ไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนคลับโรงแรมดุสิตธานีหรือไม่ ข่าวการเปิด ‘บ้านดุสิตธานี’ พื้นที่ใหม่ในบ้านหลังเก่าย่านศาลาแดงน่าจะทำให้ชาวกรุงเทพฯ ดีใจมาก

จู่ๆ กลางย่านธุรกิจก็ปรากฏพื้นที่สีเขียวแสนสวยไว้พักผ่อนหย่อนใจ พร้อมร้านอาหาร คาเฟ่ ฟลอร์เต้นรำ และบาร์สวยข้างสระว่ายน้ำเสร็จสรรพ แถมอยู่ห่างจากโรงแรมดุสิตธานีเดิมเพียงระยะเดินถึง มองเห็นยอดแหลมสีทองที่คุ้นเคยได้ถนัดตา

บ้านสีขาวแสนสวยบนถนนศาลาแดงนี้เดิมชื่อ ‘บ้านศาลาแดง’

คุณสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ ซื้อบ้านหลังนี้ต่อจากเศรษฐีชาวฮ่องกงในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านหลังนี้จึงมีอายุอย่างน้อยราวๆ 80 ปี ออกแบบเป็น Fachwerk House โดยสถาปนิกชาวเยอรมัน พื้นที่ทั้งหมด 4.5 ไร่ ประกอบด้วยบ้าน 2 หลัง มีสนามหญ้า สนามเทนนิส และสระว่ายน้ำ

บ้านศาลาแดง

คุณสวัสดิ์ตั้งใจทำให้บ้านศาลาแดงเป็นคลับเฮาส์ของครอบครัว

ในอดีต กรุงเทพฯ มีสนามเทนนิสเพียง 4 สนาม ทุกที่เป็นสนามหญ้า มีเพียงบ้านศาลาแดงที่เป็นสนามคอนกรีต หากฝนตก ทุกคนต้องมาเล่นกีฬาที่นี่ เป็นกุศโลบายให้ญาติสนิทมิตรสหายมารวมตัวกัน โดยปัจจุบัน พื้นที่สนามถูกดัดแปลงเป็นลานจอดรถ 

บ้านศาลาแดง
บ้านศาลาแดง

บ้านศาลาแดงถูกปิดมานานเกือบ 40 ปี หลังจากที่ประมุขของบ้านเสียชีวิต ไม่มีใครอาศัยอยู่ต่อ แต่ทายาทก็ดูแลรักษาไว้ตลอด ต่อมาดุสิตธานีเช่าบ้านศาลาแดงเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยฟื้นฟูอาคารทั้งหมดให้อยู่ในสภาพดีใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด ขณะเดียวกันก็ตบแต่งอย่างสวยงาม บางส่วนถูกกะเทาะและปล่อยเปลือยให้เห็นโครงสร้างดิบเท่ ให้จิตวิญญาณของคฤหาสน์เก่าแก่และตัวตนของดุสิตธานีได้เฉิดฉายเคียงคู่กัน จนกว่าโครงการดุสิตธานีเซ็นทรัลพาร์คซึ่งเป็นกลุ่มอาคาร Mixed Use จะเสร็จสิ้น 

Dusit Gourmet

Dusit Gourmet
Dusit Gourmet

ส่วนด้านหน้าของบ้านคือ Dusit Gourmet คาเฟ่ที่กำลังป๊อปสุดๆ เปิดตั้งแต่ 7 โมงถึง 5 ทุ่มทุกวัน ตอนเช้าเปิดเป็นคาเฟ่ ร้านอาหารเบาๆ และเบเกอรี่ ส่วนตอนกลางคืน เคาน์เตอร์ขนมก็ปรับเป็นบาร์ได้ ซึ่งคนอุ่นหนาฝาคั่งตลอดทั้งวันธรรมดาและวันหยุด เนื่องจากนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาเที่ยวได้ด้วย มีทั้งพนักงานดูแล แถมมีเมนูอาหารสุนัขและแมวใส่จานพร้อมสรรพให้เลือกกินได้อร่อยพร้อมเจ้านาย เป็นพื้นที่ใจกลางเมืองที่ต้อนรับคนรักสัตว์

