAC ทางนั้นออกแบบมาให้เรียบร้อย หน้าที่ของเราคือ คิดว่าจุดไหนควรใช้วัสดุอะไร ฟองน้ำ ไฟเบอร์ แล้วทำให้เกิดขึ้นจริง

“ตอนที่เห็นโฆษณาที่ตัวเองทำครั้งแรกออกฉาย ดีใจมาก เพราะไม่เคยทำโฆษณามาก่อนเลยตั้งใจหาข้อมูลมหาศาลเพื่อศึกษาถึงสิ่งที่กำลังจะทำ เรียกว่าอิน แต่ตอนนี้มีไลน์ คนส่งข้อมูลให้มันก็สะดวกดี แต่เรายังตั้งใจทำให้ดีที่สุดเหมือนเดิม”

ก้าวเล็ก ๆ ของหน้าใหม่ในวันนั้น กลับกลายเป็นก้าวสำคัญที่ผลักพวกเขาขึ้นมาเป็นเบอร์ต้น ๆ ของวงการในวันนี้ จากงานที่ได้มาเพราะการบอกเล่าปากต่อปาก อินเทอร์เน็ตทำให้กิจการเหล่านี้ไม่ถูกลืมเลือน หลังจากนั้นบ่าวก็ไม่ได้ออกจากวงการอีกเลย

BAAN MOCK UP ความสนุกหลังจอของทีมงานผู้สร้างม็อกอัพ Mechanic ให้โฆษณามากกว่า 1,500 ตัว
บ่าวและแชนทำงานโฆษณาชิ้นแรก โจ๋ Ranger จากค่าย DTAC

02
เราผลิต

สิ่งหนึ่งที่เห็นหลังเลื่อนดูผลงานที่เพจ BAAN MOCK UP คือความจริงที่พวกเขาผลิตงานออกมาอย่างมากมายและหลากหลาย อธิบายให้เห็นภาพได้ว่า มีตั้งแต่ช่องปากขยับได้ยันห้องคนขับเครื่องบิน ไดโนเสาร์ยันหมีแพนด้าร้องไห้ เอเลี่ยนยันพระพุทธรูป ไหนจะรับงานเย็บผ้าจนถึงสร้างหน้าผาจำลอง ทำโมเดลบ้าน งานปั้น งานไฟเบอร์ พ่นสี แกะโฟม เซ็ตฉาก บอดี้เพนต์ ทำชุด ตีกำแพง แกะลาย และ ย้อมผนัง

ทำเบื้องหลังขาย ตั้งแต่สินค้ายันหยาดเหงื่อของคนทำ

“ทั้งเหนื่อย ทั้งเครียด แต่ความท้าทายคือความสนุก งานจะดีถ้าเราสนุกไปกับมัน” นั่นคงเป็นเหตุผลที่ชายคนนี้ไม่ลาออกจากวงการเสียที เพราะเขาหลงรักในสิ่งที่ตนเองอยู่ด้วยตลอดเวลา

รายชื่อลูกค้าที่เคยใช้บริการทั้งทางตรงและผ่านเอเจนซี่ ไม่ว่าจะเป็น Shabushi, Daikin, Cannon, Dairy Queen, Mistine, SHERA, Amazon, Cathy Doll, Subaru, Tipco, Clinique, Heineken, Swensen’s, ยำยำ, เย็นเย็น, สก๊อต, โออิชิ, นมตราหมี, คามิลโลซาน, เถ้าแก่น้อย, ฟาร์มเฮ้าส์, นันยาง และอื่น ๆ อีกมากกว่า 1,500 ตัว คือเครื่องการันตีความช่ำชองและคร่ำหวอดในวงการ

ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าเริ่มปุ๊บจะเก่งปั๊บ บ่าวเล่าว่า โมเมนต์ที่โดนลูกค้าด่าก็มีเยอะ ผู้กำกับไม่พอใจก็มีแยะ ไหนจะบรีฟเอี้ยที่โผล่มานาน ๆ ครั้ง แต่ก็ทำเอาปวดหัวทุกรอบ