Dusit Gourmet
Dusit Gourmet

เดิมเป็นบ้านหนุ่มโสดที่ คุณสุรินทร์ โอสถานุเคราะห์ เจ้าของบ้านคนปัจจุบัน ผู้เป็นลูกชายของคุณสวัสดิ์ ปลูกแยกมาอยู่เองนอกเรือนหลักหลังกลับมาจากเรียนหนังสือที่เมืองนอก ทีมงานเก็บลักษณะสถาปัตยกรรมเดิมไว้ทั้งหมด แต่เติมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของโรงแรมดุสิตธานี เช่น ผนังกระเบื้องโมเสกสีเขียวที่ถอดแบบมาจากฟาซาด (Façade) ดั้งเดิม ซึ่งใช้กระเบื้องปีกแมลงทับกับทองคำแท้ นอกจากนี้ ยังมีโคมไฟ รูปถ่ายเก่าของโรงแรม ไปจนถึงตัวจับราวบันไดห้องนภาลัยที่กลายเป็นชิ้นส่วนประดับผนัง ถ้าอยากเห็นภาพเก่าของบ้านหลังนี้ก่อนรีโนเวต หน้าห้องน้ำที่สวยเก๋มีภาพอยู่เพียบ

Dusit Gourmet

ไกรทองและชาละวัน

กลางสนามหญ้าด้านหน้ามีประติมากรรมไกรทองและชาละวันกลางสระบัว เดิมจุดนี้เป็นหลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสิ้นสุดสงคราม เจ้าของบ้านจึงสั่งทำรูปหล่อชาละวันกับไกรทองมาปิดทางเข้าหลุมหลบภัย

บ้านดุสิตธานี : คาเฟ่ ร้านอาหาร และบาร์ ในบ้านเก่าเกือบร้อยปีใจกลางศาลาแดง

ทางดุสิตธานีมีไอเดียเปลี่ยนหลุมหลบภัยเป็นห้องเก็บไวน์และชิมไวน์ สุดท้ายก็ล้มเลิกไป แต่สนามหญ้านี้พร้อมรองรับกิจกรรมหลายอย่างที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

Pool Bar

ถัดจาก Dusit Gourmet มีสระว่ายน้ำและบาร์กลางแจ้งที่จะเปิดในยามค่ำคืน มีดนตรีสดเบาๆ และพื้นที่สูบซิการ์กลางแจ้งที่บรรยากาศโปร่งสบาย ไม่ต้องสูบในห้องให้ต้องกลับบ้านไปสระผม ชาวดุสิตธานีแอบกระซิบว่า สมัยก่อนที่นี่มีสระว่ายน้ำอยู่แล้ว เพราะคุณสวัสดิ์จ้างครูจาก YMCA มาสอนว่ายน้ำให้ลูกหลานในบ้าน

บ้านดุสิตธานี : คาเฟ่ ร้านอาหาร และบาร์ ในบ้านเก่าเกือบร้อยปีใจกลางศาลาแดง

เบญจรงค์

บ้านดุสิตธานี : คาเฟ่ ร้านอาหาร และบาร์ ในบ้านเก่าเกือบร้อยปีใจกลางศาลาแดง

ห้องอาหารไทยเบญจรงค์ พระเอกของโรงแรม สถิตอยู่ในบ้านหลังใหญ่ และคงเอกลักษณ์ความเป็นไทยไว้อย่างดี โครงสร้างบ้านหลักๆ รีโนเวตจากแบบเดิมทั้งหมด แต่ตกแต่งด้วยโทนสีเขียวฟ้าหม่นและแดงตุ่นๆ ผนังแต่งลวดลายที่ลอกมาจากเสาเอก 2 ต้น ขนาดต้นละ 5 ตัน ในห้องอาหารเดิมของโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งเป็นจิตรกรรมไทยร่วมสมัยฝีมือ ท่านกูฏ หรือ อาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฎ ศิลปินศิษย์เอกของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เสา 2 ต้นนี้คือสมบัติล้ำค่าที่ชาวดุสิตธานีหวงแหน และตัดเก็บรักษาไว้เพื่อนำไปประดับในโรงแรมดุสิตธานีโฉมใหม่ในอีก 4 ปีข้างหน้า

บ้านดุสิตธานี : คาเฟ่ ร้านอาหาร และบาร์ ในบ้านเก่าเกือบร้อยปีใจกลางศาลาแดง
บ้านดุสิตธานี : คาเฟ่ ร้านอาหาร และบาร์ ในบ้านเก่าเกือบร้อยปีใจกลางศาลาแดง

ภายในตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์เดิมของโรงแรม บางชิ้นมาจากห้องอาหารเบญจรงค์ เช่น แจกันดอกไม้ทรงสูง ถ้วยเบญจรงค์ นกเป็ดน้ำแกะสลัก หรือภาพวาดห้องอาหาร บางชิ้นมาจากห้องอื่นๆ อย่างเครื่องเล่นแผ่นเสียงปากแตรแสนวินเทจจากห้อง Library 1918 

ห้องอาหารนี้มี 37 ที่นั่ง แต่จุคนได้เต็มที่จริงๆ ถึง 70 คน ส่วนชั้น 2 จัดเป็นพื้นที่จัดประชุม เลี้ยงอาหาร หรือจัดงานแบบส่วนตัวก็ได้

ศาลาเต้นรำ

บ้านดุสิตธานี : คาเฟ่ ร้านอาหาร และบาร์ ในบ้านเก่าเกือบร้อยปีใจกลางศาลาแดง

ใครเกิดไม่ทันบับเบิ้ลส์คลับ ฟลอร์เต้นรำสุดเปรี้ยวที่ดุสิตธานี ก็ไม่ต้องห่วง เพราะ Dancing Hall กลับมามีชีวิตอีกครั้งในศาลาเต้นรำ ซึ่งเป็นเรือนไม้อเนกประสงค์ด้านหลัง ศาลานี้อยู่ติดกับเรือนพักคนงาน จะจัดงานเลี้ยงพระ งานหมั้น งานแต่งงาน ก็ทำได้ทั้งหมด 

เธียนดอง

บ้านดุสิตธานี : คาเฟ่ ร้านอาหาร และบาร์ ในบ้านเก่าเกือบร้อยปีใจกลางศาลาแดง
บ้านดุสิตธานี : คาเฟ่ ร้านอาหาร และบาร์ ในบ้านเก่าเกือบร้อยปีใจกลางศาลาแดง

ร้านอาหารเวียดนามด้านหลังที่เพิ่งเปิดเป็นลำดับสุดท้าย ปรับจากโกดังยาทัมใจของตระกูลโอสถานุเคราะห์ เป็นร้านที่เปลี่ยนจากแบบดั้งเดิมมากที่สุด ทางเข้าสะท้อนลักษณะของอินโดจีนยุคโคโลเนียลฝรั่งเศส ด้วยภาพวาดสาวเอเชียสวมชุดแบบฝรั่ง และสาวตะวันตกที่สวมชุดแบบเอเชีย ด้านในโปร่งโล่งด้วยเพดานสูงและโทนสีเขียวสบายตา มีเมนูใหม่ๆ น่าประทับใจ แต่ปลาทอดตะไคร้สูตรเด็ดจากห้องอาหารเดิมยังอร่อยไม่เปลี่ยน แถมของหวาน ‘รวมมิตรเวียดนาม’ ก็ดีงามลืมไม่ลง

บ้านดุสิตธานี : คาเฟ่ ร้านอาหาร และบาร์ ในบ้านเก่าเกือบร้อยปีใจกลางศาลาแดง

ในโอกาสเปิดบ้านดุสิตธานีอย่างเป็นทางการ เราไม่ได้อยากให้ผู้อ่านรู้จักแต่เบื้องหน้าของร้านอาหารและแหล่งหย่อนใจในบ้านเก่าเกือบร้อยปี เมื่อได้โอกาสสนทนากับ คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทดุสิตธานี เราพบว่าสิ่งที่น่าสนใจของบ้านดุสิตธานีไม่ใช่แค่แหล่งพักผ่อนหย่อนใจในย่านธุรกิจ แต่เป็นแนวคิดเบื้องหลังการสร้างสถานที่ที่ขับเคลื่อนทั้งธุรกิจและหัวใจของพนักงานไปข้างหน้า

คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทดุสิตธานี

คุณเพิ่งเล่าว่าไม่แน่ใจว่าบ้านดุสิตธานีจะได้กำไรมั้ย แต่ก็อยากทำ แถมทำโครงการนี้ในเวลาไม่ถึง 6 เดือน ด้วยซ้ำ เหตุผลที่ CEO ดุสิตธานีต้องทำบ้านนี้คืออะไร

เรื่องบางอย่างมีคุณค่ามากกว่าเงิน แล้วคุณค่าของสิ่งที่เราต้องการจะเก็บไว้มันมากกว่าเงินเยอะมาก 

สองสิ่งที่สำคัญมากๆ ของดุสิตก็คือตัวแบรนด์ดุสิตเอง ซึ่งเรายังอยากให้อยู่ในความทรงจำของคน ถึงแม้ว่าเราจะหายไป แต่คนก็ยังกลับมาสัมผัสได้ เป็นคุณค่าที่คิดว่าเงินก็คงหาซื้อไม่ได้

กับอีกเรื่อง คือคน เรื่องของพนักงาน ความเป็นดุสิตไม่ใช่เฉพาะลักษณะทางกายภาพ แต่มีการให้บริการ ความคุ้นเคย ความอบอุ่น ความจริงใจ ความเป็นมิตร เราเชื่อว่าถ้าเรารักคนของเราแล้วเราดูแลเขาอย่างดี เขาก็ต้องรักเรา พอมีโครงการที่รองรับเขาในช่วงเวลาที่เราปรับปรุงสถานที่เดิม เขาจะมีความรู้สึกว่าดุสิตธานีดูแลเขา และเขาจะอยากทำเต็มที่เพื่อดุสิตธานี

แรงขับให้คนทำงานมีหลายอย่าง แต่เราคิดว่าเรื่องพวกนี้เงินซื้อไม่ได้ ระหว่างสี่ปีที่รอคอยโรงแรม เราอาจจะไปซื้อป้ายคัตเอาต์ใหญ่ๆ ตามถนนแล้วเขียนว่า ดุสิตกำลังจะกลับมา หรือทำภาพอะไรให้คนสนใจก็ได้ แต่ก็สัมผัสตัวตน สัมผัสจิตวิญญาณไม่ได้ เราเลยเอาเรื่องเงินวางไว้ข้างๆ ไม่ใช่ไม่คิดนะ เพราะว่าเราเป็น CEO การทำให้ธุรกิจมีกำไรให้กับผู้ถือหุ้นก็เป็นหน้าที่หลักของ CEO เช่นกัน เลยขออนุญาตเอาเรื่องนี้ไว้ข้างๆ ก่อน ถ้าเอาสองเรื่องนี้มารวมกัน เราจะไปต่อไม่ได้เลย 

มาเจอบ้านหลังนี้ได้อย่างไร

พูดเรื่องจริงได้ไหม เราไม่ได้เริ่มจากหาบ้านเก่ามาทำเป็นบ้านดุสิตธานี ไม่อยากบอกแบบโลกสวยว่าเราฉลาดมาก

เราเข้าดุสิตธานีมาเป็น Group CEO ปี 2016 งานหลักงานแรกของเราคือ ทำยังไงกับโรงแรมเดิมซึ่งต้องปรับปรุงใหม่ พอรู้เรื่องราวแล้ว ความตั้งใจของเราคือเรื่องการเก็บพนักงาน เก็บตัวตนที่มีมาแต่เดิม สิ่งที่เราทำก็คือตามหาโรงแรมใหม่ในกรุงเทพฯ ให้พนักงานเราไปอยู่ ซึ่งเราหาเป็นปีแล้วหาไม่ได้ เจอโรงแรมสวยงามที่เราคิดว่าเหมาะกับดุสิตธานีมากเลย มันก็ไม่เป็นของเรา 

พอลองเปลี่ยนโจทย์ เก็บตัวตนบางส่วนของโรงแรมไว้ในรูปแบบร้านอาหาร ก็มีอันพลัดพรากจากกันหลายที่ จน คุณกลินท์ สารสิน แนะนำว่าศาลาแดงมีบ้านใหญ่หลังหนึ่งที่สวยเลย เจ้าของเขาปิดเอาไว้ไม่ได้ใช้ เราเลยเชิญพวกท่านมารับประทานอาหารที่เบญจรงค์ก่อนปิด เล่าเรื่องความเป็นมาของเสาเอก เรื่องความตั้งใจเก็บพนักงานไว้ แล้วพูดคุยกัน