“ก็เจอบ้างที่คนในกองเขาไม่ได้คุยกันมาก่อน บางคนอยากได้อย่างหนึ่ง อีกคนอยากได้อีกอย่าง พอเราแก้งานไปมันก็ไม่จบ เพราะต้องแก้ไปแก้มา แต่สุดท้ายงานเหล่านั้นก็ผ่านมาได้ มันคือประสบการณ์”

(ชมเบื้องหลัง)

ชีวิตเกือบ 20 ปีในวงการโฆษณาทำให้เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของโฆษณาเอง จากมาสคอตมากหน้าหลายตาและลูกเล่นที่ทำให้ผู้ชมยอมนั่งดูไม่เปลี่ยนช่องไปไหน กลับกลายเป็นการมองหาปุ่ม Skip ที่ซ่อนอยู่ตามมุมของจอมือถือ

“มันสนุกต่างกัน มาสคอตยุคนั้นทำให้เราจดจำ ยกตัวอย่าง หนอนชิเมโจได๋ เป็นงานของรุ่นพี่ที่รู้จัก เขาคือคนที่ใช้เซอร์โวมอเตอร์เป็นคนแรก พอหลัง ๆ มีคนรู้ว่าใช้วิธีไหน เขาก็ไปศึกษาแล้วก็ทำตาม ตัวผมเองก็ศึกษาจริงจังมาประมาณ 5 – 6 ปีแล้ว”

อธิบายให้ฟังโดยง่าย เซอร์โวมอเตอร์ (Servo Motor) คือส่วนสำคัญของการทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในงาน Mechanic ที่บ่าวและทีมงานภูมิใจนำเสนอ พวกเขานำสิ่งที่เรียกว่าเซอร์โวเข้าไปติดตามจุดที่อยากให้เกิดการเคลื่อนไหวในตัวม็อคอัพ เช่น กะพริบตา สั่นหู ขยับปาก ซึ่งเซอร์โวมีพลังความแรงและความทนเพิ่มขึ้นตามราคา ตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักหมื่น โดยทำหน้าที่เป็นจุดส่งพลังงานไปยังกล้ามเนื้อให้ขยับไปมาตามที่ควบคุมผ่านรีโมต ไม่ต่างจากการบังคับรถหรือเครื่องบินของเล่น

BAAN MOCK UP ความสนุกหลังจอของทีมงานผู้สร้างม็อกอัพ Mechanic ให้โฆษณามากกว่า 1,500 ตัว

“เราต้องคิดทั้งหมดว่าจะใช้เซอร์โวกี่ตัว แรงขนาดไหน ติดตรงไหนบ้าง งานที่ง่ายคือม็อคอัพที่ไม่มีคนอยู่ในนั้น เพราะจะติดเซอร์โวตรงไหนก็ได้ แต่ท้าทายหน่อยถ้าต้องทำให้คนสวมใส่ เช่น หน้ากาก เพราะพื้นที่ด้านในเหลือน้อยลง เลยต้องหาที่ติดที่พอดี อย่างไดโนเสาร์ตัวนี้” 

เรามองไปที่ไดโนเสาร์ที-เร็กซ์ตัวหนึ่งที่เก็บไว้นานจนฝุ่นเกาะ นั่นคือผลงานชิ้นแรกและชิ้นใหญ่ที่สุดที่บ่าวเคยทำ 

“จริง ๆ มี 2 ตัว อันนี้เป็นงานของ Colgate ประเทศอินเดีย มาจ้างคนไทยทำ แต่เอาไปฉายที่อินเดีย ที่เป็นแบบนั้นเพราะคนไทยฝีมือดีมากและค่าจ้างถูก ตอนเขาเห็นผลงานเขาก็ว้าวนะ แค่หัวไดโนเสาร์ติดเซอร์โวไป 6 ตัว เพราะต้องใช้แรงขยับมาก แต่ชิ้นนี้ใช้ทั้งกลไกและมีคนอยู่ข้างในเพื่อให้ไดโนเสาร์เดิน ถ้าใช้ Mechanic ทั้งหมดราคาจะแรงเกินไป นี่ราคาขนกลับอินเดียก็แพง เขาเลยเอาไว้ที่นี่

“นอกจากต้องคำนวณพลังเซอร์โวให้พอต่อการขยับแล้ว ต้องคำนึงด้วยว่า พอติดผิวหนังชั้นนอกหรือพวกขนสัตว์ลงไป จะมีแรงต้านที่ทำให้การขยับติดขัดหรือไม่ จากที่อ้าปากได้ 90 องศา พอติดขนปุ๊บอาจจะรั้งกลไกจนอ้าได้น้อยลง ก็ต้องดูจนกว่าจะเคลื่อนไหวได้สมบูรณ์”

(ชมเบื้องหลัง)

เราถามเขาว่าเรื่องเครื่องยนต์กลไกและไฟฟ้าต้องไปเรียนเพิ่มหรือไม่ เพราะดูไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานจิตรกรรมสักเท่าไหร่ คำตอบแรกของเขาคือ ต้องเรียนเพิ่ม ไม่น่าแปลกใจ แต่ส่วนขยายที่บอกว่า เรียนเองโดยไม่มีใครสอนและใช้วิธีครูพักลักจำมา คือสิ่งที่ทำให้เราอึ้ง

“สมัยก่อนมีพี่ในทีมคนหนึ่งที่ทำเรื่อง Mechanic ตัวผมเองมีความสนใจอยู่แล้วก็เลยดู ๆ เขาทำ ช่วงแรกรับงาน ถ้าทำไม่เป็นก็ไปจ้าง พอมียูทูบเข้ามาก็เปิดดู เรียนรู้เอาเอง ผมว่ามันเป็นความใส่ใจในรายละเอียด ทำให้งานของเราพัฒนาขึ้นตลอด 15 ปีที่ผ่านมา”

ความสนใจเรียนรู้ของบ่าวเพิ่มพูนจนถึงขั้นดูหนังไม่สนุก เพราะต้องคอยนั่งมองว่านั่นคือ CG หรือม็อคอัพ แล้วถ้าม็อคอัพเริ่ดจนเหมือน CG ทีมงานเบื้องหลังทำได้อย่างไร เขาต้องมานั่งถอดรหัสจนไม่มีเวลาเพลิดเพลินกับเนื้อเรื่องใด ๆ แต่ถึงอย่างนั้น ภาพยนตร์ก็คือตัวกลางที่ทำให้เขาได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของเจ้าพ่อเทคนิคพิเศษ สแตน วินสตัน (Stan Winston) ผู้สร้าง Animatronic Dinosaur (ไดโนเสาร์ที่เคลื่อนไหวได้) อย่าง T-rex robot ในภาพยนตร์เรื่อง Jurassic Park (1993)

“สแตน วินสตัน คือปรมาจารย์ เป็นเทพ งานของเขาคือที่สุด เราเทียบชั้นไม่ได้ตั้งแต่เรื่องอุปกรณ์ แต่เราก็ให้เขาเป็นอาจารย์เพื่อพัฒนาตัวเอง” ศิษย์จากแดนไกลกล่าว

เบื้องหลังงานม็อกอัพโฆษณามากกว่า 1,500 ตัวของ 'BAAN MOCK UP' ที่หมายมั่นให้ช่างฝีมือทุกคนทำได้ทุกตำแหน่ง

03
CG vs Mock up

สำหรับบ่าว หากเขาต้องการความท้าทายในชีวิตคงไม่ต้องไปกระโดดบันจี้จัมพ์หรือปีนผา เพราะงานโฆษณาคือสิ่งที่ท้าทายชีวิตไม่เคยเปลี่ยน และกราฟของมันก็ไม่แปรผันตามงบที่ลดลงทุกปี จากงบ 7 หลักในยุครุ่งเรือง สู่สภาวะงบน้อย แต่งานต้องได้เหมือนมีงบหลักล้าน

อย่างไรก็ตาม บ่าวเชื่อว่าทุกอย่างมีขึ้นย่อมมีลง หมุนวนเป็นวงจร สักวันงานโฆษณาอาจมีเม็ดเงินสะพัดเหมือนเมื่อสิบกว่าปีก่อน

“กลไกทำให้งานสมจริงมากขึ้น แต่สมัยนี้ลูกตาก็อาจจะไปทำ Post Production เอา ถ้าเขาใช้ CG ทั้งหมดแน่นอนว่าแพงมาก เป็นล้าน เวลาเราตีราคาม็อคอัพ ทำ Body อย่างเดียวไม่มีกลไกอาจจะหลักหมื่น พอใส่เซอร์โวเป็นหลักแสน ลูกค้าก็เลือกได้ว่าเอาอะไรบ้าง

“ในเมืองไทย CG นำห่างไปเยอะ แต่ของเมืองนอก CG และม็อคอัพเป็นงานที่ทำไปควบคู่กัน CG จะมาแทนงานม็อคอัพที่มันหนัก เดินวิ่งเองไม่คล่องตัว ส่วนของไทยจัดกราฟิกไปอย่างเดียวเลย ในแง่การแสดงบางทีก็ลำบาก เพราะเขาต้องใช้จินตนาการเยอะมาก หากเขามีม็อคอัพใส่ก็เหมือนเขาแต่งตัวเพื่อทำให้สมบทบาท ความโดดเด่นของมันจึงอยู่ที่จับต้องได้และราคาถูก”

บ่าวเล่าต่อว่า ความท้าทายของงานมักเพิ่มขึ้นเมื่อได้โจทย์เป็นการสร้างเหล่าสรรพสัตว์ เพราะสิ่งสำคัญคือ ‘ความเหมือน’ แต่สัตว์เครื่องยนต์จะไปสู้สัตว์จริงได้อย่างไร เขาจึงต้องฝึกฝนวิชาตาเปลือยให้มองสัตว์หน้าขนเป็นเนื้อเปล่าแบบไม่มีขนให้ได้

เบื้องหลังงานม็อกอัพโฆษณามากกว่า 1,500 ตัวของ 'BAAN MOCK UP' ที่หมายมั่นให้ช่างฝีมือทุกคนทำได้ทุกตำแหน่ง

“ต้องดูเพื่อให้รู้ว่ากล้ามเนื้อขยับอย่างไรจะได้ทำให้เหมือน งานสัตว์ต้องใช้เวลาเยอะ แต่พอได้เวลาน้อยต้องหาทางแล้วว่าทำอย่างไรให้ใกล้เคียงที่สุด ไปดูสัตว์จริงบางทีไม่มีให้ดู เราต้องไปดูในเว็บเอาว่ามันขยับอย่างไร แต่ความยากคือในวิดีโอจะเคลื่อนไหวและเราไม่ได้ปั้นทั้งขน เราต้องถอดขนเพื่อปั้นโครง ผมก็มองว่าหน้าสุนัขเป็นแบบนี้ ถ้าไม่มีขนจะเป็นอย่างไร การขยับเป็นอย่างไร”

เมื่อไปถึงหลังม่าน สิ่งต่อไปที่ต้องทำคือ ให้นักแสดงจัดท่าทางให้สมกับเป็นสัตว์ โดยต้องเล่นใหญ่กว่าปกติเพื่อให้อินเนอร์ส่งผ่านขนหนาที่สวมอยู่

“จิ้งจกคือสิ่งที่เล็กที่สุดที่เคยทำ อยู่ในโฆษณาที่น้าค่อมเล่น นอกนั้นก็มีแพนด้า หมีกริซลี่ คิงคอง สิงโต หมาป่า เสือ ไดโนเสาร์ จิงโจ้ โคอาล่า หนอน ม้าลาย สัตว์ประหลาดแบบ Stranger Things ก็เคยทำ งานซีรีส์สัตว์ทะเล เต่า ปลา ก็มี มันเหมือนจริงขนาดที่ทีมงานอุ้มเอาขึ้นรถแล้วตำรวจหรือพนักงานรักษาความปลอดภัยเข้ามาดู เพราะคิดว่าเราเอาสัตว์ทะเลกลับบ้าน (หัวเราะ)”

การเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรอบด้านตั้งแต่ทุนจนถึงทักษะ จากการแกะโฟมด้วยมือก็หันไปใช้ CNC (Computer Numerical Control) เครื่องจักรกลอัตโนมัติที่ทำให้ค่าแกะถูกลงและได้งานเร็วกว่า รวมถึงใช้ 3D Print ที่ผลลัพธ์นำไปใช้งานได้เลย เรียกว่าตอบโจทย์มากกว่าคนทำเอง 

แต่ขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็ทำให้งานโฆษณาน้อยลง งานม็อคอัพน้อยลง บ่าวจึงต้องเตรียมทางออกอื่นไว้ให้ตนเองและทีมด้วย หนึ่งในนั้นคือการสร้างหัวสิงโตแขวนผนังขยับได้

“สิ่งที่ทำให้เราอยู่ได้ คือสิ่งที่เทคโนโลยียังทำไม่ได้ เช่น CG ทำให้ภาพขยับ แต่จับต้องไม่ได้ ถ้ายังต้องการแบบที่จับต้องได้ก็เป็นหน้าที่ของเรา”

งาน Mechanic ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว กลไกใหม่เกิดขึ้นด้วยความคิดของคนที่อยากเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ยกตัวอย่าง ลามะตัวขนขาวปุกปุยจากแอปพลิเคชัน Klook เป็นการผสมรวมระหว่างแรงยนต์กับแรงคน บ่าวคิดสิ่งนี้เพื่อเป็นทางออกให้กับโฆษณาหลายตัว

“ตราบใดที่ยังไม่หยุดคิดก็ไปต่อได้อีก”

(ชมเบื้องหลัง)

04
หนึ่งคนทำได้ทุกอย่าง

กระบวนการทำงาน 1 ชิ้นเริ่มต้นจากการรับบรีฟ ต่อยอดไปยังวิธีการทำ การคัดเลือกวัสดุ การปั้น การหล่อโฟมด้านใน การวางกลไก และเก็บรายละเอียด ซึ่งทุกขั้นตอน ‘ยาก’ หมด หัวใจสำคัญจึงเป็น ‘ความใส่ใจ’ และ ‘ความอดทน’ ตั้งแต่ต้นจนจบ

“ตอนแรกแกะโฟม เราแกะไปให้มันออกมาเฉย ๆ แต่ระหว่างนั้นเราสังเกตว่าโค้งแบบไหน ลงมีดอย่างไร งานต่อไปคือการต่อยอดเพื่อพัฒนา มันทำให้เราเป็นคนละเอียดขึ้น

“พองานใช้เวลานานในการทำ เครียดด้วย ผมเลยได้ของแถมมาจากงานคือ เส้นเลือดในสมองตีบ ตอนนี้ต้องกินยา”

นอกจากตัวเขาคนเดียวที่ต้องดูแลทุกขั้นตอน พนักงานทุกคนที่นี่ต้องทำได้ทุกหน้าที่ ไม่ใช่แค่ทำ Mechanic อย่างเดียว โดยจุดประสงค์ที่อยากไปให้ถึง คือการที่ทุกคนมีความรู้รอบด้าน ยิ่งรู้เยอะ ยิ่งมีความละเอียดและความเข้าใจ ซึ่งถือเป็นความสามารถที่ติดตัวไปตลอด 

ส่วนผลลัพธ์ของการสอนงานในปัจจุบัน คือเขามีช่างฝีมือที่ช่วยกันแบ่งเบาภาระงานได้

BAAN MOCK UP ความสนุกหลังจอของทีมงานผู้สร้างม็อกอัพ Mechanic ให้โฆษณามากกว่า 1,500 ตัว
เบื้องหลังงานม็อกอัพโฆษณามากกว่า 1,500 ตัวของ 'BAAN MOCK UP' ที่หมายมั่นให้ช่างฝีมือทุกคนทำได้ทุกตำแหน่ง

“จำนวนคนขึ้นอยู่กับสเกลงาน แต่ละคนมีหน้าที่ที่ดูแล ผมดูแลทุกอย่าง คิดวิธีการทำ ใส่เซอร์โว ดูคนปั้นว่าปั้นได้อย่างที่ต้องการไหม ส่วนพี่แชน เราเรียนห้องเดียวกันตอนปริญญาตรี เขาดูแลทุกอย่างแทนผมได้ หรืองานทำสี ก็ต้องช่วยกันดูว่าตรงกับที่ลูกค้าอยากได้ไหม งานทุกตำแหน่งสำคัญหมด ปั้น ลงสี เรซิ่น ไฟเบอร์ ต่อวงจร พอต่อเสร็จใส่ขน ต้องเป็นช่างตัดขน ต่อมาต้องเป็นช่างทำสี ทำไปจนจบ

“เราคิดว่าทำแล้วต้องทำให้ดี ดีตามที่ลูกค้าต้องการและใจเราอยากให้เป็น งานต้องใกล้เคียงความจริง 100 เปอร์เซ็นต์ หากไม่ดีแปลว่ามีข้อจำกัดหลายอย่าง อาจจะด้วยราคาหรือเวลา แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลของการไม่ทำให้เต็มที่ สำหรับผมต้องทำให้ดีที่สุด”

ความสนุกของเขาคือการคาดเดาไม่ได้ว่าวันไหนจะได้รับโจทย์อะไร แต่ละงานไม่เหมือนกัน ยกเว้นบางขั้นตอนที่ใช้ทักษะเดิม 

“การทำงานต้องใจเต้นตลอดเวลา คิดว่าจะทำอย่างไรให้ผ่านไปได้ เนื่องจากทุกอย่างมีข้อจำกัดในตัว ทุกวันนี้ก็ยังทำงานด้วยใจเต้น เพราะถ้าไม่เต้นก็คงตาย”

BAAN MOCK UP ความสนุกหลังจอของทีมงานผู้สร้างม็อกอัพ Mechanic ให้โฆษณามากกว่า 1,500 ตัว

05
จากหลังบ้านถึงหลังกอง

งานกำหนดสีหน้า อารมณ์ ท่าทาง คือหน้าที่ของผู้กำกับ หากถามว่าพวกเขาใส่ความเป็นตัวเองลงไปในผลงานบ้างไหม บ่าวตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า

“ใส่ไม่ได้ สิ่งเดียวที่ใส่ได้ คือใส่ใจในรายละเอียด”

หลังผลิตชุดเสร็จ งานไม่เสร็จตามนั้น ทีมงานต้องพร้อมสแตนบายด์ที่กองถ่ายเพื่อดูแลชุดและกลไก

“ผมก็ไม่รู้ทำไม แต่สมัยก่อน Mechanic มีปัญหาหน้ากองบ่อย เซอร์โวพังบ้าง ข้อต่อหลุดบ้าง มันกลัวผู้กำกับ เราใช้เล่นกันเองไม่มีปัญหา พอเจอผู้กำกับเท่านั้นแหละ แอ๊ะ! พัง!

“ตอนนี้ดี เพราะไม่ได้จ้างคนนอกทำ พอทำเองก็เห็นว่าจุดอ่อนคืออะไร เอาของดีใส่แทน แก้ไขได้ ปัญหาเลยไม่ค่อยเกิด” เจ้าของกิจการพยายามเล่าเสียงดังเพื่อสู้เสียงเครื่องมือที่ดังกว่าจากพนักงานคนหนึ่งซึ่งกำลังไสอะไรบางอย่างอยู่

“ช่วงแรกที่ทำงานก็เคยมีความผิดพลาดครั้งใหญ่ เราทำงานเสร็จแล้วแต่พอไปถึงหน้างานกลับใช้ไม่ได้ ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ นั่นคือครั้งแรกและครั้งเดียว

“ถามว่าแก้ปัญหายังไง เขาต้องเลื่อนถ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ผมโดนด่า ตอนนั้นอายุ 26 – 27 ตอนนี้ 43 แล้ว เมื่อก่อนเข้ากองต้องยกมือไหว้เขา ตอนนี้เข้ากองมีแต่คนยกมือไหว้

“ไม่ได้เก่งนะครับ แค่แก่” 

เขาเล่นมุก แต่เราเชื่อว่าความผิดพลาดครั้งสำคัญคือสิ่งที่ทำให้เขาเติบโต ประสบการณ์จึงกลายเป็นชื่อเสียง หาใช่ชื่อเสีย

BAAN MOCK UP ความสนุกหลังจอของทีมงานผู้สร้างม็อกอัพ Mechanic ให้โฆษณามากกว่า 1,500 ตัว

ความโดดเด่นของ BAAN MOCK UP นอกจากความเชี่ยวชาญที่ได้ดูแลโฆษณามามากกว่า 1,500 ชิ้น เฉลี่ย 10 ชิ้นต่อเดือน ตลอด 15 ปี มีบ้างที่ได้เวลานอนพักเพราะติดปัญหาโควิด-19 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทีมงานของพวกเขามีคุณภาพล้นเหลือ ราคาไม่แรง ถูกและดีมีที่นี่

จากงานภาพยนตร์และโฆษณาที่เคยรับมา เขาเล่าความต่างให้ฟังว่ามันอยู่ที่ความคาดหวังและการตามงานของลูกค้า ซึ่งงานประเภทหลังมีรายละเอียดเยอะกว่าทั้งจากฝั่งผู้กำกับและผู้จ้าง บางครั้งเวลาที่ตกลงกันไว้ก็กระชั้นกว่าที่คิด แต่นั่นไม่เป็นอุปสรรค เราต้องจัดไปอย่าให้เสีย

“เวลาทำโดยประมาณไม่เกิน 20 วัน น้อยสุดก็ 10 วัน บางทีก็ 7 วัน บางครั้งรับงานหลายทอด เขาต้องไปขายงานให้ผ่าน ต้องคุยกับหลายฝ่าย งานเลยมาถึงเราช้า หลัง ๆ เรารับงานโดยตรงก็มีเวลาเพิ่มหน่อย

“One Night Miracle ก็มีเหมือนกันนะ (หัวเราะ) โต้รุ่งยันสว่าง แต่อันนี้เกิดขึ้น เพราะตอนนั้นเพิ่งเข้าวงการ ยังจัดเวลาไม่ถูก กะเวลาไม่เป็น ถูกเขาด่า แถมยังอดนอน แต่ตอนนี้เราสั่งสมประสบการณ์มานาน รู้แล้วว่างานชิ้นไหนต้องใช้เวลากี่วัน วางแผนได้ว่าแต่ละวันจะทำอะไร”

BAAN MOCK UP ความสนุกหลังจอของทีมงานผู้สร้างม็อกอัพ Mechanic ให้โฆษณามากกว่า 1,500 ตัว

ในวันที่ชายหนุ่มเพิ่งเริ่มทำงาน มีรุ่นพี่ในวงการที่อายุมากกว่าเขาเป็นสิบปีอยู่นับสิบเจ้า ประสบการณ์ที่สั่งสมมาก็เยอะกว่า แต่ด้วยงานกดดันทุกเวลาและทุกงาน คนเคยรู้จักจึงเริ่มเปลี่ยนอาชีพไป

“น้องที่เข้าวงการมา แน่นอนว่าไม่มีใครทำเป็นมาตั้งแต่เกิด มันอยู่ที่ว่ารับแรงกดดันได้ขนาดไหน เราต้องจมไปกับงาน วันทั้งวันต้องทำงาน มันขนาดนั้นเลย จึงกลายเป็นความกดดัน ผมเลยบอกว่า หนีไป อย่าหลงทางเข้ามา แต่ตัวผมไม่ได้หลงผิดเข้ามานะ ผมตั้งใจเข้ามาเพราะรักสิ่งที่ทำ

“ถ้าจะหมดไฟก็เพราะสั่งสมความกดดันมาตลอด ต่อให้มีแนวทางอื่นที่ทำได้ก็ยังต้องรับงานม็อคอัพบ้าง แค่ความกดดันมันจะหายไป ผมไม่รู้ว่าจะทำไปอีกกี่ปี แต่คิดไว้ว่าจะทำต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะไม่มีงานให้ทำ

“เพราะความกดดันจากงานทำให้ผมมายืนอยู่จุดนี้”

ปัจจุบัน BAAN MOCK UP ยังคงรับงานทั่วราชอาณาจักร ทั้งงานโฆษณา รายการโทรทัศน์ ช่องยูทูบ พวกเขาคือเบื้องหลังที่ทำงานหนักไม่แพ้เบื้องหน้า เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้เป้าหมายเข้าใกล้ความสมบูรณ์และทำให้โฆษณาเป็นที่จดจำ

ทั้งหมดคือโลกหลังม่านที่คนดูไม่จำเป็นต้องรู้จัก แต่ถ้าได้รู้จักรับรองว่าคุณจะลืมไม่ลง

เบื้องหลังงานม็อกอัพโฆษณามากกว่า 1,500 ตัวของ 'BAAN MOCK UP' ที่หมายมั่นให้ช่างฝีมือทุกคนทำได้ทุกตำแหน่ง

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