กว่าจะได้ตกลงเช่าบ้านหลังนี้ก็ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน หลังจากที่เราปิดโรงแรมไปแล้ว เจ้าของเขารักและหวงบ้านหลังนี้มาก เพราะผูกพันกับที่นี่ และไม่ได้ต้องการเงินเลย เราเทียวไล้เทียวขื่อนานทีเดียวกว่าจะสำเร็จ

คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทดุสิตธานี

เอาชนะใจคนที่ไม่ต้องการเงิน ไม่ต้องการอะไรจากเราเลยได้ยังไง

ใจค่ะ เราบอกถึงความตั้งใจ เราทำเพราะต้องการจะเก็บแบรนด์ดุสิตธานี ซึ่งเป็นแบรนด์ที่หลายๆ คนรัก ท่านเจ้าของบ้านเองก็คุ้นเคยกับดุสิตอยู่แล้ว และการที่เราต้องการเก็บพนักงานของเราไว้ ท่านเห็นถึงความจริงใจ แล้วอีกสิ่งที่คิดว่าทำให้ท่านสบายใจคือเราให้คำมั่นว่าเราจะทำให้ที่นี่ดี จะเก็บเอกลักษณ์ของบ้านศาลาแดงไว้ทุกอย่าง จะไม่ทิ้งอะไรไปเลย

ก่อนเริ่ม เราทำ Archive ทุกอย่าง ต้นไม้ทุกต้น จดไว้หมดเลยว่ามีต้นอะไรบ้าง มีหินวางตรงไหน ถ่ายรูปบ้านเดิมเก็บไว้ทุกมุม แล้วทำแปลนไปให้ท่านดูว่าจะขออนุญาตปรับอะไรบ้าง โดยเราลงทุนใช้คนที่มีฝีมือที่สุดในประเทศไทยสองทีม คื บริษัทสถาปนิกชื่อ PIA ของ คุณเปี๊ยะ-รุจิราภรณ์ หวั่งหลี และทีมทำภูมิสถาปัตยกรรมจากสำนักงานออกแบบ PLA ของ คุณปุ้ย-วรรณพร พรประภา แน่นอน ของดีก็ต้องมีมูลค่า เพราะเขาเก่งจริงๆ

ท่านเจ้าของบ้านคงเห็นความตั้งใจจริงในการอนุรักษ์บ้าน ซึ่งเรารีโนเวตใหม่หมด สำหรับบ้านที่มีอายุขนาดนี้ และปิดไว้นานเป็นเวลาสามสิบถึงสี่สิบปี เปิดไปตรงไหนก็เจออะไรเยอะแยะมากมาย เพราะโครงสร้างผุพังไปตามกาลเวลา

เจออะไรบ้าง

ตัวอย่างเช่นหลังคา เหมือนอยู่ในสภาพดี แต่พอจะทำร้านอาหารก็ต้องปรับปรุงทำหลังคาใหม่ทั้งหมด ทีมงานเอากระเบื้องหลังคาเก่าไปให้ช่างดู ช่างบอกว่า เป็นของนำเข้าโบราณ ตอนนี้ไม่มีแล้ว ก็ไปเสาะหาช่างที่ทำกระเบื้องได้เหมือนเปี๊ยบและมีคุณภาพ ฝ้าก็ทำใหม่ให้คงสภาพเดิมไว้ ทุกอย่างยื่นแบบให้ท่านเจ้าของรับทราบหมดว่าเราจริงใจ และตั้งใจทำนุบำรุงให้เป็นอย่างที่เห็นในวันนี้ 

ทิศทางของบ้านดุสิตธานีที่คุณวางแผนไว้เป็นอย่างไร

เราตั้งใจตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคน บ้านดุสิตธานีมีกิจกรรมต่อเนื่องได้ตลอดตั้งแต่เช้าถึงดึกดื่น ใช้คอนเซปต์ของ Co-working Co-living จะมานั่งทำงานหรือใช้ชีวิตก็ได้ นั่งอยู่ในเบญจรงค์ อยากกินเฝอก็ได้ ถ้าอยู่เธียนดองแล้วอยากกินผัดไทยหรือเบเกอรี่ก็สั่งได้ หรือถ้าอยากกินเมนูเดิมที่ชอบ ทำไมจะทำไม่ได้ เพราะเป็นทีมเดิม

ความยากของการทำโครงการดุสิตธานี คือดุสิตธานีมีความผูกพันหลายอย่างเกินกว่าความเป็นโรงแรม ทั้งเป็นไอคอนของคนหลายคน มีคนไทยรักแล้วก็เสียดาย ดังนั้น เราต้องเก็บเรื่องที่ควรต้องเก็บ แต่ในขณะเดียวกัน โลกก็หมุนไปข้างหน้า ถ้าเรายังยืนอยู่ที่เดิม แล้วเรายังเก็บทุกอย่างเหมือนเดิม ก็อาจไม่ตอบโจทย์โลกข้างหน้าเรา การผสมผสานของที่มีอยู่และเติมของใหม่ๆ ให้พอดีมันไม่ง่าย

เราโชคดีมากที่มีบ้านหลังนี้ อย่างน้อยอีกสี่ปีกว่าจะมีโรงแรม ที่นี่เป็นที่เก็บข้อมูล ถ้ามันไม่ใช่ แล้วคุณให้ข้อมูลเรา เรายินดีที่จะปรับ แต่ถ้าเราทำดี ชมเรา เราก็จะได้มีความสุขและจะได้เอาไปเป็นกำลังใจ ดาต้าพวกนี้ทำให้พวกเราได้สังเคราะห์ วิเคราะห์ สำหรับเตรียมดุสิตธานีแห่งใหม่ ซึ่งเป็นผลงานของทุกคน ไม่ใช่ผลงานของศุภจีหรือผลงานของผู้บริหารของดุสิตธานี

คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทดุสิตธานี

นอกจากที่บ้านดุสิตธานี พนักงานโรงแรมคนอื่นๆ ไปอยู่ที่ไหนกันบ้าง

เราต้องหาธุรกิจใหม่มาเสริม เพราะการรับผิดชอบพนักงานหลายร้อยคนในช่วงที่ปิดโรงแรมยิ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่นช่วงที่ผ่านมาเราไปลงทุนธุรกิจการทำอาหาร วิธีการทำธุรกิจอาหารของเราไม่เหมือนคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ มันสร้างรายได้ให้เราเป็นพันล้านในเวลาสองถึงสามปี เพราะฉะนั้น ก็ตอบปัญหาเรื่องเงินของเราได้

เราแยกพนักงานให้ทำงานหลายๆ ส่วน กลุ่มที่ดูแลห้องพัก เราไปซื้อโรงแรมที่ถนนราชดำริ ตั้งชื่อว่า Dusit Suites ให้พนักงานเก้าสิบกว่าคนไปทำงานตรงนั้น 

กลุ่มแม่บ้านและช่าง เราตั้งทีม Dusit on Demand สำหรับให้บริการโรงแรมห้าดาวอื่นๆ ในกรุงเทพ โรงแรมห้าดาวปกติจะไม่ Outsource แม่บ้าน เพราะว่าแม่บ้านเจอแขกมากกว่าผู้จัดการอีก เขาต้องมีกิริยามารยาทดี มีวิธีดูแลแขกดี แล้วก็ต้องซื่อสัตย์ แต่พอรู้ว่ามาจากดุสิตธานีก็เชื่อถือ ตอนนี้เราให้บริการกว่าสิบโรงแรมในกรุงเทพฯ จนคนเริ่มไม่พอแล้ว ต้องจ้างเพิ่ม

 ทีม F&B มีไปลงโรงแรมและรับทำ Catering นอกสถานที่ ใครจะแต่งงานตามสโมสร ตามสถานที่ต่างๆ ก็รับจัดให้ ไม่ยึดติดกับสถานที่ ตอนนี้ทีม Catering ของเรางานเยอะกว่าสมัยอยู่ที่โรงแรมอีก

เหลือกลุ่มร้านอาหารเนี่ยทำยังไงดี จากที่เราปิดโรงแรมวันที่ 5 มกราคม มาจนถึงกลางปี วิธีทำงานของเขาคือนั่งเอาช้อนส้อม จาน มาเช็ด นับ เก็บ พักหนึ่งมันก็หมด เดี๋ยวสักพักก็ควักมาเช็ดใหม่เพราะฝุ่นเกาะ เห็นสภาพแล้วเราก็คิดว่าต่อให้เขามีใจ คนเราก็ต้องการทำอะไรที่มีคุณค่า มานั่งเช็ดช้อนนับช้อนอย่างเดียวคงไม่ไหว เลยต้องรีบเปิดร้านไล่ไปทีละหลัง ไม่รอให้เสร็จทีเดียว บ้านขนมง่ายสุดเพราะเล็กและไม่เก่ามาก เพราะฉะนั้น น้องเช็ดช้อนก็มีโอกาสจะได้ทำอะไรจริงๆ จังๆ

ระหว่างนี้ก็พูดคุยให้เขาปรับตัว จากที่อยู่แต่ในโรงแรมมาไม่รู้กี่สิบปี พอเจอแขกใหม่ๆ ต้องปรับอะไรบ้าง ก็ทำให้ที่เหลือเขามีความหวังว่าเดี๋ยวพอเบญรงค์เสร็จ เธียนดองเสร็จ ศาลาเต้นรำเสร็จ ก็น่าจะมีกิจกรรมที่ดีมากยิ่งขึ้น 

เคล็ดลับที่ทำให้พนักงานดุสิตธานีผูกพันกับบริษัทคืออะไร

เรากับทีมงานไม่ได้ผูกพันกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เราเป็น CEO ที่แปลกแยก เป็นคนนอกคนแรก ในขณะที่บริษัทนี้ตั้งมาเจ็ดสิบเอ็ดปี เริ่มมาจาก ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง คุณชนินทธ์ โทณวณิก เป็นทายาท พนักงานก็ผูกพันมาโดยตลอด เราเองเป็นพนักงานคนหนึ่งซึ่งได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร สายสัมพันธ์เรากับพนักงานอื่นๆ ไม่ได้ยาวนาน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำได้อย่างเดียวคือความจริงใจ

ทุกครั้งที่อยู่เมืองไทย เรามาที่นี่ทุกสัปดาห์ เพราะต้องการให้กำลังใจพวกเขาถ้าเราทำได้ เราจะเดินไปกอด ถ้าเจอพนักงานอายุมากกว่าเราก็ไหว้เลย คำพูดติดปากของเราคือ ‘เป็นไง เหนื่อยไหม’ ‘ขอบคุณมากนะ อีกแป๊บเดียวนะ’ ตอนนี้พอเราเดินเข้ามา เราไม่ใช่คนแปลกหน้าของทีม

เรามีหลายสิบหลายร้อยเรื่องที่ต้องทำในขณะเดียวกัน เพราะฉะนั้น ต้องจัดวางลำดับความสำคัญให้ดี โฟกัสกับมัน แล้วการลงมือของเราต้องให้ทีมทำ ดังนั้น ใจจึงสำคัญ ดังนั้น อยู่กับพนักงาน เพราะสุดท้ายแล้วงานจะสำเร็จก็เพราะเขา ไม่ใช่เรา 

เงินเป็นปัจจัยพื้นฐานที่คนทุกคนต้องมี เราไม่ให้เงินเขา เขาคงไม่มาทำอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้คนเดินไปข้างหน้า แล้วยอมที่จะไป Extra Mile คือเงินเหรอ เราว่าไม่ใช่ เราตั้งใจทำเต็มที่ให้เขา เราก็คาดหวังให้เขาทำเต็มที่ให้เรา มันจะไปสุดทางได้

สิ่งที่คุณประทับใจเมื่อเปิดบ้านดุสิตธานีคืออะไร

วันที่เปิด Dusit Gourmet เป็นทางการ เราเข้ามาตอนบ่าย พนักงานเข้ามากอดเราแล้วร้องไห้ บอกว่า เราทำได้แล้วนะคะ ขอบคุณมากเลย มันดีกว่าที่หนูคิดอีก เราร้องไห้ตามเขาไปด้วยเลย นี่ไง มันเป็นอย่างนี้ เขารู้ว่าเราตั้งใจจริงๆ บางอย่างมันซื้อไม่ได้ด้วยเงิน

คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทดุสิตธานี

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน